fbpx

ทำไมรัฐบาลถึงยอมทุ่มเงินมหาศาลเพื่อภารกิจสำรวจอวกาศ?

เดือนที่ผ่านมา เหล่าผู้หลงใหลในอวกาศอาจต้องลืมหายใจเมื่อได้เห็นภาพชุดใหม่ล่าสุดจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ (James Webb) นวัตกรรมแกะกล่องที่ทรงศักยภาพกว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble) หลายเท่าตัว ภาพห้วงลึกของอวกาศจากกล้องใหม่นั้นสวยงามตระการตา เผยให้เห็นรายละเอียดซึ่งนักดาราศาสตร์ไม่เคยพบมาก่อนจากกล้องโทรทรรศน์ตัวเดิม คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าความก้าวหน้าในครั้งนี้อาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจจักรวาลแห่งนี้ได้ถ่องแท้ยิ่งขึ้น

การเปรียบเทียบภาพถ่ายจากกล้องโทรทัศน์อวกาศฮับเบิล (ซ้าย) และเจมส์เว็บบ์ (ขวา)
ภาพจาก webbcompare.com

หลายคนอาจไม่ทราบว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ลอยอยู่เหนือพื้นโลกถึง 1,500,000 กิโลเมตร อีกทั้งยังใช้เวลายาวนานกว่าทศวรรษในการวิจัยและพัฒนารวมถึงก่อสร้างจนสำเร็จ รวมงบประมาณในการสร้างราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่างบประมาณกระทรวงศึกษาธิการของรัฐบาลไทยในปีที่ผ่านมาเสียด้วยซ้ำ

การทุ่มเม็ดเงินมหาศาลของรัฐบาลทั่วโลกจากสมัยสงครามเย็นที่เป็นการขับเคี้ยวของสองมหาอำนาจฝั่งโลกเสรีและคอมมิวนิสต์ มาจนถึงยุคปัจจุบันที่รัฐบาลจีนและอินเดีย แม้กระทั่งไทยเอง ต่างก็ประกาศว่าต้องการสร้างยานอวกาศเพื่อส่งคนไปเยือนดวงจันทร์ ทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ที่จะตั้งคำถามดังๆ ว่า เราสำรวจอวกาศไปทำไม?

แน่นอนครับว่าคำตอบแรกก็คือการขยายขอบเขตความรู้ของเราให้กว้างไกลยิ่งกว่าเดิม การทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อสรรค์สร้างที่ใช้ในการสำรวจอวกาศย่อมทำให้มนุษยชาติเข้าใจธรรมชาติได้ลึกซึ้งมากขึ้น

แต่คำตอบเพียงเท่านี้อาจไม่น่าพอใจนักสำหรับโลกที่คนจำนวนมากยังอดอยากและยากจน ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงขอชวนไปหาคำตอบว่าด้วยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการสำรวจอวกาศ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ครั้งใหญ่เมื่อผู้เล่นหน้าใหม่อย่างภาคเอกชนเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอวกาศ

ผลพลอยได้จากภารกิจสำรวจอวกาศ

ความท้าทายในการสำรวจอวกาศทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ต้องคิดหนักในการออกแบบเครื่องจักรที่ศักยภาพสูง มีความเสถียร และเปี่ยมประสิทธิภาพ ท่ามกลางข้อจำกัดทั้งขนาดพื้นที่ น้ำหนัก แรงโน้มถ่วง อุณหภูมิ สภาพอากาศ และอีกสารพัดความเสี่ยงที่ทำให้อุปกรณ์แทบทุกอย่างที่จะใช้กับโครงการสำรวจอวกาศต้องได้รับการออกแบบขึ้นมาใหม่

เชื่อไหมครับว่าในระยะที่คุณผู้อ่านเอื้อมถึงจะต้องมีอุปกรณ์ที่พัฒนาจากเทคโนโลยีเพื่อการสำรวจอวกาศอย่างน้อย 1 ชิ้น หากคุณอ่านบทความนี้จากโทรศัพท์มือถือ กล้องขนาดจิ๋วด้านหลังเป็นอุปกรณ์ก็ต่อยอดมาจากกล้องที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในอวกาศซึ่งต้องมีขนาดเล็กและมีความละเอียดมากพอสำหรับใช้งานทางวิทยาศาสตร์ได้ ถ้าคุณอ่านผ่านโน้ตบุ๊ก คอมพิวเตอร์ขนาดพกพายุคแรกเริ่ม ก็ออกแบบมาเพื่อพื้นที่จำกัดบนยานอวกาศ หากคุณสวมหูฟังไร้สาย คุณอาจไม่ทราบว่าหูฟังไร้สายยุคบุกเบิกนั้นออกแบบมาสำหรับนักบินอวกาศที่ต้องสื่อสารพร้อมกับทำงานโดยใช้สองมือ แม้แต่เมาส์คอมพิวเตอร์เองก็พัฒนาจากไอเดียนักวิจัยขององค์การนาซา (NASA) เช่นกัน

ความน่าตื่นตาตื่นใจของนวัตกรรมพลอยได้จากการสำรวจอวกาศยังไม่จบเท่านี้ เพราะสารพัดสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันหลายอย่างก็มีเสี้ยวส่วนของนวัตกรรมจากอวกาศซึ่งเราอาจคาดไม่ถึง ทั้งโคตป้องกันเลนส์แว่นตาเป็นรอย รองเท้าไนกี้ แอร์ (Nike Air) ที่อดีตวิศวกรนาซานำเทคโนโลยีจากอวกาศมาประยุกต์ใช้ อาหารฟรีซดรายและนมผงที่ต่อยอดจากงานวิจัยเพื่อพัฒนาอาหารสำหรับมนุษย์อวกาศ ไปจนถึงระบบกรองน้ำขนาดเล็ก และแผงผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์

นอกจากผลพลอยได้ในเชิงนวัตกรรมแล้ว ภารกิจสำรวจอวกาศยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ในการศึกษาในสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยมีการสำรวจใน พ.ศ. 2552 พบว่า นักวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นที่รู้จักในวงการและมีงานตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำกว่าครึ่งหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจในการก้าวสู่อาชีพนี้จากภารกิจการส่งยานอพอลโล (Apollo) ไปเยือนดวงจันทร์ และ 9 จาก 10 คนต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการส่งมนุษย์ไปนอกโลกช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่สนใจวิทยาศาสตร์

ภารกิจสำรวจอวกาศจึงไม่ใช่แค่การใส่งบประมาณเพื่อผลิตยานแล้วส่งคนไปปักธงบนดวงจันทร์ แต่เป็นกระบวนการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อรับมือกับความท้าทายในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด พร้อมทั้งส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนคนรุ่นหลังให้สนใจด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายประเทศยอมทุ่มเงินมหาศาลเพื่อทำภารกิจสำรวจอวกาศ เพราะผลพลอยได้จากโครงการเหล่านั้นคุ้มค่าอย่างยิ่งในระยะยาวเมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่ลงทุนไป

ปัจจุบัน ภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมอวกาศกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จากในอดีตก่อน พ.ศ. 2552 ที่เม็ดเงินในอุตสาหกรรมดังกล่าวแทบทั้งหมดมาจากกระเป๋ารัฐบาลโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา แต่ในทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เห็นเงินลงทุนมูลค่ามหาศาลจากภาคเอกชนไหลบ่าเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศ โดยมีชื่อผู้ประกอบการที่เราคงคุ้นเคยชื่อกันดีอย่างอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้ก่อตั้งบริษัท SpaceX และเจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) ผู้ก่อตั้ง Amazon ที่ทุ่มเงินมหาศาลกับบริษัท Blue Origin

เศรษฐกิจอวกาศในศตวรรษที่ 21

การสำรวจอวกาศในปัจจุบันแตกต่างออกไปราวหน้ามือกับหลังมือเมื่อเทียบกับสมัยที่นีล อาร์มสตรองเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรก นึกเอาง่ายๆ ว่าคอมพิวเตอร์ในสมัยนั้นอาจต้องมีขนาดเท่าห้อง หากต้องพัฒนาให้มีกำลังในการประมวลผลเท่ากับโทรศัพท์สมาร์ตโฟน ดาวเทียมที่เคยใหญ่เท่ารถบัสก็ลดขนาดเหลือเท่ากล่องสี่เหลี่ยมที่ถือได้ด้วยฝ่ามือโดยที่มีฟังก์ชันใกล้เคียงกัน เช่นเดียวกับต้นทุนในการส่งกระสวยขึ้นไปยังอวกาศที่ภาคเอกชนสามารถหั่นต้นทุนได้เหลือเพียง 1 ใน 10 เท่านั้น

CubeSats ดาวเทียมขนาดเล็กซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลามเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอวกาศได้
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ CubeSats Overview


ธุรกิจหลักของอุตสาหกรรมอวกาศในปัจจุบันคือการส่งและบำรุงรักษาดาวเทียมในวงโคจรระดับต่ำ (Low Earth Orbit – LEO) ดาวเทียมยุคใหม่สามารถเข้าถึงได้ไม่ยากเช่นในอดีตจึงเป็นที่นิยมทั้งในหมู่บริษัทและมหาวิทยาลัย ดาวเทียมบนห้วงอวกาศสามารถใช้งานทั้งการเพิ่มศักยภาพในการพยากรณ์อากาศ การถ่ายภาพเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน เช่น ผืนป่า น้ำ และแผ่นน้ำแข็ง ดาวเทียมโทรคมนาคมเพื่อการสื่อสารระยะไกล และดาวเทียมที่พัฒนาเพื่อสร้างโครงข่ายอินเทอร์เน็ตจากห้วงอวกาศ

เมื่อเทคโนโลยีดาวเทียมคุณภาพสูงขึ้นและราคาถูกลง ข้อมูลจากดาวเทียมจึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในรูปแบบใหม่ที่เราอาจนึกไม่ถึง ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น การใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมเพื่อพยากรณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรหรือน้ำมันเชื้อเพลิง หรือแม้แต่ราคาหุ้นก็สามารถทำได้เช่นกัน

หลายคนอาจนึกภาพไม่ออกว่า ‘ภาพถ่าย’ ใช้นำไปใช้พยากรณ์ราคาได้อย่างไร ผมขอสมมติง่ายๆ ว่า หากเราต้องการพยากรณ์ราคาข้าวสาลี ก็สามารถใช้ภาพถ่ายแปลงข้าวสาลีจากที่ต่างๆ ทั่วทุกมุมโลกเพื่อประมาณการผลผลิตที่ได้ หากสนใจราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ก็สามารถใช้ภาพถ่ายติดตามความหนาแน่นของการคมนาคม รวมถึงเรือขนถ่ายน้ำมันเพื่อวิเคราะห์ความต้องการซื้อและปริมาณการผลิต หรือแม้แต่รายได้ของบริษัท ก็สามารถคาดเดาได้จากปริมาณรถบรรทุกที่ขับเข้าออกโรงงานผลิต หรือรถยนต์ที่จอดอยู่ในลานจอดรถ

นอกจากดาวเทียมแล้ว อีกธุรกิจอวกาศที่กำลังเป็นที่จับตามองอย่างมากคือการท่องเที่ยวอวกาศ ที่เจาะกลุ่มลูกค้ามหาเศรษฐีผู้ยอมเสียเงินหลายล้านเพียงเพื่อให้ได้สัมผัสภาวะไร้น้ำหนัก พร้อมกับเห็นโลกทั้งใบตัดกับความมืดมิดของห้วงอวกาศ สนนราคาทริปละราว 15 ล้านบาท (+++) ต่อคน โดยนักบินจะต้องผ่านโปรแกรมฟิตซ้อมเพื่อเตรียมพร้อมขึ้นสู่อวกาศ ปัจจุบันนักท่องเที่ยวอวกาศที่ไปและกลับลงมาบนพื้นโลกอย่างปลอดภัยมีทั้งสิ้น 6 คน เป็นลูกค้า Blue Origin จำนวน 4 คน และ SpaceX จำนวน 2 คน ส่วน Virgin Galactic กำลังเปิดจำหน่ายตั๋วอยู่โดยมีกำหนดเดินทางในต้น พ.ศ. 2566

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองธุรกิจที่กล่าวถึงข้างต้นก็เป็นอุตสาหกรรมอวกาศที่พัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคพื้นโลก ขณะที่อุตสาหกรรมบนอวกาศจริงๆ ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เช่น การทำเหมืองแร่มีค่าบนดาวเคราะห์น้อย การเปิดสถานีเติมน้ำมันยานอวกาศบนดวงจันทร์ หรือแนวคิดสุดล้ำของการส่งมนุษย์ไปตั้งรกรากบนดาวอังคาร แม้แนวคิดเหล่านี้จะฟังดูเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ก็อาจเกิดขึ้นจริงในอนาคต

เมื่อเทคโนโลยีราคาถูกลงและภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เม็ดเงินในอุตสาหกรรมอวกาศก็ดึงดูดให้เกิดสตาร์ตอัปทั่วทุกมุมโลก ปัจจุบันมีหลากหลายบริษัทน่าสนใจที่ใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น Planet Labs ที่ใช้ดาวเทียม 200 ตัวทั่วโลกในการเก็บข้อมูลภาพแบบความถี่สูงเพื่อนำมาจำหน่าย Relativity Space ที่ตั้งเป้าผลิตกระสวยอวกาศด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ABL Space Systems ที่ออกแบบฐานปล่อยจรวดที่สามารถเคลื่อนย้ายไปที่ไหนก็ได้ ทำให้การปล่อยจรวดสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่

แม้แนวคิดของไทยในการตั้งเป้าหมายว่าจะส่งกระสวยอวกาศขึ้นไปดวงจันทร์จะฟังดูเป็นเรื่องฝันเฟื่อง แต่หากรัฐบาลเอาจริงเอาจังยอมทุ่มงบประมาณ เป้าหมายนั้นก็ไม่ได้ไกลเกินเอื้อม แต่น่าเสียดายที่กระแสดังกล่าวดูจะจืดจางลงไปในเวลาเพียงไม่กี่ปีจนเรียกได้ว่าถูกพบใส่เก็บลิ้นชัก เช่นเดียวกับหลากหลายความพยายามที่จะทำให้เมืองไทยกลายเป็น ‘ฮับ’ ของอะไรสักอย่างที่ยังไม่สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมเสียที


เอกสารประกอบการเขียน

20 Inventions We Wouldn’t Have Without Space Travel

The 10 most innovative space companies of 2022

The Future of Space Tourism Is Now. Well, Not Quite.

Space law is inadequate for the boom in human activity there

A new age of space exploration is beginning

Benefits Stemming from Space Exploration 

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save