fbpx

สู่การเมืองแห่งความไม่สมควร : ทางออกของประชาธิปไตยที่ยังไม่มีความเสมอภาคอันแท้จริง

เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าคุณค่าสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยกลายเป็นรูปแบบทางการเมืองหลักของสังคมสมัยใหม่ คือความเสมอภาค (equality) เพราะความเสมอภาคเป็นคุณค่าที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียม ในฐานะที่มนุษย์เหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจกำหนดทิศทางของสังคมที่ตนเป็นสมาชิก ความเสมอภาคจึงเป็นหัวใจสำคัญของประชาธิปไตย ไม่มีประชาธิปไตยที่ปฏิเสธความเสมอภาค และหากปราศจากความเสมอภาค ก็คงยากที่ประชาธิปไตยจะตั้งมั่นดำรงอยู่ได้อย่างสมบูรณ์[1]

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ก็ยากจะปฏิเสธถึงภาวะย้อนแย้งว่า แม้ประชาธิปไตยอาจกลายเป็นรูปแบบการเมืองมาตรฐานที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างมุ่งหวังจะบรรลุ แต่การตั้งมั่นของประชาธิปไตยดังกล่าว กลับมิได้ส่งผลต่อการขยายตัวของความเสมอภาคแต่อย่างใด โดยเฉพาะความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในระดับโลกยิ่งขยายใหญ่ขึ้น ดังผลสำรวจขององค์กรอ็อกแฟม (Oxfam) ในปี 2017 ที่ชี้ให้เห็นว่า จากประมาณการมูลค่าสินทรัพย์ของบุคคลที่รวยที่สุดในโลก 26 คน สามารถเทียบเท่ากับมูลค่ารวมของสินทรัพย์ของประชากรที่มีรายได้ต่ำสุด 50 เปอร์เซ็นต์แรกของโลก (คิดเป็นจำนวน 3.4 พันล้านคน) หรือก็คือมูลค่าของสินทรัพย์สำหรับบุคคลที่ร่ำรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์ของโลกนั้นสามารถเทียบเคียงได้กับมูลค่าของสินทรัพย์ทั้งหมดของทุกบุคคลที่เหลือในโลกอีก 99 เปอร์เซ็นต์[2]

แน่นอน สภาวะความย้อนแย้งระหว่างการตั้งมั่นของประชาธิปไตยกับการการขยายตัวของความเหลื่อมล้ำนี้ หาได้หลุดรอดไปจากสายตาของนักวิชาการจำนวนมาก โดยเฉพาะนักปรัชญาและนักทฤษฎีการเมืองฝ่ายซ้ายที่อธิบายความขัดแย้งดังกล่าวว่าเป็นผลจากการขยายตัวของลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) ซึ่งบูชากลไกตลาดเสรีเหนือหลักปทัสถานทางการเมืองที่คอยประกันสิทธิและความเสมอภาคของพลเมือง[3]

ทว่า ท่ามกลางนักวิชาการที่มุ่งวิพากษ์และเปิดโปงความฉ้อฉลของเสรีนิยมใหม่ (และระบบทุนนิยม) ในการบ่อนทำลายประชาธิปไตย อาจมีเพียงงานเขียนของ มาร์ก เดเวนนี่ย์ (Mark Devenney) นักทฤษฎีการเมืองสกุลหลังลัทธิมาร์กซ์ (Post-Marxism) จากมหาวิทยาลัยไบรท์ตัน ที่ชี้ให้เห็นถึงความเกื้อหนุน(ไม่ใช่ขัดแย้ง) ระหว่างระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบันกับการขยายตัวของระบบทุนนิยมภายใต้เสรีนิยมใหม่ กระทั่งชี้ให้เห็นว่าการขยายตัวของความไม่เสมอภาคในขณะนี้คือผลจากการตั้งมั่นของระบอบประชาธิปไตยเสียเอง

ในหนังสือเรื่อง ‘Towards an Improper Politics’ หรือ ‘สู่การเมืองแห่งความไม่สมควร’[4] เดเวนนี่ย์ได้นำเสนอข้อถกเถียงว่าระบอบประชาธิปไตยตะวันตกในปัจจุบันหาได้เดินตามทิศทางของประชาธิปไตยที่ควรเป็น เนื่องจากระบอบดังกล่าวถูกกำกับภายใต้วาทกรรมเรื่องทรัพย์สินหรือความชอบธรรมในการครอบครองทรัพย์สินส่วนบุคคล จนเปิดช่องให้กับการแข่งขันและการขยายตัวของความเหลื่อมล้ำ ดังที่ตัวเขาได้ชี้ให้เห็นว่าหลังจากสิ้นสุดสงครามเย็น ปทัสถานหลักของกฎหมายระหว่างประเทศตั้งอยู่บนการคุ้มครองทรัพย์สิน ตลอดจนกรรมสิทธิ์ของบรรษัทข้ามชาติในการครอบครองทรัพยากรธรรมชาติในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ราวกับว่าการดำรงอยู่ของทรัพย์สินคือปทัสถานอันถูกต้องที่ไม่ควรมีใครเห็นแย้งหรือละเมิด (หน้า 8-9)

แต่อะไรคือวาทกรรมเรื่องทรัพย์สิน? วาทกรรมดังกล่าวมีคุณลักษณะสำคัญอย่างไร? และถ้าวาทกรรมเรื่องทรัพย์สินคือแกนกลางของปัญหาความเหลื่อมล้ำในปัจจุบัน อะไรคือแนวทางการต่อสู้กับวาทกรรมนี้?

เดเวนนี่ย์อ้างอิงถึงข้อวิจารณ์ของคาร์ล มาร์กซ์ ต่อสกุลความคิดแบบเสรีนิยม ซึ่งให้ความสำคัญกับการครอบครองทรัพย์สินว่าเป็นเพียงกลไกทางอุดมการณ์ที่ปกปิดบทบาทของรัฐในการใช้กำลังเข้ายึดครองและส่งมอบทรัพยากรธรรมชาติแก่ชนชั้นปกครอง และชี้ให้เห็นว่าการดำรงอยู่ของทรัพย์สิน (และการครอบครองทรัพย์สิน) นั้น หาใช่แค่ส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่คือผลผลิตภายใต้แบบแผนการดำรงอยู่ทางสังคมที่คอยกำหนดความเหมาะสมว่าใครหรือกลุ่มไหนคู่ควรหรือไม่คู่ควรที่จะครอบครองทรัพยากรอะไร (หน้า 10-13)

ในแง่นี้ การดำรงอยู่ของทรัพย์สินจึงเป็นภาพสะท้อนการดำรงอยู่ของระบอบที่มิเพียงแต่กำหนดและให้ความชอบธรรมกับการครอบครองทรัพยากรธรรมชาติของบางกลุ่มหรือบางชนชั้น แต่ยังกำหนดสารัตถะและความหมายในการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งต่างๆ ควบคู่ไปกับประเมินคุณค่าสารัตถะและความหมายเหล่านั้นว่าเหมาะสมคู่ควรกับสิ่งใด และไม่เหมาะสม/ไม่คู่ควรกับสิ่งใด (หน้า 16-17)

เดเวนนี่ย์เรียกระบอบดังกล่าวว่าระบอบแห่งความคู่ควร หรือ proprietary regime ทั้งนี้ โดยอาศัยเนื้อหาจากงานเขียนของนักปรัชญาและทฤษฎีการเมืองอย่างเอเตียง บาลิบาร์ (Etien Balibar) และคาร์ล ชมิทท์ (Carl Schmitt) เดเวนนี่ย์ชี้ให้เห็นว่าระบอบแห่งความคู่ควร คือระเบียบทางการเมืองที่ถูกจัดตั้งและเผยแพร่ไปยังดินแดนต่างๆ โดยจักรวรรดินิยมยุโรป ตั้งแต่ต้นยุคสมัยใหม่จนถึงช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ในฐานะที่ระเบียบดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของปทัสถาน ซึ่งกำกับรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอันมีแกนกลางอยู่ที่การดำรงอยู่ของอำนาจอธิปไตยและความมีอารยะของหน่วยการเมืองบนตัวแบบของรัฐประชาชาติ (หน้า 16-19) ระบอบแห่งความคู่ควรจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการแผ่ขยายของลัทธิล่าอาณานิคมของจักรวรรดินิยมยุโรป ซึ่งก็คือลัทธิที่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เดเวนนี่ย์เรียกว่า mode of appropriation หรือวิถีของการใช้กำลังเข้าไปจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ตามสมควร(หน้า 18-19)

จริงอยู่ การกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างลัทธิจักรวรรดินิยมกับการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผ่านการล่าอาณานิคมนี้ หาใช่สิ่งที่แปลกใหม่สำหรับแวดวงการศึกษาทฤษฎีการเมือง รัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ[5] ทว่า สิ่งที่ทำให้ข้อเสนอของเดเวนนี่ย์มีความน่าสนใจก็คือ นัยยะที่ต้องการสื่อว่าสาระที่แท้จริงของการล่าอาณานิคมและลัทธิจักรวรรดินิยมนั้น มิใช่อะไรเลยนอกจากปฏิบัติการของระบอบแห่งความคู่ควรที่ต้องการจัดระเบียบการถือครองทรัพยากรต่างๆ ผ่านการใช้กำลังควบคู่ไปกับการสร้างกลไกทางอุดมการณ์เพื่อรองรับการจัดระเบียบดังกล่าว

นั่นจึงไม่แปลกที่เดเวนนี่ย์จะอธิบายต่อมาถึงกลไกสำคัญสองประการภายในระบอบแห่งความคู่ควรอันได้แก่ (1) กลไกการกำหนดคุณสมบัติความเป็นบุคคล (personhood) ในฐานะองคาพยพที่มีความเหมาะสมในการครอบครองทรัพย์สินต่างๆ และ(2) กลไกอำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นกลไกทางสถาบันในการใช้กำลังเข้ายึดและครอบครองทรัพยากรต่างๆ

โดยเดเวนนี่ย์ได้บรรยายถึงเนื้อหาของกลไกแบบแรกว่า คือการขีดเส้นแบ่งแยกองคาพยพต่างๆ พร้อมๆ กับจัดระเบียบคุณสมบัติว่าอะไรคือสิ่งที่เรียกว่าบุคคล (ซึ่งจะได้รับสิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน) และอะไรที่ขาดคุณสมบัติดังกล่าวจนเป็นได้แค่สิ่งของ (thing) ที่มิเพียงแต่ไม่สามารถครอบครองทรัพย์สิน หากแต่ยังเหมาะสมที่จะดำรงอยู่ด้วยการถูกครอบครองเท่านั้น (หน้า 20-21) รูปธรรมของกลไกการกำหนดคุณสมบัติความเป็นบุคคลนี้ คือปรัชญาความคิดแบบเสรีนิยมที่ให้ความสำคัญกับความสามารถในการใช้เหตุผล ด้วยมองว่าความสามารถดังกล่าวคือข้อพิสูจน์ถึงการมีความคิด ซึ่งมีนัยยะต่อไปถึงการมีความสามารถในการครอบครองสิ่งต่างๆ

กระนั้น เดเวนนี่ย์ก็ได้วิพากษ์ให้เห็นว่าแม้อาจอ้างตนเป็นหลักสัจธรรมสากล แต่แท้จริงแล้วหลักปรัชญาเสรีนิยมเหล่านี้ต่างก็วางอยู่บนอคติทางชนชั้นและชาติพันธุ์แบบเจ้าอาณานิคมที่ไม่เชื่อว่ามนุษย์เผ่าพันธุ์อื่นๆ มีความสามารถในการใช้เหตุผลได้เทียบเท่ากับคนขาวชาวตะวันตก ดังที่ตัวเขาได้กล่าวพาดพิงถึงความย้อนแย้งของจอห์น ล็อค นักปรัชญาเสรีนิยม ผู้ที่แม้อาจยืนยันถึงความสำคัญของเหตุผลในฐานะรากฐานรองรับความชอบธรรมของการครอบครองทรัพย์สินให้กับมนุษย์ แต่กลับเพิกเฉย กระทั่งปฏิเสธความสามารถในการใช้เหตุผลของชาวอาณานิคม ผู้เป็นมนุษย์ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพแตกต่างไปจากตัวเขา (หน้า 21)[6]

การดำรงอยู่ของปรัชญาเสรีนิยมซึ่งอ้างอิงความสามารถในการใช้เหตุผลเป็นฐานความชอบธรรมสำหรับครอบครองทรัพย์สิน จึงเป็นการดำรงอยู่อันกลวงเปล่า ขัดแย้งกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอย่างการแบ่งแยกและปฏิเสธความสามารถในการใช้เหตุผลของมนุษย์เผ่าพันธุ์อื่นๆ ที่ต่างไปจากพลเมืองของจักรวรรดินิยมยุโรป ในแง่นี้ กลไกการกำหนดคุณสมบัติความเป็นบุคคลจึงไม่ใช่อะไรเลยนอกจากอุดมการณ์ที่คอยบิดเบือนและปกปิดการทำงานอีกด้านหนึ่งของระบอบแห่งความคู่ควร นั่นก็คือกลไกอำนาจอธิปไตย

ทั้งนี้ ตรงกันข้ามกับทฤษฎีการเมืองและรัฐศาสตร์โดยทั่วไปที่มักพิจารณาอำนาจอธิปไตยว่าเป็นอำนาจสูงสุดทางการปกครองที่มาจากประชาชน เดเวนนี่ย์กลับมองว่าข้อพิจารณาดังกล่าวเป็นเพียงนิยายเพ้อพกที่ถูกแต่งขึ้นเพื่อปลอบใจประชาชนผู้ถูกปกครองเท่านั้น (หน้า 22)  เพราะตัวเขามองว่าแท้จริงแล้วอำนาจอธิปไตยคือกลไกการใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องเพื่อเข้าครอบครองทรัพยากรและกีดกัน (exclude) บุคคลอื่นๆ ในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดังกล่าว (หน้า 25) กลไกอำนาจอธิปไตยจึงเป็นเรื่องของสถาบันและองค์กรต่างๆ ที่ครอบครองกำลังทางกายภาพสำหรับจัดระเบียบ และควบคุมให้ประชาชนผู้ถูกปกครองสยบยอมต่อระเบียบดังกล่าว

ความน่าสนใจในประเด็นนี้ก็คือ ภายใต้การพิจารณาอำนาจอธิปไตยว่าเป็นเรื่องของการใช้ความรุนแรงเพื่อเข้ายึดและกีดกันทรัพยากรจากส่วนรวม (แทนที่จะเป็นเรื่องของอำนาจในการกำหนดชะตากรรมตนเองของประชาชน) เดเวนนี่ย์ก็ได้เสนอว่านอกจากรัฐประชาชาติแล้ว หน่วยทางการเมืองที่สามารถใช้อำนาจอธิปไตยได้ คือกลุ่มทุนเอกชนและบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ต่างๆ ดังที่ตัวเขาได้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของบรรษัทการค้าทั้งหลายที่สามารถระดมสรรพกำลังเพื่อเข้ายึดครองและกีดกันการใช้ทรัพยากรบางอย่างจากบุคคลและองค์กรอื่นๆ กระทั่งจากรัฐบาลและประชาชนเจ้าของพื้นที่ที่มีทรัพยากรนั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของบริษัทการค้าของเนเธอแลนด์และอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม หรือศักยภาพของบรรษัทข้ามชาติในปัจจุบันที่สามารถใช้กำลังข่มขู่คุกคามพลเมือง เพื่อครอบครองทรัพยากรในประเทศต่างๆ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของพรมแดนและแผนที่ (หน้า 21)

การแยกเอาอำนาจของประชาชนออกจากฐานคิดเรื่องอำนาจอธิปไตย โดยจัดวางให้อำนาจอธิปไตยเป็นเพียงกลไกการใช้ความรุนแรงเพื่อครอบครองทรัพยากรภายใต้ระบอบแห่งความคู่ควรนี้ นับเป็นแกนสำคัญที่เดเวนนี่ย์ใช้เพื่อแสดงให้เห็นปัญหาของระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน ด้วยการบ่งชี้ว่าแม้ประชาธิปไตยอาจเป็นระบอบที่ลงหลักปักฐานจนกลายเป็นกระแสหลักในสังคมการเมือง แต่นั่นก็เป็นคนละเรื่องกับการขยายตัวในอำนาจของประชาชน หนำซ้ำ ยิ่งเมื่อพิจารณาว่าประชาธิปไตยที่เป็นอยู่นี้ คือรูปแบบสังคมการเมืองที่อยู่ภายใต้บงการของระบอบซึ่งมุ่งปกป้องทรัพย์สิน อย่างระบอบแห่งความคู่ควร ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความเหลื่อมล้ำจะยิ่งขยายตัวสอดคล้องกับไปกับการเติบโตของประชาธิปไตยดังกล่าว

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เดเวนนี่ย์ได้เสนอทางออกให้ย้อนกลับมาทบทวนและก่อร่างแบบแผนของประชาธิปไตยเสียใหม่ เพราะถ้าประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ คือประชาธิปไตยที่มุ่งปกป้องทรัพย์สินภายใต้บงการของระบอบแห่งความคู่ควร การทำลายความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาค ก็จำเป็นที่จะต้องอาศัยประชาธิปไตยอีกแบบหนึ่งซึ่งมิได้ตกอยู่ภายใต้บงการของระบอบแห่งความคู่ควร นั่นก็คือประชาธิปไตยภายใต้การขับเคลื่อนของสิ่งที่เดเวนนี่ย์เรียกว่า ‘การเมืองแห่งความไม่สมควร’ (the improper politics)

เดเวนนี่ย์เริ่มต้นนำเสนอแนวคิดเรื่องการเมืองแห่งความไม่สมควร ด้วยการชี้ให้เห็นว่าสารัตถะอันแท้จริงของระบอบแห่งความคู่ควรนั้นก็คือผลจากการครองอำนาจนำ (hegemony) ของชนชั้นปกครองเอง ทั้งนี้ โดยอาศัยรากฐานความคิดสกุลหลังลัทธิมาร์กซ์ ซึ่งสถาปนาโดยเออร์เนสโต ลาคราว (Ernesto Laclau) และชองตาล มูฟ (Chantal Mouffe)  ผู้เสนอว่าการประเมินค่าสรรพสิ่งต่างๆ ในสังคมการเมืองล้วนเป็นผลจากการครอบงำโดยผู้ครองอำนาจนำ (hegemon) ในฐานะที่เป็นผู้กำหนดนิยามความหมาย/คุณค่าของสรรพสิ่งต่างๆ ที่ผู้คนยึดถือ ด้วยการเชื่อมต่อผลประโยชน์ของกลุ่มตนเข้ากับนิยามและคุณค่าดังกล่าวจนกลายเป็นความจริงทางสังคมที่ไม่ถูกตั้งคำถามใดๆ[7] เดเวนนี่ย์ก็ได้ชี้ให้เห็นว่าระบอบแห่งความคู่ควรเป็นเพียงผลลัพธ์จากการเมืองของการสถาปนาอำนาจนำโดยชนชั้นปกครองที่ต้องการผูกขาดความคิดจิตใจของสังคม ด้วยการสร้างชุดความคิด/ความเข้าใจ/วาทกรรมเรื่องความคู่ควรและการครอบครองทรัพย์สินธุ์ที่ดูเป็นธรรมชาติเท่านั้น (หน้า 14-18)

ในแง่นี้ จุดเริ่มต้นของการเมืองแห่งความไม่สมควร จึงไม่ใช่อะไรเลยนอกจากการสร้างเครือข่ายเพื่อต่อต้านอำนาจนำ (counter-hegemony) หรือก็คือการทำสงครามทางความคิด (war of position) เพื่อช่วงชิงวาระและทำให้ผู้คนในสังคมหันมาตั้งคำถามกับความชอบธรรมในการถือครองทรัพย์สิน ตลอดจนระบอบแห่งความคู่ควรที่รองรับความชอบธรรมดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้การนำเสนอว่าการเมืองแห่งความไม่สมควรคือการสร้างเครือข่ายเพื่อต่อต้านอำนาจนำ จะเป็นข้อเสนอที่ตั้งต้นโดยอาศัยฐานความคิดแบบหลังลัทธิมาร์กซ์ของลาคราวและมูฟ แต่รายละเอียดของการสร้างเครือข่ายดังกล่าวกลับมีลักษณะแตกต่างออกไปอย่างมีนัยยะสำคัญ กล่าวคือ สำหรับลาคราวและมูฟแล้ว การสร้างเครือข่ายเพื่อต่อต้านอำนาจนำในช่วงเวลาหนึ่งๆ นั้น จะอยู่ภายใต้ไวยากรณ์ของการสร้างอัตลักษณ์ (logics of identification) ที่ผสานผู้คนกลุ่มต่างๆ ผ่านการสลายอัตลักษณ์เฉพาะของกลุ่มเหล่านั้นด้วยการสร้างอัตลักษณ์ร่วม โดยการนิยามคู่ปรปักษ์ (antagonist) ผู้ซึ่งการดำรงอยู่ของตัวมันได้ส่งผลทำลายอัตลักษณ์/ตัวตนของทุกๆ กลุ่ม จนทุกกลุ่มต้องก้าวข้ามความแตกต่าง/ขัดแย้งกับกลุ่มอื่นๆ เพื่อหลอมรวมพลังเป็นเครือข่ายภายใต้เป้าหมายสำคัญ คือกำจัดคู่ปรปักษ์นั้นให้สิ้นซาก[8] การสร้างเครือข่ายเพื่อต่อต้านอำนาจนำตามแนวทางแบบหลังลัทธิมาร์กซ์จึงเป็นการสร้างเครือข่ายภายใต้ตรรกะของการแบ่งแยกมิตรและศัตรู พร้อมๆ ไปกับปักป้ายว่าศัตรูคือภัยคุกคามการดำรงอยู่ของทุกคนจนเหมาะสมและคู่ควรที่จะต้องถูกท้าทาย ต่อต้านและทำลายให้หมดสิ้น

ทว่า ในสายตาของเดเวนนี่ย์แล้ว แนวทางแบบหลังลัทธิมาร์กซ์ของลาคราวและมูฟข้างต้น กลับเป็นแนวทางที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งยังตอกย้ำปัญหาดังกล่าวให้หนักขึ้น เพราะหัวใจสำคัญของการสร้างเครือข่ายต่อต้านอำนาจนำดังกล่าว คือการสร้างอัตลักษณ์ร่วมผ่านการนิยามปรปักษ์ร่วมที่ต้องถูกทำลายให้สิ้นซาก ซึ่งหมายความถึงการยอมรับความจำเป็นของการแบ่งแยกและตอกย้ำว่ามีแค่บางกลุ่ม/บางอัตลักษณ์/บางตัวตนเท่านั้นที่คู่ควรและเหมาะสมที่จะดำรงอยู่ ขณะที่การดำรงอยู่ของกลุ่มอื่นๆ/อัตลักษณ์อื่นๆ/ตัวตนอื่นๆ กลับเป็นสิ่งที่ไม่คู่ควรและไม่เหมาะสม อันจะเป็นการกลับมาตอกย้ำถึงแก่นแกนของวิธีคิดในระบอบแห่งความคู่ควรที่ทำงานผ่านการแบ่งแยกและกำหนดคุณค่า/สารัตถะให้กับสรรพสิ่งต่างๆ ว่าอะไรคู่ควรกับอะไรและอะไรไม่คู่ควรกับอะไร(หน้า 40-42)

นั่นจึงไม่แปลกที่แม้อาจตั้งต้นจากวิธีคิดแบบหลังลัทธิมาร์กซ์ แต่การสร้างเครือข่ายเพื่อต่อต้านอำนาจนำและระบอบแห่งความคู่ควรตามแนวทางที่เดเวนนี่ย์มุ่งนำเสนอ จะแตกต่างจากนักทฤษฎีกลุ่มหลังลัทธิมาร์กอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ โดยเฉพาะการมองว่าแนวทางแบบหลังลัทธิมาร์กซ์คือแนวทางอันตราย ที่มิเพียงแต่จะสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรงกีดกันและทำลายกลุ่มอื่นๆ หากแต่ยังเป็นการยอมรับโดยปริยายถึงความเป็นไปไม่ได้ในการข้ามผ่านวิธีคิดที่มุ่งแบ่งแยกและกำหนดความคู่ควรให้กับสรรพสิ่งต่างๆ (อันเป็นวิธีคิดเดียวกันกับระบอบแห่งความคู่ควร) เอง

ถึงตรงนี้ เดเวนนี่ย์ได้ชี้ให้เห็นว่าถ้าเนื้อหาของการเมืองแห่งความไม่สมควร คือการสร้างเครือข่ายต่อต้านอำนาจนำ (ซึ่งอยู่เบื้องหลังการสถาปนาระบอบแห่งความคู่ควร) การสร้างเครือข่ายดังกล่าวก็ควรตั้งอยู่บนแนวทางอีกแบบที่แตกต่างไปจากแนวทางแบบหลังลัทธิมาร์กซ์ของลาคราวและมูฟ โดยตัวเขามองว่า แนวทางที่ดีกว่าก็คือแนวทางของฌาร์ค ร็องซิแยร์ (Jacques Ranciere) นักปรัชญาร่วมสมัยคนสำคัญชาวฝรั่งเศส

ในงานเขียนเรื่อง ‘Disagreement: Politics and Philosophy’ หรือ ‘ความไม่เห็นด้วย: การเมืองและปรัชญา’ ร็องซิแยร์ได้เสนอว่าระเบียบของสังคมการเมืองแต่ละที่ล้วนมิได้เริ่มต้นจากการสถาปนาความยุติธรรม ดังที่นักปรัชญาการเมืองมักยึดถือกัน แต่เริ่มต้นจากการบังคับกดขี่แรงงานของผู้คนกลุ่มหนึ่งพร้อมๆ กับสถาปนาม่านกั้นในการรับรู้ ที่ปฏิเสธการดำรงอยู่ในฐานะสมาชิกสังคมการเมืองของผู้คนกลุ่มนั้น[9] ทุกๆ สังคมการเมืองตามคำอธิบายของร็องซิแยร์จึงเริ่มต้นด้วยการกดขี่และลบเลือนการมีอยู่ของผู้คนกลุ่มหนึ่งมากกว่าการจัดสรรกติกาของการอยู่ร่วมกันภายใต้หลักแห่งความยุติธรรมเสมอ และด้วยเหตุนี้ เป้าหมายทางปรัชญาของร็องซิแยร์จึงไม่ใช่อะไรเลยนอกจากการเปิดโปงรากฐานอันแท้จริงของสังคมการเมือง ผ่านการท้าทายม่านกั้นความรับรู้ที่คอยจัดระเบียบและปฏิเสธการมีอยู่ของผู้คนซึ่งถูกกดทับรีดไถ อันจะส่งผลต่อการยืนยันถึงสถานะของความเสมอภาคในฐานะเงื่อนไขตั้งต้นก่อนกำเนิดของทุกๆ สังคมการเมืองตามไปด้วย เพราะถ้าทุกๆสังคมการเมืองเริ่มต้นจากการแบ่งแยกและกดขี่คนกลุ่มหนึ่ง ก็ย่อมหมายความว่าจุดตั้งต้นก่อนที่จะมีสังคมการเมืองคือความเสมอภาคเท่าเทียมที่ทุกฝ่ายต่างก็ดำรงอยู่ร่วมกันโดยปราศจากการกดขี่ใดๆ[10]  

โดยอาศัยแนวทางของร็องซิแยร์ข้างต้น เดเวนนี่ย์จึงเสนอว่าการเมืองแห่งความไม่สมควร คือการสร้างเครือข่ายต่อต้านอำนาจนำที่มิได้มีเป้าหมายเพื่อแทนที่ผู้ครองอำนาจนำขณะนั้น มากเท่ากับการยืนยันถึงความเสมอภาคในฐานะเงื่อนไขตั้งต้นของการอยู่ร่วมกัน ผ่านการตั้งคำถาม ท้าทาย ตลอดจนเปิดโปงว่าการแบ่งแยกกดขี่ รวมไปถึงนิยามสาระให้กับสิ่งต่างๆ ว่าสิ่งไหนคู่ควร/ไม่คู่ควรกับสิ่งไหนนั้นล้วนมาจากการละเมิดเงื่อนไขตั้งต้นของการอยู่ร่วมกันทั้งสิ้น(หน้า 43-47) การเมืองแห่งความไม่สมควรจึงเป็นการเมืองของการต่อต้านอำนาจนำที่มิได้มีเป้าหมายในการเข้าไปครอบครองอำนาจนำ แต่มีเป้าหมายเปิดเผยเงื่อนไขตั้งต้นก่อนการสถาปนาสังคมการเมืองต่างๆ ว่าคือความเสมอภาคที่ทุกชีวิตต่างก็มีคุณค่าและอิสระอย่างเท่าเทียมกัน

กล่าวอีกแบบคือ สำหรับเดเวนนี่ย์แล้ว การเมืองแห่งความไม่สมควรคือการเมืองแห่งการสร้างสภาวะอนาธิปไตย (anarchy) มิใช่ในแง่ของการเชิดชูความวุ่นวาย ไร้ระเบียบ แต่เป็นในแง่ของการสลายความชอบธรรมของทุกๆ ระเบียบ (ซึ่งในภาษากรีกดั้งเดิมเรียกว่า arkhe) ที่ล้วนตั้งต้นโดยการแบ่งแยกและสร้างความเหลื่อมล้ำ ด้วยการเปิดให้เห็นถึงภาวะก่อนการมีระเบียบหรือ an’arkhe ว่าจะไม่ใช่อะไรเลยนอกจากชุมชนแห่งความเสมอภาค (community of equals) ที่ทุกคนต่างก็ร่วมส่วนในการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม ไม่แบ่งแยกและกดขี่ใดๆ (หน้า 45)    

ภายใต้แนวทางการพิจารณาการเมืองแห่งความไม่สมควรว่าเป็นเรื่องของการตอกย้ำถึงสถานะความเสมอภาคในฐานะเงื่อนไขตั้งต้นของทุกๆ สังคมการเมือง ประชาธิปไตยที่เดเวนนี่ย์มุ่งนำเสนอเพื่อปะทะกับระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน (ซึ่งถูกบงการโดยระบอบแห่งความคู่ควร) จึงย่อมเป็นอย่างอื่นไปเสียมิได้ นอกจากประชาธิปไตยแห่งอนาธิปัตย์ ที่มิได้หมกมุ่นอยู่กับยืนยันว่าอำนาจทางการปกครองต้องเป็นของประชาชน เพราะสำหรับเดเวนนี่ย์ (เฉกเช่นเดียวกับร็องซิแยร์) ประชาธิปไตยหาใช่พลังทางการปกครองมากเท่ากับพลังในการขับเคลื่อนให้ทุกคนมีความเสมอภาคอย่างแท้จริง(หน้า 107-111) ไม่สำคัญว่า ‘ประชาชน’ คือใคร มีอำนาจอย่างแท้จริงหรือไม่ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือการสลายเส้นแบ่ง ม่านกั้นและการแบ่งแยกต่างๆ เพื่อเปิดให้สมาชิกทุกคนในสังคมได้ถูกนับเป็นประชาชนอย่างเสมอหน้ากันต่างหาก

ด้วยเหตุนี้ ถ้าประชาธิปไตยในปัจจุบันคือประชาธิปไตยที่สนับสนุนความชอบธรรมของการถือครองทรัพย์สิน จนนำไปสู่การขยายตัวของความเหลื่อมล้ำ ประชาธิปไตยของการเมืองแห่งความไม่สมควรก็คือประชาธิปไตยแห่งความเสมอภาค ที่มิได้มุ่งประกอบสร้างสังคมการเมืองใหม่ที่ประชาชนเป็นใหญ่ (เพราะการนิยาม ‘ประชาชน’ ย่อมนำมาซึ่งการแบ่งแยกและกีดกันว่าใครคือประชาชนและใครไม่ใช่) แต่จะมุ่งสลายและทำลายอคติ/เส้นแบ่งความรับรู้ต่างๆ เพื่อให้ทุกคนในสังคมการเมืองได้รับเสรีภาพในฐานะสมาชิกของสังคมการเมืองนั้นอย่างแท้จริง

ประชาธิปไตยของการเมืองแห่งความไม่สมควรตามที่เดเวนนี่ย์ทิ้งท้ายจึงเป็นพลังที่ไม่เคยถูกผูกขาดด้วยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่คือพลังของการต่อต้าน/ท้าทายที่พร้อมปรากฏขึ้นทุกครั้งเพื่อทำให้ประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ได้กลายเป็นประชาธิปไตยตามอุดมคติจริงๆ นั่นก็คือประชาธิปไตยแห่งการผนวกรวมที่ปฏิเสธการแบ่งแยก และนับทุกชีวิตว่ามีคุณค่าในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมการเมืองอย่างแท้จริง(หน้า 111-115)




[1] ผู้สนใจสามารถดูหลักการของประชาธิปไตยได้ใน เอียน ชาพิโร่, “ประชาธิปไตย”, พุฒวิทย์ บุนนาค(แปล), ใน ปรัชญากับอนาคตของประชาธิปไตย, อุกฤษฎ์ แพทย์น้อย (บรรณาธิการ), ภัควดี วีระภาสพงษ์ (บรรณาธิการแปล)(กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2554), หน้า 43-104

[2] ดูข้อมูลทั้งหมดเพิ่มเติมได้ใน Deborah Hardoon, “An Economy for the 99%”’, Oxfam Briefing Paper (Oxford, Oxford International, 2017)

[3] อาทิ Wendy Brown, Undoing the Demos: Neoliberalism’s Stealth Revolution (New York: Zone Books, 2015); Bonnie Honig, Public Things: Democracy in Despair (New York: Fordham University Press, 2017); Dario Gentili, The Age of Precarity: Endless Crisis as an Art of Government, Stefania Porcelli (Translated)(London: Verso, 2021) ; Nancy Fraser, Cannibal Capitalism: How Our System Is Devouring Democracy, Care, and the Planet—and What We Can Do about It(London: Verso, 2022)

[4] Mark Devenney, Toward an Improper Politics (Edinburgh: Edinburgh University Press, 2021) อนึ่ง การอ้างอิงถึงเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ในครั้งต่อๆไปจะเป็นการอ้างอิงแบบแทรกในเนื้อหา ขณะที่การอ้างอิงถึงงานเขียนอื่นๆจะเป็นการอ้างอิงแบบเชิงอรรถ 

[5] ดูตัวอย่างงานศึกษาทำนองนี้ได้ใน Jennifer Pitts, Boundaries of the International: Laws and Empire (Cambridge: Harvard University Press, 2018)

[6] ควรกล่าวในที่นี้ว่าข้อวิจารณ์จอห์น ล็อคข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของกระแสการเติบโตของทฤษฎีการเมืองสกุลหลังอาณานิคมในปัจจุบันที่ย้อนกลับมาตีความตัวบทหลักของนักปรัชญาการเมืองเสรีนิยมในอดีตเพื่อเปิดให้เห็นอคติทางปรัชญาซึ่งกลายมาเป็นเครื่องมือสร้างความอบธรรมให้กับการล่าอาณานิคมของจักรวรรดิ์นิยมยุโรป ผู้สนใจสามารถดูตัวอย่างการศึกษาแนวทางนี้ได้ใน Duncan Bell, Reordering the World: Essays on Liberalism and Empire(Princeton: Princeton University Press, 2016); Onur Ulas Ince, Colonialism Capitalism and the Dilemmas of Liberalism(Oxford: Oxford University Press, 2018) สำหรับผู้สนใจความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ระหว่างการก่อตัวของปรัชญาความคิดแบบเสรีนิยมกับการล่าอาณานิคมและการกีดกันทางชาติพันธ์ดู Domonoco Losurdo, Liberalism: A Counter History(London: Verso, 2011)    

[7] ดู Ernesto Laclau and Chantal Mouffe, Hegemony and Socialist Strategy: Towards a Radical Democratic Politics(London, Verso: 1985), pp. 91-108.

[8] เพิ่งอ้าง,pp 113-120.

[9] Jacques Ranciere, Disagreement: Politics and Philosophy, Julie Rose (translated)(Minneapolis: Minnesota University Press, 1999), pp. 1-19.

[10] เพิ่งอ้าง, หน้า 31-32 และดูการตีความประเด็นนี้เพิ่มเติมได้ใน Joseph Tanke, Jacques Ranciere: An Introduction(London: Continuum,2011), pp.55-61.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save