fbpx

เราเรียนรู้อะไรบ้างจากประวัติศาสตร์การเก็บภาษีความมั่งคั่ง?

ภาษีความมั่งคั่งสุทธิ (Net Wealth Tax) ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้งหลังจากตัวเลขความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ในหนังสือ ‘ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21′ (Capital in the Twenty-First Century) ของ โทมัส พิเก็ตตี (Thomas Piketty) เขาเสนอสมมติฐานที่ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนถ่างกว้างขึ้นว่าเกิดจาก r > g โดยที่ r คือผลตอบแทนจากความมั่งคั่ง และ g คืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นั่นหมายความว่า หากเราจะหยุดการถ่างกว้างของช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนด้วยเครื่องมือทางภาษี เราก็มีสองทางเลือกคือ (1) การเก็บภาษีความมั่งคั่งเพื่อลดมูลค่าเงินลงทุนที่มีสำหรับแสวงหาผลตอบแทน หรือ (2) การจัดเก็บภาษีผลตอบแทนจากทุนเพื่อทำให้ r ลดน้อยลง

หากพลิกหน้าประวัติศาสตร์นโยบายการเก็บภาษีความมั่งคั่งสุทธิในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เราจะเห็นถึงความแปลกแปร่งเพราะย้อนกลับไปเมื่อราว 30 ปีก่อน ประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ถึง 12 ประเทศมีการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ประเทศจำนวนมาก อาทิ ออสเตรีย เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และสวีเดน กลับตัดสินใจยกเลิกการเก็บภาษีดังกล่าว โดยปัจจุบันหลงเหลือเพียง 5 ประเทศเท่านั้นที่ยังจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง คือโคลอมเบีย ฝรั่งเศส นอร์เวย์ สเปน และสวิตเซอร์แลนด์

การตัดสินใจยกเลิกการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งมีสาเหตุสำคัญคือปัญหาด้านต้นทุนและประสิทธิภาพในการจัดเก็บ รวมทั้งความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเงินทุนไหลออกนอกประเทศ โดยเฉพาะประชาชนผู้มั่งคั่งซึ่งมีทางเลือกที่จะซุกซ่อนสินทรัพย์ไว้ในประเทศปลอดภาษี ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีดังกล่าวไม่ตอบโจทย์ด้านการกระจายรายได้ อีกทั้งยังเผชิญกับเทคนิคเลี่ยงภาษีสารพัด ประกอบกับต้นทุนในการบริหารจัดการที่สูงลิ่วแต่กลับสร้างรายได้เพียงจำนวนหยิบมือคืนกลับสู่คลัง แถมตัวเลขรายได้ภาษียังไม่เติบโตตามความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การจัดเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์และตลาดทุนกลับสร้างรายได้และมีประสิทธิผลสูงกว่ามาก

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น เราอาจต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งถึงความเป็นไปได้ที่จะจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง ผ่านบทเรียนของประเทศที่เคยตัดสินใจเก็บภาษีดังกล่าว

ภาษีความมั่งคั่งดีอย่างไร?

ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างรุนแรงในศตวรรษที่ 21 โดยมีการศึกษาพบว่าในสหรัฐอเมริกาครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุด 0.1 เปอร์เซ็นต์แรก ครอบครองความมั่งคั่งสูงถึง 22 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ อีกทั้งคนที่ร่ำรวยมหาศาลก็มักจะสร้างผลตอบแทนได้ในอัตราที่สูงกว่าคนทั่วไปโดยใช้ ‘เงินต่อเงิน’ เพราะสามารถใช้บริการผู้เชี่ยวชาญในการวางแผนด้านการลงทุนและการจัดการภาษี

นี่คือสาเหตุที่หลายประเทศสนใจจะจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งโดยเล็งไปที่กลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยล้นฟ้า ข้อมูลการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งของนอร์เวย์ก็สะท้อนว่าระบบภาษีดังกล่าวช่วยให้การจัดเก็บภาษีมีลักษณะก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นในกลุ่มผู้มีรายได้สูงระดับมหาเศรษฐี

การจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งยังเป็นการกระตุ้นให้มหาเศรษฐีบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่ในมืออย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากภาษีความมั่งคั่งจะเก็บบนฐานความมั่งคั่งสุทธิโดยไม่ได้มองว่าสินทรัพย์ดังกล่าวสร้างรายได้มากน้อยเพียงใด เหล่ามหาเศรษฐีจึงต้องขบคิดที่จะหารายได้จากทรัพย์สินเหล่านั้น เช่น การลงทุนเพื่อเปลี่ยนที่ดินรกร้างให้สามารถสร้างรายได้ หรือตัดสินใจขายที่ดินดังกล่าวให้กับคนที่พร้อมจะลงทุนพัฒนาต่อ

การบังคับใช้ภาษีความมั่งคั่งซึ่งมีฐานภาษีครอบคลุมกว้างขวางยังสามารถใช้ทดแทนการจัดเก็บภาษีต่างๆ ได้ เช่น ภาษีผลได้จากทุน (Capital Gain Tax) และภาษีมรดก (Inheritance Tax) โดยแทนที่จะหวังเก็บผลต่างจากราคาหลักทรัพย์ที่ขยับขึ้น หรือรอให้มีการส่งมอบสินทรัพย์ของเศรษฐีสู่ลูกหลาน ภาษีความมั่งคั่งจะจัดเก็บโดยใช้เกณฑ์คงค้าง (Accrual Basis) โดยพิจารณาความมั่งคั่งสะสมผ่านการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ทุกปี ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเหลื่อมล้ำได้รวดเร็วกว่าการจัดเก็บภาษีจากฐานรายได้จากการลงทุนหรือการส่งต่อความมั่งคั่ง

ที่สำคัญ ภาษีความมั่งคั่งยังเป็นการสนับสนุนทางอ้อมให้ประชาชนลงทุนในด้านการพัฒนาทักษะและความสามารถของคนในครอบครัวซึ่งเป็นการเพิ่มพูน ‘ทุนมนุษย์’ ที่ไม่มีการจัดเก็บภาษี แทนที่จะทุ่มเงินเพื่อสร้างความมั่งคั่งที่จับต้องได้ เช่น การกว้านซื้อที่ดินหรือลงทุนในหลักทรัพย์

ปัญหาของภาษีความมั่งคั่ง

คนจำนวนมากคัดค้านการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งเพราะมองว่านี่คือการจัดเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อน เนื่องจากความมั่งคั่งคือการสะสมเงินจากรายได้ ผลตอบแทนจากเงินออม หรือการทำธุรกิจซึ่งกระแสเงินสดเหล่านี้ถูกจัดเก็บภาษีไปแล้ว ยังไม่นับว่าถ้ามีการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งกับกลุ่มที่มีความมั่งคั่งไม่สูงมากนัก คนกลุ่มนั้นอาจต้องถูกเก็บภาษีครั้งที่สามจากการใช้จ่ายเงินที่สะสมไว้ในยามเกษียณ เช่น การจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของราคาสินค้าและบริการนั่นเอง

นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งจะบิดเบือนพฤติกรรมการเก็บออมและการลงทุน แต่ก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบเงื่อนไขในการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง หากมีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีของสินทรัพย์บางประเภท เช่น งานศิลปะ ก็อาจกลายเป็นช่องว่างให้เหล่ามหาเศรษฐีถ่ายโอนความมั่งคั่งไปเก็บไว้ในสินทรัพย์เหล่านั้นซึ่งเท่ากับการถ่ายโอนเงินจากตลาดเงินและตลาดทุนไปเก็บไว้ในสินทรัพย์ที่ไม่ได้สร้างผลิตภาพต่อระบบเศรษฐกิจแต่อย่างใด

ในทางทฤษฎี การจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งไม่ต่างจากการ ‘ลงโทษ’ คนที่รีบเก็บออมเงิน เพราะยิ่งเก็บออมเร็วเท่าไหร่ก็จะถูกจัดเก็บภาษีมากขึ้นเท่านั้น แต่ข้อมูลเชิงประจักษ์จากสมมติฐานนี้ก็ยังไม่หนักแน่นมากนัก เนื่องจากการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งมักจะกำหนดฐานภาษีขั้นต่ำไว้ค่อนข้างสูง คนที่ต้องเสียภาษีจึงเป็นกลุ่มที่มีเงินเหลือกินเหลือใช้ ไม่ใช่กลุ่มที่เก็บออมเพื่อใช้ในยามเกษียณ

อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นปัญหาจากการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งคือสภาพคล่อง คนจำนวนไม่น้อยร่ำรวยสินทรัพย์แต่เงินสดขาดมือ กล่าวคือมีสินทรัพย์มากก็จริงแต่ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะจ่ายภาษี แต่ปัญหานี้สามารถบรรเทาได้โดยการออกแบบการจัดเก็บภาษีแบบเกลี่ยตามระยะเวลา หรือสะสมไว้ก่อนแล้วค่อยจ่ายทีเดียวในวันที่มีการเปลี่ยนมือสินทรัพย์

หลายคนแสดงความกังวลคือการยักย้ายถ่ายโอนสินทรัพย์หรือการเปลี่ยนสัญชาติของเหล่ามหาเศรษฐีในวันที่รัฐบาลเดินหน้าจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง แน่นอนครับว่าสมมติฐานดังกล่าวถูกต้องตามทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติก็อาจต้องพิจารณาบริบท เช่น ประเทศข้างเคียงมีการจัดเก็บภาษีที่แตกต่างกว่ากันมากน้อยแค่ไหน และการย้ายประเทศเพื่อเลี่ยงภาษีนั้นคุ้มค่าหรือไม่ ยังไม่นับเรื่องปัญหาในการถือครองสินทรัพย์อย่างอสังหาริมทรัพย์หลังจากการเปลี่ยนสัญชาติอีกด้วย การศึกษาเชิงประจักษ์ในฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์พบว่าเหล่ามหาเศรษฐีที่ตัดสินใจเปลี่ยนสัญชาติด้วยเหตุผลทางภาษีนั้นมีจำนวนเพียงหยิบมือ

สำหรับผู้เขียน ปัญหาสำคัญที่สุดของภาษีความมั่งคั่งในทางปฏิบัติคือการบริหารจัดการและการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ของครัวเรือน โดยเฉพาะสินทรัพย์สภาพคล่องต่ำ เช่น เฟอร์นิเจอร์ งานศิลปะ เครื่องเพชร รวมถึงเงินลงทุนในบริษัทเอกชนที่ไม่ได้มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ รัฐบาลจึงต้องออกแบบเกณฑ์มาตรฐานในการประเมินราคา เช่น การใช้มูลค่าเอาประกันในกรณีของสินทรัพย์มูลค่าสูง หรือการคำนวณมูลค่าหุ้นจากงบการเงินของบริษัท รวมทั้งพิจารณาความคุ้มทุนในการประเมินมูลค่าสินทรัพย์เพื่อกำหนดความถี่ที่เหมาะสมในการประเมินมูลค่าใหม่ เช่นในฝรั่งเศสจะมีการประเมินมูลค่าเฟอร์นิเจอร์ใหม่ทุก 3 ปี โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่ามูลค่าคงที่ ทั้งนี้ รัฐบาลต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งในการกำหนดข้อยกเว้นสินทรัพย์เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเลี่ยงภาษี

ทางเลือกอื่นในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

แน่นอนครับว่าการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งสุทธิสามารถทำได้ในทางปฏิบัติ และอาจจะเหมาะสำหรับประเทศไทยที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งสูงอย่างยิ่ง และยังไม่มีการเก็บภาษีผลได้จากทุนที่ครอบคลุมและเพียงพอ อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ประสิทธิภาพแล้ว การจัดเก็บภาษีโดยอิงจากฐานรายได้จะใช้ต้นทุนบริหารจัดการที่ต่ำกว่ามาก และอาจได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกัน เทียบเท่ากับการเลือกจัดเก็บภาษีผลตอบแทนจากทุนเพื่อทำให้ r ตามสมการของพิเก็ตตีลดลง

ตัวอย่างเช่น มหาเศรษฐี ก. มีสินทรัพย์ 1,000 ล้านบาทที่สร้างผลตอบแทนได้ปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ รัฐสามารถเลือกวิธีที่ยุ่งยากอย่างการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง 0.5 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องประเมินสินทรัพย์ทุกบาททุกสตางค์หักลบด้วยหนี้สินทุกก้อน หรือเลือกเก็บภาษี 5 เปอร์เซ็นต์จากผลตอบแทนซึ่งวัดเป็นตัวเลขได้ค่อนข้างง่ายและไม่ต้องกังวลว่าเหล่าเศรษฐีจะไม่มีเงินจ่าย ไม่ว่าทางเลือกใดก็ได้ภาษีเข้ากระเป๋า 5,000,000 บาท เท่ากัน

อีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจคือระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้แบบคู่ขนาน (dual income tax) โดยจะแบ่งฐานภาษีออกเป็นสองก้อน คือฐานภาษีรายได้จากการทำงานและฐานภาษีรายได้จากทุน รายได้ทั้งสองกลุ่มนี้จะแยกคิดภาษีในอัตราที่แตกต่างกัน โดยรัฐสามารถกำหนดรายได้จากทุนขั้นต่ำที่จะต้องเสียภาษีไว้ในระดับที่ค่อนข้างสูงเพื่อสนับสนุนให้ครัวเรือนเก็บออมและลงทุนหาผลตอบแทนโดยที่ไม่ต้องเสียภาษีเหมือนเดิม

ในโลกสมัยใหม่ที่ความเหลื่อมล้ำสูงลิ่ว รัฐจำเป็นต้องใช้เครื่องมืออย่างภาษีเพื่อจัดสรรปันส่วนรายได้ให้กระจายตัวอย่างเหมาะสม ส่วนเครื่องมือนั้นควรจะเป็นภาษีความมั่งคั่งสุทธิ การจัดเก็บภาษีผลได้จากทุน หรือระบบภาษีเงินได้แบบคู่ขนาน ก็คงต้องพิจารณาบริบทภายในประเทศรวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมกับความกล้าหาญที่จะลองผิดลองถูกเพื่อหาทางเลือกที่ตอบโจทย์กับบริบทของประเทศไทย


เอกสารประกอบการเขียน

The Role and Design of Net Wealth Taxes in the OECD

The economic arguments for and against a wealth tax

A wealth tax for the UK

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save