fbpx

นักฆ่า คนบ้า หรือศิลปิน? Ripley

Ripley เป็นมินิซีรีส์ 8 ตอนจบ เผยแพร่ใน Netflix ดัดแปลงจากนิยายปี 1955 เรื่อง The Talented Mr. Ripley ของแพทริเซีย ไฮสมิธ

จนถึงปัจจุบัน งานเขียนชิ้นนี้ของไฮสมิธ ขึ้นหิ้งเป็นนิยายแนวตื่นเต้นระทึกขวัญเชิงจิตวิทยาระดับคลาสสิกไปเรียบร้อยแล้ว

เมื่อแรกปรากฏสู่สายตาผู้อ่าน The Talented Mr. Ripley สร้างความฮือฮาเกรียวกราวไปทั่ว ด้วยความสด แปลกใหม่ ท้าทายต่อศีลธรรมเป็นอย่างยิ่ง กับพฤติกรรมของตัวเอก ซึ่งเป็นคนเลว เป็นฆาตกร มิหนำซ้ำยังมีเค้าเงื่อนว่าน่าจะมีอาการป่วยไข้ทางจิตหนักหนาจนเกินเยียวยา

ยิ่งไปกว่านั้น พฤติกรรมเลวร้ายสารพัดสารพันของตัวละครอย่างทอม ริปลีย์ ยังลงเอยด้วยบทสรุป ‘คนชั่วลอยนวล’ รอดพ้นจากเงื้อมมือของฝ่ายรักษากฎหมาย ไม่ต้องรับผลกรรมที่ตัวเองก่อ ที่สำคัญ ตัวละครไม่ได้รู้สึกรู้สาต่อความผิดบาปต่างๆ นานาที่ตัวเองได้กระทำ

ความเก่งกาจยอดเยี่ยมของแพทริเซีย ไฮสมิธ คือขณะที่ผู้อ่านรู้ทั้งรู้เกี่ยวกับตัวละครทอม ริปลีย์ ว่าเต็มไปด้วยคุณสมบัตินิสัยติดลบเลวร้ายเกินกว่าจะรักชอบได้ลง แต่ตลอดรายทางผู้เขียนก็โชว์ความสามารถ ทำให้ผู้อ่านเผลอตัวเอาใจช่วยตัวละครนี้ให้รอดพ้นจากสถานการณ์คับขันครั้งแล้วครั้งเล่า จนท้ายที่สุดผู้อ่านก็มีสถานะเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในเหตุอาชญากรรมไปโดยปริยาย

ความสำเร็จของ The Talented Mr. Ripley ส่งผลให้มีนิยายชุดริปลีย์ภาคต่อๆ มาอีก 4 เรื่อง ประกอบไปด้วย Ripley Under Ground (1970), Ripley’s Game (1974), The Boy Who Followed Ripley (1980) และ Ripley Under Water (1991)

นิยายชุดนี้ ดัดแปลงเป็นหนังอยู่บ่อยครั้ง เรื่องที่ได้รับความนิยมมากสุดคือ The Talented Mr. Ripley ซึ่งมีด้วยกัน 3 เวอร์ชัน คือ Purple Noon (1960) อแลง เดอลอง รับบทเป็นทอม ริปลีย์ ถัดมาในปี 1999 ใช้ชื่อเหมือนนิยาย กำกับโดยแอนโทนี มิงเกลา (ผู้กำกับ The English Patient และ Cold Moutain) แมตต์ เดมอน แสดงเป็นทอม ริปลีย์ และล่าสุดคือ Ripley (2024) ที่ผมกำลังจะเล่าสู่กันฟัง ซึ่งมีแอนดรูว์ สก็อตต์รับบทนำ

ส่วนหนังที่สร้างจากนิยายภาคอื่นๆ ได้แก่ Ripley Under Ground (2005) แสดงโดยแบร์รี เพ็พเพอร์ The American Friend (1977) ดัดแปลงจาก Ripley’s Game กำกับโดยวิม เวนเดอร์ส และมีเดนนิส ฮ็อพเพอร์ รับบททอม ริปลีย์ และอีกครั้งสำหรับ Ripley’s Game ในปี 2002 ใช้ชื่อเหมือนนิยาย จอห์น มัลโควิชแสดงนำ

พ้นจากนี้แล้วยังมีการดัดแปลงเป็นหนังโทรทัศน์อีกหลายครั้ง กล่าวโดยรวมคือ ทอม ริปลีย์กลายเป็นตัวละครอมตะแขนง ‘เลวร้ายจนได้ดี’ ในหมวดหมู่นิยายและหนังระทึกขวัญเชิงจิตวิทยา เคียงข้างกับตัวละครในตำนานคนอื่นๆ อย่าง นอร์แมน เบทส์ จากนิยายและหนังเรื่อง Psycho, ฮันนิบาล เล็คเตอร์ จาก The Silence of the Lambs (รวมทั้งอีกหลายภาคก่อนหน้าและหลังจากนั้น), แอนนี วิลค์ส จากเรื่อง Misery

ผมไม่แน่ใจนักในแง่ของข้อมูล ว่าทอม ริปลีย์จะเป็นตัวละครประเภท ‘พระเอกฆาตกร’ รายแรกสุดในแวดวงหนังและนิยายหรือไม่ แต่ที่สามารถกล่าวได้เต็มปากคือ ทอม ริปลีย์เป็นตัวละครทำนองนี้ที่โดดเด่นเป็นลำดับต้นๆ ได้รับการจดจำ และดำรงสถานะเป็น ‘พี่ใหญ่’ มีอิทธิพลแรงบันดาลใจต่อตัวละครในหนัง นิยาย ซีรีส์รุ่นหลังถัดมาจำนวนมาก เช่น เด็กซ์เตอร์ มอร์แกน จากซีรีส์มหาฮิตเรื่อง Dexter, โจ โกลด์เบิร์ก จากเรื่อง You (สร้างจากนิยายไตรภาคเรื่อง You, Hidden Bodies และ You Love Me ของแคโรไลน์ เคปเนส) และสดๆ ร้อนๆ คือ โอลิเวอร์ ควิก จากเรื่อง Saltburn ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญหลายอย่างใกล้เคียงกับ The Talented Mr. Ripley มาก ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างของเนื้อเรื่อง บุคลิกบางอย่างของตัวละคร วิธีลงมือก่อเหตุและผลพวงหลังจากนั้น หรือจังหวะลุ้นระทึกเร้าใจ

Ripley เวอร์ชันล่าสุด สร้างสรรค์ เขียนบท และกำกับทั้งหมดทุกตอนโดยสตีเวน เซลเลียน สุดยอดมือเขียนบท ซึ่งมีผลงานเด่นๆ มากมาย อาทิเช่น Awakennings (1990), Schindler’s List (1993), Gangs of New York (2002), Money Ball (2011), The Irish Man (2019)

พล็อตคร่าวๆ กล่าวถึงชายหนุ่มชื่อทอม ริปลีย์ ซึ่งยังชีพอยู่ในนิวยอร์กด้วยการปลอมแปลงเอกสารเพื่อทวงหนี้ และโทรศัพท์ขู่กรรโชกหลอกลวงเหยื่อ (ทำนองลักษณะเดียวกันกับแก๊ง call center ในปัจจุบัน) อย่างไรก็ตาม วิธีทุจริตของทอมไม่ราบรื่นนัก แม้จะล่อลวงหลอกเหยื่อสำเร็จ แต่ก็ติดขัดเผชิญอุปสรรคเมื่อต้องนำเช็คมาขึ้นเงินที่ธนาคาร เจอะเจอการตรวจสอบเข้มงวด จนถูกจับพบพิรุธ

ช่วงขณะที่กำลังเผชิญความยากลำบาก ทั้งการเงินอันขัดสน และต้องหลบหลีกด้วยความหวาดระแวงเกรงตำรวจจะเล่นงาน ทอมได้รับข้อเสนอเหมือนส้มหล่นลาภลอย

เฮอร์เบิร์ต กรีนลีฟ เจ้าของบริษัทอู่ต่อเรือ ยื่นข้อเสนอให้ทอมเดินทางไปยังอิตาลี เพื่อพบกับ ดิคกี กรีนลีฟ ลูกชายของเขา ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น และเพลิดเพลินจนมีทีท่าว่าจะปักหลักอยู่เป็นการถาวร ภารกิจหน้าที่ของทอมคือการโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมให้ดิคกีกลับอเมริกา (มิสเตอร์เฮอร์เบิร์ต ตัดสินใจว่าจ้างทอม เพราะได้รับข้อมูลคลาดเคลื่อน จนเกิดความเข้าใจผิดคิดว่า ทอม ริปลีย์เป็นเพื่อนสนิทของลูกชาย)

ข้อเสนอดังกล่าวหมายรวมถึงการออกค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ตั้งแต่ค่าเดินทาง ที่พัก พร้อมกับเงินเดือน รวมแล้วเป็นจำนวนตัวเลขที่งามทีเดียว นี่ยังไม่นับรวมโอกาสได้ปลีกห่างจากเงื้อมมือและการไล่ล่าของตำรวจ จากสภาพชีวิตความเป็นอยู่อดอยากปากแห้ง ได้ท่องเที่ยวผจญโลกกว้างในดินแดนห่างไกลสวยงาม ทอมจึงตกปากรับคำด้วยความลิงโลดยินดี และฉลาดพอจะเก็บอาการรักษาสงวนท่าที ให้ดูเป็นการเสียสละให้ความช่วยเหลือ จนฝ่ายนายจ้างรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ

แต่เมื่อเดินทางไปถึงอิตาลี ความจริงกลับปรากฏว่าทอมไม่ใช่เพื่อนของดิคกี แท้จริงแล้วทั้งสองเคยพบกันผิวเผินในงานปาร์ตี้คราวหนึ่ง และแยกย้ายในแบบจดจำกันไม่ได้

เรื่องราวลำดับต่อมาถัดจากนั้น ว่าด้วยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของทอมในการเข้าหา ทำตัวให้ดิคกียอมรับ ตามด้วยการสร้างความสนิทสนม แล้วค่อยๆ แทรกแซงล่วงล้ำเข้าไปในชีวิตของดิคกีมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมาร์จ แฟนสาวของดิคกี ซึ่งหวาดระแวงไม่ไว้ใจทอมเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้วค่อยๆ ถูกกีดกันออกไปจนอยู่วงนอก ขณะเดียวกัน คำโกหกพกลมในจดหมายหลายฉบับที่มีไปถึงนายจ้างก็ถลำลึกกลายเป็นการหลอกลวงหนักข้อยิ่งๆ ขึ้น

จนในที่สุด ทุกสิ่งทุกอย่างก็เขม็งเกลียว ความลับแลกการลวงเริ่มบานปลายเกินกว่าจะเก็บงำปกปิดไปทั่ว และนำไปสู่สถานการณ์ตึงเครียดที่ลงเอยเลวร้ายถึงขั้นคอขาดบาดตาย เกิดเหตุอาชญากรรมครั้งที่หนึ่ง

ที่เหลือต่อมาคือการกำจัดพยานหลักฐานต่างๆ ของทอมเพื่อให้พ้นผิด สิ่งที่ต่างจากพล็อตฆาตกรรมทั่วไป คือทอมไม่ได้หลบหนีเอาตัวรอดหลังลงมือก่อเหตุฆาตกรรม (ซึ่งสามารถทำได้อย่างสะดวกง่ายดาย และน่าจะเป็นหนทางที่ปลอดภัย) แต่กลับทำในทางตรงข้าม กลับมาเผชิญหน้ากับคู่ปรับอย่างมาร์จ พำนักอาศัยในบ้านของดิคกีเหมือนที่เคยเป็นก่อนหน้า

และที่เลือดเย็นสุดคือการเริ่มต้นใช้ชีวิตต่อหน้าทุกคนที่ไม่รู้จัก ด้วยการแอบอ้างสวมรอยเป็นดิคกี กรีนลีฟ

ความยอกย้อนซ่อนเงื่อนของ Ripley ไม่ใช่การสร้างความเร้นลับชวนสงสัยให้ผู้ชมคาดเดาว่าใครเป็นฆาตกร ตามขนบเรื่องสืบสวนสอบสวนแบบ whodunit แต่เป็นการเล่นเอาเถิดเจ้าล่อ ระหว่างฝ่ายไล่ล่า (ทั้งคนที่เต็มไปด้วยสงสัยอย่างมาร์จและตำรวจ) กับฝ่ายฆาตกรคือทอม ริปลีย์ ในแบบที่เรียกกันว่า cat and mouse เต็มไปด้วยการชิงไหวชิงพริบ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเข้มข้นเร้าใจ

เงื่อนไขที่ทำให้เรื่องราวใน Ripley สนุกเร้าใจมากๆ คือ ทอม ริปลีย์ไม่ใช่นักฆ่าประเภทวางแผนไตร่ตรองล่วงหน้า เพื่อก่อเหตุอาชญากรรมสมบูรณ์แบบ ไร้พิรุธให้สืบเสาะเอาผิด การลงมือฆาตกรรมแต่ละครั้งเกิดขึ้นในสภาพคับขัน ดิ้นรนเอาตัวรอด ปราศจากการไตร่ตรอง ทุลักทุเล เต็มไปด้วยพยานหลักฐาน ช่องว่างรูโหว่มากมาย กระทั่งต้องแก้ไขทีละเปลาะด้วยความสามารถพิเศษ

ความสามารถพิเศษของทอม ริปลีย์ คือการปลอมลายเซ็น เป็นนักเลียนเสียงและบุคลิกของคนที่ได้พบเห็น เหนืออื่นใด คือความเก่งกาจในการโกหกสดๆ ร้อนๆ อย่างลื่นไหล

ความบันเทิงต่อมาคือตัวนิยายที่เป็นเรื่องเดิม ฉลาดและเก่งกาจมากในการผูกสร้างสถานการณ์คับขันชนิดเจียนอยู่เจียนไปนับครั้งไม่ถ้วน และฉบับมินิซีรีส์ก็เก่งในการบวกเพิ่มรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในการขยี้เร้าอารมณ์ให้จัดจ้านยิ่งๆ ขึ้น

Ripley จึงเป็นมินิซีรีส์ที่สนุกด้วยรสบันเทิงเฉพาะตัว มีจังหวะจะโคนค่อยเป็นค่อยไป ค่อนไปทางนิ่งมากกว่าอึกทึกฉับไว แต่ก็ตรึงความสนใจไว้ได้ตลอดเวลา (ผมนั้นถึงขั้นติดหนึบเลยทีเดียว)

ผมดูมินิซีรีส์เรื่อง Ripley ไปพร้อมๆ กับอ่านนิยาย (ฉบับแปลภาษาไทย ใช้ชื่อ ‘ริปลีย์ ฆาตกรหลายหน้า’ พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2546 โดยสำนักพิมพ์ IMAGE) เพื่อเทียบเคียงว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

ได้ข้อสรุปว่ารายละเอียดและการดำเนินเรื่องนั้นตรงและใกล้เคียงกันมากประมาณ 90%

ส่วนต่าง 10% นั้น เป็นการเพิ่มรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เข้ามาในฉบับซีรีส์ เพื่อทดแทนสิ่งที่ขาดหายไป คือการเล่าอธิบายความรู้สึกนึกคิดในใจของตัวละครจากฉบับนิยาย

ความต่างเหล่านี้พอจะกล่าวได้ว่าฉบับนิยายช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจตัวละครได้มากกว่าในซีรีส์ แต่ก็ชัดเจนกว่าเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้นนะครับ เพราะจุดสำคัญอย่างหนึ่งคือ แพทริเซีย ไฮสมิธ เจตนาให้ตัวละครทอม ริปลีย์ มีความคลุมเครือ (โดยเฉพาะความเป็นไปได้ว่า ทอม ริปลีย์อาจจะเป็นพวกรักเพศเดียวกัน) ความคลุมเครือหลายๆ อย่างในตัวทอม ริปลีย์ ทำให้การดัดแปลงเป็นหนังทุกๆ ครั้ง เกิดแง่มุมน่าสนใจว่าผู้สร้างจะเลือกตีความตัวละครนี้ออกมาเช่นไร

อย่างไรก็ตาม แง่มุมหนึ่งที่ฉบับนิยายสะท้อนไว้ค่อนข้างชัด คือการเล่าภูมิหลังของตัวละคร ริปลีย์มีวัยเด็กที่ย่ำแย่เลวร้าย พ่อแม่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูของป้าใจร้าย จนกระทั่งเกลียดชังชีวิตตนเอง อยากหลบหนีให้พ้นจากป้า จนนานวันต่อมา ก็กลายเป็นความปรารถนาจะหลุดพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นทอม ริปลีย์

พูดง่ายๆ คือทอม ริปลีย์ มีปมเกลียดชีวิตและอดีตของตนเอง แง่มุมนี้ฉบับหนังปี 1999 และ Ripley เล่าแสดงเอาไว้พอสมควร แต่ไม่แจ่มชัดเท่ากับฉบับนิยาย

ความแตกต่างต่อมาคือการเลือกทำเป็นมินิซีรีส์ 8 ตอนจบ ทำให้ Ripley มีแต้มต่อสำคัญ มีเวลาเหลือเฟือสำหรับการบอกเล่าเก็บรายละเอียดต่างๆ จากนิยายได้ครบถ้วน แทบไม่มีอะไรตกหล่น ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีเวลาสำหรับการ ‘เพิ่ม’ รายละเอียดจุกจิกปลีกย่อยจำนวนมาก ซึ่งไม่ได้ข้องเกี่ยวกับความคืบหน้าของเหตุการณ์เนื้อเรื่อง แต่เป็นสิ่งละอันพันละน้อย เสริมสร้างบรรยากาศ และทำหน้าที่สำคัญในช่วงจังหวะสร้างความลุ้นระทึกเร้าใจ ตัวอย่างเช่น ลิฟต์ในอพาร์ตเมนต์ ซึ่งใช้งานได้สลับกับเสียอยู่เป็นประจำ หรือแมวในอพาร์ตเมนต์

รายละเอียดหยุมหยิมเหล่านี้ซึ่งมีปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดทั่วทั้งเรื่อง ส่งผลให้ Ripley สนุกลุ้นระทึกในท่วงทำนองใกล้เคียงกับหนังของอัลเฟรด ฮิทช์ค็อค

ความโดดเด่นต่อมา เป็นสิ่งที่เห็นชัดมากสุด นั่นคืองานด้านภาพโดยโรเบิร์ต เอลสวิต ผู้กำกับภาพคู่บุญของพอล โทมัส แอนเดอร์สัน ซึ่งเคยฝากฝีมือร่วมกันไว้ในผลงานเด่นๆ อย่าง Boogie Nights (1997), Magnolia (1999), และ There Will Be Blood (2008) เรื่องหลังนี้ทำให้โรเบิร์ต เอลสวิตคว้ารางวัลออสการ์สาขากำกับภาพยอดเยี่ยมไปครอง

Ripley ถ่ายทำเป็นขาว-ดำตลอดทั้งเรื่อง และเป็นงานที่ถ่ายทำได้สวยตระการวิจิตรบรรจง ชวนตื่นตาตื่นใจเป็นที่สุด ชนิดที่ว่าเปิดสุ่มดูและหยุดภาพตรงไหน ก็สามารถนำไปใส่กรอบแขวนโชว์ในหอศิลป์ได้สบายๆ ความงามนั้นครอบคลุมตั้งแต่มุมกล้อง การจัดองค์ประกอบภาพ การใช้ประโยชน์จากโลเคชันในละแวกย่านเมืองเก่าหลายๆ แห่งในอิตาลี (รวมถึงบรรยากาศย้อนยุคตามท้องเรื่อง ซึ่งเกิดขึ้นในทศวรรษ 1960) และที่สำคัญคือความเข้มข้นจัดจ้านในการเล่นกับแสงเงา

ประการหลังสุดนั้นสอดคล้องกับอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ซีรีส์ Ripley ตีความเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ ไม่ได้มีอยู่ในนิยาย นั่นคือภาพเขียนของคาราวัจโจ ซึ่งตัวละครทอม ริปลีย์ชื่นชมหลงใหลในผลงานของศิลปินท่านนี้ บวกรวมกับประวัติชีวิต ซึ่งมีจุดร่วมบางอย่างสอดคล้องคล้ายกัน นั่นคือการพัวพันกับอาชญากรรม การใช้ชีวิตหลบหนี (รวมถึงบทพูดที่ว่า ‘ทุกอย่างขึ้นอยู่กับแสง’)

กล่าวโดยรวมคือนอกจากจะไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่สะทกสะท้านรู้สึกผิดกับความเลวร้ายอำมหิตในการฆ่าคน ลึกๆ แล้วยังอาจมีความเป็นไปได้ว่า ริปลีย์มีความคิดความเชื่อถึงขั้นว่าสิ่งต่างๆ ที่เขากระทำไม่ใช่อาชญากรรม แต่เป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะอีกแขนงหนึ่ง

ในฉบับนิยาย แพทริเซีย ไฮสมิธ เก่งในการสร้างตัวละครทอม ริปลีย์ให้ดูชั่วร้ายและมีเสน่ห์ดึงดูด แต่ Ripley ฉบับมินิซีรีส์ นอกจากตัวละครจะปราศจากเสน่ห์ดังเช่นที่เคยมีในนิยายแล้ว การคัดเลือกแอนดรูว์ สก็อตต์ มาเล่นเป็นทอม ริปลีย์ ก็ยิ่งสะท้อนชัดว่า รูปลักษณ์ของนักแสดง ไม่ตรงกับที่พรรณนาไว้ในนิยาย นี่ยังไม่นับรวมถึงหน้าตาเกินวัย และชวนให้รู้สึกขัดหูขัดตาเมื่อแรกเริ่มติดตาม แต่ผลรวมที่เกิดขึ้นและฝีมือการแสดงของเขา ก็ทำให้ผู้ชมเชื่อสนิทใจและยอมรับความเป็นทอม ริปลีย์ รวมถึงเอาใจช่วยในท้ายที่สุด

ความสำเร็จในการทำให้ผู้ชมเอาใจช่วยและเชียร์ตัวละคร ที่ ‘รักไม่ลง’ ใน Ripley ผมจนปัญญาจะหาเหตุผลคำอธิบายนะครับว่าเป็นเพราะเหตุไร

ได้แต่ตอบอ้อมแอ้มกว้างๆ ด้วยความขวยเขินแค่ว่าน่าจะเนื่องด้วยผู้กำกับ คนเขียนบท คนเขียนนิยาย และนักแสดง เก่งขั้นเทพจริงๆ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save