แบบแปลนอำนาจของชนชั้นนำสิงคโปร์

ผมแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมืองกับเพื่อนคนหนึ่งเป็นระยะ เขาเป็นนักเขียนมือรางวัลอีกคนของวงการวรรณกรรมไทย ความรู้และความตื่นตัวทางการเมืองของเขาทรงเสน่ห์ต่อพรรคการเมืองหลายพรรค แต่แล้วก็ดูเหมือนว่าเมื่อลองร่วมงานกันแล้วอุดมคติจะไม่ไปในทางเดียวกัน ครั้งหนึ่งก่อนการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมา เราคุยกันเรื่องนโยบายหาเสียงจากชนชั้นกลางว่าควรเสนออย่างไรให้ติดหู ผมพูดเล่นๆ (แต่คิดจริง) ว่าให้ประกาศไปเลยว่า “เราจะทำให้พาสปอร์ตของไทยแข็งแกร่งเท่าสิงคโปร์” ประโยคเดียวสั้นๆ ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายมหาศาลอยู่เบื้องหลัง (และอาจนำพามาซึ่งรัฐประหารอีกไม่รู้กี่ครั้ง)

ถ้าจำไม่ผิด เขาน่าจะหัวเราะร่วนเลยทีเดียว ผมไม่รู้ว่าตอนนั้นเขาคิดอะไรอยู่ แต่ผมคิดถึงสิงคโปร์ในความทรงจำ

ผมไปสิงคโปร์ครั้งแรกในปี 2017 เพื่อนนักวิชาการชาวออสเตรเลียที่ทำงานอยู่ที่นั่นถามว่าคิดอย่างไรบ้างกับสิงคโปร์ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยงามตาแม้กระทั่งกับต้นไม้ใบหญ้าทำให้ผมตอบเขาไปว่า “I think Singapore is a Legoland.” คำตอบของผมเรียกเสียงหัวเราะและเป็นสิ่งที่เขาเล่าให้คนอื่นๆ ที่เราพบเจอหลังจากนั้นฟัง

สิงคโปร์ที่ผมเห็นเป็นครั้งแรกมีอายุ 52 ปีนับจากการเป็นเอกราชจากมาเลเซียในปี 1965 ปีนั้นกรุงรัตนโกสินทร์มีอายุ 235 ปี สิงคโปร์เป็น developed country ไปแล้ว ส่วนประเทศไทยยังคงเป็น developing country ทั้งๆ ที่เรามี King of Kings และบ้านเมืองของเราก็เต็มไปด้วยคนดี ทำไมการเดินทางจาก ing ไปถึง ed ของไทยช่างเชื่องช้า? ใครไม่สงสัยไม่ว่ากันแต่ผมสงสัย (หลิ่วตาล้อ)

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จของสิงคโปร์นั้นเติบโตมาจากความคิดของลี กวน ยู แต่จะมีกี่คนที่ตระหนักถึงความล้ำลึกของเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างชาติและสถาปนาให้ตระกูลลีเป็นศูนย์กลางของอำนาจในการบริหารมาจนถึงปัจจุบัน

“What is an ‘elite’? The dictionary defines it as ‘A group of people considered to be the best in particular society or category, especially because their power, talent or wealth’. I shall be talking about the elite in a society or a country, meaning the core group of people who occupy key positions of power and influence, and set the direction for the whole society and country.”

คำกล่าวข้างต้นของลี เซียน ลุง บุตรชายคนโตของลี กวน ยู และนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของสิงคโปร์เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2005 ถือได้ว่าเป็นจุดศูนย์รวมสายตาที่ดีที่สุดในการทำความเข้าใจมรดกและความเป็นปัจจุบันของรากฐานความคิดที่แฝงอยู่ในทุกองคาพยพของอำนาจในมือของชนชั้นนำสิงคโปร์

จุดเริ่มต้นของความคิดเรื่อง elite ของลี กวน ยู ได้รับอิทธิพลมาจากหนังสือชื่อ A Study of History (1964) ของ Arnold Toynbee ที่เสนอว่า อารยธรรมนั้นเกิดความเปลี่ยนแปลงจากทฤษฎีของการท้าทายและตอบโต้ ในบั้นปลาย ชนชั้นนำมักจะสูญเสียความคิดสร้างสรรค์ในการรับมือและปรับตัวเข้ากับความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้น ทางออกในการธำรงอำนาจนำไว้ก็คือการสร้างชนชั้นนำเลือดใหม่อยู่เสมอ แก่นของความคิดนี้จะชัดเจนขึ้นเมื่อเราพิจารณาโดยละเอียดถึงวิธีการบริหารของลี กวน ยู

ชนชั้นนำของสิงคโปร์เริ่มต้นขึ้นจากกลุ่มปัญญาชนนักเรียนเก่าอังกฤษ (ซึ่งในช่วงเวลาเริ่มต้นของการสร้างชาตินั้นมีจำนวนเพียงหยิบมือ) ที่มารวมตัวกันในชื่อ Oxley Road Circle ชื่อของกลุ่มมีที่มาจากบ้านเลขที่ 38 บนถนน Oxley ของลี กวน ยู กลุ่มนี้ได้พัฒนาไปเป็น People’s Action Party หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อพรรค PAP

การเติบโตของ Oxley Road Circle และพรรค PAP วางอยู่บนการคัดเลือกที่มีพื้นฐานมาจากคุณสมบัติอันเป็นที่พึงใจของลี กวน ยู เป็นหลัก ต่อมาคุณสมบัติเหล่านั้นได้กลายเป็นกระบวนการคัดสรรผู้เล่นหน้าใหม่เข้าสู่เครือข่ายการนำ

วิธีการคัดคนของพวกเขาคือการมุ่งเป้าไปยังนักเรียนระดับหัวกะทิที่ได้ทุนการศึกษาของรัฐบาล ทุนที่โดดเด่นที่สุดคือทุน President’s Scholarship (เดิมชื่อ Queen’s Scholarship อันเป็นมรดกจากยุคอาณานิคม) นักเรียนเหล่านี้จะถูกจับตาเป็นพิเศษเมื่อเข้าทำงานในภาคราชการ ต่อมาได้มีการก่อตั้งทุนที่ถือได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญเชิงนโยบายด้านการปกครองและควบคุมการทหารชื่อ Singapore Armed Force Scholarship ซึ่งเป็นทุนสำหรับผู้มีความสามารถเพศชายที่อยู่ในการเกณฑ์เข้ารับใช้กองทัพแห่งชาติ (ลี เซียน ลุง เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกคัดเลือกให้ได้รับทุนนี้ครั้งแรกสุด) เมื่อพิจารณาจำนวนและสัดส่วนการทำงานในองค์กรชั้นนำของประเทศจะพบว่าตัวเลขของนักเรียนเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

การลดทอนรวมไปถึงการสลายอำนาจนำเก่าที่มีรกรากอยู่ในสังคมสิงคโปร์เป็นอีกวิธีในการสถาปนาอำนาจของลี กวน ยู นโยบายเลือกปฏิบัติที่ให้โอกาสกับประชาชนที่มีเชื้อสายจีนมากกว่าคือการสร้างอัตลักษณ์ที่เข้มแข็งของวัฒนธรรมจีนในสังคมหลากเชื้อชาติอย่างสิงคโปร์ แต่ลี กวน ยู ก็ฉลาดพอที่จะไม่ทิ้งกลุ่มคนเชื้อชาติมาเลย์และอินเดีย วิธีการสำคัญก็คือการคัดสรรชนชั้นนำเชื้อชาติเหล่านั้นเข้าสู่เครือข่าย ในข้อแม้ที่เป็นกฎอันไม่ได้เขียนขึ้นแต่เป็นที่รับรู้กันดีคือ คนเหล่านั้นต้องมีคุณสมบัติ ‘ความเป็นจีน’ อยู่ในตัว ซึ่งความเป็นจีนที่ว่าคือการเข้าใจถึง ‘กวนซี’ (關係) หรือระบบเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงครอบครัวแบบจีน รวมไปถึงการรู้ภาษาจีนกลาง

อำนาจของลี กวน ยู ขยายขึ้นเรื่อยๆ ผ่านกวนซีและลดบทบาทของสหภาพแรงงาน คณะตุลาการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยการทำให้บุคคลที่อยู่ในเครือข่ายของชนชั้นนำที่อิงอยู่กับตระกูลลีเข้าไปบริหาร แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการยึดครองจิตใจมวลชน คือการพัฒนาระบบการเคหะแห่งชาติสิงคโปร์ที่แก้ปัญหาเรื่องทรัพยากรที่ดินอันมีจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลพลอยได้จากการจัดการที่อยู่อาศัยแก่ประชาชนคือการเป็นเจ้าของข้อมูลประชากรขนาดมหึมา

ในภาคธุรกิจ เครือข่ายของตระกูลลีได้ใช้สมาคมต่างๆ ของชาวจีนเป็นทางผ่านเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับบรรดาบริษัทที่อยู่ในเครือข่ายของรัฐ โดยผู้ที่รับบทบาทสำคัญคือเทมาเส็ก โฮลดิงส์

เมื่อลี กวน ยู เถลิงอำนาจโดยสมบูรณ์ บนกระดานหมากแห่งอำนาจนั้นมีเพียงพื้นที่เล็กๆ สำหรับลมหายใจรวยรินให้ฝ่ายตรงข้าม หรือใครก็ตามที่อยู่นอกวงโคจรของตระกูลลีและคณะ ‘เข้าร่วมเราอยู่ ต่อต้านเราตาย’ จึงเป็นผลลัพธ์ของการปกครองที่อำนาจจากชนชั้นนำมอบให้ สูตรสำเร็จของการประสบความสำเร็จที่เกิดขึ้นในการไต่บันไดดาวของสิงคโปร์คือ ‘ชิงทุน รับใช้รัฐ เรียกแสง’ ถ้าผลงานเป็นที่เข้าตาจะมีแมวมองเรียกตัวไปดูนิสัย หากศีลเสมอกันก็จะได้รับการคัดเลือกเข้าสู่พรรค PAP และถูกผลักดันเข้าไปสู่ระดับบริหารต่อไป

ความสำเร็จในระดับนานาชาติที่มีผลมาจากการแข่งขันอย่างดุเดือดเพื่อบรรลุเป้าหมาย และภาพของการปกครองแบบรัฐสภา ทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีภาพมายาของการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีระบบความรู้ความสามารถเป็นคุณค่ายึดถืออยู่เบื้องหน้า จนระบอบอำนาจนิยมที่ชักใยอยู่เบื้องหลังดูไร้พิษสง แต่ถ้าหันไปมองตัวเลขผู้ถูกจับกุม คุมขัง เนรเทศ ในตลอดระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ โฉมหน้าอีกแบบก็จะเป็นที่ประจักษ์แก่สายตา

วิธีการที่ดีที่สุดในการมองชนชั้นนำและอำนาจของสิงคโปร์ให้เห็นเต็มตาคือการมองให้ลึกไปกว่าความเป็นประเทศสมัยใหม่ที่มีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยทั่วไป หลังม่านที่บังตานั้นคือธุรกิจแบบครอบครัวของชาวจีน ระบอบปิตาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับลูกชายคนโต และกวนซี โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุกอย่างประกอบรูปขึ้นมาได้นั้นวางอยู่บนพื้นฐานห้าประการ ดังนี้ หนึ่ง สิงคโปร์เป็นประเทศขนาดเล็ก สอง การก่อตัวของเครือข่ายชนชั้นนำ สาม ระบบอุปถัมภ์ที่กระจายออกไปจากตระกูลลี สี่ การทำให้ ‘ความเป็นจีน’ โดดเด่นเป็นอัตลักษณ์แห่งชาติ ห้า การสลายอำนาจกองทัพเพื่อทำให้เป็นส่วนหนึ่งในองคาพยพของอำนาจชนชั้นนำ

ความสำเร็จของความคิดลี กวน ยู ทำให้รูปแบบการสืบทอดอำนาจยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แม้ผู้เล่นในเครือข่ายจะเปลี่ยนหน้าไป หรือพรรคฝ่ายค้าน (ที่หลายฝ่ายยังเชื่อว่ามีพอเป็นพิธี) จะได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ยังไม่มีจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้โครงสร้างทางอำนาจเปลี่ยนแปลงในระยะอันใกล้นี้ เพราะเครือข่ายชนชั้นนำยังแฝงตัวอยู่ในทุกมิติที่เป็นต้นกำเนิดกระแสลมของการเปลี่ยนแปลง

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นคือใจความหลักของ The Ruling Elite of Singapore: Networks of Power and Influence in Southeast Asia (2014) โดย Michael D. Barr ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจาก Flinders University เขาได้สังเกต ศึกษา และสร้างคำอธิบายอย่างเป็นระบบขึ้นมาเพื่อนำเสนอภาพความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการเมืองการปกครองของกลุ่มชนชั้นนำแห่งสิงคโปร์



ความสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือการแจกแจงให้เห็นถึงที่มาที่ไปและกลไกการทำงานของระบอบอำนาจนิยมของชนชั้นนำสิงคโปร์ สิ่งที่มองเห็นชัดเจนซึ่งแทบจะจำเจจนเข้าสู่ความเป็นธรรมชาติได้ถูกนำมาเรียบเรียงใหม่ให้เห็นเป็นขั้นตอนต่อเนื่อง ความต่อเนื่องได้ทำให้เห็นต้นตอของค่านิยมที่ทำหน้าที่เป็นบรรทัดฐานของสังคมซึ่งได้ปกป้องชนชั้นนำเหล่านี้ไว้เป็นอย่างดี แม้จะเห็นข้อบกพร่องตำตาของระบอบอำนาจนิยมที่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้กล่าวถึงอย่างตรงไปตรงมา หรือละไว้ในฐานที่เข้าใจ นั่นคือความอยู่ดีกินดีของประชาชนในชาติ ความรู้สึกมั่นใจและปลอดภัยในการกินอิ่มนอนอุ่นอันทำให้เรื่องของสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการใช้ชีวิตกลายเป็นเรื่องไกลตัว ข้อถกเถียงในเรื่องปลีกย่อยด้านสังคมที่มีความก้าวหน้าเป็นเหมือนเรื่องไม่สำคัญ ความคิดแบบอนุรักษนิยมที่ไม่เห็นความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงจะช่วยชะลอแรงปะทะหรือแม้กระทั่งปกป้องชนชั้นนำ

และถึงแม้ว่าพรรค PAP จะได้รับความนิยมน้อยลงในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากการพยายามผูกขาดอำนาจมากเกินไป หรือวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่ขัดหูขัดตาคนรุ่นใหม่ที่มีกระบวนทัศน์ร่วมสมัย หรือการแตกแยกกันเองในพี่น้องตระกูลลีจะเป็นประเด็นสำคัญในการสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมือง แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ตัวแปรสำคัญของอำนาจทั้งทางอุดมการณ์ เศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร ก็ยังคงอยู่ในมือของชนชั้นนำที่พร้อมจะปรับและเปลี่ยนอย่างมีชั้นเชิงโดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดเพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจ

ออร์ฮาน ปามุก เคยเขียนบทความว่าด้วยความสุขชื่อ To Be Happy โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งเล่าถึงตอนที่เขาไปชายทะเลกับลูกสาววัยสี่ขวบ ในขณะนั้น เขาได้กลายเป็นผู้ชายที่มีความสุขที่สุดในโลก และตั้งคำถามว่าอะไรคือสิ่งที่ผู้ชายที่มีความสุขที่สุดในโลกต้องการที่สุด?

สิ่งที่เขาต้องการที่สุด แน่นอนว่ามันคือการได้เป็นผู้ชายที่มีความสุขที่สุดในโลกแบบนี้เรื่อยไป นี่เป็นเหตุที่ทำให้เขารู้ว่ามันสำคัญเพียงใดในการปฏิบัติแต่สิ่งเดิมในทุกๆ ครั้ง และสิ่งที่เรา (ตัวเขาและลูกสาว) ทำก็คือสิ่งเดิมๆ เสมอ

ชนชั้นนำสิงคโปร์รู้ดีว่าพวกเขาต้องปฏิบัติในสิ่งเดิมๆ อย่างไรให้อยู่ในอำนาจเสมอ ส่วนชนชั้นนำไทยนั้นขอละไว้ในฐานที่เข้าใจของแต่ละปัจเจกบุคคล  (หลิ่วตาล้ออีกครา)

MOST READ

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save