fbpx

Stumptown Holler Mountain กับคำถามโลกแตกว่าดื่มกาแฟได้แค่ไหนถึงจะไม่อันตราย

Stumptown Holler Mountain จากพอร์ตแลนด์ ออริกอน สหรัฐอเมริกา

แบรนด์สตั้มทาวน์ (Stumptown Coffee Roasters) เติบโตมาจากการเป็นร้าน Specialty Store รุ่นราวคราวเดียวกับ Blue Bottle ก่อตั้งเมื่อปี 1999 ที่พอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน โดย ดูแอน โซเรนสัน (Duane Sorenson) และพีท หลุยส์ (Peter Lewis) ทั้งสองเริ่มคั่วกาแฟในโรงรถและทำการตลาดในฐานะกาแฟคั่วพิเศษ (Specialty Coffee Roasted) โดยคั่วออกขายในปริมาณน้อย เน้นขายให้ร้านกาแฟท้องถิ่นในพอร์ตแลนด์ก่อน

ต่อมา ธุรกิจของพวกเขาไปได้สวยและเติบโตอย่างรวดเร็ว เพียงสามปีจากการเริ่มกิจการในโรงรถ พวกเขาก็เปิดร้านแรกของตัวเองได้สำเร็จ ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ชื่อเสียงของการคั่วกาแฟที่ดีและมาในจังหวะของกระแสร้านคลื่นลูกที่สี่ของธุรกิจกาแฟกำลังบูมในสหรัฐอเมริกา

ปี 2010 สตั้มทาวน์ได้เงินลงทุนจาก TSG Consumer Partners ทุนนี้ช่วยให้สตั้มทาวน์ขยายธุรกิจไปยังเมืองอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา แต่ถัดมาเพียงปีเดียว สตั้มทาวน์ก็ถูกซื้อกิจการโดย Peet’s Coffee & Tea การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ทำให้สตั้มทาวน์ขยายธุรกิจได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะเครือข่ายการจัดจำหน่ายของ Peet’s และถูกขนานนามว่าเป็นร้านกาแฟเฉพาะทางที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา

ถุงนี้เป็นหนึ่งในถุงที่ผมชอบ หากมีโอกาสไปสหรัฐก็จะซื้อกลับมาเสมอ เบลนด์นี้เป็นถุงสร้างชื่อของแบรนด์ก็ว่าได้ ส่วนหนึ่งเพราะความเก่งในการเบลนด์และคั่วโดยใช้เมล็ดกาแฟจากสองฝั่งทวีป คือเมล็ดกาแฟอะราบิก้าจากบราซิล ให้รสชาติออกแนวช็อกโกแลต และเมล็ดกาแฟจากแหล่งปลูกในแอฟริกาฝั่งตะวันออกที่ให้กลิ่นและรสสว่างกว่า แนวผลไม้รสเปรี้ยว แต่คั่วมาแล้ว (ระดับกลาง) อะโรมาที่ได้ออกคาราเมล บอดี้ไม่หนาและดื่มง่าย เป็น All day coffee ดื่มได้สบายๆ

โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าถุงนี้ชงแบบผ่านน้ำ หรือ french press นั้นเหมาะยิ่งนักแล


มากแค่ไหนที่เรียกว่ามาก? ปัญหาโลกแตกของคอกาแฟ


งานวิจัยล่าสุด อาจทำให้เราเลิกเถียงกันสักทีว่ากินกาแฟวันละกี่แก้วดีถึงไม่เป็นอันตราย


“คุณจะรู้ว่าคุณเป็นนางพยาบาลมืออาชีพได้ก็ต่อเมื่อ

คุณดื่มกาแฟได้ทั้งกา จากนั้นก็กลับบ้านและนอนได้เป็นปกติ”

นิรนาม

ตั้งแต่เริ่มรู้จักกาแฟและดื่มทุกวันมาตลอดกว่า 30 ปี จนมีคอลัมน์เกี่ยวกับกาแฟ ออกหนังสือเกี่ยวกับกาแฟ เคยไปพูดเรื่องกาแฟ คำถามที่ถูกถามบ่อยที่สุดคือ

“เราควรดื่มกาแฟแค่ไหนถึงจะเรียกว่าไม่มากเกินไปจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ?”

คำถามนี้ยังเป็นหนึ่งในคำถามที่บรรดายูทูบเบอร์สายสุขภาพเอามาทำเป็นคลิปตอบปัญหามากที่สุดคลิปหนึ่ง ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่กาแฟเป็นเครื่องดื่มใกล้ตัว หลายคนถึงกับบอกว่าการดื่มกาแฟตอนเช้าคือพิธีกรรมอย่างหนึ่ง ไม่แตกต่างจากชาวพุทธที่ต้องสวดมนต์ก่อนนอน

ปัจจุบัน ข้อมูลตามองค์กรอนามัยโลก พบว่าโดยเฉลี่ย คนไทยดื่มกาแฟคนละประมาณ 2.5 กิโลกรัมต่อปี อยู่อันดับที่ 61 ของโลก ซึ่งถือว่าน้อยหรือมากก็ไม่แน่ใจเหมือนกันหากเทียบกับประเทศอันดับหนึ่ง -ปล่อยให้เดากันดูก่อนครับ ว่าเป็นชาติไหน 

หากเทียบบัญญัติไตรยางค์จาก 2.5 กิโลกรัม คนไทยบริโภคกาแฟเฉลี่ย 6,800 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งตัวเลขนี้เป็นการประมาณการใช้กาแฟของประชากรโดยคร่าวๆ นะครับ ในชีวิตความเป็นจริงไม่น่าจะมีใครดื่มกาแฟกันมากขนาดนั้น แต่หากว่าเราดื่มกันมากขนาดนั้น ยังปลอดภัยหรือไม่ ผมมีข้อมูลการศึกษาล่าสุดจากต่างประเทศมาอัปเดตกัน

ดร.เอเดรียน ฮิวจ์ นักพิษวิทยาทางการแพทย์และผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินที่ Oregon Health and Science University ทำการศึกษาพิษวิทยาจากการดื่มกาแฟ พบว่าอาจเป็นเรื่องยากที่จะวัดว่าคนเราดื่มกาแฟแล้วเกิดอันตรายที่จุดไหน เท่าไหร่ที่มนุษย์เรามีร่วมกัน ส่วนมากแล้วนักดื่มจะรู้ตัวเองอยู่แล้วว่าเพดานของตัวเองนั้นอยู่ตรงไหน เพราะการดื่มกาแฟมากเกินกว่าที่ร่างกายรับได้จะทำให้เกิดอาการกระวนกระวายใจ วิตกกังวล คลื่นไส้ นอนไม่หลับหรือบางรายอาจมีอาการมือสั่น ใจสั่น หรือก่อให้เกิดอาการกรดไหลย้อนร่วมด้วย ซึ่งกว่าจะไปถึงขั้นที่เป็นอันตรายขนาดนั้น นักดื่มส่วนมากจะหยุดเมื่อเริ่มรู้สึกไม่ดี การวัดค่าความเป็นพิษจึงออกจะดูเป็นเรื่องยาก

สิ่งที่ทำให้ร่างกายตอบสนองนั้นมาจากคาเฟอีนที่อยู่ในกาแฟนั่นเอง แต่จริงๆ แล้วในเมล็ดกาแฟที่เรานำมาชงดื่มนั้นไม่ได้มีแค่คาเฟอีนเท่านั้นนะครับ สารประกอบในกาแฟมีมากมายนับพันชนิด แต่โดยรวมแล้วนักวิทยาศาสตร์ยืนยันแล้วว่ากาแฟมีประโยชน์มากกว่าผลเสีย

รอบ แวน แดม (Rob van Dam) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและโภชนาการจาก Milken Institute School of Public Health แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน บอกว่าการดื่มกาแฟให้ผลทั้งทางด้านกายภาพและจิตใจ ในบางสังคม การชงกาแฟเป็นเสมือนพิธีกรรม ไม่แตกต่างจากการชงชาของญี่ปุ่นหรือจีน เช่น ในตุรกี การชงกาแฟจะเรียกว่า ‘เจซเว’ (Cezve หมายถึงหม้อทองแดงที่ใช้ต้มกาแฟ) ซึ่งถือว่าการชงกาแฟเป็นเหมือนพิธีกรรมในตอนเช้า

โดยมากแล้ว แพทย์มักอะลุ้มอล่วยกับคนไข้ที่ต้องดื่มกาแฟทุกวันว่าพวกเขาสามารถดื่มได้ในปริมาณที่เหมาะสม ในหลายประเทศ สูตินารีแพทย์ก็โอเคกับการที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะสามารถดื่มกาแฟได้ในปริมาณที่เหมาะสม เพราะกาแฟเป็นประโยชน์ทางสุขภาพ จากการศึกษาชี้ให้เห็นว่านักดื่มกาแฟที่ดื่มเป็นประจำจะมีอายุยืนยาวขึ้น มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภท 2 โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดหัวใจ และมะเร็งบางชนิดลดลง

เอาจริงๆ เราสามารถเรียกกาแฟว่าเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพก็ยังได้… หากคุณไม่เติมน้ำตาลและนมข้นหวานมากเกินไป


เรามาพูดถึง ‘ปริมาณที่เหมาะสม’ กันดีกว่า


สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาระบุว่า ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่สามารถบริโภคคาเฟอีนได้อย่างปลอดภัยที่ 400 มิลลิกรัม หรือเทียบกับปริมาณในกาแฟชงขนาด 8 ออนซ์ 4 ถ้วย หรือเอสเพรสโซ 6 ช็อตต่อวัน นี่คือปริมาณที่เราดื่มได้แบบไม่ต้องกังวล แต่หากคุณกำลังตั้งครรภ์ American College of Obstetricians and Gynaecologists แนะนำว่าไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน

ขนาดถ้วยและความเข้มข้นของกาแฟก็มีความสำคัญในการวัดเช่นกันครับ ตามข้อมูลของ FDA ถ้วยแปดออนซ์ทั่วๆ ไปจะมีปริมาณคาเฟอีนประมาณ 80 ถึง 100 มิลลิกรัม หากเทียบเป็นแก้วสตาร์บัคส์เพื่อเข้าใจง่าย กาแฟคั่วปานกลางไซส์ทอล 12 ออนซ์ มีคาเฟอีนประมาณ 235 มิลลิกรัม เป็นปริมาณเท่ากับเอสเพรสโซสามช็อต

ฉะนั้น หากคุณจะดื่มสองแก้วต่อวัน ก็ถือเป็นปริมาณที่เหมาะสม เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ จริงๆ แล้วหากคุณเป็นคอกาแฟ และคุ้นเคยกับการดื่มมากกว่านั้นก็ไม่มีปัญหา อาจดื่มได้ถึง 4-5 แก้วต่อวันแบบสบายๆ แต่อย่าลืมครับว่าคาเฟอีนยังมีอยู่ในเครื่องดื่มอีกหลากหลายประเภท ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่คุณต้องคำนวนและระมัดระวัง

สำหรับปริมาณที่ถือว่าอันตรายนั้นก็ยังห่างไกลจากความเป็นจริงที่คนสามารถบริโภคได้ เราต้องดื่มคาเฟอีนอย่างน้อย 10,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่ากับกาแฟประมาณ 50 ถึง 100 แก้วขึ้นอยู่กับความแรงของคาเฟอีน ด้วยปริมาณขนาดนั้นอาจทำให้เราถึงแก่ชีวิตได้

การได้รับคาเฟอีนมากเกินไป อาจทำให้ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นในระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณไม่ได้ดื่มเป็นประจำ แต่อย่างไรก็ดี โดยปกติกาแฟจะไม่เป็นอันตรายกับร่างกาย จากผลการศึกษายืนยันว่าการดื่มกาแฟเป็นประจำไม่ได้ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นหรือเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นผิดปกติในระยะยาว

สิ่งที่ต้องคิดอีกเรื่อง คือมนุษย์เรามีความสามารถสลายคาเฟอีนในอัตราความเร็วที่ต่างกัน ฉะนั้น กาแฟสี่แก้วต่อวันอาจดูมากไปสำหรับใครหลายคน ในขณะที่บางคนสามารถดื่มได้โดยไม่รู้สึกอะไรเลย ซึ่งเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่นักดื่มต้องสังเกตตัวเอง โดยทั่วไปเราจะใช้เวลาประมาณ 2-10 ชั่วโมงในการล้างคาเฟอีนครึ่งหนึ่งออกจากกระแสเลือด ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมแต่ละคน

หากคุณอยู่นอกสเปกตรัมนี้ เอสเพรสโซตอนบ่ายอาจทำให้คุณนอนไม่หลับ ตรงกันข้าม ถ้าคุณเผาผลาญคาเฟอีนได้เร็วก็ไม่ใช่ปัญหา เช่นตัวผมเองดื่มกาแฟขนาด 12 ออนซ์ 4 แก้วได้ไม่มีปัญหา แต่ทั้งหมดต้องตัดจบก่อนบ่ายสองโมง หากดื่มหลังจากนั้นอาจนอนไม่หลับ ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าแปลกใจว่าตอนอายุผมน้อยกว่านี้ การดื่มเอสเพรสโซหลังอาหารมื้อดึกก็ยังหลับได้สบาย ตอนนี้ทำอย่างนั้นไม่ได้อีกแล้ว

การสูบบุหรี่ยังช่วยเร่งอัตราการเผาผลาญคาเฟอีนได้อย่างมาก ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ที่สูบบุหรี่อาจจำเป็นต้องบริโภคคาเฟอีนมากขึ้นเพื่อให้รู้สึกตื่นตัว และคนที่รับประทานยาคุมกำเนิด คาเฟอีนอาจทำให้ประสิทธิภาพลดลงไปบ้าง

ในตอนท้ายๆ ของวัน คุณหมอแนะนำว่าคุณแค่ต้องฟังร่างกายของตัวเอง หากเริ่มรู้สึกคลื่นไส้ กระวนกระวายใจ วิตกกังวลหรือส่งผลต่อการนอนหลับ ให้ลดปริมาณกาแฟลง ซึ่งนักดื่มส่วนใหญ่มีการปรับตัวเข้ากับการตอบสนองต่อคาเฟอีนได้ เมื่อเราเริ่มมีอาการเล็กน้อยจากการได้รับคาเฟอีนมากเกินไป เราจะลดปริมาณลงโดยอัตโนมัติ

ทิ้งท้ายจะมาขอเฉลยว่าคนในประเทศไหนที่ดื่มกาแฟมากที่สุด คือประเทศฟินเลนด์ คนฟินแลนด์ดื่มกาแฟเฉลี่ยประมาณ 12 กิโลกรัมต่อคนต่อปีซึ่งถือว่าดื่มหนัก แต่หากนับเป็น ‘ปริมาณ’ การบริโภคในประเทศโดยรวม สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่บริโภคกาแฟมากที่สุดคือประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี

เรียกว่าดื่มกันหัวราน้ำกันเลยทีเดียว  

สนุกอ่าน สนานดื่มครับ 🙂

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save