fbpx
อย่าทำให้เสรีภาพเป็นปีศาจ : ว่าด้วยเสรีภาพเชิงบวกและเชิงลบ

อย่าทำให้เสรีภาพเป็นปีศาจ : ว่าด้วยเสรีภาพเชิงบวกและเชิงลบ

สมัยเรียนมหาวิทยาลัยปีแรกๆ ผมเคยอ่านบทความหนึ่งที่คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เขียนเล่าถึงปรัชญาอัตถิภาวนิยมหรือ existentialism มีอยู่ตอนหนึ่งบอกเล่าแนวคิดทางปรัชญาของ ฌอง ปอล ซาร์ตร์ (Jean-Paul Sartre) ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ได้ว่า – มนุษย์กลัวที่จะมีเสรีภาพ

จำได้ว่าได้อ่านเพียงแค่นั้นก็ขนลุกซู่ รู้สึกเหมือนทวารทั้งเก้าเปิดออกโดยพร้อมเพรียงกัน คล้ายถูกกระชากออกมาจากชีวิตแห่งความไม่รู้อันแสนสุข มาสู่ชีวิตแห่งการตั้งคำถามอีกแบบหนึ่ง, ชีวิตที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ที่จริงแล้ว ซาร์ตร์เขียนถ้อยคำต้นทางเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า L’homme est condamné à être libre. ซึ่งในภาษาอังกฤษคือ Man is condemned to be free. แปลตรงตัวได้ว่า ‘มนุษย์ถูกสาปให้มีเสรีภาพ’

มีผู้วิเคราะห์ว่า คำว่า condamné หรือ condemn ของซาร์ตร์นั้น มีความหมายใกล้เคียงกับการ ‘ถูกตัดสินลงโทษ’ หรือการ ‘ถูกกำหนดชะตากรรม’ (ซึ่งก็คล้ายๆ ถูกสาปเหมือนกัน) นัยก็คือ เสรีภาพเป็นสภาวะที่มนุษย์ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เราไม่ได้ ‘เลือก’ ว่าตัวเองจะมีเสรีภาพหรือไม่มี แต่เราถูกตัดสินหรือถูก ‘สาป’ ให้ต้องมีเสรีภาพตั้งแต่เกิดไปจนตาย (ซึ่งเป็นประโยคที่ย้อนแย้งในตัวอย่างยิ่ง!)

ประเด็นสำคัญของซาร์ตร์ก็คือ – เมื่อมนุษย์มีเสรีภาพในตัวเองเสมอ เราจึงมี ‘ภาระ’ ที่เรียกว่า ‘ความรับผิดชอบ’ ในการเลือกใช้เสรีภาพที่ว่าอยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีทางหนีพ้น เช่น เวลาที่เราไปยืนอยู่ตรงปากเหว เรารู้ตัวเต็มเปี่ยมว่าเรามีเสรีภาพที่จะ ‘เลือก’ กระโดดลงไปหรือไม่ก็ได้ ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึง ‘กลัว’ เสรีภาพในการเลือกนั้น เพราะมันมาพร้อมกับ ‘ผลลัพธ์’ ที่อาจใหญ่โตมโหฬารจนเราแบกรับมันเอาไว้ไม่ไหว เช่น ถ้าเรากระโดดลงไปในเหวนั้น เราอาจจะตายก็ได้

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ พอเราตระหนักว่าเรามีเสรีภาพแล้ว เราจะไปโทษว่าเรื่องต่างๆ เกิดขึ้นเพราะสิ่งอื่น หรือ ‘โยนความรับผิดชอบ’ ไปให้กับสิ่งอื่น ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้า สังคม หรือโชคชะตา ในแบบที่คนยุคก่อนๆ (เช่น กรีกโบราณ) เชื่อได้อีกต่อไป

ความรับผิดชอบนี้ทำให้มนุษย์รู้สึกหนักอึ้ง เพราะตระหนักรู้เสียแล้วว่าชีวิตของเราล้วนเป็นผลจาก ‘การกระทำ’ และ ‘การตัดสินใจ’ ของตัวเราเองทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น สภาวะแบบนี้จึงอาจก่อให้เกิดความวิตกกังวล ความกลัว และอาการ ‘ไม่เป็นสุข’ ขึ้นมาได้

แนวคิดของซาร์ตร์ไม่เหมือนแนวคิดที่บอกว่าทุกอย่างอยู่ในเงื้อมมือพระเจ้าหรือเป็นไปตามโชคชะตาที่ถูกกำหนดเอาไว้แล้ว เพราะถ้าทุกอย่างเป็นแบบนั้น ต่อให้เราประสบทุกขเวทนาในชีวิตอย่างไร เราก็ยัง ‘โล่งใจ’ ไปได้เปลาะหนึ่งว่าสิ่งเลวร้ายเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการ ‘เลือก’ ทำของตัวเราเองนะ แต่เป็นเพราะมีปัจจัยภายนอกที่มีอำนาจมากกว่าเรามาคอย ‘กำหนด’ เราต่างหาก ดังนั้น ต่อให้ยากจนข้นแค้นประสบภัยพิบัติอย่างไร แค่ได้สวดมนต์อ้อนวอนต่อที่มาของอำนาจอย่างพระเจ้า เทพีแห่งโชคชะตา (ซึ่งต่อมาภายหลังอาจแปรรูปมาอยู่ในรูปของหัวหน้าเผ่า กษัตริย์ ขุนนาง ระบอบการปกครอง ฯลฯ ก็ได้) ก็ทำให้เรา ‘พอจะมีความสุข’ ขึ้นมาได้บ้าง เพราะอย่างน้อยก็คล้ายเรายังเชื่อได้ว่าในความเป็นมนุษย์นั้นมี ‘หลักประกัน’ อะไรบางอย่างนอกเหนือการตัดสินใจของตัวเราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสวรรค์ การทำบุญ ยศฐาบรรดาศักดิ์ ที่ล้วนช่วยมาเป็น ‘กรอบอ้างอิง’ ไม่ให้เราว้าเหว่เคว้งคว้างอยู่แต่กับเสรีภาพของตัวเองเพียงลำพัง

เสรีภาพจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก และไม่ได้ใหญ่แค่ในด้านปรัชญาที่ลอยอยู่บนฟ้าเท่านั้น แต่เสรีภาพกลายเป็นหนึ่งในเสาหลักของระบอบการปกครองสมัยใหม่อย่างประชาธิปไตยด้วย

ในภาษาอังกฤษ มีคำว่า liberty กับ freedom ซึ่งมีความหมายใกล้กันมาก โดยทั่วไป liberty มักแคบกว่า freedom คือหมายถึงสิทธิเสรีภาพทางการเมืองและกฎหมาย แต่ freedom กว้างกว่านั้น ครอบคลุมไปถึงมิติด้านจิตวิญญาณและตัวตนภายในด้วย

หลายคนอาจคิดว่า เสรีภาพมีแบบเดียว คือเป็นอิสระเสรีเหนืออื่นใดเหมือนคำโฆษณาของผ้าอนามัยยี่ห้อหนึ่งในอดีต แต่ที่จริงแล้ว เสรีภาพแบ่งได้หลายแบบ วิธีแบ่งแบบหนึ่งคือการแบ่งเสรีภาพออกเป็น ‘เสรีภาพเชิงบวก’ (positive liberty/positive freedom) กับ ‘เสรีภาพเชิงลบ’ (negative liberty/positive freedom)

คำว่า ‘เสรีภาพเชิงลบ’ ไม่ได้แปลว่าเสรีภาพนั้นเป็นเรื่องไม่ดีหรือเป็นเรื่อง ‘ลบ’ นะครับ แต่มันหมายถึงการ ‘ลบ’ เอาการแทรกแซงจากรัฐ สังคม หรือคนอื่นๆ ที่เข้ามาก้าวก่ายจำกัดทางเลือกของเราออกไปต่างหาก

ผู้ที่สนับสนุนเสรีภาพเชิงลบอย่างมาก คืออิสยาห์ เบอร์ลิน (Isaiah Berlin) นักทฤษฎีการเมืองชาวอังกฤษ-รัสเซีย เขาเขียนบทความสำคัญชื่อ Two Concepts of Liberty ซึ่งให้นิยาม ‘เสรีภาพเชิงลบ’ ไว้อย่างเป็นระบบ ว่าหมายถึงการ ‘หายไป’ ของสิ่งภายนอกที่จะมารบกวนการกระทำที่เป็นไปได้ของปัจเจก หลายคนจึงมองว่า ‘เสรีภาพเชิงลบ’ เป็นแนวคิดแบบเสรีนิยมที่เชื่อในปัจเจกและ ‘สิทธิธรรมชาติ’ (คือมนุษย์เกิดมามีเสรีภาพโดยธรรมชาติ – ตรงนี้สอดคล้องกับซาร์ตร์) เสรีภาพแบบนี้จึงเน้นการปกป้องบุคคลจากการแทรกแซงของผู้อื่น เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตตามความปรารถนาของตนเองได้โดยอิสระ

ส่วน ‘เสรีภาพเชิงบวก’ นั้น ดูเผินๆ จะมีลักษณะค่อนไปทางตรงข้ามกับเสรีภาพเชิงลบ คือหันมา ‘บวก’ เอาสังคมและมนุษย์คนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในเสรีภาพด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเชื่อใน ‘เสรีภาพร่วม’ ของกลุ่ม นั่นคือ ‘ส่วนรวม’ เป็นผู้ใช้อำนาจในการกำหนดวิถีชีวิตที่ ‘เชื่อว่าดีงาม’ ซึ่งหากทำได้ก็จะทำให้ปัจเจกแต่ละคนได้รับสิ่งดีๆ ตามไปด้วยจนสามารถปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระได้อย่างแท้จริง

คนที่สนับสนุนเสรีภาพเชิงบวกมากที่สุดคนหนึ่ง ก็คือฌอง ฌาคส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) เจ้าเก่าของเรานั่นเองครับ รุสโซเขียนไว้ใน ‘สัญญาประชาคม’ (Du Contrat Social) ว่ามนุษย์จะมี ‘เสรีภาพที่แท้จริง’ ได้ ก็ต้อง ‘ทิ้ง’ เสรีภาพโดยธรรมชาติ หรือเสรีภาพของแต่ละคนในแบบปัจเจกออกไป หันมารวมตัวกันจัดตั้ง ‘รัฐ’ ที่ปกครองด้วยกฎหมาย แล้วให้ทุกคนมามีส่วนร่วมในการกำหนดกฎหมายผ่านกระบวนการประชาธิปไตยโดยต้อง ‘ยอมรับ’ อำนาจของกฎหมายนั้นๆ ด้วย

ดูเผินๆ เสรีภาพเชิงบวกกับเชิงลบเหมือนน่าจะ ‘บวก’ หรือเข้ามาห้ำหั่นกันอยู่เสมอ เพราะเป็นแนวคิดตรงข้ามกันเลย แนวคิดหนึ่งบอกว่าสิ่งอื่นใดภายนอกอย่ามาแทรกแซง รัฐ สังคม หรือแม้แต่พระเจ้าอย่ามา ‘ยุ่งก๊ะกู’ นะ ฉันกำหนดทุกอย่างของตัวเองได้ แต่อีกแนวคิดหนึ่งบอกว่า มนุษย์ต้องเอาชนะความ ‘เห็นแก่ตัว’ ของตัวเอง ด้วยการยอมทิ้งเสรีภาพโดยธรรมชาติไปก่อน แล้วเข้ามาร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของ ‘เจตจำนงใหญ่’ หรือเจตจำนงของส่วนรวม (general will) ของสังคมเพื่อจะได้สร้างเสรีภาพร่วมขึ้นมา

อิสยาห์ เบอร์ลิน วิพากษ์เสรีภาพเชิงบวกไว้ว่า – ถ้าไม่มีการถ่วงดุลด้วยการ ‘เคารพ’ เสรีภาพเชิงลบ (หรือเสรีภาพของปัจเจกในแบบที่หักลบเอาการแทรกแซงต่างๆ ออกไป) ก็อาจเกิดปรากฏการณ์ประเภท ‘เผด็จการเสียงข้างมาก’ ที่มาจากกลุ่มคนที่ใช้ ‘เสรีภาพเชิงบวก’ ร่วมกันและรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ แล้วหันมาย่ำยีบีฑากลุ่มคนที่เชื่อในเสรีภาพเชิงลบ เพราะโดยพื้นฐานแล้ว คนกลุ่มแรกจะทรงอำนาจมากกว่า เนื่องจากมีการรวมตัวกันอย่างเป็นระเบียบมาตั้งแต่ต้น ในขณะที่ความเชื่อของคนกลุ่มหลังจะมีลักษณะกระจัดกระจายและไม่มีการรวมตัวกัน

แต่ในอีกด้านหนึ่ง นักคิดหลายคนก็บอกว่า ‘เสรีภาพเชิงบวก’ นั้นมีพลังมากกว่าเสรีภาพเชิงลบ และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ในประวัติศาสตร์ได้ เช่นการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อปี 1789 รวมไปถึงการเกิดขึ้นของแนวคิดแบบ ‘สังคมนิยม’ (ที่สุดท้ายในบางแห่งก็วนลูปกลับไปเป็นคอมมิวนิสม์) ในเวลาต่อมา

แม้ดูเหมือนเสรีภาพเชิงบวกกับเชิงลบน่าจะเป็นคู่ตรงข้าม แต่นักปรัชญาการเมืองในยุคต่อๆ มาบอกว่า เสรีภาพทั้งสองแบบนี้ จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องตรงข้ามกันหรือ ‘ต้องเลือก’ มีเสรีภาพแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น ทว่าต้องมาควบคู่กัน

ตัวอย่างเช่น ถ้าเรายึดแนวคิดเสรีภาพเชิงลบ แล้วบอกว่ารัฐหรือสังคมต้องไม่มายุ่งเกี่ยวกับชีวิตเรา เสรีภาพแบบนี้อาจยังไม่เพียงพอ เพราะแค่ไม่มีใครมายุ่งกับเราไม่ได้แปลว่าชีวิตของเรา (หรือคนที่เชื่อแบบเดียวกันนั้น) จะดีขึ้นหรือพาเราไปสู่เสรีภาพที่แท้จริงได้ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังต้องการ ‘เงื่อนไขพื้นฐาน’ อีกหลายอย่างเพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ดีขึ้น เช่น การจัดให้มีการศึกษา โรงพยาบาล ปัจจัยสี่ สวัสดิการสังคม หรือแม้แต่การทำงานและอาชีพต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้ถ้ามนุษย์ทุกคนนั่งกอดเสรีภาพเชิงลบอยู่ตามลำพัง แต่ต้องใช้เสรีภาพเชิงบวกเพื่อสร้างระบบเข้ามาดูแลกันและกัน โดยต้องระวังการใช้อำนาจของรัฐที่มากเกินไปจนอาจกลายเป็นการลิดรอนเสรีภาพมากกว่าส่งเสริม

ที่ว่ามานี้เป็นเสรีภาพในแง่มุมของการเมืองการปกครองเท่านั้นนะครับ ถ้าโยงไปถึงมิติทางวัฒนธรรมด้วยแล้วก็จะยิ่งซับซ้อนเข้าไปใหญ่ เช่น มิติเรื่องเพศ ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อทางศาสนา การให้คุณค่า หรือศรัทธา

จะเห็นได้ว่า ลำพังแค่เรื่องเสรีภาพที่เป็นเสาหนึ่งของปรัชญาประชาธิปไตยก็มีความซับซ้อนมากทีเดียว สิ่งที่เราต้องทำก็คือการรักษาสมดุลและคานอำนาจระหว่างแนวคิดเสรีภาพเชิงบวกและเชิงลบ เพราะหากให้น้ำหนักด้านใดด้านหนึ่งมากไป ก็อาจนำไปสู่ปัญหาได้ เช่น ถ้าเน้นแต่เสรีภาพส่วนบุคคล ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำและการเอาเปรียบกันทางสังคมเนื่องจากไม่มีกฎเกณฑ์ระเบียบใดๆ เข้ามากำหนดเลย แต่ถ้าให้น้ำหนักกับเสรีภาพของกลุ่มมากเกิน ก็อาจเกิดปัญหาเผด็จการเสียงข้างมากอย่างที่เบอร์ลินวิเคราะห์เอาไว้ได้เช่นเดียวกัน

ใครจะมาเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้อง ‘เข้าใจ’ แนวคิดเรื่องเสรีภาพสองแบบนี้ และหาวิธีสร้างสมดุลและเชื่อมร้อยเสรีภาพ (อย่างน้อยก็สองมิตินี้) เข้าด้วยกัน แต่ที่สำคัญก็คือต้องคิดเรื่องเสรีภาพไปพร้อมกับเรื่องอื่นๆ เช่น ความเสมอภาค ความยุติธรรม หรือการกระจายอำนาจด้วย

มันจึงไม่ใช่เรื่อง ‘ง่าย’ เลย!

ถ้าเรารักษาสมดุลระหว่างเสรีภาพเชิงลบและเชิงบวกได้ไม่ดี อาจเกิดปรากฏการณ์แปลกๆ จนทำให้คนไม่ไว้ใจเสรีภาพได้ และในหลายกรณี อาการ ‘ไม่ไว้ใจเสรีภาพ’ ก็อาจนำไปสู่การมองเห็นเสรีภาพเป็น ‘ปีศาจ’ ด้วยซ้ำ

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?

คำตอบต่อคำถามนี้มีหลายอย่าง เช่น สังคมน้ันๆ ยังยึดติดกับ ‘ระเบียบ’ และ ‘อำนาจ’ แบบเดิม เพราะอาจมีผลประโยชน์กับระบบอำนาจแบบเดิมอยู่ จึงมักเกิดอาการ ‘หวาดระแวง’ การเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นถ้าคนอื่นๆ ที่เคยถูกกดขี่เกิดมีเสรีภาพมากขึ้น หรืออาจมาจากแนวคิดบางอย่าง เช่น เชื่อว่ามนุษย์นั้น ‘ชั่ว’ และ ‘เลว’ โดยกำเนิด เช่น มีบาปติดตัวมา จึงไว้ใจไม่ได้ ต้องมีพระเจ้าคอยนำทาง จะปล่อยให้มีเสรีภาพไม่ได้ หรือบางกลุ่มก็กังวลว่าถ้าสังคมมีเสรีภาพมากเกินไปจะเกิดภาวะไร้ระเบียบขึ้นมา แถมแนวคิดของเหล่า ‘ลิเบอรัล’ หลายอย่างก็ดูน่าหวาดระแวงจริงๆ นั่นแหละ

อย่างไรก็ตาม คำตอบหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่สุด ก็คือคำตอบที่ได้มาจาก ฌอง ปอล ซาร์ตร์ อย่างที่เราพูดกันมาข้างต้นนั่นแหละครับ

นั่นคือ – มนุษย์ ‘กลัว’ ที่จะมีเสรีภาพ!

เวลาพูดถึงเสรีภาพ คนจำนวนหนึ่งจะกลัวความไม่แน่นอนและความรับผิดชอบที่จะเกิดขึ้นจากผลของการกระทำ ความกลัวนี้ผลักให้หลายคนถึงขั้น ‘ยินดี’ สละเสรีภาพของตัวเองเพื่อแลกกับ ‘ความมั่นคง’ และ ‘การชี้นำ’ จากอำนาจภายนอกด้วยซ้ำ

ที่จริงแล้ว แนวคิดที่มองเห็นเสรีภาพเป็นปีศาจนั้นขัดกับการพัฒนาประชาธิปไตยหลายเรื่องนะครับ

ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้คนรู้สึกว่าเสรีภาพเป็น ‘ภาระ’ ที่หนักอึ้งเกินไป ก็อาจเลือกเลี่ยงการตัดสินใจหรือการมีส่วนร่วมทางการเมือง ขอเป็น ignorant ทางการเมืองจะดีกว่า เช่น ไม่ไปเลือกตั้งมันเสียเลย เพราะต่อให้ผลออกมาอย่างไรก็ไม่ต้องเจ็บปวด

ยิ่งไปกว่านั้น คนที่ ‘กลัว’ ความไม่แน่นอนและความรับผิดชอบที่เกิดจากเสรีภาพ ก็อาจหันไป ‘พึ่ง’ ผู้นำที่ดูแข็งแกร่ง (ซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นเผด็จการ) ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับที่ อีริค ฟรอมม์ (Erich Fromm) นักจิตวิเคราะห์ชาวเยอรมันเคยบอกว่า ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง คนยุโรปบางส่วนยอมสละเสรีภาพเพื่อแลกกับ ‘ความรู้สึกปลอดภัย’ ก่อให้เกิดลัทธิฟาสซิสม์ในยุโรปที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สองในเวลาต่อมา

การเห็นเสรีภาพเป็นปีศาจนี้ ซาร์ตร์เรียกว่าเป็น anguish of freedom ซึ่งอาจแปลเป็นไทยได้ว่าความวิตกทุกข์ร้อนในเสรีภาพ (จริงๆ anguish พจนานุกรมแปลว่า ‘มนัสดาป’ ซึ่งหรูหราเอามากๆ) แต่ซาร์ตร์มองว่า ทางออกไม่ใช่การ ‘ปฏิเสธ’ เสรีภาพ หรือมองว่ามันคือปีศาจ แต่เราต้องกล้าเผชิญหน้ากับ ‘ความจริง’ ทางเสรีภาพ และยืนหยัดขึ้นมาเป็น ‘สิ่งมีชีวิต’ ที่มีศักดิ์ศรี รู้จักเลือกใช้เสรีภาพ และกล้าเผชิญหน้ากับผลลัพธ์หรือความรับผิดชอบจากการเลือกนั้นๆ

ถ้าเราใช้ ‘เสรีภาพเชิงบวก’ เราอาจร่วมกันสร้าง ‘พื้นที่สาธารณะ’ ในรูปแบบต่างๆ ทั้งออนไลน์ออฟไลน์ เพื่อให้ผู้คนได้ ‘พกพา’ เอาเสรีภาพของตัวเอง (หรือ ‘เสรีภาพเชิงลบ’) มา ‘ปะทะ’ กัน ไม่ใช่เพื่อห้ำหั่นฆ่าฟันกัน แต่เพื่อร่วมกันค้นหาคุณค่า ความหมาย และเป้าหมายของ ‘สังคมที่ดี’ (ซึ่งก็หมายถึง ‘ชีวิตที่ดี’) ร่วมกัน โดยต้องไม่ลดทอนเสรีภาพของความแตกต่างหลากหลาย

ที่จริงจะว่าไป เรื่องนี้ดูเหมือนเป็นงูกินหางหรือปัญหาเชาวน์เรื่องไก่เกิดก่อนไข่หรือไข่เกิดก่อนไก่เหมือนกันนะครับ เพราะถ้าเรากังวลต่อเสรีภาพหรือเห็นเสรีภาพเป็นปีศาจเสียแล้ว สังคมประชาธิปไตยก็จะไม่เกิดขึ้น เมื่อสังคมประชาธิปไตยไม่เกิด โอกาสที่ผู้คนจะมีเสรีภาพก็น้อยลงตามไปด้วย จึงกลายเป็นวงจรทางลบที่จะยิ่งทำลายความเป็นประชาธิปไตยลงไปเรื่อยๆ

แต่ในทางกลับกัน การทำให้ประชาธิปไตยเป็น ‘วิถีชีวิต’ ลึกลงไปถึงจิตสำนึก วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ทางสังคม จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันสำคัญที่จะช่วยให้เราไม่ ‘กลัว’ เสรีภาพจนเกิดอาการวิตกกังวลจนเห็นเสรีภาพเป็นปีศาจได้

ปัญหาก็คือ – บางสังคมดูเหมือนจะไม่ชอบทั้งประชาธิปไตยทั้งเสรีภาพนี่สิ!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save