fbpx

เวลาอยู่ข้างเรา อำนาจอยู่ข้างเขา

ภายหลังการรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา ชนชั้นนำไทยได้สร้างองค์กรและกลไกในการกำราบพลังฝ่ายประชาธิปไตยขึ้นอย่างเป็นระบบ การจัดการกับฝ่ายตรงกันข้ามไม่ได้เป็นการใช้กำลังความรุนแรงทางกายภาพเพียงอย่างเดียว หากยังมีการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเข้ามาเป็นเครื่องมืออย่างสำคัญ

เมื่อมีการชุมนุมของประชาชนเกิดขึ้น แนวทางหลักในการรับมือของเจ้าหน้าที่รัฐก็จะไม่ใช่ด้วยการใช้แก๊สน้ำตา ใช้กระสุนยางเข้าสลายการชุมนุมแบบบ้าคลั่ง ฯลฯ แต่จะดำเนินไปด้วยการใช้กลไกของรัฐส่วนต่างๆ นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มดำเนินคดี แล้วส่งต่อไปให้อัยการดำเนินการฟ้องคดี ก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาล ในกระบวนระหว่างนี้บางส่วนก็ได้รับการประกันตัว บางส่วนโดยเฉพาะที่เป็นแกนนำก็จะไม่ได้รับการประกันตัว (ต่อให้ยื่นประกันตัวเป็นสิบรอบร้อยรอบก็จะจบลงด้วยการให้เหตุผลว่า “ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง”)

ควรตระหนักว่าไม่ใช่เพียงองค์กรในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น องค์กรอิสระที่ปฏิบัติการไปในทิศทางเดียวกันในแต่ละช่วงจังหวะ เช่น การตีความข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ให้หมายความถึง ‘การล้มล้าง’ ก็คือส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้ เพราะคำวินิจฉัยสามารถถูกนำไปขยายผลต่อในการจัดการกับฝ่ายตรงกันข้าม

นักวิชาการฝรั่งบางคนเรียกแนวทางดังกล่าวว่า ‘smart repression’ อันมีความหมายถึงการจัดการกับประชาชนที่ไม่เน้นในมิติของความรุนแรงทางภายภาพ แต่ใช้กระบวนการทางกฎหมายเป็นเครื่องมือ แต่ผมขอเรียกการจัดการในลักษณะเช่นนี้ว่า ‘การกดปราบเชิงเครือข่ายแบบยืดเยื้อ’

องค์กรต่างๆ และกลไกการทำงานที่ดำเนินไปอย่างพร้อมเพรียงและสอดรับกันเหล่านี้มิใช่เป็นเหตุบังเอิญ หรือเป็นการทำงานบนพื้นฐานของหลักวิชา เพราะการปฏิบัติหรือคำตัดสินที่เกิดขึ้นในหลายเหตุการณ์ล้วนแต่เต็มไปด้วยข้อกังขาหรือคำถามถึงความถูกต้องของเหตุผลในการปฏิบัติงาน         

กล่าวได้ว่าการกดปราบในลักษณะเช่นนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการสร้างและสานเครือข่ายของชนชั้นนำไทย รัฐธรรมนูญ 2560 (ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร 2557) ทำให้องค์กรอิสระจำนวนมากที่ถูกสร้างขึ้นนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เข้ามาอยู่ภายใต้เครือข่ายการกดปราบนี้ องค์กรแต่ละองค์กรที่เคยถูกคาดหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการจรรโลงระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงขึ้นก็กลายเป็นผู้รับใช้ชนชั้นนำอย่างเซื่องๆ

การดำเนินการในลักษณะเครือข่ายมีความหมายที่กว้างกว่าเพียงกลุ่มคนบางกลุ่มหรือบางองค์กร หากเป็นองค์กรจำนวนมากพร้อมกับทรัพยากรของรัฐที่พร้อมนำมาใช้สนับสนุนในการปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมที่พร้อมจะไปยื่นหมาย สอบสวน ทำคดี อัยการมาทำหน้าที่ส่งต่อไป ก่อนที่จะมีผู้พิพากษามารับช่วงไปตัดสินต่อ และราชทัณฑ์เข้ามาทำหน้าที่ควบคุมตัว

การเคลื่อนไหวและการคาดหวังถึงการเปลี่ยนแปลงในห้วงเวลาปัจจุบันจึงนำไปสู่การเผชิญหน้ากับเครือข่ายที่ใหญ่โต มีพลังอำนาจทางกฎหมาย ทรัพยากรที่มีไม่จำกัด ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องที่ยากจะมีการโค่นล้มแบบชั่วข้ามคืน นี่คือเครือข่ายทางอำนาจที่แตกต่างไปจากจังหวะอื่นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

กล่าวเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถผลักดันให้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ไม่ว่าโครงสร้างการเมืองแบบใดก็ล้วนแต่ต้องมีช่องทางที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้ทั้งสิ้น สำหรับห้วงเวลาปัจจุบัน ในสถานการณ์ที่ไม่ใช่การพลิกเปลี่ยนแบบฉับพลันดังที่เคยคาดหวัง ผู้คนที่เป็นสามัญชนจะสามารถกระทำสิ่งใดได้บ้าง

ประเด็นแรก ต่อให้มีความพยายามในการตรึงสังคมไทยให้หยุดนิ่งมากเท่าใด แต่มันก็ยังพอมีช่องว่าง รอยปริแยก ความไม่ลงรอย ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าไปตอบโต้ได้ การแทรกตัวเข้าไปในระบบประกันสังคมถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ในบางระดับ

หรือกับกรณีการคัดสรร สว. ที่กำลังดำเนินการกันอยู่ก็นับเป็นความพยายามจะ ‘แฮ็ก’ ระบบที่เครือข่ายชนชั้นได้สร้างไว้ สำหรับ สว. เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นส่วนที่มีความสำคัญไม่น้อยเพราะองค์กรนี้คือส่วนหนึ่งของการรับรองต่อบุคคลที่จะเข้าไปในเครือข่ายแห่งการกดปราบ การแฮ็กนี้จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมีผู้คนเข้ามาร่วมในปฏิบัติการนี้มากน้อยขนาดไหน

ประเด็นที่สอง ต้องหาช่องทางในการเอาผิดกับบุคคลที่อยู่ในเครือข่ายชนชั้นนำเท่าที่พอจะเป็นไปได้ในทุกจังหวะโอกาส

บรรดาผู้ที่อยู่ในเครือข่ายนี้จำนวนไม่น้อยคุ้นเคยอยู่กับการใช้อำนาจไม่ว่าจะชอบธรรมหรือไม่ก็ตามมาอย่างยาวนาน ในหลายเหตุการณ์ก็อาจมีการกระทำที่เป็นการฉ้อฉลต่อกฎหมายหรือบรรทัดฐานในเรื่องต่างๆ มีหลายครั้งที่มีเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้น เช่น การเอาเมียน้อยไปดูงานหรือนั่งในตำแหน่งอนุกรรมาธิการชุดต่างๆ, การประกอบอาชญากรรมทางวิชาการเพียงเพื่อหวังจะมี ดร. นำหน้าชื่อ เป็นต้น

บางกรณีก็เป็นการกระทำในเชิงองค์กร กรณี กกต. ที่ออกประกาศระเบียบการคัดเลือก สว. ก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่ต้องมีการทดสอบว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือไม่ แน่นอนว่าการเอาผิดในขณะปัจจุบันอาจไม่ง่ายมากนัก แต่การเก็บข้อมูลเพื่อใช้ดำเนินคดีสำหรับในอนาคตตราบเท่าที่ยังไม่หมดอายุความก็เป็นสิ่งที่ควรต้องกระทำ ทั้งหมดนี้คือการเดินตามแนวทาง ‘แก้แค้น ไม่แก้ไข’

ประเด็นที่สาม มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญชะตากรรมอันยากลำบากจากการกดปราบในห้วงเวลาที่ผ่านมา บางคนต้องมีภาระค่าใช้จ่าย บางคนมีครอบครัวต้องรับผิดชอบ บางคนต้องติดอยู่ในเรือนจำ เขาเหล่านั้นได้ออกแรงทั้งกายและใจเป็นอย่างสูง

การโอบอุ้มระหว่างกันเท่าที่เป็นไปได้เพื่อลดทอนความทุกข์ร้อนจากการถูกกดปราบโดยเครือข่ายอำนาจรัฐ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้บางคนที่ต้องเผชิญคดีสามารถพอมีเรี่ยวแรงเดินฝ่าชีวิตในช่วงนี้ จะด้วยการไปให้กำลังใจ เขียนจดหมายไปถึง หากพอมีกำลังทางการเงินก็สามารถบริจาคช่วยเหลือความเป็นอยู่ในเรือนจำ หากมีความรู้ความเชี่ยวชาญก็ไปเป็นพยานทั้งในชั้นตำรวจหรือชั้นศาล

การเลิกพูด การไม่เอ่ยปากถึง นั่นคือการปล่อยให้ผู้คนเหล่านี้ตายไปจากความรับรู้ของสาธารณชน ซึ่งบั้นปลายก็คือการสูญหายไปจากความทรงจำของสังคม นั่นต่างหากคือความตายที่แท้จริง

การประกาศว่า ‘เวลาอยู่ข้างเรา’ ที่เคยก้องกังวานเป็นสิ่งที่ไม่ขัดต่อความเป็นจริง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ‘อำนาจอยู่ข้างเขา’ ดังนั้น นอกจากการเชื่อมั่นในเวลาว่าอยู่ข้างประชาชนแล้ว มีปฏิบัติการที่ประชาชนต้องร่วมกระทำเพื่อให้เกิดการขยับเขยื้อนให้เกิดขึ้น และอย่าพึงคาดหวังว่าเพียงใครคนใดคนหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง องค์กรใดองค์กรหนึ่ง จะเป็นผู้แบกรับและดำเนินการได้ด้วยตนเองตามลำพัง เครือข่ายชนชั้นนำใหญ่กว่าจะมีวีรบุคคลคนเดียวมาโค่นล้ม

หากปรารถนาถึงความเปลี่ยนแปลงและคาดหวังให้มันสามารถเกิดขึ้นได้ การร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างประชาชนมีความจำเป็น เราแต่ละคนสามารถเลือกช่องทาง วิธีการ ตามที่แต่ละคนจะมีปฏิบัติการได้ตามกำลัง ผมเชื่อว่าเวลาจะอยู่ข้างเราก็ต่อเมื่อเราได้ยืนอยู่เคียงข้างกันไปในเส้นทางนี้เท่านั้น

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save