fbpx

ฆ่าความไร้เดียงสา To Kill a Mockingbird (ผู้บริสุทธิ์)

นิยายเรื่อง To Kill a Mockingbird ของฮาร์เปอร์ ลี ประสบความสำเร็จกลายเป็นหนังสือขายดี ตั้งแต่แรกตีพิมพ์ออกมาในปี 1960 และคว้ารางวัลพูลิตเซอร์ในปีถัดมา จากนั้นก็ได้รับการดัดแปลงเป็นหนังในปี 1962 โดยฝีมือกำกับของโรเบิร์ต มัลลิแกน

จนถึงปัจจุบัน ทั้งนิยายและหนังเรื่อง To Kill a Mockingbird ต่างล้วนเป็นที่ยกย่องและขึ้นหิ้งงานคลาสสิกร่วมสมัยไปเป็นที่เรียบร้อย

ผมรู้จัก To Kill a Mockingbird จากการดูหนังก่อน แล้วจึงค่อยได้อ่านฉบับนิยายในเวลาต่อมา ความน่าทึ่งก็คือหนังดัดแปลงจากหนังสือได้ตรงครบถ้วนมาก (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกรเกอรี เป็ค ผู้รับบทเป็น แอคติคัส ฟินช์ เหมือนกับที่บรรยายเอาไว้ในหนังสือทุกอย่างทุกประการ จนแทบจะเรียกได้ว่าเกิดมาเพื่อรับบทนี้)

สำหรับในบ้านเรา นิยายเรื่องนี้มีการแปลออกมาแล้ว 3 สำนวน ครั้งแรกสุดเมื่อปี 2532 โดยสำนักพิมพ์เรจีนา ใช้ชื่อไทยว่า ‘ผู้บริสุทธิ์’ ผู้แปลคือ ศาสนิก แบ่งออกเป็น 2 เล่มจบ

สำนวนที่สอง ใช้ชื่อ ‘ฆ่าม็อกกิ้งเบิร์ด’ โดยแพรวสำนักพิมพ์ มีนาลันทา คุปต์เป็นผู้แปล พิมพ์เมื่อปี 2559

และสำนวนล่าสุดเป็นฉบับปี 2566 ใช้ชื่อ ‘ผู้บริสุทธิ์’ แปลโดยวิกันดา จันทร์ทองสุข สำนักพิมพ์ words

ผมได้อ่านครบหมดทุกสำนวน นับไม่ถูกจำไม่ได้นะครับว่าอ่านไปแล้วกี่ครั้ง นี่เป็นหนังสือประเภทสามารถหยิบมาอ่านซ้ำได้เรื่อยๆ และยิ่งอายุมากขึ้น ความประทับใจและความเข้าอกเข้าใจจากการอ่านก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้นตามลำดับ

มองอย่างกว้างๆ To Kill a Mockingbird เป็นคล้ายนิยายอัตชีวประวัติของฮาร์เปอร์ ลี ส่วนที่เหมือนและตรงกับชีวิตของนักเขียนคือยุคสมัย (ช่วงทศวรรษ 1930) ซึ่งยังเต็มไปด้วยร่องรอยความบอบช้ำจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ฉากหลังทางภาคใต้ของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีปัญหาการเหยียดผิวและกดขี่คนดำอย่างรุนแรง รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครพ่อลูกในนิยาย ก็ใกล้เคียงกับชีวิตจริงของฮาร์เปอร์ ลี

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์หลักในนิยายเรื่อง To Kill a Mockingbird เป็น ‘เรื่องแต่ง’ ที่สวมทับลงไปบนฉากหลังและตัวละครซึ่งอิงกับชีวิตจริงของผู้เขียนได้อย่างแนบเนียนและกลมกลืน

To Kill a Mockingbird เล่าเรื่องผ่านตัวละครชื่อสเกาต์ ในแบบผู้ใหญ่มองย้อนกลับไปยังวัยเยาว์ของตนเอง พูดถึงชีวิตช่วงปี 1933-1935 ขณะที่เธอยังเป็นเด็กหญิงอายุ 6 ขวบ

ด้านหนึ่ง นิยายเรื่องนี้เล่าถึงประวัติชีวิตของสเกาต์ (ชื่อจริงของเธอคือ จีน หลุยส์ ฟินช์) กับความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของเธอ อันประกอบไปด้วยเจ็ม (เจเรมี แอคติคัส ฟินช์) พี่ชายซึ่งอายุห่างกัน 4 ปี และพ่อ (แอคติคัส ฟินช์) ผู้มีอาชีพเป็นทนายความ ซึ่งต้องเลี้ยงดูลูกตามลำพัง (แม่ของสเกาต์เสียชีวิตตั้งแต่ตอนหนูน้อยอายุ 2 ขวบ)

วิธีเลี้ยงดูและความสัมพันธ์ระหว่างแอคติคัสกับลูกๆ เป็นกลวิธีทางศิลปะที่ฮาร์เปอร์ ลี ใช้อธิบายสาระสำคัญต่างๆ ในนิยายเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คำพูดคำจาของแอคติคัส ทัศนะของเขาที่มีต่อทุกเรื่องราว รวมถึงการกระทำ พูดตามตรงคือ เต็มไปด้วยท่าทีของ ‘การสั่งสอน’ อย่างโจ่งแจ้งเด่นชัด (ควรต้องกล่าวไว้ด้วยว่า ตัวละครแอคติคัส ฟินช์นั้น เข้าลักษณะพูดจาคมคายลึกซึ้งอยู่ตลอดเวลา)

ความยอดเยี่ยมในการเขียนของฮาร์เปอร์ ลี คือขณะที่แอคติคัส ฟินช์ พูดจาหล่อและฉลาดตลอดเวลาชนิดที่หยิบยกตรงไหนขึ้นมาก็ดูจะเป็น ‘คำคม’ ได้หมด น้ำหนักถ่วงดุลอีกฟากหนึ่ง คือการรับรู้และเข้าใจของสเกาต์กับเจ็มที่มีต่อ ‘คำสอนของพ่อ’ กลับเต็มไปด้วยความซื่อใสไร้เดียงสาแบบเด็กๆ รวมทั้งการตั้งคำถามเกิดข้อสงสัย กระทั่งบางครั้งก็เห็นแย้งโต้เถียง จนทำให้ไม่เกิดลักษณะที่เป็นการยัดเยียดจงใจ

อันที่จริง เป็นความจงใจนะครับ แต่ด้วยชั้นเชิงการเขียนที่ดีจึงเกิดเป็นความแนบเนียน ตรงนี้ยังประกอบกับการให้รายละเอียดบางอย่างเกี่ยวกับแอคติคัส ฟินช์ ซึ่งเป็นตัวละครที่มีพฤติกรรมเป็นวีรบุรุษอยู่เต็มเปี่ยม ให้มีความอ่อนแอ หวาดกลัว มีข้อจำกัดสารพัดสารพัน จนท้ายที่สุดตัวละครนี้ก็กลายเป็น ‘ยอดมนุษย์คนธรรมดา’ ที่มีเลือดเนื้อ มีชีวิตชีวา และสมจริงจับต้องได้อย่างน่าประทับใจ

ด้วยทัศนคติของแอคติคัส ฟินช์ และวีรกรรมเล็กๆ เรียบง่าย แต่ยิ่งใหญ่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตัวละครนี้จะสร้างความประทับใจ กลายเป็นที่รักของผู้อ่าน

ตรงนี้ผมขออนุญาตย้อนไปยังฉบับภาพยนตร์เล็กน้อย ในปี 2003 American Film Institute หรือ AFI ได้เฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปีภาพยนตร์โลก ด้วยการจัดอันดับ 100 สุดยอดในแขนงสาขาต่างๆ ของหนังอเมริกัน

ในหัวข้อ Heroes & Villains หรือสุดยอดพระเอก & ผู้ร้ายยอดเยี่ยมตลอดกาล ตัวละครที่ได้รับเลือกด้วยคะแนนสูงสุดได้แก่ แอคติคัส ฟินช์ จาก To Kill a Mockingbird ชนะตัวละครฮีโร่ดังๆ อย่างอินเดียนา โจนส์, เจมส์ บอนด์, ฮัน โซโล, ซูเปอร์แมน ฯลฯ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แอคติคัส ฟินช์ เหนือกว่าบรรดาฮีโ่ร่ทั้งปวงคือ เมื่อเทียบกันแล้ว ตัววีรกรรมอาจไม่แตกต่างกัน คือต่อสู้เพื่อพิทักษ์ความดีงามความถูกต้อง แต่ข้อแตกต่างคือขณะที่บรรดาวีรบุรุษทั้งหลายล้วนเก่งกล้าสามารถ หรือมีพลังพิเศษเหนือปกติ แอคติคัส ฟินช์กลับปราศจากฤทธิ์เดชใดๆ สู้ด้วยมือเปล่า ด้วยจิตใจที่กล้าหาญ และด้วยความเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำ เป็นไปเพื่อความถูกต้องดีงาม

ยิ่งไปกว่านั้น การยืนหยัดต่อสู้ของแอคติคัส ฟินช์ ยังส่งผลตอบรับแตกต่างจากบรรดาฮีโร่ส่วนใหญ่ ซึ่งได้รับการยกย่องสรรเสริญจากวีรกรรมทำดีเพื่อส่วนรวม บำเหน็จรางวัลที่แอคติคัส ฟินช์ได้รับจากการทำความดี กลับมีเพียงเสียงด่าทอว่าเป็นพวก ‘รักไอ้มืด’ โดนชาวบ้านชาวช่องตั้งแง่รังเกียจ ตกเป็นเหยื่อของการนินทาว่าร้าย และโดนจงเกลียดจงชังถึงขั้นปองร้าย

ในขั้นสุดท้าย การต่อสู้ของแอคติคัส ฟินช์ ยังจบลงแบบไม่เป็นไปตามครรลอง ‘ธรรมะย่อมชนะอธรรม’ เขาตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ (และรู้ชะตากรรมของตนเองตั้งแต่แรกเริ่ม)

สิ่งที่จับอกจับใจผู้อ่าน (รวมถึงผู้ชมในฉบับภาพยนตร์) คือเหตุผลในการสู้จนถึงที่สุด แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าต้องแพ้ ก็คือการเลือกเส้นทางดังกล่าวเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เขามองหน้าตนเองได้สนิทใจ และสามารถสั่งสอนอบรมเลี้ยงดูลูกๆ ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวิถีทางที่ถูกต้อง

ตอนหนึ่งในนิยายตอกย้ำความคิดนี้ เมื่อแอคติคัส ฟินช์พูดคุยกับแจ็กซึ่งเป็นน้องชาย และโดนโน้มน้าวให้ปฏิเสธไม่ว่าความเพื่อคนผิวดำ โยนภาระให้แก่ทนายคนอื่น คำตอบของแอคติคัสก็คือ

“ก็ได้ละ แต่นายคิดว่าทำอย่างนั้นแล้วฉันจะมองหน้าลูกตัวเองได้หรือ นายก็รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นเหมือนที่ฉันรู้นั่นล่ะแจ็ก ฉันได้แต่หวังแล้วก็ภาวนาว่าจะพาเจ็มกับสเกาต์ผ่านพ้นเรื่องนี้ได้โดยไม่บอบช้ำ และสำคัญที่สุดคือไม่ติดโรคประจำถิ่นของเมย์คอมบ์ไปด้วย ทำไมคนดี ๆ ถึงต้องคลั่งเสียสติเวลามีเรื่องเกี่ยวกับนิโกรด้วย อันนี้เป็นเรื่องที่ฉันไม่มีวันจะแกล้งทำเป็นเข้าใจได้เลย…ได้แต่หวังว่าเจ็มกับสเกาต์จะมาขอคำตอบจากฉัน แทนที่จะฟังคนในเมืองพูดกัน หวังว่าพวกเขาจะเชื่อใจฉันมากพอ…”

การต่อสู้ของแอคติคัส ฟินช์ เป็นหนึ่งในสองเนื้อเรื่องหลักของนิยายเรื่อง To Kill a Mockingbird

ฟินช์ได้รับการแต่งตั้งจากผู้พิพากษา ให้เป็นทนายจำเลยว่าความให้แก่ ทอม โรบินสัน หนุ่มผิวดำ ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำการข่มขืนหญิงผิวขาว แม้ว่าพยานหลักฐานแวดล้อมต่างๆ จะหละหลวม และมีแนวโน้มสูงยิ่งว่าทอมเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่บรรยากาศในสังคมที่เต็มไปด้วยการเหยียดผิว ความชิงชังรังเกียจที่คนขาวมีต่อคนดำ รวมถึงอคติอันหนาแน่นของชาวบ้านชาวช่อง ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เรื่องราวการฟ้องร้องสู้คดีจบลงอย่างเศร้าสลด ดังเช่นชื่อเรื่องของนิยาย ม็อกกิ้งเบิร์ดถูกฆ่าไปอีกหนึ่งตัว

ชื่อเรื่อง To Kill a Mockingbird นั้นเกี่ยวโยงกับเนื้อเรื่องเหตุการณ์น้อยนิด แต่ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์สื่อความหมายที่เด่นชัด ช่วงหนึ่งของนิยายแอคติคัสบอกกับเจ็มเกี่ยวกับการยิงปืนลมว่า

“พ่ออยากให้ลูกยิงกระป๋องในสนามหลังบ้านมากกว่า แต่ก็รู้ละว่าลูกคงเอาไปไล่ยิงนก จะยิงนกบลูเจย์ยังไงก็ตามใจเถอะ ถ้ายิงโดนนะ แต่จำไว้ว่าถ้าฆ่านกม็อกกิงเบิร์ดจะเป็นบาป”

เหตุผลนั้นขยายความผ่านอีกคำอธิบายโดยมิสมอดี้ เพื่อนบ้านข้างเคียง (ซึ่งเป็นเพียงไม่กี่คนในหมู่ชาวบ้านที่สนับสนุนแอคติคัส ฟินช์)

“พ่อเธอพูดถูกนะ” มิสมอดี้ว่า “นกม็อกกิงเบิร์ดเพียงแต่ร้องเพลงให้เราเพลินใจ ไม่ได้ทำอะไรอื่น พวกมันไม่ได้กินพืชผลในสวนของใครจนเกลี้ยง ไม่ได้ทำรังในยุ้งข้าวโพด ไม่ได้ทำอะไรเสียหาย นอกจากร้องเพลงให้เราฟังจากใจ เพราะอย่างนั้นการฆ่านกม็อกกิงเบิร์ดจึงเป็นบาป”

พูดอีกแบบ นกม็อกกิงเบิร์ดคือผู้บริสุทธิ์ และตลอดทั่วนิยายเรื่องนี้ก็เต็มไปด้วยตัวละครที่เข้าข่ายนี้ ทอม โรบินสัน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าข่มขืนคนขาว เป็นม็อกกิงเบิร์ดที่เด่นชัดสุด

ตรงนี้ผมมีข้อสังเกตเล็กน้อยว่า นามสกุลฟินช์ของครอบครัวตัวเอกในเรื่อง ก็เป็นชื่อนกชนิดหนึ่งเหมือนกันนะครับ

มีอีกตัวละครสำคัญ คือ บู แรดลีย์ ซึ่งเปรียบได้กับนกม็อกกิงเบิร์ดเช่นกัน และน่าจะเป็นสัญลักษณ์สำคัญสุดของนิยายเรื่องนี้

เหตุการณ์เกี่ยวกับบู แรดลีย์ เป็นอีกเนื้อเรื่องหลักของนิยาย เล่าถึงความกลัว ความตื่นเต้น ความท้าทายของเด็กๆ (ประกอบไปด้วยสเกาต์, เจ็ม และดิลล์เพื่อนบ้านข้างเคียงที่มาพักบ้านป้าทุกฤดูร้อน) ซึ่งอยากจะพบเห็นเจอะเจอตัวเป็นๆ ของบู แรดลีย์ผู้ลึกลับ เก็บเนื้อเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ไม่ออกมาให้ใครพบใครเห็นเนิ่นนานหลายปี

ทุกคนรู้ว่าบู แรดลีย์ยังมีชีวิตอยู่ เพียงเพราะว่าหากเขาเสียชีวิต จะต้องมีการหามศพออกนอกบ้าน แต่สิ่งนั้นไม่เคยเกิดขึ้น

บู แรดลีย์เมื่อครั้งวัยรุ่น เคยมีชีวิตปกติ จนเกิดเรื่องร้าย โดนพ่อผู้ร้ายกาจกักตัวไว้ในบ้าน นับจากนั้นก็ไม่เคยมีใครพบเห็นเขาอีกเลย

หลายปีต่อจากนั้น คำซุบซิบนินทา การระบายสีต่อเติม และจินตนาการติดลบของชาวเมือง ทำให้เรื่องราวของบู แรดลีย์ กลายเป็นเรื่องเล่าสยองขวัญประจำท้องถิ่น กลายเป็นความลึกลับยั่วเย้าความอยากรู้อยากเห็น นำพาไปสู่การคาดเดาสารพัดสารพัน จนกระทั่งในท้ายที่สุด บู แรดลีย์ก็กลายเป็นปีศาจร้ายอสูรกายที่น่าสะพรึงกลัว

เรื่องราวในส่วนของบู แรดลีย์ แฝงกลิ่นอายแบบเรื่องลี้ลับสยองขวัญ แต่ในระหว่างทางของการดำเนินเรื่อง รายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ค่อยๆ เผยแสดงให้เห็นอีกด้านหนึ่ง ซึ่งผู้อ่านสามารถคาดคะเนได้ (ก่อนตัวละครในเรื่อง) ว่าความจริงเกี่ยวกับบู แรดลีย์ น่าจะเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับความเชื่อร้ายๆ ของชาวบ้าน

และในบทสรุปบั้นปลาย นิยายเรื่องนี้ก็ตอกย้ำถึงความเป็น ‘ผู้บริสุทธิ์’ ของบู แรดลีย์ เมื่อความจริงทุกอย่างเผยกระจ่าง พร้อมๆ กับที่นำไปสู่การเรียนรู้และเติบโตของสเกาต์

ทั้งเรื่องของทอม โรบินสันและบู แรดลีย์ ตอกย้ำแก่นสารสาระสำคัญของเรื่อง ว่าด้วยสังคมที่ผู้คนเต็มไปด้วยอคติ และปล่อยให้โทสาคติ หรือจิตใจเอนเอียงเพราะความเกลียดชังเข้าครอบงำ จนกระทั่งนำพาไปสู่การกดขี่เบียดเบียนกัน กลั่นแกล้งรังแกทำร้ายกัน เลือกใช้ความรุนแรงเป็นทางออก

ความน่าสนใจของ To Kill a Mockingbird ไม่ได้จำกัดเพียงแค่สะท้อนถึงสังคมที่ผู้คนเต็มไปด้วยอคติต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นอคติต่อคนผิวดำ อคติเกี่ยวกับเพศหญิง หรือการตัดสินคนจากเปลือกนอกอย่างผิวเผิน (กรณีเรื่องของตัวละครชื่อมิสซิสดูโบส หญิงชราปากร้ายที่คอยด่าทอผู้คนผ่านไปมาหน้าบ้านของเธอ ดูจะโดดเด่นมาก เมื่อในเวลาต่อมา ผู้อ่านได้พบเห็นอีกด้านหนึ่งและเหตุผลแท้จริงที่หญิงชราทำตัว ‘ร้ายกาจ’ ใส่ทุกคน) แต่บรรดาผู้คนดังกล่าว เมื่อหลุดพ้นจากข้อขัดแย้งที่แฝงไปด้วยอคติทั้งหลายแหล่ พวกเขาก็เป็นคนดี มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความน่าเคารพนับถือ

พูดง่ายๆ คือท่ามกลางอคติแบบสุดโต่งจนทำให้ผู้คนขาดสติ ตัวละครเหล่านั้นก็ไม่ได้มีลักษณะขาวจัดดำจัด แบ่งฝ่ายคนดีและคนเลวเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่มีคุณสมบัติบวกลบระคนปนกัน

ตรงนี้นำพาไปสู่แง่คิดสำคัญ ซึ่งแอคติคัส ฟินช์สั่งสอนลูกๆ ถึงการสร้างเหตุผลต่างๆ ในชีวิต ด้วยการพยายามมองเหตุการณ์และผู้คนด้วยความพยายามนั่งในใจของคนเหล่านั้น ว่าเพราะเหตุไรเขาจึงคิดและกระทำดังเช่นที่ปรากฏ

พูดโดยแปลความรวบรัด นิยายเรื่องนี้เสนอทางออกให้กับปัญหาขัดแย้งทั้งหลายประดามีในสังคม ด้วยความคิดง่ายๆ ในเชิง ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ อย่างรอบคอบถี่ถ้วน ไม่รีบด่วนสรุปตัดสินอะไรต่อมิอะไรแบบตีขลุมเหมารวม

เป็นแนวคิดแบบ พูดง่าย แต่ทำยากนะครับ แต่ความยอดเยี่ยมของนิยายเรื่องนี้ อยู่ที่ความพยายามทำให้แนวคิดเหล่านี้ ปรากฏเป็นรูปธรรม ผ่านพฤติกรรมของแอคติคัส ฟินช์ ตลอดทั่วทั้งเรื่อง เป็นอีกเหตุปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้พระเอกจืดๆ เรียบง่ายไร้อิทธิฤทธิ์อย่างแอคติคัส ฟินช์ กลายเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่ยิ่งใหญ่ ครองใจผู้อ่านมายาวนาน

นับตั้งแต่ได้ดูหนังแล้วต่อเนื่องด้วยการอ่านอีกหลายครั้ง ผมคิดว่าจุดเด่นสูงสุดของ To Kill a Mockingbird คือการนำเสนอเนื้อหาสาระที่ดีงาม จริงจัง ออกมาได้อย่างทรงพลัง ที่สำคัญคือมันเป็นนิยายที่อุดมไปด้วยเนื้อหาหนักๆ จริงจังในระดับคอขาดบาดตาย แต่นำเสนอได้อย่างชวนอ่าน เข้มข้นสมจริง ขณะเดียวกันก็รื่นรมย์ อบอุ่น อ่อนโยน มีอารมณ์ขัน (เมื่อเรื่องราวทั้งหมดเล่าผ่านตัวละครเด็กหญิงวัย 6 ขวบ ฉลาด ซุกซน และซื่อใสไร้เดียงสา) ทั้งอ่านง่าย อ่านสนุก และชวนติดตามเป็นที่สุด

คุณสมบัติและบุคลิกน่ารักเปี่ยมเสน่ห์ของสเกาต์ เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ผมอ่านนิยายเรื่องนี้จบลงด้วยความตราตรึงซึ้งใจและแฝงความหม่นเศร้าอยู่ลึกๆ  เมื่อผู้อ่านได้พบว่า ในตอนจบยายหนูซนแก่นเติบโตข้ามผ่านสู่อีกช่วงวัย และสิ้นสุดความไร้เดียงสาไปแล้ว

2-3 หน้าท้ายๆ ของนิยาย จบได้ประทับใจมาก กับการบอกเล่าถึงมุมมองที่เปลี่ยนไปของสเกาต์

ฮาร์เปอร์ ลี เขียนช่วงตอนดังกล่าวได้ประเสริฐมาก จนผมต้องยกมือไหว้เลยนะครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save