fbpx

ก้าวต่อไปของประกันสังคมก้าวหน้า : สำรวจภารกิจสร้างสวัสดิการเพื่อ ‘คนธรรมดา’ กับ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

หลังเฝ้ารอกันนานนับเดือน ผลการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมถูกรับรองอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกที่ไทยมีคณะกรรมการประกันสังคมซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เปิดทางให้ทีม ‘ประกันสังคมก้าวหน้า’ เข้าไปเป็นตัวแทนฝ่ายผู้ประกันตนเพื่อทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิแรงงานกว่า 20 ล้านคน พร้อมกับเสนอข้อคิดเห็น เสนอนโยบาย และกำกับดูแลการบริหารกองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ (มูลค่า 2.3 ล้านล้านบาท) 

ทีมประกันสังคมก้าวหน้า (เกือบ) แลนด์สไลด์คว้าเก้าอี้ตัวแทนฝ่ายผู้ประกันตนไป 6 ที่นั่ง (จากทั้งหมด 7 ที่นั่ง) และมีนโยบายสนับสนุนสิทธิแรงงานหลายประการ เช่น เพิ่มค่าคลอดบุตรเป็น 20,000 บาทต่อครั้ง ไม่จำกัดจำนวนครั้ง, เพิ่มประกันการว่างงานสูงสุด 9 เดือน และปรับสูตรคำนวณบำนาญใหม่ ตลอดจนปูรากฐานสู่ประกันสังคมถ้วนหน้า ทั้งนี้ บอร์ดประกันสังคมชุดใหม่เพิ่งจัดประชุมนัดแรกเมื่อ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางการจับตามองของประชาชนว่ากองทุนประกันสังคมจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร

101 สนทนากับ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน คณะกรรมการประกันสังคม ถึงความคืบหน้าของการประชุมครั้งแรก แก่นและวิธีคิดของทีมประกันสังคมก้าวหน้า การเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรม ทิศทางของนโยบายประกันสังคมถ้วนหน้า ตลอดจนความเสี่ยงล้มละลายของกองทุน 

YouTube video

หมายเหตุ : เรียบเรียงเนื้อหาจากรายการ 101 One-on-One Ep.321 ‘ประกันสังคม – ก้าวหน้า’ กับ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567


ความ ‘ก้าวหน้า’ หลังการประชุมนัดแรก


ตั้งแต่นัดแรกของการประชุมคณะกรรมการประกันสังคมเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 ทีมประกันสังคมก้าวหน้าประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนภายในคณะกรรมการประกันสังคมแล้ว 2 ประเด็น

ประเด็นแรก คือ การปรับสัดส่วนอนุกรรมการประกันสังคมจังหวัด ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เปรียบเสมือนตัวแทนประกันสังคมในระดับจังหวัด ทำหน้าที่รับนโยบายจากคณะกรรมการประกันสังคมไปผลักดัน พร้อมๆ กับรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นต่อส่วนกลาง ซึ่งอนุกรรมการจังหวัดมีสมาชิกประมาณ 12-19 คน เดิมสัดส่วนของผู้ประกันตนและนายจ้างจะอยู่ที่ฝ่ายละ 1-3 คนเท่านั้น คิดเป็นฝ่ายละ 15.79% ของอนุกรรมการประจำจังหวัด

ษัษฐรัมย์เล่าว่า ในวันประชุมนัดแรก ทีมประกันสังคมก้าวหน้าเสนอปรับแก้ให้สัดส่วนของรัฐ นายจ้าง และผู้ประกันตนเท่ากัน คือ ประมาณ 33% โดยให้ลดสัดส่วนฝั่งคนนอกหรือข้าราชการ และเพิ่มสัดส่วนของผู้ประกันตนและนายจ้างเป็นฝ่ายละ 3-5 คน เพื่อสร้างความสมดุลและทำให้ระบบไตรภาคีเข้มแข็งขึ้น

นอกจากการปรับสัดส่วนแล้ว ยังมีการยกเลิกเงื่อนไขการเป็นอนุกรรมการจังหวัดด้วย เดิมระบุว่าต้องเป็นสมาชิกของสภาองค์การลูกจ้าง สหภาพแรงงาน หรือองค์กรแรงงานอื่นๆ ในเขตจังหวัดที่เป็นผู้แทน แต่มติใหม่ในที่ประชุมนัดแรก คือ ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกเหล่านี้ ก็สามารถเป็นสมาชิกอนุกรรมการได้

ประเด็นที่สอง คือ การเปิดวาระให้โปร่งใส เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประชุมให้โปร่งใสยิ่งขึ้น โดยมติที่ประชุมระบุให้เปิดเผยวาระการประชุม และศึกษาแนวทางปรับเปลี่ยนการเปิดเผยการประชุมเพื่อนำไปสู่การถ่ายทอดสดในวาระพิจารณาที่ไม่ติดข้อกฎหมายข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล

และนี่คือการเดินทางก้าวแรกของทีมประกันสังคมก้าวหน้า ซึ่งษัษฐรัมย์หวังว่าจะได้ผลักดันอีกหลายประเด็นใหญ่ถัดไปในอนาคต


ภารกิจของทีมประกันสังคมก้าวหน้า


“สิ่งสำคัญหลักของผมคือการปรับสิทธิประโยชน์ให้มีความเหมาะสม ให้กลายเป็นตาข่ายความปลอดภัย (safety net) ของประชาชน ให้คนวัยทำงานรู้สึกปลอดภัยในชีวิต” ษัษฐรัมย์กล่าว 

แน่นอน ในฐานะฝ่ายผู้ประกันตน ทีมประกันสังคมก้าวหน้าจึงต้องให้ความสำคัญกับสัดส่วนของฝ่ายผู้ประกันตนเหนือสิ่งอื่นใด ซึ่งษัษฐรัมย์ชี้ว่า ตนและทีมสัญญามาตลอดว่าอยากจะทำให้ประกันสังคมกลายเป็นสวัสดิการสำหรับคนธรรมดา 

แก่นคิดในการทำงานของทีมประกันสังคมก้าวหน้า โดยเฉพาะในประเด็นสิทธิประโยชน์ จึงเกิดขึ้นภายใต้หลักคิดตัวทวีคูณความเสมอภาค (equity multiplier) อันเป็นหลักการที่มองว่า หากคนได้รับสวัสดิการที่ดีตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกของการทำงาน จะทำให้มีตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจในชีวิตต่อไป 

มากไปกว่านั้น ทีมประกันสังคมก้าวหน้ายังตั้งใจจะทำให้กองทุนประกันสังคมโปร่งใส ตรวจสอบได้ และลงทุนโดยที่มีหลักธรรมาภิบาลเข้ามาควบคุมเกี่ยวข้อง เพื่อทำให้สวัสดิการสำหรับคนธรรมดาสามารถเติบโตงอกงามได้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น การเดินทางของกลุ่มประกันสังคมก้าวหน้าคงไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบ ในทัศนะของษัษฐรัมย์เอง ระบบประกันสังคมยังติด ‘คอขวด’ หรือมีข้อจำกัดสำคัญ นั่นก็คือ ลักษณะการบริหารงานของสำนักงานประกันสังคมที่เป็นระบบราชการ 100% ไม่ว่าจะแง่การจัดการ การบริหารภายใน ตลอดจนการจัดการสิทธิประโยชน์


จากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง สู่การเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรม


ด้วยระบบราชการซึ่งเป็นข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง ทีมประกันสังคมก้าวหน้าจึงพยายามวางโปรเจกต์ปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม เพื่อรอส่งไม้ต่อหากหมดวาระ 2 ปี

อย่างไรก็ดี ษัษฐรัมย์ประมินว่า ‘ธง’ ของคนในสำนักงานประกันสังคมมีลักษณะใกล้เคียงกัน กล่าวคือ อยากให้คนได้สิทธิประโยชน์เยอะขึ้น อยากให้บริหารสำนักงานอย่างมีประสิทธิภาพ อยากให้ลงทุนแบบได้รับผลตอบแทนมั่นคง เป็นต้น จึงเป็นสัญญาณบวกที่ทำให้เขาเชื่อว่า ทีมประกันสังคมก้าวหน้าจะสามารถผลักดันและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต

การพยายามปรับโครงสร้างคือเรื่องจำเป็น ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมก็สำคัญไม่แพ้กัน เราถามษัษฐรัมย์ว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง ทางตัวแทนทีมประกันสังคมก้าวหน้าจึงยกตัวอย่างถึงข้อจำกัดของสิทธิรักษาพยาบาล โดยระบุว่า quick win ที่ทีมกำลังพยายามแก้ไข คือ ปัญหาการสำรองจ่ายไปก่อนในการรักษาโรคที่ค่าใช้จ่ายสูง เช่น การฟอกไต เป็นต้น

“เงิน 2,000 บาทที่ต้องสำรองจ่ายก่อน ผมเคยคุยกับหมออายุรกรรมประกันสังคม เขาก็บอกว่าคนไข้หลายคนจ่ายไม่ไหว ขอไม่รักษา เพราะเบื่อที่จะต้องยืมเงินมาเพื่อสำรองจ่าย ผมคิดว่านี่คือส่วนที่สามารถแก้ไขได้ ถ้าเรื่องการฟอกไตเราแก้ได้ ก็จะเป็นโมเดลให้แก่การรักษาพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายสูงต่างๆ” ษัษฐรัมย์ กล่าว

หนทางที่จะนำไปสู่ quick win นี้คืออะไร? ษัษฐรัมย์เสนอว่า ทีมประกันสังคมก้าวหน้าอยากทำ MOU ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้คนไข้ที่มีโรคเจ็บป่วยรุนแรง ค่าใช้จ่ายสูง (เช่น โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น) เลือกได้ว่าจะใช้สิทธิรักษาพยาบาลกับประกันสังคม หรือ สปสช. เพื่อลดปัญหาการสำรองจ่ายเงินออกไปก่อน

นอกเหนือไปจากเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล ทีมประกันสังคมก้าวหน้ายังตั้งใจที่จะผลักดันสิทธิประโยชน์เรื่องการลาคลอด ค่าคลอดลูก เพิ่มเงินเลี้ยงดูเด็ก และอื่นๆ ตามที่เคยให้สัญญาไว้ระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง 

เข้าใจประกันสังคมถ้วนหน้า


‘ประกันสังคมถ้วนหน้า’ คือคำที่ได้ยินบ่อยครั้งจากทีมประกันสังคมก้าวหน้า เป็นแนวคิดที่เสนอให้รัฐจ่าย payroll tax ของชีวิตคน เพื่อให้คนวัยทำงานมีตาข่ายความปลอดภัยเป็นหลักพิงพื้นฐาน ในลักษณะที่ทุกคนได้สิทธินี้โดยอัตโนมัติเมื่ออายุ 18 จนถึง 60 ปี หรือเกษียณอายุ 

แนวคิดนี้มีที่มาจากการข้อเสนอที่ว่า ประเทศไทยมีแรงงานอิสระเยอะขึ้น แต่ประกันสังคมแบบ ม.40 ซึ่งเป็นภาคสมัครใจยังมีข้อจำกัดอยู่ ซึ่งษัษฐรัมย์บอกว่า ในเชิงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม คนที่รายได้ไม่แน่นอนก็จะไม่อยากเจียดเงินมาจ่ายส่วนนี้ เพราะฉะนั้น ประกันสังคมจึงควรเป็นระบบที่รัฐเข้ามาจัดการ

โดยงบประมาณที่จะใช้ทำประกันสังคมถ้วนหน้า ษัษฐรัมย์เสนอให้เป็นงบที่รัฐสมทบ 100% ซึ่งก็มีหลากหลายแนวทาง เช่น จัดสรรงบประมาณตามปกติ หรือสร้างระบบเก็บภาษีเฉพาะ (earmaked tax) สำหรับประกันสังคมถ้วนหน้าก็ได้

“สิ่งที่ผมและเพื่อนๆ เสนอมาตลอดไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อน อยู่ในวิสัยที่งบประมาณเราสามารถทำได้ ถ้าเราพูดว่าดิจิทัลวอลเล็ตอยู่ในวิสัยที่ทำได้ รัฐบาลยืนยันว่าอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ประกันสังคมถ้วนหน้าที่เราพูดกันอยู่นี่ประมาณ 20% ของดิจิทัลวอลเล็ตเท่านั้นเอง” ษัษฐรัมย์ระบุ


ภาวะเสี่ยงล้มละลาย (?) ของกองทุนประกันสังคม


คนจำนวนมากกังวลว่ากองทุนประกันสังคมอาจเข้าสู่สภาวะล้มละลายในอนาคต แต่ษัษฐรัมย์มองว่า สถานการณ์ล้มละลายเป็นเพียงฉากหนึ่งของคณิตศาสตร์ประกันภัยเท่านั้น และอนาคตของกองทุนประกันสังคมมีได้หลายฉาก 

ษัษฐรัมย์ชี้ว่า มีหลักการหลายประการที่สามารถเข้าไปสร้างความมั่นคงระยะยาวของกองทุนประกันสังคมได้ พร้อมยกตัวอย่างกรณีคนเป็นแม่ลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนไปเป็นแม่เต็มเวลา เพราะสวัสดิการพื้นฐานด้านแม่และเด็กไม่ดีพอ จนทำให้เสียสิทธิผู้สมทบและทำให้กองทุนขาดรายได้ ซึ่งตัวแทนทีมประกันสังคมก้าวหน้าชี้ว่า หากแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ สถานการณ์อนาคตของกองทุนประกันสังคมก็เปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน

กล่าวคือ ถ้าทำให้ประชาชนไม่ต้องออกจากการเป็นผู้ประกันตนโดยการมอบสวัสดิการที่สนับสนุนความมั่นคงในชีวิตให้พวกเขา ประกอบกับการลงทุนในกองทุนประกันสังคมอย่างมีธรรมาภิบาล หรือสร้างเงื่อนไขอื่นๆ เพิ่มเติม ฉากทัศน์ในอนาคตของกองทุนประกันสังคมก็อาจเปลี่ยนแปลงไปได้


สวัสดิการแรงงานในภาพใหญ่


เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาฯ เพิ่งมีมติปัดตกไม่รับหลักการร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ‘ทำงาน-พักผ่อน-ใช้ชีวิต’ ที่เสนอโดย เซีย จำปาทอง สส.ก้าวไกล ซึ่งเนื้อหาหลักๆ เสนอให้ระบบขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกปี และลดชั่วโมงการทำงานให้เหลือ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ร่างกฎหมายข้างต้นถูกวิจารณ์ว่าฝันเกินความเป็นจริง แต่ทางษัษฐรัมย์มองว่า ข้อเสนอในร่างกฎหมายแรงงานของพรรคก้าวไกลไม่ใช่เรื่องอุดมคติเกินไป เพราะการลดชั่วโมงทำงานไม่สร้างผลกระทบต่อรายได้ของนายจ้างอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากต้นทุนแรงงานไม่ใช่ต้นทุนใหญ่สุดของระบบการผลิต และหากปรับไปพร้อมกันทั้งระบบ ก็ไม่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งลดลง

ษัษฐรัมย์กล่าวว่า “มีงานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาประเทศสวัสดิการแย่ ค่าจ้างต่ำ สิ่งที่เห็นชัดเจน คือผลิตภาพก็แย่ตาม”

“ขณะเดียวกัน ไม่มีอะไรยืนยันว่าเมื่อชั่วโมงการทำงานน้อยลง หรือค่าจ้างที่เป็นธรรมมากขึ้นจะทำให้คนขี้เกียจ ในทางตรงกันข้าม มีงานวิจัยระดับนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลด้วยซ้ำที่ค้นพบว่า การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ หรือสวัสดิการต่างๆ คือการจูงใจให้คนทำงานได้ดีมากขึ้น คนอยากทำงานมากขึ้น ผู้ประกอบการมีทางเลือกมากขึ้น” 

ท้ายที่สุด ษัษฐรัมย์ฝากถึงใครก็ตามที่จ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคมทุกเดือน ว่าขอให้ติดตามและวิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งด้วย ทั้งยังฝากให้ช่วยกันจับตา พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ฉบับใหม่ ที่จะเปลี่ยนเงื่อนไขให้ที่มาของคณะกรรมการประกันสังคมมาจากการ ‘แต่งตั้ง’ 

ทั้งนี้ นี่เป็นกฎหมายฉบับเก่าที่รัฐบาลชุดก่อนยื่นเข้ามา ซึ่งษัษฐรัมย์เล่าว่า พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงานคนปัจจุบัน ยืนยัน ณ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า จะเติมเงื่อนไขให้การเลือกตั้งเป็นพื้นฐาน และให้แต่งตั้งต่อเมื่อเกิดเหตุสุดวิสัยอย่างโรคระบาด หรือภัยสงครามเท่านั้น 

นอกจากนี้ ษัษฐรัมย์ยังขอให้ผู้สมทบมีความหวังกับกองทุนประกันสังคม แม้นโยบายประกันสังคมถ้วนหน้าอาจต้องใช้แรงผลักทางการเมืองเยอะ แต่นโยบายอื่นๆ เชื่อว่าทำให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างแน่นอน

“ประมาณ 80% ของนโยบายที่เรารณรงค์หาเสียงไป ผมคิดว่าอยู่ในวิสัยที่ผลักดันได้ และผมเชื่อว่าทุกคนพร้อมจะผลัก ขณะที่ประชาชนก็พร้อมจะสนับสนุน” ษัษฐรัมย์กล่าวทิ้งท้าย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save