fbpx

สวนกล้วยของคนจีน-ชีวิตอาบสารเคมีของคนลาว: เสถียร ฉันทะ

ภาพปกโดยวิศรุต แสนคำ

หากใครไปเยือนประเทศลาวในช่วงสิบกว่าปีมานี้จะพบสวนกล้วยกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตากระจายอยู่ตามพื้นที่นอกเมืองในหลายแขวงจนกลายเป็นภาพชินตา

สวนกล้วยแต่ละแห่งแสดงความยิ่งใหญ่ของการลงทุนในภาคการเกษตร อย่างที่มั่นใจได้ว่านี่ไม่ใช่ธุรกิจการเกษตรของชาวบ้านทั่วๆ ไปแน่นอน …และใช่ สวนกล้วยหอมเหล่านี้เป็นของนายทุนจีนที่ส่งผลผลิตกลับไปยังจีน สร้างเม็ดเงินก้อนโตในแต่ละปี

แม้สวนกล้วยของคนจีนที่ผุดขึ้นอย่างไฟลามทุ่งนี้จะช่วยให้คนลาวบางส่วนมีงานทำ แต่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการใช้สารเคมีมหาศาล ทำให้เกิดภาพคนงานลาวในสวนกล้วยมีแผลพุพองตามมือเท้า หลายคนป่วยและเสียชีวิตหลังอยู่ในสวนกล้วยไม่กี่ปี แหล่งน้ำในชุมชนเกิดการปนเปื้อนสารเคมี จนถึงเกิดความขัดแย้งเรื่องการแย่งใช้น้ำในชุมชน ทำให้เกิดความไม่พอใจสะสม นำไปสู่การต่อต้าน จนที่สุดรัฐบาลลาวตัดสินใจยุติการขยายพื้นที่สวนกล้วยของนักลงทุนจีน

เรื่องที่เกิดขึ้นนี้อยู่ในความสนใจของ ผศ.ดร.เสถียร ฉันทะ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จนนำไปสู่การทำวิจัยเรื่อง การทำสวนกล้วยย้ายที่ของชาวจีนและผลกระทบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: กรณีศึกษาในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและเมียนมา (ตีพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อ ‘ทุนนิยมการเกษตรสวนกล้วยจีนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง: ลาวและเมียนมา’) โดยเขาลงพื้นที่ศึกษาที่แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาวและเก็บข้อมูลจากรัฐคะฉิ่น ประเทศพม่า ถึงรูปแบบและผลกระทบด้านต่างๆ ของการลงทุนทำสวนกล้วยของทุนจีน

ในปัจจุบัน หลังจากที่การทำสวนกล้วยในลาวเกิดอุปสรรค ทุนจีนจึงย้ายการลงทุนไปยังพม่าและกัมพูชา ซึ่งผู้มีอำนาจล้วนให้การต้อนรับอย่างดี ท่ามกลางการจับจ้องจากสายตาของประชาชนผู้แบกรับผลกระทบ

เรื่องทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวจากคนในสังคมไทย ที่ผ่านมามีทุนจีนบางส่วนข้ามมาลงทุนทำการเกษตรในภาคเหนือของไทยเช่นกัน และหากมองในภาพกว้าง ทุนจีนเข้ามาลงทุนในเศรษฐกิจไทยทุกภาคส่วน ทุกระดับ จนทำให้เกิดคำถามนับครั้งไม่ถ้วนในสังคมไทยถึงการเข้ามาสูบใช้ทรัพยากรโดยที่คนในประเทศได้ประโยชน์น้อยมาก

101 จึงคุยกับเสถียร ถึงผลกระทบของการลงทุนทำสวนกล้วยของคนจีนในประเทศลาวและพม่า การเปลี่ยนแปลงพื้นที่การลงทุนในปัจจุบัน และเรื่องที่รัฐบาลแต่ละประเทศในลุ่มน้ำโขงต้องตระหนักถึงการเปิดรับการลงทุนที่มองไม่รอบด้าน

เสถียร ฉันทะ

เริ่มต้นทำงานวิจัยชิ้นนี้ได้อย่างไร สนใจแง่มุมไหนในเรื่องสวนกล้วยของทุนจีน

ผมอยู่ที่เชียงรายซึ่งมีประเด็นทุนจีนมาทำสวนกล้วยจนเกิดความขัดแย้งในชุมชนพญาเม็งรายกับขุนตาล เราเห็นว่าในลาวมีการปลูกกล้วยเยอะมาก จนทุนจีนข้ามฝั่งมาเชียงราย จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมอยากไปดูที่ฝั่งลาว เพราะสนใจว่าการทำการเกษตรในลุ่มน้ำโขงของทุนจีนขยายตัวอย่างไร อยู่บนเงื่อนไขปัจจัยอะไรบ้าง การใช้กล้วยในฐานะพืชเศรษฐกิจที่เป็นตัวแทนการพัฒนาผ่านการลงทุนทางการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงนำไปสู่ผลตอบแทนในเชิงบวกหรือเชิงลบอย่างไรต่อคนในพื้นที่ แล้วประเทศที่จีนเข้ามาลงทุนเกิดผลกระทบอย่างไร

ผมเก็บข้อมูลมาก่อน จนปี 2563 ได้ทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) งานวิจัยนี้เป็นโครงการย่อยในโครงการวิจัยการขยายอิทธิพลของทุนนิยมจีนและผลกระทบต่อไทยและอาเซียน ของ ม.เชียงใหม่ ผมจึงศึกษาในสองพื้นที่คือในลาวและในรัฐคะฉิ่น พม่า ซึ่งที่ลาวผมจะลงพื้นที่เอง แต่ที่คะฉิ่นผมเข้าพื้นที่ไม่ได้จึงใช้ผู้ช่วยนักวิจัยในพื้นที่ช่วยเก็บข้อมูล


หากไปลาวเราจะเห็นสวนกล้วยกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตามานานหลายปีแล้ว การลงทุนเหล่านี้เป็นข้อตกลงระหว่างเอกชนหรือรัฐ

จีนเป็นผู้ผลิตกล้วยรายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก หลายปีที่ผ่านมาอยู่อันดับสองของโลก และเป็นผู้นำเข้ากล้วยรายใหญ่ระดับต้นของโลกเช่นกัน คนจีนต้องการบริโภคกล้วยเยอะ เขาผลิตเยอะก็จริงแต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ ประกอบกับการผลิตในจีนเจอปัญหาต้นทุนสูง ทั้งค่าเช่าที่ดินแพงขึ้นและปัญหาสภาพอากาศ กล้วยปลูกได้ในเขตร้อน ทางเหนือของจีนปลูกไม่ได้ ปลูกได้ตั้งแต่ยูนนานลงมา นอกจากนี้คือปัญหาโรคระบาดต่างๆ

ทั้งหมดนี้ทำให้ทางจีนพยายามแสวงหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกและต้นทุนถูกกว่าผลิตในจีน พื้นที่ใกล้ที่สุดก็คือภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งค่าเช่าที่ดินถูกมากเมื่อเทียบกับในประเทศจีน ค่าจ้างแรงงานก็ถูก เมื่อเทียบกับค่าขนส่งแล้วก็ยังสามารถจูงใจให้ทุนจีนเข้ามาลงทุน

เท่าที่ผมศึกษามา การลงทุนมีทั้งเป็นข้อตกลงระหว่างเอกชนจีนกับรัฐบาลลาว และระหว่างเอกชนจีนกับเอกชนลาว รัฐบาลจีนทำหน้าที่สนับสนุนเงินทุนสำหรับคนจีนที่จะลงทุนในต่างประเทศ ผมเคยคุยกับคนจีนจากสิบสองปันนาที่มาทำสวนกล้วย เขาเล่าว่าต้องเขียนแผนธุรกิจเสนอรัฐบาลจีน แล้วรัฐบาลก็จะสนับสนุนทุนให้มาลงทุนในประเทศลาว ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ Going Out ของจีน

ส่วนในลาวจะมี 3 รูปแบบ 1. ทุนจีนเข้ามาแล้วรัฐบาลลาวให้อำนาจตั้งแต่ระดับเมืองหรือระดับแขวงขึ้นไปในการอนุมัติการเช่าที่ดินหรือสัมปทานที่ดิน 2. ทุนจีนกับทุนลาวร่วมมือกันลงทุนด้านการเกษตร ทั้งกล้วยและพืชอื่นๆ 3. ทุนจีนเข้ามาติดต่อนายหน้าในพื้นที่แล้วเช่าจากชาวบ้านเอง โดยนายหน้าคนลาวจะประสานกับชาวบ้านและรวบรวมที่ดินเป็นแปลงใหญ่ให้ทุนจีนเช่าทำสวน


ทุนจีนเริ่มเข้ามาทำสวนกล้วยในลาวเมื่อไหร่และตลาดใหญ่แค่ไหน

ทุนจีนเริ่มเข้ามาทางตอนเหนือของลาวตั้งแต่ปี  2551 ตอนนั้นผมทำงานพัฒนาศักยภาพให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขลาวในการต่อต้านเอชไอวีที่หลวงน้ำทาและเมืองลอง ปรากฏว่าเจอแปลงเกษตรสุดลูกหูลูกตากำลังปรับพื้นที่บนภูเขาเตี้ยๆ มีการวางระบบท่อ ผมไม่รู้ว่าคืออะไรก็ถามคนลาว เขาบอกว่ากำลังทำแปลงเพื่อปลูกสวนกล้วย นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นสวนกล้วยขนาดใหญ่ในลาว หลังจากนั้นสวนกล้วยก็ขยายจากตอนเหนือของลาวไปจนถึงเวียงจันทน์

ตอนเหนือของลาวทั้งหมดจะมีพื้นที่ปลูกกล้วยมหาศาล โดยเฉพาะในแขวงบ่อแก้ว ซึ่งใกล้กับแขวงหลวงน้ำทาและใกล้กับด่านชายแดนจีน จึงขนส่งกลับไปจีนสะดวก เพราะตอนหลังระบบการขนส่งสะดวกขึ้นจากเส้นทาง R3A

รัฐบาลลาวบอกว่าสวนกล้วยที่จีนเข้ามาลงทุนสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นพันล้านบาท ซึ่งรัฐบาลลาวตั้งความหวังไว้ว่าการเข้ามาลงทุนทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการทำสวนกล้วย จะยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ให้ดีขึ้น ต่อมาเมื่อมีการลงทุนทำจริงๆ แม้มีเม็ดเงินจากการส่งออกกล้วย แต่ผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นยังไม่มีการประเมินมูลค่า ทั้งผลกระทบด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ จนชาวบ้านลุกขึ้นมาขยายความผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเจ้าหน้าที่รัฐและสื่อมวลชน ทำให้รัฐบาลลาวยุติการขยายพื้นที่การเกษตรของทุนจีน

ภาพโดยเสถียร ฉันทะ

ลักษณะการให้สัมปทานที่ดิน หมายถึงการให้คนจีนใช้ที่ดินแล้วจะปลูกอะไรก็ได้ใช่ไหม ไม่ใช่การให้สัมปทานปลูกกล้วยโดยเฉพาะ

ใช่ครับ เป็นสัมปทานการใช้ที่ดินแล้วจะปลูกอะไรก็ได้ เรื่องการสัมปทานที่ดินมีระเบียบของรัฐบาลลาวออกมาว่าเป็นสัมปทานเพื่อการเกษตร หรือสัมปทานเพื่อการลงทุนด้านเศรษฐกิจ เขามีกฎหมายที่ให้อำนาจในระดับเมืองสามารถอนุญาตให้เช่าที่สัมปทานได้กี่เฮกตาร์ ระดับเจ้าแขวงได้กี่เฮกตาร์ ถ้าเกินหนึ่งหมื่นเฮกตาร์ขึ้นไปต้องเป็นอำนาจอนุมัติของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาลกลาง

เดิมทีรัฐบาลลาวมีกฎหมายควบคุมการเข้ามาลงทุนใช้ที่ดินของคนต่างชาติ แต่ระยะหลังมีการปรับแก้กฎหมายหลายรอบมาก เพื่อขยายสิทธิหรือให้สิทธินักลงทุนต่างชาติมาใช้ประโยชน์ที่ดินได้มากขึ้น เราจึงเห็นว่าคนจีนสามารถเช่าหรือสัมปทานที่ดินได้ 99 ปีและสามารถต่อเวลาได้อีกถ้ารัฐบาลกลางอนุญาต

อย่างคาสิโนคิงส์โรมันซึ่งอยู่ตรงข้ามเชียงแสนก็มีสัญญาที่ดิน 99 ปีและขยายต่อได้อีก ตอนนี้กลายเป็นเมืองใหม่และเขาอยากขยายพื้นที่เพิ่ม แต่เกิดแรงต้านจากชาวบ้านในพื้นที่ เพราะพื้นที่การเกษตรของเขาจะถูกผนวกเข้าไปอยู่ในสัมปทานที่รัฐให้ทุนจีน


ในเมื่อจีนมีความต้องการบริโภคกล้วยสูง เป็นไปได้ไหมที่คนลาวจะปลูกเองและส่งออกเอง

รัฐบาลลาวเองก็ส่งเสริมเรื่องการปลูกกล้วย แต่กล้วยที่ปลูกไม่ใช่กล้วยคาเวนดิช (Cavendish) หรือกล้วยหอมเขียว แต่เป็นกล้วยพื้นเมืองซึ่งปลูกมากทางตอนใต้ของลาว การที่ชาวบ้านจะปลูกและส่งออกเองมีอุปสรรคเรื่องกระบวนการจัดการ การนำเข้ากล้วยจากลาวไปจีนถูกผูกด้วยเงื่อนไขสัญญาเรื่องคุณภาพ ซึ่งด้วยศักยภาพของชาวบ้านแล้วไม่สามารถแข่งขันกับทุนจีนที่เข้ามาทำได้ รวมถึงมีเงื่อนไขสัญญาที่มีการตกลงร่วมกันระหว่างทุนจีนกับรัฐบาลลาว


เมื่อมองผลกระทบจากสวนกล้วยจีน คิดว่าเรื่องใดรุนแรงที่สุด

เรื่องผลกระทบมีอยู่ 2-3 ด้านที่นำไปสู่การยุติการขยายพื้นที่ของรัฐบาลลาว

ประเด็นแรกเรื่องผลกระทบทางสุขภาพ สวนกล้วยส่งผลกระทบทางสุขภาพโดยตรงต่อประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะคนที่อยู่รอบสวนกล้วย ผมเคยไปสัมภาษณ์นักลงทุนจีนที่เป็นเจ้าของสวนกล้วย ตั้งแต่ต้นทางเข้าสวนเข้าไปถึงอาคารโกดังได้กลิ่นสารเคมีแรงมาก พอไปนั่งสัมภาษณ์ก็หายใจแทบไม่ออกเพราะข้างๆ เป็นชั้นวางสารเคมีที่ใช้ในการผลิตกล้วย ผมขออนุญาตถ่ายรูปและถามเขาว่าสารเคมีแต่ละตัวใช้อย่างไร เพราะฉลากเป็นภาษาจีนทั้งหมดเลย เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐของลาวไปตรวจสอบก็ไม่รู้ว่าคือสารอะไร นี่เป็นประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลลาวตระหนักและนำไปปรับปรุงกฎระเบียบ จนมีการแก้ไขการควบคุมการใช้สารเคมีในประเทศลาวว่าจะให้นำเข้าสารตัวใดได้บ้าง

สารเคมีที่เขาใช้ส่งผลกระทบต่อสุภาพ โดยเฉพาะแรงงานในสวนกล้วยที่ต้องสัมผัสโดยตรง ผมไปคุยกับแรงงานในสวนกล้วย เขาเป็นลาวสูงอยู่ที่แขวงอื่น เวลามาทำงานก็จะย้ายมาทั้งครอบครัว เขาบอกว่ามีคนเสียชีวิตจากการทำงานในสวนกล้วย ตอนมาทำงานสุขภาพแข็งแรง พออยู่สวนกล้วยไป 3 ปีก็ป่วยจนถูกส่งตัวกลับแล้วเสียชีวิต ฉะนั้นนายทุนจีนจะเปลี่ยนแรงงานที่มาเฝ้าสวนกล้วยทุก 3 ปี เพราะหลังจากนั้นคนงานจะเริ่มป่วย แรงงานคนลาวเขาก็ชี้ให้ดูว่าตามร่างกายเขามีแผลพุพองจากการโดนสารเคมี นี่คือผลกระทบทางสุขภาพที่เห็นได้ชัดและมีการนำเสนอต่อสาธารณะในประเทศลาว

ประเด็นที่สอง เรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สวนกล้วยใช้น้ำเยอะมาก ความขัดแย้งเรื่องน้ำจึงเป็นประเด็นสำคัญ เมื่อสวนกล้วยใช้สารเคมีมากแล้วรั่วไหลลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ชาวบ้านใช้หาปลา จับสัตว์น้ำ จนถึงใช้เลี้ยงสัตว์ ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจนร้องเรียนผ่านสื่อ

นอกจากนี้คือเรื่องความสัมพันธ์ในชุมชน กรณีที่ชาวบ้านมีที่ดินแปลงเล็กๆ แล้วรวมที่ดินกันให้ทุนจีนเช่า สมมติว่าหมู่บ้านหนึ่งมีการให้เช่าที่จาก 30 ครัวเรือน รวม 100 เฮกตาร์ ปรากฏว่าจากเดิมที่มีรั้วรอบขอบชิด มีหลักเขตชัดเจน คนจีนเขาก็รวบพื้นที่ทั้งหมดแล้วปรับเป็นผืนเดียวกัน ทีนี้พอหมดระยะเวลาเช่าแล้วคืนที่ดินให้ชาวบ้าน ปรากฏว่าไม่รู้หลักเขตอยู่ตรงไหน เพราะเขาไม่ได้ใช้แผนที่ทางอากาศ ร่องน้ำที่เคยเป็นแนวกั้นก็หายไปหมด แล้วจะมาจัดสรรที่ดินกันอย่างไร ก็ทำให้เกิดความขัดแย้งในชุมชน

ประเด็นต่อมาคือผลกระทบต่อแรงงาน แรงงานจะมีสามรูปแบบ 1. จ้างรายวัน ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานจากในชุมชนที่สวนกล้วยตั้งอยู่ 2. จ้างเป็นช่วง เช่น เวลากล้วยออกก็มารับจ้างตัดกล้วยเป็นเครือหรือเป็นต้น 3. มาอยู่ประจำตั้งแต่ปลูกกระทั่งเก็บเกี่ยว เขาจะมาอยู่เป็นครอบครัว หนึ่งครอบครัวก็ต้องดูแลกล้วย 5,000 ต้น โดยให้เงินค่าดูแลครัวเรือนละ 5,000 บาท เวลาเก็บเกี่ยวกล้วยเขาก็จะชั่งน้ำหนักแล้วให้เงินกิโลฯ ละ 400 กีบ ตอนนั้นประมาณ 1.50 บาท แต่ตอนนี้ค่าเงินลดเหลือไม่ถึง 1 บาทแล้ว และจะหักเงินคืนที่จ่ายล่วงหน้ารายเดือนเมื่อเก็บเกี่ยวกล้วยเสร็จแล้วจากรายได้รวมทั้งหมดของค่าจ้างดูแลสวนกล้วยที่ได้รับ

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการจ่ายค่าแรงไม่เป็นไปตามข้อตกลง ล่าสุดผมไปเมืองต้นผึ้ง แรงงานก็มาบ่นให้ฟัง “ตกลงกันไว้ว่าจะให้ 10 บาท ปรากฏว่าตัดเสร็จทำงานเสร็จแล้วให้แค่ 5 บาท ให้ครึ่งหนึ่ง ขอก็ไม่ให้ บ่นอะไรก็ไม่ได้” นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการขูดรีดแรงงานในสวนกล้วย ซึ่งอาจจะไม่เป็นแบบนี้ทั้งหมด แต่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เจอจากการลงพื้นทำวิจัย

ผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นมีทั้งเรื่องสุขภาพ ความสัมพันธ์ทางสังคมในชุมชน การขูดรีดแรงงาน ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แต่ผลกระทบเชิงบวกก็แน่นอนว่าคือรายได้จากการส่งออกกล้วยที่รัฐบอกว่าเป็นตัวเลขที่สูง ส่งผลต่อจีดีพีของประเทศลาว

ภาพโดยเสถียร ฉันทะ

จากการลงพื้นที่ได้คุยกับคนลาวในชุมชนที่มีคนจีนมาทำสวนกล้วย มุมมองของเขาเป็นอย่างไร และความรู้สึกของเขาเป็นบวกหรือลบมากกว่ากัน

มีทั้งบวกและลบ คนที่รู้สึกในแง่บวกคือคนที่ให้เช่าที่ดิน เราต้องเข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจของลาว คนลาวรายได้น้อย การทำเกษตรมีต้นทุนสูง พวกเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย สารเคมีต่างๆ ส่วนใหญ่นำเข้าจากไทย แต่ถ้าให้ทุนจีนมาเช่าทำการเกษตร เฉลี่ยค่าเช่าไร่ละ 3,000 บาทต่อปี ถ้ามีที่ดิน 10 ไร่ ก็ได้ปีละ 30,000 บาท ไม่ต้องลงแรงและลงทุน คนกลุ่มนี้จึงได้ผลประโยชน์ แต่สำหรับคนที่ไม่มีที่ดินสำหรับให้เช่าแล้วต้องอยู่ใกล้สวนกล้วย เขาก็จะบ่นเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นสารเคมีเวลาฉีดพ่นในสวนกล้วย หรือเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่รั่วไหลมาจากสวนกล้วย


คนงานลาวที่ไปทำงานในสวนกล้วยรู้เรื่องความเสี่ยงทางสุขภาพไหม

คนที่ผมเจอเขารู้ว่าทำงานนี้มีความเสี่ยงเรื่องอันตรายต่อสุขภาพ เพราะมีตัวอย่างคนก่อนหน้าให้เห็นอยู่แล้ว เขาก็บอกว่าในตอนแรกจะมีการสอนให้ใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงมือและหน้ากากเวลาฉีดพ่นสารเคมี แต่อุปกรณ์ไม่มีให้ต่อเนื่อง พอหมดเขาก็ไม่มีกำลังจะซื้อเอง ค่าแรงที่ได้พอแค่สำหรับการอยู่การกินในแต่ละวัน

มีงานวิจัยที่ไปเก็บตัวอย่างผลกระทบทางสุขภาพในพื้นที่ นายทุนคนจีนก็รู้ว่าการใช้สารเคมีพวกนี้มีผลกระทบต่อสุขภาพ เขาจึงสนับสนุนทุนให้รัฐบาลท้องถิ่นในการสร้างสุขศาลา (สถานพยาบาล) ทุนจีนแยบยลในการลดทอนความขัดแย้งที่เกิดจากการเข้ามาลงทุนของเขา โดยการสนับสนุนให้สร้างระบบสาธารณูปโภคในชุมชน

ส่วนที่ผมเจอพบว่าผลกระทบต่อสุขภาพที่เห็นชัดก็คือแผลพุพองตามเท้าและมือ คนงานลาวเขาชี้ให้ดูเลยว่านี่คือผลกระทบจากที่เขาสัมผัสสารเคมีในสวนกล้วย

แล้วที่เขาเล่าว่าเวลาคนมาทำงานภายใน 3 ปีจะป่วยจนทำงานไม่ไหวแล้วต้องกลับบ้าน แล้วไปเสียชีวิตที่บ้าน ก็เป็นไปได้ที่จะเป็นผลกระทบจากโรคเรื้อรังหรือมะเร็ง ผมเคยไปที่หมู่บ้านหนึ่งซึ่งมีทุนจีนมาเช่าที่ทำสวนกล้วยล้อมรอบหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านเล่าว่า 2 ปีที่ผ่านมาเสียชีวิตไป 2 คน เขายืนยันเลยว่า “เสียชีวิตจากสวนกล้วยนี่แหละ” แล้วเขาก็พาไปดูผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งในแหล่งน้ำ ในสวนกล้วย นี่เป็นการยืนยันข้อมูลจากที่ผมไปลงพื้นที่มา


ผู้จัดการสวนที่เป็นคนจีนได้รับผลกระทบด้านสุขภาพไหม คนที่อาจารย์เคยคุยด้วยเขามีท่าทีอย่างไรต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น

ผู้จัดการคนจีนเขาจะอยู่ในชุมชนนั้น แต่ไม่ได้อาศัยอยู่ในสวน ในสวนจะเป็นแคมป์คนงานทั้งหมดเลย เช่นในสวนจะมีคนงานอยู่ 5-6 ครอบครัว ผู้จัดการก็จะเข้ามาดูทุกวัน สั่งงานแล้วก็ออกไป

ผมเคยคุยกับคนจีนไทลื้อ เขามองว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่รุนแรงอะไรมาก แต่เขาสามารถช่วยสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน นำมาซึ่งความพึงพอใจของชาวบ้าน แต่คนนี้เขาอาศัยอยู่ที่สวนกล้วยกับคนงาน แล้วให้คนงานดูแลแบบเหมา ครอบครัวละ 5,000 ต้น

แผลที่เกิดจากการสัมผัสสารเคมีของแรงงานชาวลาวในสวนกล้วย (ภาพโดยเสถียร ฉันทะ)

หากมองในภาพที่กว้างขึ้น ในระดับชาติคิดว่ามีผลกระทบเรื่องอะไรบ้าง

ผมคิดว่าการเข้ามาของจีนมีเจตนาแอบแฝงอยู่แล้ว คือเรื่องการมีอำนาจผ่านการสร้างความสัมพันธ์บนเงื่อนไขของการค้าการลงทุน คือเขาใช้ซอฟต์พาวเวอร์ หลังจากสหรัฐฯ ออกไปจากลาวหลังสงคราม จีนก็เข้ามาแทนที่โดยใช้การทูตเชิงเศรษฐกิจ (economic diplomacy) คือใช้เศรษฐกิจมาช่วยในแบบที่ ‘ผมไปช่วยคุณ คุณเป็นหนี้บุญคุณผม’ โดยไม่ได้ใช้อำนาจทางการทหารหรือเข้าไปกดขี่ข่มเหง แต่เข้าไปกลืนกลายความเป็นชาติของประเทศปลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการแย่งชิงทรัพยากรของคนในประเทศปลายทาง การเข้าไปกลืนกลายทางชาติพันธุ์ผ่านการแต่งงาน

อย่างในโครงการวิจัยที่ผมทำอยู่ตอนนี้จะเห็นเรื่องกระบวนการค้ามนุษย์ มีหญิงสาวลาวเข้าสู่การบริการทางเพศเพิ่มมากขึ้น เพราะ ‘ร้านกินดื่ม’ ในลาวเกิดขึ้นตามการเจริญเติบโตของทุนต่างๆ ที่เข้าไป มีอยู่คลิปหนึ่งที่คนจีนเอาเด็กสาวลาวมาเรียงแถวหน้าสถานที่ซึ่งเหมือนคาสิโน แล้วเล่นห่วงโยนเลือกหญิงสาว เหมือนเราเล่นโยนห่วงใส่ขวดในงานวัด ชาวลาวก็มาคอมเมนต์ว่าเป็นการดูถูกดูหมิ่นคนลาวอย่างมาก

ผมเห็นคลิปที่คนลาวที่ต่อต้านเรื่องแบบนี้อัดคลิปเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย เป็นเสียงจากคนที่ผู้มีอำนาจไม่ค่อยได้ยิน เป็นเสียงของคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการด่าทอคนจีนที่เข้ามาในประเทศ การด่าทอรัฐบาลลาว หรือการด่าทอทุนจีนที่ทำกับผู้หญิงลาว ความเห็นเหล่านี้สะท้อนการต่อต้านภายในจิตใจคนลาวกลุ่มหนึ่งที่เขาเห็นว่านี่คือการกดขี่

ภาพในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเมืองต้นผึ้งที่กลายเป็นพื้นที่ที่เศรษฐกิจเจริญเติบโต มีคนจีนเข้ามามากกว่าสองแสนคน สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ถูกควบคุมโดยทุนจีน เหมือนเป็นพื้นที่สิทธินอกอาณาเขต ที่รัฐบาลท้องถิ่นไม่สามารถเข้าไปจัดการปัญหาในพื้นที่ที่เป็นเขตสัมปทานหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนได้


เคยเห็นกรณีที่คนลาวมีข้อพิพาทกับคนจีนจนต้องแจ้งความหรือเรียกเจ้าหน้าที่มาไหม กรณีแบบนี้เจ้าหน้าที่จัดการยังไง

ผมไม่ได้เจอโดยตรง แต่จากการบอกเล่าของคนลาว กรณีที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเขาก็จะไปแจ้งหน่วยงานรัฐ แต่กระบวนการสอบสวนต่างๆ สุดท้ายมักไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ซึ่งเขาก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร สิ่งที่เขาทำได้ก็คือการอัดคลิประบายสิ่งที่เจอแล้วส่งให้คนที่อยู่ต่างประเทศเผยแพร่ เพราะรัฐบาลลาวไม่สามารถตามไปจับได้ มีคนตัวเล็กตัวน้อยในพื้นที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่พูดไปรัฐก็ไม่ได้ยิน เขาเลยต้องใช้วิธีนี้ในการต่อสู้เพื่อให้สังคมภายนอกรับรู้ว่ามีปัญหานี้เกิดขึ้น


เคยมีการรวมตัวแสดงออกเพื่อต่อต้านไหม หรือเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้อยู่แล้ว

การรวมกลุ่มต่อต้านในลาวเป็นเรื่องยาก ไม่สามารถทำได้ ด้วยระบบการเมืองการปกครองของลาวที่ใช้ระบบพรรค นายบ้านก็จะนำปัญหาที่ลูกบ้านเจอส่งต่อไประดับขั้นเมืองคือระดับอำเภอ และขั้นแขวงคือระดับจังหวัด ถ้ายังแก้ปัญหาไม่ได้ก็จะส่งไปรัฐบาลกลาง นี่คือช่องทางที่เป็นทางการ

อีกช่องทางหนึ่งคือการเอาเรื่องออกสื่อหรือส่งไปให้สื่อที่รัฐไม่สามารถควบคุมได้นำเสนอให้ เช่น Radio Free Asia เขาจะได้ข้อมูลจากชาวบ้านที่มีปัญหานำมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ


มาตรการของภาครัฐที่ไม่ขยายสัมปทานที่ดินต่อ เป็นเพราะการเสียงต่อต้านจากโซเชียลมีเดียเป็นหลักเลยหรือเปล่า

มีสองส่วนครับ หนึ่งคือการสะท้อนปัญหาของชาวบ้านผ่านระบบนายบ้านขึ้นไป เมื่อมีข้อร้องเรียนหน่วยงานรัฐก็จะลงพื้นที่ว่าเกิดผลกระทบจริงไหม อย่างไร รัฐบาลลาวใส่ใจผลกระทบที่เกิดขึ้น ผมชื่นชมที่รัฐบาลลาวสั่งยุติสัมปทาน เจ้าหน้าที่ระดับแขวงที่บ่อแก้วเขาก็ใส่ใจปัญหาของชาวบ้าน ไปดูผลกระทบที่เกิดขึ้น นำไปสู่มาตรการที่ออกมา รวมถึงมีการเสนอให้กำหนดมาตรการในการลงทุนของจีนว่าต้องทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมก่อนจะขออนุญาต เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ส่วนอีกช่องทางคือโซเชียลมีเดียก็มีผล เพราะเขาห่วงภาพลักษณ์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กลัวการต่อต้าน กลัวว่าไปเข้าข้างทุนจีนแล้วจะนำไปสู่ความขัดแย้ง จนถึงผลกระทบการบริหารจัดการแผ่นดิน นี่เป็นปัจจัยสนับสนุนให้รัฐบาลลาวตัดสินใจง่ายขึ้นว่าจะให้ขยายหรือหยุดสัมปทาน


ปัจจุบันที่รัฐบาลลาวไม่ต่อสัมปทานสวนกล้วยจีนแล้ว ปริมาณพื้นที่สวนกล้วยในภาพรวมลดลงไหม

ลดลง เพราะปกติแล้วอายุการเก็บเกี่ยวของกล้วยจะเป็นปีต่อปี แต่พอครบ 5 ปีหน่อที่แตกขึ้นมาจะให้ผลผลิตลดลง ถ้าจะทำใหม่ต้องรื้อแล้วปลูกใหม่ พอเป็นแบบนี้ถ้ายังเหลือสัญญาเช่าที่ดินเขาก็จะปรับพื้นที่ไปปลูกอย่างอื่น

การเคลื่อนย้ายของทุนจีนผ่านสวนกล้วยมี 2 รูปแบบ รูปแบบแรกเมื่อรัฐบาลลาวยุติการขยายพื้นที่ เขาก็ปรับตัวโดยการทำพืชเกษตรชนิดอื่นในที่ดินแปลงเดิมที่เขาเช่า อย่างในเมืองต้นผึ้งเขาเปลี่ยนไปปลูกถั่วเหลือง รูปแบบที่สองคือกลุ่มทุนย้ายไปประเทศอื่นที่อนุญาตให้ทำสวนกล้วยได้ อย่างกัมพูชาหรือพม่า

คนที่ไปทำสวนที่กัมพูชาเขาเล่าว่า ต้นทุนค่าเช่าที่ในลาวกับกัมพูชาไม่แตกต่างกัน แต่การขนส่งจากกัมพูชาแพงกว่าเพราะไกลกว่า แต่เปรียบเทียบแล้ว ต้นทุนในการลงทุนปลูกเองในกัมพูชาถูกและคุ้มค่ากว่าการนำเข้ากล้วยจากลาตินอเมริกาหรือฟิลิปปินส์ ซึ่งเมื่อก่อนฟิลิปปินส์เป็นผู้ส่งออกกล้วยมาจีนที่สำคัญ แต่ช่วงที่ผ่านมามีข้อพิพาทเรื่องทะเลจีนใต้ ความสัมพันธ์ลดลง การนำเข้าก็เลยลดลงไปด้วย


เมื่อเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นๆ แล้วผลกระทบลดลงไหม

พอเปลี่ยนแปลงพืชที่ปลูก การใช้สารเคมีก็ลงลดและมีการใช้แรงงานจากในชุมชนเพิ่มขึ้น

ถ้าปลูกถั่วเหลือง สารเคมีที่ใช้จะมีแค่ป้องกันแมลงและปุ๋ยฮอร์โมนที่ใช้เพิ่มผลิต ผลกระทบจากสารเคมีจึงลดลง แต่กล้วยต้องใช้มากกว่านั้น เพราะนอกจากแมลงแล้ว ก็มีไส้เดือนฝอยชอนไชทำให้ต้นกล้วยเน่า ใบกล้วยก็เจอเชื้อราและแมลง

เรื่องแรงงาน ในสวนกล้วยต้องใช้แรงงานดูแลระยะยาว เข้ามาอยู่ในสวนทั้งครัวเรือนตลอดปี แต่ถั่วเหลืองระยะปลูกสั้น เวลาเก็บเกี่ยวก็ใช้แรงงานในชุมชนเป็นส่วนใหญ่

บ้านพักคนงานในสวนกล้วย (ภาพโดยเสถียร ฉันทะ)

อีกหนึ่งพื้นที่ที่ศึกษาคือสวนกล้วยในพม่า พื้นที่ใหญ่ในการลงทุนของจีนอยู่ในรัฐคะฉิ่นใช่ไหม

หลักๆ จะอยู่ในคะฉิ่น เพราะขนส่งไปยูนนานได้ง่าย แต่ปัจจุบันจีนมีการพัฒนาเส้นทาง One Belt One Road และระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งเป็นนโยบายหลักของจีนในการเชื่อมโยงทุกพื้นที่ แล้วไปเอาทรัพยากรจากการลงทุนการผลิตกลับไปหล่อเลี้ยงคนในประเทศจีน เราจึงเห็นพื้นที่การเกษตรในรัฐคะฉิ่นขยายตัวไปทางตอนเหนือของรัฐฉานและลงใต้มาจนถึงมัณฑะเลย์ ที่ดินสองข้างทางเส้นทางนี้สามารถลำเลียงสินค้าไปสู่ประเทศจีนได้

สำหรับการศึกษาที่คะฉิ่นผมไม่ได้ลงพื้นที่เอง แต่ใช้ผู้ช่วยนักวิจัยเก็บข้อมูล เพราะเป็นพื้นที่อันตราย เข้าไปไม่ได้ คะฉิ่นเป็นพื้นที่ที่ทุนจีนเข้าไปครอบเกือบทั้งหมดแล้ว หากมองว่าในลาวที่มีรัฐบาลกลางดูแลรัฐบาลเดียว แต่ในคะฉิ่นจะมีกลุ่มอำนาจและผลประโยชน์หลากหลายกลุ่ม ทั้งกองทัพเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Army – KIA) อดีตกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Force – BGF) และกองทัพพม่า (Tatmadaw)

ที่ผ่านมามีการสู้รบกันมาตลอด โดยเฉพาะพื้นที่รอบนอกของรัฐคะฉิ่น จนทำให้เกิดผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ชาวบ้านในพื้นที่การต่อสู้ต้องอพยพหนีภัยสงครามไปอยู่ในศูนย์อพยพตามเมืองต่างๆ พอมีการทิ้งที่ดินไปไม่สามารถกลับมาทำประโยชน์ได้ในหนึ่งปี ที่ดินนั้นก็จะกลายเป็นที่ดินรกร้าง กลุ่มที่มีอำนาจก็เข้าไปยึดที่ดิน ขายต่อหรือให้เช่าหรือให้สัมปทานทุนจีนทำเกษตรแปลงใหญ่ จึงมีสวนกล้วยเต็มพื้นที่

ข้อมูลจากผู้ช่วยวิจัยบอกว่าคนที่เข้าไปเป็นแรงงานในสวนกล้วยจีนส่วนใหญ่คือคนพลัดถิ่นที่หนีสงครามมา บางครอบครัวไปอยู่ในศูนย์อพยพแล้วไม่มีรายได้ ก็ต้องออกไปเป็นแรงงานในสวนกล้วยจีน


ในคะฉิ่นมีหลายกลุ่มอำนาจ การครอบครองที่ดินก็ขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่นี้ใครยึดครองได้แล้วก็เอาที่ดินไปให้ทุนจีนใช้ใช่ไหม

ใช่ครับ ไม่ว่า KIA-BGF-กองทัพพม่า เขาจะมีพื้นที่ของตัวเอง เรื่องที่ดินในรัฐคะฉิ่นจึงเป็นประเด็นที่ซับซ้อนมาก เพราะขึ้นอยู่กับกลุ่มผลประโยชน์และอำนาจ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงต่างจากที่เกิดในลาวและมีความรุนแรงมากกว่า


ตั้งแต่หลังรัฐประหารพม่าที่มีการสู้รบรุนแรงขึ้นแล้วกระทบการลงทุนของจีนไหม

เท่าที่ทราบจากข่าว ผลกระทบคือเรื่องความไม่มั่นคงของดุลอำนาจที่จะเข้ามาดูแลผลประโยชน์ เพราะยังไม่รู้ว่าฝ่ายไหนจะกุมอำนาจเบ็ดเสร็จหรือกลายเป็นฝ่ายที่มีสิทธิ์ในการอนุญาตหรือคุ้มครองการลงทุนในพื้นที่ จึงทำให้เกิดการชะลอตัวในการลงทุนของจีน

รัฐบาลจีนก็พยายามเข้ามาคุ้มครองผลประโยชน์ของคนจีนที่มาลงทุนตลอดเส้นทางนี้ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในพม่า แต่การขยายตัวคงชะลอลงจนกว่าสถานการณ์จะสงบและรู้ว่าฝ่ายอำนาจที่มั่นคงแน่นอนอยู่ตรงไหน


เมื่อศึกษาเรื่องสวนกล้วยจีนในพม่า พบว่ามีผลกระทบที่แตกต่างไปจากในสังคมลาวไหม

มีประเด็นเรื่องการค้ามนุษย์ คนจีนที่ไปทำสวนกล้วยเขาซื้อผู้หญิงในรัฐคะฉิ่นเพื่อไปเป็นภรรยาและเป็นแรงงาน จนกลายเป็นการค้ามนุษย์ ตอนแรกผมก็ไม่คิดว่าเรื่องค้ามนุษย์จะมาเกี่ยวกับเรื่องสวนกล้วยได้อย่างไร แต่ก็พบข้อมูลต่างๆ ในพื้นที่ รวมถึงหนังสือพิมพ์ที่เป็นกระบอกเสียงให้คนในรัฐคะฉิ่นเอง นอกจากนี้สวนกล้วยจีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำให้คนพลัดถิ่น ชีวิตคนถูกทำร้ายแล้วกลายไปเป็นแรงงานที่ไม่มีทางเลือกอยู่ในสวนกล้วยจีน ส่วนผลกระทบด้านอื่นๆ จะคล้ายกับที่เกิดในลาว


ทราบว่าปัจจุบันอาจารย์ก็ยังศึกษาเรื่องนี้ต่อ แต่ขยายประเด็นออกไปกว้างขึ้น?

หลังจากที่ลาวประกาศไม่ให้ขยายพื้นที่ปลูกกล้วยแล้วผมก็ตามไปดูว่าทุนจีนเคลื่อนย้ายไปที่ไหนบ้าง ปัจจุบันผมศึกษาเรื่องการลงทุนทางการเกษตรของจีนกับธรรมาภิบาลในการจัดการที่ดินใน 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง คือ 1. คะฉิ่น พม่า 2. เชียงราย ไทย 3. บ่อแก้ว ลาว และ 4. กัมปอต กัมพูชา

ในลาวหลังรัฐบาลประกาศไม่ให้ขยายพื้นที่ แต่อนุญาตให้ทำการเกษตรในพื้นที่เดิมตามระยะสัญญาได้ ปัจจุบันเราจะเห็นว่าสวนกล้วยก็ยังคงอยู่ในประเทศลาวไม่ได้หายไปไหน แต่เขาจำกัดพื้นที่ไม่ขยายเพิ่ม ในภาคเหนือของลาว โดยเฉพาะแขวงบ่อแก้ว ทุนจีนเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นๆ เช่น มะม่วง แตงโม ฟักทอง และที่สำคัญคือถั่วเหลือง เดิมจีนไปลงทุนเรื่องปลูกถั่วเหลืองในบราซิล ลาตินอเมริกา แต่ปัจจุบันทุนจีนเปลี่ยนพื้นที่สวนกล้วยไปทำไร่ถั่วเหลือง ที่เมืองต้นผึ้งกระจายเกือบจะเต็มพื้นที่แล้ว

นอกจากนี้คือการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของลาว ปรากฏว่าต้องมีการลงทุนด้านการเกษตรเพื่อปลูกพืชและไม้ผลเป็นพื้นที่มหาศาลไว้สำหรับคนกว่าสองแสนคนที่อาศัยในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตอนนี้จีนปลูกทุเรียนในเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วด้วย ไม่รู้ว่าในอนาคตจะกระทบราคาทุเรียนในไทยหรือเปล่า จีนบอกว่านี่เป็นการส่งเสริมเกษตรกรชาวลาว แต่จากที่เราเก็บข้อมูล ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการลงทุนทางการเกษตรในเขตเศรษฐกิจพิเศษของทุนจีนเลย

การขยายตัวของทุนจีนในลาว ไม่ว่าจะมาในรูปแบบการลงทุนทางการเกษตรหรือทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะมีการลงทุนด้านการเกษตรที่เป็นทุนมหาศาล ใช้ทรัพยากรที่ดินและน้ำจำนวนมากเพื่อสร้างการผลิตหล่อเลี้ยงคนในเขตเศรษฐกิจพิเศษและส่งกลับไปให้คนในประเทศจีน


สวนกล้วยทุนจีนที่กัมพูชาลักษณะแตกต่างจากในลาวไหม

ที่กัมพูชาผมลงพื้นวิจัยที่กัมปอต ก็พบว่าบริษัท Longmate ที่เป็นตัวแทนหลักของบริษัทจีนไปเช่าพื้นที่สัมปทานจากรัฐหลายเฮกตาร์ แต่เขาไม่ให้ผมเข้าพื้นที่สวนกล้วยเลยไม่เห็นว่ากระบวนการผลิตใช้สารเคมีเหมือนที่ลาวไหม

ที่ดินในกัมพูชา รัฐจะเป็นผู้ให้สัมปทานกับทุนจีน ซึ่งที่ผ่านมาประเด็นเรื่องที่ดินเป็นความขัดแย้งใหญ่ของรัฐบาลกัมพูชากับชาวบ้าน เขาลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องสิทธิในการเข้าถึงที่ดิน ผมคิดว่ากัมพูชามีเสรีภาพมากกว่าลาวในระดับหนึ่ง เราจะเห็นการต่อต้านหรือการประท้วงของคนกัมพูชามากกว่าในลาว

ภาพโดยเสถียร ฉันทะ

กล้วยเป็นพืชที่ต้องใช้น้ำเยอะกว่าพืชชนิดอื่นใช่ไหมจึงสร้างผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบมาก

ใช่ครับ กล้วยเป็นพืชที่ขาดน้ำไม่ได้ ฉะนั้นจึงมีความขัดแย้งเรื่องน้ำ เรื่องทุนจีนในเชียงรายที่ผมกำลังศึกษา เดิมเขาทำสวนกล้วยประมาณสองพันกว่าไร่ ที่พญาเม็งราย ริมน้ำอิง แล้วขัดแย้งกับชาวบ้านเรื่องแย่งน้ำ แล้วเรื่องก็เงียบไป แต่ปัจจุบันเขาก็ยังทำอยู่ผ่านรูปแบบนอมินี ไม่ได้ขยายพื้นที่

ผมให้ทีมวิจัยไปถอดบทเรียนเรื่องการใช้ที่ดินของทุนจีนในเชียงราย พบเรื่องน่าสนใจคือมีการทำปศุสัตว์ที่จีนเข้ามาลงทุนร่วมกับทุนไทย โดยกฎหมายไทยไม่อนุญาตให้ต่างชาติทำการเกษตรในที่ดินของประเทศไทย ทุนจีนก็ใช้วิธีร่วมทุนกับทุนไทย ซื้อที่ดินทำแปลงหญ้าสำหรับทำปศุสัตว์และทำ contract farming โคขุนเพื่อส่งออกไปจีน มีสต๊อกสินค้าที่แขวงบ่อแก้ว ซึ่งผมก็ไปตามเส้นทางนี้จนเห็นภาพความแตกต่างของแต่ละประเทศที่ทุนจีนเข้าไปลงทุน

หากมองกรอบใหญ่คือความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) เราจะเห็นว่าประเทศพม่า ลาว กัมพูชามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน การเข้าไปลงทุนในประเทศดังกล่าวของจีนจึงมีความเฟื่องฟูเป็นอย่างมากในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบพลังงาน หรือการเกษตร


มองได้ไหมว่าท่าทีของรัฐบาลกัมพูชาก็ไม่แตกต่างจากรัฐบาลลาว คือต้อนรับการลงทุนของจีนอยู่แล้ว

แน่นอนครับ (ยิ้ม) จีนกับกัมพูชามีความสัมพันธ์แนบแน่นเช่นเดียวกับลาว จีนเข้าไปลงทุนและให้ความช่วยเหลือเรื่องงบประมาณในสองประเทศนี้มหาศาลมาก ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและพลังงาน ส่วนด้านการเกษตรในลาวมีทุนจีนเป็นทุนหลักที่เข้ามาลงทุน แต่ในกัมพูชาจะมีหลายประเทศเข้าไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ที่ลงทุนในไม้ผล โดยเฉพาะมะม่วงที่มีทุนต่างชาติเข้ามาทำมาก


ในภาพรวมอะไรคือเรื่องน่ากังวลที่สุดของการขยายอาณาเขตการลงทุนทางการเกษตรของจีนไปยังประเทศต่างๆ ในลุ่มน้ำโขง

ประเด็นสำคัญที่สุดคือเรื่องธรรมาภิบาล จีนมีศักยภาพในเรื่องอำนาจและทุน การใส่ใจเรื่องธรรมาภิบาลในการเข้ามาลงทุนจึงสำคัญ เพื่อที่เขาจะตระหนักและใส่ใจว่าจะสร้างผลกระทบอะไรบ้างในพื้นที่ที่เข้าไปลงทุน ไม่ใช่หวังกอบโกยอย่างเดียว แต่ต้องทำให้คนในพื้นที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดและได้แบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนที่เป็นธรรม


จากปัญหาทั้งหมดที่คุยกันมา คิดว่าคนไทยควรมองปัญหานี้อย่างไร เพราะคนอาจบอกว่ามันเป็นเรื่องของประเทศอื่น ส่วนในไทยก็เกิดขึ้นไม่กี่แห่งและเรามีกฎหมายอยู่แล้ว

ไม่ว่ามันเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านหรือเกิดขึ้นไม่มากที่ภาคเหนือของไทย นี่คือเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นธรรม ถ้าไม่เป็นธรรมก็จะเกิดการต่อต้านและนำไปสู่ความขัดแย้งในบั้นปลาย

เราต้องมองประเทศเพื่อนบ้านในความเป็นเพื่อน เพื่อนบ้านได้รับผลกระทบ แน่นอนว่าเราก็ต้องได้รับผลกระทบ ตอนนี้พม่าเกิดการสู้รบ ไทยก็ได้รับผลกระทบ คนอพยพหนีสงครามข้ามมา เราก็ต้องใช้งบประมาณช่วยเหลือเรื่องมนุษยธรรม เช่นเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง เราไม่สามารถสบายใจได้ หากเพื่อนบ้านยังได้รับผลกระทบทางสังคมหรือทางสิ่งแวดล้อม

ตอนนี้เชียงรายได้รับผลกระทบเรื่องฝุ่น PM 2.5 ทั้งที่เราสามารถควบคุมฮอตสปอตในประเทศได้ระดับหนึ่ง แต่กระบวนการในภาคการเกษตรของพม่าและลาวส่งผลกระทบข้ามแดนมาถึงคนที่อยู่ในภาคเหนือของไทย มันเชื่อมโยงกันไปหมดโดยเฉพาะผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มาจากการพัฒนาและการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ฉะนั้นการเข้ามาลงทุนของจีนในลุ่มน้ำโขงส่งผลกระทบข้ามแดนมาถึงคนไทยด้วยแน่นอน

คนไทยชะล่าใจว่าเรามีกฎหมายคุ้มครองการใช้ที่ดินทางเกษตรของต่างชาติ แต่ไม่สามารถจะคุ้มครองได้ 100 เปอร์เซ็นต์ จีนก็ยังร่วมทุนกับทุนไทยเพื่อทำการเกษตรได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการลงทุนโดยตรง ผมขอข้อมูลจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดว่ามีทุนจีนเข้ามาลงทุนทางการเกษตรในประเทศไทยเท่าไหร่ พบว่ารายชื่อมีเป็นร้อย

อย่างเรื่องการศึกษา มหาวิทยาลัยเอกชนในไทยหลายแห่งก็เป็นของคนจีนไปแล้ว เขาเอาคนจีนมาเรียน รายได้ก็อยู่ที่คนจีน เราต้องมองให้รอบด้านและวิเคราะห์ให้เห็นความเชื่อมโยงว่า การที่ทุนจีนเข้ามาแล้วเราได้ประโยชน์อะไร เกิดผลกระทบอะไร และจะหานโยบายการสร้างความสัมพันธ์ในการลงทุนของต่างประเทศที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยอย่างไร นี่เป็นสิ่งสำคัญ


คิดว่าการแก้ปัญหาต้องเป็นนโยบายกำกับดูแลของแต่ละประเทศเอง หรือที่จริงมีเวทีระหว่างประเทศ อย่างอาเซียนที่ใช้เป็นกลไกแก้ปัญหาได้ไหม

ผมคิดว่าทำได้ทั้งระดับชาติและระดับอาเซียน แต่อยู่ที่ว่าใครจะเป็นเจ้าภาพหยิบประเด็นนี้ขึ้นมา เพราะเราไม่รู้ว่าข้อมูลพื้นฐานของแต่ละประเทศเป็นอย่างไร เขามีข้อมูลชัดเจนขนาดไหน นอกจากนี้คือเขาต้องการแบ่งปันข้อมูลหรือเปล่า คงไม่มีประเทศใดอยากเอาข้อมูลมาเปิดให้เห็นภาพเบื้องหลังความล้มเหลวของตัวเอง

สำหรับในภาคประชาสังคมและภาควิชาการเราจะเห็นเครือข่ายที่ทำงานขับเคลื่อนอยู่ เช่น การมีเวทีพูดเรื่องการจัดการทรัพยากรข้ามพรมแดนร่วมกัน แต่ก็เป็นเวทีที่รัฐไม่ค่อยให้ความสำคัญหรือหยิบยกไปพิจารณาเท่าไหร่

ทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลของอาเซียนต้องหยิบยกขึ้นมาดูว่ากระบวนการในการพัฒนาทั้งในเรื่องการเกษตร พลังงาน ระบบโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน มันสร้างผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบอย่างไร โจทย์ที่ท้าทายและสำคัญคือเราจะทำอย่างไรให้ผลกระทบเชิงลบมีน้อยที่สุดและเกิดประโยชน์กับคนในชุมชนพื้นที่ลุ่มน้ำโขงได้มากที่สุด

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save