fbpx

บทบาทของเนติบัณฑิตหญิงคนแรกในการจัดทำกฎหมายครอบครัวสมัยใหม่ของไทย

บทนำ

กฎหมายครอบครัวของไทยมักถูกกล่าวถึงในฐานะกฎหมายที่มีลักษณะอนุรักษนิยม เพราะเมื่อมีการยกร่างหรือปรับปรุงกฎหมายครอบครัวมักจะมีแรงเสียดทานจากฝ่ายอนุรักษนิยมมากกว่ากฎหมายอื่น นอกจากนี้ หากพิจารณาในมุมมองของฝ่ายสตรีนิยมก็อาจจะพิจารณาได้ว่ากฎหมายครอบครัวเป็นกฎหมายที่มีลักษณะกดขี่ฝ่ายหญิงพอสมควร และส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฎหมายครอบครัวยกร่างขึ้นโดยผู้ชายเป็นส่วนใหญ่[1] จึงไม่มีการประกันสิทธิสตรีหรือความเป็นธรรมแก่ฝ่ายหญิงเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคำกล่าวว่ากฎหมายครอบครัวเขียนโดยผู้ชายเป็นสำคัญ แต่ในชั้นของการยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการก่อตั้งกฎหมายครอบครัวสมัยใหม่ของไทย ปรากฏว่ามีสุภาพสตรีหนึ่งท่านที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ทั้งปรากฏว่าภายหลังท่านยังมีบทบาทในการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวถึงสองครั้งด้วยกัน ซึ่งสุภาพสตรีท่านนั้นคือ คุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ ซึ่งท่านยังเป็นที่รู้จักในฐานะเนติบัณฑิตหญิงคนแรกของไทยด้วย

ในบทความนี้จะชวนมองบทบาทของคุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ ในการยกร่างและปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เพื่อชี้ให้เห็นถึงความพยายามให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการยกร่างกฎหมาย ท่ามกลางบรรยากาศที่กระบวนการร่างกฎหมายอยู่ในมือของผู้ชายเป็นส่วนใหญ่

คุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ

ชีวประวัติโดยย่อของเนติบัณฑิตหญิงคนแรกของไทย

แร่ม พรหโมบล บุญยประสพ (ชื่อเดิมคือ แร่ม พรหโมบล) เกิดเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2454 ที่ย่านหลังวังบูรพา กรุงเทพมหานคร เป็นธิดาคนโตของพันตำรวจเอก พระยาบุเรศผดุงกิจ (รวย พรหโมบล) อดีตอธิบดีกรมตำรวจ กับพร้อม พรหโมบล (อินธำรงค์) สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 8 จากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์[2]

ใน พ.ศ. 2471 แร่มสมัครเข้าเรียนกฎหมายในโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม เป็นเรื่องโกลาหลกันพอสมควร เพราะเป็นหญิงไทยคนแรกที่ขอเข้าเรียนกฎหมายซึ่งไม่เคยมีมาแต่ก่อน[3] โดยสอบไล่เป็นเนติบัณฑิตได้ใน พ.ศ. 2473 อย่างไรก็ดี ขณะนั้นกฎหมายยังไม่อนุญาตให้ผู้หญิงประกอบอาชีพผู้พิพากษาหรืออัยการได้ ผู้หญิงที่จบกฎหมายในยุคนั้นจึงเลือกที่จะประกอบอาชีพทนายความ โดยแร่มสมัครเข้าทำงานเป็นทนายความที่สำนักงานทนายความติลลิกีและกิบบินส์[4] ต่อมาได้สมรสกับ อุดม บุณยประสพซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนกฎหมายร่วมรุ่น ใน พ.ศ. 2477[5]

คุณหญิงแร่มมีส่วนในการก่อตั้งสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย ทั้งยังดำรงตำแหน่งการเมืองทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกวุฒิสภาหลายสมัย โดย พ.ศ. 2489 เป็นสมาชิกพฤฒิสภา, พ.ศ. 2495 สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จังหวัดภูเก็ตเป็นครั้งแรก, พ.ศ. 2500 ได้รับเลือกเข้าสภาผู้แทนราษฎร, พ.ศ. 2501 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา, พ.ศ. 2516 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดภูเก็ตอีกเป็นครั้งที่ 2, พ.ศ. 2521 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ, พ.ศ. 2517 และ พ.ศ. 2519 ได้รับแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิก[6]

การจัดทำกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

ในช่วงเวลาที่แร่มสำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิตหญิงคนแรกของสยามนั้น สยามอยู่ในระหว่างการจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งขณะนั้นได้มีการประกาศใช้ถึงบรรพ 4 ว่าด้วยทรัพย์สินแล้ว ยังคงเหลือการยกร่างบรรพ 5 และ 6 ว่าด้วยครอบครัวและมรดก

ในส่วนของบรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัวปรากฏว่าการยกร่างเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะผู้ร่างมิอาจตกลงหลักการได้ว่าจะร่างกฎหมายใหม่นี้บนพื้นฐานของระบบผัวเดียวเมียเดียวหรือผัวเดียวหลายเมีย[7] แม้ว่าใน พ.ศ. 2473 จะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะผัวเมีย พ.ศ. 2473 ไปพลางก่อนระหว่างรอการยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475 ซึ่งมีกลิ่นอายในทางที่จะรับรองให้ชายมีภริยาได้หลายคน แต่เนื่องจากปัญหางบประมาณแผ่นดิน จึงมีการชะลอการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะผัวมีย พ.ศ. 2473 ใน พ.ศ. 2474[8]

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญกับการจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นอย่างมาก ในฐานะเครื่องมือที่จะใช้ในการแก้ไขสิทธิสภาพนอกอาณาเขต มีการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475 แต่เนื่องจากความผันผวนทางการเมืองจึงมีการเปลี่ยนกรรมาธิการพิจารณาร่างหลายครั้ง ต่อมามีข้อเสนอของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานคณะกรรมาธิการร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ถึงญัตติที่ว่าจะบังคับให้ชายจดทะเบียนภริยาคนเดียวได้หรือไม่ ซึ่งในที่สุด เสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรก็มีมติให้ร่างกฎหมายบนพื้นฐานของหลักผัวเดียวเมียเดียวในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2476[9]

หลังจากนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มีการปรับปรุงเนื้อหาและเปลี่ยนตัวกรรมาธิการหลายครั้ง กระทั่งในวันที่ 30 กันยายน 2477 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการและตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อเตรียมการเข้าพิจารณาวาระ 2 ซึ่งหนึ่งในนั้นมี ‘เนติบัณฑิตแร่ม’ ด้วย[10] ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า เป็นครั้งแรกๆ ที่เปิดโอกาสให้สตรีมีส่วนร่วมในการพิจารณาร่างกฎหมาย (อย่างน้อยก็ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) และการที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอให้แร่มเป็น ‘กรรมาธิการิณี’ โดยนอกจากจะเป็นสตรีแล้ว ยังเป็นกรรมาธิการที่มีอายุน้อยที่สุด ด้วยขณะนั้นแร่มมีอายุเพียง 23 ปีเท่านั้น

แร่ม พรหโมบลกับการจัดทำกฎหมายครอบครัวสมัยใหม่ของไทย

ทั้งนี้ ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเหตุใดแร่มจึงได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมาธิการ แต่หากสืบค้นบริบททางสังคมแวดล้อมในขณะนั้นแล้ว ความสามารถของแร่มที่สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตลำดับ 4 ในขณะที่อายุยังน้อยน่าจะเป็นที่ประจักษ์ ประกอบกับสภาพบ้านเมืองที่เปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เริ่มให้ความสำคัญกับหลักความเสมอภาคชายหญิง จึงน่าจะนำไปสู่การเสนอชื่อแร่มเป็นกรรมาธิการ สอดคล้องกับข้ออภิปรายของมงคล รัตนวิจิตร หนึ่งในกรรมาธิการร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ได้อภิปรายว่าการตั้งกรรมาธิการหญิงเข้ามาร่วมพิจารณาร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ก็เป็นไปเพื่อให้เป็นตัวแทนของผู้หญิงให้เข้ามารู้เห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับฝ่ายหญิงด้วย[11]

ในชั้นแรกคณะกรรมการชุดนี้มีมติแต่งตั้งเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) เป็นประธานกรรมาธิการ และแต่งตั้งแร่มเป็นเลขานุการ แต่เนื่องจากเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศติดราชการจึงให้พระยาอิศรภักดีธรรมวิเทตเป็นรักษาการประธานกรรมาธิการแทน[12]

ทั้งนี้ เป็นที่น่าเสียดายว่า ปัจจุบันผู้เขียนยังไม่พบรายงานการประชุมกรรมาธิการพิจารณาร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ซึ่งเป็นข้อสังเกตว่าอาจจะมิได้มีการบันทึกไว้หรือว่าสูญหายไปแล้ว จึงไม่อาจเห็นบทบาทของแร่มในชั้นกรรมาธิการ อย่างไรก็ดี ในชั้นการพิจารณาร่างกฎหมายรายมาตราในวาระ 2 ก็ยังปรากฏบทบาทของแร่มในฐานะกรรมาธิการที่มาชี้แจงข้ออภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรอยู่ดังจะได้อธิบายต่อไป

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณารายมาตราในวาระ 2 ปรากฏว่า แร่มมีโอกาสแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรสองประเด็น ประเด็นแรกได้แก่เรื่องการจัดทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาโดยพินัยกรรมหรือมาจากการรับให้โดยเสน่หาให้ถือเป็นสินส่วนตัว ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ในระบบกฎหมายไทยในขณะนั้น แม้พระยาอิศรภักดีธรรมวิเทต กรรมาธิการก็ยังยอมรับว่าเป็นกรณีที่อาจต้องเปลี่ยนแปลงประเพณีเดิม ซึ่งก็ได้รับข้อโต้แย้งอย่างมากจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางส่วนที่เห็นว่าทรัพย์สินใดๆ ที่ได้มาระหว่างสมรสควรถือเป็นสินสมรส

ในฐานะกรรมาธิการิณี แร่มได้อภิปรายถึงความจำเป็นในการวางหลักกฎหมายดังกล่าวว่า หลักกฎหมายนี้มีขึ้นเพื่อรับรองอิสระของผู้ให้ ทั้งยังโต้แย้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่าการยกตัวอย่างว่าการกําหนดเรื่องทรัพย์สินเช่นนี้จะทําให้สามีภริยาแตกกันเพื่อสมรสใหม่ เป็นการแปรญัตติโดยวิธีแคบ เพราะเหตุจะทําการสมรสเพื่อเงินและหย่าเพื่อเงินก็ออกจะเป็นการเอาเปรียบแก่ฝ่ายหญิงเกินไป[13] ซึ่งในที่สุด สภาผู้แทนราษฎรก็มีมติให้ทรัพย์ดังกล่าวเป็นสินส่วนตัว ซึ่งปัจจุบัน หลักการดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่[14]

บทบาทสำคัญของแร่มเป็นที่ชัดเจนที่สุดในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 38 ในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2477 (ปฏิทินเก่า) มีการอภิปรายเรื่องการแบ่งสินสมรสหลังหย่า โดยกรรมาธิการต้องการให้แบ่งครึ่งเท่ากัน ซึ่งเป็นการแบ่งที่ต่างไปจากกฎหมายลักษณะผัวเมียที่ใช้ระบบชายหาบหญิงคอน กล่าวคือ ชายได้ 2 ส่วน หญิงได้ 1 ส่วน โดยให้เหตุผลทำนองว่าฝ่ายชายเป็นผู้มีบทบาทในการหารายได้เข้าบ้านมากกว่าฝ่ายหญิง การกำหนดให้แบ่งสินสมรสเท่ากันหลังหย่าจะทำให้ฝ่ายชายเสียเปรียบ ทั้งยังอภิปรายว่าเรื่องการแบ่งสินสมรสหลังหย่าเป็นคนละเรื่องกับความเสมอภาคเป็นอาทิ[15]

ในฐานะสตรีเพียงหนึ่งเดียวในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น แร่มอภิปรายว่าการแบ่งสินสมรสอย่างเสมอภาคนั้นเป็นหนึ่งในสามของยอดปรารถนาของหญิง นอกเหนือจากเรื่องการจดทะเบียนภรรยาคนเดียวและการจำกัดอำนาจในการจำหน่ายสินบริคณห์เพื่อบำเรอชู้[16] ซึ่งในข้อหลังนี้เอง สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ตัดออก

ทั้งนี้ แร่มยังโต้แย้งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่คัดค้านการกำหนดให้มีการแบ่งสินสมรสหลังหย่าเท่ากัน ดังปรากฏในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า[17]

“…เมื่อท่านทำใจกว้างพอที่จะเปลี่ยนนโยบายให้ตัวท่านเองมีภริยาได้คนเดียว ไฉนท่านจึงจะไม่ยอมแบ่งสินสมรสให้ได้คนละส่วนเท่ากันเล่า ถ้าหากท่านยังเอาเปรียบผู้หญิงอยู่เช่นนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าท่านคงจะทำการงานไปได้ แต่ไม่ได้ดี เพราะเหตุว่าทางบ้านจะต้องรบกวนท่านอยู่เสมอๆ เช่นนี้ ผู้หญิงจะไม่มีมานะที่จะผยองตัวเองขึ้น เพราะเหตุว่าถูกตัดสิทธิ ถูกตัดอำนาจทุกๆ อย่าง ตามประมวลกฎหมายนี้ย่อมเห็นได้ชัดแล้วว่า ผู้หญิงนั้นมีสิทธิอย่างไร และผู้ชายมีสิทธิอย่างไร ผู้ชายเป็นหัวหน้าในคู่ครอง เป็นผู้เลือกภูมิลำเนา และเป็นอะไรต่อมิอะไรอีกเยอะแยะ ซึ่งท่านจะเห็นได้จากประมวลกฎหมายนี้ ไฉนเล่าท่านจึงจะไม่สงสารเขาอีก ถึงหากจะไม่สงสารอย่างที่ท่านสมาชิกบางคนพูดว่าอย่านึกถึงความสงสารมากกว่าความยุติธรรม แต่นี่แหละคือความยุติธรรมละ เช่น ผู้หญิงไปได้สามีที่มีเงิน สามีนั้นทั้งที่มีเงินอยู่แล้วก็ยังต้องได้ส่วนแบ่งมากกว่าหญิงอีก เพราะเหตุว่ามีสินเดิม แต่ถ้าเราบัญญัติไว้ตามร่างกรรมาธิการเช่นนี้ ท่านจะเห็นได้ว่าเป็นการยุติธรรมหรือไม่ ท่านสมาชิกคนหนึ่งได้เอ่ยขึ้นว่า เมื่อก่อนนี้ นักปราชญ์กฎหมายแต่ก่อนนี้ก็เป็นนักปราชญ์กฎหมายที่ดี แต่ท่านอย่าลืมว่าแต่ก่อนนี้ผู้หญิงเป็นวัตถุซึ่งซื้อขายกันได้ในท้องตลาด เพราะฉะนั้นนักปราชญ์กฎหมายนั้นจึงเห็นว่าผู้หญิงไม่ใช่คน ผู้หญิงนั้นเป็นวัตถุเท่านั้น เพราะฉะนั้นขอให้ท่านนึกให้มากๆ อย่าลืมว่าท่านมีญาติเป็นผู้หญิง ท่านมีลูกสาวเป็นผู้หญิง ท่านมีลูกสาวเป็นผู้หญิง ซึ่งท่านไม่อยากจะเห็นน้ำตาของผู้หญิงต่อไป เพราะฉะนั้น ท่านจะกรุณาหรือไม่เช่นนี้ ข้าพเจ้าขอวิงวอนทุกๆ ท่านให้ระลึกให้มากๆ ในข้อนี้…”

ในการนี้ มีการโต้เถียงในสภาผู้แทนราษฎรอยู่มาก ในที่สุดก็มีสมาชิกเสนอให้ใช้ทางสายกลาง โดยกำหนดให้มีการแบ่งสินสมรสหลังหย่าคนละกึ่งหนึ่ง เว้นแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีสินเดิม (หมายถึงทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส) ให้ฝ่ายที่มีสินเดิมได้ 2 ส่วน ฝ่ายที่ไม่มีสินเดิมได้ 1 ส่วน[18] ซึ่งภายหลังเมื่อมีการตรวจชำระกฎหมายครอบครัวใน พ.ศ. 2519 ข้อยกเว้นส่วนท้ายถูกตัดออก เหลือเพียงหลักว่าเมื่อหย่ากันแล้วให้แบ่งสินสมรสให้แต่ละฝ่ายได้ส่วนเท่ากัน[19]

ทั้งนี้การพิจารณาร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ยังคงดำเนินต่อไป จนกระทั่งผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและมีการประกาศใช้บังคับใน พ.ศ. 2478 ในที่สุด

ส่งท้าย

หลังการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ใน พ.ศ. 2478 กฎหมายยังคงมีผลบังคับอีกหลายปี แต่แร่ม (ซึ่งภายหลังได้รับตำแหน่งเป็นคุณหญิง) ยังคงมีส่วนร่วมในการปรับปรุงกฎหมายครอบครัวของไทยเรื่อยมา ทั้งการมีส่วนร่วมในการจัดตั้งสมาคมธรรมศาสตร์บัณฑิตหญิงที่ต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย ซึ่งสมาคมนี้มีส่วนร่วมในการผลักดันให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในลักษณะที่เป็นธรรมแก่ฝ่ายหญิงยิ่งขึ้น แม้ว่าในช่วงทศวรรษ 2490-2510 รัฐบาลจะตั้งกรรมการตรวจชำระประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แล้ว แต่การจัดทำไม่คืบหน้านัก ทั้งยังเป็นที่รู้กันในวงจำกัด ในช่วงนี้นี่เองที่สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายมีส่วนร่วมในการผลักดันให้การปรับปรุงกฎหมายครอบครัวเป็นที่พูดถึง ทั้งการเสนอแนะร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมแก่รัฐบาล การจัดงานสัมมนาในการให้ความรู้แก่ประชาชน เป็นต้น[20]

ในฐานะสมาชิกชมรมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย และนายกสมาคม คุณหญิงแร่ม พรหโมบล มีบทบาทในการเสนอร่างกฎหมายเพื่อเสนอต่อรัฐบาลในการที่จะแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายครอบครัว นอกจากนี้ยังมีการเชิญผู้มีความเชี่ยวชาญในสมาคมร่วมประชุมปรึกษาหารือในการยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งในที่สุด ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ถูกเสนอต่อรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ในวันที่ 5 มกราคม 2513[21] นอกจากนี้ สมาคมยังมีส่วนร่วมในการผลักดันการจัดงานอภิปรายในการปรับปรุงกฎหมายครอบครัวอีกด้วย

ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 มีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คุณหญิงแร่มได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและมีส่วนร่วมในการผลักดันการรับรองความเสมอภาคทางเพศ นำไปสู่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 มาตรา 28 ที่รับรองความเสมอภาคชายหญิงครั้งแรกในระบบกฎหมายไทย[22] นำไปสู่การปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ซึ่งได้ตรวจชำระใหม่อันจะแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2519[23]

หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 คุณหญิงแร่มได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา และได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. …. ซึ่งคุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ สมาชิกวุฒิสภาในขณะนั้นและหนึ่งในสมาชิกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายได้บอกเล่าความทรงจำครั้งนั้นว่า สมาชิกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายที่ได้เป็นสมาชิกวุฒิสภาพยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุดในสภา เมื่อร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ฉบับแก้ไขใหม่เข้าสู่การพิจารณาของสภา สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงได้ช่วยกันอภิปราย แสดงความคิดเห็นจนทำให้กฎหมายผ่านไปด้วยดีอย่างน่าพอใจ[24]

ทั้งนี้ ในฐานะที่คุณหญิงแร่มมีส่วนร่วมในการร่างประมวลกฎหมายกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ฉบับ 2478 และการปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ใน พ.ศ. 2519 ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายไว้ดังนี้

“…การที่รัฐบาลนี้ได้นำเรื่องกฎหมายแพ่งฯ ชำระใหม่มาให้สภานี้พิจารณาเป็นการรีบด่วนนั้น ดิฉันในฐานะที่เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง และมีความสนใจในเรื่องสิทธิสตรีนี่มาตั้งแต่ต้น และทั้งที่ได้เคยเป็นกรรมาธิการ…ในการพิจารณากฎหมายตั้งแต่ครั้ง พ.ศ. 2477 เป็นต้นมา คือ 46 ปีมาแล้ว เพราะฉะนั้น การที่เรามีกฎหมายฉบับนี้ซึ่งใช้เวลาอันนานพอสมควรที่จะได้พิจารณาถึงข้อความขาดตกบกพร่องในเรื่องกฎหมายครอบครัว ซึ่งจะนำพาให้เกิดความผาสุกต่อสถาบัน หรือสถานภาพของครอบครัว เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าครอบครัวแต่ละครอบครัวมีความสุขแล้ว หรือมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันแล้ว ประเทศชาติก็ย่อมจะดีหรือมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้น เช่นเดียวกับสถานภาพของครอบครัว เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงขอขอบพระคุณรัฐบาลนี้…ที่ช่วยเกื้อกูลอุดหนุนให้สตรีมีสิทธิเพิ่มขึ้น…”[25]

ต่อมา ร่างกฎหมายครอบครัวที่แก้ไขใหม่ในครั้งนี้ มีการประกาศใช้บังคับในชื่อพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2519

ภายหลังการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ใน พ.ศ. 2519 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการชำระสะสางประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 อันมีคุณหญิงแร่มเป็นหนึ่งในกรรมการนี้ด้วย เมื่อคณะกรรมการชำระสะสางประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2526 จึงมีการส่งในคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นพิจารณา ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็มีมติรับหลักการโดยส่งร่างกฎหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการในชั้นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็มีคุณหญิงแร่มเป็นหนึ่งในกรรมการเช่นเดียวกัน[26] และเมื่อกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา คุณหญิงแร่มยังได้เป็นหนึ่งในกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายในชั้นวุฒิสภาด้วย[27] ต่อมา ร่างกฎหมายฉบับนี้นำไปสู่การออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 อันเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายครอบครัวครั้งที่ 2 ของไทย

การปรับปรุงกฎหมายครอบครัวใน พ.ศ. 2533 นับเป็นครั้งสุดท้ายที่คุณหญิงแร่มมีส่วนร่วมในการปรับปรุงกฎหมายครอบครัวของไทย เพราะในการปรับปรุงกฎหมายครอบครัวใน พ.ศ. 2550 (พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2550) และ 2551 (พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2551) ก็ไม่ปรากฏบทบาทของท่านแต่อย่างใด จนกระทั่งคุณหญิงแร่ม พรหโมบลถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 สิริอายุได้ 97 ปี ซึ่งเป็นเวลาเพียง 4 เดือนหลังพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2551 อันเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายครอบครัวครั้งหลังสุด[28]

References
1 สภาผู้แทนราษฎร, รายงานการประชุม ครั้งที่ 38 (สมัยสามัญ สมัยที่ 2), (11 มีนาคม 2477), 2699.
2 อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ ม.ป.ช., ม.ว.ม., ต.จ. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551, (หอรัตนชัยการพิมพ์ 2551), 19.
3 แร่ม พรหโมบล บุณยประสพ, “เสี้ยวหนึ่งแห่งความทรงจำ” ของคุณหญิงแร่มฯ, (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 14 พฤษภาคม 2563).
4 ลาวัณห์ โชตามระ, ผู้หญิงระดับยอด, (โอเดียนสโตร์ 2525), 87.
5 อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ ม.ป.ช., ม.ว.ม., ต.จ. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551, 31.
6 แร่ม พรหโมบล บุณยประสพ, กฎหมายและการเมือง มุมมองของคุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ, (สถาบันปรีดี พนมยงค์, 22 กรกฎาคม 2565).
7 ‘ประกาศ งดการใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะผัวเมีย พุทธศักราช 2473 ไว้พลางก่อน’, ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 48, (22 พฤศจิกายน 2474) 410-411.
8 ‘ประกาศ งดการใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะผัวเมีย พุทธศักราช 2473 ไว้พลางก่อน’, ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 48, (22 พฤศจิกายน 2474), 410-411.
9 สภาผู้แทนราษฎร, รายงานการประชุม ครั้งที่ 8 (สมัยสามัญ สมัยที่ 2), (22 มกราคม 2476), 339.
10 ‘ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5’, ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 51, (14 ตุลาคม 2477), 2672.
11 สภาผู้แทนราษฎร, รายงานการประชุม ครั้งที่ 26 (สมัยสามัญ สมัยที่ 2), (27 กุมภาพันธ์ 2477), 1909.
12 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, CIVIL AND COMMERCIAL CODE: BOOK V FAMILY ARCHIVES VOL. VII.
13 สภาผู้แทนราษฎร, รายงานการประชุม ครั้งที่ 30 (สมัยสามัญ สมัยที่ 2), (4 มีนาคม 2477), 2059-2060.
14 มาตรา 1473 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
15 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน สภาผู้แทนราษฎร, รายงานการประชุม ครั้งที่ 38 (สมัยสามัญ สมัยที่ 2), (11 มีนาคม 2477).
16 เพิ่งอ้าง 2697.
17 เพิ่งอ้าง 2697-2698.
18 เพิ่งอ้าง 2677.
19 มาตรา 1533 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน
20 สุภัทรา สิงหลกะ, สิทธิสตรี ประวัติและวิวัฒนาการของการเรียกรัองสิทธิสตรีไทย, (เรือนแก้วการพิมพ์ 2525), 17-18.
21 เพิ่งอ้าง 19.
22 เพิ่งอ้าง 21.
23 เพิ่งอ้าง 21-22.
24 เพิ่งอ้าง 22.
25 วุฒิสภา, รายงานการประชุม ครั้งที่ 8 (สมัยสามัญ สมัยที่ 2), (15 กันยายน 2519), 45-46.
26 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, รายงานผลการพิจารณาเรื่อง การปรับปรุงกฎหมายครอบครัว ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, (สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 2528).
27 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 106, (15 มิถุนายน 2532), 4125-4126.
28 ปัจจุบันมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (สมรสเท่าเทียม) ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 กฎหมายยังอยู่ในชั้นของการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 ซึ่งถ้าร่างพระราชบัญญัตินี้ผ่านและประกาศใช้ก็จะเป็นแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายครอบครัวครั้งล่าสุดของไทย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save