fbpx
ในวันที่อำนาจถูกตั้งคำถาม : ย้อนดูกระแสวิจารณ์ขบวนรถผู้นำสหรัฐฯ และการต่อต้านราชวงศ์ในสหราชอาณาจักร

ในวันที่อำนาจถูกตั้งคำถาม : ย้อนดูกระแสวิจารณ์ขบวนรถผู้นำสหรัฐฯ และการต่อต้านราชวงศ์ในสหราชอาณาจักร

จากข่าวของทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ทำให้ประเด็นเรื่อง #ขบวนเสด็จ กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งในสังคมไทย แต่ข้อถกเถียงเรื่องการปิดถนนเพื่อเปิดทางให้ขบวนรถผู้นำและคนสำคัญของประเทศนั้นไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่หลายประเทศทั่วโลกก็มีการถกเถียงเรื่องนี้กันมาอย่างยาวนาน 

แม้มาตรการรักษาความปลอดภัยของบุคคลสำคัญจะเป็นเรื่องจำเป็นและเป็นมาตรการที่ปฏิบัติทั่วโลก แต่คำถามสำคัญคือจุดสมดุลระหว่างอำนาจของผู้นำกับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการตั้งคำถามและท้าทายอยู่ตรงไหน บทความนี้ชวนย้อนดูกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขบวนรถรักษาความปลอดภัยของประมุขแห่งรัฐในสหรัฐอเมริกา ไปจนถึงประเด็นที่ใหญ่กว่านั้นคือกระแสต่อต้านราชวงศ์อังกฤษ ทั้งหมดนี้สะท้อนเส้นแบ่งระหว่างอำนาจของผู้นำกับการเคารพเสียงของประชาชนอย่างไร

1

‘ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา’ เป็นบุคคลสำคัญผู้ได้รับการคุ้มครองอย่างรัดกุมเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เหตุผลที่เรามักได้ยินบ่อยครั้งคือเพื่อป้องกันเหตุการณ์ประทุษร้าย ไปจนถึงการลอบสังหารอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อประธานาธิบดีต้องเดินทางหรือปรากฏตัวในที่สาธารณะ ทำให้ขบวนรถของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องประกอบด้วยรถราว 50 คัน[1] ไล่เรียงตั้งแต่รถมอเตอร์ไซค์นำขบวนความเร็วสูง รถเกราะกันกระสุน รถจับสัญญาณเรดาร์ หรือกระทั่งรถที่บรรจุอาวุธพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการฝึกฝนอย่างดี และรถประเภทอื่นๆ 

ขบวนที่มีรถจำนวนมากขนาดนี้ย่อมส่งผลให้เกิดจราจรติดขัดในพื้นที่ที่ประธานาธิบดีเดินทางไป แม้จะมีการแจ้งเตือนล่วงหน้า แต่ก็มีรายงานข่าวอยู่เป็นระยะเกี่ยวกับผู้ได้รับผลกระทบจากขบวนรถของประธานาธิบดีสหรัฐฯ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 

เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2023 มีรายงานว่าผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งถ่ายภาพเซลฟี่ระหว่างรถติดในขบวนหาเสียงของประธานาธิบดี โจ ไบเดน[2] หลังจากนั้นก็มีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายอื่นๆ เข้ามาแสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน คือวิพากษ์วิจารณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากขบวนรถของประธานาธิบดี 

เหตุการณ์รถติดไม่ได้เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรก และการที่รถบนถนนเคลื่อนที่ได้ช้ายังส่งผลมากกว่านั้น เพราะเมื่อปี 2015 ขณะที่ขบวนรถของบารัก โอบามา กำลังขับผ่านถนนในเมืองลุยส์วิลล์ หญิงตั้งครรภ์คนหนึ่งกำลังอยู่ในสถานการณ์คับขัน เพราะกำลังเดินทางไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล แต่ด้วยสภาพของท้องถนนในเวลานั้น ทำให้เธอไปโรงพยาบาลไม่ทันจนต้องคลอดลูกในรถ โดยได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน[3]

ในประเทศอื่นๆ เช่น สหราชอาณาจักรก็มีมาตรการการคุ้มกันความปลอดภัยของประมุขแห่งรัฐในระหว่างการเดินทางเช่นเดียวกัน แต่มักไม่มีรายงานถึงผลกระทบเรื่องการจราจรติดขัด ด้วยเพราะหน่วยคุ้มกันความปลอดภัยพิเศษ (The Special Escort Group: SEG)[4] ซึ่งเป็นกลุ่มตำรวจนครบาลผู้คุ้มกันขบวนรถของบุคคลสำคัญของรัฐสามารถดำเนินการได้ค่อนข้างรวดเร็วและราบรื่น แต่เมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อเฮเลน ฮอลแลนด์ หญิงชราวัย 81 ปี ถูกรถมอเตอร์ไซค์ในขบวนเสด็จฯ ของโซฟี ดัชเชสแห่งเอดินบะระ ชนจนบาดเจ็บสาหัส ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา[5] แม้จะมีผู้ให้ความเห็นว่าอุบัติเหตุดังกล่าวไม่ใช่ความผิดของดัชเชสโซฟีแต่อย่างใด แต่เหตุการณ์นี้ก็เรียกร้องให้ตระหนักถึงการทบทวนมาตรการคุ้มครองราชวงศ์ในขบวนเสด็จฯ เพราะก่อนหน้านั้น ในปี 2019 ไอรีน แมร์ หญิงชราวัย 81 ปีก็ถูกมอเตอร์ไซค์ในขบวนเสด็จฯ ของเจ้าชายวิลเลียมชนบาดเจ็บสาหัสเช่นกัน[6]

2

นอกจากเรื่องผลกระทบและความปลอดภัยในการใช้ท้องถนนแล้ว การใช้งบประมาณก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่สร้างข้อวิพากษ์วิจารณ์ เห็นได้ในสหรัฐฯ สมัยโดนัลด์ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ที่ไม่ใช่แค่เรื่องการต้องมีขบวนรถเท่านั้น แต่มาตรการรักษาความปลอดภัยของทรัมป์ในภาพรวมก็เป็นเรื่องที่มีการกล่าวถึงในสื่อด้วยเช่นกัน เพราะทรัมป์ยกระดับมาตรการความปลอดภัยให้มากยิ่งขึ้น ผู้คนที่เคยทำงานร่วมกับทรัมป์ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์การกระทำดังกล่าว อย่าง ไมเคิล โคเฮน อดีตทนายความของเขา ถึงกับเสียดสีมาตรการความปลอดภัยของทรัมป์ว่า “เหมือนเขา (ทรัมป์) เป็นซีซาร์!” และหลายคนยังตั้งคำถามเรื่องขอบเขตและจำนวนของงบประมาณที่ใช้ โดยเฉพาะเมื่องบประมาณนั้นมาจากภาษีของประชาชน[7]

ไม่เพียงเรื่องความปลอดภัยของประธานาธิบดีเท่านั้นที่ถูกวิจารณ์เรื่องงบประมาณ แต่ความหรูหราของขบวนรถก็เช่นกัน มีตัวอย่างในอียิปต์ ที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์การปูพรมแดงในขบวนรถระหว่างการเดินทางในย่านชานเมืองไคโรของประธานาธิบดี อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี เพราะในขณะที่ซิซีเน้นย้ำว่าต้องปรับลดงบประมาณสำหรับโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ แต่กลับมีพรมแดงปูทางท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชน[8]

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ทำให้เกิดการทบทวนแนวคิดการจัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณ ระหว่างสวัสดิภาพของประชาชนกับการเดินทางของบุคคลสำคัญของรัฐ จะเห็นได้ว่าตราบใดที่มาตรการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสาธารณชนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยไม่ได้ตั้งใจ ก็ย่อมจะต้องพบกับคำวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเหมาะสมของการดำเนินการดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่เสมอ

3

มากไปกว่าการวิพากษ์วิจารณ์มาตรการเหล่านี้ ยังมีกระแสต่อต้านที่ตั้งคำถามต่อการดำรงตำแหน่งของผู้มีอำนาจ ราชวงศ์อังกฤษเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในเรื่องนี้ เพราะหลังการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ก็เกิดขบวนการเคลื่อนไหว #NotMyKing ปรากฏในรูปแบบต่างๆ ทั้งบนโซเชียลมีเดียและในพื้นที่สาธารณะ  

ในเดือนกันยายน ปี 2022 ระหว่างการเยือนเวลส์ครั้งแรกในฐานะกษัตริย์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ที่ปราสาทคาร์ดิฟฟ์ มีกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านสถาบันกษัตริย์แสดงออกด้วยการตะโกนว่า “God Save the People” และถือป้ายเรียกร้องที่เขียนว่า ‘สาธารณรัฐเวลส์’ โดยมีประชาชนอีกกลุ่มตอบโต้ด้วยการร้องเพลง ‘God Save the King’ จากเหตุการณ์นี้ มาร์ก เดรคฟอร์ด มุขมนตรีของเวลส์ เน้นย้ำก่อนการเสด็จเยือนของราชวงศ์ว่า “ประชาชนมีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายในการประท้วง” และเขาก็เชื่อว่าประชาชนจะใช้มันอยู่ในขอบเขต[9]

ก่อนหน้านั้น มีการถกเถียงกันเรื่องการอนาคตของตำแหน่งมกุฎราชกุมารแห่งเวลส์ว่าควรมีตำแหน่งนี้ต่อไปหรือไม่ และผลสำรวจความคิดเห็นในเดือนมิถุนายน 2022 พบว่าผู้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนให้มีตำแหน่งนี้ต่อไปมีจำนวนลดลง เมื่อเทียบกับปี 2009 และ 2018 

หากเหตุการณ์ในเวลส์คือภาพของกลุ่มผู้ชุมนุมในพื้นที่จำกัด การปาไข่ใส่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ก็คือภาพของการต่อต้านที่ยกระดับมากขึ้นไปอีก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 ขณะที่พระองค์และสมเด็จพระราชินีคามิลลากำลังเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในเมืองยอร์ก แพทริก เทลเวลส์ นักศึกษาวัย 23 ปีก็ปาไข่ใส่พระองค์และมีคนได้ยินเสียงเขาตะโกนว่า “ไม่ใช่กษัตริย์ของฉัน” และ “ประเทศนี้สร้างมาจากเลือดของทาส” แม้จะปาไม่โดน แต่เขาก็ถูกควบคุมตัวทันที[10] หลังจากที่ถูกควบคุมตัว เขาก็ได้รับการปล่อยตัว โดยมีเงื่อนไขในการประกันตัวคือห้ามครอบครองไข่ในที่สาธารณะและห้ามเข้าใกล้พระเจ้าชาร์ลส์ในระยะ 500 เมตร[11]

ในตอนแรก เขาถูกตั้งข้อหาว่ามีความผิดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่เขาปฏิเสธข้อกล่าวหานั้น สุดท้ายแล้วศาลก็ตัดสินโทษด้วยความผิดฐานกระทำพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัว ต้องโทษบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ 100 ชั่วโมง จ่ายค่าปรับ 600 ปอนด์ และค่าเสียหายเพิ่มเติมอีก 114 ปอนด์ ในอัตรา 5 ปอนด์ต่อสัปดาห์[12] 

หลังจากเหตุการณ์นี้ไม่กี่สัปดาห์ก็มีการปาไข่เกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่สองจากชายหนุ่มอีกคนที่ชื่อว่า แฮร์รี เมย์ เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์เสด็จฯ เยือนเมืองทางตอนเหนือของลอนดอน ที่ศาลากลางเมืองลูตัน เมย์ถูกปรับ 100 ปอนด์ และต้องจ่ายค่าเสียหาย 85 ปอนด์[13]

เหตุการณ์การประท้วงระหว่างการเสด็จเยือนของพระเจ้าชาร์ลที่ 3 ในเวลส์และอังกฤษสะท้อนให้เห็นพลวัตของความนิยมต่อระบอบกษัตริย์ในสหราชอาณาจักร รวมไปถึงการตั้งคำถามต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

4

ทั้งการถกเถียงเรื่องมาตรการด้านความปลอดภัยของบุคคลสำคัญ และกระแสต่อต้านระบอบกษัตริย์ในสหราชอาณาจักร มีจุดร่วมหนึ่งที่สำคัญ คือความสมดุลระหว่างอำนาจของสถาบันหลักและสิทธิของประชาชนในการตั้งคำถามต่อเรื่องที่ตนได้รับผลกระทบ

สำหรับเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยของประมุขแห่งรัฐ แม้จะมีข้อสนับสนุนว่ามาตรการที่เข้มงวดเป็นเรื่องจำเป็น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในหลายครั้งขบวนรถและการปิดการจราจรก็ก่อความไม่สะดวกแก่ประชาชน รวมถึงเรื่องความฟุ่มเฟือยของงบประมาณ ทั้งหมดทำให้เกิดข้อวิจารณ์ว่าควรมีการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งข้อวิจารณ์เหล่านี้ก็มีรายงานตามสื่อสำนักต่างๆ อย่างกว้างขวาง 

นอกเหนือจากนั้น กระทั่งการท้าทายตัวระบบเองก็เกิดขึ้น อย่างในสหราชอาณาจักร สถานะของกษัตริย์กำลังถูกสั่นคลอน เห็นได้จากการทำโพลสำรวจความคิดเห็นเรื่องตำแหน่งมกุฎราชกุมาร ไปจนถึงการแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งอย่างการปาไข่ใส่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทั้งหมดนี้ ขอบเขตของการแสดงออกก็ยังคงเป็นที่ถกเถียง อย่างไรก็ตาม กระแสความไม่พอใจของประชาชนนั้นมีอยู่จริงอย่างปฏิเสธไม่ได้และดูมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 

เมื่อย้อนกลับมามองสถานการณ์ในประเทศไทย พบว่าเคยมีความพยายามในการปรับเปลี่ยนขบวนเสด็จฯ ของราชวงศ์ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยลงมาเป็นเวลานาน นับตั้งแต่ พ.ศ. 2544 รวมถึงมีรายงานจากกระทรวงกลาโหมว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงรับสั่งไม่ให้มีการปิดการจราจร[14] แต่ก็ดูคล้ายว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ 

กระแสความเห็นเรื่องขบวนเสด็จฯ เกิดขึ้นอยู่เป็นระยะและอาจยังมีอยู่ต่อไป หากสังคมไทยไม่เริ่มต้นตั้งคำถามและไม่พยายามเปิดพื้นที่การถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปที่ความคิดเห็นของประชาชนถูกนับรวม

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save