fbpx

นี่แน่ะ ส.ศิวรักษ์ : ตัวเหลือบปัญญาชน

ส.ศิวรักษ์ ในวัย 91 ปี ยังคงปรากฏตัวให้เป็นข่าวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการให้สัมภาษณ์เวลามีประเด็นทางศาสนา การเมือง หรือเรื่องเก่าๆ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือเป็นคนแก่ที่มีทั้งคนรักและคนเกลียด

ถ้าจะใช้คำแบบที่ ส.ศิวรักษ์ เคยเอามาตั้งชื่อหนังสือ ก็คงจะพอผู้ได้ว่าสุภาพ(?)บุรุษผู้นี้ได้ชื่อว่าดังทางด่าจากการยั่วให้แย้ง ด้วยการพูดแบบซากผ่าขวาน

ส.ศิวรักษ์ ไม่แต่เพียงได้ฉายา ‘ปัญญาชนสยาม’ เท่านั้น แต่ยังมีฉายาอื่นๆ อีกไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น ‘ส.ศิวลึงค์’ จนมาถึง ‘ปัญญาชนเหลือบ’


ส.ศิวลึงค์


เมื่อ 2 ปีก่อนเคยมีคนไปสัมภาษณ์ ส.ศิวรักษ์ ว่ารู้สึกอย่างไรที่ได้รับสมญาว่า ‘ส.ศิวลึงค์’ เขาตอบว่า

ศิวลึงค์เป็นของวิเศษเลยนะครับ เพราะทางฝ่ายศาสนาพราหมณ์เขาบูชาศิวลึงค์เลยนะครับ จริงอยู่เป็นสัญลักษณ์ของอวัยวะเพศ แต่ถ้าไม่มีอวัยวะเพศจะเกิดลูกได้อย่างไร…ศิวลึงค์ ลึงค์พระศิวะ เขาถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดเลย ผมไม่เห็นเสียหายอะไร ผมเป็นศิวลึงค์ ก็ไม่เลวนี่ครับ

และให้ข้อคิดเรื่องคำด่าต่างๆ ที่ได้รับ ไม่ว่าจะเป็น ส.ศิวเละ ไอ้เฒ่าเจ้าเล่ห์ ฯลฯ ว่า

ถ้าเขาด่ามา และเป็นจริงตามที่เขาด่า ก็ต้องแก้ไขปรับปรุงตัวเราให้ดีขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งประเสริฐสุดของมนุษย์จากภายนอก คือกัลยาณมิตร กัลยาณมิตรคือคนที่พูดในสิ่งที่เราไม่อยากฟัง ฟังแล้วเขาพูดจริง เราก็แก้ไข แต่ถ้าเขาพูดไม่จริง ไปโกรธเขาทำไม

ที่น่าสนใจคือข้อคิดเช่นนี้ ส.ศิวรักษ์ เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังที่เขาเล่าว่า

รับสั่งเลย เป็นพระเจ้าแผ่นดิน จะไม่ให้คนเขาด่าเป็นไปไม่ได้…ท่านพร้อมจะให้คนด่า ถ้าเขาด่าจริง ท่านก็ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ท่านยังมีพระราชดำรัสถึงเพียงนี้เลย แล้วเราเป็นใครครับ ท่านเป็นเจ้าแผ่นดิน เราเป็นเพียงข้าแผ่นดิน จะไปไยดีทำไมที่เขาด่า เป็นของดีก็แล้วกัน ไม่เสียหายอะไรเลย”


ไอ้เฒ่า


อีกคราวหนึ่งในการออกอากาศสดทางเพจ Sulak Sivaraksa เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 ในช่วงถามตอบ พิธีกรอ่านคำถามจากทางบ้านว่า “มาพล่าม*วยอะไรหนักหนา ไอ้เฒ่าเนรคุณแผ่นดิน

แต่ ส.ศิวรักษ์ ได้ยินไม่ถนัด พิธีกรก็กล่าวซ้ำเป็นคำรบสอง

ส.ศิวรักษ์ ตอบมาเพียงว่า “ผมไม่เข้าใจ” ในความหมายว่าฟังไม่ถนัดนัก

พิธีจึงสรุปสั้นๆ ว่า “เขามาด่าอาจารย์ครับ”

ส. ศิวรักษ์ จึงตอบว่า “ไม่เป็นไรหรอก ใครอยากด่าก็ด่าไป เพราะว่าผมไม่ถือหรอกครับ ให้เขาได้ระบาย เพราะว่าประชาธิปไตยเนี่ย คนได้ระบายได้ก็ดี เพราะด่าผมเนี่ยไม่เข้าคุก บางทีด่าคนอื่นจะเดือดร้อน ผมให้อภัย ไม่เป็นไรหรอก พร้อมกันนี้ผมอยากจะเตือนนะครับ หนังสือเล่มใหม่ของผมเนี่ย…(แล้วขายของต่อไป)…”


ภาพจาก พิภพ อุดมอิทธิพงศ์


ปัญญาชนเหลือบ


ขณะที่พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ เขียนเล่าถึง ส.ศิวรักษ์ ในทัศนะเพื่อนชาวต่างชาติว่า มักเรียก ส. ศิวรักษ์ ว่า ‘gadfly’ ซึ่งแปลตรงตัวว่า ‘ตัวเหลือบ’ และถ้าแปลเชิงเปรียบเปรยก็ได้ความหมายว่า “ผู้ก่อความรำคาญให้ผู้อื่น เพราะจุดเด่นของอาจารย์ ตั้งแต่การแต่งกาย การพูด การแสดงออก คือการยั่วยุ ท้าทายให้เกิดการถกเถียงเสมอ ไม่มีข้อสรุปตายตัว

พิภพตั้งข้อสังเกตอย่างแหลมคมว่า “อาจารย์ไม่ปฏิเสธอนุรักษนิยม ไม่ปฏิเสธว่าตัวเองเป็นกษัตริย์นิยม แต่ในขณะเดียวกัน อาจารย์ก็ชอบความทันสมัย คบหากับปัญญาชนตะวันตก จะว่าหัวเก่าก็ใช่ มิตรรักแฟนเพลงอาจารย์ที่หัวโบราณก็เยอะแยะ กัลยาณมิตรที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ ที่เป็นคนหัวก้าวหน้าก็มาก อาจารย์ไม่เคยบอกว่าอะไรดีกว่าอะไร ทุกคนมีสิทธิคิดได้เอง

ดังที่ ส.ศิวรักษ์ เคยนิยามตนเองเป็น Radical Conservative

ในทัศนะของพิภพ เขาเห็นว่า “ในสายตาผม อ.สุลักษณ์จึงเป็นคนแปลกและหายาก ควรอนุรักษ์ไว้ แปลกว่าคนสูงวัยส่วนใหญ่ในสังคมไทย แปลกตรงที่เป็นคนไม่เคยเรียกร้องให้ใครเคารพ ไม่แคร์กับเสียงวิจารณ์ ‘กูด่าเขาได้ เขาก็ด่ากูได้’ ประมาณนั้น สังคมไทยอาจยกย่องอาจารย์ว่าเป็น ‘ปัญญาชนสยาม’ แต่ฝรั่งเรียกว่า ‘intellectual gadfly’ ‘ตัวเหลือบปัญญาชน’”


ภาพจาก วิจักขณ์ พานิช


วิมลเกียรติ


ความเป็นมนุษย์ที่มีลักษณะโดดเด่นของ ส.ศิวรักษ์ คือมีความย้อนแย้งหลายอย่าง จนหลายครั้งถูกตั้งคำถามถึงจุดยืนที่มั่นคง การแสดงออกของ ส.ศิวรักษ์ ท้าทายให้เกิดข้อถกเถียงอยู่เสมอ แต่ไมตรีจิต มิตรภาพที่เขามีต่อบุคคลต่างๆ นั้น ทำให้เกิดภาพที่วิจักขณ์ พานิช ตั้งข้อสังเกตว่า

คนรอบตัวอาจารย์ มีทุกกลุ่ม ทุกสีเสื้อ ทุกอุดมการณ์ ทุกนิกาย ทุกชนชั้น ทุกวรรณะ ทุกวัย ทุกชนชาติ ซึ่งบางทีก็งง ว่ามารวมตัวกันเป็นเฟสติวัลรอบตัวอาจารย์ได้ยังไง

และขยายความว่า “ตอนรู้จักอาจารย์ใหม่ๆ ผมจะเห็นแต่ด้านความเป็น activist / social critic แต่ด้านความเป็นพุทธ สารภาพว่ายังงงๆ ไม่ค่อยเข้าใจว่า การประพฤติธรรมแบบ engaged buddhist ของอาจารย์เป็นยังไง และเป็นไปได้ยังไง”

จนกระทั่งได้อ่านพระสูตรมหายาน วิมลเกียรตินิทเทสสูตร วิจักขณ์ “จึงตรัสรู้ …ตัวละครวิมลเกียรติ มีอะไรหลายอย่างที่ท้าทาย dualistic thinking เหมือนกับความเป็น ส. ศิวรักษ์ ที่ผมเคารพรักและนับถือ

และขอคัดข้อความจาก วิมลเกียรตินิทเทสสูตร ฉบับที่สุชิน ทองหยวก แปล มาเทียบไว้ดังนี้

“เพื่อทำตนให้เข้ากับประชุมชน ท่านจึงสมาคมกับผู้เฒ่า คนวัยกลางคน และคนหนุ่มสาว ท่านแสดงธรรมแก่คนเหล่านั้น ท่านประกอบธุรกิจการค้าขาย แต่ไม่กอบโกยทรัพย์สินเงินทองจากธุรกิจนั้น เพื่อฝึกประชาชน ท่านจึงไปปรากฏตัวที่สี่แยกตามถนนหนทาง และเพื่อรักษาประชาชนให้อยู่ดีกินดีท่านจึงเข้าร่วมกับองค์การปกครองและรัฐบาล เพื่อชี้แจงโทษของกามและราคะตัณหา ท่านไปเยี่ยมสถานโสเภณี เพื่อชักชวนให้นักดื่มสุราฝึกการมีสติสัมปชัญญะและเห็นโทษของการดื่มสุรายาเมา ท่านไปเยี่ยมโรงสุราและสถานบันเทิงเริงรมย์ต่างๆ

“ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นเศรษฐีในหมู่เศรษฐี เพราะท่านเน้นให้เศรษฐีเห็นความสำคัญของธรรมะ ท่านได้รับความนับถือว่าเป็นคฤหบดีในบรรดาคฤหบดีทั้งหลาย เพราะท่านแสดงความไม่หวงแหนทรัพย์สินเงินทอง ท่านได้รับยกย่องจากทหารเพราะท่านสอนทหารให้เห็นคุณค่าของความอดทนอดกลั้น ความกล้าหาญ และความเข้มแข็ง ท่านได้รับความเคารพจากพราหมณ์ เพราะท่านเตือนให้เขาละความถือตัวและความหยิ่งผยองอวดดี ท่านได้รับความเคารพจากอำมาตย์ เพราะท่านชักจูงให้เขาปฏิบัติราชการโดยใช้ธรรมะ ท่านได้รับความนับถือจากเจ้าชาย เพราะท่านสอนให้เขาบรรเทาความมัวเมาในอิสริยยศและไอศวรรย์”

“ท่านเข้าร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสามัญชน เพื่อสอนให้พวกเขาเห็นความสำคัญของบุญเบื้องต้น ท่านได้รับความนับถือว่าเป็นท้าวศักระในหมู่ท้าวศักรินทราธิราช เพราะท่านสอนพระอินทร์ให้เห็นความไม่เที่ยงของไอนทราสมบัติ ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นพรหมในหมู่พรหม เพราะท่านสอนให้พรหมทั้งหลายเห็นความเป็นเลิศของปัญญา ท่านได้รับความนับถือว่าเป็นโลกบาลในหมู่โลกบาล เพราะท่านสอนโลกบาลให้ช่วยกันพิทักษ์รักษามนุษย์”


นี่แน่ะกู


เมื่อกว่า 4 ทศวรรษก่อน ส.ศิวรักษ์ เคยคิดจะเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง โดยให้ชื่อว่า นี่แน่ะกู ซึ่ง “เป็นเรื่องวิเคราะห์จุดอ่อนของผมมีอะไรบ้าง จุดแข็งของผมมีอะไรบ้าง คนอื่นเขามองผมอย่างไร ผมมองตัวเองอย่างไร ในหลายเรื่องแน่นอน เข้าข้างตัวเอง หลายเรื่องก็จะสับตัวเอง ความล้มเหลว ความสำเร็จ ในช่วงที่ผมเห็นตอนนี้ อะไรที่เป็นความผิดของผม อะไรเป็นความผิดที่ผมโยนให้คนอื่น

แต่แล้วลงท้ายหนังสือเล่มนี้ก็ไม่ได้ปรากฏในบรรณพิภพ หากได้หนังสือ ช่วงแห่งชีวิต อัตชีวประวัติในช่วง 30 ปีแรกของชีวิตขึ้นมาแทน

เราอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ส.ศิวรักษ์ จะเป็นอะไรนั้น ยากที่จะนิยามให้สมบูรณ์ได้ แต่นี่แหละ ชีวิตอันยากที่จะนิยาม ยากที่จะมีเสมอเหมือน และชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์ คือชีวิตของ ส.ศิวรักษ์



ชีวิตในวัยสนธยา


เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา มีการจัดงานในวาระครบรอบ 91 ปี ของ ส.ศิวรักษ์ ในชื่อ ‘นี่แน่ะกู’ ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ซึ่ง ส.ศิวรักษ์ ปรากฏตัวบนเวที เพื่อตอบคำถามจากภิญโญ ไตรสุริยธรรมา หลายต่อหลายข้อถึงความสัมพันธ์ของตนเองกับบุคคลที่มีชื่อปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์ และในช่วงท้าย ภิญโญได้ถามถึงชีวิตในวัยเกิน 9 ทศวรรษว่าเป็นอย่างไร

ตอนนี้ก็เริ่มก้าวถอยหลังแล้ว กล่าวคือ ไม่ว่าจะกล่าวไปไหน ต้องมีสติให้มั่นประคองไว้ ที่อาศัยถือไม้ตะพด เตือนไม่ให้ล้ม เพราะน้องชายผม ล้มแล้วไปเลย…ก็ดำรงชีพอยู่ได้ เพราะเจริญสติ” ส.ศิวรักษ์ ตอบ

และขยายความต่อไปว่า “และผมก็มีคุณความดีอยู่อย่าง มีคนหลายต่อหลายคนเมตตากรุณาผม ลูกศิษย์ลูกหาหลายคนเสียเงินมิใช่น้อย เสียเวลามิใช่น้อย จัดงานวันนี้ยกย่องเชิดชูผม บางทีเชิดชูมากไปหน่อย คนก็หมั่นไส้ แต่ก็ไม่เป็นไร ให้เขาชมดีกว่าด่า แต่ที่เขาด่า ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร

และคำตอบที่เรียกเสียงปรบมือได้มากที่สุด มาจากคำถามเรื่องความสุขของชีวิต ซึ่งเขาตอบว่า

ผมเป็นคนที่ได้เมียดี นี่สำคัญมาก คนที่ได้เมียดี ครึ่งชีวิตเราไปรอด แล้วผมยังได้ลูกดี ลูกสาวสองคนดูแล พอพ่อเจ็บเล็กเจ็บน้อยก็พาไปหาหมอ…และลูกชายดียิ่งไปกว่านั้นอีก ลูกชายดีจนกระทั่งเขาหมั่นไส้ไม่พูดกับผมเลย ทำให้เห็นว่ามนุษย์เราก็มีหลายอย่าง ผมก็มีความสุขตลอดมา และยังมีเพื่อนฝูงดี…ที่ผมทำอะไรได้ เพราะมีกัลยาณมิตรอุดหนุนจุนเจือทั้งในทางวัตถุ ทั้งในทางจิตใจ ทำให้รู้สึกว่า ชีวิตผมก็ไม่ได้ล้มเหลวเสียทีเดียว


จดหมายถึงฉิม ‘จากพ่อที่รัก’ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2520


แลไปข้างหน้า


ที่สุดของการสนทนาระหว่าง ส.ศิวรักษ์ และภิญโญ คือความหวังต่ออนาคตของสังคมไทย ซึ่ง ส.ศิวรักษ์ เห็นว่า

ในทางสังคม ผมก็อยากจะเห็นว่า บ้านนี้เมืองนี้จะเป็นประชาธิปไตยที่แท้ อาจารย์ปรีดีเริ่มตั้งแต่ 2475 จนป่านนี้ยังไม่ไม่ถึงสิ่งที่อาจารย์ปรีดีฝันเอาไว้ ทำเอาไว้ ผมอยากให้ประชาธิปไตย ซึ่งมีเสรีภาพเป็นพื้นฐาน มีสังคมนิยมเป็นแกนกลาง ทั้งที่ประเทศนี้และประเทศเพื่อนบ้าน

 และ “หวังว่ามนุษย์จะรักใคร่กัน จุนเจือกัน เข้าหาสิ่งที่ประเสริฐ ไม่ต้องถือพุทธ จะถือคริสต์ถืออะไรก็ได้ แต่ว่ามนุษย์จะต้องมีสิ่งซึ่งประเสริฐนอกเหนือไปจากวัตถุ ผมหวังเช่นนั้น

โดยที่สุดนั้น “ตัวผมก็ไม่หวังอะไรมาก ต่อนี้ไปก็ขอไปสู่แดนสุขาวดีของพระอมิตาภพุทธเจ้า



ส่งท้าย


กลางปี 2558 ส.ศิวรักษ์ เข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยครั้งใหญ่ เมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้ว นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ผู้เป็นปัญญาชนสาธารณะคนสำคัญของสังคมไทย เขียนจดหมายถึง ส. ศิวรักษ์ อย่างน่าสนใจ ความตอนท้ายหลังจากที่ได้แสดงความห่วงใยแล้วนั้น มีว่า

ขออนุญาตละลาบละล้วงด้วยความห่วงใยว่า คนอายุขนาดเรา มีความตายอยู่ข้างตัวตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่น่ากลัวเท่าไร แต่จะทำอย่างไรให้แข็งแรงพอจะทำอะไรได้ตามวัยไปจนถึงวันตาย มีความสำคัญกว่า จึงอยากเห็นคุณสุลักษณ์ดูแลสุขภาพตัวเองให้มากขึ้น มีคนอีกมากได้ประโยชน์จากข้อเขียนและวาทะของคุณสุลักษณ์

“ด้วยความเคารพอย่างสูง – นิธิ เอียวศรีวงศ์

ถึงที่สุด อาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะรักหรือชังคนจาก ส.ศิวรักษ์ แต่ถ้ามองอย่างรอบด้านแล้ว “มีคนอีกมากได้ประโยชน์จากข้อเขียนและวาทะของคุณสุลักษณ์” อยู่ที่ว่าจะเก็บเกี่ยวและนำไปใช้กันเพียงใด



หมายเหตุ

จดหมายจากนิธิ เอียวศรีวงศ์ เอกสารจดหมายเหตุและวัตถุเกี่ยวกับ ส. ศิวรักษ์ ที่น่าสนใจ ขณะนี้จัดแสดงอยู่ที่สโมสรธรรมทาน หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ไปจนถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2567

บรรณานุกรม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save