fbpx

ปรับกระบวนการยุติธรรม เปลี่ยนมายาคติสังคม สร้างความเป็นธรรมต่อเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ

‘ผู้ถูกกระทำมักตกเป็นเหยื่ออีกครั้งจากกระบวนการยุติธรรม’ คือคำกล่าวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งกับเหยื่อผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศในสังคมไทย พวกเขาตกเป็นเหยื่อครั้งแรกจากการถูกล่วงละเมิด และต้องตกเป็นเหยื่อครั้งที่สองให้กับกระบวนการยุติธรรมที่ขาดความเข้าใจกับฝ่ายผู้ถูกกระทำ ไม่ว่าจะในระหว่างขั้นตอนการสอบสวน การสืบสวนหาข้อเท็จจริง และการดำเนินคดี ซึ่งมีผลให้เหยื่อรู้สึกอับอาย หรือถูกตีตราว่ามีส่วนในการทำให้เหตุเกิดขึ้น

สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนเพียงแค่ปัญหาของการเข้าถึงความยุติธรรมเท่านั้น แต่ยังทำให้เห็นโครงสร้างความคิด ความเชื่อ ค่านิยมของสังคมที่ผูกติดอยู่กับมายาคติทางเพศ โดยเฉพาะ ‘ปิตาธิปไตย’ ที่ฝังรากฐานทางความคิดอย่างมั่นคง และกลายเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ถูกกระทำไม่กล้าส่งเสียงขอความช่วยเหลือ และไม่กล้าดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างที่ควรจะเป็น

คำถามสำคัญคือเราจะปรับเปลี่ยนกระบวนการยุติธรรมในคดีล่วงละเมิดทางเพศอย่างไรให้นำมาซึ่งความเที่ยงธรรมต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ถูกกระทำ และสังคมจะต้องรื้อสร้างความเชื่อและทลายอคติทางเพศอย่างไรเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศที่แท้จริงได้

101 ชวนสำรวจปัญหาและหาทางออกในงานเสวนา Domestic Violence, Sexual Harassment and Rape: Re-humanizing the Justice System through Stakeholders’ Experience โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ซึ่งร่วมพูดคุยโดย บุษยาภา ศรีสมพงษ์ ทนายความสิทธิมนุษยชน นักวิจัยด้านความรุนแรงในครอบครัว และผู้ก่อตั้ง Shero, กรวิไล เทพพันธ์กุลงาม นักวิเคราะห์โครงการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง โครงการปลอดภัยและยุติธรรม UN Women และวันชัย รุจนวงศ์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก

‘วัฒนธรรมการโทษเหยื่อ’ อุปสรรคของการเข้าถึงความเป็นธรรม
ในคดีล่วงละเมิดทางเพศ 

เมื่อเกิดคดีล่วงละเมิดทางเพศที่ผู้ถูกกระทำมาแจ้งความหลังเหตุการณ์ผ่านไปหลายเดือนหรือหลายปีแล้ว ผู้ถูกกระทำมักเจอคำถามว่า “ทำไมถึงเพิ่งมาแจ้งความตอนนี้”

“เขาไม่กล้าเล่า ไม่ใช่แค่เรื่องอายอย่างเดียว เขารู้ว่าถ้าเล่าไปแล้วทุกคนโทษเขา เพราะทุกคนถามคนถูกกระทำว่า ‘ทำไมแต่งตัวแบบนี้’ ‘ทำไมไปตอนกลางคืน’ แต่ไม่ถามคนกระทำว่า ‘ทำไมใช้ความรุนแรง’ ‘ทำไมถึงล่วงละเมิดทางเพศ’ คนโดนกระทำจึงไม่กล้าพูด และบางทีการเล่าเรื่องของเขาเองก็จะเล่าอย่างระวังตัวว่าจะโดนกล่าวโทษหรือไม่ตลอดเวลา” บุษยาภาเล่าจากประสบการณ์ในฐานะทนายความคดีล่วงละเมิดทางเพศและความรุนแรงในครอบครัว

บุษยาภาอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่าการสร้างคำถามต่อเหยื่อว่า ‘ทำไม’ ที่เต็มไปด้วยอคติเรื่องเพศ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมที่มีวัฒนธรรมการโทษเหยื่อ (Victim Blaming Culture) เข้มข้น ซึ่งบางครั้งก็ได้หล่อหลอมให้คนในสังคมถามออกไปโดยไม่ได้ตระหนักรู้ว่าสิ่งนี้จะกดทับคนอื่น และการโทษเหยื่อจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น เมื่อภาพลักษณ์ของเหยื่อไม่ได้ตรงตามกรอบบรรทัดฐานสังคม เช่น เป็นคนเที่ยวกลางคืน ไม่รักนวลสงวนตัว

วัฒนธรรมการโทษเหยื่อยังมาพร้อมกับภาพจำลักษณะของเหยื่อ (victim ideology) และลักษณะของผู้กระทำ (abuser ideology) ซึ่งทั้งหมดมีรากฐานมาจากค่านิยมวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่และเป็นมายาคติแห่งเพศ

“เวลาพูดถึงการข่มขืนหรือคุกคาม สังคมจะผลิตซ้ำภาพผู้หญิงมีแผลเต็มตัว เดินเสื้อขาดออกมาจากพงหญ้า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้กระทำไม่ได้เจอแบบนั้น หนึ่งในสามของผู้เสียหายจากคดีพวกนี้ ส่วนใหญ่จะโดนคนใกล้ตัวล่วงละเมิด เช่น คนในครอบครัว และจะไม่ค่อยเกิดบาดแผลเลย เพราะเมื่อเจอเหตุการณ์พวกเขาจะเหมือนโดนฟรีซ เป็น trauma response ที่ทุกอย่างจะชัตดาวน์แล้วเขานิ่งไปเลย ทำให้ไม่มีบาดแผล แต่คนในกระบวนการยุติธรรมและสังคมจะตั้งคำถามว่าทำไมคนเหล่านี้ไม่มีแผล ทำไมไม่ดิ้น เราพูดถึงแต่การต่อสู้กลับกับการหลีกหนี แต่ไม่มีใครพูดถึงประเด็น trauma response ซึ่งเป็นการตอบสนองอีกแบบเมื่อเจอเหตุการณ์” บุษยาภาอธิบาย

“ส่วนผู้กระทำ คนมักจะมีภาพจำว่าเขาจะต้องหน้าตาน่ากลัว ยากจน แต่คนมีหน้ามีตา มีอำนาจในสังคมไม่น่าทำ เรายึดติดกับภาพจำนั้นจนลืมไปว่า ทุกคนที่ดูสมบูรณ์แบบแค่ไหนก็อาจจะเป็นผู้กระทำได้ และเขามีโอกาสที่จะทำไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีใครทำอะไรเขาได้เช่นกัน” บุษยาภากล่าว

จากนั้น กรวิไลกล่าวสรุปถึงประเด็นของการโทษเหยื่อด้วยการเทียบเคียงปัจจัยต่างๆ ออกมาเป็นอิฐแต่ละก้อนซึ่งกดทับผู้ถูกกระทำเอาไว้ ทำให้พวกเขาไม่พร้อมลุกขึ้นมาดำเนินคดีตามกฎหมาย และกลายเป็นอุปสรรคแรกของการเข้าถึงความยุติธรรม

“ชั้นแรกที่กดทับเหยื่อคือวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ มายาคติต่างๆ ที่มองว่าสิ่งใดผู้หญิงควรทำ สิ่งใดที่ผู้หญิงไม่ควรทำ อิฐชั้นที่สองเกิดขึ้นมาจากผลกระทบความรุนแรงจากเหตุการณ์นั้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องเจอการตีตราจากสังคม ซึ่งบางครั้งผู้หญิงก็ซึมซับวัฒนธรรมเหล่านั้นมาตีตราตัวเอง ตั้งคำถามว่าฉันไม่ควรไปที่นั่นเลย ฉันไม่ควรพาตัวเองไปเจออันตราย”

“ถัดมาจึงเกิดอิฐของ PTSD (อาการทางจิตที่เกิดขึ้นหลังจากเผชิญเหตุการณ์รุนแรง) มีความกลัว เกิดความไม่ไว้วางใจ รู้สึกสิ้นหวัง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เขาจึงไม่พร้อมจะออกมาพูดแน่นอน สุดท้ายบางเคสแม้จะออกมาแจ้งความ และอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีแล้ว ก็มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย”

“อิฐอีกชั้นที่มากดทับคือปัจจัยอำนาจจากตัวผู้กระทำ คนกระทำอยากเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ เขาจะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อไม่ให้ผู้หญิงพูด โดยใช้การข่มขู่ หลอกหลวง แสวงหาประโยชน์ต่างๆ ส่วนอิฐชั้นสุดท้ายคือกระบวนการยุติธรรม เพราะกระบวนการยุติธรรมซึมซับทั้งมายาคติการข่มขืนและมายาคติการเป็นผู้หญิงที่ดีเข้าไป ทำให้ส่งผลไปถึงการออกกฎหมายและการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่” กรวิไลกล่าว

เมื่อมายาคติแห่งเพศเป็นรากฐานการสอบสวนในกระบวนการยุติธรรม

เมื่อสังคมถูกหล่อหลอมมาด้วยมายาคติแห่งเพศที่ไม่เท่าเทียมกัน จึงส่งผลไปถึงฐานการออกแบบกระบวนการยุติธรรมที่หลงลืมปัจจัยสำคัญอย่างสภาพจิตใจของผู้กระทำ ทำให้เกิดการซ้ำเติมความเสียหาย และประเด็นสำคัญคือ การผลักภาระให้ฝ่ายถูกกระทำต้องเป็นผู้พิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง

“บางครั้งกระบวนการยุติธรรมมองผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุพยาน ไม่ได้มองว่าผู้ถูกกระทำเป็นผู้ทรงสิทธิในการตัดสินใจเรื่องของตนเอง ไม่ได้สอบถามความต้องการ ไม่ได้ใช้หลักการผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง” กรวิไลอธิบายถึงเหตุผลที่กระบวนการยุติธรรมในคดีล่วงละเมิดทางเพศจำเป็นต้องถูกตั้งคำถาม

นอกจากนี้ยังมีประเด็นการถามผู้ถูกกระทำโดยละเอียด เช่น การสอดใส่ แม้ว่าการดำเนินคดีจะไปถึงศาลฎีกาแล้ว แต่ยังคงมีความพยายามสอบสวนด้วยการย้ำถามเหตุการณ์เดิมซ้ำๆ หลายครั้งมีคำถามที่ไม่ได้คำนึงว่าผู้กระทำจะต้องรับผิดชอบเท่ากับการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้ถูกกระทำด้วย

กรวิไล เทพพันธ์กุลงาม นักวิเคราะห์โครงการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง โครงการปลอดภัยและยุติธรรม UN Women

แม้ปี 2562 ไทยจะมีความคืบหน้าในการแก้กฎหมายให้คดีข่มขืนกลายเป็นคดีความที่มีความผิดทางอาญาต่อแผ่นดิน ไม่สามารถยอมความได้ เปลี่ยนระยะเวลาแจ้งความ จากให้ดำเนินการภายใน 3 เดือนเป็นสามารถแจ้งความได้ตามอายุความทั่วไปคือ 20 ปี อย่างไรก็ตาม กรวิไลมีความเห็นว่ากฎหมายไทยยังคงผลักภาระให้ผู้หญิง ‘พิสูจน์ความยินยอม’ คาดหวังว่าผู้หญิงจะปฏิเสธด้วยการต่อสู้ ในขณะที่กฎหมายของสหราชอาณาจักรต้องพิสูจน์จากผู้กระทำ และการยินยอมจะต้องแสดงออกโดยชัดแจ้ง โดยไม่ได้มองว่าการนิ่งเฉยคือการยินยอม 

ด้านวันชัย ในฐานะอธิบดีอัยการ ผู้เคยผ่านประสบการณ์ทำคดีล่วงละเมิดทางเพศมาเกินกว่า 4 ทศวรรษกล่าวว่า ในทางกฎหมาย การพิสูจน์ข้อเท็จจริงจากการสอบปากคำผู้ถูกกระทำยังมีความจำเป็น ด้วยลักษณะคดีที่เกิดขึ้นกับผู้กระทำและผู้ถูกกระทำในที่ลับเพียงสองคน ทำให้ไม่มีพยานหลักฐานอื่นๆ ที่ชัดแจ้งบ่งชี้ว่าผู้กระทำได้ล่วงละเมิดทางเพศ ดังนั้น จึงต้องมีการพิสูจน์จากพยานหลักฐานหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการถามผู้เสียหายด้วย จึงต้องมีการถามคำถามเช่น มีบาดแผลหรือไม่ สภาพแวดล้อมในวันเกิดเหตุเป็นอย่างไร

“การที่คุณจะเอาคนคนหนึ่งไปติดคุก 20 ปี มันต้องแน่ใจจริงๆ ว่าเขาทำนะ คนพิจารณาคดีจึงกลัวพลาด [จึงต้องสอบสวน] ให้แน่ใจว่านี่คือข่มขืนจริง” วันชัยกล่าว

“แต่ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมของเราไม่ถูกเทรนให้มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้เสียหาย กระบวนการยุติธรรมไทยตั้งศูนย์กลางอยู่ที่ผู้ต้องหา ไม่เคยสนใจผู้เสียหายเลย เราไม่มีกระบวนการที่ดูแลและเข้าใจผู้ถูกกระทำ (victim friendly procedure) เช่น ถ้ามีผู้หญิงไปแจ้งความ ตำรวจจะถามว่าตรวจร่างกายหรือยัง และชำระร่างกายหรือยัง ถ้าทำแล้ว ผู้หญิงจะถูกถามว่าคุณทำไปทำไม โดยไม่เข้าใจว่าคนถูกข่มขืนมาเขารู้สึกอย่างไร หรือบางคนไปตรวจร่างกายก่อน โรงพยาบาลบอกว่าให้เอาใบส่งตัวจากตำรวจมาก่อน”

วันชัยอธิบายอีกว่าถ้าเทียบอย่างกรณีคดีเยาวชน เด็กจะมีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ไปสอบปากคำและถ่ายคลิปไว้ โดยไม่ให้ตำรวจทำหน้าที่นี้ เมื่อต้องขึ้นศาลจะนำคลิปไปเปิดแทนการให้เด็กพูดซ้ำ ถ้ามีการซักค้านจะต้องให้เด็กนั่งอีกห้องหนึ่ง แล้วใช้วิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ไปที่ห้องพิจารณาคดีเพื่อไม่ให้เด็กเจอหน้าคนกระทำ มีการห้ามสื่อไม่ให้นำเสนอภาพเด็ก หรือเปิดเผยชื่อ แต่ถ้าเหยื่ออายุเกิน 18 ปี จะไม่ได้รับการคุ้มครองเช่นนี้

“เรื่องนี้ผมจึงคิดว่าต้องหาทางบาลานซ์กัน การที่คุณจะเอาคนไปติดคุก 20 ปี กับการที่จะทำยังไง ให้ระบบมีความเป็นธรรมกับฝ่ายผู้ถูกกระทำ ทำยังไงเราจะสร้างระบบที่เอื้อให้ผู้หญิงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้โดยไม่ต้องอาย เพื่อจะให้ได้ความจริงออกมา” วันชัยกล่าว

วันชัย รุจนวงศ์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก

นอกจากนี้ บุษยาภายังเสริมด้วยว่า กระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถดูแลช่วยเหลือผู้ถูกกระทำได้อย่างครอบคลุมเมื่อเทียบกับคดีเยาวชน เช่น ใน พ.ร.บ.คุ้มครองเยาวชน ในกรณีคดีค้ามนุษย์ มีกองทุนพิเศษและมีแหล่งที่พักปลอดภัย (shelter) ให้ แต่ตอนนี้ คดีความรุนแรงต่อผู้หญิงและคดีล่วงละเมิดทางเพศในครอบครัวยังไม่มีแหล่งที่พักปลอดภัย แม้จะมีโครงการศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง (One Stop Crisis Center – OSCC) อยู่ แต่ก็มีเงื่อนไขว่าใช้บริการฟรีได้เพียงครั้งแรก แต่หากมีการรักษาอย่างต่อเนื่องก็จะมีค่าใช้จ่ายตามมา 

“เพราะอะไรถึงยังไม่มีระบบดูแลผู้ถูกกระทำที่เป็นผู้หญิง เพราะประสบการณ์และเสียงของผู้หญิงไม่ถูกจำจดในสายตาคนที่ร่างกฎหมายหรือกระบวนการแต่แรก ในเมื่อสังคมชายเป็นใหญ่มากๆ คนเขียนกฎหมายมีชุดความคิดและเลนส์ผู้ชายอย่างเดียว แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ผู้หญิงที่ถูกหลงลืมไป ชาว LGBTQ ก็เช่นกัน ประสบการณ์ของชุมชนความหลากหลายก็ถูกหักกลบเข้าไปอีก มีบางเคสเป็นคู่รักหญิง-หญิง หรือชาย-ชายใช้ความรุนแรงกัน คำถามที่ยังโต้เถียงทุกวันนี้คือได้รับความคุ้มครองตามพรบ.ว่าด้วยการกระทำความรุนแรงในครอบครัวหรือไม่” บุษยาภากล่าว

ปรับกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ทำร้ายใครซ้ำแล้วซ้ำเล่า

กรวิไลเสนอแนวทางปรับวิธีคิดของกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ ในกรณีที่ผู้ถูกกระทำเป็นผู้หญิงไว้ 6 ประเด็น คือ

1. การใช้สิทธิมนุษยชนเป็นฐาน โดยเคารพว่าถูกกระทำมีสิทธิได้รับการเยียวยา ควรได้รับและเข้าถึงการช่วยเหลือทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อีกด้านเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่าทุกคนที่ประสบความรุนแรงต้องได้รับการช่วยเหลือเหล่านี้

2. การสร้างความปลอดภัยสำหรับผู้หญิงจะต้องสำคัญที่สุด (safety in paramount) 

3. ผู้เสียหายต้องเป็นศูนย์กลาง หมายถึง ผู้ถูกกระทำต้องมีส่วนตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตของตัวเอง โดยมีฐานมาจากข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอ 

4. การเสริมแรงผู้ถูกกระทำ (empowerment) เพราะเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงเกิดจากอำนาจที่ไม่เท่าเทียม ผู้หญิงถูกกดทับ เพราะฉะนั้น ในกระบวนการช่วยเหลือในทางกฎหมายจึงต้องคำนึงถึงการเสริมพลังผู้หญิงด้วย 

5. การออกแบบกระบวนการยุติธรรมที่ต้องมีความเหมาะสมต่อวัยและวัฒนธรรม 

6. ความรับผิดชอบของผู้กระทำ ที่ไม่ได้มีคำตอบเพียงแค่การเยียวยาด้วยเงิน หรือการรับผิดชอบทางวัฒนธรรมอย่างการแต่งงาน แต่ปฏิบัติตามหลักความรับผิดชอบของผู้กระทำ คือ สำนึกในการกระทำ เยียวยาความเสียหาย มุ่งมั่นว่าจะปรับเปลี่ยนตนเองและไม่กระทำอีก และต้องได้รับโทษทางอาญา โดยไม่มีการลอยนวลพ้นผิดเด็ดขาด ซึ่งมีงานวิจัยระบุแล้วว่าหากมีการบังคับให้มีการลงโทษชัดเจนจะช่วยยับยั้งความรุนแรงต่อผู้หญิง เพราะผู้กระทำหรือคนในสังคมเห็นแล้วว่าจะเกิดผลอะไรบ้าง

“ยุทธศาสตร์ต้นแบบที่เกี่ยวกับการยุติความรุนแรงที่เกี่ยวกับผู้หญิง ในสาขาการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาของ UN (The UN Model Strategies and Practical Measures) ยังพูดชัดเจนด้วยว่ารัฐต้องทบทวน ประเมินให้กฎหมายระดับชาติทันสมัย โดยเฉพาะในกฎหมายอาญา เพื่อป้องกันและมั่นใจว่าได้ให้คุณค่า ความสมบูรณ์พร้อม ประสิทธิภาพ ยกเลิกข้อกำหนดหรือใดๆ ที่เอื้อหรือทำให้เกิดความรุนแรงต่อผู้หญิง หรือทำให้ผู้หญิงเปราะบางมากขึ้น หรือซ้ำเติมผู้เสียหาย” กรวิไลนำเสนอ

“จริงๆ ประเทศไทยเรามีกฎหมายที่ค่อนข้างดีในเรื่องการตอบสนองต่อเพศภาวะ เช่น การสอบปากคำโดยพนักงานหญิง การไม่เผชิญหน้าผู้กระทำ แต่ก็ยังอยู่ในดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ หมายความว่าผู้หญิงบางกลุ่มอาจจะไม่ได้รับ อย่างไรก็ตาม เราจึงต้องมีการฝึกอบรมมุมมองเรื่องเพศ (gender lens) ให้กับเจ้าหน้าที่ยุติธรรม ศาล เจ้าหน้าที่อัยการ เจ้าหน้าที่อื่นๆ และสหวิชาชีพที่เกี่ยวกับเรื่องการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง และการทำ code of conduct ในเรื่องการดำเนินคดีทางเพศ”

นอกจากนี้ กรวิไลยังเสนอให้มีการทำแนวทางการปฏิบัติบริการทางการแพทย์และกฎหมาย เพราะทั้งสองศาสตร์ต้องทำงานควบคู่กันเพื่อให้ได้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เป็นหลักฐานพิสูจน์คดี รวมถึงมีการจัดทำคำแนะนำในการรวบรวมพยานหลักฐาน แบบฟอร์มต่างๆ ของกฎหมายเพื่อให้ผู้เสียหายเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม กรวิไลและบุษยาภากล่าวว่าในอนาคตจะต้องมีการออกแบบกระบวนการยุติธรรมที่ครอบคลุมถึงความหลากหลายทางเพศด้วย เนื่องจากเพศสภาพที่ต่างกันจะมีมายาคติทางสังคมแตกต่างกัน ทำให้วิธีการพิจารณาคดีต้องคำนึงถึงจุดเปราะบางที่แตกต่างกันของแต่ละเคสไป

เปลี่ยนความคิดสังคม-ล้มมายาคติแห่งเพศและความเชื่อปิตาธิปไตย 

นอกจากการแก้ปัญหาในวิธีสอบสวนและการพิจารณาคดีในกระบวนการยุติธรรมแล้ว ในวงเสวนานี้ยังพูดคุยถึงการแก้ปัญหาในระดับความคิดของสังคมเพื่อแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอเรื่องล่วงละเมิดทางหน้าสื่อ การทำความเข้าใจวัฒนธรรมมุกตลกทางเพศที่อาจเป็นใบเบิกทางไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศอื่นๆ ที่รุนแรงขึ้น ไปจนถึงจะทำงานในสถาบันต่างๆ ที่อาจมีค่านิยมและความเชื่อเรื่องชายเป็นใหญ่อย่างเข้มข้น

บุษยาภาอธิบายว่าสื่อและสังคมนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนประเด็นและคดีให้เดินหน้าไปได้ แต่หลายครั้งการนำเสนอของสื่อก็ส่งผลให้เกิดการโทษเหยื่อโดยไม่รู้ตัว เช่น การอธิบายเหตุการณ์ว่าเกิดอะไรกับเคสบ้าง แทนที่จะบอกว่าความท้าทายที่ผู้ถูกกระทำต้องเจอคืออะไร หรือบางครั้งมีการใส่คำเกลียดชังในตัวบุคคล เช่น ถ้าเป็นผู้ชายไม่บอกว่าเป็นใคร แต่ถ้าเป็นทอมจะบอกว่าทอมโหด

“โดยส่วนใหญ่ตามหลัก survivor-centered หรือ victim friendly จะมีเรื่องการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การไม่เลือกปฏิบัติ แล้วที่สำคัญก็คือ confidentiality ปกติเวลาเราทำคดีจะทำให้ข้อมูลเป็นความลับมากที่สุดอยู่แล้ว แต่เราจะสังเกตได้ว่าบางครั้งผู้เสียหายต้องเอาตัวเองมาอยู่ในสื่อ เอาตัวเองและบาดแผลมาแลกให้มีเสียงในสื่อ เพราะบางครั้งกระบวนการยุติธรรมปิดปากแล้วก็สังคมปิดปากเขา” บุษยาภากล่าว

“แต่เมื่อปรากฏการณ์การใช้พื้นที่สื่อในการพูดออกมาเกิดขึ้นมา แล้วเราเจอคนถูกกระทำ ไปบอกว่าเธอไปออกข่าวสิ ไปพูดสิ ทำไมเธอไม่ไปแจ้ง แบบนี้ถือว่าไม่ได้มอง survivor-centered หรือเคารพการตัดสินใจของเขาจริงๆ มันเป็นการที่คนอื่นมาตัดสินใจแทนโดยที่เคสไม่พร้อมซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจเหนือกว่าอยู่ดี”

บุษยาภา ศรีสมพงษ์ ทนายความสิทธิมนุษยชน นักวิจัยด้านความรุนแรงในครอบครัว และผู้ก่อตั้ง Shero

บุษยาภากล่าวว่าการแก้ปัญหามิติทางสังคมในการกดทับเหยื่อจึงต้องแก้ต่างกันไปในแต่ละระดับ เช่น ครอบครัว ชุมชน มหาวิทยาลัย โรงเรียน หรือระดับประเทศ

“ยกตัวอย่างการไปทำงานกับชุมชนหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องปกติ และผู้หญิงอยู่ในความครอบครองของผู้ชาย สิ่งที่เราทำคือเริ่มจากการศึกษาก่อนว่าในพื้นที่นั้นเกิดอะไรขึ้น ใครมีอิทธิพลในชุมชนนั้น จนค้นพบว่าผู้นำศาสนามีอิทธิพลอย่างมาก กลุ่มนักสิทธิฯ จึงต้องเข้าไปทำงานกับพวกเขา ทำแคมเปญ หาช่องทางที่เข้าถึงคนกลุ่มนี้เพื่ออธิบายและทำความเข้าใจในมิติความรุนแรงทางเพศ ดังนั้น ในพื้นที่และบริบทต่างกันอาจจะมียุทธศาสตร์ที่ต่างกัน” บุษยาภากล่าว

บุษยาภายังเชื่อว่าทัศนคติความเชื่อของคนเปลี่ยนได้เมื่อความเชื่อโดยรวมเริ่มเปลี่ยน (collective belief) ทุกคนเอาเรื่องนี้ออกมาคุยกันว่าอยากเปลี่ยนบรรทัดฐานเรื่องเพศในชีวิตที่เรายึดถือกันไหม ถ้าทุกคนตกลงพร้อมกัน ทัศนคติในเชิงปัจเจกก็จะเปลี่ยนตาม ต่อให้คนคนนั้นอาจจะไม่ได้อยากเชื่อในสิ่งที่สังคมตกลงร่วมกัน แต่ถ้าคนรอบตัวเปลี่ยนค่านิยมแล้ว เขาจะอยากเปลี่ยนเพราะได้ผลประโยชน์มากกว่า ซึ่งจะเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า social and behavior change 

สุดท้าย กรวิไลนำเสนอว่าสิ่งสำคัญอีกอย่างสำหรับการเปลี่ยนมายาคติในสังคมคือการสร้าง code of conduct ให้สังคมมีแว่นตาของมุมมองเรื่องเพศ (gender lens) สังคมมองเห็นและเข้าใจความเป็นเพศสภาพของแต่ละเพศ และสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นจริงได้


อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้ที่: 

“ก็เธอไปหาเขาเอง” เมื่อเหยื่อถูกข่มขืนซ้ำในกระบวนการยุติธรรม

เรื่องราวสะเทือนใจของหญิงสาวที่ถูกละเมิดทางเพศ พร้อมชำแหละต้นตอของปัญหาที่เกิดจากมายาคติของสังคม และช่องโหว่ในกระบวนการยุติธรรม

How to แต่งหน้าปิดรอยช้ำ ให้หายสนิท l Easy Make Up by Kiwi

คลิปความรู้สร้างสรรค์ที่บอกเล่าความรุนแรงทางเพศผ่านเครื่องสำอาง เครื่องสำอางจะช่วยปกปิดรอยช้ำภายนอกได้อย่างเรียบเนียน แต่ร่องรอยในจิตใจที่เกิดจากความรุนแรงทางร่างกาย โดยเฉพาะความรุนแรงทางเพศ เครื่องสำอางไหนๆ ก็เยียวยาไม่ได้

วิเคราะห์พฤติกรรมในคดีความรุนแรงต่อเด็ก : ผู้กระทำผิดคิดอะไร?

ทำความเข้าใจการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้กระทำความผิดโดยวิทยากรพิเศษจากหน่วย FBI ว่าด้วยกรณีศึกษาในคดีล่วงละเมิดเด็ก

เรื่องเล่าจากผู้ใช้บังคับกฎหมาย : ความท้าทายของการ ‘จับผู้ร้าย’ ในคดีละเมิดเด็ก

สรุปประเด็นจากเนื้อหาการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง ‘มาตรฐานจริยธรรมด้านสิทธิเด็กและการวิเคราะห์จิตวิทยาสำหรับผู้ใช้บังคับกฎหมาย ที่แชร์ประสบการจริงจากผู้บังคับใช้กฎหมาย ข้อจำกัดและความท้าทายหลายอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างการสืบสวนสอบสวนคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กที่เกิดขึ้น


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save