fbpx

ทำไมคำว่า ‘Love’ อาจไม่ได้หมายความว่ารักในกีฬาเทนนิส

เลิฟ-ออล (Love-All) แม้จะดูโรแมนติก แต่ไม่ใช่ประโยคบอกรักแต่อย่างใด! ถึงอย่างนั้น การนับสกอร์เทนนิส กลับเริ่มต้นด้วยประโยคที่ฟังดูโรแมนติกเช่นนี้

ประโยค เลิฟ-ออล จึงหมายความว่า 0-0 ซึ่งเป็นสกอร์เริ่มต้นในแต่ละเกม ทำให้แชร์อัมไพร์ (กรรมการตัดสินชี้ขาดเกมที่นั่งอยู่บนเก้าอี้) จึงต้องเริ่มต้นเกมด้วยการบอกรักทุกคนในสนาม ตั้งแต่นักเทนนิสทั้งสองคน รวมไปถึงคนดูทุกคน

อันที่จริงแล้ว เทนนิส เป็นหนึ่งในกีฬาที่มีการนับสกอร์ ‘ประหลาด’ ที่สุดชนิดหนึ่ง เพราะแม้จะเริ่มจาก เลิฟ-ออล (0-0) แต่สกอร์ถัดไป กลับเป็น 15, 30 แต่ต่อไปกลับเป็น 40 แทนที่จะเป็น 45 (หากคิดตามหลักอนุกรม)

สิ่งเหล่านี้อาจจะเรียกได้ว่า เอกลักษณ์ และมีความน่าสนใจไม่แพ้กีฬาชนิดอื่นๆ เลย

Love means Nothing” – เรื่องราวของเลข 0 ในเทนนิส

ประโยคว่า “Love means Nothing” ไม่ใช่บทสนทนาในภาพยนตร์โรแมนติก-ดรามาที่คู่พระนางกำลังทะเลาะกัน แล้วมีใครสักคนเกิดพูดออกมาว่า “รักไม่มีความหมายอะไร” แต่เป็นประโยคที่อธิบายถึงความหมายของ ‘เลิฟ’ ในบริบทเทนนิส ว่า เลิฟคือ การไม่มีแต้มต่างหาก!

ที่มาของคำว่าเลิฟที่แปลว่า ไม่มีคะแนน หรือ แปลว่า 0 แต้มนั้น มีหลายแหล่งที่มา ซึ่งจะเล่าถึงทฤษฎีและความน่าจะเป็นเกี่ยวกับการขานคะแนนศูนย์แต้ม ไว้ภายหลัง แต่ ณ จุดนี้ เรามาพูดถึงความหมายของคำว่า ‘เลิฟ’ ในความหมายของการเป็นคะแนนกันก่อนดีกว่า

อ้างอิงจากบทความของ Time ระบุว่า เลิฟ ถูกใช้แทนความหมายว่า ไม่มีอะไร มาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 18 แล้ว นอกจากกีฬาประเภทแร็กเก็ตที่ใช้ เลิฟ แทนแต้ม ศูนย์ หรือ ไม่มีอะไรแล้ว ยังมีกีฬาประเภทไพ่ ที่เรียกขานการไม่มีแต้ม หรือ ไม่มีคะแนน ว่า เลิฟ ด้วย โดยเฉพาะ บริดจ์ และ วิส

แม้จะมีหลายเรื่องเล่า แตกต่างที่มา แต่ไม่มีเหตุผลหรือคำอธิบายอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ เลิฟแทนศูนย์ หรือการไม่มีคะแนน และยังไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับที่มาของสิ่งการเรียกขานนี้ และเกือบทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องเล่าเก่าแก่ที่อยู่คู่กับวงการเทนนิส

โดยเรื่องเล่าเหล่านั้นเอง ก็กลายมาเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับ เลขศูนย์ หรือ คำว่า เลิฟ ที่มีหลายหลายที่มา

ทฤษฎีแท้และเทียม เกี่ยวกับเลข 0 ในเทนนิส

ทฤษฎีคลาสสิกเกี่ยวกับตำนานคำว่า เลิฟ ในวงการเทนนิส หลักๆ มีอยู่ 3 เรื่อง และเรื่องที่คลาสสิกที่สุดเกี่ยวข้องกับ ไข่!

เรื่องเล่าของทฤษฎีนี้กล่าวว่า เลิฟ (Love) ในปัจจุบัน มีรากศัพท์ที่แท้จริงมาจากคำว่า l’Oeuf ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งอันที่จริง ลำพังแค่คำว่า OEuf จะมีความหมายว่า ‘ไข่’ และไข่กับเลขศูนย์ก็มีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก ดังที่อังกฤษสำเนียงแบบอเมริกัน จะเรียกเลขศูนย์ว่า ไข่ห่าน (goose egg)

จากคำว่า l’Oeuf ในภาษาฝรั่งเศสนี้เอง เมื่อผู้เล่นที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักส่วนมาก ผู้ออกเสียงคำภาษาฝรั่งเศสคำนี้ผิดเพี้ยนไป ทำให้ทุกคนออกเสียงจาก l’Oeuf เป็น เลิฟ ในที่สุด ก่อนที่สุดท้ายมันก็จะถูกนำไปบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์แบบผิดๆ นั่นเอง

แต่เรื่องเล่านี้เหมือนกับตำนานพื้นบ้านมากกว่าทฤษฎี เพราะปัญหาสำคัญคือไม่มีหลักฐานว่า l’OEuf ถูกใช้ในภาษาฝรั่งเศสเพื่อแปลว่า ‘ศูนย์’ ชาวฝรั่งเศสใช้ zéro เพื่อหมายถึง ‘ศูนย์’ หรือ ‘ไม่มีแต้ม’ ทำให้น้ำหนักของตำนานนี้ จึงเป็นตำนานที่ไม่ได้รับการยืนยันเท่านั้น

ในหนังสือ Tennis: Origins and Mysteries ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1932 เปิดเผยว่า ไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างการนับคะแนนว่า เลิฟ กับภาษาฝรั่งเศส ดังนั้นจึงไม่น่าเป็นไปได้ที่ l’Oeuf จะถูกเพี้ยนจนกลายมาเป็นคำยืมจนกลายมาเป็นภาษาอังกฤษว่า เลิฟ

แต่ข้อสันนิษฐานนี้ถูกแย้งขึ้นภายหลังจากที่มีการยอมรับ ‘ดิวซ์’ (Deuce) เพื่อตัดสินเกมในกรณีที่แต้มเท่ากัน 40-40 นั้น เป็นคำยืมที่มาจากคำว่า Deux เป็นภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า ‘สอง’ อยู่ดี

นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีคล้ายๆ กันที่ว่า บางทีการออกเสียงว่า เลิฟ อาจมาจากภาษาดัตช์หรือภาษาเฟลมิช ที่ออกเสียงว่า ลอฟ ซึ่งหมายถึงเกียรติยศ ซึ่งคงจะสมเหตุสมผลหากผู้เล่นมองว่าการแข่งขันเทนนิสคล้ายกับการต่อสู้

แต่เรื่องเล่านี้ถูกพูดถึงน้อยกว่าทฤษฎีเลิฟ มาจาก l’Oeuf อย่างชัดเจน เนื่องจากภาษาดัตช์หรือภาษาเฟลมิช ห่างไกลกับกีฬาอย่างเทนนิสมากเกินไป

ขณะที่เรื่องเล่าต่อมา เป็นเรื่องที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นขั้นกว่าของ 2 เรื่องแรก แต่เป็นทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับมากกว่านั้นก็คือ เลิฟ มาจากสำนวนที่ว่า เทนนิสถูกเล่นเพื่อแสดงออกถึงความรักในกีฬาชนิดนี้

แนวคิดนี้อ้างว่า คนที่เล่นกีฬาเทนนิสไม่ได้สนใจในการเล่นเพื่อตัดสินแพ้-ชนะ ไม่ได้สนใจในการทำคะแนน เพราะพวกเขาเล่นเพื่อแสดงออกถึงความรัก

ดังนั้น สกอร์ศูนย์แต้ม จึงยังคงมีความรักอยู่ในนั้น จนต้องขานออกมาว่า “เลิฟ”

การขาน เลิฟ ในสกอร์ ศูนย์คะแนน จึงเป็นการแสดงออกร่วมกันถึงการมีน้ำใจนักกีฬาและเล่นเพื่อความรัก มากกว่า ชัยชนะหรือเงินรางวัล (หรือเงินเดิมพันในยุคแรกเริ่ม)

กล่าวอีกนัยหนึ่งการเล่นเทนนิส จึงเป็นการท้าทายตัวเองให้ผู้เล่นยังคงเล่นอยู่แม้จะไม่มีแต้ม แต่พวกเขายังคงได้รับการยกย่องว่าเล่นด้วยความรักในทุกๆ ครั้งที่ถูกขนานสกอร์ว่า เลิฟ

สำหรับนักเทนนิส กีฬานี้สามารถถูกแสดงออกว่าเป็นการทำงานด้วยความรัก ซึ่งสอดคล้องกับการขานออกมาว่าเลิฟของผู้ตัดสินอย่างแท้จริง และมันไปสอดคล้องกับสำนวนว่า “labor of love” ซึ่งเป็นสำนวนที่แสดงถึงการทำด้วยความรักต่องานโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์หรือรางวัล

แนวคิดนี้ คล้ายคลึงกับแนวคิดและที่มาของคำว่า มือสมัครเล่น หรือ amateur ในภาษาอังกฤษ ที่หมายถึง บุคคลที่ทำบางสิ่งอย่างเคร่งครัดเพื่อความรัก ซึ่งอาจจะมาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ amare ที่แปลว่า ‘ความรัก’ นั่นเอง

‘การเล่นเพราะความรัก’ มีบันทึกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกๆ ในช่วงยุคศตวรรษ 1700s สำหรับการเล่นเกมไพ่ โดยมีบันทึกในปี 1742 ที่ เอ็ดมอนด์ ฮอยล์ (Edmond Hoyle) นักเขียนเกี่ยวกับไพ่ของอังกฤษ เขียนเกี่ยวกับการเล่นไพ่วิสด้วยความรักในหนังสือของเขา ซึ่งอธิบายทฤษฎีของคำว่า เลิฟ เท่ากับ ไม่มีแต้มเอาไว้ในเกมไพ่ชนิดนี้ด้วยเหตุผลนั้น

การนับสกอร์เทนนิสที่ไม่เหมือนใคร 15-30-40

ตามปกติแล้วกีฬาทุกชนิดล้วนมีคำศัพท์เฉพาะของตัวเอง ซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะที่ใช้สื่อสารความซับซ้อนของกฎเกณฑ์และวิธีการเล่น แต่โดยปกติแล้วการให้คะแนนอย่างน้อยก็สามารถนับได้ว่าค่อนข้างตรงไปตรงมา

แต่ไม่ใช่สำหรับเทนนิส

กีฬาทั่วไป นับสกอร์โดยใช้ตัวเลขแบบตรงไปตรงมา เช่น ฟุตบอล, เบสบอล หรือ ฮอกกี้น้ำแข็ง ที่ยิงเข้าจะนับเป็น 1 แล้วบวกสกอร์ไปเรื่อยๆ ตามจำนวนประตูที่ทำได้

ขณะที่กีฬาอีกประเภทจะมีกฎตายตัว เช่น หากคุณทำสกอร์ด้วยวิธีที่แตกต่างกันจะได้แต้มไม่เท่ากัน เช่น บาสเกตบอลที่โยนลูกโทษจะได้ 1 คะแนน, โยนในเขตได้ 2 คะแนน และโยนนอกเส้นได้ 3 คะแนน หรือ อเมริกันฟุตบอล ที่ทำทัชดาวน์จะได้ 6 คะแนน และเตะฟิลด์โกล จะได้ 3 คะแนน

แต่เทนนิส แม้จะเริ่มต้นเกมด้วยสกอร์ 0 แต้ม แต่เมื่อทำคะแนนได้ ผู้เล่นคนนั้นจะได้ 15 แต้ม โดยคะแนนที่ 2 เมื่อทำได้แต้มจะขึ้นเป็นเท่าตัวเป็น 30 แต่เมื่อทำคะแนนที่ 3 ได้ คะแนนกลับเป็น 40 ไม่ใช่ 45 (ในกรณีที่คิดว่ามันควรขึ้นที่ละ 15) หรือ 60 (ในกรณีที่สกอร์จะเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว)

มันอาจจะง่ายกว่าถ้าพวกเขาใช้ 1-2-3 แต่มันไม่ได้เป็นแบบนั้น และแถมหากทั้ง 2 ฝ่ายเท่ากันที่ 40-40 จะมีการ ‘ดิวช์’ เพื่อตัดสินเกมเสิร์ฟนั้นๆ โดยสกอร์ต้องห่างกัน 2 แต้มเท่านั้น ถึงจะรู้ผลในเกมเสิร์ฟนั้นๆ ด้วย

นอกจากนี้การต้องห่างกัน 2 ขึ้นไปถึงจะรู้ผล ยังโดนเอามาใช้ตัดสินเซต เช่นกัน หากผู้เล่น 2 คนไม่ได้ทำสกอร์ห่างกัน 2 ทำให้เซตเกมจะไม่มีทางจบ ทำให้เกิดเป็น ไทเบรก เพื่อจบเซตนั้นๆ ไม่เช่นนั้นการแข่งขันอาจไม่สิ้นสุดลงภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และอาจจะต้องมีการแข่งขันยาวนานเป็นวันๆ

ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับกีฬาเทนนิส อาจจะมีคำถามคล้ายๆ กันว่า “ทำไมต้องนับแบบนี้?” และนั่นเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่น่าผิดหวังสำหรับคนที่ต้องการทราบ เพราะไม่มีคำตอบที่ชัดเจนไม่ต่างจากทำไม เลิฟ หมายถึง สกอร์ศูนย์แต้ม

เอลิซาเบธ วิลสัน ผู้เขียนหนังสือ Love Game: A History of Tennis กล่าวว่า “ฉันไม่คิดว่าจะมีใครรู้จริงๆ ว่ามันเริ่มต้นอย่างไร หรือทำไมมันถึงพัฒนาไปในทำนองนั้น”

“มีทฤษฎีมากมาย ทฤษฎีโรแมนติกทุกประเภทถูกสร้างขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เทนนิสกลายเป็นเกมโรแมนติก เพราะประวัติศาสตร์ทั้งหมดที่มีไม่ใช่ประวัติศาสตร์จริงๆ มันเป็นตำนานมากกว่าประวัติศาสตร์จริง แนวคิดบางอย่างเกี่ยวกับการเริ่มต้นของเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นสิ่งที่เพ้อฝัน”

ที่มาของ 15-30-40 ซึ่งไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง

แม้จะมีความซับซ้อน แต่ระบบการให้คะแนนเทนนิสยังคงมีเสถียรภาพและมีความชัดเจนมาตั้งแต่สมัยวิกตอเรียนแล้ว

เกมเทนนิสสมัยใหม่มีต้นกำเนิดย้อนกลับไปถึงเกมในยุคกลาง โดยมีวิวัฒนาการมากจากกีฬา ‘เจอเดอปูม’ (jeu de paume) ของฝรั่งเศสที่มีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 12 โดยในตอนแรกกีฬาชนิดนี้เล่นโดยใช้ฝ่ามือ และเพิ่มไม้แร็คเก็ตเข้ามาในศตวรรษที่ 16

เจอเดอปูมมีความเชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้นกับประเพณีบางอย่างของของราชสำนักฝรั่งเศส ทำให้ตั้งแต่เริ่มต้นเทนนิสจึงมีความผูกพันธ์กับชนชั้นสูงไม่ต่างกัน

ในช่วงไม่กี่ศตวรรษถัดมา กีฬาชนิดนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยมีสนามเทนนิสมากกว่า 1,000 แห่งในปารีสตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 แม้ว่าจะเป็นกีฬาที่รักจะเล่นกันในหมู่ราชวงศ์ โดยพระเจ้าเฮนรีที่ 8 เป็นผู้เล่นที่มีชื่อเสียงและเป็นนักเทนนิสตัวยง และคำปฏิญาณสนามเทนนิส หรือ Serment du Jeu de Paume ของนักปฏิวัติฝรั่งเศสก็ทำที่สนามในเทนนิสในร่มที่แวร์ซายส์ แต่เทนนิสก็เป็นที่นิยมในหมู่คนธรรมดาสามัญและนักบวชด้วยเช่นกัน

บันทึกของระบบการให้คะแนนเทนนิสในปัจจุบัน สามารถสืบย้อนไปได้เกือบถึงจุดเริ่มต้นของกีฬานี้ แต่การให้คะแนนแบบในสมัยนั้นเป็น 15-30-45 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สมเหตุสมผลมากกว่าระบบการนับคะแนนสมัยใหม่ เพราะมันเป็นการเพิ่มขึ้นทีละ 15 คะแนน

โดยมีบันทึกว่าในสมัยก่อน มีการนับคะแนนแบบนี้ในการแข่งขันระหว่างพระเจ้าเฮนรีที่ 5 แห่งอังกฤษและ โดแฟ็งชาวฝรั่งเศส

ราวทศวรรษปี 1520 เอราสมุส (Erasmus) เขียนบทสนทนาระหว่างนักเทนนิสสองคน โดยคนหนึ่งพูดว่า “เรามี 30 เรามี 45” แม้ว่าข้อความภาษาอังกฤษในศตวรรษที่ 16 ฉบับหนึ่งจะใช้ 40 สำหรับคะแนนเทนนิส แต่บทความจากไม่กี่ทศวรรษก่อนหน้านี้ระบุว่านักเรียนชาวฝรั่งเศสเพียงย่อคำว่า “45” เหลือ “40” เมื่อพวกเขาอธิบายถึงเกม

เหตุผลเบื้องหลังวิธีการนับนี้ยังไม่ชัดเจนแม้แต่ตอนนั้น (มีหลายสิ่งที่ต้องคาดเดาแม้กระทั่งคำในภาษาอังกฤษคำว่า tennis มีต้นกำเนิดมาจากไหน แต่แน่นอนว่าเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 15) ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา มีทฤษฎีต่างๆ มากมาย โดยแต่ละทฤษฎีอาศัยทุกอย่างในการอธิบายตั้งแต่การคูณที่ซับซ้อนไปจนถึงประวัติของระบบการให้คะแนนในกีฬาอื่นๆ มีความพยายามแม้กระทั้งการนำเอาการวัดระยะห่างระหว่างเส้นแบ่งเขตในมาอธิบาย แต่ไม่พบคำตอบที่แน่ชัด

มีทฤษฎีหนึ่งที่แม้จะไม่ได้รับการยืนยัน แต่ก็เชื่อกันมากกว่าอาจจะเป็นไปได้มากที่สุดคือ 40 เป็นการขานคะแนนที่ง่ายกว่า 45 ในภาษาอังกฤษ จนทำให้มีการเปลี่ยนการขานคะแนนจาก 45 ลงมาเหลือแค่ 40

โดย หากขานคะแนนแบบเก่า 15-ฟิฟทีน, 30-เธอร์ตี และ 45-โฟร์ตีไฟฟ์ นั้น ลำบากกว่าการออกเสียง 15-ฟิฟทีน, 30-เธอร์ตี และ 40-โฟร์ตี อยู่เล็กน้อยจริงๆ

แม้ไม่มีการยืนยันว่าทฤษฎีนี้เป็นจริงหรือไม่ แต่อย่างน้อย แชร์อัมไพร์ก็ทำงานง่ายขึ้นในปัจจุบัน เมื่อพวกเขาไม่ต้องขาน 45-โฟร์ตีไฟฟ์ ในทุกครั้งที่มีนักเทนนิสแต้มมาถึงจุดนี้ หรือมีการดิวซ์อย่างต่อเนื่อง

แต่เมื่อทุกคนยอมรับเรื่องนี้กันได้แล้ว ความแปลกทั้งหมดของสกอร์เทนนิสก็ยังคงถูกทิ้งไว้ให้เป็นปริศนาซึ่งไม่มีทางพิสูจน์ได้ไปอีกตลอดกาล


อ้างอิง

In tennis, does anybody know why the scoring goes 15 to 30 to 40 etc?

Why is Tennis Scored the Way it is? (Tennis Scoring History)

Why ‘Love’ Means “Nothing”

History of tennis customs: LOVE

Why is the tennis scoring system 15-30-40? How does it work?

Why Does ‘Love’ Mean ‘Zero’ in Tennis?

83 Interesting Facts About Tennis

20 Facts About Tennis

Tennis Fun Facts

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save