fbpx

“ไม่ว่ะ คนรุ่นใหม่บางกลุ่มก็ไม่ได้ตื่นตัวทางการเมืองมากขนาดนั้นแล้ว” ว่าด้วย 6 ตุลาฯ และ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์

ป้ายผ้าข้อความ ‘ล้างมรดกบาป 6 ตุลา ยกเลิกมาตรา 112’ กับหุ่นผ้าแต่งเป็นศพจำลอง ถูกยกชูขึ้นในกิจกรรมดนตรี ‘6 ตุลาหวังว่าเสียงลมจะพาล่องไป’ ที่ลานคนเมือง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2022 ที่ผ่านมา ไม่กี่อึดใจหลังจากนั้น แว่วเสียงคนโห่ร้องให้เอาป้ายและหุ่นผ้าลง ด้วยเงื่อนไขว่าบังเวทีคอนเสิร์ต, ขัดขวางการดูดนตรี ไปจนถึงเหตุผลที่ว่าไม่อยากให้งานครั้งนี้เกี่ยวโยงกับมาตรา 112 

ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และเพื่อนนักกิจกรรมตัดสินใจเก็บป้ายผ้าลงตามคำเรียกร้อง ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าเธอเพิ่งขอศาลเพื่อออกมาทำกิจกรรมครั้งนี้หลังได้รับคำสั่งให้ใส่กำไลอีเอ็มเพื่อติดตามตัว จากเมื่อต้นปี ตะวันจัดกิจกรรมทำโพล ‘คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่’ และไลฟ์เฟซบุ๊กเพื่อตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของขบวนเสด็จฯ ซึ่งยังผลให้เธอต้องคดีอาญามาตรา 112 และ 116 ก่อนจะถูกส่งตัวไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง หนึ่งเดือนให้หลังจากนั้น หลังอดอาหารในเรือนจำเพื่อประท้วงความอยุติธรรมต่อข้อกฎหมายและการตัดสินของศาล เธอก็ได้รับการปล่อยตัวพร้อมกำไลอีเอ็มติดข้อเท้า

6 ตุลาคม 2022 คือวันที่เธอออกจากบ้านเพื่อไปร่วมงาน ‘6 ตุลาหวังว่าเสียงลมจะพาล่องไป’ -อันเป็นงานดนตรีที่จัดขึ้นในวาระครบรอบ 46 ปีเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519- พร้อมป้ายผ้าระบุข้อความยกเลิกมาตรา 112 หากแต่การเคลื่อนไหวในครั้งนั้นแลกมาด้วยความชุลมุน เมื่อมีผู้เข้าร่วมงานหลายคนซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นเยาวชน ยืนกรานให้เธอและเพื่อนเอาป้ายผ้าลง

ผ่านพ้นจากเหตุการณ์นั้น ตะวันมีแรงสั่นไหวในใจบ้างหรือไม่ เมื่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในงานกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเป้าประสงค์ทางการเมือง กลับถูกปฏิเสธจากคนรุ่นใหม่มากหน้าหลายตา

คำตอบอยู่ในบทสนทนาด้านล่างนี้

มองยังไงที่เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นในวัน 6 ตุลาฯ 

(คิดนาน) พูดยากอยู่เหมือนกัน อย่างกรณีงานนี้ก็มีหลายประเด็นที่เรารู้สึกว่าพูดยากมากๆ และเข้าใจหลายฝ่ายมากๆ

ต้องบอกตามตรงว่าการเคลื่อนไหวปี 2020 ที่ผ่านมา เราอาจจะว้าว คนรุ่นใหม่ออกมากันเยอะมาก มันจะต้องเปลี่ยนแปลงได้สิ แล้วเราก็โลกสวยกันมาโดยตลอดว่าประเทศนี้เปลี่ยนแปลงได้แน่ คนรุ่นใหม่ตื่นตัวแล้ว 

จนกระทั่งที่มีม็อบหลังๆ ทุกอย่างมันดูกระแสตก คนไม่ค่อยมาร่วมม็อบ แต่เราก็เข้าใจได้นะว่าคนอาจจะล้าและคนอาจจะเบื่อการมาร่วมม็อบก็ได้ นั่นก็โอเค แต่ถามว่าคนรุ่นใหม่ยังตื่นตัวทางการเมืองอยู่ไหมล่ะ นี่ก็เป็นคำถามที่อยู่ในใจเรามาตลอด จนกระทั่งเรานั่งคุยกับรุ่นพี่หลายๆ คน หลายๆ ความเห็น และก็รู้สึกว่า ไม่ว่ะ คนรุ่นใหม่บางกลุ่มเขาก็อาจไม่ได้ตื่นตัวทางการเมืองมากขนาดนั้นแล้ว และอิกนอแรนซ์ (ignorance -คนที่ไม่สนใจประเด็นต่างๆ) มีอยู่จริง คุณจะมาพูดว่าอิกนอแรนซ์ไม่มีอยู่จริงไม่ได้หรอก นี่คือสิ่งที่เราพยายามพูดกันมาตลอดว่าอิกนอแรนซ์มีอยู่จริงๆ และคนพวกนี้น่ากลัวมาก คนที่รับรู้ว่ามีความไม่ชอบธรรมเกิดขึ้น แต่เลือกจะนิ่งเฉยคือคนที่น่ากลัวมากๆ มันเป็นสิ่งที่เราพยายามพูดมาตลอด แต่คนก็ยังเข้าใจว่าคนรุ่นใหม่ตื่นตัวทางการเมืองมากๆ แน่นอนว่าเราเองก็คิดแบบนั้น เราคิดว่าคนรุ่นใหม่อาจจะตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นแหละ แต่อาจไม่มากเท่าเดิมแล้ว 

เมื่อเกิดเหตุการณ์วันที่ 6 ขึ้น ทุกคำพูดที่เราได้เจอมันยิ่งทำให้เรารู้ว่า คนรุ่นใหม่ไม่ได้ตื่นตัวทางการเมืองทุกกลุ่มขนาดนั้น และให้พูดตามตรง การที่ประเทศจะเปลี่ยนแปลงได้ เราต้องการคนที่อยากรู้อยากเห็น หรือจะเรียกว่าขี้เสือกก็ได้ แต่มันต้องมีความอยากรู้อยากเห็น พร้อมที่จะเรียนรู้ พร้อมที่จะเข้าใจปัญหาหลายๆ อย่างและพร้อมที่จะแลกไปด้วย

ทุกคนต้องจ่าย เราล้วนมีราคาต้องจ่าย แต่ว่าถ้าจะให้ใครคนใดคนหนึ่งหรือว่าคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจ่ายอยู่กลุ่มเดียว มันก็คงจะหนักหนาเกินไปด้วย

ในฐานะที่คุณก็เป็นคนรุ่นใหม่ มองว่าอะไรทำให้คนรุ่นใหม่ในวัยไล่เลี่ยกันกับคุณจำนวนหนึ่งเป็นอิกนอแรนซ์

นั่นน่ะสิ อยากรู้เหมือนกันว่าทำไมคนเรารับรู้ว่ามีความไม่ชอบธรรมเกิดขึ้น มีคนโดนกระทำ แต่เลือกที่จะนิ่งเฉยได้ 

แต่ถ้าให้ลองคิดดู คงเพราะว่าการนิ่งเฉยมันอาจง่ายกว่า สบายกว่า ออกมาต่อสู้เพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไข แต่ถ้าคุณเข้าใจปัญหาทั้งหมดแล้วยังนิ่งเฉยได้ อันนี้เราไม่เข้าใจเหมือนกัน เพราะเราคิดว่าการนิ่งเฉยต่อปัญหานั้นน่ากลัวมากๆ

คิดว่าระบบการศึกษาหรือสังคมมีส่วนในการหล่อหลอมคนรุ่นใหม่ให้เมินเฉยเรื่องความไม่ยุติธรรมหรือเปล่า

แน่นอนว่าการศึกษาสำคัญและมีอิทธิพลต่อความคิดของคนรุ่นใหม่เช่นกัน แต่ส่วนตัวเราว่าคนรุ่นใหม่หลายคนก็ตระหนักและคิดวิเคราะห์ได้ด้วยตัวเองแล้ว แค่ว่าคนที่รับรู้ถึงความไม่ยุติธรรมแล้วเลือกจะออกมาพูด เลือกจะออกมาต่อสู้ยังเป็นจำนวนไม่มากพอ ซึ่งเราว่ายิ่งออกมาสู้กันเท่าไหร่ ก็ยิ่งกระจายความเสี่ยงได้มากเท่านั้นนะ

สำหรับคุณแล้ว 6 ตุลาฯ สำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างไร รู้จัก 6 ตุลาฯ จากไหน ทำไมเราจึงอยากเอาป้ายผ้ายกเลิก 112 ไปชูที่งานนั้น

ให้พูดตามตรง การศึกษาไทยไม่ได้บรรจุความเป็นมาของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ขนาดนั้น ทำให้หลายคนไม่ได้รับรู้อะไรมากมาย รู้เพียงแค่ว่ามันมีการสังหารหมู่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ไม่ได้รับรู้ที่มาที่ไปว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง 

ส่วนตัวเราเองก็ค้นคว้าหาข้อมูลบ้างจากหลายช่องทาง รวมถึงได้รู้จักกับคนที่อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ และได้รับฟังเรื่องราวที่พวกเขาได้ประสบพบเจอว่ามันเลวร้ายมากแค่ไหน ทุกครั้งที่ได้ฟังว่าเขาต้องเจออะไรบ้าง เราสะเทือนใจ เจ็บปวด และโกรธแค้นต่อเหตุการณ์ที่ทุกคนโดนกระทำ เรารับรู้ว่าคนในเหตุการณ์นั้นโดนกระทำอย่างหนักหนาสาหัส มีคนตาย มีคนเจ็บ โดนจับไปขังและโดนคดี ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ112 

แม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาฯ ก็จริง แต่พอได้ฟังเรื่องเหล่านี้เราก็เจ็บปวด คนที่ตายไปแล้วเขาฟื้นคืนมาไม่ได้ และคนที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นเขาต้องเจ็บปวด ต้องบอบช้ำจากสิ่งที่เขาถูกกระทำไปตลอดชีวิต

อีกอย่างหนึ่งคือ จากเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาฯ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 จากระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี เป็นระวางโทษจำคุก 3-15 ปี ดังนั้นแล้ว 6 ตุลาฯ และมาตรา 112 จึงเกี่ยวข้องกันมากๆ เป็นเรื่องเดียวกันเลยด้วยซ้ำ ฉะนั้นจึงต้องยืนยันว่าการชูป้ายยกเลิก 112 ในงาน 6 ตุลาฯ เป็นเรื่องเดียวกัน

หลายคนเคยตั้งข้อสังเกตว่าม็อบอาจจะจุดไม่ติดแล้ว แต่ทัศนคติคนเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงแล้ว และม็อบก็อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักอีกต่อไป

ส่วนตัวเราคิดว่าม็อบในรูปแบบเดิม เช่น การตั้งเวทีปราศรัยแล้วกลับบ้าน อันนี้น่าจะจุดไม่ติดแล้ว เหมือนว่าพอบ่อยเข้า คนเห็นว่าไปแล้วก็กลับ หลายคนก็รู้สึกว่าถ้าเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เขาไม่ต้องไปก็ได้ อาจจะเบื่อด้วย 

มันเหมือนเราขายฝันให้เขามากๆ ว่า ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’ หรือ ‘เดี๋ยวเราก็จะชนะแล้ว’ มันเป็นคำที่ดีนะคะ แต่เมื่อเราพูดคำนี้ไปเรื่อยๆ พวกเขาก็อาจตั้งคำถามว่าแล้วไหนล่ะ ที่ว่าจะจบ แล้วเขาต้องทำอะไรต่อไปอีกบ้าง วิธีแรกคือเขามาร่วมม็อบแล้ว จากนั้นวิธีต่อๆ ไปคืออะไรต่อล่ะ อย่างการลงชื่อยกเลิก 112 พวกเขาก็ลงแล้ว แล้วต้องยังไงต่ออีก เหมือนคนไม่รู้ว่าแล้วเขาควรทำอย่างไรต่อ เราเลยรู้สึกว่าม็อบในรูปแบบเดิมมันไม่น่าจะจุดติดแล้ว แต่ไม่แน่นะ ถ้ามันมีม็อบที่มีรูปแบบหลากหลายมากขึ้น ก็อาจทำให้คนกลับมาสนใจหรือเข้าร่วมด้วยก็ได้ 

ถามว่าทัศนคติคนมันเปลี่ยนไปแล้วจริงไหม เราว่าจริงนะ เพราะเมื่อก่อนใครจะไปกล้าพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในที่สาธารณะขนาดนั้น แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า ไม่ใช่แค่ในโลกโซเชียลแล้ว แต่เวลาเราไปคุยกับคนอื่น หรือคนอื่นมาคุยกับเรา กลายเป็นว่าทุกคนกล้าพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์หรือปัญหาของสถาบันฯ ทัศนคติคนมันเปลี่ยนไปจริงๆ 

ทั้งนี้ ทัศนคติที่เปลี่ยนไปของผู้คนก็เป็นผลพวงจากการเคลื่อนไหวเมื่อปี 2020 ด้วยใช่ไหม

ใช่ แล้วเราว่ามันดีมาก การที่ทัศนคติคนเปลี่ยนเป็นเรื่องดีจริงๆ แต่ให้พูดตามตรงว่าเมื่อทัศนคติคนเปลี่ยนแล้ว ถามว่านั่นคือคนส่วนมากหรือส่วนน้อยกันแน่ เรามั่นใจจริงๆ ใช่ไหมว่านั่นคือคนส่วนมากจริงๆ หรือเราเข้าใจกันไปเองว่านั่นคือคนส่วนมาก 

แล้วคุณคิดว่ามากจริงหรือเปล่า

เราคิดว่ามาก แต่ยังไม่มากพอ

เอาจริงๆ พูดถึงเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา คนที่ตะโกนคำพูดแบบนั้นใส่เรา เราว่าเขาก็คงมีทัศนคติที่เปลี่ยนไปด้วยเหมือนกันจากการปะทุขึ้นของการชุมนุมเมื่อปี 2020 เขาอาจจะเข้าใจแล้วว่าสถาบันกษัตริย์มีปัญหาอย่างไร ต้องปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลง หรือทำอะไรอย่างไรกับตัวสถาบันฯ ต่อไป แล้วรัฐบาลมีปัญหาอย่างไรบ้าง เราว่าเขาเข้าใจนะ แต่ว่า (คิด) คุณลืมไปหรือเปล่าว่าคุณมางานอะไร เราต้องการคนที่อยากรู้อยากเห็น ฝักใฝ่มากขึ้น แล้วเรามางานคอนเสิร์ต 6 ตุลาฯ แต่จะไม่ถามหน่อยเหรอว่าวันที่ 6 ตุลาฯ มันเกิดอะไรขึ้น 

เอาจริงๆ คุณเคยสังเกตเห็นความเฉื่อยชาของผู้คนมาก่อนหน้านี้ไหม เช่นช่วงที่คุณอดอาหารประท้วงในเรือนจำ ดูมวลสังคมก็นิ่งพอสมควร

เราเคยได้ยินทฤษฎีที่ว่าพอมีบางอย่างเกิดขึ้นไปแล้ว คนลุกฮือขึ้นมาเพราะสิ่งนั้นไปแล้ว ถ้าสิ่งนั้นจะสามารถปลุกคนให้กลับมาลุกฮือได้อีกครั้งคือต้องผ่านไปประมาณสามปี ที่เล่านี่คือกำลังจะบอกว่าแกนนำเคยอดอาหารมาแล้ว ทุกคนโมโห ระดมความโกรธไปกับครั้งนั้นแล้ว และผ่านมาไม่นานก็มีใครไม่รู้ที่ชื่อตะวันมาอดอาหาร ถามว่ามันมีความโกรธไหม มันก็มี แต่ไม่เหมือนช่วงแรก

ให้พูดตรงๆ คือ ถ้าเป็นไปได้ เราก็อยากให้รู้สึกกันว่า เมื่อมีความไม่ชอบธรรมเกิดขึ้น เราอยากให้ความโกรธนั้นยังคงอยู่เสมอ อยู่ตลอด ถ้าคุณเคยรู้สึกโกรธอย่างไร เราอยากให้คุณโกรธแบบนั้น ระดมมันให้โกรธมากกว่าเดิมก็ได้ แต่อย่าโกรธน้อยลงกว่าเดิมได้ไหม เพราะมันเป็นความไม่ชอบธรรม เป็นความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น แล้วเราไม่ได้หมายถึงเรื่องเราเท่านั้น แต่ยังหมายถึงคนอื่นด้วย หมายถึงทุกเหตุการณ์เลย

อาจเพราะความโกรธต้องใช้พลังงานด้วยไหม ตะวันไม่เหนื่อยเหรอถ้าจะโกรธตลอดเวลา

เหนื่อย (ยิ้ม) แต่ความที่เราเป็นมนุษย์น่ะ ถ้าเราเห็นความไม่ชอบธรรมเกิดขึ้น หรือมีใครที่โดนกระทำ มนุษย์ต้องรู้สึกโกรธสิ ต้องรู้สึกแย่สิ ต้องรู้สึกโมโห เกรี้ยวกราดหรืออะไรสักอย่างสิ แต่การที่คุณจะชินชาได้นี่มันน่ากลัวมากๆ เลย ดังนั้นสำหรับเรา เรื่องนี้เลยน่ากลัวมากๆ แต่เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเขาชินชาได้ยังไง

เราว่าความชินชาเหล่านี้มันน่ากลัวมากๆ (เน้นเสียง) เราไม่เข้าใจเหมือนกันว่าคนชินชาขนาดนั้นไปได้ยังไง ขนาดเราที่เคยโกรธยังไง ทุกวันนี้เราก็ยังโกรธอย่างนั้นอยู่ เราเลยไม่เข้าใจว่าเขาจะรู้สึกชินชากับความไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้นได้ยังไง

มีคนตั้งข้อสังเกตว่าตอนนี้คนเราอาจยังโกรธไม่มากพอ หรือลำบากไม่มากพอ คือท้องหิวก็ยังกดสั่งอาหารมากินที่บ้านได้ ไม่ได้ต้องอดมื้อกินมื้ออะไร

โห (คิดนาน) เราต้องถามกลับด้วยซ้ำว่านี่ยังบอบช้ำกันไม่พออีกเหรอ ยังเจ็บปวดกันไม่พออีกเหรอ ไม่ต้องพูดถึงตัวเองก็ได้ แต่พูดถึงคนที่เขาเคยโดนกระทำก็ได้ คนที่เขาถูกอุ้มหายไป เป็นเพราะเขาไม่ใช่ครอบครัวคุณเหรอ คุณถึงไม่รู้สึกเจ็บปวดไปด้วย แต่ถ้าคุณมีความเป็นมนุษย์ คุณต้องเจ็บปวดกับมันแน่ๆ ต้องรู้สึกแย่ต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับคนอื่น ต่อให้ไม่ใช่ครอบครัวคุณก็ตาม ฉะนั้น หากคุณรู้สึกถึงสิ่งนี้ คุณก็ควรบอบช้ำมากๆ แล้วล่ะ ต้องกระสับกระส่าย ทุรนทุรายมากๆ ได้แล้ว

คนที่ออกมาสู้หลายๆ คนก็มีชนชั้นกลางเยอะนะ แต่พักหลังๆ เขาอาจไปอยู่ในโลกโซเชียล ไม่ได้หายไปเสียทีเดียวหรอก แต่แค่ว่าไม่ค่อยเห็นในม็อบเท่านั้นเอง คนที่เราเห็นว่ายังอยู่ในม็อบ มีกลุ่มที่เขารู้สึกว่าเขาไม่มีอะไรต้องเสียแล้ว ไม่มีงาน ไม่มีเงิน เขาเลยพร้อมแลกทุกอย่าง แต่ชนชั้นกลางที่พร้อมสู้ก็ยังมีนะ เกือบครึ่งเลยก็เป็นคนที่บ้านมีเงิน ถึงไม่ออกมาสู้ก็สบาย เป็นอิกนอแรนซ์ได้สบายๆ เลย ไม่ต้องออกมาติดคุกหรือโดนคดีก็ได้ แต่จะมีอีกกลุ่มที่เราเห็นว่าเขาพร้อมแลกมากๆ เลยรู้สึกว่า เขาอาจจะบอบช้ำมากแล้ว ไม่เหลืออะไรให้แลกแล้ว เลยพร้อมสู้เต็มกำลัง

คุณนับตัวเองเป็นชนชั้นกลางไหม

นับสิ เราพูดกับเพื่อนหลายรอบเลยนะว่าจริงๆ แล้วเรากลับบ้านนอนก็ไม่เป็นไรนะ ไม่ต้องไปสู้กับตำรวจ ไม่ต้องเอาป้ายไปแขวน ไม่ต้องทนให้คนโห่ไล่ก็ได้ เรานอนอยู่บ้าน ดูการ์ตูน สั่งพิซซ่ามากิน กินเบียร์นายทุนก็ได้ ไม่ต้องไปผลักดันเรื่องเบียร์ประชาชน ไม่ต้องไปอะไรเลยก็ได้ อยู่เฉยๆ ของเราก็สบาย รับธุรกิจต่อจากพ่อแม่ก็ได้ เพื่อนที่เราคุยด้วยก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน เขากลับบ้านนอนได้สบายๆ เลย แต่เราก็เป็นมนุษย์น่ะ แล้วเราก็โกรธ มันเริ่มจากจุดนั้นเลย จุดที่ว่าเพราะเราเป็นมนุษย์ เราถึงโกรธ เราถึงได้เลือกสู้จนถึงทุกวันนี้

นับตั้งแต่วันที่อดอาหารจนถึงวันนี้ ทำไมยังเคลื่อนไหวอยู่ น่าจะได้เห็นแล้วว่าคนเฉยชา หรือมีคนที่ไม่สนเรื่องนี้เลยอยู่เป็นจำนวนมาก

เราอยากทำให้หลายๆ คนเห็น หลายๆ คนที่ไม่ใช่แค่ผู้มีอำนาจ แต่รวมถึงคนทั่วไปด้วยว่าต่อให้เราโดนอย่างไรก็ตาม ต่อให้เราโดนกดดัน คุกคาม กดขี่แค่ไหน แต่เราก็ยังสู้อยู่ เรายังกล้าแลก แล้วเมื่อไหร่คุณจะพร้อมมาแลกกับเรา เรายังสู้อยู่นะ คุณพร้อมเมื่อไหร่ก็เข้ามาสู้กับเรานะ เราอยากทำให้เขาเห็นด้วยว่าเราพร้อมจริงๆ พร้อมจริงๆ ที่จะแลก

ให้พูดตรงๆ คือติดคุกอีกรอบก็ไม่กลัว ถ้าหลายๆ คนพร้อมเข้ามาร่วมกันเมื่อไหร่ก็มา สำหรับผู้มีอำนาจ เราก็อยากทำให้เขาเห็นว่า ไม่กลัว

ทุกวันนี้ก็ยังมีคนที่ต้องคดี 112 อยู่มาก สวนทางกับความสนใจของผู้คนที่อาจจะดูน้อยลงกว่าแต่ก่อน คุณยังมีความหวังอยู่ไหม

เราเคยมี เคยมี คำนี้ก็คงเข้าใจแล้วล่ะมั้ง คือเราเคยมีหวังจริงๆ นะ เคยรู้สึกว่าคนประเทศนี้จะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นได้แน่ๆ ทุกคนต้องพร้อมร่วมใจกันแน่ๆ แต่พอพักหลังมานี่ก็รู้สึกว่าไม่แล้วล่ะ ความหวังต่อคนอื่นนั้นไม่มีแล้ว แต่ความหวังต่อตัวเองยังมีอยู่เสมอ

คุณเชื่อคำว่า ให้มันจบที่รุ่นเรา แค่ไหน

ยังเชื่ออยู่ (ตอบเร็ว) แต่เชื่อเพราะเรายังสู้อยู่ ตราบใดที่เรายังสู้ ไอ้คำว่าให้มันจบที่รุ่นเรา ไม่ใช่แค่เรา แต่เพื่อนพี่น้องเราที่สู้ไปกับเรา เราว่าเราทำได้นะ มันจบได้ 

คือมันอาจจะขายฝันก็ได้นะ เราพูดคำนี้มาจะสามปีแล้ว แต่คนยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง แต่เราคิดว่าเขาอาจจะรีบไปหน่อยมั้ง แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงมันใช้เวลาค่อนข้างยาว แต่คำว่าให้มันจบที่รุ่นเราของคนที่พูด กับคนที่ฟังมันอาจไม่เท่ากัน คำว่าให้มันจบที่รุ่นเรามันไม่ได้ภายในวันนี้ พรุ่งนี้ ไม่ได้ภายในหนึ่งปี แต่อาจจะเป็นสามปี ห้าปี สิบปี มันเป็นไปได้ แน่นอนว่ามันใช้เวลา แต่มันก็เป็นไปได้อยู่ที่มันจะจบในรุ่นเรา แต่คนฟังเขาอาจรู้สึกว่าให้มันจบที่รุ่นเรานี่ต้องภายในปีเดียวแน่เลย หรือไม่ก็ภายในการชุมนุมวันนี้พรุ่งนี้ ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงแน่เลย เราว่าคนพูดกับคนฟังเขาเข้าใจต่างกันน่ะ 

เป็นไปได้ไหมเมื่อไม่มีความเปลี่ยนแปลงดังใจเขาหวัง เขาก็ไม่อยากหวังอีกแล้ว 

เป็นไปได้ที่ว่าเขาอาจรู้สึกว่าไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรเลยนี่ แล้วไหนบอกว่าจะจบแต่ไม่เห็นจบเลย มันก็เป็นไปได้ที่เขาจะรู้สึกว่าเขาเองก็สู้นะ และเขาก็เหนื่อยแล้ว เขาเลยรู้สึกว่าพอดีกว่า หรืออาจไม่ได้รู้สึกพอ ยังช่วยกระจายข่าวสารบ้าง แต่แค่ไม่ได้ลุกขึ้นมาเหมือนแต่แรกขนาดนั้น เขาอาจรู้สึกเหนื่อย รู้สึกล้า และอันนี้เราเข้าใจได้ว่าคนเรามันเหนื่อยและล้ากันได้ แต่พร้อมเมื่อไหร่ก็กลับมาสู้กันใหม่นะ 

คุณยังเชื่อเรื่องการดันเพดานอยู่ไหม ยังมีเพดานรอให้เราดันขึ้นไปอีกจริงหรือเปล่า

เคยคิดว่าเพดานมันไม่มีอีกแล้ว แต่ไม่เลย มันยังอยู่ ยังมีเพดานอยู่ ตราบใดที่ยังมีมาตรา 112 ตราบใดที่มาตรา 112 ยังไม่ถูกยกเลิก เพดานนั้นก็ยังมีอยู่ 

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เรายังเชื่อมั่นและมั่นใจก็คือยังมีเราและเพื่อน ที่เรามั่นใจว่าพร้อมจะดันและทะลุเพดานอยู่เสมอ ไม่มีวันลดเพดานอีกต่อไปแล้ว อย่าพยายามมาลดเพดานเรา เราไม่กลัว ไม่เคยกลัว

ถึงที่สุด เวลาอยู่ข้างเราจริงไหม

เวลาอยู่ข้างเราตราบใดที่พวกเรายังสู้เท่านั้น

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save