fbpx

เลือกตั้งประธานาธิบดีสิงคโปร์ 2023 – หยั่งเสียงวัดใจประชาชน ในห้วงวิกฤตศรัทธารัฐบาลพรรค PAP

1 กันยายนนี้ คือวันที่คนสิงคโปร์เตรียมตบเท้าเข้าคูหา ‘เลือกตั้งประธานาธิบดีสิงคโปร์’ คนใหม่ หลังจากที่ประธานาธิบดีคนเดิม ฮาลีมะฮ์ ยากบ (Halimah Yacob) สิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี และได้ประกาศว่าจะไม่ลงชิงตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่ 2

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการแข่งขันกันระหว่าง 3 ผู้สมัคร คนแรกคือ ธาร์แมน แชนมูการัตนัม (Tharman Shanmugaratnam) อดีตรัฐมนตรีวัย 66 ปี ตามด้วยคนที่สองคือ อึ้ง ก๊ก ซง (Ng Kok Song) นักลงทุนชื่อดังอายุ 75 ปี ผู้มีประสบการณ์บริหารกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ GIC และคนสุดท้ายคือ ตัน คิน เหลียน (Tan Kin Lian) วัย 75 ปี อดีตผู้บริหาร NTUC Income ซึ่งเป็นสหกรณ์ประกันภัยยักษ์ใหญ่และเก่าแก่ของสิงคโปร์ โดยครั้งนี้ถือเป็นการลงชิงตำแหน่งเป็นครั้งที่สองของตัน คิน เหลียน หลังเคยลงสมัครและพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งปี 2011

เพื่อป้องกันความสับสน ต้องอธิบายก่อนว่าในบริบทสิงคโปร์ ประธานาธิบดีคือคนละคนกับนายกรัฐมนตรี โดยอำนาจหน้าที่ในการบริหารแท้จริงอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งนับตั้งแต่เป็นเอกราชในปี 1965 สิงคโปร์เคยมีนายกฯ 3 คน ได้แก่ ลี กวนยู (1959-1990) โก๊ะ จ๊กตง (1990-2004) และลี เซียนลุง (2004-ปัจจุบัน) ขณะที่ประธานาธิบดีคือประมุขของชาติ โดยระบบการเมืองที่สิงคโปร์ใช้อยู่นี้เป็นการหยืบยืมจากอดีตเจ้าอาณานิคมอังกฤษ โดยต่างตรงที่ว่าที่อังกฤษนั้น ประมุขของชาติคือกษัตริย์ ด้วยความที่ประธานาธิบดีไม่ใช่ผู้มีอำนาจบริหารประเทศ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสิงคโปร์จึงมักไม่ค่อยเป็นที่สนใจมากนัก เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นผู้แทนเลือกนายกฯ ในทางอ้อม  

เลือกตั้งประธานาธิบดีสิงคโปร์ 2023
ธาร์แมน แชนมูการัตนัม (Tharman Shanmugaratnam)
ที่มาภาพ: Facebook – Tharman Shanmugaratnam

ตำแหน่งประมุขของสิงคโปร์ยังแตกต่างจากของอังกฤษตรงที่ว่า ประธานาธิบดีสิงคโปร์มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมีวาระทุกๆ 6 ปี อย่างไรก็ดี หากย้อนนับไปตั้งแต่วันแรกที่ประกาศเอกราชในปี 1965 ตำแหน่งประธานาธิบดีสิงคโปร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่แรกเริ่ม โดยตอนนั้นยังมาจากการแต่งตั้งโดยรัฐสภา ก่อนจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนให้ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งนับตั้งแต่ปี 1991

ในส่วนหนึ่ง บทบาทของประธานาธิบดีสิงคโปร์ก็ไม่ได้ต่างจากตำแหน่งประมุขในประเทศอื่นๆ เช่น การเป็นศูนย์รวมใจของคนในชาติ การมีบทบาทในเชิงพิธีการ การต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง การลงนามรับรองหรือแต่งตั้งนายกฯ รวมทั้งตำแหน่งสำคัญๆ ของรัฐ การอภัยโทษ และที่สำคัญคือการดำรงสถานะเป็นกลางทางการเมือง โดยรัฐธรรมนูญสิงคโปร์ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศต้องไม่สังกัดพรรคการเมืองใด นับแต่วันที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่ง

แม้ตามลายลักษณ์อักษร ประธานาธิบดีสิงคโปร์จะเป็นผู้อยู่เหนือการเมืองก็จริงอยู่ ทว่าในบริบทของสิงคโปร์นั้น ตำแหน่งประมุขของชาตินี้กลับไม่ได้แยกขาดจากการเมืองอย่างแท้จริง แถมยังถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาลเสียด้วยซ้ำ

ถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ก็ต้องย้อนกลับไปดูในวันที่รัฐบาลสิงคโปร์ตัดสินแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนที่มาของประธานาธิบดีให้มาจากการเลือกตั้ง เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ว่าเป็นไปด้วยเหตุผลกลใด

ผู้เป็นต้นคิดเสนอให้สิงคโปร์ใช้ระบบประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งไม่ใช่ใครอื่น แต่คือบิดาแห่งชาติอย่างอดีตนายกฯ ลี กวนยู โดยเขาบอกเหตุผลในการให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่าเกิดจากความกังวลว่าในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า สิงคโปร์อาจเผชิญ “การเลือกตั้งที่พิลึกพิลั่น” (freak election) ซึ่งลี กวนยูหมายความถึงปรากฏการณ์ที่พรรคฝ่ายค้านอาจสามารถเอาชนะพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party: PAP) ที่ผูกขาดการเป็นรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 1959 พลิกขั้วขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

ความกลัวของลี กวนยู ถึงการขึ้นมาของพรรคฝ่ายค้าน เป็นที่คาดว่าเริ่มจากการเลือกตั้งซ่อมของเขตพื้นที่หนึ่งในปี 1981 ที่พรรค PAP เสียท่าให้พรรคแรงงาน (Workers’ Party: WP) จนทำให้สภาสิงคโปร์มี ส.ส. ฝ่ายค้านเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี หลังจากที่พรรค PAP ชนะการเลือกตั้งแบบกวาดที่นั่งเบ็ดเสร็จในทุกการเลือกตั้งโดยไม่มีฝ่ายค้านนับแต่การได้รับเอกราชในปี 1965 ความกังวลของลี กวนยูยังทวีขึ้นไปอีกในการเลือกตั้งทั่วไปปี 1984 ที่ได้ ส.ส. ฝ่ายค้านเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ที่นั่ง จากพรรคประชาธิปไตยสิงคโปร์ (Singapore Democratic Party: SDP)

แม้จำนวน ส.ส. ฝ่ายค้านจะน้อยนิดเพียง 2 ที่นั่งจากทั้งหมด 79 ที่นั่งในตอนนั้น แต่นั่นก็ทำให้ลี กวนยูเริ่มระแวงถึงอนาคตที่รัฐบาลจะไม่ใช่พรรค PAP จึงเริ่มหากลไกบางอย่างเพื่อมาคานอำนาจรัฐบาลเตรียมไว้สำหรับวันนั้น หากเป็นหลายๆ ประเทศ กลไกที่ว่านี้มักอยู่ในรูปสภาสูงหรือ ส.ว. แต่ลี กวนยู เลือกใช้ตำแหน่งประธานาธิบดี

สภาสิงคโปร์ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจของประธานาธิบดี กระทั่งเสร็จสิ้นมีผลบังคับใช้ในปี 1991 และมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขอยู่บ้างหลังจากนั้น โดยปัจจุบัน ประธานาธิบดีสิงคโปร์มีบทบาทหน้าที่หลักๆ ตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองเงินคงคลังของประเทศไม่ให้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดหรือใช้เกินพอดี โดยสามารถวีโต้ร่างงบประมาณหรือการใช้จ่ายบางประเภทได้ รวมถึงการเป็นผู้มีอำนาจในการรับรองการเสนอชื่อแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญๆ ทางราชการ โดยสามารถวีโต้การเสนอชื่อบุคคลที่ไม่เหมาะสมได้ และเพื่อให้ความชอบธรรมกับอำนาจที่ขยายขึ้นมานี้ รัฐธรรมนูญสิงคโปร์จึงกำหนดให้ประธานาธิบดีต้องมาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้แสดงว่าประชาชนคือผู้มอบอำนาจสิทธิขาดเหล่านี้แก่ประธานาธิบดี

ลี กวนยู เคยพูดในเรื่องนี้ว่า “ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเพื่อให้เข้ามาทำหน้าที่ โดยเฉพาะหน้าที่ในการขัดขวางการกระทำที่ไม่ถูกไม่ควรจากรัฐบาลที่ไม่ดี แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่แทรกแซงการทำงานของรัฐบาล โดยประธานาธิบดีไม่ได้มีอำนาจบริหารเพื่อจะนำเสนอนโยบายใดๆ และแน่นอนว่าไม่มีอำนาจหยุดยั้งไม่ให้รัฐบาลทำอะไรได้ เพียงแต่มีอำนาจคัดค้านการใช้เงินคงคลังและการแต่งตั้งคนที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น…”[1]

แต่การให้อำนาจประธานาธิบดีเช่นนี้ก็เป็นดาบสองคม เพราะนั่นย่อมแปลว่า ขณะที่รัฐบาลสิงคโปร์ยังอยู่ภายใต้พรรค PAP อยู่จนถึงปัจจุบัน ประธานาธิบดีก็คือผู้คานอำนาจพรรค PAP เสียเอง และประชาชนสิงคโปร์เองก็อาจตัดสินใจเลือกคนที่มีแนวโน้มอยู่ฝั่งตรงข้ามพรรค PAP เพื่อไม่ให้ PAP ครอบงำมากเกินไป รัฐธรรมนูญสิงคโปร์ในปัจจุบันนี้จึงมีกลไกหลักๆ สองอย่างที่พอเป็นหลักประกันได้ว่าประธานาธิบดีจะไม่ออกนอกร่องนอกรอยมากเกินไป

เลือกตั้งประธานาธิบดีสิงคโปร์ 2023
อึ้ง ก๊ก ซง (Ng Kok Song)
ที่มาภาพ: Facebook – Ng Kok Song

อย่างแรกคือการกำหนดคุณสมบัติของผู้เป็นประธานาธิบดีอย่างโหดหิน จึงไม่ใช่ว่าคนสิงคโปร์ทั่วไปจะมาสมัครลงชิงตำแหน่งนี้ก็ได้ คนที่จะมีสิทธิลงเลือกตั้งในตำแหน่งนี้เป็นไปได้สองแบบ แบบแรกคือเป็นคนที่เคยรับราชการในระดับสูงมาอย่างน้อย 3 ปี เช่นในตำแหน่งรัฐมนตรี ผู้พิพากษาสูงสุด อัยการสูงสุด หรือผู้บริหารหน่วยงานราชการต่างๆ เป็นต้น และแบบที่สองคือผู้ที่เคยเป็นซีอีโอของบริษัทเอกชนอย่างน้อย 3 ปี โดยมีส่วนของผู้ถือหุ้นเกินกว่า 500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 12,500 ล้านบาท) และต้องได้กำไรจากการถือหุ้นในระยะ 3 ปีล่าสุดที่ดำรงตำแหน่ง และไม่ว่าจะเข้าสู่การลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยเส้นทางใดในสองเส้นทางนี้ก็แล้วแต่ ผู้ลงสมัครจะถูกตรวจสอบและรับรองความเหมาะสมอย่างละเอียดอีกทีหนึ่งโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งประธานาธิบดี (Presidential Elections Committee) โดยเชื่อว่าการกำหนดคุณสมบัติไว้ยากขนาดนี้เป็นเพราะรัฐบาลสิงคโปร์ต้องการจำกัดตัวผู้มีสิทธิให้เหลือน้อยที่สุด โดยให้อยู่ในเพียงแวดวงชนชั้นนำซึ่งจำนวนมากข้องเกี่ยวกับข่ายอำนาจพรรค PAP แม้แน่นอนว่าไม่ใช่ทั้งหมดก็ตาม

และอย่างที่สองคือการกำหนดให้มีสภาที่ปรึกษาประธานาธิบดี (Council of Presidential Advisers: CPA) โดยมีข้อกำหนดว่าประธานาธิบดีจะต้องผ่านการปรึกษาจากสภาแห่งนี้ก่อนจะใช้อำนาจต่างๆ ที่มีตามรัฐธรรมนูญ ปัจจุบัน CPA มีสมาชิกทั้งหมด 8 คน แต่มาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดีเองเพียง 3 คนเท่านั้น ขณะที่คนอื่นๆ อีก 3 คนแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี 3 คน และอีก 2 คนแต่งตั้งโดยผู้พิพากษาสูงสุดและประธานคณะกรรมการข้าราชการ ซึ่ง 5 คนที่ไม่ได้แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีนี้เองถือได้ว่าเป็นผู้คานอำนาจตัดสินใจของประธานาธิบดี

ในบางครั้งก่อนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดี หากครั้งไหนที่รัฐบาลเกิดความไม่แน่ใจว่าประธานาธิบดีคนใหม่ที่จะถูกเลือกเข้ามา จะเดินตามร่องตามรอยหรือไม่ ก็มักมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปรับเปลี่ยนสองกลไกนี้ให้เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะในส่วนคุณสมบัติผู้เป็นประธานาธิบดี

ยกตัวอย่างเช่น ก่อนการเลือกตั้งปี 2017 ที่อยู่ๆ สภาก็แก้รัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้มีสิทธิรับตำแหน่งนี้ต้องไม่ได้มาจากเชื้อชาติกลุ่มใหญ่สุดของประเทศ นั่นคือเชื้อชาติจีน จนทำให้ตอนนั้นเหลือผู้สมัครเพียงคนเดียวที่เข้าคุณสมบัติทั้งหมด คือฮาลีมะฮ์ ยากบ อดีต ส.ส. พรรค PAP ซึ่งเป็นคนเชื้อชาติมาเลย์ โดยไม่มีคู่แข่ง ในตอนนั้นเป็นที่เข้าใจว่าการแก้กฎขึ้นมาตามใจฉันแบบนี้มีเหตุผลแท้จริงคือต้องการกีดกัน ตัน เจิ้ง บ็อก (Tan Cheng Bock) อดีต ส.ส. พรรค PAP ที่ตอนหลังแปรพักตร์ไปอยู่ฝั่งตรงข้าม ไม่ให้ลงสมัครได้ เพราะในการเลือกตั้งก่อนหน้านั้นในปี 2011 เขาเกือบจะเอาชนะโทนี ตัน เค็ง ยัม (Tony Tan Keng Yam) โดยได้สัดส่วนคะแนนที่ร้อยละ 34.85 หายใจรดต้นคอโทนีที่ได้คะแนนร้อยละ 35.20 จึงเป็นที่หวาดเกรงว่าเขาจะเอาชนะได้ในที่สุดในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ข้อกำหนดคุณสมบัติเรื่องเชื้อชาตินี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้วก่อนที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2023 นี้จะมาถึง ทำให้ครั้งนี้คนสิงคโปร์เชื้อชาติจีนกลับมาลงสมัครได้อีกครั้ง

กฎเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติผู้เป็นประธานาธิบดีสิงคโปร์เปลี่ยนไปในแทบทุกการเลือกตั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่คงอยู่มาในการเลือกตั้งทุกครั้งคือคำถามจากสาธารณชนจำนวนมากถึงระบบประธานาธิบดีที่เป็นอยู่ ซึ่งทำให้ประธานาธิบดีไม่ได้ถูกมองว่าเป็นอิสระจากการเมืองอย่างแท้จริง เหมือนอย่างที่ประมุขในประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยในรูปแบบนี้ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่การเมืองจะเข้ามาข้องเกี่ยว  

แม้ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ผ่านมาทุกคนต่างประกาศตัวเน้นย้ำว่าตนเป็นอิสระ แต่คนสิงคโปร์ก็มักดูออกว่าใครมีกลุ่มการเมืองไหนหนุนหลังอยู่ เช่นเดียวกับในการเลือกตั้งครั้งนี้

ธาร์แมน แชนมูการัตนัม คร่ำหวอดในพรรค PAP มายาวนาน โดยได้เป็น ส.ส. ในสังกัดพรรคตั้งแต่ปี 2001 ก่อนค่อยๆ ขยับขึ้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ปิดท้ายล่าสุดด้วยตำแหน่งรัฐมนตรีอาวุโส (senior minister) ก่อนจะลาออกเพื่อลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี จึงมองได้ไม่ยากว่าธาร์แมนคือคนที่พรรค PAP เองให้การสนับสนุน และน่าจะเป็นคนที่ PAP ต้องการให้เป็นประธานาธิบดีมากที่สุดเสียด้วยซ้ำ ขณะที่ อึ้ง ก๊ก ซง ก็เป็นที่เชื่อว่า PAP หนุนหลังอีกคนหนึ่ง ด้วยประสบการณ์สำคัญในการบริการกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติให้รัฐบาลสิงคโปร์ โดยมีการซุบซิบกันว่า PAP ต้องการให้ อึ้ง ก๊ก ซง ลงสมัครอีกคนหนึ่ง เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีการแข่งขัน ไม่ใช่มีเพียงคนเดียวอย่างครั้งก่อน ทำให้ประธานาธิบดีคนใหม่จะเข้าสู่ตำแหน่งอย่างสง่าผ่าเผยกว่า

การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้มีแค่ผู้สมัครฝั่ง PAP เท่านั้น แต่ยังมี ตัน คิน เหลียน ที่บรรดาคีย์แมนพรรคฝ่ายค้านทั้งที่อยู่ในสภาและไม่อยู่ในสภาชุดนี้ ประกาศตัวให้การสนับสนุน ท่ามกลางการถูกโจมตีว่าเป็นการดึงตำแหน่งประธานาธิบดีไปพัวพันกับการเมือง

ตัน คิน เหลียน ถือเป็นตัวเลือกสำหรับคนสิงคโปร์ที่ไม่ต้องการให้ประธานาธิบดีมาจากขั้วเดียวกับรัฐบาล รวมถึงคนที่อาจต้องการสั่งสอนรัฐบาลและพรรค PAP ด้วยความไม่พอใจอะไรบางอย่าง แต่หากเป็นคนที่ยังนิยมชมชอบพรรค PAP ธาร์แมน แชนมูการัตนัม และ อึ้ง ก๊ก ซง ก็ถือเป็นตัวเลือก หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เป็นเสมือนประชามติที่วัดว่าคนสิงคโปร์ยังชื่นชอบพรรค PAP มากขนาดไหน

และจะว่าไป นี่ก็คือนัยของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสิงคโปร์ในทุกครั้งที่ผ่านมา จึงเป็นคำอธิบายที่ว่าทำไมประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งในบริบทสิงคโปร์ ถึงไม่มีทางแยกขาดจากการเมืองได้จริงตามลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญ

เลือกตั้งประธานาธิบดีสิงคโปร์ 2023
ตัน คิน เหลียน (Tan Kin Lian; คนกลาง)
ที่มาภาพ: Facebook – Tan Kin Lian

วันนี้ยังตอบอย่างแน่นอนไม่ได้ว่าผู้สมัครคนไหนมีแนวโน้มได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุด เพราะการทำโพลสำรวจความนิยมก่อนการเลือกตั้ง เป็นเรื่องผิดกฎหมายในสิงคโปร์ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้อาจทำให้พรรค PAP กำลังตุ๊มๆ ต่อมๆ อยู่ไม่น้อย

วันนี้ พรรค PAP เรียกได้ว่ากำลังตกอยู่ในวิกฤตใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งจากเรื่องอื้อฉาวของนักการเมืองคนสำคัญหลายคนในพรรคที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ที่สองรัฐมนตรีที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าทำการเช่าบ้านพักตากอากาศของรัฐอย่างไม่โปร่งใสและอาจมีการใช้อำนาจในทางที่มิชอบมาเกี่ยวข้อง แม้ประมาณ 1 เดือนต่อมา ผลการสอบสวนจะชี้ว่าทั้งสองไม่มีความผิดในข้อหาคอร์รัปชัน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้คนสิงคโปร์หายเคลือบแคลงและพากันตั้งคำถามว่าการสอบสวนเป็นไปอย่างชอบธรรมหรือไม่[2]

ขณะที่ฝุ่นยังไม่ทันหายตลบดี ก็เกิดเหตุรัฐมนตรีคมนาคมถูกจับกุมข้อหามีส่วนร่วมต่อการทุจริตคอร์รัปชัน[3] และในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ประธานรัฐสภาสิงคโปร์ พร้อมด้วย ส.ส. หญิงพรรค PAP ประกาศลาออกจากการเป็น ส.ส. และออกจากพรรค เนื่องจากทั้งคู่ลักลอบคบกันทั้งที่ฝ่ายประธานสภามีคู่สมรสอยู่แล้ว แถมก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ตัวประธานสภาเองยังถูกวิจารณ์อย่างหนักจากการหลุดปากพูดคำว่า “f*cking populist” ระหว่างประชุมสภา[4]  

สิงคโปร์คือประเทศหนึ่งที่มีการคอร์รัปชันต่ำที่สุดในโลก และรัฐบาลสิงคโปร์เองก็ใช้เรื่องนี้เป็นจุดขายมาตลอด การที่เรื่องทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสมของคนการเมืองสำคัญเหล่านี้เกิดขึ้น จึงสั่นคลอนความเชื่อมั่นในรัฐบาลไม่น้อย แม้ว่าเรื่องอื้อฉาวเหล่านี้จะไม่ได้เกิดครั้งแรกก็ตามที

ไม่เพียงแต่เรื่องนี้เท่านั้น รัฐบาลสิงคโปร์ปัจจุบันยังต้องเผชิญความไม่พอใจของประชาชน จากปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่กำลังทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว จนถูกจัดว่าแพงที่สุดในโลก ณ ปัจจุบัน

ที่ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ปวดเศียรเวียนเกล้าขึ้นกว่านั้น คือปัญหาเหล่านี้ต่างเข้ามารุมเร้าในช่วงที่พรรค PAP ใกล้เข้าสู่การเปลี่ยนผ่านผู้นำ จาก ลี เซียนลุง สู่ผู้นำรุ่นที่สี่ ซึ่งวางตัวไว้ที่ ลอเรนซ์ หว่อง (Lawrence Wong) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนปัจจุบัน โดยการเปลี่ยนผ่านนี้คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างช้าที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งถัดไปในปี 2025

การผลัดใบทางการเมืองของสิงคโปร์หนนี้จะราบรื่นหรือไม่นั้น อยู่ที่ว่าคลื่นลมมรสุมเหล่านั้นจะสั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลและพรรค PAP มากน้อยขนาดไหน ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 1 กันยายนนี้เองที่จะเป็นตัวให้คำตอบ


อ้างอิง

หนังสือ ‘Breakthrough 2.0 Singaporean Push for Parliamentary Democracy’ โดย Derek da Cunha (2022)

Constitution of the Republic of Singapore

Why Singapore’s next elected President should be one of its last

Singapore presidential election: will ‘anti-PAP’ protest voters spoil front runner Tharman Shanmugaratnam’s party?

The Singapore president should be truly independent

Ridout Road bungalow rentals: CPIB finds no corruption or wrongdoing by Shanmugam, Vivian

Singapore Transport Minister S Iswaran was arrested and released on bail as part of CPIB probe

Tan Chuan-Jin resigns from various organisations, including Singapore National Olympic Council

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save