fbpx

กลไกตลาดจะแก้ปัญหาการล่าสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ได้อย่างไร?

ส่วนใหญ่เวลาเขียนบทความ ผมมักสวมหมวกของนักการเงิน แต่ความจริงแล้วผมยังอีกหมวกอีกหนึ่งใบคือนักสิ่งแวดล้อมที่สนใจเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพราะย้อนกลับไปเมื่อราว 10 ปีก่อน ผมเริ่มต้นทำงานในฐานะบัณฑิตสาขาการเงินการบัญชีในฐานะพนักงานฝ่ายสื่อสารงานอนุรักษ์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

แม้ว่าปัจจุบันผมจะทำได้เพียงช่วยงานอยู่ห่างๆ แต่คำถามที่ติดคาในใจผมอยู่เสมอคือจะใช้กลไกตลาดหรือทักษะทางการเงินที่มีเพื่องานด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร โดยเฉพาะการอนุรักษ์เหล่าสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์

ถึงแม้ในวันนี้ เรามีกฎหมายคุ้มครองการค้าชิ้นส่วนสัตว์ป่าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ กระนั้นตลาดมืดที่ซื้อขายสัตว์ป่ากลับมีเงินหมุนเวียนราว 7,000-23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปี ถือเป็นตลาดผิดกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกรองจากยาเสพติด สินค้าลอกเลียนแบบ และการค้ามนุษย์

คนจำนวนไม่น้อยยอมเสี่ยงที่จะได้ลิ้มชิมรสชิ้นส่วนสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ทั้งที่รู้ว่าผิดกฎหมายด้วยความเชื่อว่าเป็นยาบำรุงกำลังหรือยาอายุวัฒนะโดยไม่สนใจหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่บอกว่าไม่มีคุณประโยชน์อย่างที่เชื่อกัน ขณะที่นักสะสมอีกจำนวนมากต่างต้องการชิ้นส่วนสัตว์ป่าหายากมาประดับบ้าน บ้างก็นำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงโดยที่ยอมจ่ายไม่อั้น

สินค้าที่ยิ่งแพง คนยิ่งอยากได้ ยิ่งหายาก คนยิ่งถวิลหา ย่อมไม่เข้าข่ายสินค้าปกติตามตำราเศรษฐศาสตร์ที่หากราคาเพิ่มจะทำให้ความต้องการลดลง แต่นับเป็นสินค้าพิเศษที่เรียกว่าสินค้าเวเบลน (Veblen Goods)

ชื่อของสินค้าเวเบลนมีที่มาจากธอร์สไตน์ เวเบลน (Thorstein Veblen) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่เสนอทฤษฎีการบริโภคซึ่งต่างจากตำรากระแสหลัก เขามองว่าคนเราไม่ได้จับจ่ายใช้สอยเพื่อปัจจัยพื้นฐานเพียงอย่างเดียว แต่บริโภคเพื่ออวดอ้าง (Conspicuous Consumption) หรือเรียกได้ว่าเป็นการจ่ายเงินซื้อสินค้าหรูหราเพื่อแสดงถึงความร่ำรวย

หากใครนึกภาพไม่ออก ลองคิดถึงกระเป๋าถือราคาแพง หรือรถซูเปอร์คาร์ที่คนมีสตางค์ยอมจ่ายเงินก้อนใหญ่เพื่อซื้อสินค้าที่ฟังก์ชันการใช้งานเหมือนกับของทั่วไป สาเหตุที่พวกเขายอมควักกระเป๋าก็เพราะเขาไม่ได้ซื้อเพื่อ ‘ใช้งาน’ แต่เป็นการซื้อเพื่อ ‘อวดอ้าง’ หรือแสดงฐานะทางสังคม

หากมองสัตว์ป่าหายากเป็นสินค้าเวเบลน สิ่งที่ทำให้ทุกคนถวิลหาสัตว์ป่าเหล่านั้นก็เพราะมัน ‘หายากและราคาแพง’ เป็นสินค้าจำนวนหยิบมือที่มีแต่ผู้คู่ควรเท่านั้นที่จะได้ครอบครอง ซ้ำร้ายการล่าสัตว์ป่าหายากเพื่อตอบสนองความต้องการของเหล่านักสะสมก็จะยิ่งทำให้สัตว์ป่าเหล่านั้นหายากและราคาแพงยิ่งขึ้น จนส่งผลให้ความต้องการยิ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

นั่นหมายความว่าถ้าเราต้องการอนุรักษ์สัตว์ป่าเหล่านี้ เราจะต้องทำให้ ‘หาง่ายและราคาประหยัด’ จนผู้บริโภคไม่สนใจที่จะซื้อและเหล่านายพรานไม่มีแรงจูงใจที่จะเข้าไปล่าสัตว์ป่านั่นเอง

แนวคิดดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การทำให้เกิดขึ้นจริงไม่ใช่เรื่องง่าย นี่คือเหตุผลที่หลายคนสนใจความพยายามของอีวาน โลซาโน ออร์เตกา (Ivan Lozano Ortega) นักอนุรักษ์ชาวโคลอมเบียที่พยายามปกป้องกบพิษเลห์มันน์ (Oophaga lehmanni) กบพิษตัวจิ๋วสีสันสดใสในตระกูลกบลูกศรพิษ (poison-dart frogs) แต่กบพิษเลห์มันน์เป็นที่ต้องการของนักสะสม เพราะมันสามารถพบได้แค่ที่หุบเขาอันชิคายาทางตะวันตกของโคลอมเบีย

กบพิษเลห์มันน์สีแดงดำ
ภาพโดย Roger Franco Molina

เริ่มต้นจากกระเป๋าหนึ่งใบ

ย้อนกลับไปเมื่อราวสามทศวรรษก่อน อีวานเป็นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่โบโกตา ประเทศโคลอมเบีย เขาได้รับโทรศัพท์จากสนามบินนานาชาติโบโกตาเพื่อขอความช่วยเหลือ สายโทรศัพท์ครั้งนี้คือจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเขา

วันนั้น ตำรวจสนามบินได้ตรวจพบว่าในกระเป๋าเป้หนึ่งใบมีการลักลอบนำสัตว์ป่าออกไปอย่างผิดกฎหมาย ภายในมีกบพิษเลห์มันน์ กบพิษสีสันสดใสส่วนใหญ่คือสีแดงตัดกับดำอัดแน่นกันจำนวนมากกว่า 400 ตัว

กบพิษดังกล่าวเปรียบเสมือนเพชรของวงการคนรักกบ โดยเป็นที่ต้องการอย่างสูงในตลาดต่างประเทศด้วยความหายากและสีสันที่สดใส เจ้ากบจิ๋วเหล่านี้มีขนาดตั้งแต่ 0.6 เซนติเมตรถึง 1.5 เซนติเมตร แต่นักล่าตามธรรมชาติส่วนใหญ่ไม่กล้าแตะต้องเพราะผิวหนังฉาบด้วยพิษร้าย หากนักล่าตัวไหนกล้าลองดีก็อาจอัมพาตหรือถึงขั้นเสียชีวิต กบดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในชื่อกบลูกศรพิษ เนื่องจากชนเผ่าพื้นเมืองจะนำหัวลูกศรมาอาบยาพิษโดยถูกับหลังกบลูกศรพิษสีทองซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก

แต่พิษที่ร้ายแรงก็ไม่อาจปกป้องพวกมันจากเงื้อมมือนักล่าอย่างมนุษย์ที่พร้อมตามตะครุบเจ้ากบจิ๋วเพื่อส่งไปจำหน่ายให้กับเหล่านักสะสมกบหายากจากประเทศพัฒนาแล้วจนเหล่ากบพิษปรากฏชื่อในบัญชีสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

อีวานให้สัมภาษณ์กับ NPR ว่าเขาไม่ได้นอนเกือบสัปดาห์เพื่อหาทางปรับอุณภูมิและความชื้นให้เหมาะสม รวมถึงหาแมลงที่กบเหล่านั้นจะยอมกิน แต่เขาก็คว้าน้ำเหลวเพราะเจ้ากบทยอยตายลงอย่างต่อเนื่อง ระหว่างที่เขากำลังง่วนอยู่กับการหาวิธีจัดการกบกลุ่มแรก เขาก็ได้รับสายจากตำรวจสนามบินอีกครั้ง คราวนี้พวกเขาจับได้ของกลางคือกบพิษจำนวน 48 ตัวในซองเอกสาร และอีกสัปดาห์หนึ่งเขาก็ต้องรับดูแลกบจากสนามบินอีกกว่า 300 ชีวิต

ตอนนั้นเองที่อีวานตระหนักว่าเจ้ากบพิษกำลังเผชิญวิกฤติจากน้ำมือมนุษย์ที่เข้าไปล่าเพื่อหาเลี้ยงชีพ เหล่านักล่ากบอาจได้เงินไม่มากนักแต่ก็นับว่าเป็นเงินก้อนใหญ่มากพอที่จะเลี้ยงปากท้องไปแบบสบายๆ เมื่อใดก็ตามที่เจ้ากบจิ๋วรอดชีวิตไปถึงมือนักสะสม เจ้ากบพิษเลห์มันน์จะสนนราคาอยู่ที่ตัวลด 20,000-30,000 บาทสำหรับลายแดงคาดดำ และราว 50,000 บาทสำหรับลายทองคาดดำ

ในฐานะนักอนุรักษ์ เขาต้องการปกป้องเจ้ากบจิ๋วไม่ให้สูญพันธุ์ แต่วิธีการของเขาไม่ใช่การรณรงค์ หรือปราบปรามเหล่านายพราน หรือทลายตลาดมืด เพราะเขาจะใช้กลไกตลาดโดยพยายามเพาะพันธุ์กบหายากเหล่านี้ แล้วนำมาจำหน่ายให้กับเหล่าคนรักกบเพื่อบรรเทาการคุกคามในธรรมชาติ

ความพ่ายแพ้ (?) ของกลไกตลาด

ผ่านมาร่วมสิบปีนับตั้งแต่วันแรกที่อีวานได้พบเจอกับเจ้ากบจิ๋วจากสนามบิน สถานการณ์ของกบพิษเลห์มันน์เลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง นักชีววิทยาประมาณการว่าประชากรกบพิษเลห์มันน์แห่งหุบเขาอันชิคายาได้ลดลงจาก 80,000 ตัวเหลือเพียงไม่ถึง 5,000 ตัวเท่านั้น ภาวะวิกฤติดังกล่าวทำให้อีวานต้องรีบทำความตั้งใจให้เป็นความจริง

อุปสรรคหนึ่งที่ทำให้โครงการล่าช้าคือการเพาะพันธุ์เจ้ากบที่นับว่าไม่ง่าย ชื่อ ‘Oophaga’ ของเจ้ากบพิษหมายถึง ‘ตัวกินไข่’ สะท้อนความต้องการพิเศษของลูกอ๊อดกบสายพันธุ์นี้ที่เจริญเติบโตด้วยการกินไข่กบชนิดพันธุ์เดียวกันเท่านั้น ยังไม่นับการสร้างสภาพแวดล้อมในโรงเพาะเลี้ยงที่เอื้อต่อการผสมพันธุ์ การคัดสรรแมลงที่เจ้ากบชื่นชอบ และการทำให้สีของเจ้ากับยังจัดจ้านแม้ว่าจะไม่ได้กินอาหารตามธรรมชาติ โจทย์เหล่านี้ทำให้อีวานกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องกบพิษโดยปริยาย

ในปี 2006 เขาและทีมนักอนุรักษ์ก็ได้ฤกษ์เปิดทำการ Tesoros de Colombia ที่แปลว่าขุมทรัพย์แห่งโคลอมเบีย บริษัทเพาะพันธุ์กบพิษหายากที่ต้องการใช้กลไกตลาดแก้ปัญหาการคุกคามต่อกบพิษที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

แม้ในที่สุดการเพาะพันธุ์จะประสบความสำเร็จ แต่เขาก็ต้องเผชิญกับกำแพงใหญ่ยักษ์นั่นคือการขอใบอนุญาตส่งออกสัตว์ในภาวะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งทั้งจากรัฐบาลโคลอมเบียและอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส (CITES) ขั้นตอนนี้คือเรื่องที่แสนจะละเอียดอ่อน เพราะการเพาะพันธุ์สัตว์หายากเพื่อจำหน่ายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงมาอย่างยาวนานว่าให้คุณหรือให้โทษมากกว่ากัน

เคยมีกรณีตัวอย่างการออกใบอนุญาตให้ทำฟาร์มเสือโคร่งเพื่อการค้าในหลายประเทศ อาทิ จีนและแอฟริกาใต้ กลายเป็นปัญหาปวดหัวของภาครัฐในการระบุว่าชิ้นส่วนเสือโคร่งไม่ว่าจะเป็นหนัง ฟัน หรือกระดูกนั้นมาจากฟาร์มที่ถูกกฎหมายหรือล่าอย่างผิดกฎหมายจากเสือในธรรมชาติ อีกทั้งฟาร์มเสือโคร่งยังทำให้ ‘ความรู้สึกผิดบาป’ จากการซื้อชิ้นส่วนเสือโคร่งลดน้อยลง กลายเป็นการกระตุ้นให้เกิดความต้องการเพิ่มมากขึ้น สุดท้ายภัยคุกคามต่อเสือธรรมชาติก็ไม่ได้น้อยลง แต่อาจเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

นี่คือเหรียญสองด้านที่รัฐบาลโคลอมเบียต้องชั่งน้ำหนัก ขั้นตอนราชการที่ล่าช้ากำลังบีบคั้นให้บริษัท Tesoros ของอีวานขยับเข้าสู่การล้มละลาย เขามีกบมากมายแต่ยังไม่สามารถจำหน่ายได้เพราะไม่มีใบอนุญาต ขณะที่การเลี้ยงดูกบพิษเหล่านั้นคืองานหนักที่มีรายจ่ายทุกวัน เขาขายรถ จำนองบ้าน กู้หนี้สินก้อนใหญ่เพื่อพยุงให้ธุรกิจยังไปต่อได้ และในที่สุดเขาก็ได้รับใบอนุญาตส่งออกกบพิษจากรัฐบาลโคลอมเบียในปี 2011

ปีนั้นเองที่เหล่ากบจิ๋ว 35 ตัวถูกส่งขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางสู่มือนักสะสมกบในเมืองนิวยอร์ก

แม้ว่ากบจิ๋วจะจำหน่ายได้ในราคาตัวละหลายหมื่นบาท แต่เขาก็เผชิญกับคู่แข่งสำคัญในตลาดนั่นคือกบพิษผิดกฎหมายที่ยังสามารถหาซื้อได้ในราคาหลักพัน เขาจึงปรับแผนใหม่โดยนำเสนอว่ากบพิษของอีวานคือสินค้าถูกกฎหมายที่เพาะเลี้ยงในฟาร์ม ขณะที่เหล่ากบพิษผิดกฎหมายคือการพรากสัตว์เหล่านั้นออกจากถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ กลายเป็นกระแสในหมู่คนรักกบที่ร่วมกันต่อต้านการซื้อขายกบพิษผิดกฎหมาย

นอกจากนั้นอีวานยังคลอดแผนใหม่ในการยุติการล่ากบพิษเลห์มันน์ตามธรรมชาติด้วยการสรรหาผลิตภัณฑ์ใหม่ นั่นคือกบพิษชนิดพันธุ์แปลกตาเพื่อมาตอบสนองความต้องการของเหล่าคนรักกบ เขาเชื่อมั่นว่าแผนนี้จะช่วยลดการล่ากบพิษตามธรรมชาติ กระนั้นหลายคนก็ยังกังขาว่าการนำเสนอชนิดพันธุ์ใหม่ก็ไม่ต่างจากการชี้เป้าใหม่ให้กับเหล่านายพราน กลายเป็นการสร้างความเสี่ยงให้กับกบชนิดอื่นตามธรรมชาติ

ธุรกิจของอีวานยังเดินหน้าต่อไปด้วยความหวังว่าจะลดภัยคุกคามตามธรรมชาติต่อเหล่ากบพิษ อีวานหวังว่าในอนาคตเขาจะสามารถผลิตเหล่ากบพิษในราคาที่แข่งขันได้กับตลาดมืดซึ่งจะเป็นการอนุรักษ์กบพิษตามธรรมชาติอย่างยั่งยืนในระยะยาวอย่างน้อยก็จากการล่าของนายพราน

แต่ความหวังดีของอีวานจะย้อนกลับมาทำร้ายเจ้ากบพิษและชนิดพันธุ์อื่นๆ เช่นเดียวกับกรณีของเสือโคร่งหรือไม่นั้น ก็คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์


เอกสารประกอบการเขียน

Veblen Goods: Why Sports Cars and Diamonds Don’t Obey the Law of Demand

Farmed and legally exported Colombian poison frogs take on the illegal pet trade

How to Take Down Exotic Frog Smugglers

The black market endangered this frog. Can the free market save it?

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save