fbpx

ซุปเปอร์บอน เนื้อตัวกับหัวใจของนักชกไทยและการ ‘สิ้นสงสัย’ ต่อตัวเอง

วันนั้นเพิ่งจะสิบโมงเช้า แต่แดดปลายเดือนมีนาคมก็จัดจ้า กราดเกรี้ยวตั้งแต่ช่วงสาย ยืนเฉยๆ ในร่ม เหงื่อยังผุดซึมทั่วลำคอและแผ่นหลัง ทอดสายตาไกลออกไป ที่ระริกไหวอยู่กลางพยับแดดคือร่างคนในเสื้อกีฬาและรองเท้าผ้าใบ

ว่ากันว่าคนที่ออกวิ่งกลางแดดจัด ถ้าไม่ใช่คนมีธุระรีบร้อนสุดชีวิต อีกประเภทหนึ่งคือนักมวย

5 เมษายนที่จะถึงนี้ บอน-ซุปเปอร์บอน กำลังจะมีไฟต์ชกสำคัญในศึก One Lumpinee ของเวที ONE Championship เป็นการแข่งขันใหญ่ที่เขาหวนกลับไปชกในกติกาคิกบ็อกซิ่งอีกหน 

เดือนตุลาคมปี 2021 แจ้งเกิดนักชกชาวไทยเมื่อบอนขึ้นชกชิงแชมป์คิกบ็อกซิ่ง รุ่นเฟเธอร์เวตจาก จอร์จิโอ เปโตรเซียน ยอดมวยซ้ายสัญชาติมาร์เมเนีย-อิตาลีผู้ครองสถิติไร้พ่ายหกปีเต็ม 

ว่ากันตามตรง บรรยากาศในตอนนั้นแทบจะหาเหตุผลให้ถือไพ่ฝั่งคนหนุ่มจากพัทลุงไม่ได้ ค่าที่ว่าเขาเพิ่งขึ้นชกเวที ONE ได้เพียงครั้งเดียว และประกาศชิงเข็มขัดจากเปโตรเซียนในการชกครั้งที่สอง ก็ใช่ -ที่ว่าบอนเองก็ไม่ใช่นักชกไร้ชื่อ ในฐานะที่เป็นอดีตแชมป์ประเทศไทยรุ่นไลต์เวต และเคยครองตำแหน่งผู้ชนะมาหลายเวที

แต่อีกนั่นแหละ การที่อยู่ๆ คนที่เพิ่งขึ้นชกในรายการนี้ได้แค่ครั้งเดียว กระโจนชิงเข็มขัดคนที่ชกมา 42 ไฟต์โดยไม่เคยแพ้เลยมาร่วมหกปี จะว่าทะเยอทะยานก็ใช่ หรือจะว่าห้าวหาญก็ได้อีกเหมือนกัน

และ ‘ซุปเปอร์บอน’ ก็พิสูจน์ตัวเองในวินาทีที่ 20 ของยกที่สอง เขาหวดแข้งขวาข้างถนัดเข้าลำตัวเปโตรเซียนซึ่งพุ่งตัวเข้าชกด้วยหมัดซ้าย เสี้ยววินาทีที่เจ้าของเข็มขัดกระชากกำปั้นกลับ ก็เป็นจังหวะเดียวกันกับที่แข้งของคู่ชกหวดเข้าที่กราม แม่นยำ เด็ดขาด ไม่มากไม่น้อยไปกว่านั้น เปโตรเซียนหงายหลัง ปลายเท้าไขว้กัน -หลับกลางอากาศ ปิดฉากตำนานไร้พ่ายและต้องปล่อยเข็มขัดที่อยู่กับตัวมาหลายปีให้นักชกชาวไทย หลังการแข่งขัน มีรายงานว่าเปโตรเซียนกรามหักจากการเอาก้านคอรับแข้งของ ‘ซุปเปอร์บอน’

อย่างไม่ต้องสงสัย -และปฏิเสธไม่ได้- ว่า ‘ซุปเปอร์บอน’ คือหนึ่งในนักชกรุ่นเฟเธอร์เวตที่เก่งที่สุดในประเทศ 

และนับตั้งแต่การแข่งขันครั้งนั้น เขาก็ผ่านช่วงเวลาแห่งความพ่ายแพ้และกำซาบชัยชนะอีกหลายหน

อีกราวครึ่งชั่วโมงต่อมา ‘ซุปเปอร์บอน’-ศุภชัย หมื่นสังข์ กลับมาจากการวิ่งยามสาย เขาทิ้งตัวนั่งลงตรงหน้าเรา บทสนทนาลื่นไหลจากตำบลเล็กๆ ในพัทลุง สู่การคว้าแชมป์ที่ต่างประเทศ และชีวิตของนักชกหนุ่มที่ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักชกที่เก่งที่สุดในไทย 

ล้มยักษ์

บทสนทนาแรกของเราเริ่มต้นขึ้นที่การปราบ ‘ยักษ์’ เปโตรเซียนในกติกาคิกบ็อกซิ่งเมื่อปี 2021 พูดก็พูด การขึ้นชกกับคู่ต่อสู้ที่ครองสถิติเก็บชัยชนะรวดมาหลายปีติดต่อกัน ขณะที่ตัวเขาเองถูกพิจารณาเป็น ‘มวยรอง’ การขึ้นชกในสภาพที่รู้ว่าแทบไม่มีใครถือไพ่เอาใจช่วยหรือผลักหลัง หากใจไม่ใหญ่-ไม่นิ่งพอ ผลลัพธ์จากแผลของความอ่อนไหวคงปรากฏให้เห็นในรูปลักษณ์ของความพ่ายแพ้ไปแล้ว

“ผมรู้ว่ามีกระแสที่ว่าเราเป็นมวยรอง” คนถูกถามตอบซื่อ จริงใจ “แต่ผมไม่สนใจเลย เพราะสุดท้ายแล้วคนที่มาตัดสินเราเขาไม่รู้หรอกว่าเราทำอะไรมาบ้าง เขาไม่รู้ศักยภาพของเรา แต่เรารู้ศักยภาพตัวเองว่าเราทำอะไรได้ เราสู้ได้ไหม เพราะถ้าผมรู้สึกว่าผมสู้ไม่ได้จริงๆ ผมคงไม่ตอบตกลงที่จะสู้ตั้งแต่แรกเพราะมันไม่มีประโยชน์”

ห่างไกลจากความทะนงตัวเย่อหยิ่ง คำตอบนี้เป็นเรื่องของการเคี่ยวกรำ ฝึกซ้อมและศึกษาคู่ต่อสู้นานนับเดือนในผืนผ้าใบไม่ใช่แค่เรื่องของการกระโจนขึ้นไปสาวหมัดหวดแข้งใส่คู่ต่อสู้ ใครเคยดูมวยน่าจะเห็นเรื่องของความแยบยลและการหาจังหวะ ‘เข้าทำ’ ที่หากพลาดพลั้งเพียงเสี้ยวนาที หากไม่โดนน็อกหลับกลางอากาศก็บาดเจ็บจนแข่งต่อไม่ได้ 

ทางออกสำหรับเงื่อนปมนี้มีไม่กี่ทาง ประการแรก ฝึกซ้อมจนเลือดตาแทบกระเด็น ประการที่สอง ศึกษาคู่ต่อสู้ด้วยข้อมูลที่มีจนกว่าจะเข้าเส้น “เพราะสิ่งที่เราทำได้คือการฝึกซ้อมกับแก้เกม ดูว่าคู่ต่อสู้เขาเก่งอะไร ทำอะไรได้ และตัวเราทำอะไรได้บ้าง” เป็นคำตอบของบอน “จากนั้นเราก็ไปฝึกซ้อมของเรา ทำในสิ่งที่เราต้องทำให้คล่องแคล่วและดีมากขึ้น คือทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ผลจะออกมาเป็นอย่างไร มันอีกเรื่องหนึ่ง”

อย่างรวบรัด นี่ไม่ได้เป็นแค่การพูดว่า “เราทำได้” แต่มันคือการกำหมัดกัดฟันทุ่มเทลงแรงเพื่อให้ตัวเอง “ทำได้จริง” 

ผลของการแลกเลือดแลกเนื้อปรากฏให้เห็นเป็นรูปลักษณ์ในยกที่สอง เมื่อปลายเท้าขวาเขาตวัดเข้าก้านคอคู่ต่อสู้ เปโตรเซียนหงายหลังล้มลง ทิ้งแขนสองข้างแนบลำตัว ปลายเท้าไขว้เหมือนนอนพักอยู่บนเตียงใหญ่ 

YouTube video

ในความแม่นยำนั้น มีไม่น้อยที่พินิจว่าการยกแข้งขึ้นแนบคอคู่ต่อสู้ของบอนเป็นความบังเอิญ-ความฟลุค-ความโชคดี สารพัดจะเรียก และเจ้าตัวยิ้มสุภาพเมื่อเราถามเขาถึงเรื่องนี้ “ก็อาจจะฟลุคก็ได้ครับ”

“ไม่น่านะ” เราตอบเร็ว ค่าที่ว่านึกภาพตัวเอง ‘ฟลุค’ เตะก้านคอใครสักคนหมดสติไม่ออก เตะให้แรงว่ายากแล้ว เตะให้แม่นและเด็ดขาดแบบนั้นยิ่งยากเข้าไปใหญ่

“เวลาคุณทำงานหรือทำอะไรสักอย่างในชีวิต ถ้าคุณไม่เคยทำสิ่งนั้นเลย เมื่อถึงเวลาต้องทำจริงๆ คุณว่าคุณจะทำได้ไหม” บอนถามเรากลับ “ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เกิดจากการที่เราฝึกฝนสม่ำเสมอ ทำสิ่งเดิมซ้ำๆ ตลอดเวลา เพราะสุดท้าย ถ้าเราไม่เคยซ้อมสิ่งนี้มาก็คงเตะแบบนั้นไม่ได้หรอก ถ้าเราไม่พร้อมสำหรับโอกาสบางอย่าง เราจะไม่มีทางคว้าโอกาสนั้นไว้ได้เลย”

โดยทั่วไป จังหวะการแลกหมัดแบบนั้น นักชกเกือบร้อยทั้งร้อยแลกด้วยการต่อยสวน ที่เหลือเลือกยกขาขึ้นก้านคอ -และบอนคือหนึ่งเปอร์เซ็นต์นั้น ความฟลุคที่ว่า มันจึงแนบแน่นเป็นบรรทัดเดียวกันกับสายตาที่ ‘เห็น’ โอกาสซึ่งหมายความถึงช่องโหว่บางอย่าง “เปโตรเซียนไม่ได้การ์ดตก เขาต่อยแล้วดึงกลับไม่ทัน” บอนอธิบายเสี้ยววินาทีที่ 20 อันแสนสั้นนั้นให้เราฟัง “ผมโยกออกด้านนอกแล้วต่อยหมัดฮุคกลับซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่เขาดึงหมัดกลับพอดี และเขาไม่คิดว่าผมจะเตะเพราะมันคร่อมจังหวะ”

“ผมอธิบายได้ทุกอย่าง เพราะผมซ้อมและฝึกมาแบบนั้น”

แต่ถามว่า ‘ลูกก้านคอ’ เป็นจุดแข็งของเขาไหม 

คำตอบคือไม่ใช่

“ลูกเจ้าแม่สายวารี”

เช่นเดียวกับนักมวยไทยหลายร้อยหลายพันชีวิต บอนเติบโตในค่ายมวย วัยสะพายกระเป๋าเดินเข้าโรงเรียนประถม พ่อก็สอนให้เขา ‘เตะเป้า-เข้ากระสอบ’ รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นนักชกรุ่นเยาว์ ตระเวนขึ้นชกตามเวทีภูธรต่างๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในชื่อ “ลูกเจ้าแม่สายวารี”

สนุกไหมตอบยาก แต่ที่ตอบได้แน่ๆ คือไม่อยากชก ใครจะไปคิดว่านักมวยที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของรุ่น 155 ปอนด์ในวันนี้จะตอบชัดถ้อยชัดคำว่าเขาไม่เคยอยากชกมวย “ตั้งแต่ยังเด็กแล้ว ผมไม่เคยอยากชกมวยเลย แต่ต้องชกเพราะพ่อบังคับ”

“พ่อดุเหรอ”

คนถูกถามยิ้มแล้วพยักหน้าเป็นคำตอบ

เรื่องยั่วใจในวัยเด็ก จะมีอะไรมากไปกว่าการวิ่งไล่เตะลูกฟุตบอลกลางสนามจนตัวเกรียมแดด หรือวัดศักดิ์ศรีกันด้วยการดีดลูกแก้ว แต่สถานที่ของเขาอยู่ในค่ายมวยของพ่อ และไม่ว่าจะรักหรือหน่ายแหนงอดีตนั้นอย่างไร ถึงที่สุดคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันกลายเป็นสิ่งที่บอนพินิจว่าเป็นจุดแข็งของเขา

“ผมว่าจุดแข็งของตัวเองอาจอยู่ที่มีพื้นฐานที่ค่อนข้างแน่น ทำให้พลิกแพลง เปลี่ยนเกมการต่อสู้ได้ตลอดเวลา” เขาบอกถึงดอกผลของการถูกเคี่ยวกรำในค่ายมวยมาตั้งแต่หกขวบ “เราเปลี่ยนเกมบนเวทีได้ตลอดเพราะพื้นฐานแน่น เตะซ้ายได้ เตะขวาได้ ต่อยซ้าย ต่อยขวา ใช้เข่าได้ทั้งสองข้างอย่างถนัด ทำให้เปลี่ยนเกมและแก้เกมได้ง่ายขึ้น”

หรือกระทั่งไหวพริบและความไวในการแก้เกม ซึ่งหมายรวมตั้งแต่หาจังหวะเข้า-ออก, พิจารณามองหาจุดอ่อนของคู่ชก และวัดพลังตัวเองในโมงยามแห่งการแพ้ชนะ “ผมคิดว่าเรื่องไหวพริบพวกนี้คือการแก้เกมบนสังเวียนได้ทุกรูปแบบ สมมติเราโดนเตะซ้ายแล้วเราป้องกันไม่ได้ ในจังหวะเดียวกัน เราก็อาจเปลี่ยนจากการป้องกันเป็นตอบโต้แทน” เขานิ่งคิด “ผมคิดว่ามันเป็นรูปแบบการเอาชนะในเกมของนักมวย ถ้าเราทื่อๆ ไม่วางแผนหรือไม่พลิกแพลง เราก็สู้คนอื่นไม่ได้”

นี่ไม่ใช่เรื่องของพรสวรรค์ คำตอบของบอนชัด และนี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะถือกำเนิดขึ้นมาได้โดยง่าย เงื่อนไขประการหนึ่งที่ต้องมีและสั่งสมไว้คือประสบการณ์ ซึ่งพูดกันตามตรง การสวมนวมมวยตั้งแต่หกขวบไล่เรื่อยมาจนปัจจุบัน ทำให้เขามีข้อได้เปรียบตรงนี้พอตัว “ผมว่าส่วนหนึ่งก็อยู่ที่ตัวนักมวย อีกส่วนก็อยู่ที่การฝึกฝนกับประสบการณ์”

“ส่วนตัวผมเวลาขึ้นชก ผมเป็นคนไม่ค่อยคิดเยอะเพราะประสบการณ์บนเวทีสูง เรารู้ว่าเราจะโดนอาวุธอะไรได้บ้าง เหตุการณ์บนสังเวียนจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง รู้ว่าหนักที่สุดจะเจออะไร เบาที่สุดจะเจออะไร” เขาว่า “บางทีเวลาขึ้นชก เรามองภาพไม่ออก หรืออาจจะมองออกแต่แก้เกมไม่ได้ มองไม่เห็นว่าคู่ต่อสู้มีจุดบอดตรงไหน พี่เลี้ยงตรงมุมจะบอกเราได้ว่ายกต่อไปเราควรทำอะไร และนักชกที่ชกมานานๆ หน่อย เวลาพี่เลี้ยงบอกให้ทำอะไรเขาก็ทำได้หมด แต่นักชกมือใหม่อาจทำไม่ได้ อาจเพราะพื้นฐานไม่แน่นด้วย สมมติคุณเป็นมวยขวาแล้วพี่เลี้ยงบอกให้เตะซ้ายเลย เขาก็อาจหาจังหวะเตะซ้ายไม่ได้ แต่นักชกที่ชกมานานๆ พอพี่เลี้ยงบอกเราว่า ต่อยซ้ายแล้วเตะซ้ายนะ เราก็หาจังหวะทำได้ทันที”

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของพื้นฐานและประสบการณ์ บอนย้ำ

“ผมไม่ได้เป็นนักกีฬาที่เก่งตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่ได้เป็นนักกีฬาที่ไม่ฉลาดเสียทีเดียว น่าจะเป็นคนกลางๆ ที่ใช้การฝึกฝนและประสบการณ์ในการทำให้ทักษะดีขึ้น”

และประสบการณ์การชกมวยตั้งแต่หกขวบ ก็ถูกท้าทายเมื่อเขากระโจนเข้าโลกสากลที่กติกา ‘คิกบ็อกซิ่ง’ เป็นที่นิยมกว่า

Kickboxing

เป็นที่พูดกันอยู่เนืองๆ สำหรับคนดูมวยว่า กติกามวยไทยกับคิกบ็อกซิ่งนั้นใกล้กันมาก อย่างชัดเจนที่สุดคือคิกบ็อกซิ่งห้ามฟันศอกกับกอดปล้ำตีเข่าซึ่งเป็น ‘ไม้เด็ด’ ของมวยไทย และคนที่เข้าใจเงื่อนไขกติกาเหล่านี้มากที่สุดคนหนึ่งคือบอน เขาลงนวมต่อยในกติกาคิกบ็อกซิ่งในวัย 24 ซึ่งถึงตอนนั้น เลือดเนื้อและความเคยชินของการอยู่กับกติกามวยไทยมาครึ่งชีวิตก็ทำให้เขาต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อใช้ชีวิตในกติกาใหม่

“สมัยนั้นผมเป็นนักมวยที่ตัวใหญ่ด้วยคือชกที่พิกัด 145-150 ปอนด์ ขณะที่นักมวยไทยส่วนใหญ่ -ซึ่งอาจจะด้วยสรีระเป็นหลัก- ชกกันที่น้ำหนัก 135 ปอนด์ มากสุดผมว่าคือ 140 ปอนด์ สุดท้ายมันทำให้ผมหาคู่ชกไม่ได้เพราะไม่ค่อยมีนักมวยตัวใหญ่ๆ”

และนั่นเองที่ทำให้เขาต้องวัดใจไปชกที่ต่างประเทศ นับเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ชีวิตเขาทาบทับกับเส้นทางของ บัวขาว บัญชาเมฆ นักมวยรุ่นพี่ที่ชวนให้เขาลองชกในกติกาคิกบ็อกซิ่งในต่างแดน ถึงตรงนี้ โลกข้างนอกสังเวียนไทยก็สอนมวยเขาอีกแบบ “ต่างชาติเขาใช้หมัดเป็นหลัก คือเข้าโจมตีด้วยฟุตเวิร์กที่เร็วมากๆ ทำให้เราจับจังหวะไม่ค่อยได้ จะออกแข้งสวนสักทีเขาก็ฟุตเวิร์กหนีออกไปแล้ว

“แต่การไปชกที่ต่างประเทศทำให้เราต้องฝึกการใช้หมัดมากขึ้น ซึ่งเราอาจสู้เขาไม่ได้มากขนาดนั้นหรอก แต่ถึงที่สุดเราก็รู้จักวิธีป้องกันตัวจากการใช้หมัดและตอบโต้กลับไปได้ในบางจังหวะ เพราะระบบป้องกันของหมัดกับเท้าต่างกันอยู่แล้ว สมมติว่าเขาเตะเรามา เรายังใช้ขายกบังได้ แต่ถ้าเขาต่อยมาที่หัว ผมก็ยกขาบังไม่ถึงไง” เขาหัวเราะ

นับกันจริงๆ บอนอาจจะต่อยในกติกามวยไทยมานานกว่า แต่ถ้าวัดในแง่ความถี่ คิกบ็อกซิ่งคือกติกาที่เขาใช้บ่อยที่สุด และจะมากจะน้อย มันย่อมส่งผลต่อวิธีการชกของเขา

และนั่นเป็นสิ่งที่ปรากฏในการแข่งขันครั้งล่าสุดระหว่างเขากับ ‘ตะวันฉาย’

ในกติกามวยไทย

‘ศึก ONE ลุมพินี 46’ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2023 ขายบัตรหมดเร็วเป็นประวัติการณ์ ด้านหนึ่งเชื่อกันว่าเป็นเพราะพลังของคู่เอกในค่ำคืนนั้นอย่าง ตะวันฉาย พีเค.แสนชัย ที่ต้องป้องกันแชมป์โลก ONE มวยไทย รุ่นเฟเธอร์เวตจาก ‘ซุปเปอร์บอน’

ความแรงของตะวันฉายนั่นก็เรื่องหนึ่งเพราะเก็บสถิติไร้พ่ายมาตลอดทั้งปี ยังไม่ต้องพูดถึงปรากฏการณ์ทำคู่ชกแขนหักหรือน็อคอีกฝ่ายในเวลา 49 วินาที แต่การแข่งขันนัดนี้ยังเป็นนัดที่ ‘ซุปเปอร์บอน’ จะกลับมาชกในกติกามวยไทยอีกครั้งหลังห่างหาย ไปต่อยในกติกาคิกบ็อกซิ่งอยู่นาน

คงไม่เกินเลยถ้าเราจะบอกว่าการแข่งขันนัดนั้นเป็นการแข่งขันแห่งปี มันถูกพูดถึงในแง่ของการแข่งขันที่งัดเอา ‘ทุกลูก’ ของมวยไทยออกมาใช้ปราบอีกฝ่าย ลำพังแค่ยกแรกก็เดือดเหมือนสังเวียนจะลุกเป็นไฟ 

นัดนั้น บอนแพ้คะแนนเสียงข้างมาก

“อย่างเดียวที่ผมรู้สึกว่าตัวเองติดจังหวะจากการชกในกติกาคิกบ็อกซิ่ง คือนักกีฬาฝั่งนั้นเขาไม่ค่อยเตะ ขณะที่นักมวยไทยส่วนมากเน้นเตะกับถีบ” เขาบอก “กลายเป็นว่าผมบังลูกเตะกับลูกถีบมวยไทยได้ด้อยลงไปเพราะนักกีฬาคิกบ็อกซิงเน้นต่อยหมัดกับเตะขา เราจึงเน้นยกบังต่ำๆ และป้องกันหมัดมากกว่า และพอชินแบบนี้ศักยภาพการป้องกันตัวด้านมวยไทยของผมจึงลดลง อย่างตอนที่ชกกับตะวันฉาย ผมก็รู้สึกว่าการป้องกันแข้งซ้ายกับลูกถีบของตัวเองด้อยลงไปเหมือนกัน กลายเป็นว่าผมต้องเอาลูกแก้อื่นเข้าไปแก้ เช่น โดนเตะแล้วต่อยสวน หรือโดนถีบแล้วต้องถีบคืน”

“คุณรู้สิ่งนี้ตอนชกหรือว่าตอนชกเสร็จแล้ว”

“ชกเสร็จแล้ว” เขาตอบเร็ว “มารู้ทีหลังเพราะตอนซ้อมเรายังพอทำได้อยู่บ้าง แต่พอขึ้นไปชกก็พบว่าจังหวะการทำเราช้าลง เราเลยป้องกันไม่ได้”

กีฬามีแพ้-มีชนะ และอย่างที่บอกว่าในการแข่งขันนัดนี้ -ท่ามกลางเสียงปรบมือกราวใหญ่และคำชื่นชมถึงความแหลมคมกับฝีมือของเขา- เขาแพ้

เรื่องคือว่า เราจะอยู่กับความพ่ายแพ้อย่างไร

ประเด็นนี้เราอาจต้องหวนกลับไปยังความพ่ายแพ้ครั้งแรกของเขาเมื่อครั้งขึ้นชกกับ ชิงกิซ อัลลาซอฟ นักชกสัญชาติอาเซอร์ไบจาน-เบลารุส เมื่อต้นปี 2023 อันเป็นเหตุให้บอนต้องเสียเข็มขัดแชมป์คิกบ็อกซิ่ง เฟเธอร์เวตไป

น้ำหนักของเนื้อตัวกับหัวใจ

คำถามเริ่มตรงที่ว่า ระหว่างเนื้อตัวกับหัวใจ อะไรสำคัญกว่ากัน

คำตอบของนักชกจากพัทลุงคือ ทั้งสองอย่าง เรื่องร่างกายที่ถ้าเตรียมมาไม่ดีก็ย่อมแพ้ เรื่องนี้เข้าใจกันไม่ยาก แต่เรื่องหัวจิตหัวใจซับซ้อนกว่านั้น บางคราวเรื่องเล็กๆ เข้ามารบกวนก็สร้างบาดแผลขนาดใหญ่ “ถ้าซ้อมดีๆ แต่ไม่มีสมาธิก็แพ้ได้ เหมือนวันที่ผมชกกับชิงกิซ” 

เขาเป็นฝ่ายเอ่ยขึ้นมาก่อน แน่แท้ว่าชื่อของ ชิงกิซ อัลลาซอฟ อยู่ในประเด็นที่เราเตรียมมาสนทนากับเขาด้วย กระนั้นเราก็พยายามร้อยเรียงประเด็นอย่างระมัดระวังและมองหาจังหวะ ‘เข้าทำ’ เพื่อถามถึงเรื่องนี้ การที่เจ้าตัวเป็นฝ่ายเอ่ยชื่อออกมาก่อน ไม่มากก็น้อยสะท้อนถึงภาวะโอบรับอดีตและความพ่ายแพ้ของตัวเองได้ดี

บอนเล่าว่าก่อนวันชก -จะด้วยความกังวลหรือความสุดวิสัยใดก็สุดรู้- เขานอนไม่หลับ “จะว่าเครียดก็ไม่เชิง แค่ผมลุกมาฉี่ทั้งคืนเลย สุดท้ายเลยไม่ได้นอน ผมจึงกังวลว่าตัวเองจะมีแรงชกครบห้ายกหรือเปล่า”

ใครสักคนบอกไว้ว่าความกังวลเป็นเหมือนแมลง มันไม่สร้างผลกระทบแบบทันตาเห็น แต่จะวนเวียนข้างหู เกี่ยวเนื้อเกี่ยวตัวให้รำคาญทั้งใจและกายเล่น “และพอกังวลแบบนั้นก็ลืมการซ้อมที่วางแผนมาหมดเลย เพราะเราพะวงแค่ว่าเราจะมีแรงชกไหม ยิ่งพอนอนไม่พอ ร่างกายเราก็เพลียและล้า กลายเป็นว่าเราจะคิดแค่เรื่องบริหารจัดการกำลังเราเพื่อให้อยู่ครบห้ายก ลืมแผนการชกไปหมดเลย”

กับคนทำงานประจำ นอนน้อยแค่คืนเดียวยังเหมือนมีหมอกลงกบาล คิดงานคิดการไม่ออก ไม่ต้องพูดถึงนักกีฬาอาชีพที่ต้องใช้ทั้งเนื้อทั้งตัวเอาชนะอีกฝ่าย การอดนอนไม่กี่ชั่วโมงย่อมส่งผลกระทบทวีคูณไม่รู้กี่เท่า และเขาก็ไม่มีข้อแก้ต่างอะไร -เรื่องมันผ่านมานานแล้ว 

“ผมเป็นนักกีฬา แพ้ชนะเป็นเรื่องปกติ วันนี้แพ้วันหน้าก็อาจชนะ วันนี้ชนะ วันหน้าอาจจะแพ้ก็ได้” เขาบอก “ผมเคยแพ้แมตช์ที่ใหญ่ระดับนี้มาหลายครั้งในชีวิตแล้วก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ต่อให้ผมชนะ ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าเรายิ่งใหญ่หรือเก่งที่สุดในโลกอะไร”

แต่นั่นก็ยังห่างไกลจากความรู้สึกปล่อยใจไปกับความพ่ายแพ้หรือไม่แยแสต่อผลลัพธ์ แน่นอนว่ามีก้อนแห่งความรู้สึกบางอย่างรอตกตะกอน ทว่า ก็ชัดเจนว่าก้อนนั้นไม่ได้เป็นความฟูมฟาย “สมัยเรายังเด็กกว่านี้แล้วเราแพ้ เราก็รู้สึกแย่นะ แต่มันเป็นความรู้สึกแย่ในเชิงเสียดายว่าในเสี้ยววินาทีนั้นเราน่าจะทำได้ดีกว่านี้ ทำไมเราไม่ฮึด ไม่ฝืนวะ จังหวะเรานั้นน่าจะเตะได้ต่อยได้ ทำไมเราไม่ทำวะ แม้ว่าตอนที่แข่งจริงเราก็เหนื่อยมากแล้ว เหนื่อยแบบ -ไอ้เหี้ย กูไม่ไหวแล้ว แต่พอลงมาจากสังเวียนแล้วคิดได้ก็จะรู้สึกว่า เราน่าจะยังทำได้อยู่นะ ทำไมไม่ทำ ถ้าเราทำได้ก็คงชนะไปแล้ว”

จะว่าไปแล้วในเนื้อตัวคนเรา ความรู้สึก ‘เสียดาย’ อาจแผดเผาและกินพื้นที่ในหัวใจมากกว่าความรู้สึกอื่นใดทั้งมวล เพราะมันขมปร่าไปด้วยความผิดหวังต่อตัวเอง และอาการเจ็บใจที่ทำอะไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้วไม่ได้ -เรื่องนี้ไม่ต้องเป็นนักกีฬา หลายคนก็น่าจะเคยกำซาบมาบ้างเมื่อครั้งปล่อยให้ช่วงเวลาหรือโอกาสบางอย่างหลุดมือไป

หนทางเดียวที่จะไม่ต้องเผชิญกับภาวะนี้คือการกระโจนกลับเข้าสังเวียนไปซ้อมให้หนักกว่าเดิม “เพื่อที่ครั้งหน้าเราจะได้ไม่เกิดคำถามกับตัวเองอีกว่าทำไมจังหวะนั้นกูไม่ทำ จังหวะนั้นทำไมกูทำไม่ได้ ทำไมกูไม่ฮึด เราต้องกลับไปซ้อมเพื่อจะได้ไม่ต้องตั้งคำถามนี้กับตัวเองอีก”

“แล้วหลังๆ ยังมีอยู่ไหม ภาวะแบบนี้”

“มีครับ” เขาตอบไว “อย่างตอนชกกับตะวันฉายก็ยังมี คือยกสี่ที่ผมเกี่ยวขาแล้วเตะวืด เป็นจังหวะเดียวที่ผมเสียดาย… กับอีกจังหวะคือที่ผมฟันศอกซ้ายแล้วโดนแต่โดนไม่จัง เลยรู้สึกว่า น่าจะก้าวลึกกว่านั้นอีกสักนิด” เขานิ่งไป 

“ผมว่ามันเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่คนอื่นมองไม่เห็น แต่เรารู้ของเรา”

ปลายทางของมวยไทยในประเทศไทย

บทสนทนาของเรากินเวลาร่วม 50 นาที ไหลเรื่อยตั้งแต่ชีวิตวัยเด็ก ฉากสำคัญในการแข่งขันแต่ละครั้ง ไปจนถึงอนาคตของมวยไทย วัดจากสายตาคนนอกอย่างเรา ความนิยมของเวที ONE Championship ทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล น่าจะเป็นเครื่องการันตีความรุ่งโรจน์ของวงการมวยไทยในภายภาคหน้าด้วย

บอนพยักหน้าเห็นด้วยกับเรา -แต่แค่ครึ่งเดียว

“ระดับโลกโตได้อีกเยอะ ในระดับประเทศมีแต่เจ๊ง” เขาบอก และคำตอบย่อมหนีไม่พ้นสภาวะที่เซียนพนันเข้ามามีบทบาทต่อผลการแข่งขัน “ประเทศเรามีเรื่องอิทธิพลเยอะ เรารู้แต่ไม่มีใครพูด กรรมการได้ค่าจ้างคืนละห้าร้อยบาทมั่ง หนึ่งพันบาทมั่ง ลองนึกว่าถ้ามีคนใหญ่คนโตบอกว่าจะให้เงินกรรมการสักหมื่นบาท แลกกับการที่กรรมการต้องตัดสินแบบนั้นแบบนี้ หรือถ้าเขาไม่ทำแล้วเขาต้องเจออันตรายอะไรบ้าง”

ปลายทางของเกมอำนาจนี้คือผลแพ้ชนะค้านสายตา ซึ่งเป็นสิ่งที่มีให้เห็นบ่อยและเจนตาคนดู “คนตัวเล็กตัวน้อยที่เขาอยากเข้าไปดูมวยสนุกๆ และเห็นว่าฝ่ายนี้ชนะ แต่กรรมการกลับให้แพ้ เขาก็ไม่อยากไปดูมวยอีกแล้วเพราะเสียเวลาเขา ดูไปทำไม มันเหมือนเวลาเราเชียร์ฟุตบอล เราเห็นว่าอันนี้แม่งฟาล์ว ลูกนี้ไม่ควรเป็นจุดโทษ แต่ทำไมกรรมการให้จุดโทษวะ เราก็ไม่อยากเชียร์แล้ว

“สุดท้าย นักมวยเขาก็จะต่อยตามเกมที่กรรมการตัดสิน คนไหนดูแข็งแรงกว่า อึดกว่า ก็จะชนะทั้งที่ไม่ได้ออกอาวุธอะไร หรือไม่ดูว่านักมวยมีศิลปะการออกอาวุธแบบไหน”

กรรมการก็เรื่องหนึ่ง นักชกก็เรื่องหนึ่ง ผู้เล่นสำคัญอีกคนของระบบนี้คือเจ้าของค่ายมวย ประเด็นคือหากคุณเป็นเจ้าของค่าย คุณย่อมต้องหาทางปั้นนักชกที่ ‘ถูกตลาด’ เป็นขวัญใจเซียนพนัน “กลายเป็นว่ารูปแบบการทำมวยก็จะต่างไปแล้ว ศิลปะต่างๆ ก็หายไป” เขาบอก 

ยิ่งกับเขาที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังเวียนมวยไทยมาร่วมสามทศวรรษ เขาเห็นความเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่านอันน่าเศร้าหลายอย่าง “เมื่อก่อน สนามมวยเบียดกันจนไม่มีที่เดิน แต่ทุกวันนี้คนแทบไม่มาดู ค่าเก็บประตูก็น้อยลงไปด้วย พอเป็นแบบนี้คนเลยจ่ายค่าตัวนักมวยได้น้อยลง ทีนี้ถามว่าพอนักมวยได้ค่าตัวน้อย ใครจะมาอยากเป็นนักมวยอีก”

แผลเล็กๆ ในนามของอิทธิพลและการพนัน กินวงกว้างทำลายระบบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สิ่งนี้หากไม่สบตามองปัญหาตรงๆ ก็ยากจะแก้ไข

ทางออกเดียวที่บอนเห็นว่าเป็นไปได้ คือการที่รัฐบาลต้องเข้ามาแทรกระบบที่ล้มระเนระนาดเป็นโดมิโน่ “คือหากรรมการจากการกีฬาแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นกรรมการกลาง รับเงินเดือนจากรัฐบาล คอยปกป้องดูแลเขาเพื่อไม่ให้เขาถูกกดดันจากใคร กรรมการจะมีอิสระในการทำงานและตัดสินอย่างเป็นธรรมมากขึ้น”

นี่ไม่ใช่แค่การคืนชีวิตให้การวงการมวยไทย แต่ยังคืนชีวิตให้ศิลปะและการกีฬาด้วย

อย่าเลิก

ใกล้วันแข่ง กิจวัตรประจำวันของบอนล้วนอยู่ในค่าย Superbon Training Camp ล่วงพ้นจากการฝึกซ้อม คือการดูแลหมาสามตัวของค่าย ที่รับฟังคำสั่ง นั่งนิ่งอย่างอดทนเมื่อเขาบอกว่า “คอย” 

ถามเขาส่งท้าย มีหนทางอื่นใดไหมในการไต่อันดับขึ้นเป็นนักชกระดับแถวหน้าของประเทศ

“อย่าเลิกต่อย ทำทุกวิถีทางให้ตัวเองเก่งขึ้นและต้องไม่เลิก” คำตอบของเขาเรียบง่าย “คนส่วนมากพอรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวก็เลิกมวยไปเลย”

“ถ้าอย่างนั้น คุณเคยรู้สึกผ่านจุดแบบนั้นมาบ้างไหม จุดที่ว่าอยากเลิกมวย”

“ไม่มีครับ มีแต่ขี้เกียจ” แล้วหัวเราะกังวานเป็นคำตอบสุดท้าย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save