fbpx

หนังสือสามก๊ก ยุค ‘คนะราสดร’

“หนังสือสามก๊กนี้, ไม่คำนึงถึงส่วนที่โลกเราเขาถือกันว่าเปนผลิตกัมยิ่งไหย่ไนทางปากกาเรื่องหนึ่ง, หากคำนึงตามที่ถือกันไนวงการหนังสือไทยว่า เปนหนังสือที่มีค่าสูงเล่มหนึ่ง,”[1] ยาขอบ (โชติ แพร่พันธุ์)

สามก๊ก 三國演義[2] (ซันกั๋วเอี่ยนอี้-นิยายสามก๊ก)[3] วรรณคดีคลาสสิกจีนดัดแปลงจากพงศาวดารเหตุการณ์ที่อุบัติขึ้นราวช่วง พ.ศ.712-823 นับเป็นนวนิยายคลาสสิกสมัยราชวงศ์หมิง ประพันธ์โดย ล่อกวนตง羅貫中 (หลอกว้านจง, พ.ศ.1873-1943) 1 ใน 4 สุดยอดวรรณคดีคลาสสิกประจำชาติของจีนอันถือว่าเป็นหนึ่งในหนังสือต่างด้าวแปลไทยที่เก่าแก่สุด ได้รับความนิยมสูงสุด พิมพ์ซ้ำมากสุดในบรรณพิภพไทย 

ท่ามกลางจำนวนพิมพ์มากครั้งนั้นปรากฏฉบับพิเศษที่สะกดตัวอักษรแบบประโยคโปรยหัวบนบทความนี้ แน่นอนย่อมมิหมายถึงการสะกดผิด หากเป็นเพียงวาระหนึ่งเดียวของ ‘สามก๊ก’ ฉบับพิเศษที่เดินผ่านประวัติศาสตร์การ ‘ปฏิวัติภาษาไทย’ ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา พ.ศ.2485-2488 คือสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่ตีพิมพ์ด้วย ‘อักสรภาสาวัธนธัม-หนังสือจอมพล’ โดยมีภาพประกอบวิจิตรศิลป์จาก ‘จิตรกรมือเทวดา เหม เวชกร’

และในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองที่ ‘สามก๊กวณิพก’ จากปลายปากกาของสุดยอดนักเขียน ‘ยาขอบ’ ก็ได้เริ่มผลิดอกออกผลขึ้นในสวนอักษรวรรณกรรมจีนพากย์ไทย


สามก๊กสามระยะสมัย ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’
(พ.ศ.2348-2471)


ช่วงต้นสามารถแบ่งวรรณคดีสามก๊กพากย์ไทยเป็น 3 ระยะใหญ่ๆ ดังนี้

1.เรียบเรียงครั้งแรก บันทึกลงสมุดไทย 95 เล่ม อำนวยการโดย เจ้าพระยาพระคลัง (หน) แปลก่อน พ.ศ.2348

วรรณคดีเอกเรื่องนี้ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ราวก่อน พ.ศ.2448 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 เล่าสืบกันมาว่า[4] ได้รับการเรียบเรียงอำนวยการโดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน -มรณะ พ.ศ.2348) พร้อมคณะผู้ชำนาญการภาษาจีนแห่งยุคสมัยนั้นจำนวนหนึ่ง สำนวนสละสลวยเพราะพริ้ง ได้รับการยกย่องจากบุคคลทั่วไปว่าเป็นความเรียงชั้นเลิศ ศัพท์แสงภาษาจีนทับศัพท์ในพากย์ไทยได้เลือกใช้ชื่อต่างๆ ตามสำนวนจีนฮกเกี้ยน[5] เช่น ‘โจโฉ’ (曹操) ‘ซุนกวน’ (孫權) ‘เล่าปี่’ (劉備) ‘เสฉวน’ (四川) ฯลฯ 

กาลครั้งนั้นใช้วิธีการบันทึกลงสมุดไทยจำนวน 95 เล่ม ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อดำเนินถึงตอนที่ 55 สำนวนได้แปรเปลี่ยนไป “น่าสันนิษฐานว่าจะเปนเพราะเจ้าพระยาพระคลัง (หน) อำนวยการแปลอยู่ไม่ทันตลอดเรื่อง ถึงอสัญกรรมเสีย (เมื่อ พ.ศ.2348) มีผู้อื่นอำนวยการแปลต่อมา สำนวนจึงผิดกันไป”[6]

2.พิมพ์เป็นสมุดฝรั่งโดยโรงพิมพ์หมอบรัดเล 4 เล่ม (พ.ศ.2409-2410)

“ต่อเมื่อในรัชกาลที่ 4 ก็ในสมัยเมื่อก่อนพิมพ์หนังสือไทยได้นั้น หนังสือที่แปลจากเรื่องพงศาวดารจีนมีแต่ 5 เรื่อง… แต่คนทั้งหลายชอบเรื่องสามก๊กยิ่งกว่าเรื่องอื่น ผู้มีบันดาศักดิ์ซึ่งสะสมหนังสือก็มักคัดลอกเรื่องสามก๊กไว้ในห้องสมุดของตน ด้วยเหตุนี้หนังสือเรื่องสามก๊กจึงมีฉะบับมากกว่าเพื่อน…” (สมัยก่อนการพิมพ์แบบฝรั่ง ฉบับที่หอพระสมุดวชิรญาณมีเก็บไว้ เขียนด้วยเส้นหรดาล เขียนด้วยเส้นฝุ่น และเขียนด้วยเส้นดินสอ)[7]

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเขียนเล่าไว้ใน ตำนานหนังสือสามก๊ก ว่า “ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 หมอบรัดเล (Dr.Dan Beach Bradley พ.ศ.2347-2416[8]) มิชชันนารีอเมริกันย้ายโรงพิมพ์มาตั้งที่ปากคลองบางกอกใหญ่ เริ่มพิมพ์หนังสือไทยเรื่องต่างๆ ขาย ได้ต้นฉะบับหนังสือเรื่องสามก๊กของผู้อื่นมา 2 ฉะบับ แล้วไปยืมต้นฉะบับของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศที่สมุหพระกลาโหมมาสอบกันเปน 3 ฉะบับ พิมพ์หนังสือสามก๊กขึ้นเปนสมุดพิมพ์ 4 เล่มตลอดเรื่อง สำเร็จเมื่อปีฉลู พ.ศ.2408 ขายราคาฉะบับละ 20 บาท พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับซื้อช่วยหมอบรัดเลเห็นจะราวสัก 50 ฉะบับ พระราชทานพระราชโอรสธิดาพระองค์ละฉะบับทั่วกัน…”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ได้ขยายความในเชิงอรรถต่อไว้ว่า “เมื่อข้าพเจ้าได้พระราชทานหนังสือสามก๊กเปนเวลาพึ่งอ่านหนังสือออก ยังจำได้ว่าอ่านสนุกมาก แต่สนุกประสาเด็ก ไม่เข้าใจความเท่าใดนัก”[9]

หนังสือชุดดังว่ายังคงเหลือตกทอดมาถึงปัจจุบัน (ดูรูปประกอบ) ผู้พิมพ์จะเขียนขึ้นบทนำทุกเล่มว่า “ข้าพเจ้า หมอ บรัดเล, ขอคำนับมายังท่านทั้งปวงที่ได้ลงชื่อไว้ว่า, จะต้องการสามก๊กนั้น.” ภายในหน้าแรกมีระบุรายละเอียดการพิมพ์ เล่ม 1-3 คัดจากสมุดไทยเดิม เล่มละ 24 เล่ม จะมีเฉพาะเล่ม 4 ที่มี 23 เล่ม รวมทั้งหมดจะเท่ากับสมุดไทยเดิมจำนวน 95 เล่ม ปกในหน้าแรกแต่ละเล่มจะกล่าวถึงเค้าโครงเรื่องคร่าวๆเพียงครึ่งหน้า

เล่ม 1 ระบุสถานที่จัดพิมพ์ “ริมป้อมปากคลองบางกอกใหญ่” วันจัดพิมพ์ “วันเสาร์เดือนแปดขึ้น 15 ค่ำ, จบลง ณ วันจันทร์เดือนยี่แรม 14 ค่ำ จุลศักราช 1227 ปีฉลู สัปตศก BANGKOK 1866” ตรงกับวันที่ 8 กรกฎาคม 2408 และจบลงวันที่ 15 มกราคม 2409


สามก๊ก เล่ม 1 ฉบับหมอบรัดเล


เล่ม 2 และ เล่ม 3 มิได้ระบุรายละเอียดวันพิมพ์อย่างละเอียด เพียงระบุปีพิมพ์ฝรั่งไว้ BANGKOK 1866 และ BANGKOK 1867 ตามลำดับ

เล่ม 4 จึงกลับมาระบุวันปิดท้ายไว้ดังนี้ “วันจันทรเดือนสิบขึ้น 12 ค่ำ จ.ศ. 1229 ปีเถาะ นพศก BANGKOK 1867” เมื่อตรวจสอบกับปฏิทิน 100 ปี มีเคลื่อนวันเล็กน้อย คือวันจันทร์เดือนสิบขึ้น 11 ค่ำ (จะพบเห็นกรณีเช่นนี้ได้บ่อยครั้งในเอกสารเก่า) โดยหากเป็นวันจันทร์เดือนสิบขึ้น 11 ค่ำ จ.ศ.1229 จะตรงกับวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2410

ในท้ายที่สุดของเรื่องราวการพิมพ์ชุดนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ได้สรุปไว้ว่า “การพิมพ์หนังสือเรื่องสามก๊ก โรงพิมพ์หมอบรัดเลได้พิมพ์ 3 ครั้ง แล้วโรงพิมพ์อื่นพิมพ์ต่อมาอีก 3 ครั้ง รวมเบ็ดเสร็จได้พิมพ์ถึง 6 ครั้งด้วยกัน แต่การที่พิมพ์ต่อๆ กันมาเปนแต่อาศัยฉะบับที่พิมพ์ก่อนเปนต้นฉะบับ ไม่ได้ตรวจชำระเหมือนอย่างเมื่อหมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรก แลบางฉะบับซ้ำมีผู้แก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำลงตามอำเภอใจ หนังสือสามก๊กที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดสมัยนี้ จึงวิปลาสคลาดเคลื่อนจากฉะบับเดิมด้วยประการฉะนี้”[10]

3.ฉบับราชบัณฑิตยสภา อำนวยการโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พ.ศ.2471

ล่วงเข้าถึงปีที่ 60 นับจากพิมพ์ครั้งแรกของโรงพิมพ์หมอบรัดเล ราชบัณฑิตยสภาได้ดำเนินการตรวจสอบชำระและสอบทานต้นฉบับโรงพิมพ์หมอบรัดเลฉบับพิมพ์ครั้งแรกและฉบับตัวเขียนของเก่าที่มีอยู่ในหอพระสมุดฉบับของกรมหลวงวรเสรฐสุดา พร้อมสอบกับฉบับภาษาจีน คณะทำงานประกอบด้วย มหาเสวกโท พระยาพจนปรีชา (ม.ร.ว.สำเริง อิศรศักดิ์ ณ อยุธยา) เป็นบรรณาธิการตรวจชำระต้นฉบับ อำมาตย์โท พระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล เปรียญ) เลขานุการราชบัณฑิตยสภาเป็นผู้จัดทำสารบัญ และให้รองอำมาตย์ตรี ขุนวรรณรักษ์วิจิตร (เชย ขุมากร เปรียญ) รองบรรณารักษ์ในหอพระสมุดวชิราวุธเป็นผู้ช่วย ทั้งยังได้ อำมาตย์โท พระเจนจีนอักษร (สุดใจ ตัณฑากาศ) เป็นผู้เชี่ยวชาญฝ่ายภาษาจีน รวมทั้งศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ รับเป็นผู้เสาะหาทางประเทศอื่น

เหตุของเรื่องมีว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ รับเรื่องดำเนินการจากปรารภของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เพื่อจัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพสนองพระคุณพระชนนี สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เมื่อต้น พ.ศ.2471 จัดพิมพ์เป็นจำนวน 4 เล่ม ผนวกเข้าด้วยหนังสือตำนานสามก๊กอีกจำนวน 1 เล่มที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงประพันธ์ขึ้นเป็นพิเศษ รวมเป็นชุด 5 เล่ม พร้อมประกอบรูปภาพ จัดทำโดย นายพลตรี พระยาภักดีภูธร เจ้ากรมแผนที่ทหารบก ผู้รับทำแม่พิมพ์ ตลอดจนรับพิมพ์แผนที่ประเทศจีนสมัยสามก๊ก

นอกจากที่พรรณนามา ยังมีท่านกุยชิโร ฮายาชี อัครราชทูตญี่ปุ่น ได้ช่วยสืบเรื่องแปลหนังสือสามก๊กเป็นภาษาญี่ปุ่น พระวิทยบรรจง (จ่าง โชติจิตรกะ) ช่วยเขียนอักษรไทยเทียมจีน และรองอำมาตย์ตรี สมบุญ โชติจิตร นายเวรวิเศษราชบัณฑิตยสภา เป็นผู้เขียนแลพิมพ์ดีดหนังสือสามก๊กครั้งนี้


สามก๊กฉบับหอพระสมุด เล่ม 4 พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2471


อนึ่ง นอกจากจะตีพิมพ์เป็นอนุสรณ์งานศพดังกล่าว พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตสิริ) เจ้าของโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนา กร ได้แจ้งขอพิมพ์จำหน่ายชุดนี้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,000 ฉบับ โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ในฐานะนายกราชบัณฑิตยสภาอนุญาตไว้เมื่อ 24 กรกฎาคม 2471

กล่าวได้ว่าหนังสือเรื่อง ‘สามก๊ก’ ฉบับราชบัณฑิตยสภาตรวจสอบชำระชุดนี้ (บ้างก็เรียกว่า ‘ฉบับหอพระสมุด’) เป็นฉบับสมบูรณ์ที่สุด และถูกใช้เป็นต้นฉบับในการพิมพ์ซ้ำต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้เป็นฉบับมาตรฐาน


หนังสือสามก๊กแห่งสมัย ‘คนะราสดร’


หลังฉบับราชบัณฑิตยสภาตีพิมพ์ พ.ศ.2471 เพียง 4 ปี สยามประเทศได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และกว่าวรรณคดีชิ้นนี้จะได้รับการรื้อฟื้นกลับมาตีพิมพ์ ต้องทิ้งช่วงเป็นระยะเวลาถึง 16 ปี ในยุคการปกครองภายใต้ระบอบใหม่ของ ‘คณะราษฎร’ เมื่อ พ.ศ.2487 ซึ่งถือเป็นวาระไม่ปกติ เมื่อเกิดการปฏิวัติภาษาระหว่างนั้น การพิมพ์ครั้งที่ 2 นี้จึงถูกกำหนดให้ใช้ ‘ภาสาไทยไหม่’ พร้อมภาพประกอบจำนวนมากของ ‘จิตรกรมือเทวดา ครูเหม’ และในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองที่ ‘สามก๊กฉบับวณิพก’ โดย ยาขอบ ถือกำเนิดขึ้น


ปกสามก๊ก พ.ศ.2487 ยุค ‘คนะราสดร’


แวดวงวรรณกรรม ‘ระบอบเก่า-ระบอบใหม่’
ก่อน-หลังปฏิวัติ พ.ศ.2475


ก่อนหน้าปฏิบัติการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ปฏิวัติ 2475 ราว 2 ปี กล่าวคือ ใน พ.ศ.2473 เป็นระยะการพัฒนานวนิยายรูปแบบใหม่ อาทิ เกิดการก่อตัวของคณะนักเขียน ‘สุภาพบุรุษ’ [11] นำโดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่สร้างสรรค์งานอันมีลักษณะสะท้อนสังคมและการเมือง นวนิยายที่จัดพิมพ์ได้รับความนิยมจากผู้อ่านเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำและจำหน่ายในราคาถูก คือเล่มละ 10 สตางค์ มีผู้ขนานนามให้ในช่วงแรกนี้ว่า ‘ยุคนิยาย 10 สตางค์’ ผู้จัดทำหนังสือที่ผลิตออกมามากช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 นี้มี 4 คณะ คือ คณะเพลินจิตต์ คณะนายอุเทน คณะวัฒนานุกูล และคณะ ภ.เภตรารัตน์ ต่อมาบางคณะได้แปรสภาพเป็น ‘สำนักพิมพ์’ เช่น สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ของเวช กระตุฤกษ์ หรือคณะที่ปรากฏหลัง พ.ศ.2475 เช่น คณะดวงประทีป คณะยุวสาร จนถึงสำนักพิมพ์อุดม ที่ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ.2477[12]

ครั้งกรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ 150 ปี (เมษายน 2475 ก่อนปฏิวัติเพียง 2 เดือนเศษ-ผู้เขียน) เหม เวชกร ได้โชว์ฝีมือวาดปกและภาพประกอบ ขวัญใจนายร้อยตรี ของ ส.บุญเสนอ นับเป็นหนังสือเล่มแรกของสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ตั้งแต่บัดนั้น นวนิยายเล่มละ 10 สตางค์ และ 15 สตางค์ของเพลินจิตต์ก็ทยอยออกสู่ถนนหนังสืออย่างสม่ำเสมอ บรรดานักเขียนเช่น จำนง วงศ์ข้าหลวง, มนัส จรรยงค์, ป.อินทรปาลิต ฯลฯ เริ่มสร้างชื่อเสียง ซึ่งการเขียนปกและภาพประกอบสร้างชื่อเสียงให้ เหม เวชกร เป็นที่กล่าวขวัญอย่างกว้างขวาง ร่วมกับจิตรกรอีกสองท่านคือ เฉลิม วุฒิโฆสิต และเสน่ห์ คล้ายเคลื่อน ผลงานของบุคคลทั้งสามได้กลายเป็น ‘แม่แบบ’ ให้จิตรกรรุ่นต่อๆ มาศึกษาและฝึกหัดตาม[13]

ในช่วงเวลานี้ กระแสพงศาวดารจีนเริ่มเสื่อมความนิยม การก่อเกิดของนักเขียนกลุ่มสุภาพบุรุษ เช่น ยาขอบ ที่จุดประกายจาก ‘ผู้ชนะสิบทิศ’ ได้รับการต้อนรับจากมหาชนอย่างมหาศาล รวมทั้งอานิสงส์จากการเมืองหลังกบฏบวรเดชส่งผลบวกให้กับยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ประชาชาติ

กระนั้นกลับเป็นเรื่องชวนหัวเมื่อภายหลังที่ผู้สังหารกระแสพงศาวดารจีนท่านนี้ กลับถูกเสน่ห์ของยอดพงศาวดาร ‘สามก๊ก’ สยบและหมกมุ่นกว่า 20 ปี จนมิได้หวนกลับมาเขียนตอนจบของ ‘ผู้ชนะสิบทิศ’ ตราบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

กุหลาบ สายประดิษฐ์ เอ่ยถึงปฏิบัติการพิฆาตนวนิยายแบบดั้งเดิมไว้ว่า “เราได้ตกลงใจว่าจะทำการปฏิวัติเลิกล้มจารีตอันเหนียวแน่นข้อหนึ่งในการหนังสือพิมพ์ คือ เลิกล้มการลงพิมพ์นิยายที่เรียกกันว่า พงศาวดารจีน ซึ่งเราเห็นว่าในตอนหลังๆ นี้ออกจะเต็มไปด้วยความไร้สาระ… เราจึงตกลงบรรจุนิยายที่เราถือว่าเป็นชั้นเอกถึงสามเรื่อง คือ ชายชาตรี ของ ม.ชูพินิจ บันไดแห่งความรัก ของสันต์ เทวรักษ์ และ ผู้ชนะสิบทิศ ของ ‘ยาขอบ’ … การปฏิวัติของเราประสบความสำเร็จ นิยายทั้งสามเรื่องของเราประสบความสำเร็จ แต่เรื่องที่มีฤทธิ์ที่สุดในการสกดจิตผู้อ่านให้หยุดเรียกร้องหาเรื่องพงศาวดารจีนก็จะต้องกล่าวว่าได้แก่เรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ[14]

ผู้ชนะสิบทิศ ตีพิมพ์ลงใน ประชาชาติ ใน พ.ศ.2475 จนล่วงเกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดช ในเดือนตุลาคม 2476 เวทางค์เล่าย้อนถึงความนิยมของนวนิยายแจ้งเกิดของยาขอบเรื่องนี้ในบริบทของกบฏบวรเดชไว้ว่า “ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ต้องใช้อาวุธเข้าประหารกันอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกนับแต่เมื่อเริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินมา จึงยังความตื่นเต้นอย่างใหญ่หลวงให้แก่ประชาชนชาวไทย หนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ที่ได้รับความนิยมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ได้ทวีจำนวนพิมพ์ขึ้นเต็มตามกำลังแท่นพิมพ์ทั้ง 11 แท่น และพิมพ์ตลอดวันตลอดคืนก็ยังไม่พอจำหน่าย เพราะเหตุนี้ด้วยประการหนึ่ง เรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ ที่ลงมาเป็นประจำวันและได้รับความนิยมอยู่แล้ว จึงได้ทวีจำนวน ‘แฟน’ ขยายตัวกว้างขวางขึ้นไปตาม จนถึงได้รับการเรียกร้องให้รวมพิมพ์เป็นเล่มขึ้นในครั้งแรก”[15]

เมื่อญี่ปุ่นบุกไทยในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ยังผลให้รัฐบาลไม่สามารถเลี่ยง “ร่วมวงไพบูลย์สงครามมหาเอเชียบูรพากับฝ่ายอักษะ” เพียงหนึ่งเดือนต่อมาจึงจำต้องประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 และส่งผลให้รัฐบาลขณะนั้นยิ่งจำต้องทวีความเข้มงวดในการปกครอง ขับเน้นสำนึกชาตินิยมจนมาสู่การ ‘ปฏิวัติวัฒนธรรมอย่างแข็ง’[16] ภายใต้สโลแกน “วัธนธัมดี มีศีลธัมดี มีอนามัยดี มีการแต่งกายอันเรียบร้อยดี มีที่พักอาศัยดี และมีที่ทำมาหากินดี”[17] ข้อหนึ่งในนั้นคือการ ‘ปรับปรุงภาษา’[18] ส่งเสริมวัฒนธรรม ที่เริ่มประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันเกิดของท่านผู้นำ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2485

‘ยาขอบ’ ในช่วงเวลานั้นก็หลบลี้งานหนังสือพิมพ์หันมาทุ่มเวลาให้กับ ‘สามก๊ก’ ภายหลังท่านผู้นำสิ้นอำนาจ ยาขอบได้เขียน กระทบกระเทียบ จอมพล ป.ย้อนหลัง ผ่านคำนำในเล่มสามก๊กวณิพกตัวละครเล่าปี่ เมื่อต้น พ.ศ.2488 ไว้ว่า

“วรรณคดีไทยก็ได้มาถึง ยุคแปลก คืออะไรๆ ก็แปลกประหลาดมหัศจรรย์ไปเสียหมด นับตั้งแต่ตัวหนังสือหนังหาซึ่งวิญญาณของพ่อขุนรามคำแหงต้องทอดถอนพระทัยอยู่ไปมา… ข้าพเจ้าก็ชอบแต่จะทะนงศักดิ์ รักษาธรรมของผู้ใช้วิชาชีพในทางปากกาให้มั่นคงไว้… ข้าพเจ้าก็หมดมือในหนังสือพิมพ์ หมดทางที่จะสนทนาปรารภข้อความใดๆกับท่านผู้อ่านโดยใช้คอลัมน์ของหนังสือพิมพ์ ข้าพเจ้าจึงถอยเข้ามาเสียในกระท่อมของวณิพพก ซึ่งถึงจะคับแคบ แต่ก็ยังนับว่ากว้างพอสำหรับจะให้ถ่มน้ำลายเล่น โดยเมื่อใช้ความระมัดระวังไว้บ้างตามสมควรแล้ว ก็รอดมาจากที่จะเปรอะหน้าตัวเอง”[19]


สามก๊กวณิพก ‘ขงเบ้ง’ ชุด 3 เล่ม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2486
(จัดแสดงในงานบุ๊คเฟส Knowledge Book Fair 2024 ที่มิวเซียมสยาม)


“ไม่มีกระดาษเลย ข้าพเจ้าก็ไม่เดือดร้อนเพราะมีผู้คอยซื้อต้นฉะบับ. แม้กระดาษจะแพงหูฉี่ ข้าพเจ้าก็กลับเห็นเป็นโอกาสดีที่จะได้กล่าวให้โอหังยิ่งไปกว่าถ้อยคำเพียงที่ว่าตัวคงไม่อดตาย… ข้าพเจ้าเขียนถึงสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เพื่อท้องไส้และตัวตนของตนเลย. ข้าพเจ้าขอร้ององค์การจ่ายกระดาษของรัฐให้เหลียวแลและมีเยื่อใยต่อหนังสือนวนิยายบ้างนี้ ไม่ได้ขออย่างนักประพันธ์ใจเสาะกลัวอดตายขอ หากได้ขออย่างประชาชนพลเมืองคนหนึ่ง ที่อาลัยแก่ความอับเฉาของอุทยานวรรณกรรม ซึ่งยังควรจะได้รับน้ำมาหลั่งลด”[20]


ภาพหลัก ‘ยาขอบ’ ในอนุสรณ์งานศพ


ในทางกลับกัน ทันตแพทย์ สม อิศรภักดี ได้กล่าวสนับสนุนการปฏิวัติภาษาครั้งนั้นไว้ว่า “ความหวังของท่าน (จอมพล ป.) คือต้องการจะให้คนที่ไม่รู้หนังสือเลยสามารถอ่านออกเขียนได้ภายใน 1 ปี โดยได้นำเอาชาวบ้านที่ไม่ได้เรียนหนังสือเลยมาเรียนภาษาไทยแบบใหม่และได้มีการออกอากาศ เมื่อครบหนึ่งปี คนนั้นก็สามารถอ่านออกเขียนได้จริงๆ…เพราะว่าท่าน (หมายถึงจอมพล ป.) ได้ให้ราชบัณฑิตไปทำพจนานุกรมสำหรับเขียนหนังสือแบบใหม่เพื่อเป็นบรรทัดฐาน สำหรับตัวผมเองรู้สึกชอบ เพราะมันช่วยให้ผมเขียนภาษาไทยได้ง่ายขึ้น โอกาสผิดมีน้อย[21]


คู่มือวิธีสอนผู้ไม่รู้หนังสือ ของ ‘กะซวงสึกสาธิการ พ.ส.2486’


เสริมเป็นเกร็ดว่า รูปแบบภาษาใหม่นี้ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้ให้ความรู้ว่า หม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย ผู้เชี่ยวชาญยูเนสโกประจำประเทศลาวได้นำอักขรวิธีแบบจอมพล ป.พิบูลสงครามไปแนะนำให้ใช้ ปัจจุบันประเทศลาวจึงใช้อักขรวิธีดังกล่าว[22]


‘สองสามก๊ก’ ในสมัยปฏิวัติภาษาไทย

สามก๊กราชบัณดิตสภา พ.ศ.2487 และ ยาขอบสามก๊กวณิพก พ.ศ.2485-2496


สำนักพิมพ์อุดม ผู้พิมพ์สามก๊ก 2 ฉบับสำคัญ


ในปีสุดท้ายของการปฏิวัติภาษาเมื่อ พ.ศ.2487 สำนักพิมพ์อุดม โดยคุณอุดม ชาติบุตร ได้จัดพิมพ์หนังสือสามก๊ก ฉบับของกรมศิลปากร ซึ่งก็คือฉบับที่ชำระโดยราชบัณฑิตยสภาเป็นต้นฉบับ[23] การพิมพ์ครั้งนี้ถือเป็น ‘ครั้งที่ 2’ (เป็นครั้งแรกในยุคประชาธิปไตย) นับจากการชำระครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2471 มีความพิเศษสองประการกล่าวคือ

หนึ่ง สามก๊ก 2487 ใช้ ‘ภาสาวัธนธัม’ สมัยจอมพล ป.ตลอดทั้งเล่ม ทยอยพิมพ์ออกจำหน่ายทีละเล่ม โดยเล่มแรกพิมพ์เมื่อ 25 เมษายน 2487 จนกระทั่งเล่มที่ 10 ซึ่งเป็นเล่มสุดท้าย จัดพิมพ์เมื่อ 30 สิงหาคม 2487 บางเล่มก็จัดพิมพ์ห่างกัน 1 เดือน แต่ส่วนใหญ่จะตีพิมพ์ห่างกันเพียง 10 วัน จำนวนหน้ารวมทั้งสิ้น 1,768 หน้า

สอง จิตรกรมือเทวดา ‘เหม เวชกร’ ได้สร้างสรรค์ภาพแทรกไว้เป็นครั้งแรกของการพิมพ์หนังสือสามก๊กฉบับภาษาไทย หน้าปก 4 เล่มแรกเป็นรูป ‘จูล่ง’ และ 6 เล่มหลังเป็นรูป ‘กวนอูทรงม้า’  แบบลายเส้นเดียวกัน เปลี่ยนเพียงสี บางเล่มมีภาพเขียนของครูเหม 2-3 ภาพ ขณะที่บางเล่มปรากฏถึง 5 ภาพ เมื่อนับจำนวนภาพรวมทั้งหมดจะได้ 36 ภาพ


กวนอู พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก พ.ศ.2485


ก่อนหน้าฉบับราชบัณฑิตยสภาข้างต้น สำนักพิมพ์อุดมได้เริ่มทยอยพิมพ์จำหน่าย สามก๊ก ฉบับวนิพพก ของ ‘ยาขอบ’ โดยเริ่มที่ ‘กวนอู’ ระบุวันที่ในคำนำไว้ ณ 15 พฤษภาคม 2485 หรือก่อนการประกาศนโยบายทางภาษาเพียงไม่กี่วัน และเริ่มเห็นเค้าลางการใช้ ‘ภาสาไหม่’ นี้ แต่เป็นที่แน่ชัดว่าเมื่อยาขอบเริ่มเขียนตัวที่สอง คือ ‘ขงเบ้ง’ พร้อมจัดจำหน่ายเองครั้งแรกเป็นจำนวน 3 เล่มย่อย และสำนักพิมพ์อุดมรวมเป็นหนึ่งเล่มหนา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2486 นั้นล้วนพิมพ์ด้วย ‘ภาสาไหม่’ ทั้งสิ้น และยังจำหน่ายได้ดีมาก “หนังสือขงเบ้งตอนก่อนบันดาลโชคให้แก่คนแต่งอย่างน่าประหลาด เผอิญให้พิมพ์ได้กระชั้นชิดกันหลายครั้งที่อยู่ในยามข้าวของต้องขายแพง”[24]

ในช่วง 2 ปีนี้ สำนักพิมพ์อุดมยังคงพิมพ์ด้วยภาษานี้ต่อเนื่องมาถึงตัวละครอีก 3 คน คือ ‘จิวยี่’ พร้อม ‘ซุนฮูหยิน’ (15 กุมภาพันธ์ 2487) และ ‘ตั๋งโต๊ะ’ (24 กรกฎาคม 2487) กระทั่งการปฏิวัติภาษาได้ถูกระงับลงในปลาย พ.ศ.2487 ถัดมาต้น พ.ศ.2488 เมื่อสำนักพิมพ์อุดมเริ่มพิมพ์ ‘เล่าปี่’ (7 กุมภาพันธ์ 2488) การใช้ภาษาก็ได้กลับย้อนมาใช้ของเดิม ทั้งนี้ ภายหลังการพิมพ์เล่มชุดเล่าปี่ ดูเหมือนยาขอบจะเว้นช่วงไปอีกราว 3 ปีกว่าจะหวนกลับมาประพันธ์เพิ่มต่ออีกหลายตัวอย่างไม่ยาวนัก (ยกเว้น ‘จูล่ง’ ใน พ.ศ.2494 ของสำนักพิมพ์อื่น) จนถึงตัวละครสุดท้าย ‘โจโฉ’ ใน พ.ศ.2496 ที่ยาขอบยังคงแต่งไม่จบ[25]

เบื้องต้น ดูเหมือน อุดม ชาติบุตร อดีตศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ จะมีสายป่านที่ดีกับสมาชิกหลายท่านในการปฏิวัติภาษาครั้งนี้ ดังเห็นได้จากก่อนหน้าการพิมพ์สามก๊ก สำนักพิมพ์ได้ตีพิมพ์ ‘วรรนคดีแบบฉบับ’ 2 เรื่องสำคัญด้วย ‘ภาสาวัธนธัม’ ตามนโยบายท่านผู้นำ โดยทยอยพิมพ์แยกเป็นเล่มย่อย และมีภาพวาดประกอบโดยเหม เวชกร ทั้งหมด กล่าวคือประเดิมด้วย ‘พระอภัยมณี’ (23 เล่ม ระหว่าง 30 เมษายน 2486 ถึง 15 กันยายน 2486) และ ‘ขุนช้างขุนแผน’ (17 เล่ม ระหว่าง 20 ตุลาคม 2486 ถึง 10 มกราคม 2487)

ในพระอภัยมณีเล่มที่ 10 มีการอ้างกล่าวขอบคุณถึง “ร.ต.สุจิต สิกสมัต เพื่อนรักคนหนึ่งซึ่งไห้ความคิดความเชื่อแก่ฉันเปนคนแรกไนการพิมพ์เรื่องนี้ พนะท่าน ว.วิจิตรวาทการ รัถมนตรีว่าการกะซวงการต่างประเทสและอุปนายกวรรนคดีสมาคมแห่งประเทสไทย ซึ่งเปนอีกท่านหนึ่งที่สนับสนุนความคิดเห็นฉัน นาย ยง ส.อนุมานราชธน อธิบดีกรมสิลปากรและอุปนายกวรรนคดีแห่งประเทสไทยผู้มีอุปการคุนทั้งไนการช่วยเหลือไห้คำแนะนำและส่งเสริมกำลังไจของฉัน”

ทั้งนี้ ที่สำคัญยิ่ง เข้าใจว่าสำนักพิมพ์อุดมได้รับการสนับสนุน ‘กระดาษ’ ที่เป็นของราคาสูงและหาได้ยากในยามสงคราม อุดมได้เล่าไว้อีกด้วยว่า “พ.ต.บุสรินทร์ ภักดีกุล ทำการแทนประธานกัมการแบ่งกะดาด ผู้มองเห็นคุนค่าของวรรนคดีเอกเรื่องนี้” [26] ทั้งยังมีแผนการจะพิมพ์อีก 2 เรื่องต่อจาก ‘สามก๊ก’ เพื่อเผยแพร่และฟื้นฟูวรรนคดีของชาติไทยไห้รุ่งโรจน์โชตนาการต่อไป ตามนโยบายของพนะท่านนายกรัถมนตรี คือ ‘อิเหนา’ และ ‘รามเกียรติ์’ แต่ดูเหมือน 2 เรื่องหลังนี้ดูจะยุติไปหลังรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ประกาศยกเลิกนโยบายปฏิวัติภาษา ทั้งนี้ ระยะเวลา 2 ปีเศษภายใต้การปฏิวัติภาษานี้ สำนักพิมพ์อุดมมีจำนวนการพิมพ์หนังสือที่ดูเฟื่องฟูสวนทางกับที่อื่นๆ รวมถึงกระดาษดูจะมีคุณภาพที่สุด

สำนักพิมพ์อุดมตั้งอยู่แถววัดเล่งเน่ยยี่ (วัดมังกรกมลาวาส) ช่วงสงคราม แม้จะพิมพ์หนังสือจำนวนไม่น้อย แต่ชีวิตส่วนตัวมีกล่าวถึงความยากลำบากว่าอุดมได้หลบลี้ไปอาศัยบ้านพักแถวบางกะปิ จากอนุสรณ์งานศพของบุตรชายหัวปีเพียงหนึ่งคน เมื่อ พ.ศ.2534[27] ทั้งยังได้เห็นการเขียนคำไว้อาลัยในเล่มดังกล่าว แต่ยังไม่ทราบว่าท่านผู้นี้มีชีวิตยืนยาวถึงปีไหน


‘ยาขอบ’ โชติ แพร่พันธุ์ (พ.ศ.2450-2499)

มือพิฆาตพงศาวดารจีน ที่กลับหลงใหล ‘สามก๊ก’ จนมิอาจหวนคืนมาเขียนตอนจบ ‘ผู้ชนะสิบทิศ’


“ข้างที่นอนของเพื่อนจะมีหนังสือ พงศาวดารพม่า ของเสด็จในกรมนราธิประพันธ์พงศ์ หนังสือสามก๊ก, ราชาธิราช ตลอดจนหนังสือตำรายุทธศาสตร์… วางซ้อนกันไว้ตั้งใหญ่”[28] (เวทางค์)

“ข้าพเจ้าเป็นผู้ให้นาม ‘ยาขอบ’ แก่เขา, นามนี้เราเลียนมาจากนาม W.W.Jacob นักเขียนเรื่องตลกในหนังสือพิมพ์ STRAND ของอังกฤษ และได้ออกเสียงให้ดูเป็นคำไทย”[29] (กุหลาบ สายประดิษฐ์)

“คือดูเหมือนเรียกกันว่า ‘ฉบับวณิพก’ ข้าพเจ้าได้มาพลิกอ่านดูบ้างเล็กน้อย…รู้สึกว่าคุณโชติเขียนเป็น Style ใหม่ สนุกดีเหมือนกัน” (ขุนวิจิตรมาตรา)[30]

‘กวนอู’ นับเป็นตัวละครสามก๊กตัวแรกที่ปรากฏจากปลายปากกาของยาขอบ ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ พ.ศ.2480 กระนั้นเวลาก็ล่วงเลยกว่า 5 ปีที่ยาขอบนำเรื่องนี้ตีพิมพ์จำหน่ายเอง ก่อนรัฐบาลประกาศใช้ภาษาแบบใหม่เป็นทางการเพียงไม่กี่วัน แต่จะเริ่มเห็นลักษณะการใช้ภาษาแบบใหม่ได้ในหนังสือเล่มนี้ (คำนำระบุวันที่ 15 พรึสภาคม 2485) 

ยาขอบให้เหตุผล 2 ประเด็นใหญ่ในการประพันธ์แนวแยกตัวละครไว้ ได้แก่ หนึ่ง “เพราะสามก๊กฉะบับที่ราชบันดิดสภาชำระ (พ.ศ.2471) อันเปนฉบับพิมพ์ครั้งหลังสุด ซึ่งแต่ก่อนหาซื้อได้ตามร้านขายหนังสือชุดละ 8 ถึง 10 บาท เปนหย่างสูงนั้น เดี๋ยวนี้ชุดละ 25 บาทก็หาซื้อได้ยาก และยังไม่เห็นลู่ทางว่าผู้ไดไครจะคิดพิมพ์ขึ้นอีกเลย โอกาสไนพายหน้าที่จะได้พบอ่าน สามก๊ก เปนอันหมายได้ว่านับวันนับจะหดตัดลง” [31]

สอง แรงบันดาลใจจากการอ่าน ‘อภิธานรามเกียรติ์’ ซึ่ง “กล่าวย่อๆ ถึงถานะและเรื่องราวของตัวต่างๆ ในเรื่องรามเกียรติไปตามลำดับอักสร อ่านดูรู้สึกว่าเพลินดี ได้รู้จักหมดทุกตัว อ่านจบแล้วรู้เรื่องเหมือนอ่านรามเกียรติจบ…ฉันจึงหวังว่า สามก๊ก ในแบบวนิพพกนี้… ถ้าฉันทำได้จบตามความตั้งใจ ก็น่าจะเปนประโยชน์แก่ผู้อ่าน… และช่วยผ่อนความสับสนไนขนะไปอ่านสามก๊กจิงๆ ลงบ้าง”

ยาขอบถ่ายทอดเรื่องราวตัวละครสามก๊กได้ทั้งสิ้น 18 คน พร้อมนิยามชื่อตอนผ่านคุณสมบัติอย่างเพราะพริ้ง เช่น ‘ขงเบ้ง ผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร’ หรือ ‘โจโฉ ผู้ไม่ยอมให้โลกทรยศ’ ทั้งในระยะต้นของการพิมพ์จำหน่ายเองและผ่านสำนักพิมพ์อุดม คำนำจะได้รับการร่ายยาวเป็นพิเศษซึ่งล้วนถือเป็นคุณูปการอันสำคัญยิ่งสำหรับเกร็ดเรื่องราวและแนวคิดของผู้ประพันธ์ ทั้งนี้ยาขอบได้อุทิศตัวละคร 6 เรื่อง เพื่อรำลึกถึงบุคคลอันเป็นที่เคารพรัก หนึ่งในนั้นยาขอบอุทิศเล่มเล่าปี่ ยกเป็นเครื่องบูชาพระคุณแด่ “เจ้าประคุณเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ผู้เป็นบิดรของสามก๊กในพากย์ภาษาไทย… สิ่งที่ยังไม่เชื่อว่าจะมีใครทำได้เหมือนอย่างที่ท่านเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้ทำไว้แล้ว ก็คือสามก๊กฉะบับที่ สำนวนจะยั่งยืนเหมือนเมฆ ดังที่ท่านผู้นี้ได้ประสิทธิ์ประศาสน์ไว้เป็นอาภรณ์แก่วรรณกรรมของชาติไทย”[32]

นอกเหนือจากสามก๊ก ช่วงปลายชีวิตของยาขอบยังได้แปลวรรณคดีจีนอีโรติกเรื่องดัง ‘จินผิงเหมย’ (金瓶梅) ตั้งชื่อว่า ‘บุปผาในกุณฑีทอง’ และมี เหม เวชกร วาดภาพปกให้ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าทำได้เพียงหนึ่งในสี่ส่วนเท่านั้น


ภาพปกอนุสรณ์งานศพ ‘ยาขอบ’

อนึ่ง นามสกุลของ ‘ยาขอบ’ ได้รับการประทานจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อันแสดงไว้ในอนุสรณ์งานศพ คำไว้อาลัยว่า “เด็กชายคนนั้นเป็นลูกของแม่จ้อย เกิดจากเจ้าอินแปง… คุณนายจันทร์พาเด็กชายนั้นมาเฝ้าเสด็จพ่อ… เสด็จพ่อประทานชื่อว่า โชติ แพร่พันธุ์”[33] (ในอนุสรณ์งานศพเล่มชีวประวัติ เล่าไว้ว่า ชื่อ ‘โชติ’ ได้รับการตั้งโดยมารดา)[34]


อนุสรณ์งานศพ ‘ยาขอบ’ อีกหนึ่งเล่ม


ยาขอบได้อุทิศตัวละคร ‘จิวยี่’ ตอน ‘ผู้ถ่มน้ำลายรดฟ้า’ แด่เจ้าพระองค์นี้ไว้ในคำนำก่อนงานพระเมรุไม่ถึงหนึ่งเดือนว่า “ระหว่างเขียนหนังสือเล่มนี้ ในวงวรรณกรรมได้ประสบความวิปโยคอันยิ่งใหญ่ คือการพังทลายของหอสมุดมีชีวิต สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชนุภาพสิ้นพระชนม์… กล่าวแต่ในส่วนปลีกย่อยที่สุดที่เกี่ยวกับหนังสือเรื่อง สามก๊ก นั้น ตำนานหนังสือสามก๊ก ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในด้านค้นคว้ารวบรวมของพระองค์ท่าน ก็ทรงคุณค่าเสมือนแว่นวิเศษ… และได้ประทานนามสกุลให้แก่วณิพกผู้เล่าเรื่อง สามก๊ก นี้ ซึ่งบางทีพระเมตตาอันนี้จะเป็นพรเป็นเครื่องรางคุ้มกายมิให้ข้าพเจ้าไส้แห้งตายในชีวิตของการประพันธ์”[35]


ภาพปก ‘จิวยี่ ผู้ถ่มน้ำลายรดฟ้า’ ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2495


สุดทาง ‘สามก๊ก’ แปลจากฉบับจีน โดย
‘วรรณไว พัธโนทัย พ.ศ.2521-2523’


ความนิยมวรรณคดีสามก๊กดูจะเพิ่มพูนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สามก๊ก ฉบับราชบัณฑิตยสภายังคงได้รับการผลิตซ้ำอย่างสม่ำเสมอ ด้านหนังสือสารคดีการเมือง แม้แต่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังกระโดดลงมาเล่นในสวนอักษรสามก๊ก เมื่อ พ.ศ.2492 โดยเขียนถึงตัวละครอย่าง  ‘โจโฉ’ และ ‘เบ้งเฮ็ก’ และในปีเดียวกันนั้น มีนักเขียนใช้นามปากกา ‘ฟรีเพรสส์’ แต่งหนังสืออุปมาล้อการเมืองในชื่อ ‘นักการเมือง สามก๊ก’ จำนวน 4 เล่ม[36] ออกจำหน่ายหลังความพ่ายแพ้ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ เมื่อครั้งกบฏวังหลวง 2492 โดยเปรียบเปรย จอมพล ป. (โจโฉผู้เฟื่องอำนาจ) ปรีดี พนมยงค์ (เล่าปี่ แม่ทัพผู้ไร้แผ่นดินครอง) และควง อภัยวงศ์ (ซุนกวน) รวมทั้ง ‘นายหนหวย’ (ศิลปชัย ชาญเฉลิม) นักเขียนสารคดีการบ้านการเมืองก็ลงมาขีดเขียนสามก๊ก ระหว่าง พ.ศ.2495-2497[37]

ขณะที่ฟาก ‘ยาขอบ’ ยังทยอยเพิ่มตัวละครจนถึงคนที่ 18 ซึ่งเป็นตัวสุดท้าย คือ ‘โจโฉ’ ตีพิมพ์ พ.ศ.2496 (เขียนไม่จบ) ในช่วงเวลานั้น ฤดูร้อนแห่งเดือนมีนาคม 2495 ยาขอบยังแสดงความประสงค์จะตั้งคณะแปลสามก๊กให้สมบูรณ์ตามต้นฉบับเดิม ดังแสดงกับมิตรสหายไว้ดังนี้


ภาพเปรียบเปรยจอมพล ป. กับ โจโฉ ในหนังสือสารคดีการเมืองยุคหลังสงคราม


“นี่, คุณวัลลภ เรามาทำ สามก๊ก กันดีกว่า ให้สมบูรณ์เลยทีเดียว ผมเองเล่นมาเกือบยี่สิบปีแล้ว ยังไม่หายอยาก… ‘ท่านเจ้าคุณพระคลังฯ ท่านทำไว้ในสมัยทูลกระหม่อมปู่ แต่เรากระทาชายทั้งสี่จะทำถวายไว้ในแผ่นดินรัชกาลที่ 9 นี้’ พี่โชติเริ่มบรรยายแผนการ ‘ท่านทำของท่านไว้อย่างไรในครั้งกระโน้น คงของท่านไว้ แต่เราจะทำอย่างชนิดที่เรียกว่า ‘สมบูรณ์’ ละ… เรามี คุณก็เห็นอยู่แล้วว่า [ฉบับ] บรีวิทเทเล่อร์ นั้นสาหัสนัก ถ่ายออกมาจากจีนเกือบตัวต่อตัวทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้น เราจะเอาข้างจีนมาเทียบด้วย อะไรกิมเซียถ่างว่าไว้เราก็ใส่เข้าไปอีก ถ้าบรีวิทเทเล่อร์ไม่ได้ใส่เข้าไว้ นี่ละที่ว่า ‘สมบูรณ์’ น่ะ’… แล้ว ยาขอบ ก็งัดเอาต้นฉบับของ บรีวิทเทเล่อร์ ออกมากางลงบนโต๊ะ เริ่มชำแหระแจกจ่ายกันคนละห้าบทและแถมด้วย หนังตัวอย่าง อีกคนละหนึ่งบท และกำชับว่าให้ส่งบทตัวอย่างก่อนเพื่อจักได้นำลงในนิตยสารรายสัปดาห์เป็นการโฆษณา…นี่เป็นที่มาของ ‘สามก๊กฉบับสมบูรณ์’ และเป็นแก่นสำคัญของ ‘เรื่องไม่รู้จบ’…

ซึ่งเหตุการณ์ดั่งนี้ดึงเอาเวลาและความคิดของ ยาขอบ เข้ามาหมกมุ่นอยู่กับ สามก๊ก เสียเป็นส่วนมาก เลยทำให้การประพันธ์เรื่องอื่นต้องชงักไป และข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่า เรื่องที่ออกมาจากสมองของ ยาขอบ ในระยะหลังนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ สามก๊ก แทบทั้งสิ้น—… ขณะนั้น ยาขอบ มิได้คำนึงถึง ผู้ชนะสิบทิศ ของเขาเลย คงปล่อยให้ค้างเติ่งอยู่เพียงประมาณสิบยกที่ต่อใหม่เท่านั้นเอง… พบกันคราวใดก็พูดกันถึงเรื่อง สามก๊ก อย่างเดียว”[38]

เป็นที่เสียดายว่าในคัคนานต์แห่งวรรณกรรมไทย ได้สูญเสียนกอินทรีตัวนี้ไปในอีก 5 ปีถัดมา คือก่อนงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษไม่กี่เดือน ช่วงระยะเวลานั้น ‘พิกุล ทองน้อย’ พยายามที่จะเรียบเรียง ‘สามก๊ก ฉบับสมบูรณ์’ ชุดสองเล่มหนา[39] แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมนักจนถูกหลงลืมไปจากวงการสามก๊ก  ความประสงค์ดังว่าของยาขอบเป็นจริงในอีก 20 ปีหลังงานศพของเจ้าตัว เมื่อ ‘วรรณไว พัธโนทัย’ ทยอยตีพิมพ์จำหน่าย ‘สามก๊ก ฉบับแปลใหม่’ จากภาษาจีน เริ่มจาก ‘ม.ค. 2521 ถึง มิ.ย. 2523’ จำนวน 31 เล่มจบ อันแสดงถึงเหตุแห่งการแปลพอสังเขปในคำนำไว้ว่า

“แต่น่าเสียดายที่การแปลครั้งแรกนั้น มีข้อขาดตกบกพร่องอยู่มาก ทั้งในด้านคำแปลตลอดจนชื่อบุคคล สถานที่ วัฒนธรรม ถ้อยคำสำนวนและการเดินเรื่อง… ผมจึงตัดสินใจมุมานะแปลเรื่องสามก๊กจากต้นฉบับภาษาจีนของหลอกว้านจงออกมาเป็นภาษาไทยให้ตรงตามต้นฉบับภาษาจีน และบิดาของผมคือ คุณสังข์ พัธโนทัย ก็ได้ใช้ความพยายามช่วยขัดเกลาภาษาเพื่อรักษาสำนวนของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ไว้อย่างสุดความสามารถ”[40] 

ประโยคสุดท้าย สอดคล้องกับความเห็นของถาวร สิกขโกศล ที่บันทึกไว้ว่า “คุณค่าของเรื่องสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มิได้อยู่ที่แปลถูกต้องครบถ้วนตามฉบับภาษาจีนหรือไม่ หากอยู่ที่เรียบเรียงออกมาเป็นวรรณกรรมไทยที่งดงาม”[41]


พิชัยสงครามสามก๊ก โดย สังข์ พัธโนทัย


อนึ่ง ก่อนหน้าการแปลสมบูรณ์จากฉบับจีนชุดนี้ ‘สังข์ พัธโนทัย’ บิดาของวรรณไว หรือ ‘นายมั่น’ อดีตคนสนิทของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และเป็นผู้หนึ่งใน 29 ผู้ทรงคุณวุฒิของคณะปฏิวัติภาษา ได้เริ่มเรียบเรียง ‘พิชัยสงครามสามก๊ก’[42] ขณะเผชิญวิบากการเมืองในคุกยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ กระทั่งแล้วเสร็จพร้อมนำมาจัดพิมพ์ใน พ.ศ.2513


ปัจฉิมบท


สามก๊กพากย์ไทยดำรงอยู่คู่กรุงรัตนโกสินทร์ถึงปัจจุบันยาวนานเกินกว่า 2 ศตวรรษเศษ วรรณคดีชิ้นนี้ชาตะขึ้นก่อนหลัง พ.ศ.2348 (รัชกาลที่ 1) ในรูปของสมุดไทย เมื่อมีอายุได้ 60 ปี พ.ศ.2408 (รัชกาลที่ 4) แปรรูปสู่ความทันสมัยของการพิมพ์แบบตะวันตกในรูปหนังสือฝรั่ง ครั้นล่วงถัดมาอีกราว 60 ปี พ.ศ.2471 (รัชกาลที่ 7) อายุได้ 120 ขวบ ได้รับการขัดสีฉวีวรรณงดงามจนเป็นฉบับมาตรฐานที่สร้างความบันเทิงแก่มหาชนชาวไทยตราบทุกวันนี้ 

แม้ช่วงระยะเวลาเพียงน้อยนิด 2 ปีเศษแห่งการ ‘ปฏิวัติภาษาไทย’ ครั้งสำคัญในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2487 (รัชกาลที่ 8) วรรณคดีเอกชิ้นนี้ขณะอายุ 140 ปี ยังมีโอกาสได้ร่วมวงไพบูลย์ถูกจัดพิมพ์ในรูปแบบ ‘ภาสาพิเสส’ ทั้งได้รับการประดับประดาตกแต่งด้วยภาพวาดชุดพิเศษสุดวิจิตรจากยอดจิตรกรมือเทวดานาม เหม เวชกร กอปรกับขนานไปกับห้วงเวลาเดียวกันนี้ มิติแห่งการสร้างสรรค์อรรถาธิบายผ่านปลายปากกาจากสุดยอดนักเขียนประจำยุคสมัยการปกครองของคณะราษฎร[43]อย่าง ‘ยาขอบ’ ยิ่งส่งผลให้วรรณคดีต่างด้าวชิ้นสำคัญนี้เพิ่มทวีความนิยมสู่ทุกชนชั้นของสังคม 

จวบจนทุกวันนี้ ยังนึกหาหนังสือเรื่องใดที่ผลิตซ้ำมากมายดุจคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาที่เหล่าสาวกตามเติมแต่งรจนาคัมภีร์ยิบย่อยเช่น อรรถกถา ฏีกา และปกรณ์วิเสส มากมายดั่งเช่น ‘สามก๊ก’ นี้ไม่ ซึ่งแน่ชัดว่าจะยังครองความเป็นอมตะในบรรณพิภพไทยไปอีกอนันตกาล 

บทความนี้คัดย่อบางส่วนจากฉบับเต็มชื่อว่า ‘สามก๊ก ฉบับ ‘ปติวัติภาสาไทย’ : วาระแห่ง ‘หนังสือจอมพล (พ.ส.2485-2487)’ จัดพิมพ์ในนิตยสาร ‘ฟ้าเดียวกัน’ ปีที่ 17 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2562[44] ผู้เขียนขออุทิศงานเขียนครั้งนี้เพื่อรำลึกถึง สังคม จิรชูสกุล ‘มะสัง’ มิตรสหายแห่งกองบรรณาธิการฟ้าเดียวกัน ผู้มีส่วนร่วมในการจัดหน้าบทความชิ้นนี้ครั้งกาลก่อนนั้น



[1]ยาขอบ (โชติ แพร่พันธุ์) น.ซ., สามก๊ก ฉบับวนิพพก ‘ผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุท’, บทประพันธ์ของ ยาขอบ เล่ม 3 ตีพิมพ์เปนครั้งที่ 1 พิมพ์จำหน่ายเปนเล่มสมุดครั้งแรก จำนวน 2000 เล่ม โดยตัวเขาเอง นะ พรึสภาคม พ.ส.2486 (พระนคร: อักสรนิต), คำนำ, ซ.

[2]สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงใช้คำว่า สามก๊กจี่ 三國志 หรือจดหมายเหตุสามก๊ก ซึ่งถือว่าคลาดเคลื่อนจากต้นฉบับที่นำมาแปล 三國演義 ดู พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ, ตำนานหนังสือสามก๊ก เปนภาคผนวก ประกอบหนังสือสามก๊กฉบับราชบัณฑิตยสภา พระพุทธศักราช 2471 (พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร, 2471), 7.

[3]ถาวร สิกขโกศล, สามก๊ก จากวรรณคดีเอกของจีนมาเป็นวรรณคดีเอกของไทย, สามก๊ก สำนวนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, พิมพ์ครั้งที่ ๒ (โดยถ่ายแบบเหมือนต้นฉบับเดิม), (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2554), 23-38.

[4]กรมพระยาดำรงฯ ใช้คำนี้ เพราะว่า “ไม่มีในจดหมายเหตุ”

[5]เรื่องการใช้ภาษาจีนต่างๆ ดู กรมพระดำรงราชานุภาพ, ตำนานหนังสือสามก๊ก, 31-33.

[6]กรมพระดำรงราชานุภาพ, ตำนานหนังสือสามก๊ก, 30.

[7]เรื่องเดียวกัน, 33-34.

[8]ส.พลายน้อย, “200 ปีหมอบรัดเลย์ ชีวิตและงานอันยิ่งใหญ่ของชายผู้หนึ่ง,” สารคดี ปีที่ 20, ฉบับที่ 233 (กรกฎาคม 2547): 82-112.

[9]กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานหนังสือสามก๊ก, 34.

[10]กรมพระดำรงราชานุภาพ, ตำนานหนังสือสามก๊ก, 35-37.

[11]สุชาติ สวัสดิ์ศรี, บ.ก., “บทกล่าวนำ 1,” ใน เพื่อนพ้องแห่งวันวาร เรื่องสั้น ‘สุภาพบุรุษ’, พิมพ์ครั้งแรก (มปท.: สำนักช่างวรรณกรรม, 2553), 65. ดูเพิ่มเติม ประกาศ วัชราภรณ์, ที่ระลึก 70 ปี ‘คณะสุภาพบุรุษ’ สุภาพบุรุษ นักประพันธ์, พิมพ์ครั้งแรก (กรุงเทพฯ: ดับเบิ้ลนายน์, 2543).

[12]ชูศรี กาลวันตวานิช, “พัฒนาการของหนังสือปกอ่อนในประเทศไทย,” (วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พ.ศ.2518), 93-102

[13]เริงไชย พุทธาโร, เหม เวชกร จิตกรมือเทวดา หลวงสารานุประพันธ์ ราชาเรื่องลึกลับ ผู้ประพันธ์เพลงชาติไทย, (กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2531), 64.

[14]กุหลาบ สายประดิษฐ์, “ในคัคนานต์แห่งวรรณกรรมไทยได้สูญเสียนกอินทรีย์ไปตัวหนึ่ง,” ใน ยาขอบอนุสรณ์, ชีวประวัตินายโชติ แพร่พันธุ์ “ยาขอบ” พิมพ์เป็นอภินันทนาการ เนื่องในงานฌาปนกิจศพ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม 2500, (พระนครฯ: การพิมพ์รุ่งนคร, 2500), 77.

[15]เวทางค์ (นามแฝง-ทองอิน บุณยเสนา), “แด่วณิพพกผู้ยากไร้แต่เพียงเรือนกาย,” ใน ยาขอบอนุสรณ์, 133.

[16]ประมวนวัธนธัมแห่งชาติ พิมพ์โดยคำสั่ง พนะท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัถมนตรี เพื่อแจกพี่น้องชาวไทย ผู้ไหย่บ้าน กำนัน นายอำเพอ และข้าหลวงประจำจังหวัด โดย กรมโคสนาการ (พระนคร: พานิชสุภพล, 24/6/2486).

[17]แถมสุข นุ่มนนท์, “จอมพล ป.พิบูลสงครามกับการสร้างชาติไทย พ.ศ.2481-2487,” วารสารประวัติศาสตร์ ปีที่ 3, ฉบับที่ 2 (2521): 14.

[18]ดู นริศ จรัสจรรยาวงศ์, หนังสือจอมพล ( ป.พิบูลสงคราม ) “ปติวัติภาสา” พ.ศ.2485-2487 ใน 2475 ราสดรส้างชาติ, พ.ศ.2566, (มติชน), 320-328.

[19]ยาขอบ, คำนำ “เล่าปี่ ผู้พนมมือให้แก่ชนทุกชั้น,” ใน สามก๊ก ฉบับวณิพพก พิมพ์ครั้งที่ 1 (สำนักพิมพ์อุดม, 2488), 2-4.

[20]เรื่องเดียวกัน, 29.

[21]สม อิศรภักดี. ผมเกิดก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2. พิมพ์ครั้งแรก 2555 (เคล็ดไทย), 65.

[22]ธวัช ปุณโณทก, วิวัฒนาการภาษาไทยและอักษรไทย (กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2553), 298 อ้างจาก นิตยา กาญจนะวรรณ, “อำนาจเปลี่ยน ภาษาเปลี่ยน,” วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ปีที่ 7, ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2558): 10.

[23]ดูเพิ่มเติม คมทวน คันธนู, “คำนิยม,” ใน สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, บ.ก. , ช่วย พูลเพิ่ม, พิมพ์ครั้งที่ 1 (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2555),10-14.

[24]ยาขอบ คำนำ “จิวยี่,” ใน สามก๊ก ฉบับวณิพก เล่ม 1, 247.

[25]รายละเอียดทั้งคำนำพิมพ์ครั้งแรกและเนื้อหาสามารถดูเพิ่มใน ช่วย พูลเพิ่ม บ.ก., สามก๊ก ฉบับวณิพก เล่ม 1-2, พิมพ์ครั้งแรก (กรุงเทพ: แสงดาว, 2551).

[26]อุดม ชาตบุตร คำนำของผู้พิมพ์ 20 เมษายน 2487, สามก๊ก ราชบันดิตสภาจัดชำระ (เล่ม 1 จากทั้งหมด 10), สำนักพิมพ์อุดม ฉบับ 24 พิมพ์ 25 เมษายน 2487 เป็นอันดับพิมพ์เล่มที่ 155 ของสำนักพิมพ์นี้, ก-ค.

[27]อุดม ชาตบุตร เขียนคำไว้อาลัย “ลูกพ่อ”, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายชโยดม ชาตบุตร จ.ช. วันที่ 22 ธันวาคม 2534 ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส (กรุงเทพฯ: พีเอ็นด์การพิมพ์).

[28]เวทางค์ (นามแฝง-ทองอิน บุณยเสนา), “แด่วณิพพกผู้ยากไร้แต่เพียงเรือนกาย,” 133.

[29]กุหลาบ สายประดิษฐ, ในคัคนานต์แห่งวรรณกรรมไทย ได้สูญเสียนกอินทรีย์ไปตัวหนึ่ง,” 73.

[30]80 ปีในชีวิตข้าพเจ้า, อนุสรณ์งานศพขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) 8 ต.ค.2523,594.

[31]ยาขอบ, สามก๊ก ฉบับวนิพพก เทพเจ้าแห่งความสัจซื่อ. (สำนักพิมพ์ตี้ง้วนบรรนาคาร : 2485). คำนำ 2-3.

[32]ยาขอบ, คำนำ “เล่าปี่ ผู้พนมมือให้แก่ชนทุกชั้น,” ใน สามก๊ก ฉบับวณิพพก. 5.

[33]มจ.ศุกรวรรณดิศ ดิศกุล, ปฏิสนธิ ของ โชติ แพร่พันธุ์, ยาขอบอนุสรณ์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม, พระนคร วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พุทธศักราช 2500, (การพิมพ์รุ่งนคร),89.

[34]ชีวประวัติ นายโชติ แพร่พันธุ์ “ยาขอบ” พิมพ์เป็นอภินันทนาการ เนื่องในงานฌาปนกิจ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 25 พฤษภาคม 2500, (โรงพิมพ์อักษรนิติ), 3-4.

[35]ยาขอบ คำนำ “จิวยี่,” ใน สามก๊ก ฉบับวณิพก เล่ม 1, 256-57.

[36]ฟรีเพรสส์ (นามแฝง), นักการเมืองสามก๊ก 4 เล่มชุด พ.ศ.2492-2493 (พระนคร: สหกิจ).

[37]หนังสืองานศพ นายศิลปชัย ชาญเฉลิม (นายหนหวย) วัดโสมนัสวิหาร วันพุธ 22 พฤศจิกายน 2543,(วัชรินทร์การพิมพ์),318.

[38]พลจ.วัลลภ โรจนวิสุทธ์, “เรื่องไม่รู้จบ ของ ยาขอบ,” ใน ยาขอบ อนุสรณ์, 188-191.

[39]พิกุล ทองน้อย, สามก๊ก ฉบับสมบูรณ์ 2 เล่มชุด, พิมพ์ครั้งที่ 2,(เกษมบรรณกิจ,2506).

[40]วรรณไว พัธโนทัย คำนำ, สามก๊ก ฉบับแปลใหม่, พิมพ์ครั้งแรก มกราคม พ.ศ.2521, (ศูนย์การพิมพ์).

[41]ถาวร สิกขโกศล, “สามก๊ก จากวรรณคดีเอกของจีนมาเป็นวรรณคดีเอกของไทย,” สามก๊ก สำนวนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 1, พิมพ์ครั้งที่ 2 (โดยถ่ายแบบเหมือนต้นฉบับเดิม) (กรุงเทพ: สุขภาพใจ, 2554), (36).

[42]สังข์ พัธโนทัย, พิชัยสงครามสามก๊ก, พิมพ์ครั้งแรก 2513, (พระนคร,ศูนย์การพิมพ์).

[43]นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ก๋วยเตี๋ยว สามก๊ก มรดกคณะราษฎร กับการปฏิวัติวัฒนธรรมจีนในสยาม จุดเชื่อมต่อ https://waymagazine.org/interview-naris-charaschanyawong/

[44]ฟ้าเดียวกัน 17/2 : กำเนิดสยามจากประวัติศาสตร์ศิลป์และโบราณคดี จุดเชื่อมต่อ https://sameskybooks.net/index.php/product/journal-017-02/

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save