fbpx

ใครผูกขาด ‘โครงสร้างพื้นฐาน’ ภาคการเงินไทย?

เราคงคุ้นเคยกับ ‘เบื้องหน้า’ ของธนาคารไทยที่มีหลากสีหลายแบรนด์ แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าผู้เล่นคนใดบ้างที่ให้บริการ ‘เบื้องหลัง’ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของภาคการเงินไทย และคงจะแปลกใจไม่น้อยเมื่อทราบว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินที่สำคัญถูก ‘ผูกขาด’ โดยบริษัทภาคเอกชน

หากคุณต้องการเปิดบัญชีธนาคารผ่านระบบออนไลน์หรือโอนเงินมากกว่า 50,000 บาท ก้าวแรกที่ต้องผ่านด่านคือการลงทะเบียนระบบยืนยันตัวตนดิจิทัลหรือ NDID ซึ่งปัจจุบันมีผู้บริการรายเดียวคือบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด เมื่อต้องการจับจ่ายใช้สอยด้วยการโอนเงินหรือรับเงินเดือนก็ต้องใช้บริการ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด หากต้องการสมัครบัตรเครดิตหรือขอสินเชื่อก็ต้องค้นประวัติเครดิตจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด แม้แต่การรับสวัสดิการจากภาครัฐหรือซื้อสลากดิจิทัลก็ต้องติดตั้งแอปฯ เป๋าตังของธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน)

คำว่า ‘ผูกขาด’ ไม่นับว่าเกินความเป็นจริง เพราะทั้งประชาชน ธนาคาร บริษัทด้านการเงิน รวมถึงเหล่าสตาร์ตอัปฟินเทคต่างต้องใช้บริการบริษัทเหล่านี้เพราะในตลาดไม่มีตัวเลือกอื่น นำไปสู่คำถามว่ารัฐบาลควรมีบทบาทอย่างไรในการส่งเสริมการแข่งขัน หรือเข้ามากำกับดูแลเพื่อไม่ให้บริษัทเหล่านี้ใช้อำนาจเหนือตลาดเพื่อแสวงหากำไร

บริษัทเหล่านี้คือใคร?

หากค้นดูงบการเงินเราก็จะเห็นภาพชัดเจนว่าบริษัทเหล่านี้ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นบริษัทลูกของเหล่าผู้เล่นรายใหญ่ในภาคการเงินการธนาคาร

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด คือธนาคารออมสิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกลุ่มธนาคารยักษ์ใหญ่ของไทย บริษัทนี้นับว่าเป็นน้องใหม่ในตลาดที่รัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้เกิดขึ้นจากการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้บุคคลที่สามอย่างบริษัทแห่งนี้สามารถดูรายละเอียดและเข้าถึงข้อมูลการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของคนไทยได้ โดยการรับรองตัวตนแต่ละครั้งจะเก็บค่าธรรมเนียมไม่เกิน 300 บาทต่อคน เมื่อปีที่ผ่านมาบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัดมีรายได้รวม 115 ล้านบาท

ส่วนบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด เป็นการต่อยอดจากบริษัทที่ดูแลระบบเอทีเอ็มสู่โครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของไทยแบบเต็มตัวเพื่อตอบสนองนโยบายของคณะกรรมการระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัทนี้เกิดจากการลงขันของเหล่าธนาคารยักษ์ใหญ่ในประเทศ โดยในปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้มากกว่า 2,800 ล้านบาท

ขณะที่บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด มีผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่งคือกลุ่มสถาบันการเงินภาครัฐอย่างธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในมือของกลุ่มทุนธนาคารพาณิชย์และบริษัทด้านการพัฒนาฐานข้อมูลสัญชาติไทยและอเมริกัน โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้มากกว่า 1,100 ล้านบาท

ทั้งสามบริษัทครอบครองโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินโดยเรียกว่าแทบจะไร้คู่แข่ง โดยเฉพาะบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัดที่ครองตลาดมายาวนานหลายทศวรรษจึงมีอำนาจในการกำหนดราคาค่าธรรมเนียมตามต้องการ สะท้อนจากอัตรากำไรสุทธิสูงลิ่วถึงราว 40-50 เปอร์เซ็นต์

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนปัญหาเรื่องค่าธรรมเนียมที่สูงลิ่ว แม้ว่าประชาชนจะไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายทางตรง แต่ค่าใช้จ่ายราคาแพงในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินกลายเป็นกำแพงกีดกันสำหรับผู้เล่นขนาดกลางและขนาดเล็กในตลาด รวมถึงผู้เล่นหน้าใหม่อย่างเหล่าสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีการเงินหรือฟินเทคที่ยากจะเติบโต

หนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงอุปสรรคในการเริ่มทำธุรกิจในภาคการเงินอย่างชัดเจนสำหรับผู้เล่นรายใหม่คือเงื่อนไขเช่นการเข้าเป็นสมาชิกกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ที่นอกจากจะกำหนดว่าบริษัทต้องมีทุนจดทะเบียนสูงถึง 50 ล้านบาท ยังต้องเสี่ยงเสียค่าปรับตามบทกำหนดโทษของ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจข้อมูล ที่สูงถึง 300,000 บาทและอีกวันละ 10,000 บาทจนกว่าจะแก้ไขข้อมูลได้เสร็จสิ้น

ส่วนกรณีของแอปฯ เป๋าตังของธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) ยิ่งนับเป็นเรื่องที่ชวนฉงนสงสัย แม้ว่าธนาคารกรุงไทยจะมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ แต่ด้วยสถานะบริษัทมหาชน การที่รัฐเลือกใช้ช่องทางนี้อย่างเฉพาะเจาะจงเพื่อมอบสวัสดิการแก่ประชาชนก็ไม่ต่างจากเอื้อประโยชน์ให้กับภาคเอกชนเพียงรายเดียว ทั้งที่ในตลาดดิจิทัลวอลเล็ตของไทยก็มีผู้เล่นอยู่จำนวนหนึ่ง การกระทำเช่นนี้จึงไม่ต่างจากสกัดการเติบโตของผู้เล่นรายอื่นๆ และส่งผลให้บริษัทที่สายป่านไม่ยาวพอต้องล้มหายตายจากไปหรือตัดสินใจออกจากตลาดเพราะเจอกับคู่แข่งรายหนึ่งที่รัฐบาลมอบสิทธิพิเศษสารพัดที่กลายความได้เปรียบในการแข่งขันซึ่งยากจะต่อกร

แล้วรัฐบาลควรแก้ปัญหาอย่างไร?

ในภาวะตลาดที่ถูกผูกขาด คำแนะนำประการแรกของนักเศรษฐศาสตร์ย่อมเป็นการเพิ่มการแข่งขันในตลาด เช่นระบบยืนยันตัวตนดิจิทัลที่หากรัฐบาลไม่ต้องการดำเนินการด้วยตนเองก็ควรสนับสนุนให้มีผู้เล่นรายอื่นเข้าสู่ตลาดโดยสามารถใช้แรงจูงใจ เช่นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือการผ่อนคลายกฎเกณฑ์บางประการในช่วงตั้งต้น

แต่ในกรณีที่เป็นการผูกขาดตามธรรมชาติ กล่าวคือการริเริ่มระบบโครงสร้างพื้นฐานใหม่จะใช้ต้นทุนสูงและการเพิ่มการแข่งขันอาจไม่ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในตลาด เช่นการจัดเก็บข้อมูลด้านเครดิตของประเทศไทยที่บริษัทเพียงแห่งเดียวอาจเพียงพอสำหรับประชากรจำนวน 70 ล้านคน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสามารถป้องกันการผูกขาดข้อมูลผู้บริโภคโดยสร้างกลไกให้ผู้เล่นทุกขนาดในตลาดสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นอย่างเท่าเทียม ตราบใดที่ผู้บริโภคยินยอมเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว

ส่วนระบบชำระเงินที่บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด เป็นรายใหญ่รายเดียวในตลาด ผู้เขียนมองว่าเป็นการผูกขาดตามธรรมชาติเช่นกัน โดยมีประเด็นที่น่าสนใจคืออัตรากำไรสุทธิของบริษัทที่สูงมากๆ คือมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ชวนให้ตั้งคำถามว่าตัวเลขที่สูงขนาดนี้เกิดจากการบริหารจัดการอันยอดเยี่ยมของบริษัท หรืออำนาจเหนือตลาดที่นำไปสู่การเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราสูงกว่าที่ควรจะเป็น

นี่คือประเด็นที่หน่วยงานกำกับดูแลอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเข้าไปตรวจสอบ หากพบว่าบริษัทเก็บค่าธรรมเนียมสูงเกินควรจากการใช้อำนาจเหนือตลาดก็ต้องใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายจัดการเพื่อปรับให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและไม่ให้อัตราค่าธรรมเนียมกลายเป็นอุปสรรคของเหล่าบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่ต้องการเข้ามาแข่งขันในภาคการเงินของไทย

นอกจากการแก้ปัญหาภาวะผูกขาดในตลาดแล้ว รัฐบาลก็ไม่ควรสนับสนุนสร้างปัญหาขึ้นมาเสียเองโดยผู้เล่นรายใดรายหนึ่งแบบออกหน้าออกตา เช่นในกรณีดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐควรเปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกช่องทางรับสวัสดิการหรือเงินอุดหนุนจากโครงการรัฐผ่านช่องทางที่ตนเองสะดวก รวมถึงบริการจากสลากดิจิทัลที่ควรซื้อได้จากหลากหลายช่องทาง ไม่ใช่ผูกขาดกับแอปฯ เป๋าตังเพียงรายเดียว

โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินควรจะเป็นตัวช่วยส่งเสริมให้บริการทางการเงิน ‘เกิดขึ้นได้’ พร้อมทั้งสนับสนุนผู้เล่นหน้าใหม่ที่ต้องการเข้ามาในตลาด แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน เงื่อนไขที่เคร่งครัด การจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงลิ่ว และการสนับสนุนของภาครัฐอย่างไม่เป็นธรรมกลับกลายเป็นอุปสรรคกีดกันการแข่งขันและเอื้อประโยชน์ให้ผู้เล่นรายใหญ่ที่ครองตลาดมาอย่างยาวนาน

ประเทศไทยโหยหาสตาร์ตอัปล้ำสมัยในแวดวงฟินเทคที่พร้อมจะเติบใหญ่เป็นยูนิคอร์นอย่าง Mynt ของประเทศฟิลิปปินส์ VNPAY ของประเทศเวียดนาม Nium ของประเทศสิงคโปร์ หรือ GoTo ของประเทศอินโดนีเซีย แต่ด้วยสภาพแวดล้อมของภาคการเงินไทยในปัจจุบัน หากไม่ใช่รายใหญ่สายป่านยาวอย่าง Ascend Money ผู้เขียนก็มองว่ามีโอกาสน้อยมากที่ฝันจะเป็นจริง

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save