fbpx

ฐานะและอำนาจของสถาบันตุลาการควรอยู่เหนือฝ่ายนิติบัญญัติไหม: การทบทวนโดยตุลาการ (judicial review)

ผมได้รับบทความเรื่อง ‘การทบทวนโดยตุลาการ’ ของ ดร.วีระ สมบูรณ์ นักรัฐศาสตร์ที่ผมชื่นชมในความรู้อันกว้างไกลและลึกซึ้งยิ่งในปรัชญาการเมืองตะวันตกมายาวนาน เมื่อได้รับบทความที่วิเคราะห์ความคิดทางการเมืองของผู้เขียนเอกสารเฟเดอรัลลิสต์หมายเลขที่ 78 (Federalist No. 78) อันเป็นเอกสารสำคัญชิ้นหนึ่งของความคิดการเมืองอเมริกัน ก็อดตื่นเต้นไม่ได้ เพราะเอกสารชิ้นนี้ได้เผยถึงหลักคิดและคำอภิปรายของหนึ่งในผู้นำการปฏิวัติอเมริกาคือ อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน ที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงมากนักในทางปรัชญาการเมือง

ส่วนใหญ่คนให้ความสนใจไปที่เอกสารเฟเดอรัลลิสต์หมายเลข 10 ของเจมส์ แมดิสัน ที่ตอบข้อสงสัยว่าหากให้มีประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญก็จะทำให้เกิดกลุ่มและก๊กต่างๆ ที่มุ่งหาผลประโยชน์ของพวกตนขึ้นมา เขาตอบว่าระบบปกครองแบบสหพันธรัฐที่เข้มแข็งตามรัฐธรรมนูญจะสามารถแก้ไขความขัดแย้งอันเกิดจากผลประโยชน์ที่ขัดกันระหว่างกลุ่มและก๊กต่างๆ นี้ได้ การมีกลุ่มผลประโยชน์มากแทนที่จะเป็นอันตรายกลับเป็นช่องทางในการปกป้องเสรีภาพของปัจเจกบุคคลต่างหาก ข้อคิดแหลมคมก่อนยุคสมัยนี้ต่อมาได้พิสูจน์สัจธรรมในการเมืองการปกครองอเมริกันอย่างดียิ่ง

ตรงกันข้ามเอกสารเฟเดอรัลลิสต์หมายเลข 78 ของแฮมิลตันไม่เป็นที่รู้จักและพูดถึงมากนักในหมู่นักรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ ที่เป็นเช่นนี้เพราะประเด็นใหญ่ของเอกสารชิ้นนี้มุ่งไปที่สถาบันเดียวในรัฐธรรมนูญที่ไม่ค่อยมีอำนาจและบทบาททางการเมืองมากนัก นั่นคือสถาบันตุลาการ การอรรถาธิบายและอภิปรายจึงเน้นหนักไปในมิติของปรัชญากฎหมายอันเป็นเวทีเฉพาะของนักกฎหมายและนักนิติศาสตร์เท่านั้น กระทั่งภายหลังจึงมีนักกฎหมายรุ่นใหม่ค้นพบเอกสารข้อเขียนนี้ และนำมาเผยแพร่พร้อมกับให้คำนิยมและชื่นชมว่าเป็นบทเสนอทางความคิดกฎหมายที่หลักแหลมและส่งผลต่อไปยังอนาคต เพราะในเวลาต่อมาความคิดและข้อโต้แย้งของแฮมิลตันในเอกสารนี้ได้ปรากฏเป็นจริงในการปฏิบัติของศาลสูงสุดสหรัฐฯ ในการพิจารณาข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับมลรัฐ หรือในการพิจารณาตัดสินความชอบธรรมของกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาว่าถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

ก่อนอื่นต้องเท้าความถึงบริบทของการเมืองไทยก่อนว่าทำไมเอกสารเฟเดอรัลลิสต์ดังกล่าวนี้ถึงเป็นที่สนใจและศึกษาทำความเข้าใจกัน ผมเข้าใจว่าเพราะบริบทการเมืองไทยในระยะที่ผ่านมานับแต่การเคลื่อนไหวของเสื้อเหลือง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ออกมาประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคือพรรคไทยรักไทยที่มีทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีที่ใช้อำนาจปกครองอย่างเต็มที่ตามตัวอักษรในรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป 2540 ความขัดแย้งทางการเมืองนั้นนำไปสู่การใช้อำนาจตุลาการในลักษณะพิเศษที่เข้าแทรกแซงฝ่ายการเมือง โดยอาศัยการตัดสินทางกฎหมายลงโทษฝ่ายรัฐบาลที่คุมทั้งบริหารและนิติบัญญัติคือสภาผู้แทนราษฎร

นักวิชาการเรียกบทบาทดังกล่าวว่า ‘ตุลาการภิวัตน์’ โดยอ้างว่าเอามาจากบทบาทของศาลสูงสุดอเมริกาในการตัดสินความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) กับปัจเจกบุคคลผู้เสียหายจากการใช้กฎหมายต่างกัน เหตุการณ์ครั้งนั้นในปี 1803 ต่อมาเรียกว่าเป็นการสถาปนา judicial review ขึ้นในการเมืองอเมริกัน

หลังจากนั้นเมื่อประเทศไทยมีการรัฐประหารอีกก็มีการใช้ ‘ตุลาการภิวัตน์’ เข้ามาเป็นเครื่องมือในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลโดยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ เกิดข้อโต้แย้งถกเถียงกันว่า การใช้สถาบันตุลาการเข้ามาแทรกแซงการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งชอบธรรมหรือ ล่าสุดเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพรรคก้าวไกลกระทำการอันเป็นการเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ซึ่งอาจนำไปสู่การยุบพรรคได้นั้น ก็สร้างกระแสการวิพากษ์วิจารณ์และโต้แย้งกันในประเด็นข้างต้นนี้อีกวาระหนึ่ง และนี่เองเป็นเหตุให้ อ.วีระนำเอาโพสต์เรื่อง ‘การทบทวนโดยตุลาการ’ ที่ลงก่อนหน้านี้หลายปี (พ.ศ. 2555) กลับมาตอบโจทย์นี้อีกครั้ง

เนื้อหาในโพสต์ของ อ.วีระ มาจาก ‘หลักตุลาการภิวัตน์ ใน เดอะเฟเดอรัลลิสต์เปเปอร์ หมายเลข 78’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง ‘ตุลาการภิวัตน์กับประชาธิปไตย‘ (2552-2554)

“โดยนำเสนอหลักการที่ว่า แม้การปกครองโดยรัฐธรรมนูญก็จำต้องยึดหลัก ‘รัฐธรรมนูญที่มีขีดจำกัด’ (limited constitution) ซึ่งพูบลิอัส[1] หมายถึงการที่มีข้อยกเว้นอย่างเฉพาะเจาะจงต่อการใช้อำนาจนิติบัญญัติ ตัวอย่างเช่น ห้ามฝ่ายนิติบัญญัติตรากฎหมายตัดสินบุคคลว่าทรยศต่อบ้านเมือง หรือกฎหมายที่มีผลบังคับย้อนหลัง เป็นต้น การสร้างข้อจำกัดทางรัฐธรรมนูญเช่นนี้ พูบลิอัสเห็นว่าไม่มีหนทางอื่นนอกจากกระทำโดยผ่านศาลสถิตยุติธรรม”

ในประเด็นแรกที่ อ.วีระ เสนอว่า มาจากความคิดเรื่องความจำเป็นที่ต้องให้ศาลยุติธรรมเข้ามาทำหน้าที่ทางการเมืองก็เพื่อทำตาม ‘รัฐธรรมนูญที่มีขีดจำกัด’ แต่หากไปอ่านข้อเขียนของแฮมิลตันในเอกสารเฟเดอรัลลิสต์หมายเลข 78 นี้ให้ดีจะพบว่าเขาอธิบายอีกอย่าง กล่าวคือเขายอมรับว่ารัฐธรรมนูญนั้นมีอำนาจจำกัด ไม่ใช่มีขีดจำกัด “รัฐธรรมนูญที่จำกัดนั้นได้แก่การที่มันบรรจุไว้ซึ่งข้อยกเว้นที่จำเพาะแน่นอนชุดหนึ่งในการใช้อำนาจอันชอบธรรมทางนิติบัญญัติ” (a limited Constitution is one which contains certain specified exceptions to the legislative authority) ข้อจำกัดประเภทนี้สามารถได้รับการรักษาไว้ในการปฏิบัติ ไม่มีทางอื่นใดมากไปกว่าโดยผ่านช่องทางของศาลสถิตยุติธรรม ซึ่งหน้าที่เขาคือการประกาศว่ากฎหมายทั้งปวงที่ตรงข้ามกับความหมายที่ประจักษ์ของรัฐธรรมนูญต้องเป็นโมฆะ

อ.วีระ สรุปความคิดของแฮมิลตันออกเป็นหัวข้อได้ 9 ประการ สรุปได้ความว่า อำนาจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งอ้างว่ามาจากประชาชนนั้น ก็มาจากการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ไม่ใช่ได้มาจากธรรมชาติ สภานิติบัญญัติจึงออกกฎหมายที่ละเมิดรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะจะไม่มีความชอบธรรม ดังนั้นเจตนารมณ์ของผู้แทนฯ ก็ไม่อาจแทนที่ของประชาชนได้ นำไปสู่ข้อสรุปว่าอำนาจของประชาชนนั้นเหนือกว่าทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ (ข้อ1, 2, 4) ประการต่อมาคือศาลเป็นองค์กรกลางเหมาะจะทำการวินิจฉัยข้อขัดแย้งระหว่างประชาชนกับนิติบัญญัติ (ข้อ3) สถานะของรัฐธรรมนูญเหนือกว่ากฎหมายบัญญัติ (ข้อ 5) สุดท้ายคือหน้าที่ของศาลชอบธรรมที่สุด เพราะทำตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายพื้นฐาน และไม่ได้บัญญัติกฎหมายหากแต่ทำเพียงการวินิจฉัย ศาลปกป้อง ‘รัฐธรรมนูญจำกัด’ ได้ดีที่สุดเพราะเป็นอิสระจากผลประโยชน์ของกลุ่มการเมือง ผ่อนหนักเบาต่อความอยุติธรรมและการพิจารณาปัญหากฎหมายต้องใช้ความชำนาญเฉพาะและประสบการณ์ยาวนานจึงต้องให้หลักประกันอันถาวรและระยะเวลาทำงานที่นานที่สุดแก่ผู้พิพากษา (ข้อ 7,8,9)

ทั้งหมดนี้ อ.วีระ ปิดท้ายว่า “แตกต่างจากมุมมองที่เน้นไปที่ประชาธิปไตยและเสียงข้างมากอันเป็นลักษณะของ ‘อธิปไตยโดยรัฐสภา (parliamentary sovereignty)’ หรือ ‘อำนาจสูงสุดโดยรัฐสภา (parliamentary supremacy)’ ดังนั้นฝ่ายตุลาการจึงไม่พึงมีอำนาจที่จะขัดขวางการกระทำหรือการบัญญัติกฎหมาย (act) ของฝ่ายนิติบัญญัติได้”

ถามว่าในที่สุดเอกสารเฟเดอรัลลิสต์ 78 ของแฮมิลตันให้การรับรอง ‘การทบทวนโดยตุลาการ’ ในลักษณะของการใช้อำนาจตุลาการเหนือกว่าของฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ คำตอบของผมคือไม่ใช่แค่นั้น จริงๆ แล้วเขาต้องการทำให้สถาบันตุลาการมีฐานะและบทบาทที่แน่นอนในระบบปกครองโดยกฎหมาย ทำให้ศาลมีบทบาทสัมพันธ์กับความเป็นไปของบ้านเมืองทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองด้วยการพิจารณาวินิจฉัยข้อขัดแย้งอย่างยุติธรรมที่ปฏิบัติได้ถ้วนหน้า จุดหมายทางการเมืองของแฮมิลตันในการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแทนที่ฉบับเก่าในช่วงเป็นสหพันธรัฐ (Articles of Confederacy) ระหว่างทำสงครามกับอังกฤษคือการทำให้สหรัฐฯ เป็นประชาชาติใหม่ นโยบายของเขาจึงเป็นไปเพื่อ ‘ชาติ’ ของมวลประชาชน ดังนั้นบทบาทของศาลและตุลาการจึงต้องมองไปยังชาตินี้ด้วย จุดหมายของเขาจึงไม่ได้มีแคบๆ เพียงแค่ว่าจะให้สถาบันไหนมีอำนาจเหนือหรือถ่วงดุลใครเท่านั้น หากแต่จุดหมายเขายิ่งใหญ่กว่าที่นักการเมืองหรือนักวิชาการคิด

เมื่อการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญในมาตรา 1 และ 2 ซึ่งครอบคลุมเรื่องอำนาจนิติบัญญัติและบริหารเรียบร้อยแล้ว แฮมิลตันก็หันมาเปิดการอภิปรายเรื่องสถาบันตุลาการในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ เอกสารเฟเดอรัลลิสต์ชุดนี้มีอยู่ 6 ชิ้นจากหมายเลข 78-83 ครอบคลุมปัญหาโดยรวมของสถาบันตุลาการ ได้แก่ การประกอบสร้าง ขอบเขต ไปถึงอำนาจหน้าที่ จากนั้นไปสู่ประเด็นเรื่องการพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุนในคดีอาญา ความสัมพันธ์ระหว่างศาลสหพันธ์กับมลรัฐ และสุดท้ายการสร้างหลักประกันในการพิจารณาโดยคณะลูกขุนในคดีแพ่ง

ในที่นี้เราจะศึกษาเฉพาะเอกสารหมายเลขที่ 78 ซึ่งอธิบายว่าทำไมจึงต้องมีตุลาการที่เป็นอิสระและมีอำนาจในการพิจารณาหรือทบทวนความชอบธรรมของกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาได้ด้วย ซึ่งจะเป็นที่มาของศัพท์ judicial review ที่แปลเป็นไทยว่า ‘ตุลาการภิวัตน์’ อันไม่ค่อยตรงกับความหมายดั้งเดิมของเขาเท่าไรเลย เพราะตุลาการอเมริกันไม่ได้อภิวัฒน์อะไร หากแต่ทำไปตามอำนาจที่ได้รับตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ หลังจากการอภิปรายโดยนักคิดและแกนนำการร่างรัฐธรรมนูญจนได้ข้อยุติในบทบาทของตุลาการแล้ว

ต้องกล่าวด้วยว่าการอภิปรายในประเด็นเรื่องสถาบันตุลาการในรัฐธรรมนูญอเมริกันนั้นเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่คิดว่าสำคัญน้อยที่สุดและมีปัญหาขัดแย้งต้องถกเถียงกันก็น้อยกว่าเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร ดังคำกล่าวของแฮมิลตันเองที่ว่า “สถาบันตุลาการเป็นสถาบันที่มีอันตรายน้อยที่สุดต่อสิทธิทางการเมืองของฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร” ซึ่งมีทั้งถุงเงินและกฎหมายบังคับคนและดาบอยู่ในมือ ตุลาการไม่มีอะไรนอกจากคำตัดสินและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่บังคับใครไม่ได้ จนกว่าฝ่ายอื่นจะทำตามโดยดุษณี ดังนั้นสถาบันตุลาการจึงไม่มีอะไรที่ต้องมาถกเถียงในรัฐธรรมนูญ

สาเหตุที่แฮมิลตันต้องเขียนประเด็นตุลาการ เพราะก่อนหน้านี้มีนักกฎหมายในนามแฝง ‘บรูตุส’ (Brutus) ได้เขียนบทความวิจารณ์ฐานะและบทบาทของศาลและตุลาการไว้หลายประเด็น ที่สำคัญคือเขาบอกว่า “ไม่มีช่องทางไหนที่จะดีสุดในการเปิดทางให้แก่การทำลายรัฐบาลมลรัฐมากไปกว่ารัฐธรรมนูญของฝ่ายตุลาการ” บรูตุสคือ Melancton Smith นักกฎหมายในนครนิวยอร์กและเป็นสมาชิกของสภาคองเกรสภาคพื้นทวีป (Continental Congress) ระหว่างการปฏิวัติจากอังกฤษ เขามีความคิดการเมืองต่อตุลาการในสมัยที่ยังเป็นอาณานิคมอังกฤษอยู่เหมือนกับคนอเมริกันทั่วไปที่ไม่ไว้วางใจในการตัดสินโดยผู้พิพากษาและศาล หากพอใจในคณะลูกขุนมากกว่า อันเป็นประสบการณ์ร่วมกันของคนอเมริกันยุคปฏิวัติและก่อนหน้าที่อยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์อังกฤษ ดังนั้นผู้พิพากษาและศาลจึงมาจากการแต่งตั้งของกษัตริย์ เขาจึงให้น้ำหนักไปที่สภาผู้แทนของราษฎรในการรักษาเสรีภาพและความยุติธรรมของประชาชน เขาประกาศว่า “เป็นเรื่องไร้สาระยิ่งหากปล่อยให้ศาลประกาศว่ากฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาเป็นโมฆะได้”

เมื่อบรรยากาศของความคิดทางการเมืองต่อสถาบันตุลาการในอเมริกาเป็นเช่นนี้ แฮมิลตันซึ่งเป็นนักกฎหมายจากการเรียนด้วยตนเองและทำอาชีพทนายความในศาลด้วย จึงมีประสบการณ์โดยตรงในปัญหากฎหมายที่ต่างจากแกนนำคนอื่น ออกมาเสนอความคิดที่ตรงข้ามกับคนอเมริกันส่วนใหญ่ว่า ควรให้ฐานะและบทบาทเชิงบวกแก่ตุลาการ แทนที่จะปล่อยให้มันอยู่ใต้อำนาจบริหารอันเป็นคติกฎหมายรัฐธรรมนูญอังกฤษ ในระยะนั้นมีแนวคิดทางกฎหมายใหม่ที่ยอมรับกันมากในหมู่ผู้นำการเมืองคือแนวคิดของมงแต็สกีเยอที่กล่าวว่า อำนาจอธิปไตยในรัฐธรรมนูญนั้นแบ่งออกเป็นสามฝ่าย คือ บริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ ซึ่งตุลาการนั้นเขากล่าวว่าแทบไม่มีอะไรสำคัญเลยเมื่อเทียบกับอีกสองสถาบัน ดังนั้นเขาจึงให้น้ำหนักไปที่คณะลูกขุนมากกว่าผู้พิพากษา ดังนั้นผู้ร่างรัฐธรรมนูญอเมริกันจึงรับแนวคิดการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็นสามส่วน แต่ไม่มีใครอธิบายรายละเอียดว่าสถาบันตุลาการดำรงอยู่อย่างไรและมีบทบาทขอบเขตอำนาจขนาดไหน จนเมื่อแฮมิลตันลงมือเขียนอธิบายในเอกสารเฟเดอรัลลิสต์หมายเลขที่ 78 จึงเป็นที่กระจ่างและกลายเป็นแบบฉบับในการปฏิบัติของสถาบันตุลาการอเมริกันต่อไป

ข้อเสนอของแฮมิลตันต่อการดำรงอยู่ของสถาบันตุลาการคือการแต่งตั้งผู้พิพากษา ซึ่งมีประเด็นในเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง ค่าตอบแทนและหลักประกันในความรับผิดชอบของผู้พิพากษา เขาเสนอให้ดำรงตำแหน่งตราบเท่าที่ ‘อยู่ในความประพฤติที่ดี’ (during good behavior) โดยไม่มีข้อจำกัด ซึ่งต่อมาเท่ากับดำรงตำแหน่งชั่วชีวิตหากไม่ประพฤติอะไรไม่ดี ไม่ให้ลดหรืองดค่าตอบแทนและประกันความมั่นคงในชีวิตทั้งหมดคือเพื่อทำให้ศาลมีความเป็นอิสระและปลอดจากอิทธิพลภายนอกที่มีต่อตุลาการ หลักการนี้จำเป็นเพราะการใช้กฎหมายในการตัดสินคดีความนั้นมีโอกาสจะถูกแทรกแซง บีบบังคับ ชักจูงให้สินบนจากผู้มีอำนาจได้ รัฐธรรมนูญจึงต้องสร้างเกราะกำบังอกุศลมูลให้แก่พวกผู้พิพากษา

ประเด็นสำคัญที่ผู้คนสงสัยไม่เฉพาะแต่ในไทยเท่านั้น แม้ในอเมริกาตอนนั้นก็มีการโต้แย้งกันในเรื่องว่าการให้ศาลหรือตุลาการประกาศว่ากฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาเป็นโมฆะนั้นเท่ากับบอกว่าอำนาจของตุลาการเหนือกว่านิติบัญญัติหรือไม่ แฮมิลตันอรรถาธิบายอย่างละเอียดในข้อโต้แย้งนี้ เขากล่าวว่าหลักการอันชัดเจนที่ยอมรับกันคือสิทธิอำนาจที่ได้รับจากการเป็นตัวแทนนั้นไม่อาจนำไปสู่การกระทำใดๆ ที่ตรงข้ามกับความมุ่งหมายของคณะบุคคลผู้ให้สิทธิอำนาจนั้นแก่เขา นั่นคือสภาผู้แทนฯ ไม่อาจออกกฎหมายที่ตรงข้ามกับรัฐธรรมนูญได้ เหมือนกับที่คนรับใช้ได้รับมอบหมายจากเจ้านายก็ไม่อาจมีอำนาจทำอะไรเหนือนายได้เช่นกัน ‘การทบทวนโดยตุลาการ’ จึงมีจุดหมายที่การทำให้สถาบันตุลาการเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยของรัฐบาล ไม่ใช่อยู่ใต้อำนาจของฝ่ายบริหารอย่างที่เคยเชื่อกันมาก่อนนี้

ข้อโต้แย้งของแฮมิลตันต่อการให้ความชอบธรรมแก่ ‘การทบทวนโดยตุลาการ’ ครอบคลุมทฤษฎีอำนาจของรัฐธรรมนูญกับฐานะของกฎหมาย ระหว่างผู้แทนกับรัฐธรรมนูญ กล่าวคือบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนฯ ก็เป็นเหมือนผู้พิพากษาตามรัฐธรรมนูญในการพิจารณาอำนาจของเขาด้วยเหมือนกัน ข้ออ้างนี้ฟังไม่ขึ้นด้วยเหตุว่ามันไม่เป็นสมมติฐานตามธรรมชาติ โดยที่ไม่อาจหาจากบทบัญญัติทั้งหลายในรัฐธรรมนูญได้ จึงไม่อาจสันนิษฐานว่ารัฐธรรมนูญสามารถจะทำให้ผู้แทนของประชาชนทดแทนเจตนารมณ์พวกเขาแทนที่ของผู้เลือกเขาได้ ในการตอบโต้เขายกตัวอย่างการปฏิบัติของศาลสหพันธ์คือศาลสูงสุดซึ่งเป็นของชาติไม่ใช่ของมลรัฐ เขาให้ความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของศาลมาก เพราะว่าศาลทั้งหลายได้รับการสรรค์สร้างขึ้นมาให้เป็นองคาพยพระหว่างประชาชนกับสภานิติบัญญัติ เพื่อทำหน้าที่รักษาให้ฝ่ายหลัง (นิติบัญญัติ) อยู่ภายในขอบเขตสิทธิอำนาจที่ได้มอบหมายให้แก่พวกเขา เพราะการตีความกฎหมายอยู่ในขอบเขตอันจำเพาะและเหมาะสมของศาล นี่จึงไม่ได้หมายความว่าสถาบันตุลาการมีความเหนือกว่าสถาบันนิติบัญญัติแต่ประการใด มันเพียงแต่เสนอว่าอำนาจของประชาชนต่างหากที่เหนือกว่าของทั้งสองฝ่าย

ถามว่าแฮมิลตันไม่เคยสงสัยในความประพฤติและวินิจฉัยของศาลบ้างหรือ เขาตอบว่าแน่นอนหากให้ศาลหรือผู้พิพากษาสามัคคีกับฝ่ายบริหารหรือนิติบัญญัติได้ นั่นเท่ากับเป็นการทำลายเสรีภาพของปัจเจกชนและความมั่นคงของส่วนรวมลงได้ เขาเสนออย่างแข็งขันว่าตุลาการต้องแยกออกเป็นอิสระและไม่เป็นส่วนหนึ่งของบริหารและนิติบัญญัติจึงจะประกันความยุติธรรมและถูกต้องในการวินิจฉัยของศาลได้ นี่เองเป็น “เหตุสำคัญที่ทำให้อำนาจการทบทวนของตุลาการและตุลาการภิวัตน์ในรูปแบบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในการเมืองอเมริกัน มิได้ก่อให้เกิดการจัดตั้ง ‘องค์กรอิสระ’ ทางตุลาการใดๆ ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ  ซึ่งแตกต่างจากแนวความคิดและวิถีปฏิบัติของระบอบการเมืองในยุโรปและอีกหลายแห่งทั่วโลก” (วีระ สมบูรณ์, การทบทวนโดยตุลาการ)

บทเรียนจากเอกสารเฟเดอรัลลิสต์ 78 โดยแฮมิลตันจึงอยู่ที่การสถาปนาสถาบันตุลาการให้เป็นอำนาจหนึ่งที่แยกจากอำนาจบริหารและนิติบัญญัติ เขาไม่ได้ต่อสู้เพื่ออำนาจหนึ่งใดในสามอำนาจนั้น หากแต่มุ่งพิทักษ์เพื่อรักษารัฐธรรมนูญจำกัดไว้ไม่ให้เสื่อมทรามลงไปจากการใช้อำนาจที่ผิดของทุกสถาบันแห่งอำนาจ ทั้งหมดเพื่อประกาศยืนยันว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไม่อาจเบี่ยงเบนไปจากของประชาชนได้

References
1 Publius คือนามปากการ่วมของแฮมิลตัน, เจมส์ แมดิสัน, จอห์น เจย์ แต่ในที่นี้คืองานเขียนของแฮมิลตัน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save