fbpx

จากเจ้าภาพการประชุม G20 สู่ประธานอาเซียน 2023: บทบาทของอินโดนีเซียที่น่าจับตามอง

“อาเซียนต้องเป็นภูมิภาคที่มีศักดิ์ศรี และรักษาคุณค่าความเป็นมนุษย์และประชาธิปไตย” โจโก วีโดโด

ข้อความที่ผู้เขียนยกมาเปิดบทความนั้น เป็นส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์ของ โจโก วีโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียที่ได้กล่าวเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022 ในพิธีปิดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 40 และ 41 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาและพิธีส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนสำหรับปี 2023 อย่างเป็นทางการ สุนทรพจน์ดังกล่าวสะท้อนถึงการให้คุณค่ากับประชาธิปไตยสมกับเป็นผู้นำจากประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่น่าชื่นชม

นอกจากนั้นเขายังกล่าวว่าอาเซียนต้องเป็นภูมิภาคแห่งความมั่นคงและสันติภาพและเป็นหลักความมั่นคงของโลก อาเซียนต้องยึดมั่นกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นร่างทรงของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทั้งสิ้น โจโก วีโดโดยังหวังว่าอาเซียนจะกลายเป็นภูมิภาคเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ครอบคลุม และยั่งยืน เพื่อที่ว่าอาเซียนในปี 2045 จะปรับตัว ตอบสนอง และแข่งขันได้มากขึ้น และทั้งหมดนี้ต้องต่อสู้ในวิถีทางของอาเซียนตามกฎบัตรอาเซียน

ในปี 2023 นี้ประเทศอินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียน ซึ่งประธานอาเซียนหมุนเวียนกันเป็นในประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนตามลำดับตัวอักษร อินโดนีเซียเคยเป็นประธานอาเซียนมาแล้วสี่ครั้งได้แก่ในปี 1976, 1996, 2003 และ 2011 แม้ว่าการเป็นประธานอาเซียนของอินโดนีเซียก็เหมือนจะเป็นตามวาระปกติ แต่หากดูจากสถานะ บทบาทและท่าทีของอินโดนีเซียในเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่ผ่านมา ทำให้การเป็นประธานอาเซียนของอินโดนีเซียในปี 2023 นี้น่าจับตาดูอย่างมากทีเดียว อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่และพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก และเป็นประเทศประชาธิปไตยใหญ่เป็นอันดับสามของโลก การพัฒนาประชาธิปไตยในอินโดนีเซียค่อนข้างได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติ จากประเทศที่เคยตกอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมในยุคสมัยระเบียบใหม่ของประธานาธิบดีซูฮาร์โต (1967-1998) อย่างยาวนานสามารถปฏิรูประบบการเมืองจนกลายเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยโดดเด่นที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงปี 2022 ประธานาธิบดีโจโก วีโดโด ได้เดินทางไปประเทศยูเครนและรัสเซีย เพื่อแสดงจุดยืนไม่สนับสนุนสงครามและการใช้ความรุนแรงและได้เข้าพบผู้นำของทั้งสองประเทศ ยิ่งทำให้บทบาทของอินโดนีเซียในการเมืองระหว่างประเทศโดดเด่นมากยิ่งขึ้น

อินโดนีเซียเพิ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกลุ่มประเทศ G20 ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายนที่ผ่านมาที่เกาะบาหลี ความสำเร็จในการเป็นประธานและจัดการประชุมทำให้อินโดนีเซียได้รับการยกย่องในฐานะผู้นำที่โดดเด่นในกลุ่มประเทศอำนาจกลาง (middle power) ที่มีอิทธิพลต่อภูมิภาคและเวทีการเมืองโลก กลุ่ม G20 คือกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 19 ประเทศและสหภาพยุโรป (EU) ประเทศทั้ง 19 ประเทศประกอบด้วยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ หรือกลุ่ม G8 ได้แก่ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมัน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่ 11 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และตุรกี

อินโดนีเซียเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นสมาชิกกลุ่ม G20 ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) ของอินโดนีเซียในปี 2021 ราว 1.19 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นลำดับที่ 16 ในบรรดากลุ่มประเทศ G20 ผลผลิตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ G20 มีมูลค่าราว 85% และมีมูลค่าการค้าคิดเป็น 75% ของทั้งโลก จำนวนประชากรรวมของกลุ่ม G20 ราว 2 ใน 3 ของประชากรโลกทั้งหมด ครอบคลุมภาษาราว 3,600 ภาษา หรือ 50% ของภาษาที่ใช้ในโลก

Recover Together, Recover Stronger (ฟื้นฟูไปด้วยกัน ฟื้นฟูให้แข็งแกร่งกว่าเดิม)

ธีมของการประชุมกลุ่มผู้นำ G20 ที่อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพคือ ‘ฟื้นฟูไปด้วยกัน ฟื้นฟูให้แข็งแกร่งกว่าเดิม’ อินโดนีเซียได้เสนอสามประเด็นหลักได้แก่ เรื่องสาธารณสุขโลก การเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืน

สิ่งที่ถือได้ว่าเป็นไฮไลต์ของเวที G20 ในครั้งนี้คือการที่ประเทศสมาชิกกลุ่ม G20 เห็นชอบและออกแถลงการณ์ร่วมที่มีความยาว 16 หน้า โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาใดๆ ซึ่งแถลงการณ์ร่วมฉบับนี้ ระบุว่า สมาชิกส่วนใหญ่ประณามการทำสงครามในยูเครนด้วยท่าทีแข็งกร้าว เนื่องจากสงครามตลอดแปดเดือนที่ผ่านมา สร้างความเดือดร้อนและซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจโลก แม้ว่าเวที G20 จะไม่ใช่เวทีแก้ปัญหาความมั่นคง แต่ชาติสมาชิกเห็นว่าปัญหาความมั่นคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และการใช้หรือการขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ในขณะที่การยึดมั่นกฎหมายระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประชาคมโลก การออกแถลงการณ์ฉบับนี้ได้นับว่าเป็นความสำเร็จในการผลักดันของประเทศอินโดนีเซียที่เป็นเจ้าภาพ

ภาคประชาสังคมวิจารณ์ว่าการประชุม G20 ที่อินโดนีเซียปีที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ปัญหาความอดอยากและปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังได้ แต่การเปิดพื้นที่ให้ผู้นำโลกได้พูดคุยแบบพบหน้ากัน ท่ามกลางความผันผวนของการเมืองโลกก็ยังถือได้ว่าเป็นความสำเร็จเล็กๆ และสำหรับประเทศเจ้าภาพในการจัดการอย่างอินโดนีเซียได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย การประชุมที่สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอินโดนีเซียที่สามารถจัดการประชุมที่อภิปรายกันเกี่ยวกับนโยบายโลก เจ้าภาพได้รับเสียงชื่นชมในการจัดงานทั้งจากอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ตัวแทนองค์กรสหประชาชาติ และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นต้น มีผู้แทนระดับโลกไปเยือนอินโดนีเซีย เวที G20 เป็นโอกาสทองที่ผู้นำประเทศมหาอำนาจได้มาพบกัน การประชุม G20 ยังส่งผลให้เกิดการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของอินโดนีเซีย มีผู้แทนจากประเทศต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประชุมเดินทางไปที่อินโดนีเซียราว 20,988 คน ทำให้การท่องเที่ยวของอินโดนีเซียคึกคักขึ้นมาก

สันติภาพ, ความมั่นคง และ ความเจริญรุ่งเรืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: เป้าหมายของประธานอาเซียน 2023

หลังจากเสร็จสิ้นการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม G20 ได้ไม่นาน อินโดนีเซียก็รับไม้ต่อเป็นประธานอาเซียน ธีมสำหรับการเป็นประธานอาเซียนปีนี้คือ ‘ASEAN Matters: Epicentrum of Growth’ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั้งจากผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 และสงคราม การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นประเด็นที่ประธานอาเซียนให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาและเศรษฐกิจดิจิทัล โจโก วีโดโดได้กล่าวว่าอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนปี 2023 จะมีบทบาทสำคัญในการทำให้ภูมิภาคนี้เจริญรุ่งเรือง ทั้งนี้ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนปี 2023 จะอยู่ที่ 4.75% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่ประเมินโดย IMF ที่อยู่ที่ 2.7%

อินโดนีเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสมาชิกอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนใหม่ อันวาร์ อิบราฮิม มีท่าทีสนับสนุนอินโดนีเซียอย่างชัดเจน กล่าวว่าอินโดนีเซียมีอิทธิพลอย่างมากและมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับทั้งสมาชิกอาเซียนอื่นๆ และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก และยังได้เน้นย้ำว่าอินโดนีเซียมีบทบาทในการหาทางออกภายในอาเซียนด้วยวิถีทางสันติมาอย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีผู้ลี้ภัยโรฮิงญา, ปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศพม่า และกรณีทะเลนาตูนาเหนือ (ส่วนหนึ่งของทะเลจีนใต้) เป็นต้น

อาเซียนมีเป้าหมายว่าหลังจากปี 2025 อาเซียนจะต้องมีการบูรณาการกันมากขึ้นกว่าเดิม และต้องมีบทบาทสำคัญในระบบการเมืองเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ในการเป็นประธานอาเซียนในห้วงเวลานี้ก่อนถึงปี 2025 จึงมีความสำคัญและดูเหมือนว่าต้องรับภาระอันหนักมิใช่น้อย

ความท้าทายสำหรับประธานอาเซียน 2023

แม้ดูเหมือนว่าอินโดนีเซียจะมีความพร้อมในการทำหน้าที่ประธานอาเซียนที่ไม่ใช่แค่เวียนมาเป็นตามวาระเท่านั้น แต่ก็มีความท้าทายสำหรับอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน 2023 อยู่หลายประการทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในภูมิภาค

ปัจจัยภายนอกคือความขัดแย้งระหว่างอเมริกากับจีน ที่นับวันจะยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งย่อมต้องส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะในเวทีของอาเซียนที่ทั้งสองประเทศต่างเป็นประเทศคู่เจรจาและเข้าร่วมการประชุมกับอาเซียนมาอย่างยาวนาน อาเซียนจะถ่วงดุลอำนาจของสองประเทศมหาอำนาจนี้อย่างไร อาเซียนจะคงความเป็นกลางอย่างที่ประกาศตัวไว้ได้อย่างไร เป็นความท้าทายสำคัญของอาเซียน

ปัจจัยภายในคือสถานการณ์ในประเทศพม่า โจทย์ใหญ่ของอาเซียนคือจะหาทางออกอย่างไรต่อสถานการณ์ในประเทศพม่า ทั้งนี้ในช่วงเวลาตั้งแต่เกิดรัฐประหารในพม่าและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงต่อกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลทหาร อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่มีท่าทีแข็งขันและแสดงออกว่าต้องการให้รัฐบาลพม่ายุติการใช้ความรุนแรงและกลับคืนสู่ประชาธิปไตย ท่าทีของอินโดนีเซียมาจากการที่อินโดนีเซียเคยมีประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านจากระบอบอำนาจนิยมสู่ประชาธิปไตย และเป็นที่น่าจับตาดูว่าประธานอาเซียนปีนี้จะสามารถกดดันให้รัฐบาลทหารพม่ายอมปฏิบัติตาม ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ ที่มาจากที่ประชุมอาเซียนตั้งแต่หลังการการรัฐประหารในพม่าไม่นานนักได้หรือไม่ และการบอยคอตไม่ให้พม่าเข้าร่วมสังฆกรรมการประชุมผู้นำอาเซียนจะยังดำเนินต่อหรือไม่ ในรูปแบบอย่างไร

นอกจากนั้นคือเรื่องสมาชิกใหม่ลำดับที่ 11 ของอาเซียน ได้แก่ ประเทศติมอร์-เลสเต จากผลการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ผ่านมาที่เห็นชอบในหลักการให้ติมอร์-เลสเตเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน ก็เป็นความท้าทายหนึ่งสำหรับประธานอาเซียนเช่นกัน ติมอร์-เลสเตเป็นหนึ่งในประเทศที่เคยมีวิกฤตปัญหาการเมืองภายในซึ่งส่งผลต่อสถานการณ์ของภูมิภาคโดยรวม

แม้ว่าตำแหน่งประธานอาเซียนไม่ได้หมายความว่ามีอำนาจเหนือประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ บทบาทและหน้าที่ของประธานอาเซียนค่อนไปทางเป็นผู้ประสานงานเพื่อให้สมาชิกสามารถประชุมปรึกษาหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาค แต่ด้วยประวัติศาสตร์ ขนาดเศรษฐกิจของประเทศ และบทบาทของอินโดนีเซียในเวทีการเมืองระหว่างประเทศก็ทำให้เกิดความหวังว่าอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

ข้อมูลประกอบการเขียน

Gladiaventa, Fransisca Andeska. “Jadi Ketua ASEAN, Indonesia Aakan Fokus pada Perdamaian, Stabilitas, dan Kesejahteraan di Asia Tenggara.” Kompas, https://nasional.kompas.com/read/2023/01/11/14542291/jadi-ketua-asean-indonesia-akan-fokus-pada-perdamaian-stabilitas-dan

Gumilang, Muhamad Rizkiana. “Manfaat Presidensi G20 Bagi Indonesia.” Kemenkeu, https://www.djkn.kemenkeu.go.id/kpknl-jakarta3/baca-artikel/14750/Manfaat-Presidensi-G20-Bagi-Indonesia.html

Hardyanto. “G20 dan Bahasa Dunia.” Setkab RI, https://setkab.go.id/g20-dan-bahasa-dunia/

Istimewa. “Indonesia Banjir Pujian Dalam Penyelenggaran KTT G20.” Kemenko PMK, https://www.kemenkopmk.go.id/indonesia-banjir-pujian-dalam-penyelenggaraan-ktt-g20

Setiawan, Anton. “Mempertajam Peran Indonesia di ASEAN.” Indonesia.Go.Id, https://indonesia.go.id/kategori/editorial/6802/mempertajam-peran-indonesia-di-asean?lang=1

Wardah, Fathiyah. “Indonesia Jadi Ketua ASEAN 2023, Apa Saja Tantangannya?.” VoaIndonesia, 14 November 2022, https://www.voaindonesia.com/a/indonesia-jadi-ketua-asean-2023-apa-saja-tantangannya-/6833112.html

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save