fbpx

เปิดขุมทรัพย์ สร้างความโปร่งใสแก่ธุรกิจกองทัพไทย กับ เบญจา แสงจันทร์

เมื่อพูดถึงธุรกิจกองทัพ หรือ ‘เสนาพาณิชย์’ ภาพจำของคนทั่วไปอาจเป็นภาพธุรกิจสนามมวย สนามกอล์ฟ หรือสโมสรต่างๆ แต่หลังการอภิปรายในสภาฯ ของพรรคก้าวไกลในวันที่ 25 มกราคม 2567 ได้เผยให้เห็นว่าธุรกิจกองทัพนั้นมีจำนวนมากกว่าที่คิด และที่สำคัญ คือธุรกิจเหล่านั้นไม่ได้รับการตรวจสอบ ทั้งรายได้ และปลายทางของรายได้เหล่านั้น ทำให้เกิดข้อสงสัยในใจประชาชน และกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

‘กมธ. พิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่น’ ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ถือเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายการเมืองเข้าไปตรวจสอบธุรกิจกองทัพอย่างเป็นทางการ และเป็นที่น่าจับตามองว่าหลังจากจัดการประชุมเริ่มดำเนินงาน มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง คณะกรรมาธิการนี้จะเป็นความหวังของการปฏิรูปกองทัพไทยได้มากแค่ไหน

101 ชวน เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และหนึ่งในคณะกรรมาธิการถ่ายโอนธุรกิจกองทัพฯ มาร่วมวิเคราะห์ถึงรูปแบบของธุรกิจของทัพ ปัญหาที่พบ และแนวทางในการปฏิรูปธุรกิจกองทัพให้โปร่งใส ไปจนถึงเป้าหมายสูงสุดอย่างการคืนทหารกลับมาทำหน้าที่ให้ประชาชน


YouTube video

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-one Ep.319 เปิดขุมทรัพย์ – ธุรกิจกองทัพไทย กับ เบญจา แสงจันทร์ ออกอากาศวันพฤหัสบดี ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์



ธุรกิจกองทัพใหญ่แค่ไหน อะไรที่คนทั่วไปอาจไม่รู้

ภาพจำของธุรกิจกองทัพอย่างสนามกอล์ฟ สนามมวย สโมสร โรงแรม ปั๊มน้ำมัน ถือเป็นเพียงธุรกิจย่อยเท่านั้น และอยู่ภายใต้โครงสร้างขุมทรัพย์ของธุรกิจกองทัพ ดังนั้นหากถามว่ามีอะไรที่เป็นธุรกิจกองทัพบ้าง อยากชวนคิดมุมกลับว่า ‘มีอะไรที่ไม่ได้เป็นธุรกิจในกองทัพอีกบ้าง’ เพราะตั้งแต่เกิดจนตาย แทบจะไม่มีธุรกิจใดที่ไม่มีกองทัพเข้าไปเกี่ยวข้อง แม้แต่ตอนตายยังมีธุรกิจรับจ้างลอยอังคาร โดยใช้เรือของในราชการออกไปลอยอังคาร หรือตั้งแต่ลืมตาตื่น ทำกิจวัตรประจำวันอย่างแปรงฟัน ทานอาหาร ธุรกิจเหล่านี้ก็อยู่ในร้านค้าสวัสดิการของกองทัพ เรียกได้ว่ามีธุรกิจครบวงจรชีวิตของคน และยังมีธุรกิจอื่นๆ เช่น ขายรถยนต์ ขายแม็กซ์รถยนต์อยู่ในค่ายทหาร ร้านตัดผมในค่ายทหาร บาร์ลับ และอื่นๆ อีกมากมาย


เนื้อหาสาระสำคัญจากการอภิปรายเรื่อง ‘ธุรกิจกองทัพ’ ที่นำมาสู่การตรวจสอบ คืออะไรบ้าง

ธุรกิจกองทัพ จะแบ่งประเภทตามขุมทรัพย์หลัก โดยในขุมทรัพย์หลักนั้น จะมีโครงข่ายธุรกิจที่อยู่ภายใต้อีก

1. ที่ดินที่ราชพัสดุ : กองทัพทั้งสามเหล่าทัพขอใช้ที่ดินเกือบ 7 ล้านไร่ จากที่ราชพัสดุที่มีอยู่ประมาณ 12 ล้านไร่ทั่วประเทศ โดยนำมาใช้ทำธุรกิจย่อยจำนวนมาก อย่างสนามกอล์ฟ สนามมวย สนามม้า โรงแรม สถานพักฟื้น สโมสร ไปจนถึงร้านค้าสวัสดิการที่ขายทุกอย่างในชีวิตประจําวันของเรา กล่าวคือ แม้จะบอกว่าจะใช้ที่ดินเพื่อราชการทางทหาร แต่กลับนำไปใช้ทำธุรกิจ นอกจากนั้นยังมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งขายที่ดิน ขายบ้านจัดสรร

แน่นอนว่าที่ดินเหล่านี้เป็นที่ดินของรัฐ เป็นสมบัติของแผ่นดิน แต่กลับมีผลประโยชน์จำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ มีเงินนอกงบประมาณ [1] จากธุรกิจเหล่านี้ แม้จะสรุปส่งคืนคลัง แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่มีข้อตกลงกับคลังว่าจะจัดสรรเงินนอกงบประมาณนี้อย่างไร เช่น แบ่งคืนเข้ารัฐร้อยละ 50 และกลับคืนกองทัพไปเป็นสวัสดิการร้อยละ 50

2. บอร์ดรัฐวิสาหกิจ : รายได้ของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 56 แห่งในประเทศไทยมีมูลค่ามหาศาล ส่งผลให้คนจำนวนมากสนใจอยากเข้าไปนั่งเป็นบอร์ด โดยมีผลประกอบการให้กลุ่มคนที่ไปนั่งเป็นบอร์ดด้วย ทั้งเงินเดือน ค่าเบี้ยประชุม โบนัส จึงถือเป็นขุมทรัพย์หนึ่งของนายพล นายทหารชั้นนํา ดังจะเห็นว่าทุกครั้งที่มีการยึดอํานาจ จะมีการตั้งนายพลเข้าไปนั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจจํานวนมาก ซึ่งขุมสมบัตินี้ยังนํามาซึ่งสายสัมพันธ์เพื่อเข้าสู่ตําแหน่งทางการเมือง หรือเข้ามาแบ่งปันผลประโยชน์จากรัฐและรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ด้วย

3. งบประมาณแผ่นดิน  : ในปี 2548 (ก่อนเกิดรัฐประหารในปี 2549) กระทรวงกลาโหมได้งบประมาณที่ประมาณ 80,000 ล้านต่อปี แต่หลังเกิดรัฐประหาร งบประมาณของกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า และหลังจากรัฐประหารปี 2557 งบประมาณเพิ่มขึ้นคิดเป็นสามเท่าจากปี 2548 และไม่เคยลดลงอีกเลย

งบประมาณนี้นํามาซึ่งการเปิดบริษัทรับทําธุรกิจต่างๆ และอาจส่งผลให้เกิดการฉ้อฉลในโครงการรัฐ ไม่ว่าจะเป็นโครงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ การจัดซื้อเรือดําน้ำ ไปจนถึงเรื่องการฝึกยุทโธปกรณ์ โดรน หรือ GT200 ที่ใช้งานไม่ได้จริง โดยธุรกิจต่างๆ ก็หมุนเวียนอยู่ในค่ายทหารและในกองทัพ จําหน่ายสินค้าเหล่านี้ให้กับกองทัพเอง ซึ่งเราก็ไม่สามารถทราบได้ว่ารายได้จริงๆ เป็นจํานวนเท่าไหร่

4. คลื่นวิทยุและคลื่นโทรทัศน์ : เป็นส่วนที่เรียกได้ว่าเป็น ‘แดนสนธยา’ เนื่องจากไม่มีใครเคยเข้าไปตรวจสอบธุรกิจนี้ จากการประชุมมีเรื่องที่น่าสนใจหลายประเด็น ยกตัวอย่าง ททบ.5 ซึ่งมีสถานะไม่ชัดเจนว่าเป็นหน่วยงานรัฐ นิติบุคคล หรืออื่นๆ โดยในอดีต สํานักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยสอบถามว่า ททบ.5  คือหน่วยงานอะไร ก็ได้รับการตอบรับกลับมาหลายครั้งว่าไม่ได้เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมาย และเป็นกิจการหนึ่งภายใต้หน่วยงานของกองทัพบกที่เป็นนิติบุคคลเท่านั้น แต่หลังจากการพูดคุยในคณะกรรมาธิการ ตัวแทนจึงตอบว่าเป็นหน่วยงานรัฐ ซึ่งหากเป็นหน่วยงานรัฐ จะต้องได้รับการตรวจสอบจาก สตง. แต่ 67 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2500 งบการเงินของ ททบ.5 ไม่เคยได้รับการตรวจสอบเลย ดังนั้นปีนี้จะเป็นปีแรกที่ สตง. เข้าตรวจสอบงบการเงิน

นอกจากนั้นยังมีเรื่องคลื่นวิทยุ ซึ่งมีจำนวนถึง 205 คลื่นที่เป็นของกองทัพ และยังสร้างกําไรอยู่ เรียกว่าเป็น ‘เสือนอนกิน’ คือไม่ต้องทําอะไร แต่ได้รับเงินค่าเช่าและค่าสัมปทานจากการเช่าคลื่นวิทยุอยู่ ซึ่งใน 1 ปี คลื่นคลื่นหนึ่งมีมูลค่าอย่างต่ำที่สุดประมาณ 30 กว่าล้านบาท ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่ารายได้นี้เข้ากระเป๋าใคร หรือจัดสรรให้เป็นสวัสดิการของกองกําลังพลคนใดหรือเปล่า และยังไม่รวมถึงค่าโฆษณาที่มีมูลค่ามหาศาลเช่นกัน

5. ธุรกิจพลังงาน : อยู่ในมือของสามเหล่าทัพ โดยเป็นธุรกิจที่ครบวงจร นั่นคือเมื่อขุดน้ำมันได้ที่ฝาง ในศูนย์ขุดน้ำมันที่ภาคเหนือ จะมีโรงกลั่น เมื่อเอาน้ำมันดิบไปกลั่น น้ำมันที่เหลือที่เป็นดีเซลก็นําไปผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าในค่ายทหาร ซึ่งทหารสามารถมีพลังงานสํารองไว้ใช้ในยามฉุกเฉินหรือเอาไว้ป้องกันประเทศได้ แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาคือมีพลังงานที่ถูกขายออกไปยังหน่วยงานราชการภายนอกและเอกชนหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่ามีใบอนุญาตให้ขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งรายได้ไม่เคยปรากฏ

แต่เราสามารถคำนวณได้ว่าน้ำมันมีมูลค่ามหาศาล โดยพบข้อมูลจากกองทัพที่เคยชี้แจงผ่านเพจที่เป็นทางการว่า ใน 1 วัน กองทัพขุดน้ำมันได้ประมาณ 700-900 บาร์เรล หรือคิดเป็นปีละประมาณ 300,000 บาร์เรล หากอิงตามราคากลางน้ำมันดิบตามราคาตลาดโลก ก็จะมีมูลค่าประมาณ 40,000 กว่าล้านบาทต่อปี ซึ่งมีการขุดน้ำมันมาแล้วกว่า 60 ปี แต่รายได้ส่วนนี้ไม่มีใครเคยตรวจสอบได้ว่าไปอยู่ที่ไหน ด้วยข้ออ้างเรื่องความมั่นคง

นอกจากนั้นยังมีธุรกิจไฟฟ้า อย่างโซลาร์ฟาร์ม ที่กองทัพเรือมีการร่วมทุนกับบริษัทเอกชน เซ็นสัญญาผลิตไฟฟ้าแล้วที่สนามบินอู่ตะเภา อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มีเงินรายได้มูลค่ารวมทั้งโครงการประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รู้ว่ารายรับจะจัดส่งคืนคลัง หรือนําไปจัดเป็นสวัสดิการชนิดใด

อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียง 5 ธุรกิจหลักซึ่งเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของทั้งหมดเท่านั้น ยังมีธุรกิจอื่นๆ อีกมากที่ยังไม่ได้พูดถึง เช่น  ธุรกิจกีฬา หรือมูลนิธิต่างๆ ที่ถือเป็นแหล่งผ่านรายได้อีกด้วย




‘ธุรกิจกองทัพ’ กับ ‘ทหารคอร์รัปชัน’ เป็นสิ่งเดียวกันไหม

อาจเกี่ยวข้องกันก็ได้ เนื่องจากธุรกิจของกองทัพคือการเอารายได้เข้ารัฐ แต่ถ้าหากใช้ทรัพยากรของกองทัพไปเปิดบริษัท แล้วเอาเงินเข้าตัวเอง จะกลายเป็นการคอร์รัปชัน และยังมีข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คือแม้เราจะบอกว่าธุรกิจกองทัพมีส่วนหนึ่งเป็นเงินเข้ารัฐ แต่ยืนยันว่าหลายธุรกิจของกองทัพ เงินไม่ได้เข้ารัฐ และไม่ได้เป็นเงินนอกงบประมาณอีกด้วย

เมื่อพูดถึงกิจการของกองทัพ จึงมีสองประเด็นที่ต้องพิจารณา

1. สวัสดิการภายในของกองทัพ คือส่วนหนึ่งที่สนับสนุนไปเป็นค่าเล่าเรียนบุตรหลานของนายพลและกำลังพลชั้นผู้น้อย หรือเป็นเงินพิเศษ เงินรายได้ต่างๆ ที่สนับสนุนสวัสดิการให้กําลังพล

2. สวัสดิการเชิงธุรกิจ หรือเชิงพาณิชย์ หรือที่รู้จักกันในนามเสนาพาณิชย์ เป็นธุรกิจที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ และเป็นเงินนอกงบประมาณที่ต้องนําส่งคืนคลัง โดยใน พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ระบุว่าต้องนำเงินนอกงบประมาณมาฝากไว้ที่กระทรวงการคลัง แต่ของกองทัพกลับได้รับการยกเว้น ตามระเบียบที่ระบุว่า ‘เว้นแต่จะได้ทําความตกลงกับกระทรวงการคลังเป็นอย่างอื่น’ โดยข้อตกลงเป็นการแบ่งรายได้กัน อาจเป็น ร้อยละ 50-50 หรือ ร้อยละ 70-30 ตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ ซึ่งส่วนหนึ่งเข้าคลัง และอีกส่วนหนึ่งกลับคืนเป็นสวัสดิการให้กองทัพ

ดังนั้น สวัสดิการเชิงพาณิชย์ หรือธุรกิจกองทัพ จะไปเกี่ยวข้องกับสวัสดิการภายในด้วย เนื่องจากการตรวจสอบ พบว่า สวัสดิการภายในนั้นก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ ไม่มีความโปร่งใสว่าเงินไปถึงกําลังพลชั้นผู้น้อยจริงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ เพราะหลายครั้งเราเห็นว่ากําลังพลไม่ได้รับสวัสดิการเหล่านั้น เช่น เรื่องการจัดซื้อกางเกงในของกําลังพลชั้นผู้น้อย ยังมีเงินทอน หรือจัดซื้อในราคาสูงเกินจริง ซึ่งถือเป็นการคอร์รัปชัน แต่ก็ยังเป็นขุมทรัพย์ที่ไม่มีใครสามารถเข้าไปเปิดเผยออกมาสู่สาธารณชนได้


เป้าหมายของกรรมาธิการถ่ายโอนธุรกิจกองทัพฯ คืออะไร

ความฝันสูงสุดคือการโอนถ่ายธุรกิจทั้งหมดของกองทัพ เพราะเราอยากเห็นกองทัพกลับไปทําภารกิจสูงสุดและเป็นหน้าที่ตามกฎหมายคือการปกป้องประเทศ ซ้อมรบหรือซ้อมใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ เพื่อเตรียมการสำหรับสถานการณ์ในโลกอนาคต โดยในส่วนที่เป็นธุรกิจ ควรให้เป็นหน้าที่หลักของคนที่มีความเชี่ยวชาญและมีความชํานาญเฉพาะด้าน โดยอาจโอนธุรกิจเหล่านี้คืนเป็นของรัฐ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในหลายประเทศทั่วโลกที่ยังมีกองทัพก็ต้องมีสวัสดิการให้กับทหารหรือกําลังพล เราจึงยืนยันว่าจะยังคงมีการจัดสรรสวัสดิการให้ โดยกรรมาธิการจะมีรายงานสรุปในเรื่องนี้ด้วยว่าเมื่อมีการโอนถ่ายธุรกิจแล้ว จะจัดสรรสวัสดิการให้กับทหารอย่างไร

แน่นอนกระบวนการทำงานในกรรมาธิการชุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งที่จะต้องทำให้ได้คือแนวทางในการโอนถ่าย ขณะเดียวกัน แนวทางเหล่านี้ไปผูกพันกับกฎหมายหลายฉบับ จึงต้องดูควบคู่ไปด้วยว่าจะต้องแก้กฎหมายฉบับไหนบ้าง โดยตั้งแต่เปิดสมัยประชุมมา พรรคก้าวไกลได้ยื่นแก้ไขเพิ่มเติม พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มีรายละเอียดเป็นการแก้ไข ‘เงินนอกงบประมาณ’ จากเดิมที่ให้กองทัพจัดสรรตามข้อตกลงที่ได้ตกลงเงื่อนไขไว้กับคลัง ให้แก้ไขโดยตัดวรรคท้ายที่ระบุเงื่อนไขพิเศษนี้ออกไป และให้การจัดสรรสวัสดิการแก่กองทัพเป็นหน้าที่ของรัฐ

อีกเรื่องสำคัญเป็นการตรากฎหมายเรื่องการโอนธุรกิจกองทัพทั้งหมด ให้ธุรกิจไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมั่นใจว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนจากพี่น้องประชาชนจะเห็นด้วย และให้ความร่วมมือในการศึกษารูปแบบว่าจะโอนถ่ายอย่างไร เพื่อให้ธุรกิจกองทัพที่แต่เดิมเป็นแดนสนธยา ตรวจสอบไม่ได้ กลายเป็นสิ่งที่ตรวจสอบได้ โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ



คณะกรรมาธิการนี้ ได้รับความร่วมมือจาก ส.ส. พรรคการเมืองอื่น และจากกองทัพมากแค่ไหน

ทุกคนลงมติเห็นด้วยให้ตั้งกรรมาธิการชุดนี้ขึ้นมา จึงอนุมานได้ว่าทุกฝ่ายเห็นด้วยแน่นอน และไม่เพียงแต่ลงมติให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ แต่ยังมีผู้อภิปรายสนับสนุนจากพรรคฝ่ายรัฐบาลด้วย นี่จึงเป็นมติของสภาทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลร่วมกัน

ส.ส. เกือบทุกคนในกรรมาธิการค่อนข้างให้ความร่วมมือ แม้ว่าอาจมีความเห็นไม่ตรงกันบ้าง โดยส่วนหนึ่งมีความเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาอันสมควรที่จะทําอะไรแบบนี้ และเป็นเรื่องที่อาจจะทําได้ยาก เพราะเราต้องได้รับความร่วมมือจากกองทัพด้วย ดังนั้นท่าทีของเราควรจะต้องอ่อนน้อม ไม่แข็งกร้าวจนเกินไปนัก แต่ยืนยันว่าในกรรมาธิการ ไม่มีท่าทีใดๆ ที่แข็งกร้าวต่อกัน อาจมีความเข้าใจ ไม่เข้าใจกันบ้าง แต่สิ่งที่มีร่วมกันคืออยากเห็นผลประโยชน์สูงสุดเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนและรัฐ

นอกจากนั้น เราบอกกับกองทัพเสมอในการประชุมในกรรมาธิการ และการอภิปรายในสภา ว่าสิ่งที่ก้าวไกลทำมาในเรื่องการปฏิรูปกองทัพ เราไม่ได้คิดทำลายล้าง และยืนยันว่าเรามีแต่ความปรารถนาดี อยากเห็นกองทัพเป็นกองทัพที่ทันสมัย เรายืนยันว่าไม่ได้ยึดคืนกิจการ รายได้ สิทธิและหน้าที่ทั้งหมดของกองทัพ โดยทุกอย่างจะต้องถูกจัดสรรกลับไปเป็นสวัสดิการให้กับกองทัพอย่างสมศักดิ์ศรี แต่ต้องจัดสรรให้อย่างเป็นธรรม โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ จึงอยากให้กองทัพให้ความร่วมมือในการพิจารณาร่วมกัน รวมถึงให้ข้อมูล หรือความเห็นที่เป็นประโยชน์กับกรรมาธิการ


ความคืบหน้าของ ‘การถ่ายทอดสด การประชุมคณะกรรมาธิการ’ ที่ตั้งใจไว้ เป็นอย่างไร

กรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคก้าวไกลมี 6 คน จะเสนอทุกครั้งที่มีการประชุมว่าให้มีการถ่ายทอดสด เพราะเรื่องที่พิจารณาเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชน เช่น กิจการไฟฟ้าที่สัตหีบ ซึ่งเรายืนยันว่าเป็นหัวข้อที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคงและควรให้ประชาชนรับรู้ได้ เนื่องจากเราไม่ได้นำเสนอเรื่องแผนของพลังงานไฟฟ้าที่เตรียมการไว้ป้องกันประเทศ แต่ดูในสัดส่วนที่เป็นกิจการที่มีการนําไฟไปจําหน่ายให้กับประชาชน แต่การเสนอให้ถ่ายทอดสดก็ถูกขัดขวางจากทางกรรมาธิการหลายท่าน ที่มองว่าอาจกระทบต่อความมั่นคงของกองทัพ

ในครั้งหน้าจะประชุมเรื่อง ททบ.5 ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงใดแล้ว เนื่องจากผังรายการก็เน้นรายการเพื่อความเพลิดเพลิน และวัตถุประสงค์ของการตั้ง ททบ.5 คือการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนกับกองทัพในช่วงสมัยสงครามเย็น จึงไม่มีเหตุผลที่จะไม่ถ่ายทอดสด แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีการถ่ายทอดสด เนื่องจากกรรมาธิการหลายท่านก็คิดว่ายังไม่ควรถ่ายทอดสดในเวลานี้

ในการประชุมครั้งต่อๆ ไป ก็จะเสนอให้มีการถ่ายทอดสดอีก เพื่อยืนยันมติที่คุยในการประชุมครั้งแรก ซึ่งประธานกรรมาธิการอนุมัติให้มีการถ่ายทอดสดเป็นครั้งคราว จึงต้องมีการถ่ายทอดสดได้บ้างอย่างน้อยหนึ่งครั้ง มิเช่นนั้นจะกลายเป็นไม่ให้ถ่ายทอดสดเลย ผิดจากมติที่พูดคุยไว้

อย่างไรก็ดี รายงานการประชุม จะมีการเปิดเผยตามข้อบังคับของสภาอยู่แล้ว ดังนั้นสามารถติดตามรายละเอียดผ่านรายงานการประชุมได้


ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการทำงานของคณะกรรมาธิการได้อย่างไรบ้าง เช่น ส่งเรื่องร้องเรียน หรือส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบันมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการยื่นเรื่องร้องเรียนหลายเคสแล้ว อย่างล่าสุดคือกรณีของพี่น้องชาวสัตหีบ ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวในประเทศไทยที่ยังต้องใช้ไฟฟ้าสวัสดิการกองทัพเรืออยู่ ได้เดินมาที่รัฐสภากว่า 100 คนเพื่อยื่นหนังสือขอคืนกิจการนี้ให้ไปอยู่ในความดูแลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และให้กรรมาธิการช่วยสอบหาข้อเท็จจริงในบางกรณี เช่น มีการเก็บค่าไฟแพงกว่าปกติหรือไม่

นอกจากนั้นยังมีประชาชนส่งข้อมูลเอกสารหลักฐานต่างๆ มาจำนวนมาก เกี่ยวกับเรื่องธุรกิจคลื่นวิทยุ โดยมีประชาชนที่เป็นผู้ประกอบการคลื่นวิทยุรู้สึกว่าตนถูกเอารัดเอาเปรียบ เนื่องจากตามปกติแล้ว คลื่นวิทยุเหล่านี้ เมื่อครบกําหนดใบอนุญาตก็จะต้องคืนคลื่นเพื่อกลับไปประมูลคลื่นความถี่ใหม่อีกครั้ง แต่หน่วยงานเดียวที่ไม่ต้องคืนคลื่นคือกองทัพ โดยใช้คลื่นวิทยุมาได้ต่อเนื่องยาวนาน โดยการต่อใบอนุญาตจาก กสทช.


สรุปแล้ว ภายใน 3 เดือนซึ่งเป็นกรอบเวลาของคณะกรรมาธิการนี้ ประชาชนจะได้เห็นอะไรบ้าง

ในประวัติศาสตร์ไทย ยังไม่เคยมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง นี่จึงเป็นประตูบานแรกที่เราจะพูดถึงเรื่องนี้และหาทางออกร่วมกัน จากที่ผ่านมาเป็นเสมือนแดนสนธยาที่เราไม่รู้เลยว่าด้านในเป็นอย่างไร จนทำให้ประชาชนนำไปวิพากษ์วิจารณ์เสมอ ซึ่งกองทัพเองก็อาจจะเสียหาย ดังนั้นการมีพื้นที่ในสภาฯ เพื่อพูดคุยกัน จะเป็นประโยชน์อย่างแน่นอน โดยในตอนนี้ เราได้มองเห็นธุรกิจกองทัพแล้วอย่างน้อยประมาณร้อยละ 30-40 จากทั้งหมด และเชื่อว่าหลังจากนี้จะได้เห็นภาพรวมมากยิ่งขึ้น


References
1 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ระบุว่า ‘เงินนอกงบประมาณ’ คือ “บรรดาเงินทั้งปวงที่หน่วยงานของรัฐจัดเก็บ หรือได้รับไว้เป็นกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือจากนิติกรรมหรือนิติเหตุ หรือกรณีอื่นใดที่ต้องนำส่งคลัง แต่มีกฎหมายอนุญาตให้สามารถเก็บไว้ใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง” ซึ่งรวมถึงเงินรายได้ของส่วนราชการ เงินที่รัฐบาลอุดหนุน เงินกู้ ตลอดจนทุนหมุนเวียนซึ่งเป็นเหมือนกระเป๋าเงินอีกใบของหน่วยงานรัฐ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save