fbpx
รวันดา

รวันดา : การชำระประวัติศาสตร์เหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เราเรียนรู้อะไรได้บ้าง

หัวข้อเรื่องสิทธิในการสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนศิลปินวนกลับมาอีกรอบส่งท้ายปี กรณีไอดอลผู้เคยมีส่วนสังฆกรรมเป่านกหวีดเรียกเผด็จการในปี 2014 แล้วปรากฏตัวอีกทีในนามสาวน้อยตามล่าหาฝันในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ยังไม่นับว่ามีข่าวคราวอีกมากสืบสาวไปยังหลายขวบปีของประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่โยงใยไปถึงต้นธารความขัดแย้งร่วมสมัยเมื่อสิบกว่าปีก่อนที่ครอบครัวของเธอมีส่วนร่วมอย่างปฏิเสธไม่ได้

สิ่งที่น่าสนใจในกรณีนี้ไม่เพียงแต่การขุดรากการเป็นส่วนหนึ่งของความอัปยศในประวัติศาสตร์การเมืองไทยของตัวไอดอลและครอบครัวของเธอเท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวและคราบน้ำตาของคนมากมายที่เป็นเหยื่อโดยตรงของเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีต ตลอดจนคนที่ต้องกัดฟันใช้ชีวิตอยู่กับเศษซากของประเทศที่เหล่าคนที่ออกใบเชิญรัฐประหารทิ้งไว้ให้ ขณะที่เจ้าตัวออกไปแสวงหาโอกาสในประเทศที่ประชาธิปไตยผลิบาน เป็นเรื่องราวที่ฟังแล้วทั้งย้อนแย้ง เย้ยหยันและขำไม่ออกของประเทศที่ติดหล่มทางการเมืองมานับทศวรรษอย่างไทย

พร้อมกันนั้น รัฐไทยที่ปฏิเสธเหตุโศกนาฏกรรมทั้งมวลยังพยายามขุดวาทกรรมปรองดอง สร้างความสมัครสมานสามัคคีในชาติ ใครที่ตั้งคำถาม หรือตำหนิความเป็นไทยก็กลาย ‘เป็นอื่น’ เป็นคนชังชาติ ไม่รู้คุณแผ่นดิน ฟื้นฝอยหาตะเข็บอยู่แต่กับเรื่องอดีต ฯลฯ

ปัญหาสำคัญคือรัฐไทยไม่เคยยอมรับว่ามีบาดแผล มีเหยื่อทางการเมือง และคนที่ถูกทอดทิ้งอยู่จริง ผู้คนที่เป็นเหยื่อทางการเมืองจึงไม่เคยรู้สึกได้รับการชำระล้างใดๆ มากกว่านั้นยังรู้สึกราวกับกำลังจะเลือนหายไร้ตัวตน แต่ก็ยังถูกบอกให้ต้องรัก ต้องภักดี

ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่เกิดข้อขัดแย้งและการปะทะทางการเมือง เอาเข้าจริงหลายประเทศทั่วโลกล้วนเคยผ่านเหตุการณ์เหล่านี้มาแล้วทั้งนั้น มากต่อมากพวกเขาล้วนเผชิญอดีตเหล่านั้นเพื่อจะก้าวต่อให้ได้ เกาหลีใต้เองก็เคยผ่านห้วงเวลาเหล่านั้นมาแล้วภายหลังเกิดการสังหารหมู่ผู้ชุมนุมฝ่ายประชาธิปไตยที่เมืองกวางจูปี 1980 ซึ่งในปัจจุบันได้นำตัวผู้บังคับบัญชาและนายทหารที่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนเมื่อสี่ทศวรรษก่อนขึ้นศาล เพื่อชำระประวัติศาสตร์ ชดใช้ความเสียหายอันไม่อาจประเมินค่าได้ของผู้สูญเสียและครอบครัว

อีกประเทศหนึ่งที่พยายามเยียวยาบาดแผล ประคับประคองผู้คนซึ่งตกเป็นเหยื่อความรุนแรงและความเกลียดชังคือรวันดา ภายหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 1994 ซึ่งลงเอยด้วยโศกนาฏกรรมที่มีผู้เสียชีวิตเหยียบแปดแสนราย และใช้เวลาอีกหลายปีนับจากนั้นในการชำระประวัติศาสตร์ เยียวยาผู้สูญเสียและผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความเกลียดชังเหล่านี้

โศกนาฏกรรมในรวันดาอุบัติขึ้นช่วงกลางปี 1994 กินเวลาราวสี่เดือน ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของรวันดาที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวฮูตูปกครองด้วยระบอบกษัตริย์มาโดยตลอด และผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นกษัตริย์นั้นก็เป็นชาวทุตซีซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ (กล่าวคือในรวันดามีประชากรที่เป็นชาวทุตซีราว 14% เทียบกันกับชาวฮูตูซึ่งมีประชากรราว 85%)

ก่อนที่ชาวฮูตูจะรวมตัวกันโค่นล้มระบอบกษัตริย์นี้เป็นผลสำเร็จในปี 1959 ยังผลให้ชาวทุตซีอีกหลายชีวิตต้องอพยพไปอยู่ประเทศข้างเคียงพร้อมกับความเคียดแค้นที่ยังผลออกมาเป็นกองกำลังติดอาวุธ และหวนกลับเข้าไปสู้รบที่รวันดาอีกครั้งในนามกลุ่มแนวร่วมผู้รักชาติแห่งรวันดา (Rwandan Patriotic Front-RPF) ก่อนจะนำไปสู่การต่อสู้ระหว่าง RPF กับรัฐบาลรวันดาอีกหลายปี กระทั่งสหภาพแอฟริกา (the Organization of African Unity-OAU) เข้ามาไกล่เกลี่ยและพยายามหาทางยุติความบาดหมางด้วยการให้มีการลงนามในสนธิสัญญาอารูชา (Arusha Accord) ในปี 1993 หากแต่ชนวนความขัดแย้งก็ยังไม่ยุติ เพราะใจความสำคัญของสนธิสัญญาคือการที่รัฐบาลรวันดาต้องแบ่งอำนาจให้ RDF (หรือชาวทุตซี) ทำให้ประชากรชาวฮูตูที่เป็นอนุรักษนิยมไม่พอใจอย่างมากและระแวงว่าชาวทุตซีอาจนำระบอบกษัตริย์กลับมาอีกครั้ง

มิหนำซ้ำ ความขัดแย้งนี้ยังโหมกระหน่ำรุนแรงขึ้น เมื่อปี 1994 เครื่องบินโดยสารของประธานาธิบดีรวันดาซึ่งเป็นชาวฮูตูถูกยิงตกลงมา ยังผลให้ผู้โดยสารทั้งหมดเสียชีวิตรวมทั้งตัวประธานาธิบดีด้วย จากเหตุการณ์นี้ทำให้หลายคน -โดยเฉพาะชาวฮูตู- พุ่งเป้าว่าเบื้องหลังการลอบยิงเครื่องบินครั้งนี้ต้องเป็นฝีมือของกลุ่ม RPF ขณะที่กลุ่ม RPF ปฏิเสธอย่างหนักแน่นและชี้ว่าชาวฮูตูนั่นแหละที่เป็นคนยิงเครื่องบินเพื่อจะได้มีข้ออ้างในการต่อสู้กับพวกตน

และโศกนาฏกรรมก็ระเบิดตัวขึ้นหลังจากนั้นเพียงวันเดียว โดยมีการประชาสัมพันธ์ผ่านคลื่นวิทยุ RTLM และสื่อหนังสือพิมพ์ต่างๆ ว่าชาวทุตซีกำลังจะนำระบอบกษัตริย์กลับมา หรือมีเป้าหมายเพื่อกำจัดชาวฮูตู ตลอดจนการสร้างภาพแทนว่าชาวทุตซีเป็นแมลงสาบ อยู่ในสถานะเป็นอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่นบอกผู้ฟังชาวฮูตูว่า “ผมว่าใครก็ตามที่มีปืนอยู่กับตัวตอนนี้ควรบุกไปหาไอ้พวกแมลงสาบนั่นเดี๋ยวนี้เลย ล้อมมันไว้แล้วฆ่ามันซะ” (เสียงของ คานตาโน ฮาบิมานา ในวันที่ 12 เมษายน 1994 อ้างอิงจากสหประชาชาติ)

อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานว่าแท้จริงแล้วคลื่นวิทยุและสื่อหลายแห่งในรวันดาไม่ได้เพิ่งมาสนับสนุนความรุนแรงในช่วงปี 1994 แต่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นและเป็นการวางแผนอย่างเป็นระบบมาอย่างน้อยตั้งแต่ปี 1993 โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล จนสหประชาชาติออกแถลงการณ์ตักเตือนว่าคลื่นวิทยุนี้กำลังเข้าข่ายใช้วาจาสร้างความเกลียดชังแก่ผู้คนได้ แต่เจ้าของคลื่นวิทยุอย่าง เฟอร์ดินันด์ นาฮิมานา ชี้ว่าเป้าประสงค์ของ RTLM มีไว้เพื่อตอบโต้กับคลื่นวิทยุจากฝั่ง RPF ซึ่งมักออกอากาศโฆษณาชวนเชื่อต่างหาก

ทั้งนี้ เหยื่อจำนวนมากคือชาวทุตซีและชาวฮูตูที่ไม่ฝักใฝ่ความรุนแรงหรือให้การสนับสนุนชาวทุตซี มีบันทึกว่ารัฐบาลฮูตูแจกจ่ายอาวุธให้แก่ประชาชนเป็นผู้ลงมือทำร้ายร่างกายและสังหารฝ่ายที่คิดว่าเป็นขั้วตรงข้าม ทั้งยังมีการประกาศชื่อเหยื่อเพื่อออกตามตัวล่าแม่มด ชั่วระยะเวลาเพียง 100 วัน ยอดผู้เสียชีวิตทะยานขึ้นสูงถึงแปดแสนราย มีผู้หญิงถูกข่มขืนกว่าสองแสนคน ตลอดจนคนที่พิการจากการถูกทุบทำร้ายหรือทรมานอย่างรุนแรง

ไม่นานหลังจากนั้นกลุ่ม RPF ยึดพื้นที่ในรวันดาได้ ทำให้ชาวฮูตูทั้งที่เป็นผู้ลงมือและไม่ได้ลงมือในเหตุการณ์สังหารหมู่ดังกล่าวอพยพไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเพราะกลัวจะถูกชำระแค้น (ซึ่งมีชาวฮูตูหลายคนถูกสังหารจริง แต่กลุ่ม RPF ปฏิเสธ) อย่างไรก็ตาม สงครามยังไม่จบ เมื่อในคองโกเองก็มีผู้ให้การสนับสนุนชาวฮูตูให้หวนกลับมามีแรงสู้กับกลุ่ม RPF ยังผลให้ความขัดแย้งดำเนินไปจนถึงปลายปี 1999 และคาบเกี่ยวไปถึงปี 2001

ภายหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มีการพยายามส่งตัวผู้กระทำผิดซึ่งถูกกุมขังอยู่ราวๆ แสนคนไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศสําหรับรวันดา (International Criminal Tribunal for Rwanda-ICTR) แต่ความที่ผู้รอชำระความมีจำนวนมหาศาลทำให้เกิดความล่าช้า จึงมีการจัดตั้งระบบศาลชุมชนกาชาชา (gacaca) ขึ้นมา โดยศาลกาชาชามีเป้าหมายดังนี้

• ระบุและสร้างประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น
• เร่งดำเนินคดีคนที่กระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
• ขจัดวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด (the culture of impunity)
• สร้างความสมัครสมานสามัคคีในหมู่ชาวรวันดาอีกครั้ง
• ใช้ความสามารถของชาวรวันดาในการแก้ปัญหาในประเทศผ่านระบบยุติธรรมแบบจารีตของรวันดา

อย่างไรก็ตาม หัวใจของศาลกาชาชาคือการนำผู้กระทำผิดมาเผชิญหน้ากับผู้ที่เป็นเหยื่อและขออภัยโทษจากผู้คนในชุมชน ระวางโทษนั้นมีตั้งแต่จำคุกไปจนถึงบำเพ็ญประโยชน์ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่เปิดพื้นที่ให้เหยื่อได้มีโอกาสสื่อสาร เล่าเรื่องของตัวเองผ่านสาธารณะ ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งกรณีที่เหยื่อออกมาพูดหรือคนที่ไม่สามารถรับแรงกระแทกจากสิ่งเหล่านี้ได้อีกแล้วจึงเลือกจะเก็บตัวเงียบ หรือกับบางคนที่รู้สึกว่าศาลแบบกาชาชาไม่อาจเยียวยาภาวะแตกสลายที่พวกเขาเผชิญได้

เรจีน คิง อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ออกไปเรียนต่างประเทศและกลับมาพักในรวันดาช่วงที่เกิดการสังหารหมู่ เธอกับเพื่อนบ้านจำนวน 74 คนหลบหนีกลุ่มชายที่ถือมีดพร้าออกล่าชาวทุตซีเข้าป่าละเมาะและซ่อนตัวในพุ่มไม้ แต่ถึงที่สุดแล้วก็เหลือรอดกลับมาเพียง 14 คน -รวมทั้งตัวเธอด้วย- ปัจจุบันเธอเป็นศาสตราจารย์ด้านสังคมสงเคราะห์ที่มหาวิทยาลัยคาลการี

“นานทีเดียวกว่าที่ฉันจะเข้าใจว่าวิธีคิดเรื่องการหวนกลับมาปรองดองกับคนในชาติอีกครั้ง เพราะแม้แต่กับระบบศาลกาชาชาเอง ฉันก็มองว่ามันผิดที่ผิดทางไปพอสมควร เนื่องจากเป็นสถานที่ที่คุณจะได้ยินเรื่องราวจากทั้งสองฝั่ง ซึ่งก็จะมีคนมาพยายามไกล่เกลี่ยให้เกิดการปรองดองขึ้นเพื่อที่ทุกคนจะกลับสู่สภาวะปกติ”

“แต่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่มีอะไรปกติเลย และไม่มีการกลับไปเป็นปกติอีกแน่ๆ มันไม่มีอะไรให้ต้องหวนกลับไปทั้งนั้น พักใหญ่ทีเดียวกว่าฉันจะเข้าใจได้ว่า ประเทศนี้เพียงแค่หาทางก้าวต่อไปข้างหน้าและสร้างสิ่งที่คุณจะเรียกในเวลาต่อมาว่าเส้นเรื่องจากรัฐ แปลว่าหากเราเป็นเพื่อนบ้านกัน ก็จะได้กลับมาปรองดองกันอีกครั้งไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่มันจะไม่ได้ทำให้สิ่งที่สูญเสียไปแล้วนั้นกลับคืนมาได้อีก ไม่ได้ทำให้ทุกอย่างเป็นเหมือนเดิม เป็นแค่การก้าวต่อไปอย่างปลอมๆ เท่านั้น” เธอบอก

ในทางกลับกัน เท่ากันกับที่ศาลกาชาชาเปิดพื้นที่ให้ผู้กระทำผิดได้บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองต่อคนในชุมชน อันนำมาสู่ ‘ความจริง’ หลากรูปแบบ “ทีนี้คุณก็จะได้ฟังเรื่องราว มุมมองสารพัดรูปแบบจากชาวฮูตูแต่ละคนที่ก้าวออกมาเล่าความจริงในมุมของตัวเองเหมือนเป็นความเห็นส่วนตัวด้วย” อานู ชาคราวาร์ตี อาจารย์รัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซาต์ แคโรไลน่าบอก

“มีความจริงหลากหลายระดับ บางคนก็รู้สึกว่าสิ่งที่พวกเขาเคยทำเพื่อเพื่อน เพื่อคนในชุมชนนั้นเป็นสิ่งที่ผิด ถูกชักจูงโดยหัวหน้ากลุ่ม ซึ่งพอถึงเวลาของการชำระล้างความจริง หัวหน้าคนนั้นก็หลบหนีหายไปแล้ว

“ดังนั้นชาวรวันดาจึงใช้ชีวิตอยู่กับความจริงหลายชุดเหลือเกิน กับเศษเสี้ยวความจริงที่แทรกปนอยู่ในชีวิตประจำวัน ความจริงซึ่งพวกเขานั้นยอมรับ กับความจริงซึ่งพวกเขาตระหนักดีว่าสิ่งที่ตัวเองเคยทำนั้นเป็นอาชญากรรม ซึ่งฉันว่ามันมีการยอมรับ ความเข้าใจอยู่ในนั้น พร้อมกันกับความปรารถนาอยากจะชดใช้สิ่งที่พวกเขาเคยทำให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในขณะที่พวกเขาต้องก้าวเดินต่อไป”

ทั้งนี้ในเวลาต่อมา รวันดาประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2003 มีมาตราที่กำหนดเรื่องความปรองดองและสมานฉันท์ของคนในชาติไว้โดยเฉพาะ ทั้งยังจัดให้มีงานวิชาการเพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นกับคนในชาติ, ไม่อนุญาตให้สร้างความเกลียดชังหรือเลือกปฏิบัติต่อใครคนใดคนหนึ่ง พยายามจัดการกับประวัติศาสตร์และความทรงจำที่แตกสลายของผู้คนด้วยการสร้างศูนย์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คิกาลี่ (Kigali Genocide Memorial) รวมทั้งมีการนำภาพถ่ายของผู้เสียชีวิต กระดูก ถ้อยแถลงของผู้สูญเสียและศพของผู้เสียชีวิตมาทำพิธีอย่างเป็นทางการ โดยจัดตั้งเป็นวันแห่งความสูญเสียเพื่อรำลึกประชาชนถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในอดีต

หัวเรือสำคัญของการเยียวยาครั้งนี้คือ พอล คากาเม ประธานาธิบดีชาวทุตซีที่พยายามหาทางออกให้ความบาดหมางนี้ กำหนดให้วันเสาร์สุดท้ายของทุกเดือนเป็นวันอูมูกันดา (Umuganda) ให้ประชาชนทุกเชื้อชาติในรวันดามาทำกิจกรรมร่วมกัน ขวบปีแรกๆ ของกิจกรรมเป็นการเก็บเศษซากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสงคราม “อูมูกันดาคือวัฒนธรรมของการทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือกันเพื่อสร้างประเทศนี้ขึ้นมา” คากาเมประกาศ

แล้วจึงค่อยๆ กลายมาเป็นการทำกิจกรรมอื่นของชุมชน ไม่ว่าจะเก็บผลหมากรากไม้หรือถางวัชพืช ใครที่มีอายุระหว่าง 18-65 ปีและมีร่างกายแข็งแรงจะเข้ามาร่วมทำกิจกรรมชุมชนง่ายๆ สามชั่วโมงต่อเดือน มีการติดตามว่าใครเข้าร่วมกิจกรรมบ้าง คนที่หายหน้าหายตาไปนานๆ จะถูกถามไถ่หรืออาจจะมีโทษปรับเป็นเงิน

สองทศวรรษของความรุนแรงล่วงผ่านท่ามกลางสายตาของประชาคมโลกที่จับจ้องไปยังรวันดาว่า ถึงที่สุดแล้วพวกเขาหวนกลับมาให้อภัยเพื่อนร่วมชาติที่เคยเข่นฆ่ากันได้จริงหรือไม่ สำนักข่าว AP ยกตัวอย่างกรณีของ คุนดีนี ชาวฮูตูผู้ลงมือสังหารในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จนชาวทุตซีหายไปจากรวันดา 75% เมื่อปี 1994 และเข้ารับโทษด้วยการถูกจำคุกแปดปี ปัจจุบันเขาปลูกบ้านอยู่ข้างๆ หญิงม่ายที่สามีตายเพราะถูกเขาสังหาร ลูกหลานของทั้งสองวิ่งเล่นในสนามหญ้าเดียวกัน แบ่งปันอาหารที่พวกเขาทำด้วยกัน “หลังออกจากคุก ผมก็ไปขอโทษเธอ สารภาพสิ่งที่ผมทำไปทั้งหมดและขอให้เธออภัยให้ด้วย ซึ่งเธอก็ยอมรับคำขอโทษจากผม ทุกวันนี้เวลาผมต้องออกจากบ้านก็ฝากลูกหลานไว้ให้เธอเลี้ยงประจำ” เขาบอก

แต่ก็ไม่ใช่ชาวรวันดาทุกคนที่จะให้อภัยได้ หลายคนมองว่าการมอบโอกาส สร้างความปรองดองขึ้นใหม่นั้นควรเริ่มมาจากตัวของเหยื่อและผู้กระทำผิด ไม่ใช่มีต้นธารมาจากรัฐ “รัฐบาลไปบอกพวกคนทำผิดพวกนั้นว่า จะได้รับการปล่อยตัวจากคุกก็เมื่อไปขออภัยจากเหยื่อ ก็แน่ล่ะสิ พวกนั้นเลยตรงมาขอโทษเพื่อจะได้ถูกปล่อยตัว ช่างเป็นการขอโทษที่ปลอมเปลือกเหลือเกิน” เอ็นชิมิริมานา หนึ่งในเหยื่อและผู้รอดชีวิตเล่า “แถมเหยื่อจำนวนมากก็ตกลงใจจะให้อภัยเพราะยากจนมาก พวกเขาต้องการที่พักหรือค่าชดเชยต่างๆ จากรัฐ”

แต่ที่น่าสนใจคือ ในรวันดาก็มีหมู่บ้านเอ็มบโยซึ่งมีทั้งครอบครัวเหยื่อและคนกระทำผิดอยู่ด้วยกันราว 54 ครัวเรือน ใช้พื้นที่ในชุมชนร่วมกันเรื่อยมานับสิบปีหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในอดีต เงื่อนไขหนึ่งคือคนกระทำผิดในชุมชนนั้นส่วนใหญ่ได้รับบทลงโทษตามกฎหมายและถูกจำคุกตามนโยบายของรัฐ ตลอดจนมีท่าทีสำนึกในความผิดของตนอย่างจริงจัง สิบปีให้หลัง คนเหล่านี้กลายเป็นเพื่อนบ้านกันกับชาวทุตซีที่ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยประหัตประหารอย่างไร้ความเป็นธรรม ทุกสิ้นเดือน พวกเขาจะมารวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ของชุมชนในวันอูมูกันดาที่รัฐบาลกำหนด

หวนกลับมามองในไทย เราจะปล่อยวางอดีตได้อย่างไรหากว่ารัฐยังทำเสมือนว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เคยเกิดขึ้นจริง ไม่เพียงแต่ประวัติศาสตร์ในระยะสิบปีที่ผ่านมานี้ แต่โศกนาฏกรรมความรุนแรงที่รัฐทำต่อประชาชนหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น 6 ตุลา 2519, พฤษภาทมิฬ 2535 จนถึงการสังหารเสื้อแดงใจกลางกรุงปี 2553 ที่รัฐยังทำเป็นหลับตามองไม่เห็นเรื่อยมา หรือการอนุญาตให้เกิดการรัฐประหารทั้งสิ้น 13 ครั้งจนเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมการเมืองไทย ไม่เคยมีผู้นำทหารคนไหนได้รับการลงโทษ รวมทั้งเหล่าคนที่ออกใบเชิญด้วยความเอาแต่ใจให้เกิดการคว่ำกระดานทางการเมือง หลายคนลอยตัวจากสิ่งที่เกิดขึ้น มากไปกว่านั้นก็หลงลืมหรือไม่เข้าใจสิ่งที่ตัวเองทำลงไปเมื่อหลายปีก่อน หนักหน่อยอาจไม่สนใจการเมืองอีกต่อไปแล้ว

ความคั่งแค้นของคนที่จำต้องทนกับเรื่องเลวร้ายเหล่านี้จึงไม่เคยมีช่องระบายออก ได้แต่กล้ำกลืน ถูไถใช้ชีวิตอยู่ต่อไปในระบอบการปกครองที่ตัวเองไม่ได้เลือก พร้อมกันกับที่มองดูคนที่เชื้อเชิญมันมาออกไปใช้ชีวิตในประเทศที่ประชาธิปไตยผลิบาน ยังไม่นับเด็กและเยาวชนอีกจำนวนมากที่ถูกขโมยห้วงเวลาและอนาคตไปต่อหน้าต่อตา ตัวผู้เขียนเองยังเกิดและโตทันขวบปีที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน ยังได้หวัง ยังได้ฝันถึงอนาคตตัวเอง ถึงแวดวงวรรณกรรมและศิลปะซึ่งดูพร้อมจะงอกเงยได้อีกไกล หากก็ถูกทุบทำลายจากการรัฐประหารในที่สุด ในอีกด้าน เด็กหลายคนที่เกิดและโตในห้วงยามนี้ไม่มีสิทธิแม้จะฝันถึงอาชีพ เอาแค่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่ายังไม่รู้จะมาถึงไหม เพราะพิษจากการรัฐประหารนั้นกินเวลายาวนาน รู้ตัวอีกทีก็ลงถนนไปจนโดนจับ โดนคดีไปไม่รู้กี่คนต่อกี่คน

การจัดการความทรงจำ ชำระประวัติศาสตร์ และยอมรับว่ารัฐมีส่วนในการสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้นต่อคนในชาติตัวเอง ตลอดจนนำคนที่ทำผิดกฎหมาย -ไม่ว่าจะในการทำรัฐประหารหรือเชื้อเชิญในทางตรงและทางอ้อมมาลงโทษ- อาจไม่สร้างความปรองดองได้โดยเร็ววัน หากแต่ถึงที่สุด การจะก้าวไปข้างหน้าได้นั้นย่อมต้องสร้างฉันทามติและข้อตกลงร่วมของคนในชาติอันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากเราไม่ชำระประวัติศาสตร์ บาดแผล และสร้างความเข้าใจร่วมกัน

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ย่อมต้องเกิดจากเงื่อนไขข้อแรก นั่นคือรัฐต้องยอมรับผิดว่ามีส่วนรู้เห็นในการใช้ความรุนแรงและโศกนาฏกรรมในอดีตทั้งหมดให้ได้เสียก่อน

ที่มาภาพ: DFID – UK Department for International Development

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save