วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เรื่อง
ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง สังคมมักต้องการกรอบคิดที่เป็นภาพใหญ่ระดับ grand strategy ที่สามารถอธิบายได้ว่า เรากำลังอยู่ตรงไหนในประวัติศาสตร์ และควรระดมสรรพกำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางใด
ดังเช่นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ฟองสบู่แตก ธุรกิจล้มละลาย ผู้คนตกงานมีหนี้สินล้นพ้นตัว ในหลวงรัชกาลที่เก้าทรงมีพระราชดำรัสเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เสนอแนวคิด “ฉันทามติแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” ในขณะที่นักคิดอีกหลายท่านเสนอว่า “คำตอบอยู่ที่ชุมชน”
แม้เราจะผ่านพ้นวิกฤตครั้งนั้นมาได้ แต่คงไม่มีใครกล้ายืนยันว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่บนเส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ ความถดถอยทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำกลายเป็นปัญหารูปธรรมที่จับต้องได้ พอๆ กับความขัดแย้งที่เสมือนภูเขาไฟรอวันปะทุ
อะไรควรเป็น grand strategy ของประเทศไทยในปัจจุบัน กรอบใหญ่ที่สังคมควรสนใจ และจุดตั้งต้นในการมองปัญหาควรอยู่ที่ใด
บทความนี้เสนอว่า ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม
ระบบทุนนิยมควรเป็นทั้งหน่วยในการมองปัญหา และเป็นกรอบใหญ่ในการคิดระยะยาวของประเทศไทย เพราะทุนนิยมเป็นรากฐานและพลังขับเคลื่อนสังคมที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ แต่ทุนนิยมก็มีหลายรูปแบบ ไม่ใช่เพียงเสรีนิยมใหม่หรือโลกาภิวัตน์ที่ต่อกรไม่ได้อย่างที่หลายคนคิด อีกทั้งเรายังสามารถออกแบบทุนนิยมได้ ผ่านกระบวนการทางการเมือง เพื่อสร้างสังคมที่ทุกคนพอจะอยู่ร่วมกันได้อย่างเสมอหน้าทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง
1. ทุนนิยมเป็นกลไกทรงพลังที่ผู้แพ้เข้าไม่ถึง แต่ผู้ชนะมักรังเกียจ
“ทุนนิยม” มีสถานภาพแปลกประหลาดในสังคมไทย เพราะผู้ชนะในเกมทุนนิยมมักรังเกียจและเป็นแนวหน้าในการต่อต้านทุนนิยมเสียเอง ในขณะที่ผู้แพ้กลับเป็นคนที่ไม่สามารถเข้าถึงทุนและถูกกล่อมให้ยอมรับชะตากรรม แต่เอาเข้าจริง มีสักกี่คนที่เข้าใจความหมายและการทำงานของทุนนิยม
ทุนนิยม (capitalism) คือระบบเศรษฐกิจที่มีการผลิตเพื่อแสวงหาผลกำไร ไม่ใช่ผลิตเพื่อยังชีพหรือตามคำสั่งผู้ปกครอง ทุนนิยมกำเนิดขึ้นอย่างเชื่องช้าในศตวรรษที่ 16 และแพร่หลายมากขึ้นในสองศตวรรษต่อมา โดยมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยส่งเสริม
ทุนนิยมเดินทางผ่านช่วงเวลารุ่งโรจน์ ร่วงโรย และสะบักสะบอมด้วยวิกฤตการณ์การเงินอยู่เป็นระยะ แม้ประเทศมหาอำนาจในโลกจะเปลี่ยนหน้าไปมาตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา แต่ทุนนิยมก็ยังเป็นกลไกหลักอยู่เช่นเดิม ยังไม่มีระบบการจัดการเศรษฐกิจรูปแบบอื่นมาแทนที่ได้
คู่ต่อกรที่สมน้ำสมเนื้อที่สุดของทุนนิยมคือ คอมมิวนิสต์ (communism) ซึ่งนำโดยกลุ่มนักคิดและนักปฏิวัติที่เห็นว่าทุนนิยมเป็นกลจักรขูดรีดไร้อนาคต แต่ “การทดลอง” สร้างระบอบคอมมิวนิสต์ในรัสเซีย จีน และเยอรมนีตะวันออกช่วงกลางศตวรรษที่ 20 กลับสร้างหายนะและทุพภิกขภัยอย่างกว้างขวาง
ตรงกันข้ามกับระบบทุนนิยมที่เกิดการปรับตัวครั้งใหญ่หลังมหาวิกฤตเศรษฐกิจปี 1929 สหรัฐอเมริกาแยกธุรกิจธนาคารพาณิชย์ออกจากวาณิชธนกิจ ควบคุมตลาดหลักทรัพย์อย่างเข้มงวด และออกกฎหมายประกันสังคม สวีเดนที่นำโดยพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (Swedish Social Democratic Party) ปฏิรูปเข้มข้นยิ่งกว่า มีการประชุมระดับชาติระหว่างสมาคมนายจ้างกับสหภาพแรงงาน นำไปสู่การจัดสรรงบประมาณเพื่อประกันการว่างงาน เพิ่มเงินบำนาญผู้สูงอายุ และประกันราคาสินค้าเกษตร หน่ออ่อนของรัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้ก็ในยุคแห่งความโกลาหลนี่เอง
กระทั่งชัยชนะของทุนนิยมเหนือคอมมิวนิสต์ในสงครามเย็นเมื่อปลายทศวรรษ 1980 ก็ไม่ได้ทำให้พัฒนาการของทุนนิยมจบสิ้นลงแต่อย่างใด ความน่าตื่นเต้นกลับเริ่มขึ้นหลังจากนั้น เพราะเราเริ่มเห็นทุนนิยมหลากหลายรูปแบบค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในแต่ละประเทศ
พูดอีกอย่างก็คือ ทุนนิยมเอาชนะคอมมิวนิสต์ได้ ไม่ใช่เพราะบรรดาประเทศมหาอำนาจค้นพบ “สูตรสำเร็จ” หนึ่งเดียวที่เป็นอมตะนิรันดร์กาล แต่เป็นเพราะทุนนิยมสามารถแพร่พันธุ์ผลิดอกผลที่แตกต่างกันไปในแต่ละผืนดิน
2. ทุนนิยมมีหลากรูปแบบหลายเฉด – ทุนนิยมอเมริกันเป็นแค่แบบหนึ่งเท่านั้น
เมื่อครั้งคำว่า “โลกาภิวัตน์” ฮิตขนาดเป็นพาดหัวข่าวได้นั้น นักคิดเสรีนิยมส่วนใหญ่เชื่อกันว่าประเทศทั่วโลกไม่มีทางเลือกอื่นใดแล้ว นอกจากเดินเข้าสู่เส้นทางทุนนิยมที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบเท่านั้น
แต่พวกเขาคิดผิด เพราะความทรงพลังของทุนนิยมอยู่ที่การเป็นกลไกทางเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นและหลากหลายในตัวเอง
หากเราทำอัลตราซาวด์เพื่อดูสิ่งที่เรียกว่าทุนนิยม ภายในนั้นเราจะพบ “อวัยวะภายใน” ที่สำคัญคือ องค์กรธุรกิจ ตลาดแรงงาน ระบบการศึกษาและการฝึกอบรม ตลาดการเงิน และภาครัฐที่เป็นเสมือนกระดูกสันหลัง ทุนนิยมจะทำงานได้ดีหรือไม่ หรือเติบโตไปในทิศทางใดขึ้นกับว่าอวัยวะภายในเหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร
ในหมู่ประเทศตะวันตกมีทุนนิยมอย่างน้อย 3 รูปแบบ
หนึ่งคือ ทุนนิยมแบบตลาดเสรี (liberal market economy) ซึ่งอวัยวะภายในสัมพันธ์กันและถูกขับเคลื่อนด้วย “การแข่งขัน” มีกลไกราคาเป็นหัวใจหลักที่สูบฉีดระบบ ผู้บริหารองค์กรธุรกิจและแรงงานในระบบนี้ต้องตอบสนองต่อเป้าหมายระยะสั้น แต่ก็สามารถย้ายงานและเรียกค่าตอบแทนได้ค่อนข้างเสรี มีตลาดทุนเป็นเครื่องมือหลักทางการเงิน แน่นอนว่าทุนนิยมแบบนี้มีสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นต้นแบบ ทุนนิยมลักษณะนี้มักเก่งในอุตสาหกรรมที่ต้องสร้างนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ เซมิคอนดักเตอร์ หรือซอฟต์แวร์
แต่หากอวัยวะภายในทุนนิยมสัมพันธ์กันด้วย “ความร่วมมือ” เป็นหลัก โดยผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเดียวกันมักแลกเปลี่ยนข้อมูลและลงทุนระยะยาวร่วมกัน แรงงานถูกฝึกอบรมเฉพาะทางและต่อรองกับนายจ้างผ่านสหภาพแรงงาน อีกทั้งธนาคารยังคงเป็นแหล่งระดมทุนสำคัญ นี่คือ ทุนนิยมแบบตลาดประสานงาน (coordinated market economy) ที่มีเยอรมนีและญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ และมักเก่งในอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยนวัตกรรมแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น ยานยนต์และเครื่องจักรกล
นอกเหนือไปจากทุนนิยมสองแบบนี้ ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย คือ เดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดน ยังมีลักษณะโดดเด่นจนถูกจัดให้เป็น ทุนนิยมแบบสวัสดิการ (welfare capitalism) ด้วยบริการถ้วนหน้าของภาครัฐในด้านสุขภาพ การศึกษา และเงินบำนาญ แต่ระบบนี้ก็ต้องหล่อเลี้ยงด้วยอัตราภาษีที่สูงมาก เช่น กลุ่มคนรายได้สูงสุดบางพื้นที่ต้องจ่ายภาษีเงินได้ถึงร้อยละ 55-60 เลยทีเดียว นอกจากนี้ ประเทศทุนนิยมสวัสดิการเหล่านี้ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่ช่วยแปลงเป็นรายได้ส่งออก เช่น นอร์เวย์มีน้ำมันและสวีเดนมีป่าไม้
ถึงที่สุดแล้ว ทุนนิยมจึงเป็นเพียงคำที่มีความหมายกว้างๆ เท่านั้น จะรู้จักทุนนิยมให้ลึกซึ้งก็ต้องอัลตราซาวด์ดูว่าอวัยวะหลักภายในของแต่ละที่มีความเชื่อมโยงกันแบบไหน ประเทศทุนนิยมอาจมีหัวใจหลักอยู่ที่ตลาดเสรี ตลาดประสานงาน หรือกลไกสวัสดิการของรัฐก็ได้
แต่นัยที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ความหลากหลายของทุนนิยมนี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่เป็นผลจากการออกแบบด้วยน้ำมือมนุษย์
3. ทุนนิยมออกแบบได้ และไทยมีระบบทุนนิยมแบบจอมพลสฤษดิ์
ในอีกซีกโลกหนึ่ง ประเทศกำลังพัฒนาที่เลือกเส้นทางทุนนิยมก็มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและไม่ค่อยสำเร็จ หากนับจากหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา กลุ่มที่มาทีหลังแต่ไปไกลที่สุดคงหนีไม่พ้นเสือเศรษฐกิจแห่งเอเชียตะวันออก คือ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ซึ่งทั้งสามประเทศก็เป็น “เสือคนละสายพันธุ์” เช่นกัน
ระบบทุนนิยมในเกาหลีใต้กับไต้หวันอาจดูคล้ายกัน เพราะต่างได้รับอิทธิพลญี่ปุ่น แต่หัวหอกที่ขับเคลื่อนทุนนิยมของทั้งสองประเทศกลับแตกต่างกัน ไต้หวันมีวิสาหกิจขนาดกลางและเล็ก หรือ SMEs เป็นกลจักรสำคัญในช่วงไล่กวดทางเศรษฐกิจ ในขณะที่เกาหลีใต้มีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุงหรือฮุนไดเป็นแม่ทัพเศรษฐกิจ สิงคโปร์แตกต่างกว่าใครเพื่อน เพราะมีส่วนผสมทุนนิยมอันแสนประหลาด ระหว่างการเปิดเสรีการค้าการลงทุนกับการแทรกแซงกลไกตลาด (แบบซ่อนรูป) ผ่านรัฐวิสาหกิจและกฎระเบียบของรัฐบาล
ส่วนประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ประสบความสำเร็จนัก เช่น ลาตินอเมริกา ถูกขนานนามว่ามี ทุนนิยมแบบช่วงชั้น (hierarchical capitalism) กล่าวคือ ระบบเศรษฐกิจขาหนึ่งถูกควบคุมโดยบรรษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ส่วนอีกขาหนึ่งมีธุรกิจครอบครัวของเศรษฐีท้องถิ่นครอบงำ กิจการท้องถิ่นขนาดเล็กแทบไม่มีอำนาจต่อรอง การจ้างงานมักทำผ่านสัญญาระยะสั้นและแรงงานมักไม่ได้รับการพัฒนาทักษะ
ทุนนิยมไทยมีลักษณะคล้ายกับลาตินอเมริกาในหลายด้าน แต่ผมเสนอว่าทุนนิยมไทยที่อยู่กับเราทุกวันนี้เป็นมรดกตกทอดมาจากยุคของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ – เรียกได้ว่าเป็น ทุนนิยมแบบจอมพลสฤษดิ์
ถึงแม้จอมพลสฤษดิ์จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการไม่ถึง 5 ปี (พ.ศ. 2502-2506) แต่ก็เป็นระบอบที่วางรากฐานทุนนิยมไทยให้เติบโตต่อเนื่อง แทบไม่เคยสะดุดเลยจนถึง พ.ศ. 2540
อย่างไรก็ดี หากเราลองอัลตราซาวด์ดูกลไกเบื้องหลังการเติบโตดังกล่าว จะพบว่าทุนนิยมแบบจอมพลสฤษดิ์เป็นทุนนิยมที่มีธนาคารพาณิชย์ของเจ้าสัวเพียงไม่กี่รายเป็นหัวใจหลัก โดยมีทหารและเทคโนแครตเป็นพันธมิตรที่คอยเกื้อหนุน
ในขณะที่กลไกตลาดเป็นหัวใจของประเทศตะวันตก และรัฐเป็นหัวใจของเอเชียตะวันออก ประเทศไทยยุคไล่กวดทางเศรษฐกิจมีธนาคารพาณิชย์เป็นศูนย์กลางในการจัดสรรเงินทุน ธนาคารเพียงไม่กี่รายมีอำนาจสูงถึงขั้นที่สามารถกำหนดชะตาของบริษัทและอุตสาหกรรมได้เลยทีเดียว ทั้งยังพร้อมกระโดดลงมาทำธุรกิจเองเมื่อเห็นช่องทางทำกำไร
ผู้ชนะที่แท้จริงจากการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยจึงเป็นบรรดาธนาคารพาณิชย์นั่นเอง จนถึงกลางทศวรรษ 1980 ธนาคารห้าแห่งมีสินทรัพย์รวมกันถึง 480,000 ล้านบาท หรือราวร้อยละ 70 ของจีดีพีประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมไทยกลับเติบโตอย่างไร้ทิศทาง โดยอิงกับความสัมพันธ์ส่วนตัวและการเมืองเป็นหลัก
นอกจากเป็นทุนนิยมที่มีธนาคารเป็นศูนย์กลางแล้ว มรดกที่จอมพลสฤษดิ์ทิ้งไว้ยังเป็นโครงสร้างรัฐราชการที่เทอะทะรวมศูนย์ และอุดมการณ์ของเทคโนแครตที่ผูกติดกับการจัดการเศรษฐกิจมหภาค อันต่างจากประเทศเอเชียตะวันออกที่ระบบราชการเพิ่มประสิทธิภาพขึ้นตามเวลาและให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมและการกระจายรายได้เหนือตัวเลขมหภาคอย่างอัตราเงินเฟ้อ
ทุนนิยมไทยโดยเฉพาะช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 จึงมีลักษณะเติบโตรวดเร็วแต่เหลื่อมล้ำสูง และขับเคลื่อนไปในทิศทางที่สมประโยชน์ของเครือข่ายธนาคาร-นายทหาร-เทคโนแครต
ส่วนคำถามว่าทุนนิยมไทยเปลี่ยนแปลงไปเพียงใดหลังวิกฤต ก็ลองตรองกันดูเถิดว่า ธนาคาร-นายทหาร-เทคโนแครต ยังมีบทบาทต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด การพัฒนาความสามารถในการผลิตกับการลดความเหลื่อมล้ำอยู่ตรงไหนในวาระแห่งชาติ และมีอุตสาหกรรมกี่ประเภทที่ใช้กลไกตลาดเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก
แต่ประเด็นสำคัญเชิงนโยบายก็คือ รูปแบบและดอกผลของทุนนิยมแบบไทยดังกล่าวไม่ได้เกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติหรือแรงบีบจากมหาอำนาจ เท่ากับการออกแบบที่เกิดจากการต่อรองระหว่างพันธมิตรทางการเมือง
4. การเมืองเป็นเครื่องจัดการทุนนิยม
ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบภายในระบบทุนนิยมที่แตกต่างกันทำให้ทุนนิยมมีหลายรูปแบบ โดยที่ความแตกต่างดังกล่าวเป็นผลจากกระบวนการต่อสู้ ต่อรอง และประนีประนอมทางการเมือง
ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จของทุนนิยมในประเทศตะวันตกและเอเชียตะวันออก หรือความไม่ค่อยสำเร็จของทุนนิยมในลาตินอเมริกาและไทยก็ล้วนเกิดขึ้นผ่านกระบวนการนี้
เบื้องหลังทุนนิยมแบบตลาดเสรีของสหรัฐฯ คือ สงครามกลางเมืองและบทบาทของศาลสูงที่ตีความรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อลดกำแพงกีดกันการค้าระหว่างมลรัฐ
เบื้องหลังทุนนิยมแบบประสานงานของเยอรมนี คือ บทบาทเข้มข้นของสหภาพแรงงาน และการปะทะต่อรองกับฝ่ายบริหารอย่างต่อเนื่อง
เบื้องหลังตึกสูงเสียดฟ้าในกรุงโซลและระบบสวัสดิการระยะหลังของเกาหลีใต้ คือ หยาดเหงื่อและหยดเลือดของนักศึกษาและขบวนการแรงงานที่สู้กับเผด็จการทหารยาวนานข้ามทศวรรษ
การเมืองไม่ใช่พื้นที่น่ารังเกียจ เพราะในความหมายกว้างที่สุด การเมืองคือกระบวนการตัดสินใจเพื่อใช้อำนาจจัดสรรทรัพยากรของสังคม เศรษฐกิจกับการเมืองจึงแยกกันไม่ออก ทุนนิยมจะเป็นรูปแบบใดย่อมขึ้นกับว่าผู้คนเข้ามาต่อรองกันผ่านกลไกการเมืองอย่างไร
หากเราจำเป็นต้องคิดเรื่อง grand strategy กันจริงจัง ผมจึงเห็นว่า “ทุนนิยม” ควรเป็นกรอบใหญ่ในการขบคิดและถกเถียง
โครงสร้างเศรษฐกิจที่ตีบตัน ความมั่งคั่งที่กระจุกตัว หรือความไม่มั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน ณ ปัจจุบัน มากบ้างน้อยบ้างก็เป็นดอกผลของเส้นทางทุนนิยมที่ประเทศไทย “เลือก” เดินเมื่อต้นพุทธศตวรรษ
แน่นอนว่าการปล่อยไปตามยถากรรมก็นับเป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะเท่ากับการอนุรักษ์ทุนนิยมที่มีจอมพลสฤษดิ์เป็นสถาปนิกให้เป็นมรดกตกทอดอยู่กับเราไปเรื่อยๆ จนกระทั่งทุนนิยมกลายเป็น “ทางตัน” ในที่สุด
แต่ถ้าสังคมเห็นแจ้งว่าทุนนิยมสามารถออกแบบและเปลี่ยนแปลงได้ผ่านกลไกการเมือง เราก็จะเดินไปสู่ก้าวแรกในการสร้างระบบทุนนิยมที่เหมาะกับยุคสมัยและตอบสนองผลประโยชน์ของคนหมู่มากได้
แล้วทุนนิยมก็จะกลายเป็น “ทางออก” ของสังคม
อันโตนีโอ กรัมชี นักคิดชาวอิตาลีเคยกล่าวไว้ “จงมองโลกในแง่ร้ายด้วยสติปัญญา และสร้างโลกที่ปรารถนาด้วยเจตจำนง”
ผมขอปรับให้คิดต่อว่า “จงมองทุนนิยมในแง่ร้ายด้วยสติปัญญา และสร้างทุนนิยมที่ปรารถนาด้วยเจตจำนง”
อ้างอิง/ อ่านเพิ่มเติม
- ตัวอย่างหนังสือที่ชวนคิดเรื่อง grand strategy ในสังคมไทยด้วยกรอบอื่น เช่น ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เรื่อง “PAST – ปัญญาอดีต” และ “FUTURE – ปัญญาอนาคต” ของสำนักพิมพ์ openbooks.
- วลี “สังคมเสมอหน้า” นำมาจาก ผาสุก พงษ์ไพจิตร (บรรณาธิการ) (2557). สู่สังคมไทยเสมอหน้า: ชำแหละความมั่งคั่ง ตีแผ่โครงสร้างอำนาจ สู่วิธีการปฏิรูป. สำนักพิมพ์มติชน.
- พัฒนาการทุนนิยมโลก ดู ฮาจุน ชาง (2560). เศรษฐศาสตร์ [ฉบับทางเลือก]. สำนักพิมพ์ openworlds.
- ทุนนิยมแบบตลาดเสรีและตลาดประสานงาน ดู Peter Hall and David Soskice (eds.) (2001). Varieties of Capitalism: The Institutional Foundations of Comparative Advantage. Oxford University Press.
- ทุนนิยมสวัสดิการหลายเฉด ดู Gosta Esping-Andersen (2013). The Three Worlds of Welfare Capitalism. Polity Press.
- ทุนนิยมช่วงชั้นในลาตินอเมริกา ดู Ben Ross Schneider (2013). Hierarchical Capitalism in Latin America. Cambridge University Press.
- ทุนนิยมแบบจอมพลสฤษดิ์ ดู Veerayooth Kanchoochat (forthcoming 2018) “Thailand Trapped: Catch-up Legacies and Contemporary Malaise,” TRaNS: Trans-Regional and -National Studies of Southeast Asia, Vol.7.
- บทบาทของธนาคารพาณิชย์และพันธมิตรในยุคจอมพลสฤษดิ์ ดู อภิชาต สถิตนิรามัย (2556). รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ: จากกำเนิดทุนนิยมนายธนาคารถึงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540. สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน.
- บทบาทของรัฐในการจัดการเศรษฐกิจหลากรูปแบบ ดู นพนันท์ วรรณเทพสกุล (2560). รัฐพัฒนาการ: อุดมการณ์และจินตภาพการพัฒนาเศรษฐกิจ. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.