fbpx

รีวิวไม่ใช่โฆษณา วิจารณ์ไม่ใช่สปอยล์ และสปอยล์ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย

“ทีหลัง ถ้าดูแล้วไม่ชอบ ไม่ต้องเขียนถึงก็ได้นะ”

นี่เป็นประโยคที่ยังจำได้ไม่ลืมเลือนจนถึงทุกวันนี้ แม้วันเวลาจะผ่านไปเนิ่นนาน เพราะมันเป็นเสมือนการได้ลิ้มรสชาติแรกๆที่ไม่หอมหวานของการเขียนวิจารณ์หนัง และเป็นครั้งแรกที่ทำให้ตระหนักได้ว่า ตัวหนังสือของเรามีอำนาจ และอำนาจอัน (ไม่) ยิ่งใหญ่ของเรา ก็สร้างแรงกระเพื่อมได้อย่างน่าสนใจ

ต้นสายปลายเหตุของประโยคข้างต้นมาจากบทวิจารณ์ของผมในนิตยสารสตาร์พิคส์ที่เขียนถึงหนังเรื่อง Predator (1987) งานกำกับของ จอห์น แม็คเทียร์แนน (John McTiernan) นำแสดงโดย อาร์โนลด์ ชวาเซเนเกอร์ (Arnold Schwarzenegger) จะด้วยความอ่อนด้อยประสบการณ์หรือชั้นเชิงในการถ่ายทอดก็ตาม ตอนนั้นผมสรุปความเห็นต่อหนังเรื่องนี้ได้คร่าวๆ ว่า บทหนังดูอ่อนด้อย มุกตลกผิดที่ผิดทาง แอ็คชั่นก็ไม่ได้ดึงดูดเมื่อเทียบกับหนังแนวเดียวกัน (Aliens, 1986 หรือ The Thing, 1982) หรือการออกแบบตัวสัตว์ร้ายก็ดูไม่สมส่วน และเหมือนหยิบยืมจากหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้มาขยำรวมกัน ขณะที่อาร์โนลนด์ ชวาเซเนเกอร์ก็ยังคงแสดงหนังแข็งเป็นสากกะเบือ และกว่าที่เขาจะหลุดพ้นสถานะเครื่องจักรทำลายล้าง ถ่ายทอดบทบาทที่ดูเป็นผู้เป็นคนและมีเสน่ห์ดึงดูดจริงๆ ก็ตอนเล่นหนังเรื่อง Twins (1988), the Terminator: Judgement Day (1989) และ True Lies (1994)

ขยายความเพิ่มเติมอีกนิดก็คือ ผมได้ย้อนกลับไปดูหนังเรื่อง Predator อีกรอบ นัยว่าเพื่อทบทวนความคิดเห็น และผลลัพธ์ก็ยังคงเหมือนเดิม

Predator (1987)

อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ข้อเขียนดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ เสียงสะท้อนจากฝ่ายการตลาดของค่ายที่จัดจำหน่ายหนังเรื่องนี้ในประเทศไทยก็ฝากบอกผ่านบรรณาธิการนิตยสารถึงคนเขียนด้วยข้อความข้างต้น ซึ่งก็แน่นอนว่าย่อมทำให้ชะงักและเสียขวัญไปพอสมควร แต่ก็จำไม่ได้ว่าประโยคข้างต้นส่งผลอะไรมากกว่านั้น เพราะจนแล้วจนรอด เรื่องหนึ่งที่บอกตัวเองเสมอๆ ตั้งแต่ไหนแต่ไรคือ เราไม่ได้รับจ้างบริษัทหนังมาเขียนเชียร์ ‘สินค้า’ ของพวกเขา ซึ่งการเขียนลักษณะนี้เป็นรูปแบบการสื่อสารที่ตัวเองต่อต้านมาตั้งแต่ต้น เผื่อเป็นข้อมูล ใครที่โตทันในช่วงเวลานั้น (ทศวรรษ 1980) คอลัมน์วิจารณ์บันเทิงในหนังสือพิมพ์หัวสีมักเต็มไปด้วยข้อเขียนแซ่ซ้องสรรเสริญทุกสิ่งที่ขวางหน้าอย่างหน้ามืดตามัว (ตั้งแต่หนังฉายโรงจนถึงคอกเทลเลาจน์) อ่านปุ๊ปก็รู้ปั๊บว่าคนเขียน ‘รับงาน’ มาแน่ๆ หรือไม่ก็เป็นเพียงแค่พื้นที่โฆษณาที่ปลอมตัวเป็นคอลัมน์วิจารณ์

และอีกอย่างหนึ่งที่ตอนนั้นยังคิดไม่ออก แต่มานึกได้ตอนนี้คือ สมมติเล่นๆ ว่าข้อเขียนของเราทำให้ฝ่ายการตลาดของบริษัท หรือแม้กระทั่งบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ชื่นชมและพึงพอใจได้ตลอดเวลา เรายังจะสามารถเรียกข้อเขียนเหล่านั้นว่าเป็นงานวิจารณ์หนังได้อีกหรือไม่ โดยปริยาย ไม่ว่าสิ่งที่เราเขียนจะโง่หรือฉลาด เบาหวิวหรือหนักแน่น เจือจางหรือเข้มข้น ตื้นเขินหรือลึกซึ้ง ตราบเท่าที่เรายังเป็นตัวของตัวเอง และไม่ได้มีค่ายหนังหรือฝ่ายการตลาดเป็นตัวตั้งหรือสปอนเซอร์ อย่างน้อย กระดูกสันหลังของเราก็ยังคงตั้งฉากกับพื้นโลก และส่องกระจกมองหน้าตัวเองก็ไม่มีอะไรให้ต้องรู้สึกตะขิดตะขวง

โดยปริยาย นั่นนำมาสู่คำถามหนึ่งที่เมื่อก่อนเคยวนเวียนอยู่ในหัวมาช้านาน นั่นคือ นักวิจารณ์หนังเป็นใคร หรือตัวแทนของใคร และยืนอยู่ตรงไหนในความสัมพันธ์ระหว่างคนดูหนังกับผู้สร้าง

พูดแบบเอาตำรามาตอบ ข้อเขียนของอาจารย์ เจตนา นาควัชระ ในหนังสือ ‘ทางไปสู่วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์’ บอกว่านักวิจารณ์เป็นสื่อกลางระหว่างศิลปินกับประชาชน เป็น ‘บุคคลที่สาม’ ที่เชื่อมโยงระหว่างผู้สร้างกับผู้รับ หรือขยายความเพิ่มเติม นักวิจารณ์เป็นตัวแทนผู้สร้างในแง่ที่ช่วยให้คนอ่านได้เข้าใจจุดประสงค์ ความหมาย ตลอดจนลักษณะทางศิลปกรรมของหนังเรื่องนั้นๆ มากขึ้น ขณะที่นักวิจารณ์ในฐานะตัวแทนคนดู คือคนที่แสดงปฏิกิริยาและรวมถึงความคิดเห็นต่องานศิลปะชิ้นนี้กลับไปหาผู้สร้าง ซึ่งไม่ว่าฝ่ายหลังจะได้ยินหรือไม่ อย่างน้อย มันก็เหมือนกับเป็นส่งสัญญาณว่าพวกเรารู้สึกรู้สม รู้ร้อนรู้หนาว ไม่ใช่คนทำหนังนึกจะทำอะไรก็ได้ และผลประโยชน์ของคนดูเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้

แต่ก็นั่นแหละ โลกเปลี่ยนไป สื่อสิ่งพิมพ์ล้มหายตายจาก สื่อออนไลน์และเพจหนังเรืองอำนาจ และใครๆ ก็แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังได้ทั้งนั้น ส่งผลให้นิยามข้างต้นถูกท้าทาย และฐานันดรของนักวิจารณ์หนังยุคอะนาล็อกก็สั่นสะเทือน หรือพูดง่ายๆ นักวิจารณ์หนังไม่ได้มีซุ่มเสียงดังกว่าเพื่อนและใครๆ ต้องคอยเงี่ยหูฟังอีกต่อไป หรือว่ากันตามจริง นักวิจารณ์หนังตามที่เรียกขานในภาษาอังกฤษว่า Film Critic น่าจะตายไปแล้ว (หรือถ้ายังมีลมหายใจก็พะงาบๆ เต็มทน) และมีการสร้างคำศัพท์ใหม่ๆขึ้นมาทดแทน อาทิ Influencer, Content Creator ไปจนถึง YouTuber, TikToker, Vlogger เป็นต้น

ข้อน่าสังเกตอีกอย่างคือ การวิจารณ์หนังก็ไม่ค่อยถูกเรียกว่าการวิจารณ์หนังแล้ว แต่คือการรีวิวหนัง (review) ในความหมายของการแนะนำเชิญชวนซึ่งในแง่หนึ่งก็ให้ความรู้สึกเป็นกันเองกว่าการวิจารณ์ ที่มักมาพร้อมกับท่าทีขึงขังและเป็นทางการ และแน่นอนว่าภาษาที่ ‘นักรีวิวเวอร์’ ใช้สื่อสารก็ลำลอง หรือบ้างก็โผงผางแบบขึ้นกูขึ้นมึง ผสมผสานถ้อยคำหนักหน่วงแบบขึ้นเขาลงห้วยไปด้วยกัน ไม่ว่าจะด้วยบุคลิกของคนเขียน ด้วยความเชื่อศรัทธาแบบนั้นจริงๆ หรือเพื่อเรียกยอดไลค์ยอดแชร์

จริงๆ แล้ว ใครจะเรียกอะไรหรือเขียนอย่างไรก็ว่ากันไป ไม่เคยขัดข้อง กลับอนุโมทนาด้วยซ้ำ ตราบเท่าที่สื่อสารได้สนุกและชวนคนอ่านสนทนา แต่เรื่องหนึ่งที่รบกวนความรู้สึกมาตลอด และรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องล้ำเส้นไปมากและยากจะทำใจให้ยอมรับได้ หรือจริงๆ แล้วคือผิดจรรยาบรรณ (ถ้าหากสิ่งนี้ยังพอหลงเหลืออยู่บ้าง) คือข้อเขียนประเภทที่แอบอ้างตัวเองเป็นการรีวิวหนังหรือวิจารณ์หนัง แต่ตื้นลึกหนาบางจริงๆ คือ ‘รับจ้าง’ บริษัทผู้ผลิตหรือจัดจำหน่ายมาโฆษณาหนังนั่นเอง หรืออีกนัยหนึ่ง มันคือคอลัมน์วิจารณ์บันเทิงในหนังสือพิมพ์หัวสีสมัยก่อน แต่อัพเดตด้วยแพล็ตฟอร์ม ด้วยการพลิกแพลงทางการตลาดและด้วยวิธีการนำเสนอ ให้เป็นเวอร์ชั่น 4.0 ซึ่งในแง่ของการตรวจสอบ ก็มักมีรูปแบบหรือเงื่อนไขการเขียนบางอย่างที่เป็นเหมือนค่าตั้งต้นของการสื่อสารแบบนี้ (ซึ่งคล้ายๆ ว่าเป็นข้อตกลงระหว่างคนเขียนกับคนจ้าง) และพอมองออกได้ไม่ยาก

แต่ก็นั่นแหละ มันใช่ธุระของคนอ่านหรือไม่ที่จะต้องมาเล่นบทแมวไล่จับหนูหรือโปลิศจับขโมย และมองในแง่หนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่พฤติการณ์สมรู้ร่วมคิดและเอาเปรียบคนอ่านเท่านั้น แต่ยังเรียกได้ว่าเป็นการหักหลังหรือฉ้อฉลเลยทีเดียว อีกทั้งในมุมของคนอ่าน มันก็เป็นสถานการณ์ที่ดูว้าเหว่เหลือเกิน เมื่อคำนึงว่าบุคคลที่สมควรจะเป็นตัวแทนหรือเป็นพรรคพวกเดียวกับพวกเรากลับไม่ได้สื่อสารความคิดเห็นของพวกเขาหรือช่วยรักษาผลประโยชน์อย่างซื่อสัตย์หรือตรงไปตรงมา และกลายเป็นว่าสิ่งเดียวที่พวกเราทำได้ก็คือ ฝึกฝนทักษะ ‘การอ่าน’ บรรดารีวิวหนังและซีรีส์ที่สื่อสารแบบมีวาระซ่อนเร้น ‘ให้ออก’ ซึ่งช่วยไม่ได้ที่หลายครั้ง การชื่นชมหนังบางเรื่องแบบทะลุฝ้าก่อให้เกิดความรู้สึกเคลือบแคลง

ไหนๆ ก็ไหนๆ อีกหนึ่งคำศัพท์ที่ยิ่งใช้ก็ยิ่งไปกันใหญ่ก็คือคำว่า ‘สปอยล์’

ย้อนกลับไปสมัยที่เขียนวิจารณ์หนังใหม่ๆ ก็ไม่เห็นว่ามีใครใช้คำนี้ หรือว่ากันตามจริง แนวโน้มการเขียนถึงหนังยุคก่อนดูเหมือนจะเน้นการอธิบายเรื่องราวด้วยซ้ำ (หรือที่สมัยนี้เรียกว่าสปอยล์) แต่ถึงกระนั้นก็เป็นที่รู้กันว่าอะไรที่เป็นความลับหรือสิ่งที่ควรปกปิดของหนังเรื่องนั้นๆ ก็ไม่ควรพูดโพล่งออกมา (เช่น ความสัมพันธ์ระหว่าง ดาร์ธ เวเดอร์ กับ ลุค สกอยวอล์คเกอร์ ใน The Empire Strikes Back, 1980 หรือฉากไม่คาดฝันในหนังเรื่อง The Crying Game, 1992) หรือในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะโยงกับแก่นสารของหนังก็ใช้วิธีพูดถึงอ้อมๆ ซึ่งก็อยู่กันมาได้แบบไม่มีปัญหาอะไร และก็ไม่มีใครรู้สึกว่าตัวเองถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

จนกระทั่งช่วงสัก 20 ปีให้หลังนี่แหละที่คำนี้ถูกแนะนำให้เป็นที่รู้จักและใช้กันแพร่หลายมากขึ้น (เดาว่าตัวเริ่มต้นน่าจะได้แก่หนังเรื่อง The Sixth Sense, 1999 ซึ่งตอนจบแอบซ่อนความลับสุดยอดไว้) จนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติที่คนเขียนถึงหนังเรื่องไหนๆ ที่เข้าฉายก็จะต้องออกตัวเป็นพัลวัน ทำนองว่า ข้อเขียนต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ นัยว่าเพื่อแสดงความรับผิดชอบ (สารภาพว่าตัวเองก็เคยใช้)

The Sixth Sense (1999)

ประเด็นคือ คำนี้ก็เหมือนตุ๊กตายางที่ถูกเป่าให้พองลมจนเกินเลย และพิษสงของมันก็ทำให้ทั้งคนอ่านคนเขียนพากันหวาดระแวง กระทั่งสร้างบรรยากาศอันไม่พึงประสงค์โดยไม่จำเป็น หมายความว่าคนเขียนก็หวั่นเกรงว่าตัวเองจะไปทำลายประสบการณ์รักแรกพบของคนอ่าน ขณะที่คนอ่านก็รู้สึกว่าการมาถึงของหนังใหม่ที่อยากดู คือช่วงเวลาของการหลบเลี่ยงการรับรู้อะไรๆ เกี่ยวกับหนังเรื่องนั้นๆ และแน่นอนว่าจักรวาลหนังมาร์เวลก็ทำให้สถานการณ์ยิ่งอ่อนไหวเปราะบางมากขึ้น

สองสามคำถามเร่งด่วนก็คือ นิยามของคำว่าสปอยล์จริงๆ คืออะไร การวิจารณ์หนังเป็นการสปอยล์หนังหรือไม่ และอำนาจทำลายล้างของการสปอยล์มากมายมหาศาลเพียงใดแน่

พูดแบบสั้นๆ ง่ายๆ หนึ่งในความหมายของคำว่า Spoil ในภาษาอังกฤษก็คือการทำให้สูญเสียคุณค่าหรือรสชาติ โดยปริยาย การสปอยล์หนังก็ตามนั้น คือการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ หรือความลับ หรือเรื่องคาดไม่ถึงก่อนเวลาอันควรและส่งผลให้คนดูหมดสนุกนั่นเอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังนับไม่ถ้วนบอกเล่าเนื้อหาสำคัญหรือแอบซ่อนความลับและกลายเป็นส่วนหนึ่งของอรรถรสในการชม (เช่น ใครบางคนจบชีวิตใน Avengers: Endgame, 2019, ความลับเกี่ยวกับหมู่บ้านในหนังเรื่อง The Village, 2004 หรือการที่หนังเฉลยอ้อมๆ ว่าใครเป็นคนฆ่าเมียของพระเอกใน Memento, 2000) ตรงไหนสักแห่งแถวนี้เองที่ใครอาจจะรู้สึกว่าพื้นที่การวิจารณ์หนังกับการสปอยล์หนังดูเหมือนทับซ้อนกัน แปลว่าในการเขียนวิจารณ์หลายครั้ง การพาดพิงหรืออ้างอิงเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าสปอยล์ก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ครั้นจะไม่พูดถึงเสียเลย ข้อเขียนนั้นๆ จะไปต่อได้อย่างไร

แน่นอนว่าการแจ้งเตือนในกรณีที่จำเป็นก็ช่วยได้ แต่การขึ้นข้อความเตือนบ่อยๆ ก็น่ารำคาญ

ว่าไปแล้ว คาถาที่ส่วนตัวยึดมั่นมาตลอด และเตรียมไว้ตอบคำถามเวลาที่ใครสงสัยคือ การสปอยล์หนังกับการวิจารณ์หนังเป็นคนละเรื่องโดยสิ้นเชิง ดังที่กล่าวข้างต้น การสปอยล์ทำให้เสื่อมคุณค่า บั่นทอนความเอร็ดอร่อยในการดู ทว่า การวิจารณ์หนัง ‘Only makes it better’ อย่างที่พูดไปครั้งก่อน หลายครั้งที่งานวิจารณ์หนังช่วยทำให้คนอ่านตกผลึกและถ่องแท้ของหนังเรื่องนั้นๆ มากขึ้น และเชื่อว่าหลายคนคงมีประสบการณ์คล้ายกันที่เวลาได้อ่านข้อเขียนดีๆ เกี่ยวกับหนังสักเรื่อง มันไม่เพียงแค่ทำให้เรามองหนังเรื่องนั้นๆ ด้วยสายตาที่ไม่เหมือนเดิม ความเข้าอกเข้าใจในบริบทที่เกี่ยวข้องก็เช่นเดียวกัน

แล้วก็มาถึงคำถามสุดท้ายประจำสัปดาห์ อันได้แก่ความเสียหายจากการถูกสปอยล์ ซึ่งก็คงต้องย้อนถามกลับไปว่าหนังสำหรับแต่ละคนหมายถึงอะไร ถ้าหากมันคือคอนเทนต์ (content) สปอยล์ก็คือหายนะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทว่า ตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่หนังเป็นเพียงแค่คอนเทนต์ เพราะในฐานะงานศิลปะ หนังก็คือรูปแบบ (form) หรือ art form ที่โน้มน้าวชักจูงคนดูด้วยแท็คติกและกลวิธี สิ่งที่บอกเล่า (what) ไม่เคยสำคัญเท่ากับวิธีการที่บอกเล่า (how) หรืออีกนัยหนึ่ง คุณค่าหรือสุนทรียะของงานศิลปะชิ้นหนึ่งๆ เป็นเรื่องของ appreciation หรือความดื่มด่ำกำซาบในรสชาติของมัน และไม่ใช่เพียงแค่เนื้อหาที่บรรจุอยู่ในงานชิ้นนั้นๆ หรือเทียบบัญญัติไตรยางค์ง่ายๆ คนเราฟังเพลงที่ชื่นชอบซ้ำแล้วซ้ำเล่าทำไม ในเมื่อพวกเรารู้จักคำร้องของเพลงนั้นๆ จนท่องขึ้นใจได้แล้ว หรือพูดให้สะเด็ดน้ำ สปอยล์หรือการล่วงรู้ความลับของหนังไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย

และไหนๆ พูดแล้วก็พูดเลย ถ้าหากคุณค่าของหนังเรื่องไหนผูกติดอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า ‘ห้ามสปอยล์’ เพียงอย่างเดียว บางที เราอาจจะไม่ควรเสียเวลาในชีวิตที่ทวงกลับคืนไม่ได้ให้กับหนังเรื่องนั้นตั้งแต่ต้น

Nyad (2023)

แล้วจู่ๆ ประเด็นเรื่องสปอยล์ก็ทำให้ผมนึกถึงหนังที่เพิ่งได้ดูทางช่องสตรีมมิ่งเรื่อง Nyad (2023) แอนเน็ตต์ เบนิง (Annette Bening) รับบทนักว่ายน้ำสูงวัยที่ว่ายน้ำจากคิวบาไปฟลอริด้าด้วยความเพียรพยายามครั้งแล้วครั้งเล่า และอย่างที่คาดเดาได้ (สปอยล์นะครับ) เธอประสบความสำเร็จในสิ่งที่มุ่งหวัง รวมๆ แล้ว นี่เป็นหนังประเภทที่สร้างเพื่อเรียกขวัญกำลังใจ ยกย่องเชิดชูศักยภาพของมนุษย์ ทำนองว่าถ้าหากมุ่งมั่นพยายามเสียแล้ว ก็ไม่มีอะไรเกินกำลังความสามารถ ซึ่งก็เห็นๆ อยู่ว่าหนังแนวนี้ถูกสร้างออกมานับไม่ถ้วน เช่น Thirteen Lives (2022), The Hacksaw Ridge (2016), The Intouchables (2011), The Revenant (2015) ฯลฯ

ในแง่ของวิธีการ หนังเล่าเรื่องสนุกใช้ได้ และนักแสดงหลักอันได้แก่เบนิงและ โจดี ฟอสเตอร์ (Jodie Foster) ก็ช่วยให้หนังดูเข้มข้นและชวนติดตามจริงๆ แต่ก็นั่นแหละ ส่วนตัวไม่ซื้อแก่นสารของหนังเรื่องนี้เลย โดยเฉพาะประเด็นการเฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ เพราะก็อย่างที่เห็นๆ กันว่า ความวิบัติฉิบหายที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ก็ล้วนแล้วเป็นผลงานชิ้นโบว์ดำของมนุษย์แทบทั้งสิ้น

ตรงไหนสักแห่งแถวนี้เองที่ชวนให้มองเห็นว่าระหว่างการสรรเสริญความยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติในหนังเรื่อง Nyad กับประเด็นการสปอยล์หนังเป็น ‘คนละเรื่องเดียวกัน’

นั่นก็คือ นอกจากมันไม่ได้สลักสำคัญขนาดนั้น ยัง overrated หรือถูกให้ค่าสูงส่งเกินราคาที่แท้จริงด้วย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save