fbpx
Scientific Myths - เรื่องเข้าใจผิดทางวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องคิดเหมือนกัน แค่ขอให้ 'คิด' ก่อนแค่นั้นพอ

Scientific Myths – เรื่องเข้าใจผิดทางวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องคิดเหมือนกัน แค่ขอให้ ‘คิด’ ก่อนแค่นั้นพอ

โสภณ ศุภมั่งมี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ปีใหม่ที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ได้พบเจอคนในครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหาย นั่งทานข้าวเย็นด้วยกันอย่างสนุกสนาน แต่ละคนก็จะหยิบเอาเรื่องนั้นเรื่องนี้มาคุยกันเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องการเมืองและศาสนา คนมักพยายามพูดแบบข้ามๆ เลี่ยงๆ หัวข้อที่มักถูกนำมาคุยกันคือเรื่องเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ (รู้เลยว่าเนิร์ดกันขนาดไหน) แต่อย่างที่ทราบดีว่าสักพักหนึ่งก็จะมีใครสักคนที่พรั่งพรูความเชื่อผิดๆ ออกมาอย่างมั่นอกมั่นใจ อย่างเช่น “HIV ไม่ได้ทำให้เกิด AIDS” “อาหาร GMO นั้นไม่ปลอดภัย ห้ามกิน” “การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศเป็นเรื่องแต่งให้คนเชื่อเท่านั้น” เลยเถิดไปจนกระทั่ง “วัคซีนเป็นต้นเหตุของโรคออทิสซึม” (ซึ่งทุกอย่างที่กล่าวมาเป็นเรื่องไม่จริงทั้งหมดนะครับ)

ในฐานะของคนที่ไม่อยากมีปากเสียงกับใคร โดยส่วนมากแล้วผมจะนิ่งเงียบฟังเฉยๆ (แม้ภายในจะเดือดพล่าน) เพราะรู้สึกว่าใช้พลังงานชีวิตมากจนเกินไปที่จะพยายามปรับเปลี่ยนความคิดที่ติดอยู่ในสมองของคนเหล่านี้ ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่เรื่องที่ดีสักเท่าไหร่ เพราะอย่างที่ทุกคนรู้คือ เป็นเรื่องง่ายที่จะกระจายความเชื่อผิดๆ มากกว่าแก้ไข ใครก็สามารถฟังมาแล้วเล่าต่อได้ แต่ถ้าต้องอธิบายว่าทำไมสิ่งที่คุณเชื่อนั้นเป็นเรื่องผิด ต้องใช้ทั้งเวลา ความรู้ และที่สำคัญที่สุดคือความอดทน

เอาง่ายๆ เลย ถ้ามีคนบอกว่า “ภูมิอากาศนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ก่อนที่มนุษย์จะถือกำเนิดเสียอีก” ถ้าคุณอยากจะเริ่มงัดข้อกับความเชื่อนี้ ต้องหยิบยกเรื่องอัตราเร่งของอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก แทนที่น่าจะลดลงถ้าไม่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์เป็นต้นเหตุ หรือถ้าอยากได้หลักฐานมากขึ้นก็เข้าไปที่เว็บ Skeptical Science ที่พยายามหักล้างความคิดที่ผิดๆ ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ หรืออีกวิธีหนึ่งที่มักจะได้ผลเสมอคือการเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น อย่างเช่น “ภูมิอากาศนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา” ก็เหมือนกับบอกว่า “หัวขโมยมีอยู่ทุกที่แหละ เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องล็อคประตูบ้านหรอก เพราะไม่ได้ทำให้อัตราของขโมยขึ้นบ้านมากขึ้น” (ซึ่งคนมักจะเงียบและอึ้งคิดไปประมาณ 10 วินาที) แต่ก็ต้องระวังถึงผลลัพธ์ที่จะตามมาด้วยเช่นกัน

การจะทำให้ใครเชื่ออะไรนั้นเป็นเรื่องที่ยากและใช้ปัจจัยหลายอย่างมากกว่าแค่การเอาหลักฐานและความจริงเป็นข้อๆ ยัดเข้าไปในหัวของเขา เพราะถ้าเกิดว่าเขาเชื่อในสิ่งหนึ่งแล้วเราพยายามไปบังคับให้เปลี่ยน อาจจะกลายเป็นการทำให้เขายิ่งเชื่อในสิ่งเดิมมากขึ้นไปอีก (เพราะคิดว่าเราพยายามดึงเขาออกมา) เหมือนตอนที่หลายปีก่อนมีคนเชื่อว่า ซัดดัม ฮุสเซน มีขีปนาวุธทำลายล้างสูงไว้ในครอบครอง แต่ก็ไม่เคยมีใครเคยเห็นหรือมีหลักฐานอะไรเลย พอมีคนพยายามแสดงหลักฐานว่าเขาไม่มีไว้ครอบครอง คนที่เชื่อว่าเขามีก็ยิ่งเชื่อเข้าไปอีก ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นแบบนี้ว่า ‘backfire’ หรือสิ่งที่ทำส่งผลตรงกันข้ามกับที่ตั้งใจเอาไว้

Cook และ Stephan Lewandowsky ที่มหาวิทยาลัย University of Bristol ผู้เขียนหนังสือ ‘The Debunking Handbook’ กล่าวว่าการ backfire มีด้วยกันสามแบบ อย่างแรกคือ ‘overkill effect’ หรือการให้ข้อมูลมากจนเกินไป จนคนที่ได้รับข้อมูล แทนที่จะเชื่อกลายเป็นต่อต้านและยึดติดความเชื่อเดิมเอาไว้แน่นกว่าเดิม (เหมือนเรื่องซัดดัม) พวกเขาเขียนอธิบายถึงการศึกษาเรื่องนี้ แล้วพบว่าการให้ข้อมูลที่หักล้างความเชื่อเพียงแค่ 2 ชิ้น มีผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกับ 4-6 ชิ้น และจะประสบผลสำเร็จมากขึ้นถ้าได้ข้อมูลที่ชัดเจนและแน่นหนาเพียงพอ วิธีที่สามารถเอามาปรับใช้ในชีวิตประจำวันคือถ้ากำลังหาข้อมูลอะไรก็หยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมา พิมพ์หาแหล่งข่าวที่มีความน่าเชื่อถือ ดีกว่าการจำอะไรคร่าวๆ แล้วดำน้ำไปเรื่อยๆ นั้นแหละ (จะยิ่งทำให้คนฟังสับสนและไม่เชื่อไปเลย)

อย่างที่สองคือ ‘familiarity effect’ ซึ่งเกิดจากการที่เราพูดถึงความเชื่อผิดๆ จะยิ่งตอกย้ำความเชื่อของคนคนนั้นให้ลึกลงไปอีก ซึ่งคำแนะนำในสถานการณ์แบบนี้คืออย่าย้ำเรื่องผิดๆ ให้บ่อยเกินไป พยายามใช้เทคนิคที่เรียกว่า ‘truth sandwich’ หรือการประกบความจริงก่อนและหลังความเชื่อที่ผิด เหมือนกับแซนด์วิชนั่นแหละ อย่างเช่นถ้าคุณกำลังพูดถึงเรื่องที่ว่า “ไม่มีหลักฐานอะไรที่บ่งบอกว่าวัคซีนและโรคออทิสซึมมีส่วนเกี่ยวข้องกัน ถึงจะมีเหตุการณ์ที่ผู้ป่วยโรคออทิสซึมมีจำนวนสูงขึ้นตอนที่วัคซีน MMR นั้นถูกลดจำนวนลงชั่วคราว” คนที่ฟังได้ยินแค่เพียงส่วนที่สองของประโยคนั้นก็จะเข้าใจผิดว่า “อ๋อ…วัคซีนกับโรคออทิซึมมีส่วนเกี่ยวข้องกันจริงๆ” และก็จำอยู่แค่นั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณทำได้คือห่อความเชื่อผิดๆ ด้วยข้อเท็จจริง ทั้งก่อนและหลัง (ถอนหายใจ…เฮ้ออ)

และสุดท้ายก็จะมี ‘world-view effect’ หมายถึงว่า ถ้าความจริงในบางเรื่องไปหักล้างและกระทบกับโลกทัศน์ของคนคนนั้นโดยตรง ซึ่งจะยิ่งทำให้เขาเชื่อในสิ่งนั้นขึ้นไปอีก และนี่มักเป็นประเด็นที่ค่อนข้างเปราะบางสำหรับหลายๆ คน อย่างข่าวปลอมบนโซเชียลมีเดียถือเป็นตัวอย่างที่ดี บางคนก็เชื่อและเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ โดยถ้าใครมาพูดอะไรที่ตรงกันข้ามจะปิดกั้นและมีการต่อต้านอย่างรุนแรง วิธีการรับมือกับสิ่งเหล่านี้อย่างแรกเลยคือลดการปะทะ อย่าด่าทอโดยเด็ดขาด “มึงผิด กูถูก ไอ่โง่ ควายสีนั้นสีนี้” เพราะจะไม่ทำให้เกิดอะไรขึ้นเลย แต่สิ่งที่เราทำได้คือการตั้งคำถาม ถามว่าทำไมถึงคิดแบบนั้นแบบนี้ ให้เคารพและคำนึงอยู่เสมอว่าประสบการณ์ในชีวิตของเขาอาจจะเป็นต้นตอให้เกิดความคิดเหล่านี้ขึ้นมา

ข่าวดีคือช่วงเวลารวมตัวกันและนั่งคุยกันแบบนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเคารพซึ่งกันและกัน การถกเถียงในหัวข้อเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่มีประสิทธิภาพ เพราะถึงแม้ว่าคนที่คุณคุยด้วยอาจจะไม่ได้เปลี่ยนความคิดของตัวเองทันที อย่างน้อยสิ่งที่คุณทำคือการฝังเมล็ดของความคิดไว้ในหัวของคนที่ฟัง รวมไปถึงคนที่อยู่บนโต๊ะอาหารด้วย หลังจากหลุดออกจากวงตรงนี้ไป อย่างน้อยๆ ถ้าประเด็นนี้ถูกยกขึ้นมา ก่อนที่คนคนนั้นจะพรั่งพรูความคิดอันแรงกล้าพร้อมความเชื่อต่างๆ นานา เขาก็ต้องคิดและตรองอีกครั้ง (หวังว่า) ก่อนจะพูดอะไรออกไป

ในประเทศอเมริกายังมีคนกว่า 7 เปอร์เซ็นต์ ที่เชื่อว่าภาวะโลกร้อนไม่ได้เกิดจากมนุษย์และไม่ได้เกิดขึ้นด้วยซ้ำ และเด็กกว่า 3 แสนคนในแอฟริกาใต้เสียชีวิตทุกปีเพราะความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับ HIV และ AIDS (ถอนหายใจอีกรอบ…)

สุดท้ายแล้วต้องโฟกัสที่ด้านบวกว่าอย่างน้อยถ้าเราได้พูดออกไป คนที่ฟังแม้จะไม่คิดเหมือนกันกับเราทุกอย่าง แต่อย่างน้อยเขาก็จะได้กลับไปคิดและไตร่ตรอง แค่นั้นก็น่าจะเป็นเรื่องที่เราควรพอใจแล้ว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save