fbpx

คลาย 4 ปมคำถามคาใจในวันที่ธนาคารพาณิชย์กำไรทุบสถิติ

กำไรมูลค่า 2.2 แสนล้านบาทซึ่งนับว่าทุบทำลายสถิติครั้งก่อนๆ ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กลายเป็นเชื้อไฟที่นำไปสู่การถกเถียงอย่างกว้างขวางของคนในสังคม เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่ำกว่าเป้าหมายซึ่งเป็นผลมาจากภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกที่ไม่สดใส พอหลายคนได้เห็นตัวเลขกำไรธนาคารพาณิชย์ที่มหาศาล จึงย่อมอดไม่ได้ที่จะหยิบยกวาทกรรม “นายแบงก์เบียดเบียนประชาชน” ขึ้นมาพูด

ผมเองในฐานะนักการเงินก็ยังไม่ค่อยปักใจเชื่อสักเท่าไรนักจนกว่าจะได้เห็นข้อมูลกับตาตัวเอง ยิ่งเมื่อหันไปดูผลตอบแทนหุ้นกลุ่มแบงก์ในตลาดเมื่อครึ่งปีที่ผ่านมายิ่งแล้วใหญ่ เพราะข่าวธนาคารพาณิชย์ฟันกำไรมหาศาลกลับไม่ได้ทำให้นักลงทุนในตลาดตื่นเต้นดีใจอย่างที่หลายคนคาดหวัง แม้ว่าผลตอบแทนโดยรวมของกลุ่มแบงก์จะดีกว่าตลาดหลักทรัพย์เล็กน้อย แต่ก็เทียบไม่ได้กับหุ้นกลุ่มอาหาร ก่อสร้าง และบริการด้านสุขภาพ (แผนภูมิ 1)

แผนภูมิ 1: ผลตอบแทนรายอุตสาหกรรมในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเห็นได้ว่าหลักทรัพย์กลุ่มธนาคารพาณิชย์ติดลบน้อยกว่าดัชนีตลาดโดยเฉลี่ย แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับหุ้นกลุ่มอาหาร ก่อสร้าง และบริการด้านสุขภาพ

เพื่อทำความเข้าใจกับปรากฎการณ์ธนาคารพาณิชย์กำไรแสนล้าน ผมจึงพยายามตอบคำถาม 4 ข้อที่จะแกะกล่องให้ลึกลงไปกว่าความเข้าใจที่ว่า “เศรษฐกิจย่ำแย่แต่แบงก์กำไรเยอะ” รวมไปถึงการกล่าวโทษธนาคารแห่งประเทศไทยที่ขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนแตะระดับสูงที่สุดในรอบทศวรรษ

1. ธนาคารพาณิชย์กำไรเยอะเพราะอะไร?

ผมไม่ปฏิเสธว่าธนาคารพาณิชย์กำไรเยอะจริงๆ แต่คำถามต่อไปคือธนาคารพาณิชย์กำไรเยอะเพราะอะไร

ธุรกิจธนาคารนั้นหากมองอย่างเรียบง่ายก็ไม่ต่างจากธุรกิจพ่อค้าคนกลางซึ่งมีสินค้าที่นำมาจำหน่ายคือ ‘เงิน’ และราคาคือ ‘ดอกเบี้ย’ โดยต้นทุนก้อนใหญ่ของธนาคารก็คือดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับผู้ฝากเงินซึ่งเปรียบเสมือนเจ้าหนี้ ขณะที่รายได้ก้อนใหญ่ก็เป็นดอกเบี้ยที่ธนาคารเรียกเก็บจากเหล่าลูกหนี้ ดังนั้นวันที่ธนาคารมีกำไรเยอะ คนส่วนใหญ่จึงสรุปทันทีว่าธนาคารพาณิชย์ ‘ฉวยโอกาส’ ในช่วงที่ประชาชนยากลำบากขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้โดยที่ไม่ยอมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก

แผนภาพ 2: ระดับอัตราดอกเบี้ยประเภทต่างๆ ในแต่ละช่วเวลา

ความเข้าใจดังกล่าวถูกต้องแต่ไม่ทั้งหมด เพราะจากสถิติพบว่าเหล่าธนาคารพาณิชย์ก็ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำในอัตราที่เรียกได้ว่าสอดคล้องกับเงินกู้อย่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate หรือ MRR) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนดเรียกเก็บลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (Minimum Lending Rate หรือ MLR) อย่างไรก็ตาม เงินฝากออมทรัพย์ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งเงินทุนหลักของธนาคารกลับแทบไม่ขยับ โดยปรับเพิ่มจาก 0.25 เปอร์เซ็นต์เป็น 0.45 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ปัจจัยดังกล่าวนับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดัชนีชี้วัดความสามารถในการทำกำไรของธนาคารอย่างส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin) ปรับตัวเพิ่มขึ้น

สาเหตุส่วนหนึ่งที่ธนาคารพาณิชย์ไม่เร่งเพิ่มดอกเบี้ยออมทรัพย์เพื่อดึงดูดเงินฝากก็เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (หักมูลค่าธุรกรรมระหว่างธนาคาร) ของธนาคารพาณิชย์ไทยช่วงปลายปีที่ผ่านมาเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ราว 90 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น กล่าวคือเงินฝาก 100 บาท ธนาคารสามารถปล่อยกู้เพียง 90 บาท เมื่อผนวกกับเศรษฐกิจในระยะสั้นที่ไม่สดใสนักและพอร์ตฟอร์ลิโอสินเชื่อที่ขยายตัวต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เหล่าธนาคารจึงไม่มีแรงจูงใจในการเพิ่มดอกเบี้ยซึ่งจะเป็นการเพิ่มยอดเงินฝากเพราะนั่นไม่ต่างจากการเพิ่มต้นทุนของธนาคารโดยใช่เหตุ

อีกหนึ่งต้นทุนสำคัญของธนาคารที่หลายคนมักนึกไม่ถึงคือหนี้สูญ เมื่อไตรมาสที่สามในปีที่ผ่านมาอัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Loans: NPL) ของธนาคารเฉลี่ยอยู่ที่ 2.70 เปอร์เซ็นต์ หากเปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือปล่อยสินเชื่อไป 100 บาท ธนาคารจะเก็บเงินคืนได้แค่ 97.30 บาท นี่คือสาเหตุที่เราไม่สามารถนำส่วนต่างดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายมาคิดว่าเป็นกำไรของธนาคารโดยตรงได้ แต่ต้องพิจารณาถึงต้นทุนที่เกิดจากหนี้เสียด้วย

ตลอดปีที่ผ่านมา หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของไทยยังนับว่าค่อนข้างทรงตัวแม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่สดใส สาเหตุส่วนหนึ่งก็เนื่องจากนโยบายช่วยเหลือลูกหนี้จากทั้งรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยที่คอยพยุงให้ลูกหนี้ที่มีสถานะ ‘ปริ่มน้ำ’ ยังประคองตัวเองเอาไว้ได้

ฟากฝั่งธนาคารพาณิชย์เองก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วย เช่น ตามหนังสือเวียนที่ธปท.ฝนส.(23) ว. 276/2563 เรื่องแนวทางในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดทางให้ธนาคารพาณิชย์สามารถ “ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ที่ยังไม่ด้อยคุณภาพ” ซึ่งหากพิจารณาแล้วว่าสามารถปฏิบัติตามสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ก็สามารถจัดชั้นให้ลูกหนี้กลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยงด้านเครดิต (Stage 1) ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกหนี้ชั้นดีที่ธนาคารแทบไม่ต้องสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ แม้ว่าก่อนหน้านี้อาจจะเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้สูงลิ่วก็ตาม

เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือแทบทั้งหมดได้ยุติลงในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เหล่านักวิเคราะห์หลายคนจึงมองว่าคลื่นการผิดนัดชำระหนี้ของเหล่าลูกหนี้อาจจะค่อยๆ ปรากฏขึ้นในปีนี้หากเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่ได้ดีกว่าที่คาด สาเหตุนี้เองที่หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไม่ได้คึกคักเท่าที่ควรแม้ว่าสังคมจะฮือฮาจากการ ‘ทำกำไรทุบสถิติ’ เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าปีนี้อาจเป็นปีที่เหล่านายแบงก์อาจต้องรับศึกหนักและต้องควักกำไรที่สะสมเอาไว้เพื่อใช้เอาตัวรอด

2. รัฐบาลควรจำกัดอัตราดอกเบี้ยไว้หรือไม่?

เหล่านายธนาคารเป็นที่ชิงชังของสังคมมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันเพราะว่าวิธีคิดในการเรียกเก็บดอกเบี้ยของพวกเขานั้นเอื้อรายใหญ่และทำร้ายรายย่อย โดยมักจะปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่เหล่านายทุนผู้มั่งคั่ง แต่มักจะเรียกเก็บดอกเบี้ยสูงกับเหล่าผู้ยากไร้

คำอธิบายจากฝั่งนายทุนก็ตรงไปตรงมานั่นคืออัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บนั้นสะท้อนความเสี่ยงและต้นทุนต่อมูลค่าธุรกรรม ในเมื่อลูกหนี้รายย่อยส่วนใหญ่มักจะมีความเสี่ยงสูงกว่าและต้นทุนในการทำธุรกรรมสูงกว่า เหล่านายธนาคารจึงต้องเรียกเก็บดอกเบี้ยจากพวกเขาในอัตราที่สูงกว่าลูกหนี้รายใหญ่ผู้มั่งคั่ง การกระทำเช่นนี้ย่อมสร้างความไม่พึงพอใจในหมู่ประชาชน จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยจะมีกฎหมาย ‘เพดานอัตราดอกเบี้ย (Usury laws)’ ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่เจ้าหนี้สามารถเรียกเก็บได้

อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไป ใครที่ร่ำเรียนเศรษฐศาสตร์มาบ้างก็คงตอบได้ทันทีว่าสิ่งที่ตามมาคือ ‘ตลาดมืด’ หรือที่เราคุ้นเคยกันดีในชื่อว่า ‘หนี้นอกระบบ’ ที่ไม่มีการกำกับดูแล สาเหตุก็เพราะเพดานอัตราดอกเบี้ยที่รัฐกำหนดนั้นต่ำเกินกว่าที่เหล่านายธนาคารจะ ‘สบายใจ’ ในการปล่อยสินเชื่อแก่คนบางกลุ่มที่พวกเขามองว่ามีความเสี่ยงสูง เมื่อการเงินในระบบไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาได้ ความต้องการใช้เงินก็บีบให้ต้องหันไปหาทางเลือกอื่นซึ่งอำนาจในการกำกับดูแลของรัฐเอื้อมเข้าไปไม่ถึง

ดังนั้นการขยับเพดานอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงกว่าเดิมจึงดูจะเป็นการซ้ำเติมมากกว่าแก้ไขปัญหา รัฐจึงไม่ควรแทรกแซงกลไกการทำงานของตลาด แต่ลองหาทางเลือกอื่นในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางแบบทางตรงแทนที่จะพยายามสร้างกฎเกณฑ์มากำกับอัตราดอกเบี้ย

ในทางกลับกัน แนวทางปัจจุบันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามเดินหน้าคือการใช้กลไกที่เรียกว่าการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยง (Risk-based Pricing) เพื่อทดแทนการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยแบบอัตราเดียวทั้งกระดาน ซึ่งนับว่าน่าสนใจมากกว่า เพราะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อให้กับกลุ่มคนที่ก่อนหน้านี้ถูกปฏิเสธการให้สินเชื่อในระบบเนื่องจากธนาคารพาณิชย์มองว่ามีความเสี่ยงสูงเกินและไม่คุ้มกับรายได้จากอัตราดอกเบี้ยที่ถูกบีบให้อยู่ใต้เพดาน

ผมไม่ปฏิเสธนะครับว่าวิธีคิดของธนาคารพาณิชย์คือการเอื้อคนรวยและทำร้ายคนจน แต่นั่งคิดนอนคิดแล้วก็ยังมองไม่เห็นทางเลือกอื่นในการจัดสรรทรัพยากรพร้อมกับเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงสินเชื่อได้มีประสิทธิภาพมากกว่าระบบธนาคารที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ช่องทางนี้จึงนับว่าเป็นตัวเลือกที่เลวร้ายน้อยที่สุดเท่าที่เรามีอยู่ในมือ ส่วนใครที่เห็นต่างและมีข้อเสนอใหม่ๆ ที่น่าสนใจก็สามารถแบ่งปันความคิดเห็นได้เลยครับ

3. ทำไมธนาคารแห่งประเทศไทยถึงคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้แม้ว่าเงินเฟ้อจะลดลง?

ในวันที่กำไรธนาคารพาณิชย์แตะระดับสูงสุด ไฟย่อมฉายมายังธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลหลักและผู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สะท้อนต่อมายังอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้

หากมองย้อนกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกหลังการระบาดของโควิด-19 ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องจนมาแตะระดับ 2.50 เปอร์เซ็นต์เมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมาซึ่งนับว่าสูงที่สุดในกรอบระยะเวลาหนึ่งทศวรรษโดยมีสาเหตุสำคัญคือการป้องปรามอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลกจากหลากหลายปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน

ถ้าใครติดตามอ่านรายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินก็คงจะเห็นสัญญาณความกังวลอย่างชัดเจนถึงภาวะเงินเฟ้อซึ่งอาจเกิดจากความไม่แน่นอนในอนาคตจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะส่งผลกระทบต่อราคาอาหาร ภาวะสงครามที่จะกระทบต่อราคาพลังงาน รวมทั้งแรงผลักดันจากการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ปรากฏครั้งแล้วครั้งเล่านับตั้งแต่นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ขึ้นดำรงตำแหน่ง คือความกังวลว่านโยบายภาครัฐ อาทิ โครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพที่อาจส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นแบบฉับพลัน

แม้ฝั่งภาครัฐจะหยิบยกตัวเลขเงินเฟ้อที่หดตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ในรายงานของคณะกรรมการนโยบายการเงินก็มองว่าเงินเฟ้อที่ลดลงนั้นเกิดจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐซึ่งส่งผลระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าไฟฟ้าหรือตรึงราคาน้ำมันดีเซล ดังนั้นความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อในอนาคตจึงนับว่ายังค่อนข้างสูง

หากถอยออกมามองในภาพกว้าง ปฏิเสธไม่ได้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้นนับว่าต่ำมากๆ โดยแทบจะต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเทียบกับประเทศขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาหรือประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปยิ่งแล้วใหญ่ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินส่งผลให้เกิดการเทขายอย่างต่อเนื่องจากนักลงทุนต่างชาติ และอาจก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาวเมื่อสภาพคล่องในตลาดเงินหดหาย

ผมขอชวนผู้อ่านสวมหมวกนักลงทุนแล้วเปรียบเทียบกันดูนะครับ ระหว่างพันธบัตรรัฐบาลไทยที่อันดับเครดิต BBB+ ซึ่งนับว่าค่อนข้างเสี่ยงแต่กลับให้ผลตอบแทนเพียงราว 2.7 เปอร์เซ็นต์กับพันธบัตรรัฐบาลออสเตรเลียที่อันดับเครดิตมั่นคงแข็งแรงระดับ AAA แต่ให้ผลตอบแทนสูงถึง 4.15 เปอร์เซ็นต์ หรือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่สภาพคล่องสูงลิ่วและอันดับเครดิต AA+ ที่ให้ผลตอบแทน 4.05 เปอร์เซ็นต์

ลองถามใจตัวเองดูแล้วกันครับว่าเราจะเลือกลงทุนในพันธบัตรที่ความเสี่ยงสูงและผลตอบแทนต่ำ หรือพันธบัตรที่ความเสี่ยงต่ำแต่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า?

สถานการณ์ในปัจจุบันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเผชิญจึงนับว่าไม่ง่าย หากลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่านี้ก็อาจเสี่ยงเผชิญเงินทุนไหลออกต่อเนื่องและกระตุ้นให้เกิดการกู้ยืมเกินศักยภาพและการแสวงหาความเสี่ยงที่มากเกินไป แต่หากเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่านี้ก็อาจฉุดรั้งให้เศรษฐกิจที่ซบเซาอยู่แล้ว ย่ำแย่ลงยิ่งกว่าเดิม

4. ภาคธนาคารแข่งขันต่ำจริงหรือเปล่า?

ข้อนี้ผมตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าจริงครับ แม้ว่าธนาคารที่ทำธุรกิจในไทยจะมีอยู่เกือบ 20 ราย แต่ธนาคารยักษ์ใหญ่ 6 แห่งก็ครองสินทรัพย์ในตลาดไปมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว แม้หลายคนจะมองว่าอุตสาหกรรมนี้มีตัวเลือกค่อนข้างมาก และสภาพการแข่งขันดีกว่าบางอุตสาหกรรม เช่น โทรคมนาคมที่เหลือผู้เล่นเพียงสองราย แต่ผมก็มองว่าการเพิ่มการแข่งขันอาจจะช่วยให้ดอกเบี้ยเงินกู้ของไทยลดต่ำลงกว่านี้ได้อีก

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์มองว่าการแข่งขันที่มากเกินไปในภาคธนาคารก็อาจทำลายเสถียรภาพของระบบการเงิน เพราะยิ่งธนาคารขนาดเล็กลงเท่าไหร่ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการล้มละลาย ยังไม่นับผลกำไรที่หดหายเนื่องจากการแข่งขันที่เข้มข้นจนต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากและลดดอกเบี้ยเงินกู้ ปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้คุณภาพต่ำ หรือแสวงหาความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มผลตอบแทน

ในทางกลับกัน นักเศรษฐศาสตร์อีกกลุ่มก็มองว่าภาคธนาคารที่แข่งขันกันน้อยเกินไปและมีแต่บริษัทยักษ์ใหญ่อาจบั่นทอนเสถียรภาพการเงินมากกว่า เพราะเหล่าธนาคารพาณิชย์จะกลายสภาพเป็นสถาบันการเงินที่ใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้มได้ (Too Big to Fail) โดยรัฐพร้อมเข้ามาช่วยเหลือทันที กลายเป็นปัญหาจริยวิบัติ (Moral Hazard) ที่เอื้อให้เหล่านายธนาคารแสวงหากำไรเข้ากระเป๋าโดยรับความเสี่ยงเกินควร เพราะรู้ว่าต่อให้ดำเนินการผิดพลาดก็จะมีเงินภาษีประชาชนเข้ามาเป็นเบาะรองรับ

ผู้เขียนคงไม่มีคำตอบว่าการแข่งขันในระดับใดจึงจะเหมาะสมที่สุด แต่ตัวชี้วัดเรื่องการแข่งขันในภาคธนาคารไทยสะท้อนภาพ ‘อำนาจเหนือตลาด’ มาอย่างยาวนานโดยส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ผลกำไรที่เพิ่มขึ้นจากภาคธนาคารจึงอาจไม่ได้สะท้อนการขยายตัวของสินเชื่อหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

หน่วยงานกำกับดูแลอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยจึงต้องหาหนทางเพิ่มการแข่งขันในตลาดสินเชื่อ เช่น ผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อให้ผู้เล่นหน้าใหม่อย่างสตาร์ตอัปฟินเทคขนาดเล็กได้มีโอกาสทำธุรกิจมากยิ่งขึ้น รวมถึงเปิดทางให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเข้าถึงบริการด้านโครงสร้างทางการเงิน เช่น ระบบยืนยันตัวตน ข้อมูลการชำระหนี้ในอดีต หรือบริการฝากถอนโอนจ่าย ในอัตราค่าธรรมเนียมที่แข่งขันได้ ไม่ใช่ใช้โครงสร้างดังกล่าวเป็นกำแพงกีดกันการเข้าตลาดของผู้เล่นรายใหม่ๆ

ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าการธนาคารนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้กลไกตลาดทำงานได้ดียิ่งขึ้น ที่ผู้เขียนย้ำว่าเป็น หนึ่ง ในอุตสาหกรรม เพราะหากหันไปมองที่ธุรกิจอื่นๆ อย่างโทรคมนาคม พลังงาน หรือค้าปลีก เราจะเห็นการเอื้อประโยชน์และการใช้อำนาจเหนือตลาดที่ทำให้รู้สึกว่าจริงๆ แล้วภาคธนาคารนั้นยังไม่เลวร้ายถึงขั้นวิกฤติ

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save