fbpx

ทำไมคนรวยถึงแล้งน้ำใจ?

คงไม่ผิดนักหากเราจะคาดหวังให้คนรวยใจกว้างมากกว่าคนจน เพราะคนที่มีพร้อมทั้งบ้าน รถยนต์ และรายได้หลักหมื่นหลักแสนโอนเข้าบัญชีอย่างสม่ำเสมอย่อมมีกำลังในการช่วยเหลือสังคมมากกว่ากลุ่มคนหาเช้ากินค่ำที่บางวันทำงานหาเงินได้เพียงหลักร้อยและต้องเผชิญสารพัดค่าใช้จ่ายที่รุมเร้า สภาพการเป็นอยู่ที่ไม่ต้องแก่งแย่งกับใครอาจทำให้เราเข้าใจไปเองว่าเหล่าคนรวยย่อมมีน้ำใจมากกว่ากลุ่มคนที่ยังต้องปากกัดตีนถีบและไม่ได้มีทรัพยากรมากมายที่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

แต่การศึกษาหลายชิ้นกลับชี้ไปในทิศทางตรงกันข้ามโดยเห็นพ้องต้องกันว่าเหล่าคนรวยต่างหากที่แล้งน้ำใจ

หนึ่งในผลงานชิ้นที่โดดเด่นคือการทดลองโดยพอล พิฟฟ์ (Paul Piff) และคณะจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ที่เริ่มต้นโดยการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งอายุ เพศ ความถี่ในการเข้าร่วมพิธีทางศาสนา รวมถึงสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม พวกเขาจะได้กระดาษที่มีรูปบันได 10 ขั้นซึ่งเป็นภาพแทนของลำดับชนชั้นในด้านการศึกษา รายได้ และอาชีพการงาน และจะต้องทำเครื่องหมายกากบาทลงบนบันไดขั้นที่ตัวเองยืนอยู่เมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ในสังคม

การทดลองแรกให้อาสาสมัครเหล่านี้จับคู่กับคนแปลกหน้าพร้อมกับเงิน 10 เครดิต อาสาสมัครจะมีอำนาจตัดสินใจว่าจะเก็บเงินทั้งหมดไว้หรือแบ่งให้กับอีกคนหนึ่งเท่าไหร่ก็ได้โดยที่อีกฝ่ายไม่สามารถต่อรองหรือปฏิเสธได้เลย ทั้งนี้เงิน 10 เครดิตในการทดลองจะสามารถนำมาแลกเป็นเงินจริงหลังจบเกม

ผลการทดลองพบว่าค่าเฉลี่ยของเครดิตที่ผู้เข้าร่วมการทดลองแบ่งให้อีกฝ่ายเท่ากับ 4.1 เครดิต อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาข้อมูลกลุ่มย่อยจะพบว่าสัดส่วนของการแบ่งปันจะยิ่งเพิ่มขึ้น สวนทางการกับประเมินสถานะทางสังคมของตนเอง กล่าวคือยิ่งพวกเขามองว่าตนเองมีระดับรายได้ การศึกษา และอาชีพการงานต่ำลงเท่าไหร่ ความใจกว้างก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ข้อค้นพบหนึ่งที่น่าประหลาดใจคือคนที่ประเมินว่าตนเองอยู่บนบันไดขั้นต่ำที่สุดจะแบ่งปันเครดิตให้กับคนแปลกหน้ามากกว่าคนที่ประเมินว่าตนเองอยู่บนบันไดขั้นสูงที่สุดถึง 44 เปอร์เซ็นต์

การทดลองที่สอง นักวิจัยสอบถามอาสาสมัครว่าเราควรแบ่งรายได้เป็นสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ให้องค์กรการกุศล ทั้งนี้ อาสาสมัครบางกลุ่มจะต้องผ่านกระบวนการ ‘ปรับทัศนคติ’ โดยก่อนตอบแบบสอบถาม นักวิจัยจะทำให้พวกเขาเชื่อว่าตนเองมีสถานะทางสังคมสูงขึ้นหรือต่ำกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

อีกครั้งที่ผลลัพธ์ที่ได้นับว่าผิดคาด เพราะคนชนชั้นล่างมองว่าควรบริจาคในสัดส่วน 5.6 เปอร์เซ็นต์จากรายได้ทั้งหมด ขณะที่ชนชั้นบนมองว่าควรบริจาคเพียง 2.1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือชนชั้นนำที่ถูกปรับทัศนคติโดยลดลำดับชั้นทางสังคมลงมองว่าควรบริจาค 3.1 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ชนชั้นล่างที่ถูกทำให้เชื่อว่าตนเองมีลำดับชั้นทางสังคมสูงขึ้นกลับระบุว่าควรบริจาค 3.3 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ดังกล่าวก็อาจอธิบายได้ว่าความเห็นแก่ตัวต่างหากที่ทำให้รวย ไม่ใช่ว่าความรวยทำให้กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว ทั้งนี้ การศึกษาชิ้นดังกล่าวได้แบ่งกลุ่มคนรวยออกเป็นกลุ่มที่ร่ำรวยจากความพยายามของตนเอง และร่ำรวยจากการที่เกิดมาในครอบครัวที่มั่งคั่ง ผลปรากฏว่าคนรวยไม่ว่าจะจากวิธีใดก็แล้งน้ำใจไม่ต่างกัน

พฤติกรรมคน ‘รวยๆ’

อีกหนึ่งคำถามที่น่าสนใจคือความมั่งคั่งส่งผลอย่างไรต่อพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นการโกง หลอกลวง และละเมิดกฎหมาย สมมติฐานที่หลายคนมีในใจคือคนชนชั้นล่างที่มีระดับรายได้และการศึกษาต่ำย่อมมีแนวโน้มเสี่ยงต่อพฤติกรรมเหล่านี้มากกว่าชนชั้นบน เนื่องจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดบีบบังคับให้พวกเขามีทางเลือกน้อยกว่า และบางครั้งจำเป็นต้องทำเรื่องที่อาจขัดต่อศีลธรรมเพื่อเอาชีวิตรอด พิฟฟ์และคณะหาคำตอบดังกล่าวด้วยสารพัดการทดลองตั้งแต่การสังเกตการณ์ที่สี่แยกไปจนถึงการเล่นเกมทอยลูกเต๋า

การทดลองแรกเริ่มต้นบนท้องถนน นักวิจัยสังเกตพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนของคนชนชั้นบนและชนชั้นล่าง พวกเขาพบว่าคนขับรถหรูดูดีมีแนวโน้มสูงกว่าที่จะปาดแทรกรถคันอื่นที่สี่แยก อีกทั้งยังเป็นกลุ่มคนที่มักจะไม่หยุดรถให้คนข้ามถนนเดินข้ามมากกว่าชนชั้นอื่นอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

การทดลองที่สอง นักวิจัยให้อาสาสมัครอ่านฉากทัศน์ต่างๆ ที่เป็นการได้รับสิ่งของซึ่งไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือจริยธรรม นักวิจัยก็พบว่าคนชนชั้นนำมีแนวโน้มรับได้กับพฤติกรรมเหล่านั้นมากกว่าชนชั้นล่าง นอกจากนี้ นักวิจัยยังสังเกตพฤติกรรมการหยิบขนมแจกฟรีที่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะนำขนมส่วนที่เหลือไปแจกให้กับเด็กๆ และพบว่าเหล่าคนรวยก็มีแนวโน้มจะหยิบมากกว่าคนที่มีสถานะทางสังคมต่ำกว่าอีกด้วย

การทดลองที่สามให้อาสาสมัครตอบแบบสอบถามเรื่องสถานะทางสังคมและทัศนคติต่อความโลภ ก่อนจะทำการทดลอง อาทิ การเล่นบทบาทสมมติเป็นนายจ้างที่กำลังสัมภาษณ์งานโดยต้องตัดสินใจว่าจะบอกผู้สมัครเกี่ยวกับความไม่มั่นคงของตำแหน่งงานหรือไม่ ให้ทดลองทอยลูกเต๋าเพื่อแลกรางวัลแต่ให้อาสาสมัครระบุหน้าลูกเต๋าที่ทอยได้ด้วยตนเอง และให้ตอบคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมผิดจริยธรรมในที่ทำงาน เช่น การขโมยเงินสด การรับสินบน และการเรียกเก็บเงินลูกค้าเกินกว่าราคาจริง

อ่านถึงตรงนี้ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนคงไม่แปลกใจกับผลลัพธ์อีกแล้ว เพราะทีมวิจัยพบว่าคนที่มีสถานะทางสังคมสูงกว่าจะมองว่าความโลภไม่ใช่เรื่องผิดอะไร พวกเขาพร้อมที่จะไม่พูดความจริง ฉกฉวยโอกาสแสวงหาประโยชน์ส่วนตน รวมถึงมีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมผิดจริยธรรมมากกว่าเมื่อเทียบกับคนที่สถานะทางสังคมต่ำกว่า

นอกจากการศึกษาของพิฟฟ์แล้วก็ยังมีการศึกษาอีกหลายชิ้นที่ให้ผลลัพธ์ไปในทิศทางเดียวกันว่าเหล่าคนที่ร่ำรวยกว่า การศึกษาสูงว่า และมีความมั่งคั่งมากกว่ามักจะเห็นแก่ตัว อย่างไรก็ตาม คำถามที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ‘ทำไม’

ทำไมคนรวยถึงไม่ต้องแคร์?

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าวันหนึ่งคุณกลายเป็นคนรวย?

แน่นอนว่าวิถีชีวิตของคุณย่อมเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับอาหารการกิน รถยนต์ที่ขับ บ้านที่อยู่ แม้แต่ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัวที่ย่อมปฏิบัติต่อคุณแตกต่างไปจากคุณคนก่อนที่ยังต้องทำงานปากกัดตีนถีบและกระเสือกกระสนทางการเงิน

ความมั่งคั่งร่ำรวยทำให้คุณสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นอิสระ ไม่ต้องสนใจหรือพึ่งพาใคร ส่งผลให้คนรวยใส่ใจคนรอบตัวน้อยลงและสนใจตนเองมากยิ่งขึ้น นักจิตวิทยาระบุว่าการทำความเข้าใจคนอื่นต้องอาศัยความใส่ใจที่ใช้ความละเอียดมากกว่าเนื้อหาในข้อความที่ได้ยิน แต่ต้องพิจารณาโทนเสียงและอารมณ์บนใบหน้าของผู้พูด สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการฝึกฝน คนส่วนใหญ่ที่ต้องหวังพึ่งพาคนอื่นในสังคมย่อมขัดเกลาทักษะดังกล่าวจนยอดเยี่ยม ตรงกันข้ามกับคนที่ร่ำรวยซึ่งสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องแคร์ใครจนอาจปล่อยให้ทักษะเหล่านั้นขึ้นสนิม

เมื่อคุณร่ำรวยมากขึ้น ชีวิตของคุณก็จะยิ่งออกห่างจากประสบการณ์เลวร้ายของคนที่ด้อยโอกาส คนรวยมีบ้านรั้วรอบขอบชิด อาศัยในชุมชนของคนมั่งคั่ง ส่งลูกหลานไปโรงเรียนชั้นนำ และเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ดีกว่า เมื่อไม่ตระหนักรู้ถึงความทุกข์ทรมานจากความยากจนก็คงไม่ง่ายที่จะใส่ใจคนอื่น

คำอธิบายข้างต้นสนับสนุนด้วยการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่พบว่าผู้มีรายได้สูงมักจะมีแนวโน้มน้อยกว่าที่จะยื่นมือให้ความช่วยเหลือคนแปลกหน้าเมื่อเทียบกับผู้มีรายได้น้อย อย่างไรก็ตาม ทุกคนต่างมีแนวโน้มช่วยเหลือผู้อื่นเพิ่มขึ้นทันทีเมื่อนักวิจัยให้อาสาสมัครชมวีดีโอเด็กๆ ที่ต้องทนทุกข์จากความยากจน ดังนั้นการตระหนักรู้เกี่ยวกับความทุกข์ยากจึงเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่จะทำให้กลไกความเข้าอกเข้าใจคนอื่นทำงาน

ส่วนพิฟฟ์และคณะอธิบายข้อค้นพบของตนว่า เหล่าคนชนชั้นล่างใช้ชีวิตอยู่บนความไม่แน่นอนและเผชิญภัยคุกคามอย่างสม่ำเสมอ พวกเขาจึงจำเป็นต้องมีทักษะในการทำความเข้าใจคนอื่น เรียนรู้ที่จะช่วยเหลือกันและกัน อยู่อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากเพื่อเอาชีวิตรอดในสภาพแวดล้อมที่พวกเขาเผชิญ

ดังนั้นหากใครที่คาดหวังว่าคนรวยทุกคนจะต้องหน้าใหญ่ใจกว้าง พร้อมช่วยเหลือสังคม หรือเป็นกลุ่มชนที่มีคุณธรรมสูงส่งกว่าคนอื่นๆ เราอาจก็ต้องปรับทัศนคติเสียใหม่ เพราะความจริงแล้วคนชนชั้นล่างอาจเป็นกลุ่มที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และพร้อมที่จะช่วยเหลือคนอื่นตามกำลัง


เอกสารประกอบการเขียน

Wealth Hurts Your Capacity For Empathy (Here’s What To Do About It)

How the Rich are Different from the Poor II: Empathy

The rich are different from you and me

The Money-Empathy Gap

As for Empathy, the Haves Have Not

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

12 Dec 2018

‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ระดับสาหัส: ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยในศตวรรษที่ 21

ธนสักก์ เจนมานะ ใช้ข้อมูลและระเบียบวิธีวิจัยใหม่ล่าสุดสำรวจสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำไทยที่ ‘สาหัส’ เป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ธนสักก์ เจนมานะ

12 Dec 2018

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save