fbpx

สหภาพแรงงานการศึกษาในสิงคโปร์: พลังต่อต้านในยุคอาณานิคมที่ถูกเลือกปฏิบัติ

สิงคโปร์เป็นตัวอย่างของประเทศพัฒนาแล้วในเอเชียที่เติบโตอย่างรวดเร็ว หลังหลุดออกมาจากความสัมพันธ์แบบอาณานิคม การศึกษากลายเป็นเครืองมือสำคัญในการพัฒนาประเทศซึ่งตั้งอยู่บนฐานที่ใช้เศรษฐกิจเป็นตัวนำ กระนั้นในระบบการศึกษาก็ยังมีพื้นที่ให้กับสหภาพแรงงานการศึกษา

ก่อนที่สิงคโปร์จะแยกตัวจากมาเลเซีย ทั้งสองประเทศยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษในนาม ‘บริติช มลายา’ (British Malaya) เหมือนกัน ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษได้ถอนกำลังออกไป และดินแดนก็ถูกครอบครองโดยกองทัพญี่ปุ่น อำนาจของอังกฤษจึงเสื่อมถอยลงโดยอัตโนมัติ แต่หลังสงคราม อังกฤษอยู่ในฟากฝั่งผู้ชนะ ทำให้ดินแดนในอาณานิคมเดิมก็หวนกลับสู่อังกฤษอีกครั้ง ในครั้งนี้ อังกฤษพยายามสร้างหน่วยการเมืองที่เรียกว่า ‘สหภาพมลายา’ (Malayan Union) อย่างไรก็ตาม โครงสร้างเช่นนั้นเป็นการออกแบบเพื่อการปกครองของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ แม้จะมีสภาบริหารและสภานิติบัญญัติแต่ก็มาจากการแต่งตั้งของอังกฤษ ความสัมพันธ์ของสหภาพแรงงานกับรัฐก็จึงเป็นความสัมพันธ์แบบอาณานิคม

ดังนั้น ชาวมลายูจึงได้รวมกันก่อตั้ง ‘องค์การสหมลายูแห่งชาติ’ (United Malays National Organization: UMNO) ในปี 1946 เพื่อต่อต้านสหภาพมลายา เพราะถือว่าเป็นการปกครองที่ลิดรอนสิทธิและสถานะของชาวมลายู ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังไม่พอใจที่ชาวจีนอพยพจะได้รับสิทธิเท่ากับพวกเขา

ในอีกด้าน พวกฝ่ายซ้ายที่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีเชื้อสายมลายู ก็รวมตัวกันในนาม ‘สหภาพประชาธิปไตยมลายา’ ได้โจมตีว่า สหภาพมลายาไม่ใช่องคาพยพในระบบเสรีนิยมแต่เป็นพวกอัตตาธิปไตย แรงต่อต้านจากทั้งสองฝั่งทำให้อังกฤษยกเลิกการปกครองแบบสหภาพมลายา และเสนอให้ใช้การปกครองแบบสหพันธรัฐ จนกลายเป็น ‘สหพันธ์มลายู’ ในปี 1948[1] แต่กลุ่มเชื้อสายจีนที่สมาทานอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายไม่พอใจจึงได้ก่อกบฏขึ้น นำไปสู่การประกาศสภาวะฉุกเฉินและปราบปราม กว่าที่อังกฤษจะเปิดโอกาสให้ชาวมลายูมีส่วนร่วมในการปกครองก็ปี 1955 แล้ว จากการจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก นำไปสู่การต่อรองเพื่อเป็นอิสรภาพจากอังกฤษ ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จในปี 1957 ชื่อและสถานะใหม่ของพวกเขาก็คือ ‘สหพันธรัฐมาเลเซีย’ ที่รวมสิงคโปร์เข้าไปด้วย กระนั้น สิงคโปร์ก็อยู่กับสหพันธรัฐมาเลเซียไม่ตลอดรอดฝั่ง สิงคโปร์ได้แยกตัวออกมาในปี 1965[2] ภายหลังความขัดแย้งที่ไม่สามารถลงรอยกันได้

ระบบการศึกษาและบุคลากรของสหภาพมลายา-สหพันธรัฐมาเลเซีย ที่ในเวลาต่อมาจะกลายเป็นประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์อยู่บนความสัมพันธ์แบบอาณานิคม จึงเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นรูปแบบความสัมพันธ์อันเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศเจ้าอาณานิคมและผู้ที่ถูกปกครอง และขยายภาพการต่อสู้ได้เป็นอย่างดี

แรกตั้งสหภาพแรงงานการศึกษาใต้อำนาจอาณานิคม

สมาคมครูมลายา (Malayan Teachers’ Association) ก่อตั้งขึ้นในปี 1926 แต่ไม่เป็นที่ยอมรับของรัฐบาลอาณานิคม[3] ต้องรอจนถึงปี 1939 ถึงได้มีการจัดตั้งสหพันธ์ครูมลายา (Malayan Teachers’ Federation: MTF) ในครั้งนั้นมีตัวแทนจากมลรัฐลังงอร์, เปรัก, ปีนัง, มะละกา และสิงคโปร์[4]  

พระราชกฤษฎีกาสหภาพแรงงาน ปี 1940 ได้ทำให้การจัดตั้งสหภาพแรงงานครูมีความเป็นไปได้ เทียบกับที่อื่นๆ แล้ว สิงคโปร์มีอารมณ์ร่วมทางการเมืองที่สนับสนุนการต่อต้านอาณานิคมมากกว่า บนสภาพการเมืองที่มีความไม่มั่นคงสูงกว่า พวกเขาตระหนักดีว่า กฎหมายแบบอาณานิคมจะถูกใช้ในข้อพิพาทของสหภาพแรงงานและนำไปสู่การพักงาน ปลดออก การสั่งห้าม การลดระดับ และการคุมตัวโดยไม่มีการสอบสวนต่อครูที่เข้าร่วมกับกิจกรรมของสหภาพ มันจึงเป็นอาวุธทางกฎหมายที่จะใช้ต่อกรกับองค์กรเสรี และสหภาพแรงงานในคาบสมุทรมลายาและสิงคโปร์ ดังนั้น สิ่งที่ครูต้องการก็คือ ‘การนำที่เข้มแข็ง’ เมื่อเทียบกันแล้ว สิงคโปร์ มีจิตใจของสหภาพแรงงานและมีความเป็นปีกซ้ายมากกว่าสหภาพแรงงานสายมลายู โดยไม่เกรงกลัว จึงเปิดรับบทเรียนจากสหภาพแรงงานที่เคยประสบความสำเร็จในการขึ้นเงินเดือนและสภาพการจ้างงานที่ดีกว่าเพื่อเคลื่อนไหว[5] แต่อีกไม่นานภูมิภาคนี้ก็เข้าสู่สงคราม

หลังจากจบสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษกลับเข้ามาครอบครองพื้นที่นี้อีกครั้งในเดือนกันยายน 1945  ทั้งที่ในช่วงสงครามได้หลบหนีกองทัพญี่ปุ่นออกไป หลังสงครามพลังของฝ่ายซ้ายเติบโตขึ้นในระดับนานาชาติ และการจัดตั้งสหภาพแรงงานก็เป็นแนวโน้มของยุคสมัย

เหล่าครูสิงคโปร์ตั้งท่าเป็นศัตรูต่อเจ้าอาณานิคมที่หวนกลับมา พวกเขาต้องการจัดตั้งองค์กรที่วางอยู่บนฐานของสหภาพแรงงานและเตรียมที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิของครูภายในกรอบการทำงานแบบอาณานิคมที่เข้มงวด พวกเขาถือเป็นพวกชาตินิยมที่เปียกชุ่มไปด้วยจารีตขบวนการแรงงานแบบอังกฤษที่มองว่า ต้องจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อเป็นกลไกในการต่อสู้ ดังนั้น พื้นฐานของสหภาพแรงงานจึงมีแรงขับเคลื่อนแบบชาตินิยมที่ต่อต้านเจ้าอาณานิคมไปด้วย สมาคมครูสิงคโปร์ (Singapore Teachers’ Association: STA) ไม่ได้ส่งเข้าร่วมสมาชิกขององค์กรใหม่อย่างสหพันธ์ครูมลายา (Malayan Teachers’ Federation: MTF) เพราะจะทำการจัดตั้งสหภาพแรงงานครูสิงคโปร์ (Singapore Teachers’ Union: STU) [6]  

STU หรือ สหภาพแรงงานครูสิงคโปร์ ก่อตั้งขึ้นช่วงปี 1946[7]  และสหภาพแรงงานในแหลมมลายาได้มีบทบาทโต้เถียงนโยบายการศึกษาที่ไม่จริงจัง ในยุคอาณานิคม การวิจัยและแนวคิดด้านการศึกษาล้วนเป็นสิ่งที่ขาดแคลนจนทำให้เหล่าครูต้องออกมาเรียกร้อง นอกจากนั้นระบบอาณานิคมถือว่าได้สร้างสถานภาพที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างครูท้องถิ่นและครูชาวยุโรป เนื่องจากครูท้องถิ่นจะถูกด้อยค่าโดยระบบอาณานิคมเอง[8]

หากเปรียบเทียบระดับเงินเดือนในสิงคโปร์ก่อนสงครามระหว่างครูชาวยุโรปและครูท้องถิ่น ครูยุโรปชายมีเงินเดือนเริ่มที่ 400 เหรียญต่อเดือน ครูหญิงได้รับ 300 เหรียญต่อเดือน ขณะที่ครูท้องถิ่นชาย ‘สูงสุด’ อยู่ที่ 300 เหรียญต่อเดือน สำหรับครูทั่วไป แต่อยู่ที่ 325 เหรียญต่อเดือนสำหรับผู้จบปริญญาตรี ครูหญิงท้องถิ่นได้รับสูงสุดที่ 200 เหรียญต่อเดือน ขณะที่ผู้จบปริญญาตรีอยู่ที่ 225 เหรียญต่อเดือน[9] กรณีเงินค่าเลี้ยงดูบุตรสำหรับข้าราชการยุโรปที่มีเงินเดือนสูงกว่า 700 เหรียญต่อเดือน จะได้รับเงินสำหรับลูกคนแรก 70 เหรียญ คนที่ 2 เป็น 50 เหรียญต่อเดือนในระยะเวลา 18 ปี เมื่อเทียบกับเจ้าหน้าที่เสมียนในนิคมช่องแคบแล้ว พวกเขาได้เงินเดือนเพียง 55 เหรียญต่อเดือน ส่วนหากเป็นข้าราชการในสหพันธรัฐมาเลย์จะได้เพียง 35 เหรียญ[10]

อีกองค์กรหนึ่งคือสหภาพแรงงานครูมลายา (Malayan Teachers’ Union: MTU) ได้เน้นถึงการเข้าถึงความรู้และนิสัยการวิพากษ์วิจารณ์ ขณะที่ระบบอาณานิคมกลับใช้การศึกษาเพื่อปลูกฝังค่านิยมและมาตรฐานแบบอาณานิคม แม้ว่า MTU จะสนับสนุนการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งมลายา แต่มิได้หมายถึงการบูชาปริญญาหรือเสื้อคลุมทองคำมากไปกว่าโอกาสการเติบโตทางภูมิปัญญาและพื้นที่ที่กว้างกว่าของสัญญาประชาคม นอกจากนั้นยังมีข้อแนะนำให้กับเหล่าครูว่า ให้เปิดใจให้กว้าง หมั่นตรวจสอบผู้มีอำนาจ อย่าเพียงแต่ไปบูชาพวกเขา จงตั้งคำถามและอย่ายอมรับอะไรอย่างถ่อมตน จงกล้าหาญที่จะเปลี่ยนเป้าหมายเมื่อหลักฐานจำนวนมากชี้ว่ามันจำเป็นต้องเปลี่ยน และป้องกันการยึดติดและเคร่งคัมภีร์[11]

หลังสงคราม ครูท้องถิ่นได้รับแรงบันดาลใจจากสหภาพแรงงานที่ชื่อว่า NUT (National Union of Teachers) ของอังกฤษและเวลส์ เนื่องจากว่าพวกเขาสามารถสร้างข้อตกลงกับคณะกรรมการ Burnham ชุดใหม่ได้ในเดือนพฤษภาคม 1944 ทำให้สามารถเรียกร้องฐานเงินเดือนของครูทั้งหมดที่ผ่านคุณสมบัติ แต่อคติของเจ้าอาณานิคมที่คิดว่าตนเองนั้นเหนือและการเลือกปฏิบัติจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายนัก[12] ส่วนครูใน STU ที่ไม่พอใจการจ่ายเงินเดือนที่ไม่เท่าเทียมกันได้กดดันว่าในเมื่อพวกเขามีความสามารถเท่าเทียมกับชาวยุโรป เพราะเตรียมสอนเพื่อสอบแบบเดียวกัน มีกิจกรรมเหมือนกันหรือทำงานในฐานะครูหลักและมีความสำเร็จที่เท่าเทียมกัน รวมไปถึงการบริหาร พวกเขาจึงกดดันให้หยุดการจ่ายเงินเดือนที่เลือกปฏิบัติ[13]   

ความเหลื่อมล้ำของครูยุโรป และครูใต้ระบอบอาณานิคม จากกรณีตกเบิกเงินเดือน

การตกเบิกจากช่วงสงครามโลกที่ญี่ปุ่นยึดครองสิงคโปร์ เมื่อฝ่ายบริหารการทหารบริเตน (British Military Administration:  BMA) ตัดสินใจจ่ายเงินย้อนหลังครูท้องถิ่นด้วยเงินเดือนสูงสุดที่ 250 เหรียญเป็นเวลา 3 เดือน (ขณะที่ญี่ปุ่นยึดครองเป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 1942- 4 กันยายน 1945) ถ้าเป็นข้าราชการยุโรปจะได้รับการจ่ายเงินเดือนย้อนหลังเต็มจำนวนเป็นเงินปอนด์สเตอร์ลิง และยังนำเงินมาจากกองทุนมลายา (Malaya funds) ไม่ใช่จากสหราชอาณาจักร จึงทำให้กลายเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์กันหนัก ขณะนั้นยังไม่มีสหภาพแรงงาน ได้มีสมาคมยุวข้าราชการ (Junior Civil Service Association: JCSA) ได้ยื่นข้อร้องเรียนให้จ่ายตกเบิกเงินเป็นเวลา 3 ปีครึ่ง แต่ไม่ได้การตอบรับ พวกเขาจึงหาทางรวมตัวกันมากขึ้นเพื่อต่อรอง STA เป็นหนึ่งในตัวแทนที่ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 2 พฤษภาคม 1946[14]

ช่วงเวลาดังกล่าว ไม่เฉพาะครูแต่ยังมีแรงงานสาขาอื่นที่ไม่พอใจเช่นกัน โดยเฉพาะกรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้นัดหยุดงาน เช่นเดียวกับผู้รับจ้างในบริษัทที่เป็น ‘marginal striker’ หรือผู้นัดหยุดงานแบบชายขอบ ขณะที่คนงานเหมือนชาวยุโรปได้รับเงินชดเชยเต็มส่วน ในเวลาเดียวกันก็มีความไม่พอใจและความไม่สงบในหมู่ข้าราชการด้วย[15]

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1947 รัฐบาลได้ตั้งสภาการจ่ายเงินตกเบิกของข้าราชการ (Government Servants’ Back Pay Council: GSBPC) โดยมี STU เป็นเลขาธิการ โดยเลขาธิการของ STU นั้นเองที่ทำหน้าที่ดังกล่าว เช่นเดียวกับ JCSA ก็เข้าร่วมกับสภานี้ รัฐบาลอาณานิคมเสนอสิ่งที่เรียกว่า Circular 24 ที่จ่ายชดเชยจากการลดเงินเดือนครูตอนที่ญี่ปุ่นปกครอง แต่ GSBPC ปฏิเสธ และเรียกร้องให้จ่ายตามอนุมาตรา 11 โดยปราศจากการแบ่งแยกจากครูชาวยุโรป[16] มีการนัดประชุมใหญ่จากประธาน GSBPC มีคนเข้าร่วมกว่า 2,500 คน รวมข้าราชการสายแพทย์ ครู กฎหมายและงานธุรการ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการประท้วงต่อสิ่งที่เรียกว่า ex gratia payments ใน Circular 24[17]

การสร้างเอกภาพของการให้บริการทางการศึกษา

ในที่ประชุม STU ตัวแทนได้เสนอหลักการการสร้างเอกภาพของการให้บริการทางการศึกษา นั่นคือ สถานภาพที่เท่าเทียมกันระหว่างครูยุโรปและครูท้องถิ่น, ความเท่าเทียมกันของสถานภาพครูทั้งหมด, สถานภาพที่เท่าเทียมกันของครูชายและหญิง ครูที่แต่งงานแล้วและยังไม่ได้แต่งงาน และความเท่าเทียมกันของสถานะและสภาพการทำงานระหว่างครูโรงเรียนรัฐบาลและครูเอกชน อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการเงินเดือนชี้ว่า ขณะนี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่มีเสถียรภาพ[18] จึงไม่สามารถจะปรับเปลี่ยนอะไรได้

แผนการศึกษา 10 ปี ที่เริ่มเมื่อ 7 สิงหาคม 1947 โดยสภาที่ปรึกษาสิงคโปร์ ต้องการครูมากกว่าเดิม ไม่ว่าเงินเดือนที่เหมาะสมจะมีหรือไม่ แต่คนเก่งๆ มักจะไม่สนใจเป็นครู STU จึงเห็นว่าควรที่จะรวมครูทุกกลุ่มเป็นกลุ่มวิชาชีพเดียวที่มีขั้นเงินเดือนที่เท่าเทียมกัน โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ เพศ และคุณสมบัติ[19]

STU ยังเรียกร้องสิ่งที่เรียกว่า educational leave หรือการลาเพื่อเพิ่มเติมความรู้ แบบที่ครูชาวยุโรปได้กัน โดยเรียกร้องการลา 6 เดือนหลังจากทำงานได้ 4 ปี และ 9 เดือนหลังจากทำงานได้ 6 ปี สำหรับครูทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลว่าลาหาความรู้หรือไปท่องเที่ยว[20] นอกจากนั้นยังมีการเรียกร้องค่าครองชีพในเมืองใหญ่แบบเดียวกับ ‘ค่าครองชีพในเขตลอนดอน’ เพื่อทำให้ครูสิงคโปร์อยู่ในค่าครองชีพที่สูงเมื่อเทียบกับรัฐอาณานิคมอื่นๆ ในมลายา[21] STU ยังผลักดันให้ครูในโรงเรียนเอกชนได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับครูโรงเรียนรัฐ นั่นคือให้พวกเขาได้รับเงินเดือนในอัตราเดียวกัน[22] อันที่จริงครูโรงเรียนเอกชน (aided school) เคยได้รับการรักษาพยาบาลฟรีในปี 1920 แต่ถูกเพิกถอนสิทธิเมื่อปี 1922 ดังนั้นการที่ครูเหล่านี้ถูกเลือกปฏิบัติจึงไม่เหมาะสม[23]

STU ได้ร่วมเสนอแผนของการศึกษาระดับประเทศในฐานะการศึกษาในระบบเดียว โรงเรียนเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างชาติมลายาขึ้นมา ควรมีทางเลือกอิสระสำหรับการสอนภาษาและนักเรียนไม่ควรถูกลงโทษสำหรับการเลือกของตน หลักการคือการเสนอการศึกษาภาคบังคับที่ไม่ต้องเสียเงิน[24]

เมื่อคณะกรรมาธิการด้านอุดมศึกษาเดินทางมาที่มลายาปี 1947 เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ที่จะตั้งมหาวิทยาลัย STU เป็นหนึ่งในองค์กรไม่มากนักที่สนับสนุนว่าถึงเวลาที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่มีฐานเดิมอยู่แล้วนั่นคือ Medical College และ Raffles College โดยขยายขอบเขตการสอนออกไปในระบบมหาวิทยาลัย กระนั้นก็มีเสียงที่ไม่เห็นด้วย ไม่เพียงเท่านั้น STU ยังเสนอให้จัดตั้งวิทยาลัยครูขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย[25] มีผู้เห็นว่ามหาวิทยาลัยจะเป็นผู้ปกป้องมาตรฐานของวิชาชีพที่น่าเชื่อถือได้[26] STU ยังใส่ใจเรื่องการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และทันตแพทย์ฟรีของนักเรียน พวกเขาได้วิจารณ์ระบบที่ให้โอกาสเพียงนักเรียนที่มีผู้ปกครองเงินเดือนน้อยกว่า 50 เหรียญต่อเดือน ทั้งที่เป็นสิทธิที่ควรได้รับทุกคน[27]

Malayan Teachers’ Union

หลังสงคราม สิงคโปร์ถูกวางโครงสร้างให้แยกขาดจากส่วนที่เหลืออยู่ในสหภาพมลายา แต่สิงคโปร์ยังเป็นหน่วยการเมืองที่เรียกว่า ‘Crown Colony’ (อาณานิคมยอดมงกุฏ) แต่ความสัมพันธ์ของพวกเขายังคงอยู่ ผู้นำ STU ได้ติดต่อกับสมาคมครูในสหภาพมลายาเพื่อจะแนะนำให้ครูได้รู้จักแนวคิดสหภาพแรงงาน[28] ดังที่เห็นได้ว่า STU ตัดสินใจที่จะร่วมกับ MTU ในการประชุม 11 กันยายน 1947 ด้วยการลงมติเอกฉันท์ที่จะเป็นสมาชิกของ MTU[29]

วันที่ 12 กันยายน 1947 เป็น Victory Day มีการเปิดตัวของ MTU สหพันธ์ครูในสหภาพมลายาและสิงคโปร์ เช่นเดียวกับสหภาพแรงงานครูในรัฐต่างๆ[30] มีเสียงมาจากเหล่าครูว่าการรวมตัวมิใช่เพียงเรื่องเงินเดือนที่ยุติธรรม แต่ยังหมายถึงการส่งเสียงต่อการผลักดันนโยบายการศึกษาให้กับประเทศของพวกเขาด้วย[31] การเกิดขึ้นของสหภาพช่วยลบความหงุดหงิดและความท้อแท้จากประสบการณ์การตั้งสมาคม และ MTF เพราะเชื่อว่าสหภาพจะให้อำนาจพวกเขาในการต่อรองกับผู้ว่าจ้างและสำคัญต่อการกำหนดนโยบายทางการศึกษา[32]

MTU เป็นสหภาพที่จัดตั้งภายในอำนาจของอาณานิคม นอกจากจะรวมครูเข้าด้วยกันแล้ว MTU ยังท้าทายเจ้าหน้าที่อาณานิคมอีกด้วย[33] STU มีบทบาทอย่างยิ่งในฐานะผู้วางยุทธศาสตร์ STU ยังอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการทั่วไปของสภา GSBP และเป็นหัวหน้าของสหพันธ์สหภาพการบริการของรัฐบาลและเทศบาล (Government and Municipal Services’ Unions) เพื่อจัดการกับเบี้ยค่าครองชีพและการจ่ายเงินเดือนที่สูงขึ้นพร้อมปรับปรุงสภาพการทำงาน[34] จึงไม่แปลกว่า STU ที่มีประสบการณ์ด้านสหภาพแรงงานจะมีบทบาทอย่างสูงในแวดวงสหภาพแรงงานในสหภาพมลายา ด้วยเกียรติภูมิเช่นนั้นพวกเขายังไม่รู้สึกถูกคุกคามโดยครูชาวยุโรป[35]

อาวุธคือการสไตรก์

การสไตรก์ถูกพิจารณาว่าเป็นอาวุธขั้นพื้นฐานของสหภาพแรงงานโดยผู้นำสิงคโปร์ ในภาครัฐ กิจกรรมของสหภาพแรงงานจะถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด ตามกฎหมายแล้ว ข้าราชการแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ ข้าราชการที่ถูกควบคุมและกลุ่มที่ไม่ถูกควบคุม

พวกแรกนั้นห้ามเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองใดๆ พวกเขาจะต้องเป็นกลางในเหตุการณ์ทางการเมืองหรือความขัดแย้งสาธารณะ ครูโรงเรียนรัฐผู้อยู่ในตำแหน่งผู้นำสหภาพแรงงานพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะเรียกร้องสิทธิ เพราะจะถูกตีความว่าเป็นการตัดสินใจทางการเมือง หรืออาจถูกตีความว่าละเมิดกฎหมายดังกล่าว[36] รัฐบาลไม่ยินยอมให้ครูสไตรก์ แม้ว่ากฎหมายสหภาพแรงงาน 1940 จะไม่ได้ห้ามสหภาพแรงงานก็ตาม MTU เห็นว่าให้ยึดตามกฎหมายดังกล่าวเป็นหลักไม่ใช่จากคำสั่งของรัฐบาล ปัญหาหนึ่งก็คือการที่ MTU ไม่ได้รับการจดทะเบียนเป็นสหภาพแรงงานตามกฎหมายดังกล่าว[37]

มีสมาชิกสภาที่ปรึกษาสิงคโปร์ให้ความเห็นกับการสไตรก์ว่า ครูกับหมอมีชีวิตคนอยู่ในมือ ไม่ควรที่จะให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าหน้าที่ และยินดีที่จะร่วมกับ STU ถ้าตัดเรื่องสไตรก์ออกไป อย่างไรก็ตาม STU ก็ยืนยันว่า การสไตรก์ไม่สามารถตัดออกไปเพราะความประสงค์ของผู้ใดผู้หนึ่งได้[38]

การแยก STU ออกจาก MTU ด้วยข้ออ้างโครงสร้างทางการเมือง

หลังจากการจัดโครงสร้างทางการเมืองให้มลายูกับสิงคโปร์แยกขาดออกจากกันอย่างชัดเจนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชะตากรรมของสหภาพแรงงานก็ดูเหมือนจะถูกพรากออกจากกันไปด้วย การจัดตั้งสหภาพแรงงานที่รวมระหว่าง 2 พื้นที่ถูกทำให้ยุ่งยาก MTU แม้จะถูกจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1947 แต่ก็ยังไม่สามารถจดทะเบียนมีสถานภาพทางกฎหมายได้ การเกิดขึ้นอย่างถูกฎหมายของ MTU จึงจำต้องตัดขาด STU ออกไป

เมื่อผู้นำ STU อย่าง  Sarma และ Devan Nair ถูกจับกุมโดยไร้การสอบสวน ทำให้ความเคลื่อนไหวด้านสหภาพลดลงไปด้วย บทบาทผู้นำในการประชุมหารือเพื่อผลักดันปัญหาไปอยู่ในมือ PTU ที่ปีนัง ทำให้ที่ประชุมผลักดันการจดทะเบียน MTU โดยไม่นับ STU ไว้ในนั้น ทำให้ STU ไม่ส่งตัวแทนไปร่วมประชุมเปิดตัวของ MTU ในเดือนธันวาคม 1951 MTU จึงพัฒนาขึ้นโดยตัดขาดจาก STU สืบเนื่องจากกลุ่มผู้นำเดิมกล่าวได้ว่าปี 1951 เป็นจุดจบของช่วงการสร้างมลายูทั้งมวลของ STU ไปด้วย ต่อมาได้มีการจัดตั้งสมาคมครูผู้จบปริญญาตรี (Graduate Teachers’ Association) ในสิงคโปร์ เมื่อ 7 กันยายน 1951 ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิเสธหลักการการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของฝ่ายการศึกษา และละเลยผลประโยชน์ของสมาชิก STU[39]

การแบ่งแยกครูในสิงคโปร์จากการศึกษา และการต่อสู้ช่วงก่อตั้งประเทศ

ยังมีปัญหาใหญ่อีกประการคือการไม่ยอมรับครูที่เกิดจากการฝึกหัดพื้นฐาน (normal trained teachers) ไว้ในระบบเงินเดือนพื้นฐาน Schedule A มีการสร้างกลไกว่า ครูเหล่านี้จะถูกนับรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวก็ต่อเมื่อผ่านการสอบ[40] ในที่สุดเมื่อเดือนมกราคม 1953 โครงการการให้บริการการศึกษา (โรงเรียนภาษาอังกฤษ) ถูกตีพิมพ์ ครูที่ได้รับประกาศนียบัตรถือว่าได้รับเงินเดือนขั้นพื้นฐานแบบใหม่ ส่วนครูที่มาจากการฝึกหัดพื้นฐาน (ต่อไปขอเรียกว่า ‘ครูฝึกหัด’) หากอายุไม่ถึง 35 ปี ในวันที่ 1 มกราคม 1950 หรือผู้ยังไม่ผ่านขั้นที่หนึ่งของข้อตกลงเงินเดือน Benham หรือ Cowgill จะไม่ถูกนับว่ามีคุณสมบัติอยู่ในระบบเงินเดือนดังกล่าว STU แม้จะยอมรับหลักการแต่ก็ของสงวนสิทธิในการต่อรองอีกหลากหลายประเด็น ที่สำคัญที่สุดก็คือการยอมรับครูที่ถูกละเลยนั้น เช่นเดียวกับการยกระดับฐานเงินเดือนครูเอกชนที่รัฐสนับสนุน[41]

อาจกล่าวได้ว่าครูฝึกหัดเป็นหัวหอกในการต่อสู้ในการหลอมรวมระบบการศึกษาเป็นหนึ่งเดียว เขาพบว่าตัวพวกเขาคือคนวงนอก ในโครงการ SES ปี 1953 พวกเขาไม่พอใจทั้งที่พวกเขาคือครูส่วนใหญ่ และยื่นคำร้องต่อ STU[42]

ปี 1954 เกิดจลาจลในโรงเรียนมัธยมจีน มีการเรียกร้องให้หลอมรวมการศึกษากระแสหลักอย่างอังกฤษและจีนเข้าด้วยกัน เนื่องจากไม่ส่งผลดีต่ออนาคตของอาณานิคมสิงคโปร์ ต่อมาเมื่อสิงคโปร์ปกครองตัวเองในปี 1955 กระทรวงศึกษาธิการเข้าแทนที่กรมศึกษาธิการ[43] การต่อสู้นั้นยังพบว่า ลีกวนยู ยังเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของ STU และยังจะร่วมกับตัวแทน STU ในการเจรจากับกระทรวงศึกษาธิการ แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า นำไปสู่ห้วงแห่งการต่อสู้เชิงรุก (militant phase) ในประวัติศาสตร์ STU เมื่อพวกเขาได้ข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ มิถุนายน 1957 ที่ประกาศว่าครูฝึกหัดจะไม่นับอยู่ในฐานเงินเดือนมาตรฐาน Schedule A ผู้นำ STU จึงนัดชุมนุมในสนามแบดมินตัน 13 มิถุนายน 1957 เพื่อถกปัญหาดังกล่าวและการหยั่งเสียงเพื่อทำการสไตรก์[44]

สมาชิก STU กว่า 1,500 คนมาร่วมชุมนุมและเตรียมพร้อมที่จะเดินขบวนไปที่อาคารที่ทำการอาณานิคม[45] อีก 2 วันต่อมา กระทรวงศึกษาธิการได้แถลงข่าวว่า รัฐบาลพร้อมจะรองรับตัวแทนจาก STU เพื่อฟังข้อเสนอเกี่ยวกับเงินเดือนครู อย่างไรก็ตามระเบียบว่าด้วยวินัยได้ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐในการสไตรก์ ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าก่อนมีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน[46] ในการประชุมสภานิติบัญญัติ ลีกวนยู ในฐานะสมาชิก Tanjong Pagar ได้ปราศรัยถึงสิทธิของเจ้าหน้าที่รัฐในการสไตรก์ ขณะที่ หัวหน้าเลขาธิการได้แสดงความรู้สึกเสียใจต่อการที่ให้ความสำคัญต่อสิทธิมากกว่าหน้าที่[47] การต่อสู้เช่นนี้ถือว่าไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา ไม่มีองค์กรไหนไม่เคยทำได้ แต่ในช่วงดังกล่าวเรียกได้ว่าได้รับการหนุนจากกระแสการเมืองในประเทศที่กำลังร้อนแรงไปด้วย

ปี 1958 ได้มีข้อเสนอเงินเดือนใหม่อีกครั้ง ซึ่งมีหัวใจอยู่ที่การจ่ายเงินที่เท่าเทียมกันของครูผู้มีคุณสมบัติเหมือนกัน สะท้อนคุณค่าของครูที่ขึ้นอยู่กับคุณค่าทางเศรษฐกิจด้วย[48] แต่สิ่งเหล่านั้นได้เบี่ยงประเด็นต่อข้อเสนอของ STU ที่เน้นความเท่าเทียมกับครูฝึกหัดที่มีคุณวุฒิที่ต่างกัน[49] โครงการ SES ในปี 1958[50] มีแผนงานเกี่ยวกับเงินเดือนที่เท่าเทียม ข้อถกเถียงงานสอนกับงานธุรการที่แตกต่างกัน[51] จนในวันที่ 30 พฤศจิกายน 1959 Vanniasingham Report ได้นำเสนอระบบเดี่ยวของ part-time teacher training ที่ประยุกต์ใช้กับสื่อทุกภาษา ซึ่งจะนำไปใช้ในปีถัดไป[52] 

ครึ่งหลังของปี 1959 มีนโยบายใหม่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการปลดแอกอาณานิคม (decolonisation) ในโรงเรียนอยู่บนฐานการสร้างชาติ แต่การขาดแคลนทักษะและแนวคิดชั้นสูงแบบอาณานิคม เพื่อดำเนินการนโยบายใหม่และประเมินผลมันจากมรดกของอาณานิคมที่ส่งผลต่อการศึกษายังเป็นเรื่องน่าห่วง[53]

ปี 1959 STU ได้มีการรวมตัวกันประท้วงต่อการตัดเงินครู ต่อมาปี 1966 ได้ตีพิมพ์จรรยาบรรณครูในสิงคโปร์ ซึ่งน่าจะสัมพันธ์กับการแยกตัวออกมาเป็นเอกเทศทั้งในฐานะชาติใหม่และองค์กรครู ถือว่า STU ก็บรรลุวิสัยทัศน์ในการรวมพลังของครูที่ตั้งไว้ตั้งแต่ปี 1961 ต่อมาในปี 1971 ประธาน STU ได้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ STU เขาพยายามปรับเปลี่ยนองค์กรให้ทันสมัย ด้วยการจัดตั้งครูและสร้างความเคลื่อนไหวในระดับชาติ มีการจัดสัมมนาที่มีคำกล่าวไว้ว่า “ถ้างานสัมมนานี้จะเผชิญหน้ากับความเป็นจริง และหากเราต้องการจะเตรียมตัวสู่อนาคต เราจะต้องเริ่มที่จะค้นหาการวิพากษ์ปัจจุบัน”[54]

ต่อมา STU ได้จัดอบรมการบริหารโรงเรียนสำหรับผู้อำนวยการโรงเรียนและยังมีการจัดตั้งหน่วย STU สำหรับนักสังคมสงเคราะห์ ทั้งยังเป็นเจ้าภาพ World Confederation of Organizations of the Teaching Profession (WCOTP) ในปี 1974 เริ่มมีการจัดทำ STU newsletter ในปี 1971 ปี 1973 ได้ รณรงค์ด้วยสามล้อถีบ เพื่อหาทุนสร้างศูนย์ครู (Teacher’s Center) ที่ถนน Tagore และแล้วเสร็จในปี 1972 ต่อมาปี 1975 มีการสร้าง clubhouse ขึ้นอันเป็นสถานที่แห่งการพบปะสังสรรค์และการเติบโตของตัวตนครู และว่ากันว่าเป็นจุดตัดกันของเป้าประสงค์และความหลงใหลในการสอน

จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าในสามทศวรรษ มีการจัดงาน STU Symposium on Teachers’ Work-life harmony ปี 2007 ในช่วงโควิดก็ได้ช่วยเป็นปากเสียงให้ STU Survey: Full Home-based Learning (HBL) และมีความพยายามปกป้องและสนับสนุนครูและการสอน อีกทั้งได้รับการตอบสนองจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ เช่น การพบปะกันในนาม STU Delegates’ Dialogue with Education Minister นอกจากนั้น STU ยังอยู่ภายใต้สภาสหภาพแรงงานแห่งชาติ (National Trades Union Congress: NTUC )

ภายใต้รัฐบาลสิงคโปร์ที่มีชื่อเสียงไม่ดีนักเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและประชาธิปไตย ทั้งยังมุ่งเน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างเข้มข้น แต่สหภาพแรงงานครูก็ยังพอมีโอกาสรวมตัวเพื่อต่อรองและเรียกร้อง บนฐานการต่อสู้ที่สืบเนื่องมาจากช่วงอาณานิคม


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, พลวัตของสหภาพแรงงานการศึกษา การศึกษาเปรียบเทียบในประเทศต่างๆ รายงานการวิจัย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, 2567


[1] นภา เหลืองนันทการ. “ย้อนการต่อสู้เพื่อเอกราชของ “มาเลเซีย” จากสมัยอาณานิคม ถึงสภาพหลังได้เอกราช”. สืบค้นเมื่อ 29 มิถุนายน 2566 จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_69538 (18 มิถุนายน 2564)

[2] อ้างแล้ว

[3] Kwa Boo Sun, Ibid., p.59

[4] Kwa Boo Sun, Ibid., pp.59-60

[5] Kwa Boo Sun, Ibid., p    p.65-66

[6] Kwa Boo Sun, Ibid., pp.60-61

[7] Singapore Teachers’ Union. “About Us”. Retrieved on 11 March 2024 from https://stu.org.sg/index.php/who-we-are/

[8] Kwa Boo Sun, Ibid., pp.28-29

[9] Kwa Boo Sun, Ibid., p.41

[10] Kwa Boo Sun, Ibid., pp.47-48

[11] Kwa Boo Sun, Ibid., pp.29-30

[12] Kwa Boo Sun, Ibid., p.43

[13] Kwa Boo Sun, Ibid., p.43

[14] Kwa Boo Sun, Ibid., pp.84-86

[15] Kwa Boo Sun, Ibid., p.86

[16] Kwa Boo Sun, Ibid., pp.87-89

[17] Kwa Boo Sun, Ibid., p.91

[18] Kwa Boo Sun, Ibid., p.93

[19] Kwa Boo Sun, Ibid., pp.94-95

[20] Kwa Boo Sun, Ibid., pp.94-95

[21] Kwa Boo Sun, Ibid., p.97

[22] Kwa Boo Sun, Ibid., pp.97-98

[23] Kwa Boo Sun, Ibid., p.99

[24] Kwa Boo Sun, Ibid., pp.99-100

[25] Kwa Boo Sun, Ibid., p.100

[26] Kwa Boo Sun, Ibid., p.101

[27] Kwa Boo Sun, Ibid., p.101

[28] Kwa Boo Sun, Ibid., p.105

[29] Kwa Boo Sun, Ibid., p.105

[30] Kwa Boo Sun, Ibid., p.108

[31] Kwa Boo Sun, Ibid., p.109

[32] Kwa Boo Sun, Ibid., p.110

[33] Kwa Boo Sun, Ibid., p.112

[34] Kwa Boo Sun, Ibid., p.113

[35] Kwa Boo Sun, Ibid., p.114

[36] Kwa Boo Sun, Ibid., p.115

[37] Kwa Boo Sun, Ibid., pp.115-116

[38] Kwa Boo Sun, Ibid., p.116

[39] Kwa Boo Sun, Ibid., p.195

[40] Kwa Boo Sun, Ibid., p.210

[41] Kwa Boo Sun, Ibid., p.219

[42] Kwa Boo Sun, Ibid., p.221

[43] Kwa Boo Sun, Ibid., p.222

[44] Kwa Boo Sun, Ibid., p.230-231

[45] Kwa Boo Sun, Ibid., p.232

[46] Kwa Boo Sun, Ibid., pp.233-234

[47] Kwa Boo Sun, Ibid., p.234

[48] Kwa Boo Sun, Ibid., p.238

[49] Kwa Boo Sun, Ibid., p.239

[50] Kwa Boo Sun, Ibid., p.271

[51] Kwa Boo Sun, Ibid., p.277

[52] Kwa Boo Sun, Ibid., p.279

[53] Kwa Boo Sun, Ibid., p.267

[54] Singapore Teachers’ Union. “STU 75th Anniversary Corporate Video”. Retrieved on 30 June 2023 from https://stu.org.sg/index.php/our-story/

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save