fbpx

เล็กๆ ไม่…ใหญ่ๆ ปล้น The Killing

เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับผม ที่เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ หนังเรื่อง The Killing กำกับโดยสแตนลีย์ คูบริคเพิ่งมาลงใน prime video

บนเส้นทางอาชีพยาวนาน 48 ปี สแตนลีย์ คูบริค กำกับหนังเพียงแค่ 16 เรื่อง ถือว่าน้อยเหลือเกิน เมื่อเทียบกับชื่อเสียง ความยิ่งใหญ่ และความสำเร็จที่เขาได้รับ รวมถึงสถานะผู้กำกับระดับปรมาจารย์คนสำคัญของโลกภาพยนตร์

สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ ผลงานของเขาขึ้นหิ้งคลาสสิกมากถึง 10 เรื่อง ไม่นับหนังสั้น 3 เรื่อง และหนังยาว 2 เรื่องในยุคต้นๆ ซึ่งคูบริคทำขึ้นช่วงที่ยังเป็นมือใหม่เพิ่งเข้าวงการ

มีเพียง Eye Wide Shut ผลงานชิ้นสุดท้ายในปี 1999 เท่านั้น ที่เสียงตอบรับก้ำกึ่ง (ค่อนข้างไปทางบวก) และยังต้องรอเวลาเป็นบทพิสูจน์ (ดังเช่นงานหลายเรื่องของคูบริค ซึ่งล้มเหลวเรื่องคำวิจารณ์เมื่อแรกออกฉาย แต่ค่อยๆ เป็นที่ยกย่องในเวลาต่อมา)

นับจาก The Killing หนังยาวเรื่องที่ 3 ซึ่งสร้างและออกฉายปี 1956 ผลงานของคูบริคอีก 9 เรื่องหลังจากนั้นเกือบจะกล่าวได้ว่าเป็นงานมาสเตอร์พีซล้วนๆ และที่น่าทึ่งยิ่งขึ้นไปอีกคือเขาทำหนังแทบไม่ซ้ำแนวเดิม ครอบคลุมเกือบทุกประเภท ทั้งหนังวิทยาศาสตร์ไซ-ไฟ, หนังตลกร้ายเสียดสี, หนังสงคราม, หนังพีเรียดย้อนยุค, หนังจินตนาการถึงโลกอนาคตแนวดิสโทเปีย, หนังสยองขวัญ ฯลฯ

ท่ามกลางรูปโฉมภายนอก ซึ่งหนังทุกเรื่องผิดแปลกแตกต่างกัน และเต็มไปด้วยความหลากหลาย สแตนลีย์ คูบริคก็เป็นคนทำหนังที่มีเอกลักษณ์เด่นชัดในทางศิลปะ จนสามารถพิจารณาผลงานของเขาในฐานะที่เป็น Auteur (เป็นศัพท์มาจากฝรั่งเศส อ่านออกเสียงว่า ‘ออเตอร์’ ความหมายตรงๆ คือผู้ประพันธ์หรือคนแต่ง)

คำศัพท์ Auteur ได้รับการนำมาใช้ในแวดวงภาพยนตร์ โดยอังเดร บาแซง นักวิจารณ์และนักทฤษฎีทางภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศส เสนอความคิดไว้ในช่วงกลางทศวรรษ 1950 ว่า ในหนังแต่ละเรื่อง ผู้ที่สมควรมีบทบาทสำคัญสุด และเป็น ‘เจ้าของผลงาน’ ที่แท้จริง ไม่ควรจะเป็นสตูดิโอ นักเขียน (ในกรณีที่หนังนำวรรณกรรมมาดัดแปลง) หรือพลังของดาราดัง แต่ควรจะเป็นผู้กำกับ

แนวคิดนี้พัฒนาจนกลายเป็นทฤษฎีการวิจารณ์หนังแบบ Auteur theory โดยมีกลุ่มคนหนุ่มรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นนักวิจารณ์ในนิตยสาร Cahiers du Cinéma อาทิ ฟร็องซัวส์ ทรุฟโฟต์, ฌอง ลุค โกดารด์, เอริค โรห์แมร์, โคลด ชาโบรล ซึ่งต่อมากลายเป็นผู้กำกับหนังคนสำคัญในกลุ่ม ‘คลื่นลูกใหม่ฝรั่งเศส’ (French New Wave) พากันขานรับแนวความคิดนี้ และนำไปใช้ในทางปฏิบัติ จนกระทั่งแพร่หลายเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมาจนถึงปัจจุบัน

Auteur theory มุ่งศึกษาและประเมินผลงาน โดยคำนึงถึงตัวตนของคนทำหนัง เอกลักษณ์เฉพาะและวิธีการทางศิลปะ เนื้อหาแง่คิดที่ปรากฎบ่อยในหนังส่วนใหญ่ การอาศัยชีวิตส่วนตัวของคนทำหนัง ทาบจับเสาะหาความเชื่อมโยงกับสิ่งที่ปรากฎในหนัง รวมถึงการค้นหาจุดร่วมพ้องพานจากหนังหลายๆ เรื่อง

สำหรับท่านที่สนใจ การวิเคราะห์หนังด้วย Auteur theory มีตัวอย่างที่เด่นชัดและอธิบายละเอียดถี่ถ้วนเป็นรูปธรรมมากๆ ในหนังสือชื่อ ‘ใดๆ ในโลกล้วนจิบลิ’ (Miyazaki World: A Life in Art)

งานของคูบริค สามารถพิจารณาด้วยแว่น Auteur theory เช่นกัน ผมได้ดูหนังเรื่องสำคัญๆ ของเขาเกือบครบถ้วน แต่ติดขัดตรงที่เป็นการติดตามแบบต่างกรรมต่างวาระ ทิ้งช่วงห่างกันนานมาก ไม่มีโอกาสทบทวนซ้ำ จึงจับสังเกตได้ไม่ถนัดชัดนัก

อย่างไรก็ตาม มีบทความชิ้นหนึ่งซึ่งผมเคยอ่านเมื่อนานแล้ว ลงความเห็นไว้ว่า โลกในหนังของสแตนลีย์ คูบริค มักเต็มไปด้วยบรรยากาศห้อมล้อมพิเศษเฉพาะตัวที่ปรุงแต่งอย่างประณีตพิถีพิถัน น่าตื่นตาตื่นใจ ขณะที่ตัวละครหรือผู้คนที่อยู่ในนั้น กลับแห้งแล้งเย็นชา ไร้ชีวิตจิตใจ (ตัวอย่างเช่น นักวิจารณ์จำนวนมากบ่งชี้ว่า ในหนังเรื่อง 2001: A Space Odyssey ตัวละครที่ดูมีเลือดเนื้อและอารมณ์ความรู้สึกมากสุดกลับไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นคอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ชื่อ Hal)

ข้อสังเกตข้างต้น เป็นความเห็นสรุปที่มีต่อหนังของสแตนลีย์ คูบริคได้อย่างสั้นกระชับและแหลมคม สามารถนำมาใช้เป็นหลักยึดในการ ‘อ่าน’ หนังของเขา

ผมคิดว่า ลักษณะเด่นต่างๆ ข้างต้น เริ่มปรากฏขึ้นครั้งแรกในหนังปี 1956 เรื่อง The Killing

The Killing เป็นผลงานลำดับที่ 5 ของคูบริค หนังก่อนหน้านี้ของเขาเป็นหนังสั้น 3 เรื่อง ประกอบไปด้วย Flying Prade ปี 1951, Day of the Flight ปี 1951 และ The Seafarers ปี 1953 ส่วนหนังยาว 2 เรื่อง ได้แก่ Fear and Desire ปี 1952 และ Killer’s Kiss ปี 1955

งาน 5 เรื่องแรกของคูบริค มีเสียงตอบรับจากนักวิจารณ์อยู่ในเกณฑ์ย่ำแย่ และไม่มีอะไรชวนให้จดจำ แต่แล้วจู่ๆ The Killing ก็กลายเป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่ แม้หนังทำรายได้ไม่สูงนัก แต่ก็รอดพ้นจากการบาดเจ็บเนื่องจากต้นทุนต่ำมาก ความสำเร็จของหนังไปอยู่ที่ฟากคำวิจารณ์ ซึ่งชื่นชมงานชิ้นนี้อย่างเป็นเอกฉันท์ กลายเป็นหนึ่งในหนังตระกูลฟิล์มนัวร์เรื่องสำคัญ และขึ้นหิ้งหนังคลาสสิก

ที่สำคัญกว่านั้นคือเป็นหนังที่มีวิธีเล่าเรื่องล้ำยุค สดใหม่ แปลก และสร้างสรรค์ ขนาดที่เควนติน ทารันติโนเปิดเผยว่า หนังเรื่อง Reservoir Dogs ของเขาได้รับอิทธิพลมาจาก The Killing เต็มๆ

The Killing มีพล็อตที่ง่ายและดาษดื่นมาก เป็นหนังเกี่ยวกับการวางแผนปล้น ซึ่งผู้ชมผ่านตาและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี สามารถเดาทางล่วงหน้าได้ทะลุปรุโปร่งเกือบหมดตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ทีเด็ดของ The Killing คือการเล่าเรื่องที่ดึงดูดความสนใจของผู้ชม นับจากเปิดฉากเริ่มเรื่อง ไปจนกระทั่งบทสรุปสุดท้าย และในระหว่างทางก็ค่อยๆ เพิ่มดีกรีความลุ้นระทึกเร้าใจมากขึ้นตามลำดับ

รวมความแล้ว เป็นหนังที่ผมรู้สึกสนุกมากอย่างไม่น่าเชื่อ ที่กล่าวเช่นนี้เป็นเพราะว่าตามความติดของผม สแตนลีย์ คูบริคเป็นคนทำหนังได้ชวนติดตาม แต่ไม่ใช่ผู้กำกับหนังที่ดูสนุก หากวัดกันเฉพาะความบันเทิง The Killing เป็นหนังที่โดดเด่นในด้านนี้มากสุดของคูบริค อย่างไม่น่าจะมีข้อกังขาให้ต้องเคลือบแคลงสงสัย

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นหนังทุนต่ำ ซึ่งแตกต่างตรงข้ามกับหนังของเขาในเวลาต่อมา (ซึ่งแพงและเนี้ยบทุกเรื่อง) The Killing ก็เป็นงานของคนหนุ่มไฟแรง บริหารจัดการกับงบประมาณจำกัดได้อย่างชาญฉลาด และมีงานสร้างดีเยี่ยมไปไกลเกินความเป็นหนังเกรดบีอยู่มากโข

พูดง่ายๆ คืองานสร้างดูดีมีสกุลเลยทีเดียว

หนังดัดแปลงจากนิยายชื่อ Clean Break ของไลโอเนล ไวท์ พล็อตคร่าวๆ แบบเล่าด้วยการลำดับไม่ตรงตามหนัง (ซึ่งใช้วิธีแพรวพราวมากกระทั่งยากเกินกว่าจะทำตาม) พูดถึงชายหนุ่มชื่อจอห์นนี เคลย์ ซึ่งเพิ่งพ้นโทษจำคุก 5 ปี โดยไม่ทราบข้อหาแน่ชัด แต่อนุมานจากบทพูดตอนหนึ่ง ตัวละครกล่าวว่า บทเรียนที่เขาได้รับจากการติดคุกก็คือ “เมื่อไหร่ที่ต้องเสี่ยง ควรแน่ใจว่า มีผลตอบแทนคุ้มค่า การฉกเงินสิบเหรียญทำให้คุณเข้ากรงขังได้เร็วพอๆ กับการขโมยเงินล้าน” จอห์นนีน่าจะรับโทษจากการลักขโมยเล็กๆ น้อยๆ

ด้วยบทเรียนดังกล่าว ชายหนุ่มจึงคิดการใหญ่ วางแผนปล้นเงินล้านจากสนามม้าแข่ง โดยมีผู้ร่วมทีมจากหลายที่มา ประกอบไปด้วย มาร์วิน อังเกอร์ พนักงานบัญชี ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของจอห์นนี (นอกเหนือจากแรงจูงใจเรื่องเงินก้อนใหญ่แล้ว หนังแสดงให้เห็นว่า แรงจูงใจสำคัญของมาร์วินน่าจะเป็นเพราะมิตรภาพที่มีต่อจอห์นนี), แรนดี เคนนัน ตำรวจมือสกปรก ซึ่งใช้จ่ายดำเนินชีวิตหรูหราเกินตัว จนกระทั่งมีหนี้สินรุงรัง, ไมค์ โอ’ไรลีย์ บาร์เทนเดอร์ประจำสนามม้า ซึ่งเข้าร่วมเพราะมีภรรยาเป็นผู้ป่วยติดเตียง จึงต้องการเงินมาเป็นค่ารักษาพยาบาล ส่วนคนสุดท้ายคือ จอร์จ พีตตี เป็นแคชเชียร์รับแทงและจ่ายเงินรางวัลในสนามม้า

จอร์จเข้าร่วมทีมปล้นด้วยเหตุผลแตกต่างจากทุกคน เขาไม่เดือดร้อนหรือความจำเป็นต้องใช้เงิน มีชีวิตปกติโดยไม่เดือดร้อนขัดสน แต่ปัญหาของเขาคือ ชอร์รีผู้เป็นภรรยา (ซึ่งเป็นตัวละคร ‘ผู้หญิงร้าย’ ตามขนบของหนังตระกูลฟิล์มนัวร์) เชอร์รีแต่งงานกับจอร์จ โดยปราศจากความรัก แต่คาดหวังว่าเขาจะมีเงินทองให้เธอจับจ่ายใช้สอยอย่างฟุ่มเฟือยหรูหรา และเมื่อพบความจริงว่าทุกสิ่งไม่เป็นไปดังคาดหมาย เธอก็แผลงฤทธิ์ต่างๆ นานา ทั้งพูดจาส่อเสียดเย้ยหยันสามี วางตัวห่างเหินเย็นชา และที่ร้ายสุดคือลักลอบมีความสัมพันธ์กับชายอื่น

หนทางเดียวสำหรับจอร์จที่จะกอบกู้เยียวยาชีวิตแต่งงานอันเลวร้ายย่ำแย่ ก็คือความร่ำรวย (เพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ภรรยา) ดังนั้นเมื่อได้รับการทาบทามให้ร่วมทีมปล้น เขาจึงตอบตกลง (ด้วยความลังเลไม่มั่นใจ) และหลุดเผยความลับต่อเชอร์รี โดยหวังจะปลอบประโลมให้เธอหายหงุดหงิดอารมณ์เสีย และเมื่อถูกคาดคั้น จอร์จก็ซื่อและรักภรรยาเกินกว่าจะปกปิดความจริง

การวางแผนปล้นจึงดำเนินไป โดยที่ความลับรั่วไหล และเชอร์รีก็นำความไปแพร่งพรายต่อชู้รักของเธอ เพื่อหวังจะช่วงชิงเงินที่ปล้นมาอีกทอดหนึ่ง

ทั้งหมดที่ผมเล่ามาข้างต้น กินความยาวประมาณ 40 นาทีของหนัง จากทั้งเรื่องที่มีความยาวประมาณ 80 นาที

ความชาญฉลาดของหนังเรื่องนี้ อยู่ที่ว่าการใช้เวลาครึ่งเรื่องแรก ปูพื้นสถานการณ์แวดล้อม แนะนำตัวละครหลักทั้งหมด ทิ้งปมชวนสงสัยอย่างรวบรัดกระชับฉับไว (และสนุกชวนติดตามอย่างยิ่ง) ที่สำคัญคือการให้ข้อมูลกับผู้ชมเท่าที่จำเป็นเกี่ยวกับแผนปล้น ประมาณว่า ใครทำอะไร? ที่ไหน? เมื่อไหร่?

ส่วนจะทำอย่างไร? คำตอบอยู่ที่ตัวหนังครึ่งหลังทั้งหมด โดยเล่ารายละเอียดในวันลงมือปล้น ตั้งแต่เช้าตรู่จนกระทั่งถึงเวลาปฏิบัติการ

ผ่านวิธีเล่าเรื่องอันพิสดารที่ผมเกริ่นมาหลายครั้ง คือการใช้เสียงบรรยายแบบผู้รอบรู้ (ซึ่งผู้ชมไม่ทราบว่าเป็นใคร)

เสียงบรรยายนี้ ทำหน้าที่บอกเล่า สรุปความอย่างกระชับฉับไว แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือมีบทบาทควบคุมจัดสรรเรียงลำดับการเล่าเรื่องทั้งหมด

ลำดับการเล่าเรื่องนั้น ไม่เรียงต้น กลาง ปลาย ไม่ดำเนินไปเป็นก่อน-หลังตามเวลาจริง แต่ย้อนกลับไปกลับมาสลับเวลาอย่างเป็นอิสระ ที่ยอดเยี่ยมมากคือทำให้เรื่องเล่าเกิดขึ้นผ่านหลายๆ มุมมอง ติดตามความเคลื่อนไหวของหลายๆ ตัวละคร

เป็นการเล่าเรื่องด้วยวิธีเล่นท่ายาก แต่ความเก่งในการเขียนบทและกำกับ ก็ทำให้ลำดับการเล่าเรื่องที่สลับซับซ้อนนี้เข้าใจง่าย และไม่ก่อให้เกิดความสับสนในการติดตามเลยสักนิด ยิ่งไปกว่านั้น ยังเพิ่มทวีอรรถรสตื่นเต้นเร้าใจยิ่งกว่าการเล่าซื่อตรง เป็น 1 2 3 ตามขั้นตอนไปอีกมากมายหลายเท่าตัว (และทำให้พล็อตที่ผู้ชมสามารถเดาล่วงหน้าได้ง่าย กลายเป็นการเล่าเรื่องที่คาดคะเนไม่ถูกว่าจะมาไม้ไหน และจะนำพาผู้ชมไปพบเจอเหตุการณ์หนึ่ง แล้วตามไปด้วยอะไรต่อไป)

นี่ยังไม่นับรวมการใส่รายละเอียดจุกจิกปลีกย่อยตามขนบของหนังปล้น อย่างเช่น เหตุการณ์เฉพาะหน้าที่นึกไม่ถึง อยู่นอกเหนือแผนที่วางไว้ จนกลายเป็นอุปสรรค เพื่อสร้างความลุ้นระทึกเร้าใจ

เหนือสิ่งอื่นใด คือด้วยวิธีการเล่าอันแยบยล แผนปล้นที่ดูทื่อมะลื่อตรงไปตรงมาในเบื้องต้น เมื่อคืบเคลื่อนเข้าสู่การลงรายละเอียดในระหว่างปฏิบัติการ กลับกลายเป็นแผนอันพิสดารเหนือชั้น

ที่ผมชอบมากคือวิธีปล้นในหนังเรื่องนี้ ทุกขั้นตอนล้วนเป็นกรรมวิธีง่ายๆ ไม่ต้องใช้วิชาตัวเบาหรือความเก่งกล้าสามารถระดับซูเปอร์ฮีโร (เทียบเคียงง่ายๆ คือ ปราศจากเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ไฮเทคล้ำสมัย ไม่มีฉากแอ็กชันผาดโผนวินาศสันตะโร ไม่ต้องเหาะเหินเดินอากาศด้วยความสามารถเหนือมนุษย์ แบบหนังชุด Mission Impossible)

พูดง่ายๆ คือ แม้จะดูโม้นิดๆ แต่ก็อยู่บนพื้นฐานของความสมจริงและเป็นไปได้

ด้วยความที่เป็นหนังเก่านานอายุเกือบๆ 70 ปี เมื่อมาดูกันในปัจจุบัน บทพูด การแสดง เสื้อผ้า หน้า ผม ของตัวละคร รวมถึงงานสร้าง อาจแลดูเก่าพ้นยุคไปเรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งหนึ่งซึ่งหนังเรื่องนี้อยู่เหนือกาลเวลา คือความบันเทิงเร้าใจในขั้นสุด รวมทั้งความแปลกใหม่ทางความคิดในการเล่าเรื่อง ซึ่งถึงแม้จะผ่านตางานรุ่นหลังๆ ที่ใช้วิธีชั้นเชิงคล้ายๆ กันจนพอคุ้นเคยอยู่บ้าง แต่ความคิดสร้างสรรค์ขั้นสูงที่ปรากฏใน The Killing ก็ยังคงแปลกใหม่และชวนตะลึงเอามากๆ

ผมเชื่อและคิดของผมอย่างนี้นะครับ ว่าตอนที่ทำ The Killing สแตนลีย์ คูบริค คงไม่ได้มีไอเดียเรื่อง Auteur theory ใดๆ ทั้งสิ้น และเป็นไปได้ว่าอาจตั้งใจทำหนังสักเรื่องให้ออกมาดีและดูสนุกเท่าที่จะทำได้

ดังนั้น เนื้อหาสาระของหนังจึงเรียบง่ายตรงไปตรงมา ไม่มีอะไรซับซ้อนให้ต้องตีความถอดรหัส (แต่ในความเป็นจริง มีนักวิจารณ์จำนวนมากวิเคราะห์ตีความและค้นหาสัญลักษณ์หนังเรื่องนี้กันอย่างละเอียด)

เนื้อหาแง่คิดของ The Killing สะท้อนประเด็นกว้างๆ ตามขนบของหนังตระกูลฟิล์มนัวร์ ว่าด้วยกิเลสตัณหาความโลภของมนุษย์ เป็นโลกที่ผู้คนล้วนมีสีเทาเจือปนระหว่างความดีกับความเลว และเต็มไปด้วยความเสื่อมทางศีลธรรมของผู้คน

ผมคิดว่าในเบื้องต้นคงเป็นเช่นนี้ ต่อเมื่อมีผลงานอื่นๆ ติดตามมาในภายหลัง จึงเกิดการพิจารณาเชื่อมโยงหาจุดร่วมที่พ้องพานตรงกัน และนำเอาแง่มุมว่าด้วยโลกที่ผู้คนแห้งแล้งเย็นชา ปราศจากชีวิตจิตใจ อันเป็นลักษณะสำคัญในหนังส่วนใหญ่ของคูบริค มาทาบจับกับหนังเรื่อง The Killing ซึ่งความเป็นฟิล์มนัวร์ก็เอื้อให้มีแง่มุมเหล่านี้เป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อนำเอา ‘โลกที่มนุษย์ไร้ชีวิตจิตใจ’ มาสวมทาบลงบนหนัง The Killing สิ่งหนึ่งซึ่งทรงพลังเอามากๆ คือ ตอนจบและประโยคพูดสุดท้ายในหนัง เมื่อจอห์นนี เคลย์พูดว่า “What’s the Difference?”

เป็นบทพูด (สำหรับคนที่ดูหนังแล้ว) ซึ่งทั้งสะเทือนใจ เจ็บปวด เย้ยหยัน กินนัยยะความหมายไปได้หลากหลายกว้างไกล

แต่ที่สำคัญยิ่งคือ มันสะท้อนถึงการสูญเสีย ไร้หัวจิตหัวใจ และเย็นชาเพิกเฉยต่อการมีชีวิตอย่างถึงที่สุด

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save