fbpx

ฮันนาห์ อาเรนต์: เมื่ออำนาจนิยมเปิดทางให้เจ้าหน้าที่รัฐ ‘ฆ่า’ ในสภาวะไร้คิด

หลายต่อหลายครั้ง ท่ามกลางบรรยากาศคุกรุ่นของการเมืองไทยที่รัฐเน้นการปราบปรามผู้เห็นต่างด้วยความรุนแรง -ทั้งในเชิงกายภาพอย่างการใช้กำลังทุบตี และในเชิงการบังคับใช้กฎหมายที่มีบทลงโทษหนักหนาในหลายๆ มิติ- เรามักตั้งคำถามว่าอะไรทำให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้พร้อมสร้างความรุนแรงต่อประชาชน หรือเมื่อถูกถามจี้ถึงเหตุผลที่ต้องใช้กำลัง เงื่อนไขใดที่ทำให้คำตอบเหล่านั้นมักหยุดอยู่แค่ “นายสั่งมา”

ถอยกลับไปเจ็ดทศวรรษก่อนหน้า ฮันนาห์ อาเรนต์ นักปรัชญาและนักทฤษฎีการเมืองชาวเยอรมันเชื้อสายยิว ก็เคยตั้งคำถามนี้เช่นกัน ภายใต้บริบทที่สงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งสงบลง เยอรมนีเป็นผู้พ่ายแพ้สงคราม และเจ้าหน้าที่นาซีถูกนำตัวขึ้นศาลมาไต่สวนมูลความผิดฐานมีส่วนร่วมในการสังหารหมู่ชาวยิวกว่าหกล้านชีวิต -นับเป็นหนึ่งในอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

คำถามของเธอคือ อะไรทำให้เจ้าหน้าที่นาซีสามารถลงมือ ‘พา’ ชาวยิวไปสู่มาตรการจัดการขั้นสุดท้าย (final solution) ผ่านทั้งระบบ นับตั้งแต่ผู้บังคับบัญชาไปจนถึงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่พาชาวยิวขึ้นสู่รถไฟไปยังปลายทาง ด้วยความรู้สึกว่าพวกเขาล้วนทำตามกฎหมายและคำสั่งแต่เพียงอย่างเดียว

กิจกรรม Cinema Lecture โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย จัดฉาย Hannah Arendt (2012) ภาพยนตร์ร่วมทุนสร้างสี่สัญชาติ (เยอรมนี-ลักเซมเบิร์ก-ฝรั่งเศส-อิสราเอล) กำกับโดย มาร์กาเรต ฟอน ทรอตตา คนทำหนังหญิงจากกลุ่ม New German Cinema โดยภายหลังจากฉายหนังจบ ได้มีกิจกรรมบรรยายจาก ผศ.ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เล่าถึงวิธีคิดที่อาเรนต์มีต่อ ‘ระบบ’ ที่นาซีเยอรมันสร้างขึ้นมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ทั้งนี้ ตัวหนังจับจ้องไปยังช่วงเวลาหลังสงครามโลกสิ้นสุดลง อาเรนต์ (ในหนังรับบทโดยนักแสดงคู่บุญของฟอน ทรอตตาอย่าง บาร์บารา ซูโกวา) ลี้ภัยไปอยู่สหรัฐอเมริกา เธอได้ข่าวว่าที่เมืองเยรูซาเล็ม, อิสราเอลกำลังจะนำตัว อดอล์ฟ ไอช์มันน์ เจ้าหน้าที่ระดับผู้บังคับบัญชาของนาซีมาไต่สวนกรณีที่ไอช์มันน์เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งมาตรการฆ่าชาวยิวในสงคราม เธอจึงเดินทางไปเพื่อร่วมสังเกตการณ์การไต่สวนรวมทั้งติดต่อนิตยสาร The New Yorker เพื่อขอตีพิมพ์บทความที่ว่าด้วยการ ‘พิจารณาคดีเจ้าหน้าที่นาซี’

และระหว่างการนั่งฟังการพิจารณาคดีนี่เองที่อาเรนต์มองเห็นบางสิ่งที่ผิดคาดไปจากสิ่งที่เธอคิด มีฉากหนึ่งที่เธอเปรยออกมาว่า “ไอช์มันน์ไม่เหมือนที่ฉันวาดภาพไว้เลย เขาดูธรรมดาอย่างเหลือเชื่อ” อันเป็นเหตุให้เธอเขียนบทความซึ่งยังผลให้เธอถูก ‘ทัวร์ลง’ ระดับมหากาพย์ เพราะอาเรนต์ชี้ว่า แม้สิ่งที่ไอช์มันน์จะทำนั้นเลวร้ายและให้อภัยไม่ได้ แต่มันก็ไม่ได้เป็นความเลวร้ายที่มาจากเหตุผลที่ว่าไอช์มันน์นั้นเป็น ‘คนเลว’ หรือเป็นปีศาจซาตานอย่างที่หลายคนคิดวาดภาพไว้ เขาเป็นเพียงคนธรรมดาสามัญ ซึ่งกระทำการอำมหิตได้เพราะ ‘ระบบของรัฐ’ เอื้อให้เขาทำเช่นนั้นได้ (ในเวลาต่อมา บทความของเธอถูกรวบรวมตีพิมพ์เป็นรูปเล่มในชื่อ Eichmann in Jerusalem: A Report on the Banality of Evil ปี 1963)

หนังใส่ฟุตเตจการพิจารณาคดีของไอช์มันน์ตัวจริง เรา (และเช่นเดียวกับอาเรนต์ในเวลานั้น) จึงได้เห็นท่าทีของอดีตเจ้าหน้าที่นาซีระหว่างการไต่สวน ตัวไอช์มันน์นั่งในห้องกระจกที่คั่นระหว่างเขากับผู้พิพากษาและชาวยิวที่เข้ามาร่วมรับฟังการพิจารณาคดี และพบว่านอกเหนือไปจากความ ‘สามัญอันดาษดื่น’ ของไอช์มันน์ในห้องพิจารณาคดีนั้น เรายังได้เห็นความนิ่งเฉยของเขาทั้งต่อผู้พิพากษาและต่อสิ่งที่ตัวเขาทำลงไป โดยเขาตอบทุกคำถามสั้นๆ เพียงว่า เขาทำทุกอย่างไปเพราะ “มันเป็นคำสั่ง และเป็นกฎที่ไม่อาจขัดขืนได้” และนี่เองที่จุดประกายให้อาเรนต์เขียนบทความยาวเหยียดซึ่งทำให้เธอถูกคว่ำบาตรจากเพื่อนนักวิชาการด้วยกัน รวมถึงได้รับจดหมายมาดร้ายจากทั่วทุกสารทิศ

ฮันนาห์ อาเรนต์ (ที่มาภาพ)

ภายหลังจากที่ภาพยนตร์จบลง เกษมเสริมบริบทที่หนังไม่ได้ระบุไว้คือ สถานที่พิจารณาคดีนั้นไม่ได้เกิดขึ้นที่ศาล (ดังเช่นคดีอื่นๆ อีกหลายคดี) แต่เกิดขึ้นที่โรงละครสร้างใหม่ในกรุงเยรูซาเล็มเพื่อแสดงให้เห็นถึงความยุติธรรมที่ชาวยิวกำลังจะได้รับกลับมา และในอีกด้านหนึ่ง -รวมทั้งตัวไอช์มันน์ที่นั่งในห้องกระจก- มันยังทำให้เห็นภาพของการ ‘ดู’ การพิพากษาด้วย

“คนมักมองว่าไอช์มันน์นั้นต้องเป็นคนเลวทราม เป็นปีศาจซาตาน แต่อันที่จริงแล้วคณะผู้พิพากษาไม่อาจตัดสินลงโทษเขาได้จากการพิพากษารอบแรกด้วยซ้ำไป เพราะไอช์มันน์ยืนกรานอย่างหนักแน่นว่าเขาเพียงแต่ทำตามคำสั่งของรัฐ ตัวเขาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เขาจึงต้องทำตามระบบ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือสายบังคับบัญชาก็ต้องทำตามกฎ” เกษมอธิบาย และด้วยท่าทีการให้เหตุผลเช่นนี้ของไอช์มันน์ อาเรนต์จึงนึกถึงแนวคิด Rule by Nobody อันเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ในระบบราชการไม่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองก่อ

“ดังนั้น นี่จึงเป็นหน้าที่ ไม่ใช่เรื่องของความดีความชั่ว ตัวไอช์มันน์จึงเชื่อว่าการทำตามคำสั่งนั้นไม่มีความผิด เพราะเมื่อคำสั่งนั้นเป็นกฎหมาย เขาจึงมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตาม อันจะเห็นได้จากปฏิกิริยาของเขาที่ไม่รู้สึกรู้สาต่อสิ่งที่ตนได้กระทำลงไป แม้ว่าสุดท้ายแล้วเขาจะถูกศาลพิพากษาด้วยเหตุผลว่ากระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และลงเอยด้วยการถูกแขวนคอบนเรือ เพื่อที่ว่าเลือดของเขาจะไม่ไปแปดเปื้อนบนแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์”

กล่าวสำหรับตัวอาเรนต์ เกษมให้ภาพว่าเธอเป็นนักศึกษาของ แมร์ติน ไฮเด็กเกอร์ นักปรัชญาชาวเยอรมันซึ่งในเวลาต่อมาทั้งสองได้คบหาดูใจกันอย่างเปิดเผย (และตัวหนังเองก็ชี้ชัดเรื่องนี้) ตัวไฮเด็กเกอร์นั้นเป็นหนึ่งในนักปรัชญาที่สำคัญมากคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20 สิ่งที่ดึงดูดให้คนอยากมาเรียนกับเขาคือคำถามในเชิงปรัชญาที่ว่าด้วยการดำรงอยู่และการครุ่นคิด “ตัวไฮเด็กเกอร์เห็นว่า being หรือ thinking นั้นไม่เท่ากับ thoughts โดยทั้งอาเรนต์และไฮเด็กเกอร์นั้นนิยามว่า ความคิดคือการที่มนุษย์สนทนากับตัวเอง ซึ่งอาจไม่นำไปสู่คำตอบในเชิงรูปธรรม แต่อย่างน้อยกิจกรรมนี้ก็ทำให้เส้นทางของความคิดกระจ่างขึ้น” เกษมอธิบาย และว่า object ของการคิดนี้คือตัวเราเอง การครุ่นคิดบางสิ่ง (thinking about something) คือกิจกรรมการคิดในการพยายามจะคลี่คลายบางอย่างภายใต้การสนทนากับตัวเอง ซึ่งแม้ไม่อาจได้คำตอบแต่ก็ทำให้เราเห็นกระบวนการบางอย่างระหว่างการคิดนั้น

อดอล์ฟ ไอช์มันน์ ระหว่างการพิจารณาคดี (ที่มาภาพ)

เกษมอธิบายว่าความสัมพันธ์ระหว่างอาเรนต์กับไฮเด็กเกอร์นั้นมาถึงจุดเปราะบางภายหลังจากไฮเด็กเกอร์ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิการมหาวิทยาลัยไฟร์แบร์กในเดือนเมษายน 1933 และกล่าวสนับสนุนพรรคนาซีในสุนทรพจน์ซึ่งทำให้ลูกศิษย์ -รวมทั้งอาเรนต์- หมดความศรัทธาต่อเขา (อย่างไรก็ตาม สิบวันหลังจากได้รับตำแหน่ง ไฮเด็กเกอร์ก็เข้าร่วมพรรคนาซีอย่างเป็นทางการ) เพราะช่วงเวลาที่นาซีเรืองอำนาจนั้น ชาวยิวหลายคนเริ่มอพยพออกจากเยอรมนี รวมทั้งตัวอาเรนต์เองที่ออกเดินทางไปฝรั่งเศส (และมีประสบการณ์ติดอยู่ในค่ายกักกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่เลวร้ายมากของเธอ) และได้รับวีซ่าให้เข้ามาอยู่ในสหรัฐฯ หลังจากนั้นไม่นาน

อย่างไรก็ดี เกษมชี้ว่า 17 ปีที่อาเรนต์ใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกา เธออยู่ในสถานะคนไร้รัฐและปฏิเสธที่จะเรียกตัวเองว่า refugee เพราะอาเรนต์มองว่าการอพยพครั้งนี้ของเธอนั้นไม่ได้มาจากความปรารถนาของเธอ หากแต่เกิดจากการบีบเค้นของรัฐโดยเธอไม่พร้อมใจ “อาเรนต์ชี้ว่า สถานะเป็นคนไร้รัฐของเธอนั้นเกิดขึ้นจากความล้มเหลวของรัฐ กล่าวคือเมื่อรัฐไร้ศักยภาพในการคุ้มครองประชาชนของตน จนประชาชนถูกผลักให้กลายเป็นคนไร้รัฐในที่สุด” เกษมกล่าว (ทั้งนี้ อาเรนต์เขียนหนังสือ The Human Condition ตีพิมพ์ในปี 1958 เพื่อชี้ให้เห็นว่าไฮเด็กเกอร์นั้น ‘ไร้เดียงสา’ หรือ naive มากเพียงไร โดยเธอระบุว่าการสนับสนุนนาซีนั้นไม่ใช่แค่เรื่องทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังมีระบบทางปรัชญาด้วย และการกล่าวสุนทรพจน์สนับสนุนนาซีของไฮเด็กเกอร์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าในเวลานั้น เขาสายตาสั้นเกินกว่าจะเข้าใจว่าจุดยืนของตนมีส่วนในการผลักดัน หนุนหลังนาซีอย่างไรบ้าง)

ปกนิตยสาร The New Yorker ฉบับที่ตีพิมพ์บทความของอาเรนต์

“ข้อเขียนของอาเรนต์ที่ตีพิมพ์ลงใน The New Yorker ทำให้เธอถูกโจมตีอย่างหนัก ทั้งได้รับบัตรสนเท่ห์หรือถูกเรียกว่าฮันนาห์ ไอช์มันน์ ทั้งที่เธอเพียงแค่พยายามทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น” เกษมกล่าว “และข้อเขียนของเธอก็แตกต่างจากสิ่งที่สังคมคิด นั่นคือหลายคนมองว่า สิ่งที่ไอช์มันน์ทำนั้นเป็นสิ่งผิด ไอช์มันน์เองก็ควรจะแยกความดีความชั่ว ความถูกต้องและความผิดได้ ดังนั้น หลายคนจึงมี prejudgment ต่อกรณีเช่นนี้ไปแล้ว และดูเหมือนว่าคนที่อ่านบทความที่ตีพิมพ์ลงนิตยสารเองก็ค้องการทราบ prejudgment ของอาเรนต์เช่นกัน

“เพียงแต่บทความนั้นของอาเรนต์กลับมุ่งตั้งคำถามว่า เหตุใดคนธรรมดาจึงสามารถก่ออาชญากรรมที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้นได้ ทำไมจึงไม่รู้สึกผิดต่อสิ่งที่พวกเขาทำลงไป ไม่รู้สึกรู้สาว่ากระบวนการ final solution ของนาซีนั้นเป็นความชั่วช้าอย่างร้ายแรง ทำไมไอช์มันน์จึงไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในมโนสำนึก และถึงที่สุด ฮันนาห์ก็สรุปในบทความนั้นว่า ไอช์มันน์เป็นฆาตกรที่กระทำการต่างๆ ลงไปด้วย ‘ความไร้คิด’ (thoughtlessness) อีกทั้งบางส่วนในบทความของอาเรนต์นั้นยังระบุเงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วย” เกษมกล่าว ก่อนจะจำแนกเงื่อนไขดังกล่าวอันเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้อาเรนต์โดนทัวร์ลงจากผู้อ่านนิตยสาร นั่นคือ

1. กล่าวว่าผู้นำชาวยิวบางส่วนรู้เห็นเป็นใจส่งชาวยิวด้วยกันไปยังค่ายกักกัน และข้อกล่าวหานี้ทำให้กลุ่มปัญญาชนในนิวยอร์กแตกหักกับอาเรนต์ แม้ว่าสิ่งที่อาเรนต์กล่าวนั้นจะเป็นข้อเท็จจริงที่ได้รับการบันทึกไว้อย่างละเอียด (มีภาพฟุตเตจผู้นำชาวยิวกล่าวประเด็นนี้ระหว่างการพิพากษาไอช์มันน์) แต่ชาวยิวจำนวนมากไม่อยาก/ไม่พร้อมรับฟังประเด็นนี้ เนื่องจากทำให้ความผิดของไอช์มันน์ดูเบาบางลง แม้อาเรนต์จะพยายามชี้แจงว่ากรณีเช่นนี้นั้นเกิดขึ้นได้เมื่อผู้นำชาวยิวอยู่ในสภาวะอ่อนแอหรือพยายามต่อรองกับรัฐ

2. การพยายามอธิบายเรื่องความชั่วร้าย (evil) ซึ่งในเวลาต่อมาอาเรนต์ชี้ว่า “ต่อไปนี้ ปัญหาความชั่วร้ายจะกลายเป็นปัญหาทางปรัชญาที่สำคัญมากในศตวรรษที่ 20” เพราะเมื่อคนเราพูดถึงความชั่วร้าย เรามักมี prejudgment ว่าผู้ที่ทำสิ่งเลวร้ายได้นั้นต้องเป็นปีศาจโดยกำเนิดเพราะคนเหล่านี้ไม่สามารถแยกความผิดชอบชั่วดีได้ แต่อาเรนต์พยายามนิยามลักษณะของคำว่าชั่วร้ายหรือ evil เสียใหม่ว่าไม่ใช่ภาวะที่ศีลธรรมบกพร่องหรือเบาบางลง แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับคนธรรมดาที่ได้รับผลกระทบจากระบบอำนาจนิยม ซึ่งสร้าง/ผลิตความชั่วร้ายขึ้นมา อันจะเห็นได้จากบทบาทของไอช์มันน์ที่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของรัฐ (และด้วยข้ออ้างนี้ก็ทำให้ศาลไม่อาจพิพากษาเขาได้ในการพิจารณาคดีรอบแรก) ทั้งนี้ อาเรนต์เขียนถึงประเด็นความชั่วร้ายในหนังสือเล่มสุดท้ายของเธอคือ The Life of the Mind ซึ่งยังเขียนไม่จบ

3. A Report on the Banality of Evil ซึ่งเป็นชื่อสร้อยของหนังสือ Eichmann in Jerusalem เป็นแนวคิดของเรื่องที่ไม่ปรากฏจนกระทั่งถึงหน้าสุดท้ายก่อนถึงบทสรุปของหนังสือ อาเรนต์พยายามจำแนกลักษณะ (characterised) คนอย่างไอช์มันน์ซึ่งไม่รู้สึกรู้สาต่อสิ่งเลวร้ายที่ตนได้ทำ แม้ว่าสิ่งเลวร้ายดังกล่าวนั้นดูจะเป็นสิ่งที่คนสามัญทั่วไปจะแยกแยะ จำแนกได้ว่าเป็นเรื่องไม่ควรก็ตาม โดยเฉพาะการคิดมาตรการ final solution หรือการหาหนทางสังหารชาวยิวจำนวนมากอย่างมีประสิทธิภาพแทนการยิงเป้าซึ่งนำมาสู่การสร้างห้องรมควันในที่สุด

หนังสือ Eichmann in Jerusalem ฉบับตีพิมพ์ปี 1963

“ทั้งนี้ ตัวไอช์มันน์เป็นคนเยอรมันที่อพยพไปออสเตรีย โดยพื้นฐานแล้วเขาเป็นชนชั้นกลางค่อนไปทางล่างที่ชีวิตไม่ได้ประสบความสำเร็จนัก เรียนไม่จบ หางานในเยอรมนีไม่ได้จึงต้องอพยพไปออสเตรียและทำงานเป็นพนักงานขาย จะเห็นได้ว่าเขาเป็นคนสามัญ เป็นมนุษย์เงินเดือนที่ธรรมดามาก” เกษมกล่าว “กระทั่งช่วงที่นาซีเริ่มมีอำนาจ กฎหมายของออสเตรียไม่อนุญาตให้เข้าสังกัดนาซีได้ ไอช์มันน์จึงต้องอพยพกลับมาอยู่ในเยอรมนี และทำงานอย่างขันแข็งให้พรรคจนประสบความสำเร็จในที่สุด และการที่เขาประสบความสำเร็จได้นั้นก็มาจากการปฏิบัติตามคำสั่งให้บรรลุผลได้นี่เอง

“และเมื่อไอช์มันน์ถูกนำตัวมาขึ้นศาล การที่เขาอยู่ในกรงกระจกขณะที่การพิพากษาจัดขึ้นในโรงละครนั้น ก็ทำให้อาเรนต์สามารถพินิจพิเคราะห์ไอช์มันน์ได้ถนัดตา เธอสังเกตท่าทีเฉยเมยและการตอบคำถามด้วยคำตอบซ้ำๆ กันของเขา และสรุปออกมาได้ว่า ความเพิกเฉย ไม่สะทกสะท้านของไอช์มันนั้นเกิดขึ้นจากสภาวะไร้คิด”

เกษมอธิบายว่า ตลอดระยะเวลาการพิจารณาคดีนั้น ไอช์มันน์นั้นทำเพียงสองอย่างคือ กล่าวซ้ำๆ ว่าทำตามหน้าที่โดยไม่พยายามโต้แย้งข้อกล่าวหา และเพิกเฉย ปราศจากการแสดงท่าทีใดๆ ซึ่งทำให้อาเรนต์เห็นว่า การคิดเป็นเรื่องสำคัญมากในกระบวนการนี้ เมื่อการคิดคือการสนทนากับตัวเอง และการจะคิดได้นั้นก็ต้องอาศัยความสามารถในการสื่อสารต่อตัวเรา และคนอื่นในตัวเรา (หรือเสียงที่เราได้ยินในตัวเอง) แต่ไอช์มันน์ไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย เขาทำได้แค่พูดซ้ำๆ ว่าทำตามคำสั่งโดยปราศจากการไตร่ตรองคำตอบหรือข้อกล่าวหา

“และในเมื่อไอช์มันน์ไม่อาจสื่อสารกับคนอื่นได้ เขาก็รับฟังคนอื่นไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่อาจคิดถึงตัวตนของผู้อื่นได้ จึงนำไปสู่กระบวนการไร้คิด” เกษมกล่าว “ท่าทีของไอช์มันน์นั้นแสดงถึงความไม่รู้สึกรู้สาต่อความตายที่เกิดขึ้นตรงหน้า การออกคำสั่งให้คนไปตายโดนไม่รู้สึกถึงสิ่งเลวร้ายต่างๆ นั้นชี้ว่าเขาไม่อาจแยกแยะความถูกต้องหรือความผิดใดได้ อย่างไรก็ตาม ไอช์มันน์ไม่ได้เป็นคนป่าเถื่อน แต่เป็นคนธรรมดาที่กระทำการไปโดยไร้คิด จนไม่อาจเข้าใจได้ว่าการกระทำของตนนั้นผิด อาเรนต์จึงชี้ว่า ความชั่วร้ายหรือ evil จึงไม่ได้มีนัยเฉพาะแค่การกระทำของไอช์มันน์ แต่ยังรวมไปถึงเจตนารมณ์ของการกระทำนั้นๆ ด้วย”

และดังที่เรารู้กันดีว่าถึงที่สุด ผู้พิพากษาก็ตัดสินให้ไอช์มันน์มีความผิดในฐานะผู้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งอาเรนต์พินิจพิเคราะห์กรณีนี้ว่า

1. แทนที่ระบบตุลาการจะมุ่งนำเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษเพียงอย่างเดียว (เช่น การลงโทษไอช์มันน์และนาซีคนอื่นๆ) อาเรนต์คิดว่ากระบวนการไต่สวนทั้งหมดนั้นต้องพิจารณาจาก ‘ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสังหารหมู่อย่างเป็นระบบตามขั้นตอน โดยกลไกของรัฐ’ หรือคืออำนาจรัฐกับระบบของรัฐที่สร้างอาชญากรรมขึ้นมาให้คนกล้าลงมือกระทำความร้ายแรงได้

2. ฉากจบของหนังที่อาเรนต์ขึ้นกล่าวยืนยันเหตุผลของเธอต่อหน้านักศึกษาและเพื่อนนักคิด -ที่ทั้งเห็นด้วยและทั้งวางตัวเป็นปฏิปักษ์กับเธอ- คือการที่เธอยืนยันว่าอาชญากรรมของนาซีในครั้งนี้ต้องถูกผลักให้เป็นมากกว่าการ ‘สังหารชาวยิวในเยอรมนี’ หรือเป็นเรื่องระหว่างนาซีกับยิวเท่านั้น แต่ต้องเป็นอาชญากรรมต่อต้านมวลมนุษยชาติทั้งปวง เนื่องจากเหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ไม่ว่าจะในรวันดาหรือกัมพูชา โดยอาเรนต์ชี้ว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน จึงไม่ควรถูกจำกัดให้เป็นแค่เรื่องเฉพาะของคนยิวในเยอรมนีเท่านั้น

อาเรนต์ต้องการชี้ว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาด้วยผู้สั่งการเพียงลำพัง แค่เกิดจากการที่สังคมอนุญาต เมื่อระบบนาซีประกาศว่า คนเยอรมันไม่เพียงไม่ประสงค์ให้ชาวยิวอยู่ในเยอรมนี หากยังปรารถนาที่จะทำให้ชาวยิวทั้งเผ่าพันธุ์หายไปจากผืนโลกด้วย

3. อาชญากรรมของไอช์มันน์ควรถูกยกระดับให้มีความผิดต่อมนุษยชาติทั้งปวง เพื่อย้ำเตือนถึงความโหดร้ายทารุณที่มนุษย์กระทำต่อมวลมนุษยชาติ แม้จะเริ่มต้นขึ้นจากการสังหารหมู่ชาวยิว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นกับเผ่าพันธุ์มนุษยชาติในอนาคตอีก โดยอาเรนต์ย้ำว่า สังคมสมัยใหม่มีศักยภาพที่จะทำให้เกิดการสังหารหมู่ขึ้นได้ไม่ว่าจะจากอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีใดๆ ก็ตาม การลงโทษไอช์มันน์จึงต้องเป็นเรื่องของอาชญากรรมต่อต้านมวลมนุษยชาติ

“อาเรนต์คิดว่าระบบอำนาจนิยมคือวัฒนธรรมที่เป็นบ่อเกิดของความรุนแรงและอาชญากรรม เปิดทางให้คนทำสิ่งต่างๆ โดยไม่รู้สึกรู้สาเพราะไม่มีการตรวจสอบ และไม่เห็นว่ามนุษย์คนอื่นๆ มีศักยภาพมากเท่าคำสั่งที่ตนได้รับ ดังนั้น เราจึงต้องคิดถึงประชาธิปไตยที่ไม่ใช่แค่ระบบทางการเมืองหรือรัฐบาล แต่เป็นระบบทั้งมวลที่ผู้คนจะยืนหยัดในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนด้วย

“เราอยู่ในสังคมที่ Rule by Nobody โอบล้อมเรา ซึ่งผลักให้คนซึ่งอยู่ในบทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐไปสู่จุดที่ไม่อาจแยกแยะใดๆ ได้ และนี่เองที่เป็นผลมาจากอำนาจนิยม เมื่อผู้บังคับบัญชาคือกฎหมาย ในระบอบอำนาจนิยม กฎหมายและกฎระบียบกลายเป็นเครื่องมือที่สนับสนุนอำนาจ เจ้าหน้าที่จึงต้องทำตามนั่นเอง” เกษมสรุป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save