fbpx

วิกฤติเศรษฐกิจกระทบผลการเลือกตั้งอย่างไร?

ในฤดูกาลเลือกตั้งที่ดันมาพ้องกันกับสภาวะเศรษฐกิจที่ชวนกังวล ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อพุ่ง อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมธนาคารสั่นคลอน ยังไม่นับรากฐานทางเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่แข็งแรงดีเนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ชวนให้ตั้งคำถามว่าภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้จะกระทบต่อผลการเลือกตั้งอย่างไร

ไม่ใช่ผมคนเดียวนะครับที่สงสัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการลงคะแนนเลือกตั้งกับภาวะเศรษฐกิจ ศาสตร์แขนงนี้ตั้งอยู่บนรากฐานทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การลงคะแนนเสียง (Economic Voting Theory) ที่สามารถสืบย้อนกลับไปราวห้าทศวรรษก่อน โดยมีผลงานชิ้นสำคัญคือการศึกษาเชิงประจักษ์ในสหรัฐอเมริกาที่พบว่าความพึงพอใจต่อผลงานด้านเศรษฐกิจของพรรครัฐบาลส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อสัดส่วนคะแนนเสียงที่ได้ในการเลือกตั้งหลังหมดวาระ

ทฤษฎีดังกล่าวลงหลักปักฐานอย่างแม่นมั่น พร้อมกับมีหลากหลายงานวิจัยที่ช่วยเสริมแง่มุมต่างๆ ผ่านการมองว่าการตัดสินใจลงคะแนนเสียงคือการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ ขณะที่ช่วงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจนั้น การตัดสินใจของประชาชนอาจแตกต่างจากภาวะปกติและมักจะเทคะแนนให้กับพรรคฝ่ายขวา การศึกษาชิ้นล่าสุดพบว่าเหตุการณ์ธนาคารล้มละลายอาจเป็นสาเหตุให้ประชาชนเอนเอียงไปเลือกพรรคอนุรักษนิยมสุดโต่งโดยมีกรณีตัวอย่างคือการก้าวขึ้นสู่อำนาจของพรรคนาซีในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจของเยอรมนี

เศรษฐศาสตร์ของการลงคะแนนเสียง

การลงคะแนนเสียงนับเป็นการแสดงออกของพฤติกรรมทางการเมืองที่แวดวงวิชาการต่างพยายามเฟ้นหาคำอธิบาย ในแง่สังคมวิทยามองว่าการลงคะแนนเสียงสะท้อนเครือข่ายทางสังคมของแต่ละชนชั้น ในแง่จิตวิทยามองว่าผู้มีสิทธิออกเสียงโอนอ่อนผ่อนตามผู้มีอำนาจ ในแง่ประวัติศาสตร์อาจมองว่าผู้มีสิทธิออกเสียงก็มักจะมีพฤติกรรมคล้ายเดิมคือเลือกพรรคเดิมและคนเดิมที่คุ้นชิน ในแง่วารสารศาสตร์อาจเน้นหาคำตอบว่าสื่อและข้อมูลต่างๆ เปลี่ยนใจผู้มีสิทธิออกเสียงได้อย่างไร

แต่หากมองผ่านมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ เหล่าผู้มีสิทธิออกเสียงที่มีเหตุมีผลย่อมทำการชั่งตวงวัดผลลัพธ์ที่ตัวเองจะได้จากการออกเสียง โดยสะท้อนจากมุมมองต่อ ‘ภาวะเศรษฐกิจ’ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา

หากเศรษฐกิจคึกคักและเติบโตสูง ผู้มีสิทธิออกเสียงก็จะมองว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันมีผลงานโดดเด่นและตอบแทนพรรคการเมืองเหล่านั้นด้วยการลงคะแนนให้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ถ้าเศรษฐกิจย่ำแย่ เหล่าพลเมืองก็จะลงโทษพรรครัฐบาลโดยการเปลี่ยนใจไปเลือกพรรคฝ่ายค้าน ทฤษฎีดังกล่าวฟังดูสมเหตุสมผล อีกทั้งยังมีหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนจำนวนมากจากหลายประเทศจนเรียกได้ว่าน่าเชื่อถือทั้งในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม การศึกษาเชิงประจักษ์ก็ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจโดยเฉพาะการหานิยามของคำว่า ‘เศรษฐกิจดี’

นักเศรษฐศาสตร์จัดแบ่งมุมมองของพลเมืองต่อ ‘เศรษฐกิจดี’ เป็นสองประเภท โดยในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น พลเมืองในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาจะจัดเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงที่ให้ความสำคัญกับสังคม (Sociotropic Elector) โดยพิจารณาภาวะเศรษฐกิจแบบภาพรวมโดยอิงจากตัวแปรมหภาค ในขณะที่ฝั่งประเทศกำลังพัฒนา อาทิ ผู้มีสิทธิออกเสียงในกลุ่มประเทศแถบแอฟริกาจะให้ความสำคัญกับตนเอง (Egotropic) โดยจะมองว่าเศรษฐกิจดีหรือแย่ผ่านการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของระดับรายได้ตนเองภายใต้การบริหารของแต่ละรัฐบาล

ช่วงระยะเวลาที่ใช้อ้างอิงก็มีผลเช่นกัน นักเศรษฐศาสตร์พบว่าประชาชนมักจะมองผลลัพธ์แบบย้อนหลัง (Retrospective) กล่าวคิดพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจในอดีต หรือคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดที่แล้ว แต่ก็มีบางสถานการณ์ที่ประชาชนจะมองไปข้างหน้าโดยเปรียบเทียบนโยบายที่แต่ละพรรคเสนอในการรณรงค์หาเสียง เช่นกรณีที่รัฐบาลชุดปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นวาระแรกจึงอาจยังไม่เห็นผลงานที่เด่นชัดมากนัก

อย่างไรก็ตาม มนุษย์ปุถุชนก็ไม่มีทางตัดสินใจโดยปราศจากอคติ มีการศึกษาพบว่าประชาชนจะเอนเอียงไปทางให้โอกาสพรรคที่สอดคล้องกับรสนิยมของตนเอง เช่น กลุ่มคนที่ชื่นชอบพรรคอนุรักษนิยมก็จะประเมินผลงานทางเศรษฐกิจของพรรคอนุรักษนิยมแบบใจดีเป็นพิเศษ กล่าวคือเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญก็จริง แต่อคติก็มีผลไม่น้อยเช่นกัน

วิกฤติเศรษฐกิจ และการเถลิงอำนาจของฝ่ายขวา

แล้วถ้าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรงล่ะ ผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร?

การศึกษาชิ้นล่าสุดฉายภาพหลักฐานใหม่ในช่วงเวลาที่น่าสนใจอย่างยิ่งทางประวัติศาสตร์ของเยอรมนี คือการเกิดวิกฤติของภาคธนาคารที่เชื่อมโยงกับความนิยมของพรรคนาซีและส่งอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจในยุคไรช์เยอรมันที่สาม นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวและสงครามโลกครั้งที่สอง

ย้อนกลับไปเมื่อราวทศวรรษที่ 1930s เยอรมนีเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่องยาวนาน ก่อนจะลุกลามเป็นวิกฤติครั้งใหญ่จากการล้มละลายของธนาคารดานัต (Danatbank) หนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมันจนส่งผลให้เกิดการแห่ถอนเงิน (Bank Run) อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพยายามบรรเทาวิกฤติโดยสั่งห้ามถอนเงินเป็นการชั่วคราว แต่กลับกลายเป็นว่าประชาชนยิ่งตื่นตระหนกจนทำให้ธนาคารเดรสด์เนอร์ (Dresdner Bank) ล้มเป็นรายต่อไป

การศึกษาชิ้นนี้ระบุว่าวิกฤติธนาคารของเยอรมนีมีผลอย่างยิ่งต่อความนิยมของพรรคนาซี เพราะนอกจากจะทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ลงและคนตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์สุดโต่งมากขึ้น ยาคอบ โกลด์ชมิดท์ (Jakob Goldschmidt) ผู้บริหารของธนาคารดานัตในขณะนั้นยังเป็นเป้าหมายที่พรรคนาซีโจมตีอยู่เนืองๆ ในฐานะนายทุนชาวยิวที่อยู่เบื้องหลังภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และทำให้ชาติเยอรมันไม่เจริญเสียที

ทีมวิจัยทดสอบสมมติฐานดังกล่าวโดยหาความสัมพันธ์ระหว่างผลกระทบจากการล้มละลายของธนาคารดานัตกับกระแสความนิยมพรรคนาซีในแต่ละพื้นที่ ผลปรากฏว่าเสียงสนับสนุนฮิตเลอร์สูงขึ้นอย่างมากในพื้นที่ซึ่งมีบริษัทคู่ค้าของธนาคารดานัตและชุมชนที่ธนาคารดานัตไปเปิดสาขา ผลลัพธ์ดังกล่าวยิ่งชัดเจนมากขึ้นในชุมชนซึ่งมีแนวคิดต่อต้านชาวยิวเป็นทุนเดิม สะท้อนให้เห็นผลทบทวีระหว่างปัจจัยด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อการเมือง

แม้กรณีของฮิตเลอร์อาจเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง แต่เราก็มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้คือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ระหว่างปี 2007–2008 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกและคนตกงานจำนวนมหาศาล โลกตะวันตกเผชิญกับกระแสที่มาแรงแซงทางโค้งของพรรคประชานิยมเอียงขวา ไม่ว่าจะเป็นสวีเดน สเปน เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา มีการศึกษาหลายต่อหลายชิ้นที่พบความเชื่อมโยงระหว่างวิกฤติการเงินกับการเถลิงอำนาจของพรรคประชานิยมฝ่ายขวา แม้แต่นิตยสารอย่าง Financial Times ยังโปรยบทบรรณาธิการในวาระครบรอบ 10 ปีวิกฤติซับไพรม์ว่า “ประชานิยมคือมรดกที่แท้จริงของวิกฤติการเงิน”

การศึกษาอีกหนึ่งชิ้นวิเคราะห์ข้อมูลระยะยาวกว่า 140 ปีของประเทศพัฒนาแล้ว 20 ประเทศก็ได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกัน โดยพบว่าวิกฤติทางการเงินจะส่งผลกระทบต่อการเมืองโดยนำไปสู่การเถลิงอำนาจของฝ่ายขวาจัดซึ่งมักจะชูกระแสชาตินิยมและกล่าวโทษชาวต่างชาติหรือชนกลุ่มน้อยว่าเป็นสาเหตุของวิกฤติ โดยพรรคการเมืองขวาจัดจะได้รับคะแนนเสียงเฉลี่ยในสัดส่วนที่สูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ที่น่าสนใจคือผลลัพธ์เช่นนี้จะไม่ปรากฏในช่วงเศรษฐกิจถดถอยธรรมดา หรือวิกฤติเศรษฐกิจที่ไม่ได้เกิดจากภาคการเงิน

หันกลับมามองประเทศไทย ต้องยอมรับว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมาพรรครัฐบาลเผชิญกับวิกฤติหลายประการ แต่กระนั้นก็ยังถือว่าทำผลงานด้านเศรษฐกิจได้ไม่ดีนักโดยฟื้นตัวค่อนข้างช้าและต่ำกว่าคาด โดยต้องหวังพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ จากชุดทฤษฎีข้างต้น เราก็คงพอจะสามารถทำนายได้ว่า ถ้าคนส่วนใหญ่มองผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาว่าย่ำแย่ ก็มีแนวโน้มอย่างมากที่รัฐบาลจะเปลี่ยนขั้ว

แต่สำหรับประเทศไทยอาจผิดแผกแตกต่างจากทฤษฎีไปสักหน่อย เพราะมีตัวแปรอย่างสมาชิกวุฒิสภา 250 เสียงที่ทุกคนก็คงจะทราบดีว่ามี ‘รสนิยม’ แบบใด


เอกสารประกอบการเขียน

Politics in the Slump: Polarization and Extremism after Financial Crises, 1870-2014

Financial Crises and Political Radicalization: How Failing Banks Paved Hitler’s Path to Power

Economic voting theory: Testing new dimensions

The Economic Vote: How Political and Economic Institutions Condition Election Results

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save