fbpx
พลิกเกมเศรษฐกิจไทย กับ สมประวิณ มันประเสริฐ และ ณชา อนันต์โชติ

พลิกเกมเศรษฐกิจไทย กับ สมประวิณ มันประเสริฐ และ ณชา อนันต์โชติกุล

ไม่ว่าจะมองว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤตหรือไม่ แต่คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหา เห็นได้จากอัตราการเติบโตเศรษฐกิจที่ต่ำลงต่อเนื่อง ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง หนี้ครัวเรือนสูงเป็นประวัติการณ์ และความเหลื่อมล้ำที่เรื้อรังรุนแรง การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเคยถูกมองว่าจะเป็นความหวังในการเร่งเครื่องเศรษฐกิจไทย แต่ก็ดูจะไม่ง่ายนักท่ามกลางข้อจำกัดและความท้าทายทางการเมือง

ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยก็ยังต้องเจอกับความท้าทายใหม่ในเศรษฐกิจการเงินโลก และความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ชนิดที่หากใครพลาดปรับตัวไม่ทัน ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังทันที

ในสถานการณ์เช่นนี้ คำถามมีอยู่ว่า นโยบายใดที่จะมีประสิทธิภาพมากพอในการพลิกเศรษฐกิจไทยให้กลับมามีพลังอีกครั้ง

101 ชวน ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด และ ดร.ณชา อนันต์โชติกุล ผู้อำนวยการอาวุโส KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKPFG) มาตั้งโจทย์และตอบคำถามถึงอนาคตเศรษฐกิจไทย

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-One Ep.320 ‘พลิกเกมเศรษฐกิจ’ กับ สมประวิณ มันประเสริฐ และ ณชา อนันต์โชติกุล ออกอากาศวันจันทร์ที่ 4 มีนาคม 2567 ดำเนินรายการโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล 

โจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจคือประเด็นใด ที่ผ่านมาเราเถียงกันเรื่องวิกฤตถือว่า เถียงถูกเรื่องหรือไม่

สมประวิณ : เราเถียงกันคนละนิยาม แต่ละคนมีนิยาม มาตรวัด และจุดเน้นที่ต่างกัน เปรียบเหมือนเราทุกคนนั่งอยู่บนเรือ คนที่อยู่ท้องเรือบอกว่าเรือมีรูต้องรีบซ่อม คนที่อยู่ตรงใบบอกว่า ใบขาดต้องเย็บใหม่ คนที่อยู่ท้ายบอกว่าหางเสือพัง ต่อให้มีใบก็แล่นไปไม่ถูกทาง คำตอบของทุกคนถูกต้องทั้งหมด แต่ประเด็นคือเราขาดการถอยกลับมามองภาพกว้างของเศรษฐกิจ ซึ่งมีสองส่วน ส่วนแรกคือความผันผวนจากประเทศอื่นที่กระทบกับเรา ส่วนที่สองคือเรื่องโครงสร้าง คือประเทศเราเอง ซึ่งศักยภาพของไทยและรายได้ต่อหัวของประชากรลดลงมาก

เราถึงจุดที่ทุกคนต้องนำปัญหามากองรวมกัน เพื่อดูว่ามีปัญหาอะไรบ้าง และจะแก้ไขอย่างเป็นองค์รวมอย่างไร

ณชา : เป็นเรื่องดีที่คนไทยหันมาสนใจว่าเศรษฐกิจเราเป็นอย่างไรและเรากำลังเผชิญอะไรอยู่ แต่การถกเถียงอาจมุ่งอยากได้คําตอบที่ถูกต้องจนลืมไปว่าโจทย์ที่ถูกคืออะไร การถกเถียงเป็นเรื่องดี แต่เราอาจใช้เวลาและพลังงานมากไปกับคําถามที่อาจไม่ใช่ประเด็นสําคัญที่สุด เราต้องหันเหไปยังประเด็นที่สําคัญและต้องเตรียมการรับมือมากกว่า ปัญหาความท้าทายเศรษฐกิจไทยสะสมมานานแล้ว อาจสายเกินไปที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง โจทย์ที่ถูกต้องอาจต้องเริ่มต้นว่าเราต้องการเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร เวลานี้ประเทศไทยกําลังไปในทิศทางที่เราต้องการหรือไม่ และถ้าไม่ เป็นเพราะอะไร แล้วเราจะแก้ปัญหาอย่างไร

เพราะอะไรเศรษฐกิจไทยจึงเติบโตต่ำมาก

สมประวิณ : แต่ละปี เศรษฐกิจตกต่ำลงมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ เรามีคำอธิบายสองประการ ประการแรกคือนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์เกินจริง ประการที่สองคือเป็นไปได้ว่ามี downside shock หรือ negative shock เกิดขึ้นเสมอ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าเป็นแบบหลังมากกว่า

ดัชนีความไม่แน่นอน (uncertainty index) ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูง เพราะเมื่อโลกมีความไม่แน่นอนสูง ไทยก็สูงตาม นอกจากนั้นแล้ว ยังมีเรื่องความเสี่ยงด้วย ข้อมูลจาก WEF Global Risk Report แสดงให้เห็นว่า ความเสี่ยงมีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจผันผวน

เมื่อไม่สามารถประมาณการณ์การเติบโตเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงความเป็นจริงได้แล้ว เราต้องมีความยืดหยุ่น รู้หลัก รอบคอบ ต้องคิดไว้เสมอว่ามันอาจจะแย่กว่าที่คาดได้ เราจึงต้องเตรียมตัว 

ณชา : ประการแรกคือต้องดูว่าความคาดหวังเกิดจากอะไร หลังโควิดเป็นต้นมา เราคาดหวังว่าเมื่อนักท่องเที่ยวหรือการส่งออกกลับมาเป็นปกติ เศรษฐกิจไทยจะฟื้นฟู แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เห็นได้ว่า เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวมาก ก่อนโควิดมีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนต่อปี ประมาณได้ว่านักท่องเที่ยวหนึ่งล้านคนจะทําให้ GDP เพิ่มขึ้น 0.2% ดังนั้น หากมีนักท่องเที่ยวปีละ 10 ล้านคน ก็ทําให้ GDP เพิ่มขึ้นถึง 2% โดยที่ไม่ได้มาจากส่วนอื่นของเศรษฐกิจเลย

ประการที่สอง ความคาดหวังอาจเกินจริงไปแล้ว เมื่อโลกเปลี่ยนไป โครงสร้างเศรษฐกิจภายในอาจไม่ได้แข็งแรงเหมือนสมัยก่อนโควิด ในบทความของ 101 เรื่องเศรษฐกิจโตช้าไป หรือเราหวังไว้มากเกิน? มีประเด็นหนึ่งคือเมื่อเศรษฐกิจไทยเจอความช็อกเช่นนี้จะเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (economic scar) ทําให้เศรษฐกิจไม่กลับไประดับเดิมและอาจเติบโตช้าลง เช่น คนที่บริษัทปิดกิจการในช่วงโควิดอาจสูญเสียรายได้ถาวร แรงงานสูญเสียทักษะ นักเรียนนักศึกษาไม่ได้เรียนเต็มที่

แม้จะดูมีความหวังน้อย แต่เราควรต้องมีความหวัง เพราะปัจจัยพื้นฐานของไทยดีมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ประเด็นคือเมื่อเราไม่ได้ตามคาด เราทําอะไรต่อจากนั้น เราพยายามเข้าใจปัญหาและแก้ไขอย่างตรงจุดหรือไม่

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ

สำหรับคุณณชา อะไรคือปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจไทย

ณชา : นักเศรษฐศาสตร์มีบทวิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างหลากหลายปัญหา เช่น ความท้าทายที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อทั้งการเติบโตเศรษฐกิจ การจ้างงาน ภาวะการเงินต่างๆ การเข้าสู่สังคมสูงวัย รวมถึงความท้าทายด้านการส่งออก

ในที่นี้จะกล่าวถึงการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมของไทย จากตัวเลขเศรษฐกิจ ด้านการผลิตของไทยตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องมาราวสองปี ผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมของเราได้รับคำสั่งซื้อน้อยลง มีการผลิตน้อยลง ใช้กําลังการผลิตไม่เต็มศักยภาพ

สาเหตุสำคัญคือสินค้าของเราอาจแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่นไม่ได้ ทั้งเรื่องต้นทุน ราคา การหาตลาด เราอาจทําได้น้อยลงกว่าเมื่อที่ผ่านมาที่เราเคยแข็งแกร่งมากในเรื่องการส่งออก สินค้าที่เคยเป็นดาวรุ่งของเราหลายอย่างอาจจะอยู่ในโลกเก่า ปัจจุบันความต้องการสินค้าเหล่านี้ลดลง เช่น hard disk drive รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์สันดาบภายใน และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่เรามีคู่แข่งเพิ่มขึ้น อย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

เมื่อความต้องการในตลาดโลกน้อยลง ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เราไม่มีสินค้าดาวรุ่งที่จะเข้ากับยุคของดาต้า (Data -ฐานข้อมูลต่างๆ) ยุคของเอไอ (AI -ปัญญาประดิษฐ์) ยุคของเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor -สารกึ่งตัวนำ เป็นปัจจัยสำคัญของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี) ทําให้การส่งออกของเราโดยรวมอาจได้รับแรงกดดันค่อนข้างมาก จากทั้งภายใน คือความสามารถในการแข่งขันที่น้อยลง ประกอบกับปัจจัยภายนอกที่มากขึ้น

นอกจากเรื่องการผลิตแล้ว ก็มีเรื่องการท่องเที่ยว บทเรียนสําคัญที่เราควรจะเรียนรู้จากช่วงโควิดคือ เป็นไปได้ไหมที่เราพึ่งพาปัจจัยภายนอกเกินไปและไม่มีแรงขับเคลื่อนจากภายใน การใช้การท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนก็มีข้อดี หากประชากรทั้งโลกเป็นชนชั้นกลางที่จะใช้จ่ายท่องเที่ยว เราก็มีโอกาสรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น อีกทั้งการท่องเที่ยวเองก็มี SME ค่อนข้างมาก กระจายการเติบโตเศรษฐกิจไปยังตัวเล็กตัวน้อยได้มากกว่าภาคอุตสาหกรรมที่ต้องแข็งแกร่งหรือเป็นรายใหญ่ อย่างไรก็ตาม รูปแบบการใช้ภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาอาจไม่ยั่งยืนมากนัก เพราะเราเน้นปริมาณ แต่ไม่ได้เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม และการท่องเที่ยวเราก็กระจุกตัวสูงมาก หัวเมืองท่องเที่ยวมีแค่ไม่กี่จังหวัด การกระจายรายได้จึงไม่ทั่วถึง นอกจากนั้น การท่องเที่ยวในรูปแบบเดิม ก็ไม่ได้คํานึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคม ดังนั้น การหวังให้การท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจจึงอาจไม่ยั่งยืน

ดร.ณชา อนันต์โชติกุล

ดร.ณชา อนันต์โชติกุล

ประเด็นข้างต้นเรื่องการผลิตและการท่องเที่ยวนี้ มีข้อเสนอในเชิงนโยบายอย่างไรบ้าง

สมประวิณ : ไม่ว่าจะเป็นการภาคส่วนใดของการพัฒนาเศรษฐกิจ ควรเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม มากกว่าแค่การเน้นปริมาณ เทคโนโลยีสมัยนี้เอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างมูลค่าหรือห่วงโซ่อุปทานที่กว้างขวางและสร้างประโยชน์มากขึ้น การส่งออกก็อาจต้องเน้นเรื่องคุณภาพ เน้นการใช้ทักษะขั้นสูงและไปกับโลกใหม่ให้มากขึ้น

คุณภาพเป็นสิ่งสำคัญ เราอยากทําให้นักท่องเที่ยวยอมจ่ายมากที่สุด เมื่อพิจารณาถึงกำลังซื้อของเขา เพื่อให้ได้บริการที่มีคุณภาพ การจะทำเช่นนี้ได้ ต้องมีการแทรกแซงจากภาครัฐ ให้ต้นทุนของผู้ประกอบการถูกลง แต่เข้าใจว่าต่อให้ภาครัฐช่วย ก็คงไม่ต้องช่วยไปตลอด เพราะสุดท้ายเราก็ต้องกลับไปที่ระบบตลาด 

ณชา : อย่างการใช้เงินออมไปกับการเที่ยวยุโรป เรามักรู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่เรายอมจ่ายเพื่อให้ได้คุณภาพ ก็ต้องอาศัยภาครัฐช่วยปูทางให้รูปแบบของการท่องเที่ยวของเราเป็นไปในทางนั้น เช่น โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้นักท่องเที่ยวกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ สะดวกมากขึ้น

สำหรับคุณสมประวิณ อะไรคือปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจไทย

สมประวิณ : ปัญหาเรื่องหนี้สิน ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) จากการสำรวจผู้บริโภค พบว่ามีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย น่าตกใจว่า กลุ่มรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน มีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย และกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน เริ่มมีปัญหาในการชําระหนี้ จากข้อมูลของสํานักงานสถิติ ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท มีภาระรายจ่ายมากกว่ารายได้ประมาณ 1.2 – 1.7 เท่า ซึ่งถ้ารายจ่ายมากกว่ารายได้ แปลว่าต้องเป็นหนี้ตลอดเวลา วนเป็นวงจร

หากแบ่งครัวเรือนไทยเป็นห้ากลุ่ม กลุ่มละ 20% เท่าๆ กัน เรียงจากรายได้มากสุดไปน้อยสุด หรือที่เรียกว่าควินไทล์ (Quintile) เราจะพบว่าสองกลุ่มสุดท้าย รวมเป็น 40% ยังมีปัญหารายได้ยังไม่พอรายจ่าย กลุ่มรองสุดท้าย จะใช้เวลาอีกสามปี กว่าเขาจะปิดช่องว่างได้ ส่วนกลุ่มสุดท้าย 20% จะไม่ฟื้นเลย เพราะมีปัญหาเชิงโครงสร้าง คือด้วยอาชีพและรายจ่าย ไม่มีทางที่จะไม่เป็นหนี้

นอกจากครัวเรือนแล้ว ในภาคธุรกิจก็ประสบปัญหา บริษัท SME เป็น 97% ของจำนวนทั้งหมด แต่กลับมีรายได้ 15% ของรายได้จำนวนบริษัททั้งหมด การมีส่วนร่วมของเขาในรายได้มันน้อยมาก บริษัทอีกมากถึง 3% ขับเคลื่อน 85% ของ GDP ประเทศ หมายความว่า ถ้าเราเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะทําไม่ได้ และไม่ควร

ปัญหาที่สอง เรื่องความเหลื่อมล้ำ ประเทศเรามีความเหลื่อมล้ำทางโอกาส มีกลุ่มคนที่โอกาสเจ็บง่ายกว่า โอกาสได้รับความช่วยเหลือได้ยากกว่า และโอกาสที่ไม่ได้มีโอกาสในกิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อยกว่า วิธีการแก้ปัญหาที่ผ่านมา คือผู้ใหญ่ใจดีคอยช่วยเหลือในแต่ละประเด็น แต่สุดท้ายก็อาจไม่พอ เราจึงต้องสร้างระบบกลไกโครงสร้างเชิงสถาบันเศรษฐกิจขึ้นมา ให้กลไกทํางานด้วยตัวเอง เพื่อให้ทุกคนช่วยตัวเองได้

มองวิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างไร

ณชา : มีการแยกบทบาทที่ชัดเจนแล้วว่าแต่ละนโยบายมีไว้เพื่อทําอะไร นโยบายการคลังทําได้หลายรูปแบบ เช่น แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง การใช้กฎกติกาในการปฏิรูปเศรษฐกิจ หรือนโยบายเพื่อแก้ปัญหาจากการที่เศรษฐกิจเรากําลังเผชิญกับการอ่อนแรงระยะสั้น ก็สามารถทำได้เช่นกัน ส่วนนโยบายการเงิน หน้าที่หลักคือการดูแลสามเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย การเติบโตเศรษฐกิจ เสถียรภาพ เงินเฟ้อ เสรีภาพทางการเงิน ซึ่งนโยบายการเงินอาจไม่ใช่เครื่องมือที่จะตอบโจทย์ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ อย่างดอกเบี้ยต่ำอาจทําให้ให้คนใช้จ่ายและลงทุนมากขึ้น ทําให้เศรษฐกิจระยะสั้นเติบโตขึ้นได้ ซึ่งในบางครั้งก็จําเป็นต้องใช้

เราอาจต้องเริ่มจากการแยกแยะหรือวิเคราะห์ว่าประเทศไทยกําลังเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง และเครื่องมือใดมีประสิทธิภาพที่สุดในการตอบโจทย์ปัญหาเหล่านั้น แน่นอนว่าเครื่องมือเดียวคงไม่อาจตอบโจทย์ได้

สมประวิณ : ประการแรก ต้องมีเจ้าภาพและรวมทุกฝ่ายให้มาร่วมกันระบุแต่ละปัญหาออกมา และทำความเข้าใจสาเหตุของปัญหาเหล่านั้น แม้มี 100 ปัญหา แต่สุดท้ายการแก้ไขอาจใช้เพียงห้าเครื่องมือก็เป็นไปได้ เพราะหลายปัญหาอาจเกี่ยวพันกัน ก็ต้องเรียงลำดับว่าใช้วิธีใดแก้ปัญหาใด แล้วจะแก้ไขอีกสองสามปัญหาที่เกี่ยวพันกันได้

ประการที่สองคือ ปัญหาของเมืองไทย ไม่มีแบบที่แก้ไขได้ด้วยแผนปฏิบัติงานเร่งรัด (Quick Win) ได้แล้วเพราะฉะนั้น ต้องมีองค์รวม ในเมื่อเรามีแผนที่จะพัฒนา เราก็มีแผนแก้ปัญหาได้

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ

จากชุดบทความ “พลิกเกมเศรษฐกิจ กับ 10 แนวคิดนักเศรษฐศาสตร์” ซึ่งมีทั้งสองร่วมเขียนด้วย นักเศรษฐศาสตร์มีความกังวลเรื่องอะไร จึงต้องออกมาส่งเสียงพูดในเวลานี้

สมประวิณ : หากถ้าเราย้อนกลับไปสิบปีที่แล้ว เราอาจคิดว่าปัญหาเชิงโครงสร้างนั้นมาจากตัวเรา แต่วันนี้ มีปัญหาจากภายนอก นอกจากตัวเราจะอ่อนแอแล้ว เชื้อโรคก็เยอะขึ้นด้วย จึงอาจเป็นสองแรงที่ทําให้ประเทศไทยเผชิญความท้าทายและทําให้เศรษฐกิจยิ่งอ่อนแรงเร็วขึ้น บทความชุดนี้ก็เป็นข้อเสนอในการแก้ปัญหา

ณชา : เราไม่ต้องเถียงกันแล้วว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤตหรือไม่ แต่สิ่งที่กําลังเกิดขึ้นจริงก็คือวิกฤตต้มกบ เหมือนกับกบอยู่ในน้ำที่อุ่นขึ้นเรื่อยๆ ทําให้เราละเลยภาวะวิกฤตและไม่รู้ตัวว่าต้องเตรียมตัวแก้ปัญหา แต่ละบทความจึงไม่เพียงชี้ปัญหา แต่เสนอทางออกด้วย แต่หลายบทความยกตัวอย่างของประเทศอื่นๆ ที่เผชิญปัญหาคล้ายกับเรา และแก้ไขได้สำเร็จ บทความชุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่จะทําให้คนหันมาคุยเรื่องทางออก มากกว่าจะถกกันว่าปัญหาเป็นของใครกันแน่ 

ข้อเสนอของคุณณชาในบทความคืออะไร

ณชา : กล่าวในภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจไทยควรมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการเติบโต การกระจายรายได้ การตอบโจทย์ประชาชน อะไรเป็นเป้าหมายหลัก และเราจะไปถึงได้อย่างไร

สำหรับบทความที่เขียน คือเรื่องบทบาทภาคการเงินที่จะช่วยตอบโจทย์ SME ได้ เพราะแม้ SME ไทยจะมีจำนวนมาก แต่อาจไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากนัก และยังเป็นกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากความท้าทายทั้งหมดที่ว่ามา

โจทย์หนึ่งของ SME ที่มีการพูดถึงกันมานานมาก แต่ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน คือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เนื่องจาก SME ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสินเชื่อของภาคธนาคาร เพราะไม่มีประวัติหรือข้อมูลด้านเครดิตให้ธนาคารสามารถประเมินศักยภาพในการใช้คืนหนี้ได้อย่างเพียงพอ

กลไกค้ำประกันสินเชื่อในไทย คือการรับประกันแบบเหมาเข่ง (portfolio guarantee scheme) คือธนาคารส่งพอร์ตลูกหนี้ทั้งหมดให้ภาครัฐ และกำหนดทั้งหมดว่าจะค้ำประกันได้เท่าไร ข้อดีคือทําได้เร็ว ไม่ต้องประเมินลูกหนี้ทีละราย แต่ก็มีข้อเสียคือ ธนาคารเป็นผู้เลือกลูกหนี้ส่งให้ภาครัฐ ลูกหนี้ไม่มีโอกาสเลือกตนเอง และการที่ลูกหนี้ต้องจ่ายค่าค้ำประกัน 1.75% เท่ากันหมด แทนที่ควรจะเป็นตามกลไกตลาด ทำให้ธนาคารก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะคัดกรองลูกหนี้อย่างเข้มข้นมากพอ ลูกหนี้ก็ไม่มีแรงจูงใจมากพอในการเป็นลูกหนี้ที่ดี

แตกต่างกับในต่างประเทศที่ภาครัฐใช้กลไกการรับประกันรายตัว (direct guarantee/individual guarantee) อัตราค่าค้ำประกันและการคุ้มครองขึ้นอยู่กับการประเมินคุณภาพและศักยภาพในการชำระหนี้ นอกจากนั้น ภาครัฐยังออกจดหมายค้ำประกันให้ลูกหนี้แต่ละคนด้วยตัวเอง ทำให้ลูกหนี้มีอํานาจต่อรองกับธนาคารแต่ละแห่ง จึงเกิดการแข่งขันระหว่างธนาคารมากขึ้น ธนาคารก็มีแรงจูงใจในการคัดกรองลูกหนี้และติดตามหนี้ เพราะหมายถึงโอกาสในปีถัดไปที่จะได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาลด้วย

การที่จะสร้างระบบประเมินรายตัวได้ ภาครัฐหรือองค์กรค้ำประกันสินเชื่อจะต้องมีข้อมูลลูกหนี้ที่เป็นองค์รวมครบถ้วนเพียงเพียงพอ และประเมินได้ตรงประสิทธิภาพ ในต่างประเทศมีฐานข้อมูลของ SME ที่รวบรวมมาเป็นเวลานานและได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย รวมถึงลูกหนี้เองด้วยที่ให้ข้อมูลและเข้ามาในระบบ

บทความนี้จึงเสนอว่า วิธีการช่วยให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ตรงจุดโดยที่ไม่บิดเบือนแรงจูงใจ แต่เป็นการสร้างแรงจูงใจที่ดีนั้น SME ก็ควรจะต้องเข้ามาอยู่ในระบบภาษี เมื่อภาครัฐเก็บภาษีจาก SME ได้มากขึ้น ภาระภาครัฐก็จะน้อยลง ในขณะที่รายได้จากภาคจากการเก็บภาษีก็จะดีขึ้น สุดท้ายแล้ว SME ก็จะลดการพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐลงไปเรื่อยๆ เพราะต้องถีบตัวเองให้เก่งขึ้นเพื่อให้ได้ประโยชน์ด้านบวกจากโปรแกรมนี้มากขึ้น

สุดท้ายแล้ว สิ่งสำคัญคือการสร้าง incentive system ที่ถูกต้อง การสร้างแรงจูงใจที่ไม่บิดเบือน และการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ภาครัฐมีข้อมูลมาก ได้รับการรวบรวมข้อมูล สามารถใช้ในการออกแบบนโยบาย และการตัดสินใจใช้นโยบายเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายได้ ขั้นต่อไปคือการใช้ข้อมูลในการดำเนินนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และที่สำคัญไปกว่านั้น คือการใช้ข้อมูลเพื่อประเมินผลนโยบาย เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในการปรับเปลี่ยนโยบายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โลกปัจจุบันมีเทคโนโลยี รัฐบาลทำข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่พร้อมใช้งาน ตอบโจทย์การสร้างนโยบายสาธารณะที่มีประสิทธิภาพสูงสุดได้

สมประวิณ : ขอเสริมว่าประเทศไทยมีสัดส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลมากกว่าประเทศอื่นๆ ประเทศพัฒนาแล้วหรือกําลังพัฒนาส่วนใหญ่จะมีสินเชื่อธุรกิจมากกว่า ข้อมูลจากสถาบันวิจัยป๋วยชี้ให้เห็นว่า การจัดสรรทรัพยากรทางการเงินของไทยไม่ได้มีประสิทธิภาพสมบูรณ์ อย่างแรกคือจัดสรรไม่ทั่วถึง สองคือจัดสรรผิดที่ผิดทาง อาจเป็นไปได้ว่าผู้ประกอบการเข้าไม่ถึงสินเชื่อรูปแบบอื่น ปัญหาคืออัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลสูงถึงประมาณ 20% ในขณะที่ดอกเบี้ยสินเชื่อบริษัทมีอัตรา 6-7%

หากระบบกลไกไม่เอื้อให้มีการเข้าถึง ต้นทุนเขาก็จะเพิ่มขึ้นมหาศาล หรือหากเขาเข้าถึงผิดที่ก็มีปัญหา เราต้องเข้าใจว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ (informal sector) มีขนาดใหญ่ เราจะออกแบบกลไกของระบบสถาบันการเงินอย่างไรให้ตอบสนองต่อบริบทของไทย หากระบบการเงินออกแบบให้ปล่อยเงินกู้ได้กับคนที่พิสูจน์ได้ว่ามีสินทรัพย์ มีหลักประกัน (collateral) หรือมีธุรกิจแล้ว ยิ่งแปลว่าระบบการเงินอาจจะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำหรือเปล่า

จริงๆ แล้ว ระบบการเงินอาจจะควรให้สินเชื่อบนพื้นฐานของศักยภาพ คือความสามารถที่ยังไม่ได้พิสูจน์ และต้องพิสูจน์ในอนาคต หากเราออกแบบระบบการเงินให้ช่วยคนมีศักยภาพ แต่ยังไม่มีโอกาส ก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้

จากที่คุณณชาพูดเรื่องข้อมูล ประเทศไทยต้องมีสามอย่าง ได้แก่ คมชัด หลากหลาย และแลกเปลี่ยนได้

คมชัดหมายถึงต้องถูกต้อง เก็บข้อมูลได้ครบถ้วน หลากหลายคือ อาจมีคนที่ไม่ได้มีรายการเดินบัญชี (statement) จากธนาคาร ดังนั้น ข้อมูลทางเลือกอื่นๆ ก็จะต้องนำมาใช้ได้ แลกเปลี่ยนได้ นี่สําคัญมาก เพราะข้อมูลมีมาก แต่มักกระจัดกระจายหลายแหล่ง หากแลกเปลี่ยนได้ก็จะดี อย่างฮ่องกง มีการก่อตั้ง Commercial Credit Reference Agency (CCRA) ในปี 2004 เป็นหน่วยงานของรัฐ ทำหน้าที่ออกแบบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล และเขียนกรอบของการแลกเปลี่ยนข้อมูล

ดร.ณชา อนันต์โชติกุล

ดร.ณชา อนันต์โชติกุล

ข้อเสนอของคุณสมประวิณสำหรับเศรษฐกิจไทยในอนาคตที่ต้องตอบโจทย์ทั้งการเติบโต ความยั่งยืน และการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม คืออะไร

สมประวิณ : จากรายงาน Future of growth (WEF) เศรษฐกิจโลกเติบโตชะลอตัวลง สาระสำคัญที่ WEF ชี้ให้เห็นคือ เราไม่ควรมุ่งเน้นแค่ปริมาณ แต่คือคุณภาพ สิ่งสำคัญคือ อะไรทำให้ได้มาซึ่งตัวเลขการเติบโต และการเติบโตนั้นสร้างอะไรให้กับสังคมและชีวิตคน

WEF ได้มีการเสนอกรอบคิดในการประเมินคุณภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในสี่มิติ

ประการแรก Innovativeness การที่ระบบเศรษฐกิจซึมซับและวิวัฒน์ไปกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สังคม และโครงสร้างเชิงสถาบัน

ประการที่สอง Inclusiveness การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทําให้คนมีส่วนร่วมในโอกาสและประโยชน์จากการเติบโตนั้น

ประการที่สาม Sustainability การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต้องคำนึงถึงระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม

และประการสุดท้าย Resilience การที่ระบบเศรษฐกิจนั้นสามารถทนต่อช็อกและฟื้นตัวขึ้นมาได้

ประเทศไทยยังเกาะกลุ่มอยู่ในประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง แต่หากเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ไทยยังมีช่องว่างอยู่ คะแนนที่ประเทศไทยได้น้อยสุดคือ Sustainability แต่ด้านที่ประเทศไทยมีช่องว่างมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว คือ Inclusiveness

ต้องพิจารณาระบบการเงินและโครงสร้างของระบบการเงิน หากไทยพัฒนาภาคการเงินในเรื่องระบบนิเวศทางการเงิน (Financial ecosystem) ก็จะช่วยเพิ่ม Inclusiveness และ Sustainability ได้มาก อย่างแรกคือต้องพัฒนาเครื่องมือหรือกลไกในการแก้ความเหลื่อมล้ำ และอย่างที่สองคือต้องสนับสนุนการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) และสุดท้ายคือการจัดให้มีกลไกบริหารจัดการความเสี่ยงเชิงระบบในภาคการเงิน

สุดท้ายแล้วนำมาสู่ประเด็นของบทความที่เขียน คือการมีส่วนร่วมเป็นสิ่งสำคัญ เราอยู่ในขั้นของการปฏิรูป ซึ่งการปฏิรูปนี้มีความยากสองอย่าง อย่างแรกคือมีทั้งคนได้ประโยชน์และคนเสียประโยชน์ ดังนั้น ต้องทำให้ทุกคนมีส่วนร่วม คนที่เสียประโยชน์อาจไม่ยอมเสียวันนี้ แต่เขาต้องรู้ว่าถ้าไม่ยอมเสียวันนี้ อนาคตอาจเสียเยอะกว่า สุดท้ายอาจยอมมีส่วนร่วมผลักดัน อย่างที่สองคือใช้เวลา ซึ่งผู้คนอาจร่วมผลักดันเมื่อเขามีความเป็นเจ้าของร่วมและเห็นความก้าวหน้า โดยมีอีกสิ่งสำคัญคือความโปร่งใส ทั้งหมดนี้ การจะทำให้มีส่วนร่วมได้ ก็มีกรอบคิดของ OECD แล้ว ซึ่งเราหยิบมาใช้ได้

ณชา : ยากที่จะรู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นและเกิดในรูปแบบไหน ฉะนั้น วิธีการมองโจทย์และความท้าทายเช่นนี้ ก็ต้องว่าด้วยการบริหารจัดการความเสี่ยง (risk management) คือต้องเริ่มจากการระบุว่าปัญหาคืออะไร จะกระทบกับเศรษฐกิจอย่างไร และภาคส่วนไหนบ้าง ปัจจัยภายนอกคงเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เพราะคงจะเกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ดังนั้น หลังจากที่เราประเมินแล้วว่าจะเกิดผลกระทบ ก็ต้องให้ความสำคัญว่าสิ่งที่เราควบคุมได้มีอะไรบ้างและเตรียมตัวรับมือ นอกจากนั้น อีกสิ่งที่สำคัญคือความสามารถในการปรับเปลี่ยนตัวเองได้ทันเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เป็นไปตามที่เราวางแผนหรือคาดการณ์ไว้

สุดท้ายนี้ อยากฝากอะไรถึงผู้กำหนดนโยบายหรือภาคเอกชน

สมประวิณ : ในภาคเอกชน ทุกคนตระหนักและอยากปรับตัวแน่นอน แต่มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับทรัพยากรที่มี คนตัวใหญ่อาจปรับตัวได้ แต่ 97% ที่เหลือ จะทำอย่างไร หากรอภาครัฐไม่ได้ อาจเริ่มในห่วงโซ่อุปทาน ช่วยกัน ส่วนภาครัฐ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรมาก แต่เราใช้ทรัพยากรไม่เป็น จึงจำเป็นต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบ ภาครัฐควรเป็นเจ้าภาพให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการจุดประเด็นปัญหา

ณชา : ขอให้กำลังใจผู้ออกแบบนโยบายในภาวะที่ความท้าทายค่อนข้างมาก และประชาชนที่เผชิญภาวะเศรษฐกิจโตช้า ซึ่งกระทบชีวิตและอนาคต หวังว่าในท้ายที่สุดแล้ว การมีส่วนร่วมของพวกเราทุกคนจะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาแข็งแกร่งได้อีกครั้ง

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save