fbpx

The Zone of Interest (2023) สามัญอำมหิต

การพันธุฆาตครั้งใหญ่ในปี 1941-1945 หรือระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองถูกบันทึกให้เป็นหนึ่งในอาชญากรรมที่เกิดขึ้นโดยน้ำมือมนุษย์ที่รุนแรงและอำมหิตที่สุด เมื่อนาซีเยอรมันมุ่งสนับสนุนและจัดการกำจัดชาวยิวในยุโรปอย่างน้อยหกล้านชีวิต เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือฮอโลคอสต์ (Holocaust) ที่มีปฏิบัติการทางทหารและราชการรองรับอย่างเป็นระบบ ภายหลังเยอรมนีพ่ายแพ้สงคราม เหตุการณ์ฮอโลคอสต์กลายเป็นบทเรียนสำคัญที่มนุษยชาติต้องรู้จักและทำความเข้าใจเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีกครั้ง

หลายคนน่าจะเคยผ่านตาหนังที่ว่าด้วยสงครามโลกครั้งที่สอง รวมทั้งการฮอโลคอสต์มากมาย ทั้ง The Pianist (2002, อัตชีวประวัติของนักเปียโนชาวโปแลนด์-ยิว คว้าออสการ์สามสาขา), Schindler’s List (1993, ดัดแปลงจากชีวิตจริงของนักธุรกิจชาวเยอรมันกับความสัมพันธ์ระหว่างเขากับคนงานชาวยิว หนังคว้ารางวัลออสการ์เจ็ดสาขา) หรือที่เล่าเหตุการณ์หลังการโศกนาฏกรรมอย่าง Ida (2013, ว่าด้วยการออกเดินทางค้นหาตัวตนของหญิงสาวที่พ่อแม่ถูกสังหารในค่ายกักกัน)

กระนั้น เราก็คงพบว่ามีหนังไม่กี่เรื่องที่เล่าเหตุการณ์อาชญากรรมครั้งนั้นผ่านชีวิตและสายตาของนาซีเยอรมัน เนื่องจากเงื่อนไขใหญ่ที่อาจจะนับว่าเป็นความท้าทายของคนทำหนัง นั่นคือการบอกเล่า ‘ชีวิต’ ของผู้คนเหล่านี้อย่างไรโดยไม่ให้มันกลายเป็นการสร้างพื้นที่ให้เกิดการทำซ้ำหรือสร้างความเข้าอกเข้าใจอาชญากรต่อคนดู จะใกล้เคียงอยู่บ้างก็ Der Untergang (2004) ว่าด้วยโมงยามสุดท้ายของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซี เพียงแต่หนังก็ตั้งท่าและระมัดระวังตัวอย่างยิ่งที่จะไม่พาคนดูไปใกล้ชิดหรือเห็นใจฮิตเลอร์ ทั้งยังถ่ายทอดความหวาดหวั่นเจียนคลั่งของเขาจนฟือห์เรอร์ดูน่าสมเพช

ด้วยเหตุทั้งปวงที่กล่าวมานี้ The Zone of Interest (2023) หนังร่วมทุนสร้างสามสัญชาติ (สหรัฐอเมริกา-สหราชอาณาจักร-โปแลนด์) ของคนทำหนังชาวอังกฤษ โจนาธาน กลาเซอร์ จึงเป็นหนังว่าด้วยการฮอโลคอสต์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะมันพูดถึงวันคืนอันแสนสามัญของเหล่านาซีท่ามกลางโมงยามของการสังหารหมู่ชาวยิว ตัวหนังดัดแปลงมาจากงานเขียนชื่อเดียวกันเมื่อปี 2014 ของ มาร์ติน เอมิส อย่างหลวมๆ โดยเล่าถึงครอบครัวของ รูดอล์ฟ ฮอสส์ (Rudolf Höss) ผู้บังคับการค่ายกักกันเอาช์วิตซ์ที่มีตัวตนอยู่จริงและเป็นหนึ่งในนาซีที่ทำงานให้ค่ายกักกันยาวนานที่สุด โดยเขาอยู่กับ เฮ็ดวิก เฮนเซล (Hedwig Hensel) ภรรยากับลูกอีกห้าคนในบ้านหลังน้อยที่ปลูกติดอยู่กับค่ายมรณะ มีเพียงกำแพงสูงทะมึนคั่นกลางระหว่างวิมานของพวกเขากับนรกของชาวยิวเท่านั้น

กลาเซอร์เปิดเรื่องด้วยภาพสีดำสนิท แล้วจึงเป็นฟุตเตจของครอบครัวชาวเยอรมันพักผ่อนอยู่ริมลำธารในป่า เฮ็ดวิก ผู้เป็นแม่กับลูกๆ เตรียมของขวัญวันเกิดไว้ให้พ่อซึ่งเป็นผู้บัญชาการนาซี พวกเขาอวยพรให้กันและกันอยู่กลางสวน แดดแจ่มจ้า รายล้อมด้วยทุ่งดอกไม้สีสดใสและหญ้าเขียวชอุ่มที่แม่เป็นผู้ปลูก ทว่า หากทอดสายตาออกไป เบื้องหลังที่อยู่แนบชิดกับกำแพงสีเทาคือค่ายกักกันและชาวยิวนับล้านชีวิตที่ถูกกักขังทรมานอยู่ด้านใน แต่คนดูไม่เคยได้เห็นใบหน้าของชาวยิวเหล่านี้ สิ่งที่บอกเล่าเรื่องราวของชาวยิวคือเสียงปืนและเสียงกรีดร้องระงมที่ดังลอดผ่านกำแพงเข้ามาในบ้านฮอสส์เท่านั้น ภาพการใช้ชีวิตอันแสนสามัญ เปี่ยมสุขของคนในบ้านฮอสส์กับเสียงระเบิดของดินปืนกับเสียงโหยหวนจึงชวนให้พะอืดพะอมกึ่งขนลุกขนชันอย่างที่หนังซึ่งฉายภาพความอำมหิตให้เห็นชัดๆ ด้วยตาเนื้อหลายเรื่องยังทำไม่ได้

เรื่องราวของชาวยิวเหล่านี้ยังอยู่ในกระสอบที่เฮ็ดวิกหอบเข้ามาแล้วเทลงบนโต๊ะ ชักชวนให้คนรับใช้หยิบเอาเสื้อผ้ามือสองที่ถูกใจกลับไปคนละตัว ส่วนตัวเองนั้นเข้าไปในห้อง ชื่นชมโค้ตตัวงามที่เจ้าของตัวจริงคงอยู่ในค่ายห่างจากเธอไปไม่กี่ตารางเมตร -หรือไม่ก็อาจตายจากไปแล้ว- เฮ็ดวิกหยิบเอาลิปสติกที่ค้างอยู่ในกระเป๋าเสื้อโค้ตออกมาลองทาบนริมฝีปาก สีหน้าของเธอเรียบเฉยคล้ายคนทั่วไปที่ทดลองเครื่องสำอางในห้างสรรพสินค้า ผิดก็แต่ว่าเจ้าของลิปสติกที่เธอได้มานั้นอาจถูกส่งไปสู่ความตายด้วยความผิดฐานที่ว่าเกิดมาเป็นชาวยิว และเมื่อความรู้สึกเลวร้ายจนชวนมวนท้องก่อขึ้นในตัวคนดู กลับถูกบอกเล่าด้วยท่าทีแสนสามัญเช่นนี้ ยิ่งทำให้เห็นความ ‘ผิดปกติ’ อันชวนสะอิดสะเอียนในเนื้อตัวนาซีเยอรมัน และมันยังอยู่ในบทสนทนารายวันของพวกเขาราวกับพูดคุยเรื่องดินฟ้าอากาศ หนังไล่ตามดูเฮ็ดวิกประคบประหงมทำสวนหย่อมเล็กๆ ของเธอกับเสียงปืนที่แผดขึ้นเป็นจังหวะ ภาพของชีวิตที่งอกงาม ออกดอกออกผลถูกบอกเล่าเป็นเนื้อเดียวกันกับเสียงแห่งความตายที่ดังขึ้นสม่ำเสมอตลอดทั้งเรื่อง หรือแม้แต่ธรรมชาติอันสุขสงบริมลำธารที่ครอบครัวฮอสส์ชวนกันไปพักผ่อน ก็กลายเป็นธารขี้เถ้าที่รูดอล์ฟต้องกระวีกระวาดเอาลูกๆ ขึ้นจากน้ำเพราะกลัวว่าลูกจะโดนพิษที่ใช้ในค่ายมรณะไปด้วย หากแต่แทนที่ฉากเหล่านี้จะทำให้เรารู้สึกว่าเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความกลัวและห่วงใยลูก กลับยิ่งขับเน้นความรู้สึกน่ารังเกียจของการมองข้ามเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่อยู่อีกด้านหนึ่งของกำแพง ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้จึงชวนให้กระอักกระอ่วนเหลือเกิน

และดังที่กล่าวไปแล้วว่าการทำหนังที่เล่าผ่านสายตานาซีหรืออาชญากรสงครามนั้นสุ่มเสี่ยงที่จะ ‘เปิดช่อง’ หรือทำให้หนังถูกอ่านว่าเป็นพื้นที่ของความเข้าอกเข้าใจผู้กระทำในอดีต เพราะเรื่องเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ Kapò (1960) หนังที่เป็นตัวแทนประเทศอิตาลีเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมของปีนั้น เล่าถึงชาวยิวที่ดิ้นรนเอาตัวรอดจากค่ายกักกัน กับฉากอันอื้อฉาวเมื่อตัวละครหนึ่งวิ่งเข้าไปให้รั้วไฟฟ้าช็อตเสียชีวิตซึ่งถูกบอกเล่าอย่างสวยงามหมดจดตามกฎการจัดวางองค์ประกอบภาพ ข้อหาที่หนังเรื่องนี้เผชิญคือการบอกเล่าโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นด้วย aesthetic อันสวยงามของโลกภาพยนตร์ เหตุใดการตายของเหยื่อสงครามซึ่งเป็นเรื่องแสนสาหัสและนับเป็นบาดแผลใหญ่ของมนุษยชาติ จึงถูกถ่ายทอดให้เห็นเป็น ‘ความงาม’ เหนือจริงราวกับมุ่งเป้าเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ทางความสวยงามของภาพยนตร์จนมองข้ามความเจ็บปวดของบุคคล

ในทางกลับกัน The Zone of Interest ตั้งใจเว้นระยะระหว่างผู้ชมกับตัวละครด้วยระยะภาพ ตลอดทั้งเรื่อง คนดูเฝ้ามองตัวละครใช้ชีวิตจากระยะไกลเสมอ เราไม่ได้สนิทชิดเชื้อใดๆ ไม่รู้จักเนื้อตัวพวกเขา ทั้งกลาเซอร์ยังสร้างบ้านฮอสส์ขึ้นมาใหม่ (อิงจากบ้านหลังเดิมตามประวัติศาสตร์) ที่ตัวละครเดินย่ำไปย่ำมาตลอดทั้งเรื่อง แต่ไม่เคยสร้างความรู้สึกว่าคนดู ‘อยู่ร่วม’ บ้านหลังเดียวกันกับพวกเขา เพราะกลาเซอร์หลีกเลี่ยงการสำรวจบ้านทั้งหลังในคราวเดียว คนดูเพียงแต่ได้รับอนุญาตให้เห็นบางส่วนของบ้านและเป็นมุมเดิมๆ เท่านั้น เช่น โถงแคบข้างบันได, ห้องอาหาร มุมกล้องแทบไม่เขยื้อนไปจากฉากก่อนๆ คล้ายว่าคนดูเพียงแค่เฝ้ามองผู้คนเหล่านี้จากระยะไกลแสนไกลโดยแทบไม่มีความรู้สึกใดร่วมด้วย (กลาเซอร์บอกว่า “ผมพูดอยู่เสมอว่ามันคือ ‘บิ๊กบราเธอร์ในบ้านนาซี’ เราไม่ได้ทำแบบรายการเรียลลิตี้นั่นจริงๆ หรอก แต่มันให้ความรู้สึกว่า ‘มาดูพวกคนเหล่านี้ใช้ชีวิตประจำวันของเขากันเถอะ’ ผมอยากจับบรรยากาศขัดแย้งระหว่างการที่ใครสักคนค่อยๆ รินกาแฟอยู่ในครัว ขณะที่ใครอีกคนถูกสังหารอยู่อีกด้านของกำแพง สองเรื่องนี้มันเกิดขึ้นพร้อมกันและขัดแย้งกันรุนแรงเหลือเกิน”)

นอกจากนี้ แม้เฮ็ดวิกจะหมกมุ่นกับการได้ใช้ชีวิตในบ้านในฝันของตัวเองแค่ไหน แต่หนังก็ไม่ได้ทำให้คนดูรู้สึกว่าบ้านของตระกูลฮอสส์นั้นน่าอยู่แต่อย่างใด ด้านหนึ่งก็ต้องยกประโยชน์ให้การจัดวางองค์ประกอบฉากอันแสนแม่นยำ กล้องตั้งนิ่งเฝ้ามองผู้คนเคลื่อนไหวผ่านตา คนดูเห็นเพียงความแข็งกระด้างและอึดอัดภายในบ้าน บานประตูไล่งับปิดตามหลังตัวละครที่เดินข้ามไปข้ามมาทุกห้อง ซึ่งหากกลาเซอร์ใช้วิธีลากเลื้อยกล้องตามตัวละครก็คงยังผลให้คนดูรู้สึกว่าบ้านกว้าง น่าอยู่และมีพื้นที่ให้หายใจมากกว่าที่เป็น แต่การที่เขาเลือกวางกล้องไว้ในมุมเดิมๆ เฝ้ามองตัวละครใช้ชีวิตจากมุมเดิมๆ มันก็ก่อให้เกิดมวลความแห้งแล้งตายซากราวกับพวกเขาเดินกันอยู่ในคุกก็ไม่ปาน

หนังไม่ได้เล่าความสัมพันธ์ในบ้านฮอสส์โดยตรงนัก แต่มองจากภาพรวมและบทสนทนาที่เฮ็ดวิกมีต่อรูดอล์ฟ ก็น่าจะพออนุมานได้ถึงความหมกมุ่นจะเป็น ‘ครอบครัวที่ดี’ ในแบบที่พรรคนาซีเยอรมันระบุไว้ หรือคือเป็นครอบครัวเดี่ยวที่มีพ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกัน ทุกคนล้วนผิวขาว ผมบลอนด์ตามลักษณะอารยันซึ่งพรรคกำหนดไว้ ตามนิยามของฮิตเลอร์ ชีวิตผู้หญิงในอุดมคตินั้นต้องประกอบด้วยสาม Ks ได้แก่ Kinder, Küche, Kirche หรือคือ เด็ก, ครัวและโบสถ์ เนื่องจากเขาเชื่อว่าผู้หญิงที่ดีควรอยู่บ้านดูแลครอบครัวและมีบุตรหลานเพื่อสืบเชื้อสายอารยัน การที่รูดอล์ฟได้รับคำสั่งย้ายไปประจำการที่อื่นจึงทำให้เขามีปากเสียงกับเฮ็ดวิกเป็นครั้งแรก (หรืออย่างน้อยก็ต่อหน้าคนดูเป็นครั้งแรก) เพราะเธอไม่ปรารถนาจะจากบ้านอันเป็นเสมือนวิมานในฝันของเธอ สำหรับเธอแล้ว การที่รูดอล์ฟต้องห่างไกลจากเธอนั้นยังเป็นเรื่องที่รับได้มากกว่าการต้องทิ้งบ้านแห่งนี้ที่เธอเฝ้าดูแลและทำสวนอย่างดีไป (เพราะอีกด้าน มันก็แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าและเป็นสัญลักษณ์การทำงานหนักตามแบบนาซีที่ดีของรูดอล์ฟด้วย)

อีกด้านหนึ่ง รูดอล์ฟก็เผยให้เห็นความหมกมุ่นต่อเลือดอารยันของเขาผ่านฉากที่เขาเรียกเด็กสาวท้องถิ่นผมสีน้ำตาลเข้ามาในห้อง และเนิ่นนานหลังจากนั้น หนังตัดกลับมาฉายให้เห็นฉากที่เขาทำความสะอาดเรือนกายอย่างขมีขมัน ราวกับการร่วมรักต่อผู้อื่นที่ไม่ได้มีลักษณะตรงตามที่ฟือห์เรอร์กำหนดนั้นถือเป็นเรื่องไม่ควร

รูดอล์ฟถูกย้ายไปประจำการในเมืองอื่น หนังฉายให้เห็นการประชุมของเหล่าผู้บัญชาการทหารของหน่วยต่างๆ ของพรรคนาซี ที่ผ่านมา แม้จะมีหนังบางเรื่องที่ถ่ายทอดเรื่องราวและชีวิตของทหารนาซีอยู่บ้าง แต่ก็แทบไม่มีเรื่องไหนพาไปสำรวจเนื้อหาที่พวกเขาพูดคุยกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง และการได้ฟังพวกเขาเสนอประเด็นประชุม แลกเปลี่ยนความเห็นดุเดือดต่อการหาทางสังหารหมู่ชาวยิวจากฮังการีนับแสน ก็แทบจะเป็นฝันร้ายของคนดูหนังโดยไม่จำเป็นต้องมีภาพความอำมหิตฉายตรงหน้า กล่าวคือบทสนทนาเหล่านั้นมุ่งหา ‘ระบบ’ รองรับการสังหารครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง พวกเขาเฝ้ามองมันด้วยสายตาเคร่งเครียดและเอาจริงเอาจัง ครุ่นคิดหาทางพันธุฆาตคนกลุ่มหนึ่งให้หายไปจากประวัติศาสตร์โลก และความเป็นระบบนี้เองที่ชวนน่าขนลุกอย่างที่สุด เพราะมันคือรูปธรรมของความไร้มนุษยธรรมอย่างที่สุด เป็นดังที่ ฮันนาห์ อาเรนต์ (Hannah Arendt) นักปรัชญาและนักทฤษฎีการเมืองชาวเยอรมันเชื้อสายยิว เคยสำรวจไว้ว่าเหตุผลที่นาซีกระทำการอันเลวทรามต่ำช้าได้นั้น เป็นเพราะการสร้างระบบขึ้นมาอย่างแข็งแกร่งเสียจนทำให้คนในลำดับชั้นลงมือปฏิบัติโดยปราศจากความคิดขัดแย้งใดๆ

พ้นไปจากนี้ กลาเซอร์ยังท้าทายผัสสะสัมผัสของคนดูด้วยงานภาพและเสียงอันตราตรึง อันจะว่าไปแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ดูเป็นจุดเด่นในงานชิ้นก่อนๆ ของเขา โดยเฉพาะจาก Under the Skin (2013) ที่เสียงดนตรีประกอบและงานภาพ -อย่างฉากที่ผู้ชายถูก ‘ดูดกิน’ นั้น- ถูกยกย่องให้เห็นหนึ่งใน ‘ความหลอน’ ของเรื่องราวอันว่าด้วยสิ่งมีชีวิตจากนอกโลกและความอำมหิตของมนุษย์ และเรายังได้เห็นองค์ประกอบเหล่านี้จาก The Zone of Interest อยู่ ทั้งเสียงกึกก้องโหยหวนและงานภาพที่เล่นกับสีพื้นอย่างสีดำและแดงฉาน ตลอดจนภาพอินฟาเรดที่เล่าถึงเด็กหญิงชาวโปแลนด์และแอปเปิ้ลของเธอ ทั้งเสียงและภาพเหล่านี้ทำหน้าที่เขย่าเนื้อตัวคนดูทุกครั้งที่เราเหม่อมองดอกไม้หรือหญ้าเขียวในสนามของบ้านฮอสส์

องก์ท้ายของเรื่อง รูดอล์ฟมีอาการป่วยกระเสาะกระแสะ ยากจะบอกว่าเขาป่วยเป็นอะไรแน่ -แต่ก็เป็นไปได้ว่าเขาอาจได้รับสารพิษจากการอยู่ใกล้ค่ายมรณะไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรืออาจเป็นภาพแทนของความบิดเบี้ยวในฐานะมนุษย์ที่ชวนขย้อนออก- กล้องเฝ้ามองดูเขาเดินพะอืดพะอมไปตามโถงทางเดิน เงาดำมืดทาบทับเป็นฉากหลัง และมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่เขามองตรงมายังคนดูซึ่งหนังตัดสลับไปสู่เอาช์วิตซ์ในช่วงเวลาปัจจุบัน ที่ร่องรอยของการสังหารและทำลายล้างถูกนำเสนออยู่ในตู้กระจก รองเท้าของเด็กชาวยิวไม่มีชื่อ เสื้อผ้านักโทษที่ถูกคุมขังและฆ่าทิ้ง ก็กลายเป็นอีกฉากที่สั่นสะเทือนคนดูถึงปลายทางของค่ายมรณะและอาชญากรรมดังกล่าว ก่อนที่หนังจะตัดกลับไปยังชีวิตของรูดอล์ฟที่ค่อยๆ เดินลงบันได หายลับไปจากสายตา

ทั้งนี้ หลังสงครามสิ้นสุดลง ตัวรูดอล์ฟ ฮอสส์ ถูกตัดสินให้ประหารชีวิตโดยการแขวนคอในปี 1947 จากการตัดสินของศาลสูงสุดแห่งโปแลนด์ (Polish Supreme National Tribunal) ส่วนเฮ็ดวิกแต่งงานใหม่และย้ายออกไปใช้ชีวิตในสหรัฐฯ และเสียชีวิตเมื่อปี 1989 ในวัย 81 ปี

ล่าสุด ตัวหนังคว้ารางวัลออสการ์สาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม กลาเซอร์ขึ้นกล่าวรับรางวัลบนเวทีและมีใจความตอนหนึ่งว่า “หนังได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเมื่อเราลดทอนความเป็นมนุษย์ต่อกันนั้น ก็มีแต่จะนำพาพวกเราไปยังความเลวร้าย และในเวลานี้ เราได้ยืนหยัดในฐานะคนผู้ปฏิเสธความเป็นยิวของตัวเอง เมื่อการฮอโลคอสต์ถูกช่วงชิงความหมายไปจนยังผลให้เกิดความขัดแย้งต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ในวันที่ 7 ตุลาคมที่อิสราเอล หรือคนที่ถูกโจมตีที่กาซ่าในเวลานี้ก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นเหยื่อของการถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ทั้งสิ้น”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save