fbpx

ทำไมอินโดนีเซียจึงเป็นประเทศที่เหล่ามหาอำนาจจับตามอง?

เมื่อกล่าวถึงประเทศที่มีประชากรจำนวนมากที่สุดในโลก ชื่อแรกๆ ที่ปรากฏในหัวย่อมเป็นจีนและอินเดีย

เมื่อพูดถึงมหาอำนาจที่เป็นประชาธิปไตย ก็หนีไม่พ้นสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป

เมื่อไล่เรียงกลุ่มประเทศเกิดใหม่ เราก็คงคุ้นหูกับตัวย่ออย่างกลุ่ม BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) หรือใกล้ตัวเข้ามาหน่อยคือ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม)

แต่ทราบไหมครับว่ามีประเทศหนึ่งที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากประเทศไทย ติดโผประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกเป็นอันดับ 4 ถือเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 และหากพิจารณาเฉพาะกลุ่มประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ประเทศนี้จะครองอันดับ 1 ในทันที

เดาได้ไหมครับว่าผมกำลังพูดถึงอินโดนีเซีย ประเทศที่ประกอบด้วยเกาะนับพันทอดยาวจากมหาสมุทรอินเดียไปจนถึงมหาสมุทรแปซิฟิกโดยมีประชากรกว่า 276 ล้านคน

แม้อินโดนีเซียจะถูกมองข้ามมาอย่างยาวนาน แต่ทั่วโลกเริ่มจับตามองอินโดนีเซียอีกครั้งหลังจากประสบความสำเร็จในการจัดประชุม G20 กลุ่มประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด 19 ประเทศของโลกและสหภาพยุโรป โดยมีผู้นำจากหลากหลายประเทศเข้าประชุม อาทิ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน จากสหรัฐอเมริกา และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโลกสมัยใหม่ที่กลับมาแบ่งฝักแบ่งฝ่ายตามค่ายการเมืองอีกครั้ง คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าอินโดนีเซียนับเป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกาและจีนเข้ามาแข่งขันสร้างอิทธิพล

ย้อนกลับไปเมื่อ 32 ปีก่อน วิกฤตต้มยำกุ้งที่กระทบอินโดนีเซียไม่น้อยทำให้ระบอบซูฮาร์โตล่มสลายและเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การเป็นประชาธิปไตยแบบเต็มใบ แม้ว่าอินโดนีเซียจะอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจและกำลังทหารอ่อนแอ แต่กลับมีบทบาทสำคัญในฐานะ ‘ตัวกลาง’ ที่อำนวยความสะดวกให้เหล่ามหาอำนาจในภูมิภาคแห่งเอเชียไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย และญี่ปุ่น มาพูดคุยคลี่คลายความขัดแย้ง ผู้เชี่ยวชาญจึงมองเส้นทางการเติบโตของอินโดนีเซียสู่การเป็น ‘มหาอำนาจระดับกลาง’ (middle power) เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย แคนาดา และออสเตรเลีย

ข้อจำกัดเพียงหนึ่งเดียวของอินโดนีเซียคือการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันจีดีพีต่อหัวของอินโดนีเซียอยู่ที่ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของจีดีพีต่อหัวของไทยเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า อินโดนีเซียอาจกลายเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ต้องจับตา เพราะที่ผ่านมาก็มีอัตราการเติบโตที่สูงมากๆ เพียงแต่อาจไม่สูงเท่ากับจีนและอินเดีย

จุดประกายเศรษฐกิจอินโดนีเซีย

การระบาดของโควิด-19 เร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของภาครัฐและภาคธุรกิจอินโดนีเซีย สตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเพื่อรองรับประชากรร่วม 200 ล้านชีวิตที่สามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตได้ในปัจจุบัน เราจึงได้เห็นสารพัดยูนิคอร์นถือกำเนิดในประเทศกำลังพัฒนาแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Tokopedia บริษัทพัฒนาซูเปอร์แอปอย่าง GoJek หรือแม้แต่แพลตฟอร์มจองตั๋วเครื่องบินและการท่องเที่ยวที่เราคุ้นหูกันดีอย่าง Traveloka ก็เป็นบริษัทสัญชาติอินโดนีเซียทั้งสิ้น

หนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดคือกระแสยานยนต์ไฟฟ้าที่มาแรงทั่วโลก โดยหนึ่งในแร่สำคัญที่ใช้สำหรับผลิตแบตเตอรีคือนิกเกิล (Nickel) อินโดนีเซียจึงรับโชคชั้นที่หนึ่งในฐานะประเทศที่มีแหล่งสำรองแร่นิกเกิลอันดับ 5 ของโลก ผนวกกับการดำเนินนโยบายกีดกันการค้าโดยห้ามส่งออกแร่นิกเกิล ซึ่งเป็นการบีบให้บริษัทจากนานาประเทศต้องมาลงทุนสร้างโรงงานในอินโดนีเซีย การตัดสินใจดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างงดงามโดยสามารถดึงเงินลงทุนจากต่างชาติได้กว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

อีกปัจจัยหนึ่งคือเสถียรภาพทางการเมือง รัฐบาลอินโดนีเซียในปัจจุบันประกอบด้วยหลายพรรคเล็กภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด หรือ ‘โจโกวี’ ชายที่มีบุคลิกแบบลูกทุ่งลุยๆ และทัศนคติเชิงบวกว่าทุกอย่างเป็นไปได้ แต่เบื้องหลังของภาพการทำงานแบบสบายๆ เขากลับสามารถประคับประคองและประสานความต้องการของพรรคต่างๆ แม้แต่อดีตพรรคคู่แข่งของเขาให้รัฐบาลเดินหน้าต่อไปได้โดยที่ไม่ใช้งบประมาณเกินตัว เราจึงได้เห็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งถนนและสนามบินแห่งใหม่ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนกฎหมายด้านการศึกษาและแรงงานให้ทันสมัยยิ่งขึ้น

เหตุผลสุดท้ายคือมหาอำนาจต่างมองอินโดนีเซียเป็นสนามสำหรับแข่งขันกันสร้างอิทธิพล ในขณะที่อินโดนีเซียพยายามวางตัวเป็นกลางตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันและเปิดทางให้ทุนจากทั้งฝั่งจีนและสหรัฐอเมริกาไหลเข้าประเทศ นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังมีปากมีเสียงในเวทีโลก เช่น การวิพากษ์วิจารณ์การคว่ำบาตรรัสเซียของโลกตะวันตก เมื่อปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจโกวียังเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้พบปะกับประธานาธิบดีทั้งสหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย และยูเครน

หากอินโดนีเซียยังมีผลงานดีเช่นนี้ต่อไปอีกหนึ่งทศวรรษโดยไม่ประสบอุบัติเหตุทางเศรษฐกิจ อินโดนีเซียก็มีโอกาสขึ้นแท่นหนึ่งในสิบประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก

ความเสี่ยงที่ต้องจับตา

ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะไม่เติบโตไปตามที่คาดหวังอาจเกิดจากความสำเร็จของนโยบายกีดกันทางการค้าแร่นิกเกิลของอินโดนีเซียเอง เพราะความสำเร็จดังกล่าวทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียเริ่มมองหาลู่ทางในการใช้มาตรการแบบเดียวกันกับแร่ชนิดอื่นที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจโลก เช่น บอกไซต์ (Bauxite) ที่ใช้ในการผลิตอลูมิเนียม

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์เดียวกันกลับทำให้อุตสาหกรรมแร่บอกไซต์ล้มไม่เป็นท่า กำลังการผลิตที่ควรจะเพิ่มขึ้นกลับลดลงจาก 50 ล้านตันเป็น 30 ล้านตัน เพราะบริษัทเหมืองแร่กลัวว่าจะไม่มีกำลังซื้อภายในประเทศมากพอ ส่วนคู่ค้ารายเดิมต่างก็เบือนหน้าหนี ส่วนหนึ่งเพราะการลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปแร่บอกไซต์นั้นใช้เทคโนโลยีและต้นทุนสูงกว่านิกเกิลมาก อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโจโกวีก็ยังมุ่งมั่นที่จะใช้กลยุทธ์เดียวกันกับแร่ทองแดงและทองคำ

ปัญหาสำคัญที่ทำให้แร่ชนิดอื่นๆ ไม่สามารถใช้กลยุทธ์เดียวกับแร่นิกเกิลได้คืออำนาจในการต่อรองของอินโดนีเซีย ปัจจุบันอินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตแร่นิกเกิลรายใหญ่ของโลก โดยคิดเป็นกำลังการผลิตถึง 37 เปอร์เซ็นต์ของนิกเกิลในตลาด แต่สำหรับบอกไซต์ ทองคำ และทองแดงนั้นเป็นคนละเรื่อง เพราะอินโดนีเซียมีกำลังการผลิตไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ การใช้มาตรการแบบเดียวกันจึงทำให้คู่ค้าเดิมหันไปหาแหล่งแร่แห่งใหม่ในต่างแดน

แม้ว่านโยบายห้ามส่งออกแร่นิกเกิลจะประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แต่ความสำเร็จดังกล่าวก็มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายราคาแพง เพราะรัฐบาลอินโดนีเซียต้องงัดสารพัดกลยุทธ์เพื่อจูงใจให้เกิดการตั้งอุตสาหกรรมถลุงแร่นิกเกิลภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นภาษีเนิ่นนานนับทศวรรษ รวมทั้งลดค่าสัมปทานเหมืองแร่ ที่สำคัญ องค์การการค้าโลกเพิ่งมีคำตัดสินว่านโยบายของอินโดนีเซียเข้าข่ายกีดกันทางการค้าและแนะนำว่าให้ปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariff and Trade) ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าหากอินโดนีเซียไม่ทำตามอาจกลายเป็นปัญหาในอนาคต

อีกความเสี่ยงที่มองข้ามไม่ได้คือปัญหาการเมืองทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ

ประธานาธิบดีโจโกวีจะหมดวาระลงใน พ.ศ. 2567 โดยยังไม่มีผู้สืบทอดตำแหน่งที่แน่ชัด ความสำเร็จของเขาทำให้เหล่าผู้สนับสนุนถึงกับส่งเสียงว่าให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้สามารถรั้งตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปได้ อย่างไรก็ดี หากมีการต่ออำนาจให้ประธานาธิบดีโจโกวีจริงก็อาจกลายเป็นใบเบิกทางให้การเมืองอินโดนีเซียถอยหลังกลับไปสู่ยุคของการช่วยเหลือพวกพ้องเช่นเดียวกับสมัยซูฮาร์โต

ส่วนการเมืองระหว่างประเทศก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน หากเม็ดเงินลงทุนยังคงไหลเข้าในอัตราเร็วเท่ากับในอดีตก็มีแนวโน้มสูงว่าอินโดนีเซียจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีน เพราะที่ผ่านมาจีนลงทุนในอินโดนีเซียมากกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 4 เท่าตัว ยังไม่นับการต้องพึ่งพาช่องแคบไต้หวันในการส่งออกที่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ทันทีหากสงครามไต้หวันปะทุขึ้น จวบจนปัจจุบันอินโดนีเซียยังยึดมั่นในนโยบายเป็นกลางทางการทูตโดยพร้อมโอนอ่อนผ่อนตามความต้องการของทั้งพญาอินทรีและพญามังกร แต่ในวันที่สองมหาอำนาจเริ่มแตกหักก็อาจเป็นการบีบบังคับกลายๆ ให้แต่ละประเทศต้องเลือกข้างซึ่งไม่เป็นผลดีนักกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

หากอินโดนีเซียฝ่าฟันทั้งสองมรสุมไปได้ นอกจากจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรนับร้อยล้านคนแล้ว ยังอาจกลายเป็นประเทศสำคัญที่มีบทบาทมากพอที่จะพลิกสมดุลของสองค่ายการเมือง  


เอกสารประกอบการเขียน

Indonesia Matters: Asia’s Emerging Democratic Power

Why Indonesia matters

How digitalization is accelerating the growth of MSMEs in Indonesia

Indonesia embraces resource nationalism

Indonesia’s Economy Sees Rebound in 2022 following Post-Covid Reopening

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save