fbpx

‘996’ ระบบทำงาน 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่มที่สร้างแผลทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ให้จีน

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เพิ่งจะมีข่าวว่าพนักงานด้านไอทีวัย 25 ในบริษัทแห่งหนึ่งที่ประเทศจีน เสียชีวิตปริศนาท่ามกลางสายตาเคลือบแคลงในของเพื่อนร่วมงาน ตลอดจนสื่อมวลชนว่าอาจเกิดจากการหักโหมทำงานหนักตามสูตร ‘996’ ค่านิยมการทำงานในประเทศจีนที่ศาลเพิ่งตัดสินว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายไปเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว

อย่างไรก็ดี แม้ตัวบริษัทจะออกมาแก้ต่างว่าไม่มีนโยบายให้พนักงานทำงานล่วงเวลา แต่การตายของพนักงานหนุ่มก็ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในโลกอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะในเว่ยป๋อ -โซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ฝั่งจีน- ที่มีคนตั้งคำถามถึงค่านิยมทำงานหนักของจีนซึ่งด้านหนึ่งแทบจะกลายเป็นวัฒนธรรมการทำงานอันฝังรากลึก เรื่อยไปจนท่าทีของรัฐบาลที่เกือบจะวางเฉยต่อสถานการณ์ ตลอดจนนโยบายการทำงานหามรุ่งหามค่ำของหลายๆ บริษัท

ทั้งนี้ วัฒนธรรมการทำงานแบบ ‘996’ หมายถึงการทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม (หรือก็คือ 9:00 am ถึง 9:00 pm) เป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์ คิดชั่วโมงการทำงานแล้วพนักงานหนึ่งคนต้องทำงานทั้งสิ้น 72 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นตัวเลขที่แค่เห็นแล้วก็ชวนปวดหลัง เทียบกันกับกฎหมายแรงงานไทยที่กำหนดให้ทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมงหรือตกสัปดาห์และไม่เกิน 48 ชั่วโมงเช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศทั่วโลก -รวมทั้งกฎหมายจีนเอง- จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนจะเรียกวัฒนธรรมการทำงาน ‘996’ ของจีนว่าเป็น ‘ทาสยุคใหม่’ และเกิดการประท้วงต่อต้านวัฒนธรรมการทำงานนี้ครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2019 ก่อนที่ศาลประชาชนสูงสุดแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Supreme People’s Court) จะตัดสินว่าระบบการทำงานนี้มีความผิดทางกฎหมายไปเมื่อปีก่อน

อย่างไรก็ตาม อาจจะกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2019 -หรือก็คือปีที่ระบบการทำงานแบบ 996 ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ- มีสภาพไม่คล่องตัวนัก มีรายงานว่าตัวเลขจีดีพีของจีนโตขึ้นเพียง 6.1 เปอร์เซ็นต์ซึ่งถือว่าเป็นอัตราเติบโตที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 1990 ยังไม่นับปัญหาอัตราการว่างงานที่สูงลิ่วเป็นประวัติการณ์ ขณะที่หลายบริษัททยอยลดจำนวนพนักงานลงเพื่อลดต้นทุนในโมงยามที่เศรษฐกิจยังฝืดเคือง จะมีก็เพียงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เติบโตขึ้นพรวดพราดตามการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี และเรียกร้องให้บริษัทเหล่านี้ผลิตงานออกมาให้ทันความต้องการของผู้บริโภค แม้นั่นจะหมายถึงการรีดเลือดจากแรงงานก็ตาม 

“ถ้าเป็นสักสิบปีก่อน คนคงไม่ค่อยบ่นเกี่ยวกับระบบ 996 นี่หรอก” หลี่ ชุน อดีตพนักงานบริษัทไป๋ตู่ เว็บไซต์เสิร์ชเอนจินอันดับหนึ่งของประเทศจีนให้สัมภาษณ์นิตยสารนิวยอร์ค ไทม์ส “เมื่อก่อนมันก็อยู่แต่ในอุตสาหกรรมไอที แต่หลังๆ ระบบ 996 มันยังขยายตัวไปในหมู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย ที่สำคัญคือพนักงานก็ไม่ได้รับเงินมากมายไปกว่าเดิม บริษัทแค่เรียกร้องให้ทุกคนทำงานหามรุ่งหามค่ำตลอดเวลาเท่านั้นเอง”

“เพื่อนร่วมงานของผมถึงขั้นหวาดกลัวที่ต้องกลับบ้านหลังทำงานเสร็จด้วยซ้ำ” อดีตพนักงานบริษัทไอทีแห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่นบอก “แล้วตัวผมเองในฐานะน้องใหม่ของออฟฟิศ จะลุกขึ้นกลับบ้านเป็นคนแรกหลังเลิกงานไม่ได้ด้วยนะ”

ภายใต้ความกดดันเหล่านี้ บวกกันกับการที่รัฐบาลจีนมีนโยบายสอดส่องแพล็ตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ทำให้หลายคนหันไปโพสต์แสดงความเห็นที่ Github -เว็บไซต์สำหรับบริการฝากโค้ดออนไลน์ในเครือไมโครซอฟต์- และฝากข้อความ, ภาพหรือซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่ระบุถึงการทำงานล่วงเวลาของตน รวมทั้งภาพจากการแคปหน้าจอที่หัวหน้าส่งข้อความมาขอให้พวกเขาทำงานล่วงเวลาในตอนเย็น ซึ่งมีตั้งแต่ขอให้มาตอกบัตรทำงานตอน 9 โมงเช้าเพื่อไปเลิก 3 ทุ่ม หรือในบางกรณีคือให้เลิกงานสี่ทุ่ม (!!) หกวันต่อสัปดาห์ พนักงานบริษัทไอทีแห่งหนึ่งในมณฑลซานตงถึงกับบอกว่าพวกเขาถูกเรียกร้องให้ทำงานตกเดือนละกว่า 100 ชั่วโมงจนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

อาลีบาบา บริษัทยักษ์ใหญ่ในจีนที่ก่อสร้างโดย แจ็ค หม่า นักธุรกิจชื่อดังเองก็ตกเป็นเป้าหมายว่าใช้นโยบาย 996 กับพนักงาน โดยหม่าเคยโพสต์ข้อความว่า “ถ้าคุณได้มาทำงานที่อาลีบาบา คุณก็ควรเตรียมตัวทำงานวันละ 12 ชั่วโมงได้เลย ไม่อย่างนั้นจะมาทำงานที่นี่ทำไม เราไม่ได้อยากได้คนที่พอใจจะทำงานวันละ 8 ชั่วโมงสักหน่อย” และ “ไม่มีทางเลยที่คนเราจะประสบความสำเร็จโดยปราศจากการลงแรงกับเวลาให้มากขึ้น” เช่นเดียวกันกับ ริชาร์ด หลิว ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ JD.com อีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่อีกรายก็แสดงความเห็นว่า สมัยที่เขาเพิ่งก่อตั้งบริษัท เขายังต้องตื่นทุกสองชั่วโมงเพื่อตอบลูกค้าซึ่งติดต่อเข้ามาตลอดวัน และคิดว่าถ้าคนรุ่นใหม่ยังชินชากับการทำงานอย่างขี้เกียจต่อไป “บริษัท JD คงสิ้นหวังและถูกตลาดทอดทิ้งอย่างไร้เยื่อใยในที่สุด เพราะงั้นคนขี้เกียจย่อมไม่ใช่พรรคพวกของผมอย่างแน่นอน”

หากแต่การทุ่มเททำงานหามรุ่งหามค่ำจนทำพนักงานเสียสุขภาพ (หรือในหลายกรณี -เสียชีวิต) ก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสังคมนัก กระทั่งบทบรรณาธิการของ People’s Daily หนังสือพิมพ์หัวยักษ์ใหญ่ของจีนก็ยังเขียนถึงประเด็นนี้ไว้ว่า “พนักงานที่ปฏิเสธระบบทำงาน 996 นั้นไม่ควรถูกมองว่า ‘ขี้เกียจ’ หรือ ‘ไม่สู้ชีวิต’ อันที่จริง บริษัทควรเอาความต้องการจริงๆ ของพวกเขามาพิจารณาดูด้วยซ้ำไป” 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังไฟล์ที่ถูกอัพโฟลดขึ้นเว็บไซต์ Github เหล่านั้นได้กลายมาเป็นภาพล้อหรือมีม (meme), สติ๊กเกอร์หรือเสื้อยืดสกรีนข้อความที่แสดงถึงเจตจำนงของการเรียกร้อง ก่อนจะได้รับความนิยมในหมู่พนักงานบริษัทอย่างมากจนขยับขยายไปสู่การส่งเอกสารว่าด้วยกฎหมายแรงงานไปยังบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งของจีน กลายเป็นการเคลื่อนไหว ประท้วงออนไลน์ในชื่อ 996.icu (หมายความตรงตัวถึงการทำงานในระบบ 996 อาจนำคุณเข้าห้อง ICU ได้) พร้อมสโลแกน “ชีวิตนักพัฒนาโปรแกรมก็สำคัญ” (developers’ lives matter.) กลายเป็นหัวข้อที่ร้อนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่เว็บไซต์ Github ถือกำเนิดและสร้างแรงสะเทือนให้บริษัทใหญ่ยักษ์หลายแห่ง ก่อนจะถูกผลักดันกลายเป็นวาระขึ้นศาลและถูกตัดสินว่าระบบ 996 นั้นผิดกฎหมายแรงงานจีนในที่สุด

พ้นไปจากประเด็นเรื่องเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในภาพรวมขณะที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเติบโตพรวดพราดของจีนจนบีบให้หลายบริษัทต้องเรียกร้องพนักงานให้ทำงานหามรุ่งหามค่ำ techcrunch สำนักข่าวเทคโนโลยีชื่อดังยังวิเคราะห์ว่า รากของการทุ่มเทเพื่องานรอาจมาจากวัฒนธรรมของจีนเองด้วย ผ่านวิธีคิดที่ว่าด้วยการอุทิศตนโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน (หรือในแง่นี้คือกำไร, โบนัส, เงินค่าทำงานล่วงเวลาที่มากไปกว่าเงินเดือนปกติ) หรือในหลายๆ บริษัทอาจระบุเงื่อนไขเหล่านี้ลงไปในสัญญาเข้าทำงานตั้งแต่แรก “สำหรับพวกเราที่เป็นพนักงานออฟฟิศ ในสัญญาว่าจ้างมันมีส่วนที่เขียนไว้ว่าเงินค่าทำงานล่วงเวลานั้นรวมอยู่ในเงินเดือนอยู่แล้ว” พนักงานฝ่ายบุคคลของบริษัทแห่งหนึ่งเล่า “มันก็ไม่ดีหรอก แต่มันก็เป็นเรื่องที่บริษัทหลายๆ แห่งในจีนทำกันน่ะนะ”

ฟากพนักงานเอง แม้หลายคนจะออกมาต่อต้านกับระบบ 996 แต่ก็มีอีกหลายคนที่ ‘พร้อมแลก’ “เรารู้ว่าเราจะต้องเจออะไรบ้างถ้าต้องเข้ามาทำงานในบริษัทเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ต” เจ้า พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในจีนกล่าว “เรารู้ดีแหละว่าต้องทำงานหนัก แต่นั่นก็แปลว่าเรามีโอกาสทำเงินได้มากกว่าคนอื่นด้วยใช่ไหมล่ะ”

อาจเป็นเช่นนั้นสำหรับเจ้ากับอีกหลายคนที่บริษัทพร้อมมอบเงินค่าทำงานล่วงเวลาให้ แต่ขณะที่อีกหลายคนก็พบว่าตัวเองกำลังถูกกดขี่ ขูดรีดแรงงานอย่างไร้ความเป็นธรรมผ่านวัฒนธรรมการอุทิศตนเพื่องานโดยยังได้เงินเท่าเดิม และบรรยากาศเช่นนี้เองที่สร้างปรากฏการณ์ในมุมกลับขึ้นมา -โดยเฉพาะเมื่อโลกต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้พนักงานต้องทำงานที่บ้าน- นั่นคือเมื่อเหล่าพนักงานหนุ่มสาวต่างพากันตั้งใจหาทาง ‘อู้งาน’ โดยสภาวะเช่นนี้เรียกกันว่าปรัชญาแบบ ‘touching fish’ ที่หยิบยืมมาจากสุภาษิตจีนที่ว่า ‘น้ำขุ่นย่อมทำให้จับปลาได้ง่าย’ ซึ่งหมายถึงการฉายโอกาสหรือผลประโยชน์ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก ในกรณีนี้คือการฉวยโอกาสที่ต้องทำงานจากบ้านเพราะโรคระบาด พ้นจากสายตาสอดส่องของหัวหน้าที่คอยจับผิดว่าพนักงานในสังกัดทำงานอยู่ตลอดเวลาหรือไม่

“มันคือปรัชญาการใช้ชีวิตแบบให้มันผ่านๆ ไป ปล่อยแล้วสิ้นซึ่งทุกสิ่งอย่าง” หนึ่งในคอมเมนต์จากเว็บไซต์เว่ยป๋อระบุ “และนี่แหละคือหัวใจสำคัญของการมีชีวิตอยู่กับปัจจุบันขณะและผ่อนคลายเข้าไว้”

น่าสนใจว่าพฤติกรรมการทำงานเช่นนี้สอดคล้องกับปรากฏการณ์ ‘lying flat’ ที่ระเบิดตัวขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ในจีนตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา หมายถึงการไปทำงานหาเลี้ยงชีพโดยปราศจากความทะเยอทะยานอย่างสิ้นเชิง เป็นต้นว่าเข้าไปทำงานเพื่อให้รับค่าแรงเป็นรายวันในจำนวนที่มากพอจะเอามาใช้ซื้ออาหารประทังชีวิต เล่นเกม และหากเงินหมดก็กลับเข้าไปทำงานใหม่อีกครั้ง ไม่หวังเรื่องการเก็บออมหรือการไต่เต้าทางหน้าที่การงานใดๆ รวมทั้งไม่โหยหาความมั่นคงในชีวิต คนกลุ่มนี้จึงมีชีวิตไปวันต่อวัน ไม่ซื้อของที่ไม่จำเป็น ไม่อยากได้อะไรมากไปกว่าอาหารง่ายๆ และน้ำดื่มในแต่ละมื้อ

หากมองจากภาพรวม ไม่ว่าจะ touching fish หรือ lying flat ล้วนมีลักษณะของการตอบโต้ระบบ 996 และสภาวะการทำงานหนักหนา เรียกเลือดเรียกเนื้อโดยไม่ได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม ทั้งยังสวนทางกับค่านิยมของจีนที่มักยกย่องเส้นทางการไต่เต้าอันยากลำบากก่อนจะประสบความสำเร็จ (แบบเดียวกับที่ริชาร์ด หลิวแห่ง JD.com เล่าเรื่องที่เขาต้องตื่นทุกสองชั่วโมงเพื่อตอบลูกค้าสมัยเพิ่งเริ่มสร้างบริษัท ก่อนจะกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในเวลาต่อมา) และเหตุผลหลักๆ ที่คนหนุ่มสาวเหล่านี้ระบุไว้คือ พวกเขาไม่เชื่อว่าหากทุ่มเททำงานหนักแล้วจะมีเส้นชัยรอที่ปลายทาง -อย่างที่เรื่องเล่าเก่าๆ ของจีนบอกไว้อีกต่อไปแล้ว

“เหตุผลหลักของฉันเลยนะ ก็คือว่าฉันไม่เชื่ออีกแล้วล่ะว่าหากทุ่มเท ตั้งใจทำงานแล้วจะได้เลื่อนขั้น” หนึ่งในแอคเคาต์จากเว็บไซต์เว่ยป๋อระบุ ขณะที่ ซูจิ หยาง พนักงานในบริษัทสตาร์ตอัพแห่งหนึ่งให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ theguardian ว่า “มันมีมุกตลกอยู่มุกนึงในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนะ นั่นคือถ้าคุณทุ่มเททำงานเป็นบ้าเป็นหลังก่อนอายุ 35 ในฐานะวิศวกรในบริษัทส่งอาหารสักแห่ง พอหลังจากอายุ 35 คุณจะกลายไปเป็นคนส่งอาหารนั่นเสียเองไงล่ะ” เขาบอก “ผมได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่ามีคนโดนบริษัทไล่ออกหลังอายุ 35 เพราะพวกเขาทุ่มเทให้งานได้ไม่เต็มที่เหมือนพนักงานใหม่ๆ เนื่องจากมีภาระครอบครัวต้องดูแล”

ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ก็สร้างแรงสะเทือนเป็นวงกว้าง เพราะกลายเป็นว่ายอดการอุปโภคบริโภคในจีนลดลง ยังไม่รวมสภาพเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ในระดับที่ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีออกปากว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่คนหนุ่มสาวต้องหลบเลี่ยงความเซื่องซึม และกระตุ้นให้ทุกคนกลับมาทะเยอทะยานเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ตัวเองและคนในสังคมอีกครั้ง

และนี่เองที่อาจจะถือเป็น ‘จุดลักลั่น’ ที่ทำให้คนวัยทำงานทั้งหลาย ‘ปล่อยจอย’ การใช้ชีวิตด้วยการถูไถหายใจไปวันต่อวัน เพราะอุตราความเหลื่อมล้ำในสังคมจีนกระฉูดมากขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา มีคนชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลางจำนวนมากที่อุทิศชีวิตทำงานไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อยแต่กลับยังต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก หรือซ้ำร้ายกว่านั้นก็กลายเป็นทรัพยากรที่ถูกเขี่ยทิ้งเมื่อมีอายุถึงจุดหนึ่ง นิทานที่ว่าทุ่มเททำงานแล้วจะประสบความสำเร็จอย่างที่เคยเล่ากันเกลื่อนนั้นจึงไม่อาจ ‘ซื้อใจ’ คนรุ่นใหม่ได้อีกแล้ว

และใครจะไปรู้ ว่านี่อาจเป็น ‘แผลใหญ่ทางเศรษฐกิจ’ ที่รัฐบาลจีนคาดไม่ถึง และดูจะเป็นหนึ่งในบาดแผลที่หาทางจัดการได้ลำบากมากเสียด้วย

MOST READ

PopCapture

29 Jun 2022

20 ปีแห่งความอัปยศ ไบรอน มูเรโน ผู้ตัดสินจอมฉาวในแมตช์เกาหลีใต้-อิตาลี 2002

คอลัมน์ PopCapture ชวนย้อนกลับไปยัง 20 ปีก่อนในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2002 กับนัดเตะสุดจะอื้อฉาวระหว่างเกาหลีใต้กับอิตาลี กับกรรมการ ไบรอน มูเรโน ที่ชีวิตกระโจนขึ้นลงตั้งแต่เป็นผู้ตัดสินที่ชาวอิตาลีหมายหัว, นักการเมือง ไปจนถึงคนส่งยา

พิมพ์ชนก พุกสุข

29 Jun 2022

PopCapture

7 Dec 2021

รวันดา : การชำระประวัติศาสตร์เหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เราเรียนรู้อะไรได้บ้าง

คอลัมน์ PopCapture พิมพ์ชนก พุกสุข เขียนถึงบทเรียนจากการชำระประวัติศาสตร์เหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา เมื่อการยอมรับบาดแผลและชำระประวัติศาสตร์มืดคือบันไดขั้นแรกของการก้าวไปข้างหน้า

พิมพ์ชนก พุกสุข

7 Dec 2021

PopCapture

14 Feb 2022

‘996’ ระบบทำงาน 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่มที่สร้างแผลทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ให้จีน

คอลัมน์ PopCapture เขียนถึงระบบการทำงานแบบ 996 หรือทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่มในจีน จนเกิดการลุกฮือของเหล่าพนักงานออฟฟิศก่อนจะเกิดปรากฏการณ์ที่สร้างผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจจีนในภาพรวม

พิมพ์ชนก พุกสุข

14 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save