fbpx

Rainbow family: สำรวจสิทธิบุพการีเพศหลากหลายในร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม

ประเทศไทยอาจจะถูกกล่าวขานว่าเป็นแดนสวรรค์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่หากมองให้ลึกลงไป ชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทยยังถูกเลือกปฏิบัติ ไปจนถึงถูกกดทับทางสิทธิและการแสดงออก ที่แม้แต่เรื่องพื้นฐานอย่างการแต่งงานหรือสร้างครอบครัวก็ดูเป็นเรื่องยากจะจินตนาการถึง

บนสายธารการต่อสู้ที่ยาวนานของภาคประชาชนและชุมชน LGBTQ+ ไทย ในที่สุดแสงแห่งความหวังก็เริ่มปรากฏเมื่อสภาลงมติรับหลักการ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมในวาระที่หนึ่งด้วยคะแนนอันท่วมท้น ในวันที่ 26 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยกำลังจะก้าวขึ้นเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผ่านกฎหมายซึ่งมอบสิทธิการสมรสให้กับคู่รักเพศหลากหลาย ซึ่งขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรกำลังอยู่ในวาระการพิจารณากฎหมายสมรสเท่าเทียมและหลายสังคมกำลังจับตามองประเด็นรายมาตราว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงใดต่อสังคมไทย

‘Rainbow Family’ หรือครอบครัวสีรุ้ง เป็นคำที่ถูกใช้อธิบายครอบครัวของคู่รัก LGBTQ+ ที่มีบุพการีและมีบุตร ในต่างประเทศ เราเห็นการขยายตัวของครอบครัวของคู่รักผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นผลจากการปลดล็อกกฎหมายให้ไม่ยึดติดอยู่กับระบบสองเพศ แต่สำหรับประเทศไทย การสร้างครอบครัวของ LGBTQ+ ยังเป็นเรื่องใหม่ที่สังคมต้องทำความเข้าใจร่วมกัน

หากความรักไม่เกี่ยวกับเพศสภาพฉันใด การสร้างครอบครัวก็ไม่ควรจำกัดอยู่ที่เพศสภาพใดเพศสภาพหนึ่งฉันนั้น

ก่อนเดือนแห่งความรักจะผ่านพ้นไป 101 ชวนรับฟังเรื่องราว ความท้าทาย และเงื่อนไขทางสังคมที่คู่รักเพศหลากหลายต้องเผชิญ ตั้งคำถามถึงสิทธิและความคุ้มครองของกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่จะครอบคลุมไปถึงตัวบุพการีและบุตรในครอบครัวเพศหลากหลาย เก็บความบางส่วนจากงานเสวนา ความเป็น “บุพการี” กับสมรสเท่าเทียม: สิทธิบุพการีเพศหลากหลายอยู่ตรงไหนในร่างแก้ ป.พ.พ.? จัดโดย The Fort

การเปลี่ยนรัฐบาลและสายธารการเคลื่อนไหว: เมื่อการผ่านกฎหมายต้องอาศัยจังหวะเวลา

กว่าที่ประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเข้ามาจับจองพื้นที่การถกเถียงกระแสหลักในสังคม บทสนทนาว่าด้วยสิทธิการตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ก่อตัวขึ้นภายในชุมชนมานานกว่าทศวรรษแล้ว

นัยนา สุภาพึ่ง กรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (FOR-SOGIE) และอดีตกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉายภาพประวัติศาสตร์การขับเคลื่อนประเด็นด้านกฎหมายของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศซึ่งมีหมุดหมายสำคัญในปี 2555 หลังจากนายนที ธีระโรจนพงษ์ พร้อมด้วยนายอรรถพล จันทวี ร้องศาลหลังถูกปฏิเสธคำร้องขอจดทะเบียนสมรสที่ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าการสมรสตามกฎหมายไทยนั้นกระทำได้เฉพาะระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น 1 ปี หลังจากนั้น รัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่นำโดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการริเริ่มร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่แม้จะดูเหมือนเป็นหมุดหมายของการโอบรับความหลากหลาย แต่ก็ยังมีข้อกังขาจากสายตาคนในชุมชน

“ตอนนั้นเรามีการทำสำรวจในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ จำนวนมากมองว่านี่คือกฎหมายเลือกปฏิบัติ เช่น ไม่มีสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยงดู ไม่สามารถรับสวัสดิการจากรัฐเหมือนคู่สมรสตามกฎหมาย ไม่สามารถจัดการทรัพย์สินของคู่รักได้ ภาคประชาชนก็เลยเสนอร่างกฎหมายที่ปิดช่องว่างเหล่านี้ แต่เปิดรับฟังความคิดเห็นยังไม่ทันเสร็จสิ้น ก็มีการยุบสภา และวาระนี้ก็ตกไปในที่สุด”

นัยนากล่าวว่ารัฐบาลชุดต่อมาพยายามจะนำความเห็นของภาคประชาชนเข้ามาพัฒนาเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต แต่ก็ยังติดขัดในข้อเสนอเรื่องสวัสดิการ โดยรัฐบาลในขณะนั้นให้เหตุผลไว้ว่าการได้รับสวัสดิการจากรัฐเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับงบประมาณ ทำให้การนำร่าง พ.ร.บ. เข้าสู่กระบวนการพิจารณาอาจยุ่งยากและต้องใช้เวลามากกว่าเดิม อีกทั้งความเป็นไปได้ที่จะได้รับการเห็นชอบก็น้อยลง ท้ายสุดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นหัวเรือในการร่างจึงตัดข้อเสนอนี้ออกไป

นัยนา สุภาพึ่ง | ภาพโดย The Fort

หลังความพยายามผลักดันกฎหมายในนาม พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งเมื่อพิจารณาในรายละเอียดร่างที่เคยถูกเสนอก็ยังแฝงฝังไปด้วยการเลือกปฏิบัติ ทำให้เกิดคลื่นการขับเคลื่อนต่อมาที่เสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งนัยนาชี้ว่าจะเป็นหลักที่มั่นคงที่สุดให้กฎหมายอื่นๆ ปรับตาม นัยนายังกล่าวว่าเป็นเรื่องที่เกินความคาดหมายที่รัฐบาลใหม่ของพรรคเพื่อไทยสามารถผลักดันวาระนี้เข้าสู่สภาได้อย่างรวดเร็ว “ที่ผ่านมา กฎหมายเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศไม่เคยเป็นวาระเร่งด่วนของประเทศนี้มาก่อน” นัยนากล่าว

มาตราหลักที่ภาคประชาชนเสนอแก้ไขคือมาตรา 1448 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เดิมกำหนดให้การสมรสกระทำได้ระหว่างชายและหญิง แก้เป็นการสมรสต่อ ‘บุคคลสองคน’ นัยนาย้ำว่าข้อเสนอจากภาคประชาชนที่ให้เปลี่ยนคำในข้อกฎหมายเป็นคำที่มีความเป็นกลางทางเพศจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายทั้งต่อคู่รักเพศหลากหลายและเด็กที่เติบโตในครอบครัว LGBTQ+

แม้ทั้ง 4 ร่างกฎหมายที่ผ่านการเห็นชอบในวาระแรกไม่ได้ปฏิเสธการแก้มาตรา 1448 แต่นัยนาชี้ว่ายังมีรายละเอียดที่ กมธ. เห็นไม่ตรงกันอยู่ ซึ่งมีต้นตอจากความเชื่อที่แฝงไปด้วยความ ‘homophobia’ อันฝังรากลึกในสังคมจนทำให้ปิดกั้นการมองเห็นความเป็นไปได้ในการสร้างครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกัน ดังนั้น อีกความท้าทายของภาคประชาสังคมจึงเป็นการสื่อสารกับทั้งคนใน กมธ. ฝ่ายนิติบัญญัติ และสาธารณชนเพื่อยกระดับความรับรู้และความเข้าใจต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศของคนในสภานิติบัญญัติ

นัยนายกตัวอย่างการใช้คำว่าหญิงตั้งครรภ์ในร่างกฎหมายฉบับของคณะรัฐมนตรี ซึ่งตามความเข้าใจของนักกฎหมาย คนที่จะตั้งครรภ์ได้คือคนที่มีมดลูกและรังไข่ ดังนั้นการผูกคำว่า ‘หญิง’ มาด้วยจึงให้ความหมายได้ไม่ครอบคลุมถึง trans man (คนข้ามเพศจากหญิงเป็นชาย) ที่มีอัตลักษณ์เป็นชายแต่ก็สามารถตั้งครรภ์ได้เช่นกัน นัยนากล่าวว่า “การที่กฎหมายฉบับนี้มีที่มาจากภาคประชาชนด้วย จะช่วยยกระดับคนในสภานิติบัญญัติให้รับรู้ว่าคนที่มีอัตลักษณ์เป็นผู้ชาย ตัดผมสั้น ไว้หนวดเคราก็สามารถตั้งครรภ์ได้”

แม้กระบวนการในการผ่านร่างกฎหมายยังมีหลายด่านให้ไปต่อและการสร้างความเข้าใจให้กับสังคมยังต้องผลักดันอย่างต่อเนื่อง แต่นัยนาก็มองว่าเราอยู่ในยุคสมัยที่ค่อนข้างมีความหวังและเห็นการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม เห็นได้จากในชั้นของกรรมาธิการ มีตัวแทนจากภาคประชาชนที่เข้าไปนั่งในสภาด้วยถึง 13 คน

“เราอยู่ในแวดวงการขับเคลื่อนเพื่อแก้กฎหมายให้มีความเท่าเทียมทางเพศมาเกือบ 40 ปี นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นว่า กมธ. เปิดพื้นที่ให้ประชาชนจริงๆ หากพิจารณาสัดส่วนจํานวนกรรมาธิการที่มาจากโควตารัฐบาล หน่วยงานราชการ และฝ่ายค้าน เรามองเห็นประชาชนในทุกจุด ซึ่งตัวแทนประชาชนเหล่านี้ดำรงอยู่อย่างมีนัยสำคัญและมีบทบาทในการแสดงความคิดเห็น”

เมื่อมองย้อนกลับไปกว่า 1 ทศวรรษที่มีความพยายามแก้กฎหมายให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสและสร้างครอบครัวด้วยกันได้ จาก พ.ร.บ.คู่ชีวิต สู่กฎหมายสมรสเท่าเทียม จะเห็นว่าบทสนทนาเกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิพื้นฐานสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศดำรงอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล มียุคที่ถูกผลักดันอย่างแข็งขัน และมียุคที่หล่นหายไปจากวาระหลัก แต่สิ่งที่นัยนาและผู้ร่วมเสวนาเห็นตรงกันคือการมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งจะช่วยทำให้ความพยายามเหล่านี้สัมฤทธิ์ผลได้

มัจฉา พรอินทร์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้มีประสบการณ์ในการร่วมขับเคลื่อนประเด็นเกี่ยวกับการสร้างครอบครัวของ LGBTQ+ ในระดับภูมิภาค ถอดบทเรียนจากการขับเคลื่อนกฎหมายในไต้หวัน ซึ่งสามารถผ่านร่างกฎหมายให้คู่ชีวิตเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้เป็นชาติแรกในเอเชียไว้ว่าหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญก็คือการมีประชาธิปไตย มัจฉากล่าวว่าหากกลับมามองไทยโดยย้อนไปดูยุครัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร จะเห็นได้ว่ากระบวนการเสนอแก้กฎหมายมีข้อจํากัดอยู่เต็มไปหมด ทำให้ในยุคนั้นแทบไม่เห็นกฎหมายที่มีความก้าวหน้าหรือออกจากขนบเดิมๆ ของสังคมผ่านการโหวต

นัยนาเสริมว่าเรื่องที่ต้องจับตามองต่อไปคือการหมดวาระของ ส.ว. ซึ่งวุฒิสภาเป็นอีกด่านที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับนี้จะต้องผ่านการเห็นชอบ ความไม่แน่นอนของวุฒิสภาย่อมส่งผลต่อความก้าวหน้าของร่างกฎหมายนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากสามี-ภรรยา สู่คู่สมรส จากบิดา-มารดาสู่บุพการี: รื้อระบบสองเพศในกฎหมายเพื่อสร้างสังคมใหม่ที่โอบรับทุกความหลากหลาย

สืบเนื่องจากข้อเสนอแก้ไขมาตรา 1448 ที่ให้แก้ไขการสมรสกระทำได้ระหว่างชายและหญิง เป็นการสมรสของ ‘บุคคลสองคน’ ยังมีข้อเสนอจากภาคประชาชนที่มุ่งปลดพันธนาการระบบสองเพศหรือ binary ซึ่งค้ำยันการกดทับสิทธิและการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย เมื่อคลี่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับภาคประชาชนออกมาดู จะพบว่ามีการเสนอแก้ไขคำว่าบิดามารดา และให้ใช้คำว่าบุพการีแทน

“เราคิดว่าตัวเราเองกำลังต่อสู้เรื่องนี้ไปด้วยความรัก ไม่ใช่ความเกลียด แต่หลายครั้งที่ได้รับฟังคำจากอีกฝ่าย ซึ่งพูดโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว มันทำให้เราเกิดความโกรธ เพราะเขามองไม่เห็นเราเลยในกฎหมาย เรารู้สึกโกรธไปอีกขั้นเมื่อครอบครัวเราไม่ได้รับการปกป้องในทางกฎหมาย เพราะโลกของกฎหมายยังยึดโยงและยอมรับเพศกำเนิดเพียงสองเพศเท่านั้น แล้วมองผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นคนผิดปกติ”

ณฐกมล ศิวะศิลป ที่ปรึกษากรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม สมาชิกสภา Nonbinary Thailand และ ผู้ร่วมก่อตั้ง Intersex Thailand แบ่งปันประสบการณ์ในการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งต้องต่อสู้กับทั้งอคติของผู้คนและอคติที่ฝังรากอยู่ในกฎหมาย ณฐกมลยังกล่าวเสริมว่าการยกเลิกระบบสองเพศและใช้คำที่เป็นกลางทางเพศอย่าง ‘บุพการี’ จะช่วยเติมเต็มความหมายของคำว่าครอบครัวให้กับชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ในแง่ที่ว่าสามารถให้การปกป้องและคุ้มครองคนในครอบครัวได้ตามกฎหมาย

ณฐกมล ศิวะศิลป | ภาพโดย The Fort

มัจฉา ซึ่งมีคู่รักเป็นหญิง และทั้งคู่ก็รับเลี้ยงลูกสะท้อนว่าการเข้าไม่ถึงสิทธิในการสมรส ส่งผลกระทบต่อผู้เป็นบุตรโดยตรง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวดสำหรับมัจฉาในฐานะแม่ที่ไม่สามารถให้การคุ้มครองลูกของตัวเองได้ เพียงเพราะกฎหมายไม่เอื้อ มัจฉาบอกเล่าประสบการณ์ว่า

“ลูกของเราเป็นนักเคลื่อนไหวเหมือนกัน เขาได้รับโอกาสในการเดินทางไปรับรางวัลด้านสิทธิมนุษยชนที่ต่างประเทศ แต่ไม่สามารถเดินทางไปได้ เพราะไม่สามารถทำพาสปอร์ตหรือขอวีซ่าได้ เนื่องจากเรายังไม่ใช่ผู้ปกครองที่ชอบธรรมตามกฎหมาย ทำให้ลูกเราต้องทิ้งโอกาสนั้นไป ไม่นับว่ามีเรื่องการทำประกันชีวิตที่คู่รักเพศเดียวกันยังเจอข้อจำกัด ทำให้เราทำประกันให้ลูกไม่ได้

“ในด้านจิตใจ ลูกของเรารู้สึกไม่มั่นคงอยู่ตลอด เพราะเขารู้จากที่เราเล่าว่าถ้าแม่เกิดอุบัติเหตุ แม่สองคนจะเซ็นเอกสารยินยอมให้รักษาให้กันไม่ได้ใช่ไหม เพราะว่าเราไม่มีความเกี่ยวพันกันเลยทางกฎหมาย แล้วตัวเขาก็ตั้งคำถามว่าถ้าลูกเกิดอุบัติเหตุ เราจะสามารถเซ็นเอกสารเกี่ยวกับการรักษาให้ลูกได้ไหม”

อีกหนึ่งข้อจำกัดที่คู่รัก LGBTQ+ ต้องเผชิญหากต้องการจะตั้งครอบครัวคืออุปสรรคในการขออุปการะบุตรบุญธรรม ณฐกมลเล่าว่าในกรณีที่ขอรับเลี้ยงเด็กจากสถานสงเคราะห์ คู่รักเพศหลากหลายมักจะโดนปฏิเสธคำขอ โดยเจ้าหน้าที่มักจะให้เหตุผลว่ากังวลเรื่องความปลอดภัยของเด็ก แม้จะเป็นคู่ชาย-ชาย ขอรับอุปการะเด็กชาย หรือเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมากหากคู่ชาย-ชายจะขอรับอุปการะเด็กหญิง ขณะที่คู่รักชาย-หญิง มีโอกาสมากกว่าในการรับเด็กไปอุปการะ ในอีกกรณีที่คู่รักเพศหลากหลายอยากมีบุตรด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ ก็จะถูกสังคมมองว่าเป็นเรื่องสีเทา

มัจฉาเล่าเสริมว่า “ในคู่ของเราที่รับเลี้ยงลูก เราไม่ถือว่าเป็นผู้ปกครองที่ชอบธรรมในทางกฎหมาย เพราะเราไม่สามารถอุปการะลูกอย่างถูกต้องได้ เนื่องจากพ่อแม่ตามสายเลือดของลูกของเรามีอคติกับคนหลากหลายทางเพศ กระทั่งครอบครัวของเราเองก็ไม่สนับสนุน กลับกัน ถ้าเราเป็นหญิงโสดมีรายได้ สังคมคงไม่ตั้งคำถามขนาดนี้ถ้าเราจะอุปการะบุตร

“มีคนบอกว่าก็แก้ปัญหาด้วยการเซ็นรับเลี้ยงแค่คนเดียวสิ แต่เรามองว่ามันไม่ช่วย เช่น ถ้าเราเป็นคนจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ในกรณีที่เสียชีวิตไป อีกคนที่เป็นแม่ที่เขารักมากเหมือนกันก็เป็นได้แค่คนอื่น ไม่มีสิทธิในตัวลูก และสิทธิก็จะโยนกลับไปถึงพ่อแม่ทางสายเลือด แม้ว่าเขายังไม่เคยดูแลลูกเลยตั้งแต่อายุ 3 ขวบ แต่เขามีสิทธิเหนือกว่าเราที่ดูแลลูกมา 10 กว่าปี เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้คือความไม่เป็นธรรมที่เราเคยเจอ”

มัจฉา พรอินทร์ | ภาพโดย The Fort

เช่นเดียวกับ อาริยา มิลินธนาภา และ ลี โรแนล บาร์ธีร์เอต้า (Lee Ronald Battiata) บุพการีคู่รักเพศหลากหลายสะท้อนความกังวลคล้ายๆ กันว่าหากวันหนึ่งตนเป็นอะไรไปโดยที่ลูกยังไม่บรรลุนิติภาวะ สิทธิการปกครองจะไปอยู่ตรงไหนและการจัดการมรดกต้องดำเนินการอย่างไร อาริยาสะท้อนว่า

“เราไม่ได้ออกมาเรียกร้องเพื่อจะได้สิทธิมากกว่าคนอื่น เราแค่ต้องการสิทธิที่ทุกคนมีอยู่แล้วเพื่อให้เกิดความเสมอภาค และผลประโยชน์หลักจากการเรียกร้องของเราเกิดแก่ตัวเด็กโดยตรง ไม่ได้เป็นผลประโยชน์ของคนอื่นหรือทําให้คนอื่นได้รับความเสียหายแต่อย่างใด”

ณฐกมลกล่าวเสริมว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ใช่แค่ทำให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะได้รับ แต่ยังมีประโยชน์กับคู่รัก binary ที่ต้องการสร้างครอบครัวเช่นกัน ณฐกมลยกตัวอย่างว่า

“มีกฎหมายเกี่ยวกับการฟ้องหย่าที่ภาคประชาชนเรียกร้องให้แก้มาตั้งแต่ก่อนปี 2550 ว่าถ้าสามีไปรักกับผู้ชายคนอื่นสามารถใช้เป็นเหตุหย่าได้ไหม เพราะกฎหมายเดิมที่มีอยู่คือถ้าสามีไปมีผู้หญิงอื่นสามารถขอเป็นเหตุอย่าได้ พอเกิดร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็มีการผลักดันเรื่องนี้อีกครั้ง ท้ายที่สุดก็มีการแก้ในร่างกฎหมายนี้ ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยที่เขียนโดยผู้พิพากษาหลายคนตั้งแต่ก่อนปี 2550 แต่ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน เรื่องนี้ทําให้เราได้รู้ว่างานวิจัยใดๆ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้เท่าการเรียกร้องของประชาชน”

นัยนากล่าวเสริมว่าการใช้คำว่า ‘บุพการี’ ไม่ได้ทำให้พ่อแม่ที่เป็นคู่ชาย-หญิง เสียประโยชน์แต่อย่างใด โดยสามารถกำหนดให้ใช้บุพการีลำดับแรกหมายถึงพ่อ-แม่ และบุพการีลำดับถัดไปหมายถึงปู่ ย่า ตา ยาย หรือเครือญาติในลำดับที่ห่างออกไป โดยคำว่าลำดับแรกในทางกฎหมายจะยังเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ในกรณีที่ต้องจัดการเกี่ยวกับมรดกหรือในการตัดสินใจอื่นๆ

ดังนั้นแล้ว ข้อเสนอซึ่งเป็นการรื้อถอนคำที่ผูกติดอยู่กับเพศสภาพจะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนสังคมให้มีความเสมอภาคมากยิ่งขึ้น โดยที่คู่รักชายหญิงหรือครอบครัวตามขนบเดิมไม่ได้สูญเสียสิทธิใดๆ ไป ขณะที่ครอบครัวเพศหลากหลายก็จะได้รับสิทธิที่พึงมีพึงได้ และอีกหนึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์จากการแก้กฎหมายก็คือเด็ก ที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองทั้งทางกฎหมายและจากครอบครัวที่เลี้ยงดูเขามา

ลี โรแนล บาร์ธีร์เอต้า (Lee Ronald Battiata) และ อาริยา มิลินธนาภา | ภาพโดย The Fort

นิยาม(ใหม่)ของความเป็นครอบครัว เมื่อเพศสภาพไม่ได้ใช้ในการเลี้ยงลูก

ภาพจำของคำว่า ‘ครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ’ ตามขนบของสังคมไทยอาจเป็นภาพลูกๆ เติบโตมาในครอบครัวที่มีพ่อเป็นเพศชาย มีแม่เป็นเพศหญิง และรายล้อมไปด้วยปู่ย่าตายายที่ช่วยเลี้ยงดูเด็กให้เติบใหญ่ แต่ในวันที่โลกกำลังเปลี่ยนไป ในวันที่ความหลากหลายปรากฏชัดขึ้น เราเห็นแล้วว่าท้ายที่สุดแล้วเพศสภาพไม่ได้ใช้ในการเลี้ยงลูก และการที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ ความรักและความเอาใจใส่จากคนในครอบครัวคือสิ่งสำคัญที่สุด  

มัจฉากล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “เราอยากเห็นกฎหมายที่มีหัวใจ อยากให้ผู้ออกกฎหมายปฏิบัติกับเราอย่างเท่าเทียมในฐานะที่ก็เป็นพลเมืองคนหนึ่ง เวลามีคนรุ่นใหม่ในชุมชน LGBTQ+ เดินมาคุยกับเราว่าเขาไม่เคยคิดถึงการสร้างครอบครัวเลย แต่พอเห็นครอบครัวของเราแล้วเขาเริ่มจะจินตนาการถึงการมีลูกได้ มีครอบครัวได้ เราเลยรู้สึกว่าการต่อสู้ของเราไม่สูญเปล่า และตอกย้ำว่าสังคมดีกว่านี้ได้สําหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศและเด็กทุกคนที่เติบโตมาในในครอบครัวหลากหลายทางเพศ หากกฎหมายเอื้อให้เราได้สร้างครอบครัวเหมือนคนทั่วไป”

อาริยากล่าวสนับสนุนว่า “เมื่อเราอยู่กันเป็นครอบครัวแล้ว เด็กก็ควรจะได้รับสิทธิในครอบครัว เป็นสิ่งการันตีว่าเราอยู่ด้วยกันนะ นี่คือครอบครัวของเรา เด็กเขาไม่ได้มามองว่าเราจะต้องเป็นเพศนี้เพื่อที่จะเป็นพ่อ แล้วก็เป็นเพศนั้นเพื่อเป็นแม่ ในสังคมที่กว้างออกไป มีอีกหลายกรณีที่เด็กๆ ยังต้องการความรัก ความใส่ใจ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือคนที่อยู่ด้วยกันเติมเต็มสิ่งเหล่านี้ให้เด็กได้หรือไม่” ด้านลี โรแนล เสริมว่าปัจจุบันสังคมพร้อมเปิดรับและโอบรับคนที่เป็นคู่รักเพศหลากหลายในระดับหนึ่งแล้ว เหลือเพียงการแก้กฎหมายที่น่าจะต้องผลักดันเพื่อตามให้ทันสังคม

เมื่อสังคมกำลังก้าวไปข้างหน้า กฎหมายก็ไม่ควรหยุดนิ่งอยู่กับที่ การแก้กฎหมายเพื่อขจัดการลิดรอนสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศจะมีคุณูปการทอดยาวต่อคนรุ่นใหม่ๆ ในอนาคต และเติมเต็มช่องว่างในครอบครัวรูปแบบใหม่ที่ไม่ตรงขนบเดิม ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมยังมีอีกหลายด่านให้ฝ่าไป และยังต้องมีการพูดคุย สื่อสารกับผู้ออกกฎหมายและสังคมอีกมาก เพื่อที่วันหนึ่งประเทศไทยจะกล่าวได้อย่างภาคภูมิว่าเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และเป็นกฎหมายที่ฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save