fbpx

ทางสองแพร่งของประชาธิปไตยไทย

I

เมื่อกล่าวถึงแนวคิดประชาธิปไตยในทัศนะของผู้คนร่วมสมัย หนึ่งหลักการอันเป็นแก่นกลางของแนวคิดก็คือเรื่อง ‘เสรีภาพ’ ไอเซยา เบอร์ลิน (Isaiah Berlin) นักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษ เสนอว่าแนวคิดเสรีภาพมี 2 นัย นัยแรกคือเสรีภาพเชิงลบหรือเสรีภาพในการปฏิเสธ (negative liberty) หมายถึง การสามารถกระทำโดยไม่ถูกกีดขวาง (freedom ‘from’ … ) เช่น การไว้ผมทรงที่ชอบได้โดยไม่ถูกกีดกันจากโรงเรียน การพูดได้โดยไม่ถูกกีดกันจากรัฐหรือผู้มีอิทธิพลใดๆ เป็นต้น ส่วนนัยสองคือเสรีภาพเชิงบวกหรือเสรีภาพในการยืนยัน (positive liberty) หมายถึง มีความเป็นตัวของตัวเอง การยืนยันที่จะทำอะไรบางอย่าง แล้วก็บรรลุถึงสิ่งนั้นได้ (freedom ‘to’ … ) เช่น การมีช่องทางทำรายได้ให้สำหรับคนที่อยากรวย การที่รัฐมีระบบการศึกษาที่เอื้อสนับสนุนต่างๆ เป็นต้น

ในทัศนะของเบอร์ลิน เสรีภาพอย่างหลังนี้มีแง่มุมที่เป็นอันตรายซ่อนอยู่ เพราะหลายกรณี การเป็นตัวของตัวเองก็ถูกแทรกแซงจากรัฐหรือผู้นำต่างๆ ว่าพวกเขารู้ดีกว่าว่าปัจเจกคนนั้นว่าต้องการอะไร ถือเอาว่าอะไรคือสิ่งที่ดี เป็นสิ่งประเสริฐที่ควรทำตาม การอ้างเช่นนี้ทำให้ปัจเจกชนไม่มีความสำคัญ โดยถูกลดทอนลงเป็นแค่เพียงฟันเฟืองชิ้นหนึ่งของรัฐหรือของอำนาจที่ยิ่งใหญ่ แนวคิดที่อ้างเสรีภาพเชิงบวกสุดโต่งเช่นนี้สำแดงออกมาในรูปแบบของลัทธิทางการเมือง เช่น ฟาสซิสม์ คอมมิวนิสม์ นาซี ฯลฯ ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยไปสู่มหาสงครามที่ล้างผลาญชีวิตผู้คนนับล้านในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาสังคมไทยในอดีตจะพบว่าเป็นสังคมที่มีลักษณะโน้มเอียงไปหาเสรีภาพเชิงบวกขั้นสุดอยู่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นคติของกษัตริย์โบราณในการบำเพ็ญตนเป็นโพธิสัตว์เพื่อขนสรรพสัตว์สู่นิพพานโดยเปรียบกษัตริย์เป็นเสมือนหัวเรือข้ามห้วงน้ำแห่งวัฏสงสารนี้ หรือกระทั่งแนวคิด ‘คนดี’ ที่ใช้เสรีภาพแบบส่วนรวมด้วยการอ้างตนเป็นผู้ตื่นรู้ที่มีความรู้ดีกว่าใครเพื่อน โดยมีนัยว่าพวกตนคู่ควรมากกว่าคนกลุ่มอื่นที่จะได้กำหนดว่าประเทศควรจะดำเนินไปในทิศทางไหน

กระแสเชี่ยวกรากของเสรีภาพเชิงบวกเรียกได้ว่ามีอิทธิพลต่อความคิดทางการเมืองของคนไทยไม่น้อย ไม่ว่าจะในขบวนการประชาธิปไตย เช่น คณะราษฎร หรือกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ต่างก็ชูเสรีภาพชนิดนี้มากกว่าเชิงลบด้วยกันทั้งสิ้น เสรีภาพเชิงลบที่ให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคลและเน้นการไม่ถูกกลืนกลายจากรัฐ  แม้ในระยะที่ผ่านมาจะพัฒนาขึ้นอยู่บ้างก็จริง แต่ก็เป็นไปอย่างเชื่องช้าสอดคล้องกับที่นักประวัติศาสตร์การเมืองชาวต่างประเทศท่านหนึ่งเคยวิเคราะห์ไว้ว่า “ในประวัติศาสตร์ ประเทศไทยมีนักคิดฝ่ายซ้ายเยอะ แต่กลับมีนักคิดเสรีนิยมน้อยมาก”

บทเรียนจากข้อผิดพลาดของบรรดาผู้ชูแนวคิดเสรีภาพเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็นการอ้างความเหนือกว่าเชิงความคิดของฝ่ายรัฐอนุรักษนิยมไทยที่ลงเอยด้วยการทำให้ประชาชนต้องออกมาต่อสู้มากมายนับครั้งไม่ถ้วน การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน จนมาสุดที่การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ที่นำไปสู่การทำรัฐประหาร บทเรียนเหล่านี้สอนให้คนรุ่นใหม่กังวลต่อท่าทีของเหล่าคนดีที่อ้างความเหนือกว่าเชิงปัญญาเพื่อมาชี้นำ ตั้งคำถามกับระบบการศึกษาที่ยัดเยียดชุดความคิดว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกที่ควร และระแวงอำนาจรัฐที่จะมากเกินไป อาจจะเป็นเพราะสาเหตุข้างต้นนี้เสรีภาพเชิงลบจึงเติบโตหยั่งรากมากขึ้นในสังคมไทยในปัจจุบัน

ทั้งนี้ กระแสความคิดแบบเสรีภาพเชิงลบที่เพิ่มขึ้นก็อาจจะทำให้เกิดฉันทมติแบบ ‘เสรีประชาธิปไตย’ ได้ แง่หนึ่งก็เป็นการให้ความสำคัญต่อปัจเจกบุคคลมากขึ้น แต่ในอีกแง่หนึ่งก็อาจทำให้กลายเป็นระบอบประชาธิปไตยที่คนหมู่มากเป็นผู้ชี้ชะตาบ้านเมืองไว้แทน กล่าวคือ เสรีภาพเชิงลบที่มากเกินไปก็นำมาสู่การละเลยเสรีภาพเชิงบวก กลายเป็นว่าจากรัฐสวัสดิการก็จะค่อยๆ กลายมาเป็นรัฐแบบเสรีนิยมใหม่ที่ผู้คนถูกละทิ้งให้อยู่อย่างเป็นปัจเจกบุคคลที่ตัดขาดจากสังคม ส่วนรัฐมีหน้าที่เป็นแค่ยามที่คอยจัดแจงพื้นที่สำหรับนักลงทุนที่มาใช้บริการ ใครมีเงินก็เข้ามาลงทุน แต่ใครที่ไม่มีเงินหรือหาเงินไม่ได้ก็เป็นความผิดของปัจเจกบุคคลเอง ไม่ใช่ความผิดของสังคมหรือรัฐ รัฐจึงไม่จำเป็นต้องเข้าไปสนับสนุนหรือไปยกระดับมาตรฐานชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นให้ดีขึ้น ปรากฏการณ์ลักษณะนี้แม้จะมาพร้อมกับทางเลือกในการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็กลายการสร้างความเหลื่อมล้ำในอีกลักษณะหนึ่งแทน รัฐที่ดีจึงต้องบริหารความสมดุลระหว่างเสรีภาพเชิงบวกและเสรีภาพเชิงลบ เพราะผลกระทบของเชิงบวกที่มากเกินไปก็อาจนำไปสู่สงครามหรือการละเลยเสียงของประชาชน ขณะที่ถ้าเน้นเสรีภาพเชิงลบอย่างสุดโต่งก็จะเป็นการละทิ้งผู้คนอย่างแยกขาดจากสังคม

ปัญหาเหล่านี้ทำให้ผู้คนเห็นถึงการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ดีกว่านี้ โดยต้องไม่ใช่เผด็จการเบ็ดเสร็จที่ตัดสินใจแทนประชาชนว่าอะไรคือความงาม ความดี หรือความจริง รวมถึงต้องมีพื้นที่สำหรับเสรีภาพแก่ปัจเจกบุคคล ขณะเดียวกันก็ต้องไม่เป็นปัจเจกนิยมแบบสุดขั้ว รัฐยังควรมีพันธะที่ต้องพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนให้เสมอภาคกันมากขึ้นด้วย

นอกจากความจำเป็นในการบริหารสมดุลระหว่างเสรีภาพทั้งสองนัยของรัฐแล้ว อุดมการณ์ประชาธิปไตยในปัจจุบันก็ถูกมองว่าต้องไปไกลกว่าแค่แนวคิดแบบเสรีนิยมหรือเสรีภาพแบบสองนัยนี้ และเพื่อที่จะให้เป็นเช่นนั้น ประชาชนจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการเมืองมากกว่าแค่การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นำมาสู่คำถามว่าประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นอุดมการณ์ที่มีคุณค่าในตัวเองควรจะออกมาในลักษณะใด หนึ่งในข้อถกเถียงที่น่าสนใจในเวลานี้ก็คือการปะทะกันระหว่างคุณค่าในลักษณะของอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรอง (deliberative democracy) และประชาธิปไตยแบบถึงรากถึงโคน (radical democracy) ซึ่งเป็นทางสองแพร่งทางประชาธิปไตยสำหรับสังคมที่มีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มดังที่ปรากฏอยู่ในไทย

II

ประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรองถูกเสนอโดยนักปรัชญาการเมืองร่วมสมัยหลายคนไม่ว่าจะเป็นจอห์น รอลส์ (John Rawls) เยอร์เก้น ฮาเบอร์มาส (Jürgen Habermas) หรือกระทั่งโจชัว โคเฮน (Joshua Cohen) แม้ในรายละเอียดการให้เหตุผลอาจจะต่างกันไปบ้าง แต่นักปรัชญาการเมืองกลุ่มนี้ต่างเห็นตรงกันว่า ‘ฉันทมติ’ เป็นผลลัพธ์สำคัญที่ต้องได้จากกระบวนการประชาธิปไตยที่ดี เนื่องจากฉันทมตินี้จะเป็นกลไกที่ช่วยยืนยันว่าเราไม่ได้กำลังทิ้งเสียงของใครเอาไว้ข้างหลัง หรือไม่ได้มองข้ามเสียงของคนกลุ่มใดไป แต่คำถามเชิงปฏิบัติที่ตามมาก็คือเราจะได้มาซึ่งฉันทมติได้อย่างไรในเมื่อสังคมเต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายที่มีความคิดหรือความเชื่อแตกต่างกัน ซึ่งในหลายๆ ครั้งก็ไม่ใช่เพียงแค่ความเชื่อไม่ตรงกัน แต่อาจถึงขั้นขัดแย้งกันเลยด้วยซ้ำ

แนวทางการตอบคำถามนี้ของรอลส์และโคเฮนไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด เพียงแค่ใช้หลักการจัดการความขัดแย้งที่หลายๆ คนอาจคุ้นเคยกันอย่าง ‘การแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง’ คือคุยกันโดยอาศัยฐานคิดบางอย่างที่ทุกคนมีร่วมกัน แนวการคิดนี้นำไปสู่อีกคำถามหนึ่งก็คืออะไรเป็นสิ่งที่คนซึ่งมีความเชื่อต่างกันราวฟ้ากับเหวจะสามารถมีร่วมกันได้ คำตอบก็คือความสามารถในการรู้จักใช้เหตุผลของมนุษย์นั่นเอง

ในปรัชญาตะวันตกจำนวนหนึ่งมองว่าคุณสมบัติที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์อื่นก็คือมนุษย์เป็นสัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล การใช้เหตุผลจึงเป็นเสมือนจุดร่วมที่ทำให้ทุกคนสามารถพูดคุยเพื่อหาฉันทมติกันได้ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกระบวนการเชิงประชาธิปไตยที่จะอำนวยให้พลเมืองถกเถียงและใช้เหตุผลร่วมกันอย่างเป็นสาธารณะ ทุกคนจะต้องวางความเชื่อส่วนตัวหรือผลประโยชน์ส่วนตัวเอาไว้ก่อน แล้วจึงค่อยก้าวเข้ามาสู่พื้นที่ของการไตร่ตรองด้วยการใช้เหตุผล ในการอภิปรายจะต้องไม่หยิบยกความเชื่อที่ครอบคลุม (comprehensive doctrine) ซึ่งก็คือความเชื่อส่วนตัว (เช่น เชื่อว่าพระเจ้ามีจริง เชื่อว่ากฎแห่งกรรมมีจริง เชื่อว่าสังคมนิยมเป็นเส้นทางสู่ชีวิตที่ดี เป็นต้น) เข้ามาในพื้นที่สนทนาทางการเมือง เราต้องทำเพียงแค่ยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่ามีพลเมืองคนอื่นที่ยึดถือในลัทธิความเชื่อที่ครอบคลุมที่แตกต่างกันหลายแบบอยู่ และคนเหล่านั้นต่างมีเหตุผลของพวกเขาเองที่จะเชื่อเช่นนั้น การยอมรับนี้จะทำให้เราไม่ยืนกรานที่จะใช้แนวคิดจากความเชื่อของตนสำหรับตอบคำถามเกี่ยวกับสถาบันระดับฐานรากและคำถามเรื่องความยุติธรรมพื้นฐานของสังคม เพราะการทำเช่นนั้นจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่รู้จบและจะทำให้การร่วมไตร่ตรองเป็นไปไม่ได้ การถกเถียงจะใช้แค่เหตุผลในประเด็นของหัวข้อการถกเถียงเท่านั้น ยกตัวอย่าง เราไม่สามารถอ้างศีลห้าในการถกเถียงเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับสุราได้ เพราะความเชื่อเรื่องศีลห้าเป็นความเชื่อที่ครอบคลุมของตัวเราเอง แต่หากไม่เห็นด้วยกับการขายสุรา เราต้องอ้างเหตุผลในเรื่องของสุขภาพที่พิสูจน์ได้เชิงภววิสัยแทน

นอกจากนี้ กระบวนการร่วมไตร่ตรองยังเรียกร้องให้พวกเราแต่ละคนยังต้องถอดบทบาทหน้าที่และตัวตนของตนเองออกไป ทุกความเห็นและทุกข้อเสนอจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างเท่าเทียมกัน โดยพิจารณาจากการให้เหตุผลสนับสนุนหรือหักล้างประเด็นนั้นๆ และตัดเรื่องวาทศิลป์ วัยวุฒิ การศึกษา ประสบการณ์ และอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องการให้เหตุผลออกไป โดยทุกคนต่างมีพันธะที่จะต้องยอมรับผลที่ได้จากการร่วมไตร่ตรองนั้น หากกระบวนการเป็นไปได้ตามนี้จริง นักประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรองก็เชื่อว่าเราจะได้ฉันทมติที่ยุติความขัดแย้งในประเด็นต่างๆ ได้ รวมถึงทำให้เราได้ขอสรุปอย่างเป็นประชาธิปไตยว่าสังคมควรจะเดินหน้าไปทางใด

แต่สำหรับทฤษฎีการเมืองฝ่ายซ้ายอย่างช็องตาล มูฟ (Chantal Mouffe) มองต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง เธอมองว่าประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรองไม่ใช่ทางออกที่สามารถนำไปใช้จริงได้ เธอเริ่มจากวิเคราะห์ว่าข้ออ้างอันเป็นแก่นกลางของประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรองคือการอ้างว่ากระบวนการร่วมไตร่ตรองจะนำไปสู่ข้อตกลงที่ทั้งเป็นเหตุเป็นผลและชอบธรรมเชิงประชาธิปไตยได้ โดยข้ออ้างนี้ยืนพื้นอยู่บนฐานที่เชื่อในการมีอยู่จริงของการให้เหตุผลที่เป็นสาธารณะและความเชื่อร่วมกันในรูปแบบของความมีเหตุมีผลที่มีลักษณะเป็นเชิงปทัสถาน ความเป็นเหตุเป็นผลนี้เรียกร้องให้ต้องถอดความเป็นตัวตนของแต่ละบุคคลไว้หรือทิ้งความเชื่อที่ครอบคลุมไปเมื่อต้องอภิปรายใช้เหตุผลร่วมไตร่ตรองในประเด็นทางการเมือง มูฟวิจารณ์ว่าการใช้เหตุผลร่วมไตร่ตรองไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังเป็นการกีดกันมิติพหุนิยมด้านคุณค่าออกจากการเมืองด้วยการให้เหตุผลเป็นข้ออ้าง นอกจากนี้การให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับเหตุผลก็ยังทำให้นักประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรองทิ้งส่วนที่สำคัญที่สุดไปก็คือ ‘อารมณ์’ ซึ่งก็มีบทบาทสำคัญในการทำให้คนศรัทธาในคุณค่าแบบประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน อารมณ์ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งก่อกวนการตัดสินใจ แต่เป็นคุณสมบัติตามธรรมชาติของมนุษย์ที่มีบทบาทสำคัญอย่างไม่อาจหลบเลี่ยงได้ในการสร้างอัตลักษณ์ทางการเมือง ความสนใจ และความมุ่งมั่น ดังนั้น แทนที่จะเมินเฉยต่ออารมณ์เหล่านี้ เราจึงควรที่จะใช้อารมณ์ให้เป็นประโยชน์ในการปลุกเร้าให้พลเมืองมีส่วนร่วมกับกระบวนการทางประชาธิปไตยผ่านการสร้างสถาบัน วาทกรรม และอื่นๆ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่ส่งเสริมให้คนยึดมั่นในประชาธิปไตย

นอกจากนี้ ข้อวิจารณ์อีกข้อก็คือประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรองมองภาพปัจเจกบุคคลผิดไปจากความจริง ไม่มีปัจเจกบุคคลคนใดที่สามารถถอดตนเองออกจากความสัมพันธ์ทางสังคมหรือความสัมพันธ์ทางอำนาจได้จริงๆ เราจึงไม่มีทางที่จะหาฉันทมติแบบที่นักประชาธิปไตยแบบไตร่ตรองเสนอ ไม่ว่าจะด้วยกระบวนการใช้เหตุผลร่วมที่ดีแค่ไหนก็ตาม เพื่อสนับสนุนข้อแย้งนี้มูฟยกแนวคิดของลูทวิช วิทเกินชไตน์ (Ludwig Wittgenstein) ในหนังสือ The Tractatus Logico-Philosophicus มาใช้ วิทเกินชไตน์เสนอว่าภาษาเป็นเรื่องของ ‘รูปแบบของชีวิต’ (form of life) การที่คนกลุ่มหนึ่งจะสื่อสารกันเข้าใจได้ พวกเขาจำเป็นต้องมีรูปแบบของชีวิตที่ตรงกันเสียก่อน กล่าวได้ว่าการเห็นพ้องต้องกันในเชิงความคิดเห็นไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากไม่มีการเห็นพ้องในเชิงรูปแบบของชีวิตก่อน ด้วยเหตุนี้การที่จะหาฉันทมติจากผู้คนที่มีรูปแบบของชีวิตต่างกันอย่างมากจึงเป็นไปไม่ได้เลย

ดังนั้น กระบวนการแบบประชาธิปไตยแบบไตร่ตรองที่นั่งคิดเอาลอยๆ ไม่ได้ลงไปที่ชีวิตของผู้คนจริงๆ ท้ายที่สุดก็จะใช้ไม่ได้จริง เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่การเขียนหลักการทางตรรกะขึ้นลอยๆ แล้วเอาไปใช้ แต่จำเป็นต้องลงไปดูด้วยว่ารูปแบบของชีวิตที่ปรากฏอยู่จริงเป็นอย่างไร

ด้วยปัญหาเหล่านี้มูฟจึงเสนอแนวคิดประชาธิปไตยแบบถึงรากถึงโคนขึ้นมาแทน โดยเธออ้างว่าเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับสภาวะที่เป็นอยู่จริงมากกว่า และจะสามารถให้ทางออกกับปัญหาที่ประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรองทำไม่ได้ ประชาธิปไตยแบบถึงรากถึงโคนเสนอให้ยอมรับความจริงที่ว่าการใช้เหตุผลไม่สามารถโน้มน้าวผู้ที่เห็นต่างซึ่งอยู่ในรูปแบบของชีวิตที่ต่างกันได้ และเราก็ต้องเลิกหาฉันทมติที่เราไม่มีทางได้จากกระบวนการการใช้เหตุผล เราไม่จำเป็นต้องพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งด้วยการแยกพื้นที่ส่วนตัวออกจากการเมือง เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้จริงในทางปฏิบัติ ดังนั้น แทนที่จะมองว่าความขัดแย้งเป็นอุปสรรคที่ต้องก้าวข้าม ประชาธิปไตยแบบถึงรากถอนโคนจึงเสนอให้เราทำตรงกันข้ามคือตระหนักและโอบรับถึงการมีอยู่ของความขัดแย้งทั้งจากผลประโยชน์ ค่านิยม หรืออัตลักษณ์ที่หลากหลายในสังคม หรือก็คือตระหนักว่าโดยเนื้อแท้แล้วสังคมเป็นพหุนิยมที่เต็มไปด้วยคุณค่าซึ่งขัดแย้งกัน และเราก็ควรนำเอาความขัดแย้งเหล่านั้นเข้าสู่พื้นที่ทางการเมือง โดยเปิดโอกาสให้ความขัดแย้งเหล่านั้นได้เผชิญหน้ากันอย่างเปิดเผย และแข่งขันเพื่อแย่งชิงอำนาจนำ (hegemony) มูฟเรียกสภาพแบบนี้ว่า ‘พหุนิยมที่เป็นปรปักษ์’ (agonistic pluralism) กระบวนการทางประชาธิปไตยที่ดีจึงควรต้องจัดให้มีพื้นที่สำหรับการแสดงออกและแข่งขันระหว่างแนวคิดที่หลากหลายเหล่านั้น ทั้งนี้ ต่างฝ่ายต่างก็ต้องยอมรับฝ่ายตรงข้ามในฐานะคู่แข่งที่ชอบธรรม ในการแข่งขัน ทุกฝ่ายสามารถงัดกลยุทธ์ออกมาต่อสู้อย่างไรก็ได้ในขอบเขตที่ไม่ผิดกฎหมายและอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของประชาธิปไตย โดยฝ่ายที่ชนะก็จะมีอำนาจผลักไสไล่ส่งกลุ่มที่แพ้ออกไปจากการเมือง ส่วนฝ่ายที่แพ้ก็ต้องยอมรับความจริงข้อนี้

ทั้งนี้ ต้องตระหนักไว้ว่าการต่อสู้ของกลุ่มทางการเมืองที่มูฟพูดถึงนั้นไม่ใช่ภาพกลุ่มจำนวนมากที่สู้กันมั่วไปหมด แต่เธอกำลังอิงกับงานเรื่องประชานิยมฝ่ายซ้ายที่เธอเสนอร่วมกับเอิร์นเนสโต ลาโกล (Ernesto Laclau) ซึ่งให้ภาพการแบ่งแยกกลุ่มออกเป็น ‘พวกเรา’ ซึ่งคือประชาชน (the people) ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่มีจำนวนมากกว่าปะทะกับ ‘พวกเขา’ ซึ่งก็คือศัตรูของประชาชน (the enemies of the people) ที่เป็นคนส่วนน้อยกว่า กล่าวคือ เป็นการต่อสู้กันระหว่างประชาชนกับชนชั้นปกครองที่คอยกดขี่ประชาชนนั่นเอง

III

หากพิจารณาโดยผิวเผินอาจเข้าใจว่าการอภิปรายเรื่องประชาธิปไตยทั้งสองแนวทางนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริบทการเมืองไทยโดยตรง แต่เมื่อวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนจะพบว่าการปะทะระหว่างแนวคิดประชาธิปไตยทั้งสองแนวนี้ได้ปรากฏขึ้นในพื้นที่ของการเมืองไทยระยะหนึ่งแล้ว แนวคิดประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรองถือได้ว่าอาจเป็นแนวคิดที่คนไทยคุ้นเคยกันบ้างอยู่แล้วอย่างการแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง อีกทั้งผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็มองการจัดการความขัดแย้งด้วยชุดความคิดที่มุ่งเน้นแสวงหาฉันทมติจากบรรดาคู่ขัดแย้ง โดยแสดงออกผ่านการเสนอยุทธวิธีปรองดองด้วยการจับคู่ขัดแย้งมานั่งคุยเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ซึ่งเป็นแนวทางที่แพร่หลายมากในบรรดาสถาบันที่ผลักดันเรื่องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง แม้ว่าอาจจะยังไม่ได้มีการเปิดพื้นที่ให้ร่วมไตร่ตรองได้อย่างในอุดมคติ แต่ก็กล่าวได้ว่าแนวคิดประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรองเข้ามามีอิทธิพลต่อสถาบันทางการเมืองไทยไม่น้อย

ส่วนแนวคิดประชาธิปไตยแบบถึงรากถึงโคน แม้คนส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยคุ้นเคยนัก แต่แนวคิดนี้ก็ถูกหยิบยกมาใช้โดยแกนนำของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่ได้รับความนิยมมากในหมู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งก็ดูจะได้ผลดีในการเข้าผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาเรื้อรังต่างๆ ของประเทศผ่านการพยายามแก้ไขแบบขุดรากถอนโคนต้นตอของปัญหาจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ไม่มีแนวคิดใดสมบูรณ์แบบ ทุกแนวคิดมีทั้งข้อดีและข้อเสียเฉพาะที่สังคมไทยจะต้องพิจารณาชั่งน้ำหนักเอง และประชาธิปไตยก็เป็นพลวัตที่เคลื่อนที่อยู่ตลอด ในอนาคตอาจจะมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบอื่นๆ เข้ามาร่วมแข่งขันก็เป็นไปได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด การจะตอบคำถามข้อสำคัญที่ว่าคุณค่าแบบใดที่เหมาะสมจะยึดถือในฐานะอุดมการณ์ประชาธิปไตยของไทยนั้น ก็คงไม่มีใครคนใดคนหนึ่งตอบได้แน่ชัด แน่นอนว่าในความเป็นจริงคำตอบคงไม่ได้มีแค่สองทางอย่างชื่อบทความ ในบรรดาสองแนวทางนี้อาจไม่มีแนวทางไหนเลยก็ได้ที่เหมาะสม ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือประชาชนชาวไทยทุกคนต่างควรได้คิดไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนและตอบคำถามนี้ด้วยตนเอง

กว่าร้อยปีมาแล้วแล้ว ไฮน์ (Heine) กวีชาวเยอรมัน ได้เตือนชาวฝรั่งเศสว่าอย่าดูถูกพลังของความคิด แนวคิดทางปรัชญาที่ได้รับการบ่มเพาะขึ้นจากความเพิกเฉยในชิ้นงานของอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่งอาจถึงขั้นทำลายอารยธรรมได้เลยทีเดียว

ไอเซยา เบอร์ลิน, สองมุมมองของเสรีภาพ, 1958

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save