fbpx

“ไม่สู้ก็อยู่ใต้การกดขี่” สหภาพแรงงานครูและขบวนการแรงงานครูในเกาหลีใต้หลังโค่นเผด็จการทหาร

ในซีรีส์ Reply 1988 ที่เคยโด่งดัง โบรา ลูกสาวคนโตของบ้านเป็นนักศึกษาครูที่ออกมาประท้วง ชอน ดูฮวาน (Chun Doo-hwan) ผู้นำเผด็จการยุคนั้น การสอดแทรกมิติทางสังคมการเมืองเอาไว้ ถือเป็นลักษณะเด่นของซีรีส์ย้อนยุคเกาหลีใต้ ช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นช่วงเวลาอันมืดมนของประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ แต่ย้อนไปก่อนหน้านั้น เกาหลีใต้ก็มีประวัติศาสตร์การถูกกดขี่และการต่อสู้ทางการเมืองอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการอยู่ใต้อาณานิคมของญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1910

ประวัติศาสตร์ของผู้ถูกกดขี่

ญี่ปุ่นได้เปลี่ยนดินแดนเกาหลีใต้จากสังคมเกษตรไปสู่ฐานอุตสาหกรรมทางทหารของญี่ปุ่น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้และต่อต้านจักรวรรดินิยมในระลอกแรก ส่วนระลอกหลังเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสหรัฐอเมริกาเข้ามามีอิทธิพลผ่านรูปแบบการศึกษาที่มีแนวคิดแบบทหารนิยมภายใต้นโยบายและปฏิบัติการแบบสงครามเย็น ยังไม่นับการต่อสู้กับประเทศเกาหลีเหนือที่เคยเป็นอาณาจักรเดียวกัน ดังนั้นการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตนเองจึงเป็นการขจัดอิทธิพลต่างชาติและมีลักษณะชาตินิยมมากพอตัว

ขบวนการความเคลื่อนไหวของของครูและแรงงานการศึกษาสัมพันธ์กับประเด็นต่างๆ เช่น การเชื่อมโยงกับขบวนการชาวบ้านในประวัติศาสตร์ที่นิยามวัฒนธรรมชาวบ้านอยู่กับความทุกข์ทนและก่อกบฏชาวนา ซึ่งจะกลายมาเป็นขบวนการของคนงานในยุคใหม่ ความเชื่อมโยงนี้ถูกหล่อหลอมขึ้นเมื่อแรกเกิดขบวนการเคลื่อนไหวของครู เมื่อสมาชิกถูกจัดตั้งในโรงเรียนศึกษาภาคค่ำในย่านอุตสาหกรรม และจัดการศึกษาให้ผู้ใช้แรงงาน

หลังการปลดปล่อยตนเองจากญี่ปุ่น เกาหลีได้เข้าสู่ช่วงสับสนอลหม่าน เกาหลีกลายเป็นประเทศที่พึ่งพาการช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาและถูกครอบงำโดยความขัดแย้งช่วงสงครามเย็น สงครามเกาหลี (1950-1953) เป็นโศกนาฏกรรมที่คร่าชีวิตคนนับล้าน นำไปสู่ปัญหาความยากจนและการแบ่งแยก เหนือ-ใต้ อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ยังถูกทำลาย โรงเรียนถูกจัดสอนกลางแจ้งหรือในสภาพที่ย่ำแย่ ในเวลาต่อมาโครงสร้างพื้นฐานค่อยๆ ถูกสร้างขึ้นใหม่ การยึดอำนาจของ ‘พัก จ็องฮี’ (Park Chung Hee) ในเดือนพฤษภาคม ปี 1961 นำไปสู่ทิศทางใหม่ของสังคม เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมส่งออกเป็นหลัก โดยมีแรงงานมีทักษะและค่าแรงต่ำเป็นข้อได้เปรียบในการขับเคลื่อนการพัฒนา ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้กลายเป็นโมเดลเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมใหม่

ครูถือว่ามีบทบาทในฐานะผู้รับใช้ของสังคมตามรากวัฒนธรรมแบบขงจื่อ บทบาทนี้ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการกดขี่โดยรัฐบาลฝ่ายขวาตลอดศตวรรษที่ 20 ตั้งแต่รัฐบาลใต้อาณานิคมญี่ปุ่น ส่งต่อมาถึงรัฐบาลเผด็จการทหาร ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 คุณค่าทางวัฒนธรรมได้เปลี่ยนมาสู่คุณค่าการรับใช้ชาติเพื่อให้เกาหลีไล่ตามแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบ NIC (newly industrialized country) สหภาพแรงงานได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นองค์กรกรรมาชีพอุตสาหกรรมที่ต่อสู้กับนายทุนซึ่งเป็นทุนมนุษย์ราคาต่ำในยุคเศรษฐกิจเกาหลีบูม ครูคือผู้มีบทบาทในการจัดเตรียมแรงงานที่มีความรู้ เชื่อฟัง และไม่วิพากษ์วิจารณ์ต่อโรงงานผู้ขูดรีด พวกเขาจึงถูกคาดหวังให้เป็นผู้รักชาติ กระเหม็ดกระแหม่ และทำงานหนัก

เพื่อก้าวสู่เป้าหมาย โรงเรียนและครูถูกขับเคลื่อนไปสู่การศึกษาในรูปแบบอุตสาหกรรมในสภาพที่ย่ำแย่ ห้องเรียนขนาดใหญ่ หลักสูตรที่รวมศูนย์ การแข่งขันอันเกรี้ยวกราดสำหรับที่นั่งจำนวนน้อยนิดในมหาวิทยาลัย ซึ่งเสนอทางออกที่จะหนีจากการเป็นแรงงานอุตสาหกรรมที่ถูกขูดรีด

ขบวนการสหภาพแรงงานครูประณามระบบเช่นนี้ว่า พวกเขาถูกใช้เป็นเพียง “เซลล์แมนกระจอกผู้ขายความรู้” เพื่อส่งให้นักเรียนไปสู่การสอบ ความคับแค้นท่ามกลางการขูดรีดครูในฐานะตัวแทนของโมเดลทุนมนุษย์นำไปสู่อีกประเด็นหลักของการจัดตั้งสหภาพแรงงานครู

การต่อสู้เพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงานการศึกษา

ในยุคเผด็จการ ตามกฎหมายแรงงานแล้ว ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายที่ข้าราชการเกาหลีใต้จะจัดตั้งและเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน เผด็จการฝ่ายขวาในห้วงสงครามเย็นให้ความสำคัญกับการแบ่งขั้วตามค่ายทางอุดมการณ์ แนวคิดสหภาพแรงงานนั้นไปกันได้ดีกับฝ่ายสังคมนิยม ซึ่งเกาหลีใต้มีเกาหลีเหนือเป็นไม้เบื่อไม้เมาอยู่ ดังนั้น การจัดตั้งสหภาพแรงงานโดยเฉพาะในด้านการศึกษาก็อาจมาจากการแทรกซึมของสายลับเกาหลีเหนือได้ในสายตาพวกเขา

ในปี 1989 เมื่อวันที่ 15 พฤษภา ซึ่งเป็นวันครูเกาหลี รัฐบาลได้ข่มขู่ว่าจะไล่ครูจำนวนมากออกหากยังดึงดันที่จะจัดตั้งสหภาพ ช่วงเวลาดังกล่าว รัฐได้ปราบปรามความพยายามจัดตั้งสหภาพในหลายรูปแบบ เช่น การบุกจับร้านหนังสือครูที่มีเนื้อหาปลุกปั่น การโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ที่ประณามครูที่พยายามสร้างความร่วมมือกับเกาหลีเหนือเพื่อจะล้มล้างรัฐ

แต่พวกเขาก่อการอย่างไม่หวั่นไหว ครูเหล่านี้กำหนดพิธีเปิด The Korean Teachers and Educational Workers Union (สหภาพแรงงานครูและคนงานการศึกษาเกาหลี) หรือ Jeongyojo ไว้ในวันที่ 28 พฤษภาคม 1989 อย่างเปิดเผย ทำให้ตำรวจกว่าพันนายเข้าสู่มหาวิทยาลัยฮานยางในฝั่งตะวันออกของโซล ณ จุดที่มีการเดินขบวน ซึ่งแต่เดิมตำรวจได้ห้ามจัดไว้แล้ว ดังนั้นการเดินขบวนจึงผิดกฎหมาย ผู้เข้าร่วมถือว่ามีความผิดและควรถูกจับกุมไปด้วย ตำรวจมาพร้อมอาวุธหนักครบมือ พวกเขาเข้ามาในมหาวิทยาลัยเพื่อป้องกันคนเข้าไปร่วมชุมนุม

ในชั่วโมงสุดท้ายก่อนการประชุม ผู้จัดงานได้เปลี่ยนสถานที่ชุมนุมข้ามไปยังอีกฝั่งของเมืองที่มหาวิทยาลัยยอนเซ ซึ่งเคลื่อนเร็วกว่าตำรวจ 4,500 นาย ณ ที่นั้น ครูร้อยกว่าคนถูกล้อมรอบด้วยนักศึกษาผู้ที่เข้ามาปกป้อง จนสามารถจัดพิธีเปิด Korean Teachers’ and Educational Workers’ Union ได้สำเร็จ ประธานสหภาพวัย 54 ปีนามว่า ยุน ยองกยู (Yun Young Gyu) เป็นครูพลศึกษาที่กลายมาเป็นนักเคลื่อนไหวและผู้นำ ผู้สร้างแรงบันดาลใจและเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดปราบปรามความเคลื่อนไหวทางการเมืองและยอมรับสหภาพแรงงานเพื่อสร้างการศึกษาที่เป็นประชาธิปไตย ท่ามกลางกลุ่มผู้นำสหภาพ เขาได้ไปอยู่ในความคุ้มครองที่สาขาใหญ่ของพรรคการเมืองฝ่ายค้านอย่าง Reunification Democratic Party ผู้นำพรรคที่เสนอให้คุ้มครองเขาคือ คิม ยองซัม (Kim Young Sam) ประธานาธิบดีคนต่อไปของเกาหลี การสไตรก์อดอาหารประท้วงเกิดขึ้นนานถึง 9 วันและเป็นที่สนใจในระดับชาติในร่างกายที่ย่ำแย่ลงทุกของยุนและพรรคพวก

ขณะที่ยุนทำการอดอาหารประท้วง สาขาย่อยของ KTU ได้รวมตัวกันทั่วเกาหลีใต้กว่าร้อยโรงเรียนเป็นเวลาถึงครึ่งเดือน ผู้ประท้วงมีสุขภาพที่แย่ สิบกว่าคนอ่อนล้าหมดแรง หลังยุติการประท้วงและออกจากอาคาร ยุนได้รับความคุ้มครองโดยสามนักการเมืองจากฝ่ายค้านที่ช่วยส่งไปรักษาที่โรงพยาบาล Yondong Severance ขณะที่ตำรวจคอยจับพวกเขาพร้อมกับหมายจับ

ในที่สุด ยุน ยองกยู ก็ถูกขังคุกในช่วงเวลาของความขัดแย้งและการรณรงค์ ช่วงเวลาดังกล่าวมีการประท้วงบ่อยครั้ง โดยครู นักศึกษามหาวิทยาลัย นักเรียน ผู้ปกครอง และผู้สนับสนุน อีกทั้งยังมีการอดอาหารประท้วงมากขึ้นไปอีก ทำให้มีการไล่ครูออกเป็นจำนวนมาก ตามมาด้วยการรณรงค์เข้าไปในห้องเรียนโดยครูที่ถูกไล่ออกเหล่านั้น และยังมีโศกนาฏกรรมจากการที่นักเรียนฆ่าตัวตายประท้วงจากการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อครู เช่น การไล่ครูออก มีผู้ตายอย่างทุกข์ระทมในรถและอีกคนที่รมแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ในห้องใต้ดิน สื่อและประชาสังคมล้วนหมกมุ่นในวิกฤตที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของสหภาพแรงงาน และชี้ต้นเหตุไปที่ระบบโรงเรียนและเงื่อนไขอันย่ำแย่ที่ส่งผลให้ครูมีปฏิบัติการที่สุดขั้ว สำหรับพวกเขา ครูผู้ถูกไล่ออกได้จัดตั้งปฏิบัติการคล้ายกับโรงเรียนโค้ชการสอน บริษัทการผลิต หนังสือพิมพ์ และกิจกรรมตีพิมพ์ทั้งหลายและได้รับการสนับสนุนทางการเงินมาจากเงินของครูที่อยู่ในโรงเรียน พวกเขารณรงค์อย่างไม่หยุดยั้งเพื่อยั่วยุให้เกิดกระบวนการทางกฎหมายและการรับรู้ถึงความข้องใจของเขา

นี่คือ เรื่องราวของการต่อสู้ของพวกเขา

Jeongyojo ก่อตั้งขึ้นพร้อมด้วยสมาชิกกว่า 15,000 คน ท่ามกลางการสนับสนุนจากนักศึกษาและนักสหภาพกว่าแสนคน รวมถึงนักเรียนและครูผู้เห็นอกเห็นใจนับล้านในเกาหลีใต้ ในเวลาดังกล่าว ได้มีสมาชิกถูกจับกุมและถูกสอดส่องโดยตำรวจ การตั้งสหภาพนำมาสู่ความขัดแย้งและก่อวิกฤตในระบบการศึกษาเกาหลี ในสภาพที่การศึกษาอยู่ในวิกฤตอยู่แล้ว ไม่ว่าจะปัญหานักเรียนฆ่าตัวตาย การคอร์รัปชันทางการเงิน และการเน้นความเป็นทหารนิยมในโรงเรียนอย่างสูง   

ว่ากันว่า Jeongyojo เป็นสหภาพแรงงานครูที่มีอิทธิพลและกระตือรือร้นที่สุดในเอเชียตะวันออก หรืออาจจะมากที่สุดในเอเชียด้วยซ้ำ ความสำคัญด้านการศึกษานั้นอยู่ในใจกลางของความห่วงใยทางการเมืองและสังคมมาตลอด 50 ปี ซึ่งมีวัฒนธรรมสัมพันธ์กับแนวคิดขงจื่อและพุทธศาสนามากว่าพันปี และยังทรงอิทธิพลต่อคุณค่าในยุคปัจจุบัน

ตัวตนของครู ภายใต้การกดขี่ทางประวัติศาสตร์

อัตลักษณ์ของครูในเกาหลีย้อนไปถึงยุคโบราณ ตั้งแต่สมัยที่อาณาจักรแบบพุทธครองอำนาจอยู่ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลที่ยึดคุณค่าขงจื่อ ราว 600 ปี ครูกลายมาเป็นหนึ่งในเสาหลักของการเป็นแบบอย่างชาวขงจื่อที่ดี แนวคิดนี้เริ่มถูกบิดเบือนภายใต้เผด็จการญี่ปุ่น ครูต้องรับผิดชอบตามแผนระเบียบการศึกษาปี 1911 ที่สาระหลักของการศึกษาคือการเป็นผู้ใต้บังคับที่ดีและภักดี ครูจะต้องลงนามสาบานว่าจะอุทิศตนให้กับจักรพรรดิญี่ปุ่นพร้อมกับกฎ 5 ข้อสำหรับครูที่อยู่ในคู่มือการศึกษาแบบอาณานิคม กฎนี้ยังรวมถึงการเป็นสายลับที่ส่งข่าวฝ่ายต่อต้านรัฐให้ด้วยทั้งในโรงเรียนและชุมชน รวมไปถึงหน้าที่การจัดการแรงานเด็กสำหรับระบอบอาณานิคม

หลังทศวรรษ 1960 ครูได้ร่วมกับโครงการพัฒนาอุตสาหกรรม ครูถูกเรียกร้องให้มีหน้าที่แนวชาตินิยมในการพัฒนาประเทศ ประธานาธิบดีพัก จ็องฮี รำลึกถึง “ห้วงขณะประวัติศาสตร์ที่ให้คำมั่นว่าจะถึงชัยชนะ” สำหรับการเสียสละที่ไม่รู้จบ พักได้อ้างว่า กฎบัตรเพื่อการศึกษาแห่งชาติในปี 1978 ทำให้ครูต้องเป็นผู้มีบทบาททางประวัติศาสตร์ในฐานะผู้รับใช้ผลประโยชน์ของชาติ ครูจึงกลายเป็นเพียงเครื่องโฆษณาชวนเชื่อของพวกชาตินิยม ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ต่อต้านข้อมูลและอุดมการณ์ในการพัฒนาทุนมนุษย์

ในการประกาศรวมตัวแห่ง Jeongyojo ในเดือนพฤษภาคม 1990 เหล่าครูประกาศว่า

เนื่องจากการศึกษาที่ถูกบิดเบือน ที่ถูกบีบบังคับโดยระบอบเผด็จการ พวกเราสูญเสียบทบาทของครูและกลายเป็นเพียงผู้ขายความรู้และเทคนิคที่แตกกระจายเพื่อเตรียมให้นักเรียนไปเพื่อสอบเท่านั้น ใครจะเรียกเราว่าครูได้อีก?

ดังนั้น ประเด็นของอัตลักษณ์จึงกลายเป็นประเด็นศูนย์กลางในรูปแบบของสหภาพแรงงานครูผ่านเสียงของเหล่าพวกพ้องและปฏิบัติการ ครูปฏิบัติตนเพื่อที่จะเปลี่ยนตัวเองไปสู่อัตลักษณ์ของนักปฏิรูปการศึกษาและผู้นำความเปลี่ยนแปลงทางสังคมประชาธิปไตยในเกาหลี

นอกจากนั้น การปลูกฝังค่านิยมด้านการทหารที่มาจากความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือ-ใต้ ทำให้ครูถูกคาดหวังให้สอนว่าเกาหลีเหนือคือปีศาจโดยไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ อันเป็นนโยบายสงครามเย็นที่มาจากสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับเยอรมนีตะวันตกในช่วงสงครามเย็น

ในเกาหลีใต้ นักเรียนถูกเรียกร้องให้มีส่วนร่วมใน Student Defence Corps หนังสือเรียนชื่อว่า ‘การศึกษาวิชาทหาร’ ซึ่งฉายภาพเกาหลีเหนือเป็นศัตรูคู่แค้นจะถูกสอนในโรงเรียน ทศวรรษ 1980 ได้มีการรณรงค์ ‘purification campaigns’ ในโรงเรียนเพื่อค้นหานักเรียนที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกับรัฐบาล นักเรียนยังถูกเรียกร้องให้ทำการบ้าน ทำโปสเตอร์ และขับร้องสโลแกนต่อต้านคอมมิวนิสต์ การศึกษานำไปสู่การประณามเกาหลีเหนือและแสดงให้เห็นความเหนือกว่าของเกาหลีใต้ ครูนักปฏิรูปเห็นว่านี่คือการรักษาการแบ่งแยกทางอุดมการณ์ โครงสร้างทางอำนาจที่ชอบธรรมของเผด็จการและการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนในเกาหลีใต้ ภายใต้ระบบที่การรวมชาติไม่มีวันเป็นไปได้

KTU ได้พัฒนาแคมเปญเพื่อการสร้างสรรค์รูปแบบการสนทนาฉันมนุษย์ในฐานการศึกษาที่จะสร้างความเป็นเอกภาพ พวกเขาได้เสนอการศึกษาที่เป็นอิสระจากอิทธิพลต่างประเทศทำให้มีข้อเท็จจริงที่เป็นไปได้ที่ทำให้สองเกาหลีเข้าใจในความแตกต่างของกันและกัน และได้ละทิ้งทางที่จะสร้างความเป็นปีศาจให้กับเกาหลีเหนือไปด้วย ทั้งยังรับรองสิทธิ์ชาวเกาหลีเหนือและสร้างสรรค์แนวทางที่จะร่วมมือกับเกาหลีเหนือ

ประสบการณ์ของครูกับความคาดหวังต่อสหภาพฯ ในฐานะกลไกการปฏิรูปการศึกษา

พวกครูทั้งหลายได้เป็นประจักษ์พยานต่อระบบการศึกษาตั้งแต่ยุคใต้อาณานิคมญี่ปุ่น โรงเรียนถูกใช้เป็นกลไกสอดส่องและการโฆษณาชวนเชื่อ ตั้งแต่ยุคดังกล่าว โรงเรียนจึงเป็นวิธีการหนึ่งในการควบคุมทางสังคม เกาหลียังไม่ได้ก่อรูประบบการศึกษาในระบบตะวันตกมาจนถึงยุคสงครามเย็น พวกเขาพบเจอปัญหาอย่างน้อย 3 ส่วน ได้แก่

  1. ส่วนผสมของบทบาทที่ถูกกดขี่ที่คาดหวังให้ครูแสดงออก เช่น ให้ครูทำหน้าที่ธุรการ, ครูเป็นตัวแทนของนโยบายแบบอาณานิคม, ครูเป็นนักต่อต้านคอมมิวนิสต์, ครูเป็นผลผลิตของทุนมนุษย์, ครูในฐานะตัวแทนของการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลเผด็จการ และครูในฐานะผู้ระดมทุนให้โรงเรียน
  2. ขอบเขตของคุณค่าเกี่ยวกับความรุนแรงและแนวปฏิบัติในโรงเรียน เช่น นรกการสอบเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย, การควบคุมความรู้และหลักสูตรจากส่วนกลาง, การใช้ห้องเรียนเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ, ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์และกายภาพในโรงเรียน, การโกงกินและขูดรีด, สภาพแวดล้อมการศึกษาที่ย่ำแย่, สภาพการจ้างงานที่กดขี่สำหรับครูและแรงงานการศึกษา และกฎหมายและอุดมการณ์ที่บีบบังคับให้ทำตาม
  3. ผลกระทบของการกดขี่ทางสังคมของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นภาระทางการศึกษาของครอบครัวและเด็ก การใช้เงินมหาศาลสำหรับการเรียนกวดวิชา และการแข่งขันอย่างกว้างขวางในโรงเรียน ปัญหานักเรียนฆ่าตัวตาย การเน้นการสร้างทุนมนุษย์เพื่อตอบสนองการขับเคลื่อนทางธุรกิจ หรือการสร้างโรงเรียนให้มีลักษณะทหารนิยม

สิ่งเหล่านี้คือประเภทของประสบการณ์ของครูที่บังเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ของระบบการศึกษาที่พวกเขาต้องการจะปฏิรูปผ่านการสร้างสหภาพแรงงานขึ้นมา

ความสัมพันธ์ทางการจ้างสำหรับครู

สถานการณ์หลักในความสัมพันธ์ทางการผลิตที่กำหนดสถานการณ์ครูช่วงการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในเกาหลี มีอยู่ 2 ประการ

ประการแรกคือผลกระทบต่อสภาพการจ้างงานครู ในสังคมกำลังพัฒนา งานในโรงงานอุตสาหกรรมหรือแหล่งงานอื่นเติบโตคู่ขนานไปกับโรงเรียน ด้วยค่าจ้างที่ต่ำ ชั่วโมงการทำงานยาวนาน การทำงานอย่างยากลำบากและผู้อำนวยการที่กดขี่ โรงเรียนได้ผลิตนักเรียนทั้งด้านพฤติกรรมและทัศนคติให้สอดรับกับการเป็นแรงงานที่เหมาะกับความรุนแรงเชิงสถาบันและระบบการสอบ

ประการที่สอง บริบททางกฎหมายของครูในโรงเรียน เช่น กฎหมายสหภาพแรงงาน และกฎหมายข้ารัฐการและความมั่นคงแห่งชาติ (National Public Servants Act and the National Security Law) ไม่อนุญาตให้ครูสามารถรวมกลุ่มต่อรองหรือพูดถึงสถานการณ์ของพวกเขา กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติซึ่งใช้เป็นกฎหมายต้านคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ปี 1948 ได้ปฏิเสธสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงออก และการรวมตัวในเกราะกำบังของความมั่นคงซึ่งมักจะใช้ตอบโต้กับผู้นำแรงงานในหลายภาคส่วน เช่นเดียวกับนักศึกษา ผู้นำโบสถ์ และผู้นำประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล

สหภาพแรงงานครูได้เข้าสู่ชุดของการต่อสู้ทางกฎหมายเพื่อเรียกร้องสิทธิแรงงานและสิทธิทางการเมืองสำหรับครูด้วยเหตุผลนี้

สู่การเป็นสหภาพแรงงานถูกกฎหมาย

หลังจากการรณรงค์อย่างยาวนานและการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากกลุ่มผู้ปกครองชื่อ ‘พ่อแม่เพื่อการศึกษาที่แท้จริง’ และองค์กรต่างประเทศอย่าง Education International, Human Rights Watch และ ILO KTU ได้รับสถานะทางกฎหมายในเดือนกรกฎาคม 1999 สถานการณ์ระดับชาติเอื้ออำนวยเมื่อเกาหลีใต้สมัครเพื่อเข้าร่วม OECD ในปี 1995 หนึ่งเงื่อนไขที่จะรับรัฐบาลเกาหลีใต้เข้าร่วมกับ OECD Education Review คือการยอมรับการดำรงอยู่ของ KTU และยุติสถานะอันผิดกฎหมายของสหภาพแรงงานครู

หลายปีผ่านไปจากวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปี 1997 หนึ่งในเงื่อนไขเงินกู้ IMF คือการปรับโครงสร้างและปฏิรูปแรงงานในสเกลใหญ่ ประธานาธิบดีคิมแดจุงตกลงในข้อต่อรองกับ KCTU (Korean Confederation of Trade Unions หรือ สหพันธ์สหภาพแรงงานเกาหลี) ว่ารัฐบาลจะยอมรับเงื่อนไขที่จะร่วมมือกับสหภาพแรงงานในการปฏิรูปเศรษฐกิจ หนึ่งในนั้นคือการยอมให้ครูจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อการันตีสิทธิแรงงานในการร่วมกิจกรรมทางการเมือง ในครั้งนั้น มีการสนับสนุนอย่างมากผ่านชนชั้นกลางที่สนับสนุนประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ องค์ประกอบเช่นนี้สอดคล้องไปกับความต้องการของประธานาธิบดี จึงนำมาซึ่งกระบวนการเน้นย้ำปักหมุดประชาธิปไตยลงในเกาหลีใต้ในเชิงสถาบันและการบริหารการปกครอง เช่นเดียวกับนโยบาย ‘Sunshine Policy’ ที่มีต่อเกาหลีเหนือที่เปิดทางในการยอมรับ KTU

ในปี 2007 KTU มีสมาชิกกว่า 100,000 คน นับเป็น 27% ของแรงงานครูทั้งหมด มีผู้สนับสนุนอีกกว่า 5,000 คนเมื่อมีการเดินขบวนครบรอบ 18 ปี ของสหภาพ และยังมีสมาชิกในคุกที่ถูกจับข้อหาภัยความมั่นคงและบางคนอยู่ในการรอลงอาญาและการลงโทษจากกระทรวงศึกษาธิการ

แต่ในภาพรวม เกาหลีใต้มี 3 องค์กรที่เกี่ยวกับครูตามสิทธิและสถานภาพทางกฎหมาย นั่นคือ สมาคมครูในส่วนครูเอกชนที่ทำงานร่วมกับ KTU และยังมี Korean Federation of Teachers Associations (KFTA: สหพันธ์สมาคมครูเกาหลี) อันถือว่าเป็นองค์กรของผู้อำนวยการโรงเรียนซึ่งเป็นพันธมิตรกับรัฐบาล ถือว่าเป็นคู่แข่งสายอนุรักษนิยมและเป็นศัตรูกับ KTU แต่ KTU เป็นองค์กรที่มีจุดยืนในการรณรงค์เพื่อสภาพการจ้างงานและสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมอันเป็นสิทธิพื้นฐาน แต่ไม่มีสิทธิสไตรก์ KTU ยังเป็นสมาชิกของ Federation of Trade Unions (สหพันธ์สหภาพแรงงาน) รวมไปถึง International Labour Organisation (ILO) และ Education International (EI)

การรวมตัวของปรัชญาการศึกษาที่แท้

เมื่อ KTU ถูกกฎหมาย ก็ได้ขยายสมาชิกและโครงสร้างองค์กรออกไปและได้ลดทอนภาพลักษณ์ความรุนแรงแบบเดิมลง มีผู้กระตือรือร้นที่จะปฏิรูปหลักสูตร หนังสือเรียน การบริหารจัดการโรงเรียน และการเงิน เช่นเดียวกับประเด็นการจ้างงาน เช่น เงินเดือนครูและเงื่อนไขการจ้างงาน อย่างไรก็ตามประเด็นใหม่ๆ ทางการศึกษาก็ได้ผุดบังเกิดขึ้น โดย KTU ตอบรับต่อประเด็นเหล่านี้อย่างรวดเร็วและมักจะเผชิญหน้ากับกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาล

KTU ได้ตอบสนองต่อประเด็นในหลักการของ ‘การศึกษาที่แท้’ (Chamgyoyook) ซึ่งมีพื้นฐานมาจากขบวนการสหภาพแรงงานครูในช่วงแรกๆ มี 3 ศูนย์กลางของกรอบการศึกษาที่แท้คือ ประชาธิปไตย (ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียน และครูมีส่วนร่วมในหลักสูตร และการวางนโยบายโรงเรียน) ความเป็นมนุษย์ (การห้ามใช้ความรุนแรงทางโครงสร้างและการใช้อำนาจเผด็จการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน) และชาตินิยม (อิสระจากการแทรกแซงจากต่างประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา) การประชุมระดับชาติของ KTU ในปี 2002 ได้รับรองหลักการการศึกษาที่แท้ที่อัพเดตแล้ว ซึ่งมี 14 แพลตฟอร์ม นั่นคือ

  1. เราให้การศึกษากับผู้คนทั้งหมด ผู้ที่เคารพชีวิต
  2. เราจะมุ่งมั่นที่จะจัดตั้งชาติที่เป็นอิสระและการรวมชาติเกาหลี
  3. เราจะให้การศึกษาเพื่อประชาธิปไตย
  4. เราจะปกป้องสุขภาพจิตและกายของนักเรียน
  5. เราสอนเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ
  6. เราสนับสนุนสิทธิมนุษยชน
  7. เราเคารพคุณค่าและสิทธิ์แรงงาน
  8. เราสอนการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ
  9. เราจัดทำหลักสูตรโรงเรียนอย่างสร้างสรรค์
  10. เราโฟกัสในการช่วยเหลือและให้ความร่วมมือกับผู้อื่น
  11. เราเคารพและพัฒนาความเป็นอิสระของนักเรียน
  12. เรากำลังวิจัยและปฏิบัติร่วมกับเพื่อนร่วมงาน
  13. เรากำลังทำงานร่วมกับผู้ปกครองและชุมชน
  14. เราเผชิญหน้ากับความเหลวไหลของระบบการศึกษา

NEIS ข้อมูลส่วนตัวนักเรียน และกระแสต่อต้านจาก KTU

หนึ่งในแคมเปญที่เข้มแข็งที่สุดของ KTU คือการเข้าไปเกี่ยวข้องกับแผนรัฐบาลที่จะนำเอาระบบบริหารการศึกษาอิเลกทรอนิกส์ หรือ New Educational Information system (NEIS: ระบบข้อมูลข่าวสารการศึกษาใหม่) เข้ามาใช้งาน ซึ่งเป็นระบบข้อมูลเบ็ดเสร็จที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ e-government เพื่อจะเชื่อมโยงข้อมูลโรงเรียนทั่วประเทศผ่านระบบอินเตอร์เน็ต รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในฐานะที่วางตำแหน่งตนเองเป็นชาติแห่งความรู้ที่มีเทคโนโลยีเป็นฐานในระดับโลก นโยบายการจัดตั้งโรงเรียนแบบไฮเทคได้รับการรับรองโดยระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

สหภาพแรงงานครูท้าทายนโยบายดังกล่าวอย่างกว้างขวางต่อบันทึกข้อมูลส่วนตัวของนักเรียนและครูซึ่งควรจะเป็นความลับ ตั้งแต่เรื่องสุขภาพนักเรียนหรือข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองของครู เช่น การเป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจของสหภาพแรงงานซึ่งถือว่าเสี่ยงจะละเมิดสิทธิมนุษยชน โดย KTU ดำรงตำแหน่งอยู่ในกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนด้วย ในเดือนพฤษภาคม 2003 กรรมาธิการดังกล่าวได้ประกาศว่ามีความห่วงใยเกี่ยวกับ NEIS และได้ให้คำแนะนำรัฐมนตรีเพื่อที่จะส่งคืนข้อมูล 3 ชุดที่เกี่ยวข้องกับเกรด สุขภาพ และบันทึกข้อมูลเพื่อการบริหารจาก NEIS ไปสู่ระบบระบบเก่าอย่าง Client Server (CS) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลระดับโรงเรียน คณะกรรมาธิการยังย้ำว่าข้อมูลส่วนบุคคล ควรถูกแยกออกมาจาก NEIS และความปลอดภัยควรได้รับความคุ้มครองเหนือข้อมูลดังกล่าว เช่น ใครจะสามารถเข้าถึงได้และอะไรสามารถนำไปใช้ได้บ้าง อย่างไรก็ตามกระทรวงไม่สนใจคำค้านนี้และเดินหน้าดำเนินการต่อไป

ในตอนแรก กระทรวงประนีประนอมด้วยการพยายามถอนเพียง 1 ใน 3 ชุดข้อมูลหลัก นั่นคือ สุขภาพ สหภาพแรงงานจึงประกาศสไตรก์และเดินขบวน ผู้นำ KTU หลายคนเริ่มอดอาหารประท้วง รัฐบาลประกาศว่าการหยุดโรงเรียนประท้วงถือว่าผิดกฎหมาย และพยายามที่จะป้องกัน ‘ปฏิบัติการต่อรองทางการจ้าง’ (industrial action) สิ่งเหล่านี้ยิ่งกระตุ้นให้ KTU ประท้วงในประเด็นที่กว้างขึ้น นั่นคือสิทธิการรวมตัวของครู

การคัดค้านของสหภาพฯ ได้รับการสนับสนุนจากครูส่วนใหญ่ จากการสำรวจโดย Hangil Research รายงานว่ากว่า 72.7% ของครูแสดงความห่วงใยต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนใน NEIS ในที่สุดกระทรวงยอมถอยและประกาศว่าได้ยุติการใช้ข้อมูลทั้ง 3 ชุด และจะทบทวนการดำเนินการทั้งหมดใหม่

ช่วงปี 2007 รัฐบาลพยายามสร้างระบบประกันคุณภาพรวมศูนย์และระบบบำนาญแบบใหม่สำหรับครู KTU ชี้แจงว่าพวกเขาไม่ได้รับการปรึกษาใดๆ ประเด็นได้ยกระดับขึ้นมาเมื่อครู 430 คน ถูกจับและถูกปรับในฐานะมีส่วนในการประท้วงระบบใหม่นี้ การลงโทษร่วมเช่นนี้เกิดขึ้นครั้งแรกหลังจากการตั้ง KTU ในปี 1989 ซึ่งถูกประกาศแม้ว่าเหล่าครูจะลาพักร้อนเพื่อมาประท้วง เมื่อพวกเขาถูกปฏิเสธโดยผู้อำนวยการโรงเรียน พวกเขาจึงแลกตารางเรียนเพื่อเข้าร่วมชุมนุมได้

KTU ภายใต้การสนับสนุนจาก Education International ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2007 ได้มีสาส์นไปยังประธานาธิบดีเกาหลีเพื่อปกป้องสิทธิ์ในการร่วมกิจกรรมของสหภาพ และประณามการที่ครูถูกตำรวจข่มขู่และถูกปฏิเสธสิทธิในการปกป้องตัวเองจากคณะกรรมการสอบวินัยที่จัดตั้งขึ้น

การประเมินครูโดยตัวมันเองถูกวิจารณ์โดย KTU ว่าเป็นแผนของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อที่จะหาครูที่เป็นแพะรับบาปนโยบายการศึกษาที่กำลังล้มเหลวต่อนักเรียนและครู

กาต่อต้านสงครามและการศึกษาเพื่อสันติภาพ

ในเดือนมกราคมของปี 2007 ครูผู้เป็นสมาชิก KTU อันโดดเด่น 2 คนในโรงเรียนมัธยมถูกตำรวจจับภายใต้กฎหมายความมั่นคงในข้อหาสนับสนุนเกาหลีเหนือ ทั้งคู่ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับรัฐบาลในประเด็นการศึกษาเพื่อการรวมชาติ หนึ่งในนั้นมีผลงานจนได้รับรางวัลจากรัฐบาล ขณะที่อีกคนได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการที่ร่วมมือกับครูในเกาหลีเหนือเพื่อพัฒนาแผนการสอนในการศึกษาเพื่อการรวมชาติ แต่ทั้งคู่ก็ถูกจับกุมเนื่องจากเกรงว่าพวกเขาจะทำการล้างสมองเด็กด้วยโวหารที่นิยมเกาหลีเหนือ เห็นได้ชัดว่า KTU ได้สนับสนุนครูทั้งสอง ทั้งคู่เคยเป็นกรรมการในคณะกรรมาธิการการศึกษาเพื่อการรวมชาติของ KTU ในต่างวาระกัน

จุดยืนการต่อต้านสงครามแสดงออกในทฤษฎีการศึกษาที่แท้และยังปรากฏในประเด็นการศึกษาเพื่อการรวมชาติ ได้ปรากฏมิติอื่นเมื่อ KTU สนับสนุนสมาชิกผู้คัดค้านการตัดสินใจของรัฐบาลเกาหลีในการส่งทหารไปอิรักในปี 2004 KTU ได้โพสต์จุดยืนในเว็บไซต์ของพวกเขา ห้องเรียนต่อต้านสงครามของพวกเขาจัดขึ้นอย่างเข้มข้นหลังจากล่ามชาวเกาหลีถูกฆ่าในอิรัก รัฐบาลเตือนสหภาพแรงงานเรื่องห้องเรียนที่ต่อต้านนโยบายและอุดมการณ์ของรัฐบาล และเตือนให้รักษาความเป็นกลางโดยเคารพนโยบายของรัฐบาลต่ออิรัก แต่ KTU ไม่เห็นด้วยและตอบกลับว่า จุดประสงค์ของห้องเรียนต่อต้านสงครามก็เพื่อสอนถึงความสำคัญของสันติภาพและชีวิต เราจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่เราจะเพิ่มเนื้อหามากยิ่งขึ้น

KTU ยังมีส่วนร่วมในประเด็นทางการเมืองตามบริบทที่เกิดขึ้น มากกว่าการศึกษาที่กำหนดจากส่วนกลาง ในปี 2004 ผู้นำ KTU ถูกจับหลังจากออกแถลงการณ์ต่อต้านการถอดถอนประธานาธิบดีโน มูฮย็อน (Roh Moo Hyun) เหล่าครูถูกจับในข้อหาละเมิดกฎหมายที่ห้ามข้ารัฐการในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ทั้งสองกรณีแสดงให้เห็นถึงการยืนยันสิทธิ์ของครูในการเข้าร่วมกระบวนการทางสังคมประชาธิปไตยได้ดี

ด้านมืดของสหภาพแรงงานครู ก่อนเข้าสู่ทศวรรษ 2010

ความนิยมของ KTU ได้ลดลงอย่างน่าใจหาย สถิติในปี 2008 พบว่า เหลือสมาชิก 83,000 คน จำนวนคนที่ลดลงใน 4 ปีมีนับหมื่นคน จนทำให้มีการประชุมเพื่อปรับภาพลักษณ์องค์กรในฐานะผู้สร้างปัญหาจากภาพการประท้วงบนท้องถนนและการสไตรก์ รวมถึงพยายามเสนอทางเลือกทางการศึกษาที่เป็นเหตุเป็นผลมากกว่าจะคัดค้านรัฐบาลอย่างรุนแรง ขณะนั้นมีเรื่องใหญ่ในการศึกษาสมัยอี มยองบัก(Lee Myung-bak) ที่ต้องการจะปฏิรูปการศึกษาภาษาอังกฤษ, การอนุญาตให้มหาวิทยาลัยเปิดสอบนักศึกษาโดยตรงและการจัดอันดับโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา อย่างไรก็ตามกลุ่มครูที่ใหญ่ที่สุดไม่ใช่ KTU แต่เป็น Korea Federation of Teacher’s Associations (KFTA หรือ สหพันธ์สมาคมครูแห่งเกาหลี) ที่ในปี 2008 มีสมาชิกกว่า 180,000 คน[1]

เป็นไปได้ว่าเหล่าผู้ปกครองและสาธารณะเหนื่อยหน่ายกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและยังมีเรื่องอื้อฉาวที่คอยทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กร เช่น ความพยายามปิดบังการละล่วงทางเพศของสมาชิก เช่นเดียวกับการล่วงละเมิดทางเพศของครูฝึกสอนโดยสมาชิก KTU[2]

สหภาพแรงงานการศึกษาของเกาหลีใต้ก็ยังคงต้องแสวงหาทางเดินของตนต่อไปว่า ในสภาพการณ์เช่นนี้จะรื้อฟื้นความเชื่อมั่น และก้าวต่อไปอย่างทรงพลังได้อย่างไร


[1] The Korean Times. “Teachers Union to Shed Radical Image”. Retrieved on 24 May 2023 from http://www.koreatimes.co.kr/www/news/nation/2008/02/113_19811.html (28 February 2008)

[2] The Korean Times. “Teachers Union Has Image Problem”. Retrieved on 24 May 2023 from http://koreatimes.co.kr/www/news/nation/2009/05/117_45034.html (17 May 2009)

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save