fbpx

‘ความผิดคนอื่นเท่าภูเขา ความผิดตัวเราเท่าเมล็ดงา’ ทำไมคนเราชอบโยนความผิดให้คนอื่น?

วันหนึ่งขณะรถยนต์ที่ผมนั่งกำลังจะขึ้นทางกลับรถที่เรียกกันติดปากว่า ‘เกือกม้า’ ใกล้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ก็มีรถยนต์หลายคันพยายามเบียดข้ามเส้นทึบตรงใกล้กับตีนสะพานเข้ามา จนส่วนหน้าของรถยนต์คันหนึ่งขยับเข้ามาจนหน้ารถสองฝ่ายเกยกัน ฝ่ายโน้นกระจกเสียหายนิดหน่อย ส่วนรถฝั่งผมแทบไม่เป็นอะไร แต่ต่างคนก็ต้องเสียเวลารอตัวแทนบริษัทประกันมาถ่ายรูปที่เกิดเหตุ จนรถติดยาวหลายร้อยเมตร แม้ว่ารถอื่นจะยังพอเคลื่อนช้าๆ ผ่านที่ว่างเพื่อขึ้นเกือกม้าได้อยู่ก็ตาม  

คนขับรถคันที่มาเบียด ‘ผิดเต็มประตู’ เพราะไม่ยอมต่อท้ายเข้าคิวเหมือนคันอื่น พยายามเบียดเข้าตรงจุดห้าม แต่ก็ยังพยายามจะถามภรรยาของผมที่เป็นคนขับว่า “มองไม่เห็นใช่ไหม?” เสมือนว่าฝ่ายผมเป็นคนผิดที่มองไม่เห็น จึงไม่ ‘เปิดทาง’ ให้ขับเสียบเข้ามา 

ทำไมคนบางคนถึงได้กล่าวโทษคนอื่นเหมือนกับไม่มีสำนึกรับรู้ความผิดของตนเองบ้างเลย? เรื่องแบบนี้ต้องเกิดขึ้นแบบเจตนาทำผิดกฎจราจรแน่เลยใช่ไหมครับ? เอ๊ะ หรือจะไม่แน่? แล้วมีประโยชน์หรือโทษอะไรบ้างไหมกับตัวคนผู้นั้นและคนอื่น? ถ้าจะแก้ไขไม่ให้เกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้น ต้องทำอย่างไรถึงจะดี?

การชี้นิ้วกล่าวโทษคนอื่นถือเป็น ‘กลไกการป้องกันตัว‘ แบบหนึ่งนะครับ เป็นกระบวนการที่เกิดจากจิตใต้สำนึก เพื่อตอบสนองต่ออารมณ์ความรู้สึกอึดอัด กังวล ไม่สบายใจหรือความรู้สึกด้านลบต่อตัวเอง เช่น ความรู้สึกอับอายหรือความรู้สึกผิด

พูดง่ายๆ ว่า ทำผิดแล้วก็ไม่สบายใจ เลยโยนความผิดให้คนอื่น เพื่อให้สบายใจ ซึ่งการทำแบบนี้มันง่ายมาก! โดยเฉพาะหากจะต้องเทียบกับ ‘น้ำหนัก’ ที่ต้องแบกรับ หากต้องยอมรับผิด ซึ่งเป็นภาระทางใจที่หนักหนาสาหัสกว่ามาก เพราะไม่มีใครอยากรู้สึกผิดที่เป็นคนไม่ดี  

การโยนความผิดให้คนอื่นจึงทำให้รู้สึกสบายใจขึ้นก็จริง อย่างน้อยก็สำหรับกรณีเหตุการณ์เฉพาะหน้า การทำแบบนี้ช่วยผดุงรักษาความภาคภูมิใจหรือความหยิ่งทะนงตัว หรือ ‘อีโก้’ ไว้ได้ แต่ในทางกลับกัน เรื่องนี้อาจส่งผลเสียในระยะยาว ซึ่งมักจะหนักหนากว่าการยอมรับผิดด้วยซ้ำไป เพราะอาจทำให้สูญเสียความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้างไป

ในกรณีนี้ต้องขอยกเว้น ‘การจงใจ’ ป้ายความผิด เพื่อทำร้ายหรือทำลายคู่แข่ง หรือคนที่เกลียดหน้าไปก่อนนะครับ เพราะเป็นอีกกรณีหนึ่งเลย และอาจจะมีรากที่มาของปัญหาที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

อีกคำอธิบายที่เป็นไปได้คือ คนเรามี ‘อคติแบบชอบอวยตัวเอง’ (self-serving bias)

อคติแบบนี้คือ เวลาเกิดอะไรดีๆ เราก็จะคิดเอาว่า เพราะเราเก่ง เพราะฝีมือเรา แต่ถ้าไม่ดี ก็มักจะโยนให้เป็นความผิดของคนอื่นหรือสิ่งแวดล้อมไป เช่น วันไปสอบใบแข่งขันอะไรสักอย่าง ถ้าผลสอบดี ก็มักจะคิดว่าเพราะตัวเองตั้งใจ ทุ่มเทเตรียมตัว หรือไม่ก็เป็นคนเก่งอยู่แล้วตามธรรมชาติ

แต่หากผลสอบไม่ผ่านหรือไม่ดี ก็อาจจะโทษว่าเพราะอากาศมันไม่ดี เพราะสถานที่สอบไม่คุ้นเคยหรือห้องสอบร้อนเกิน เสียงดังเกิน ฯลฯ จนลืมนึกไปว่าเรื่องแย่ๆ ที่ขึ้นเสมอๆ น่ะ มีตัวเราเองเป็นต้นเหตุหรือเปล่า!

กรณีตัวอย่างต้นบทความก็อาจจะเป็นเช่นนี้ด้วยเช่นกัน คือคิดไปว่าตัวเองก็ขับอย่างที่ ‘ใครๆ’ ก็ทำ (แม้ว่าจะผิดกฎหมายและอันตรายก็ตาม) ฉะนั้น คนที่ไม่หยุดหรือชะลอให้จึงเป็นฝ่ายผิด ตัวเองไม่ผิด ซึ่งความคิดที่ว่า ‘ทำได้เพราะใครๆ ก็ทำ’ แบบนี้เป็นการคิดแบบ ‘เหตุผลวิบัต’ (fallacy) แบบหนึ่ง

นอกจากนี้ การโทษคนอื่นยังไปเติมเต็มความรู้สึกที่ว่า เราควบคุมสถานการณ์ได้ เรา ‘เอาอยู่’ และเราไม่ได้เป็นคนที่ ‘เปราะบาง’ พร้อมแตกสลายได้ง่ายๆ แถมยังยกเราให้อยู่ในตำแหน่งที่เหนือกว่าคนที่โดนเราชี้นิ้ว ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองสำคัญ เรียกว่าเป็นความพยายามปกปิดความอ่อนแอทางอารมณ์ของตัวเองนั่นเอง

วิธีการแบบนี้พวกคนที่มีตำแหน่งการงานหน้าที่สูงกว่ามักทำกันบ่อยๆ และพวกลูกน้องก็น้ำท่วมปาก พูดไม่ออก อยู่ในภาวะจำยอม แต่ ‘เหยื่อ’ พวกนี้จะจดจำเรื่องแบบนี้ได้แม่นยำกว่าเสมอนะครับ มีดหนึ่งเล่มที่แทงใส่พวกเขา ก็รอวันที่จะโดนแทงคืนเป็นสิบครั้งเมื่อสบโอกาส เมื่อใดก็เมื่อนั้น  

สาเหตุลึกๆ อีกประการหนึ่งก็คือ คนที่ชอบโยนความผิดมักเป็นคนที่ ‘หลอกตัวเองเก่ง’ จึงกล่อมจนตัวเองหลงเชื่อว่า ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบอะไรกับการกระทำนั้น และการทำแบบนี้ก็เหมาะสมหรือสมเหตุสมผลดีแล้ว ทั้งๆ ที่ความจริงก็คือ ไม่ใช่เลย

แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมีนิสัยชอบโบ้ยความผิดแบบนี้ บางคนมีแนวโน้มจะทำบ่อยกว่าหรือเผลอทำไปง่ายกว่า โดยคนกลุ่มนี้จะมีลักษณะร่วมกันคือ เป็นพวกพยายามปกป้องตัวเองจากผลกระทบด้านลบต่างๆ สูงเป็นพิเศษ และที่สำคัญคือเป็นกลุ่มคนที่มีปัญหาการควบคุมอารมณ์ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัจจัยหรือผลกระทบด้านลบต่างๆ และที่หนักหนาที่สุดคือ เป็นกลุ่มคนที่มีปัญหาการควบคุมตัวเอง เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการตัดสินใจที่ย่ำแย่ของตัวเอง

ถ้ามีครบทั้งสามข้อ ก็มีแนวโน้มที่จะป้ายความผิดเก่งผิดคนทั่วไป

โดยในงานวิจัยชิ้นนี้มีชุดการทดลองย่อยอยู่ 3 การทดลอง ทั้งหมดทำกับนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และเซตปัจจัยต่างๆ เช่น ให้อาสาสมัครสมมติตัวเองว่าทำงานอยู่ในออฟฟิศ แล้วต้องให้เลือกทำงานบางรูปแบบจำเพาะ บางครั้งก็ให้เลือกเอง บางครั้งก็ให้คนอื่นเลือกให้ แล้วจากนั้นจึงให้ไปทำแบบทดสอบวัดระดับสติปัญญาหรืออย่างอื่น โดยใส่ตัวแปรที่เหนี่ยวนำอารมณ์ เช่น ให้ดูฉากคนได้รับของขวัญหรือคนโดนล่วงละเมิดทางเพศ แล้วก็ทำแบบทดสอบซ้ำอีกครั้ง

ผลสรุปทั้ง 3 การทดลองสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่า คนที่รับมืออารมณ์ลบได้ไม่ดี มีแนวโน้มจะโทษคนอื่นต่อความผิดพลาดของตัวเอง (การเลือกคำตอบไม่ดี) ในขณะที่คนที่ควบคุมอารมณ์ลบได้ดี จะไม่เป็นเช่นนั้น

ดังนั้นจึงสรุปผลการทดลองว่า คนที่ควบคุมอารมณ์ไม่เก่ง เมื่อต้องเจอกับอารมณ์ลบต่างๆ ก็มีแนวโน้มจะโทษคนอื่นสำหรับความผิดพลาดที่ตัวเองทำขึ้น เมื่อป้ายความผิดแล้ว ก็จะรู้สึกในทางลบต่อตัวเอง (โกรธ อาย หรือรู้สึกผิด) น้อยลง   

จากข้อมูลทั้งหมดข้างตนสรุปได้ว่า มีปัจจัยทางจิตวิทยาหลายอย่างที่ทำให้คนชอบชี้นิ้วกล่าวโทษคนอื่นไม่เท่ากัน ครอบคลุมตั้งแต่การป้องกันตัวเอง การจัดการอารมณ์ไม่เก่ง การมีอคติแบบอวยหรือหลงตัวเอง ไปจนถึงการมีนิสัยชอบหลอกตัวเอง  

คนที่มีนิสัยชอบกล่าวโทษคนอื่น บ่มเพาะนิสัยแบบนี้มาจากไหนกันแน่? เพราะไม่ใช่ทุกคนจะเป็นแบบนี้ อันที่จริงคนส่วนใหญ่ แม้จะไม่อยากรับผิด แต่เมื่อทำผิดแล้วก็มักจะยอมรับผิด (แม้ว่าบางรายจะจำยอมรับผิด เพราะจนด้วยหลักฐานก็ตาม)

มีสมมติฐานว่าประสบการณ์ลบในวัยเด็กอาจมีส่วนสำคัญ เด็กที่โตมาในสิ่งแวดล้อมที่ไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัยหรือไม่อบอุ่น อาจหล่อหลอมให้เด็กกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดความรับผิดชอบและโทษคนอื่นเก่งได้

แล้วการป้ายความผิดส่งผลเสียอย่างไรบ้าง?

เห็นได้ชัดเจนว่าคนแบบนี้ มักจะมีบุคลิกลักษณะที่ ‘ผลัก’ ให้คนอื่นๆ ออกห่างตัวหรือแม้แต่จากไปอย่างถาวร (ทั้งแบบที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว) ทำให้ไม่มีใครอยากติดต่อคบค้าด้วย หรือแม้แต่หาคนเชื่อถือในตัวคนๆ นั้นไม่ได้ จึงทำให้เสียมิตรภาพ ความสัมพันธ์ หรืองาน ฯลฯ จนนำไปสู่ความรู้สึกโดดเดี่ยวและโดนทอดทิ้งได้ ใครจะไปอยากอยู่ใกล้คนที่ชอบโทษคนอื่นกัน!

คนเป็นเหยื่อบางคนก็เกิดผลเสียในระยะยาวได้ด้วย เช่น ทำให้กลายเป็นคนมีความภาคภูมิใจตัวในตัวเองต่ำ รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า หรือแม้แต่เสียสุขภาพจิตอย่างถาวร หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

สำหรับตัวคนที่โทษคนอื่นเองก็เจอกับข้อเสียหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการไม่อาจเติบโตทางอารมณ์ได้อย่างที่ควรจะเป็น ยิ่งทำก็ยิ่งสูญเสียความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่น ไม่สามารถสร้างสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นกับใครได้ เพราะสร้างความเชื่อใจให้กับใครไม่ได้เลย

เรื่องที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ การโทษคนอื่นนั้นเป็นตัวเหนี่ยวนำและ ‘ติดต่อถึงกันได้’ กล่าวอีกอย่างก็คือ คุณอาจเป็นตัวเริ่มต้นสร้างระบบนิเวศอารมณ์ลบขึ้น ดึงให้คนรอบตัวเลียนแบบพฤติกรรมและโยนความผิดให้กันไปมา ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งที่ทำงานและที่บ้าน โดยเฉพาะหากคุณสวมหมวกเป็นผู้นำอยู่

คงพอนึกภาพออกว่า หากเหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นนั้นแล้ว ก็คงรู้สึกเหมือนอยู่ใน ‘นรก’ อยู่ตลอดเวลาเลยทีเดียว

สำหรับการแก้ไข ขั้นตอนแรกสุดคือ ยอมรับความจริงว่าตัวเราเองมีปัญหานี้อยู่จริง คนที่รักและอยู่รอบตัวคนแบบนี้ ทั้งครอบครัวและเพื่อนร่วมงานก็ควรต้องบอกกล่าว ทำความเข้าใจและให้กำลังใจ เพราะเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ แม้ว่าในรายที่เป็นหนัก อาจต้องพึ่งพานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ให้ช่วยแก้ไขก็ตาม

หัวใจของการแก้ปัญหาอาจจะได้แก่ การยกระดับความภาคภูมิใจในตัวเองหรือความเคารพตัวเองให้มีมากขึ้น มากพอจะยอมรับว่าเราก็เป็นมนุษย์เหมือนคนอื่น เป็นมนุษย์ที่อ่อนแอและพร้อมจะทำผิด เพียงแต่ต้องยอมรับความจริงและเริ่มแก้ไข คนรอบข้างก็พร้อมจะให้อภัย

ความผิดของเราไม่ได้เล็กแค่เมล็ดงา เราแค่เพียงละเลย ไม่พยายามรับรู้มัน และในทางตรงกันข้าม ความผิดของคนอื่นก็ไม่ได้ใหญ่เท่ากับภูผา ดังที่โคลงโลกนิติบทหนึ่งว่าไว้

เราทุกคนทำผิดพลาดได้มากเท่าๆ กันนั่นแหละ แต่เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ ขอแค่รู้ว่าเราทำผิด ยืดอกยอมรับว่าทำผิด แล้วเริ่มแก้ไขในแบบ ‘คนดีชอบแก้ไข’ กันครับ 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save