fbpx

POOR THINGS เมื่อผู้หญิงกลายเป็นสิ่งวิปริต

ขอออกตัวไว้ก่อนว่าฉันเองไม่ได้สังกัดกลุ่มเฟมินิสต์อะไรเลยนะ ฉันสนับสนุนให้ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และกลุ่มคนเพศหลากหลาย แสดงพฤติกรรมอันเป็นธรรมชาติของตัวเองออกมา ฉันเชื่ออย่างสุดใจเลยว่าผู้หญิงและผู้ชายเป็นสิ่งมีชีวิตที่มาจากดาวคนละดวงกัน (ส่วนกลุ่มคนเพศหลากหลายจะมาจากดาวดวงไหนอย่างไรอันนี้ฉันไม่อาจรู้) และเมื่อทุกคนต้องอยู่ร่วมสังคมเดียวกัน สัญชาตญาณหรือสันดานประจำเพศเหล่านี้นี่แหละที่รังแต่จะทำให้เกิดปัญหา พอดีฉันไม่ได้เป็นคนนิยมโลกสวยโสภา และเข้าใจดีว่าการอยู่กับปัญหามันก็เป็นครรลองของการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในทุกสังคมตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ปล่อยให้หญิงและชายอยู่ด้วยกันด้วยความไม่เข้าใจกันแบบนี้แหละสนุกดี รักกันบ้างกระทบกันบ้าง ผิดใจกันบ้าง เพราะเราต่างก็เป็นมนุษย์จากดาวคนละดวง

ที่เกริ่นนำไว้แบบนี้ เพราะฉันมีเจตนาจะเขียนวิจารณ์ทั้งนิยายและหนัง Poor Things (2023) ที่ได้อ่านและได้ดูมา จากสายตาและมุมมองของผู้หญิง วิธีการมองที่อาจจะทำให้ Poor Things มีความเป็น ‘poor things’ จริงๆ จากวิถีในการถ่ายทอดตัวละครผู้หญิงอย่างเบลลาแบ็กซ์เตอร์ (Bella Baxter) ซึ่งฉันไม่ซื้อเลย

เริ่มที่นิยายกันก่อนนะ Poor Things (1992) เป็นนวนิยายสยองขวัญวิทยาศาสตร์ที่เล่าด้วยโครงสร้างและบรรยากาศคล้ายๆ กับ Frankenstein; or, The Modern Prometheus (1818) ของ แมรี เชลลี (Mary Shelly) โดยผู้เขียนเรื่อง Poor Things เป็นนักเขียนชาวสก็อตแลนด์ชื่อ อลาสเดียร์ เกรย์ (Alasdair Gray) ใช่แล้วล่ะ! เขาเป็นผู้ชาย ฉันจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเขาถึงเลือกเล่าเรื่องออกมาอย่างที่เห็น กล่าวคือเปิดเรื่องมา เกรย์ก็ออกเนื้อออกตัวเหมือนกลัวจะต้องรับผิดชอบคุณภาพงานที่พวกเราได้อ่าน โดยเขาเคลมว่าเขาไม่ได้เป็นคนแต่งนิยายเรื่องนี้ แต่เนื้อหาที่อยู่ในเล่มเป็นผลจากการที่เขาบรรณาธิการต้นฉบับหนังสืออัตชีวประวัติลึกลับชื่อ Episodes from the Early Life of a Scottish Public Health Officer, Archibald McCandless ของแพทย์ชาวสก็อตแลนด์ อาร์ชิบาลด์ แม็กแคนด์เลสส์ (Archibald McCandless) ตีพิมพ์เป็นบันทึกส่วนตัวเมื่อปี 1909 กับจดหมายของภรรยาของคุณหมอแม็กแคนด์เลสส์ที่เขียนถึงทายาทในอนาคตเพื่อหักล้างข้อเท็จจริงที่คุณหมอเขียนไว้ แต่น่าเสียดายที่ไม่มีใครหลงเหลือสืบทอดเพื่อรับมรดกหนังสือและจดหมายเหล่านี้  อลาสเดียร์ เกรย์ได้รับเอกสารซึ่งบรรจุอยู่ในซองพินัยกรรมทั้งหมด เขาจึงนำเนื้อหามารื้อสร้างเสียใหม่จนกลายเป็นนิยายเรื่อง Poor Things

เนื้อหาที่เกรย์เล่าไว้จึงเป็นเสียงเล่าจากบันทึกของคุณหมอแม็กแคนด์เลสส์ ว่าด้วยประสบการณ์สยองขวัญเมื่อเขาเคยได้ไปช่วย ก็อดวิน แบ็กซ์เตอร์ (Godwin Baxter) ศัลยแพทย์สติเฟื่องในเมืองกลาสโกว์ที่ชอบศึกษาเรื่องการปลูกถ่ายอวัยวะของมนุษย์และสัตว์ เขาได้รับศพของหญิงนิรนามผู้หนึ่งซึ่งกระโดดสะพานเพื่อฆ่าตัวตาย ภายในท้องมีเด็กอ่อนก่อนกำหนดคลอด คุณหมอแบ็กซ์เตอร์จึงหาวิธีศัลยกรรมช่วยชีวิตมารดา และจัดการผ่าสมองของเด็กน้อยที่ยังมีชีวิตมาใส่ในกะโหลกของหล่อน หญิงท้องอ่อนจึงได้ฟื้นคืนชีพมา และได้สมญานามว่าเบลลา แบ็กซ์เตอร์ ที่แม้ร่างกายจะเป็นหญิงโตเต็มวัย แต่สมองและหัวใจของเธอยังกลายเป็นเด็กน้อยตามอายุสมองของลูก เบลลาอาศัยอยู่กับก็อดวิน แบ็กซ์เตอร์ จนก็อดวินยุให้คุณหมอแม็กแคนด์เลสส์ขอเบลลาแต่งงาน และเบลลาก็ตอบตกลง แต่ด้วยความสงสัยที่เธอมีต่อโลกกว้างใบใหญ่ และอายุสมองที่ใกล้ถึงวัยตื่นรู้ทางเพศ ทำให้เบลลาหันไปหลงคารมทนายความเจ้าเล่ห์อย่าง ดันแคน เวดเดอร์เบิร์น (Duncan Wedderburn) ซึ่งสัญญาว่าจะพาเธอไปตระเวนโลกกว้างถ้าเบลลายอมตกเป็นของเขา เบลลาจึงยอมไปกับดันแคนทันที เพราะหลังฟื้นคืนชีพ เธอยังไม่มีโอกาสออกไปนอกเคหาสน์เลย แต่เมื่อดันแคนได้เห็นรอยแผลผ่าท้องคลอดของเบลลา เขาก็ผิดหวังที่เธอมิใช่หญิงบริสุทธิ์ และตัดสินใจทิ้งเบลลา ไม่นับเธอเป็นภรรยาต่อไปอีก สุดท้ายเบลลาจึงกลับมาหาก็อดวินและได้เรียนรู้ความจริงในอดีตของเธอ สุดท้ายเธอก็ได้แต่งงานกับแม็กแคนด์เลสส์ และเมื่อสมองของเธอพัฒนาจนสามารถเรียนรู้ศาสตร์การแพทย์ได้ เบลลาก็เดินตามรอยเท้าก็อดวิน ฝึกฝนการเป็นพยาบาลคอยดูแลผู้ป่วยยากไร้และหมอตำแยเพื่อช่วยเหลือเพื่อนผู้หญิงด้วยกัน

เชื่อไหมว่าฉันอ่านนิยายเล่มนี้ด้วยความรู้สึกหงุดหงิดอย่างที่สุด อย่างแรกเลยก็คือเกรย์ใช้เทคนิคสารพัดสารพันในการผูกโยงเรื่องราวให้ดูน่าสนใจ ใช้ทั้งเนื้อหาจากหนังสืออัตชีวประวัติของแม็กแคนด์เลสส์ซึ่งเป็นผู้เล่าหลัก สลับกับจดหมายจริงที่ดันแคน เวดเดอร์เบิร์นเขียนกลับมาหาก็อดวินขณะพาเบลลาหนี และจดหมายที่เบลลาเขียนถึงบ้าน ด้วยลายมือและการสะกดคำแบบเด็กที่เพิ่งเริ่มต้นหัดเขียนภาษาอังกฤษ มีภาพวาดอวัยวะภายในมนุษย์ส่วนต่างๆ แทรกไว้ให้มีบรรยากาศแห่งเลือดเนื้อ เมื่อเล่าครบทั้ง 24 บท เกรย์ก็นำจดหมายที่เบลลาที่ทราบแล้วว่าเดิมเธอชื่อ วิกตอเรีย (Victoria) ในวัยชราเขียนถึงทายาทมาลงไว้ เพื่อแฉว่าแม็กแคนด์เลสส์โกหกอะไรในหนังสือเล่มนี้บ้าง มีการยกข้อความมาจากหนังสือสารานุกรมดังอย่าง Who’s Who ฉบับปี 1883 เล่าประวัติปลอมของตัวละคร เซอร์ เออเบรย์ เบลสซิงตัน (Sir Aubrey Blessington) สามีเก่าของเบลลา และการเพิ่มหมายเหตุท้ายเล่มเล่ารายละเอียดที่ตกหล่น รวมถึงประวัติที่แท้จริงของวิกตอเรียก่อนและหลังที่จะได้มาเป็นเบลลา แบ็กซ์เตอร์ (จนทำให้ฉันสงสัยว่า แล้วจะเล่าเรื่องโกหกของเบลลามาให้ยืดยาวทำไม ถ้าสุดท้ายแล้วข้อเท็จจริงจะอยู่ในหมายเหตุท้ายเล่มนี้)

ฉันรู้สึกว่าวิธีการของเกรย์มันมีแต่ ‘ทีเล่น’ จนไม่เห็นถึงความจริงจังใดๆ ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้สึกว่า เขาทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องสนุกๆ ขำๆ อำกันเล่นๆ ทั้งที่สถานการณ์ที่ผูกไว้ โดยเฉพาะส่วนที่เล่าถึงเบลลานั้นซับซ้อนและน่าสนใจมากๆ แต่เกรย์ก็ไม่ได้คิดจะยี่หระกับความรู้สึกภายในของเบลลาสักเท่าไหร่ จุดนี้เป็นสิ่งที่ฉันให้อภัยไม่ได้ ถึงจะเข้าใจดีว่านักเขียนชายก็มักปฏิบัติกับตัวละครหญิงอย่างพื้นผิวแบบนี้ แต่การสร้างตัวละครอย่างเบลลาขึ้นมาใน Poor Things นี่เหมือนเกรย์ไม่ได้คิดทำการบ้านอะไรเลย ทั้งที่เธอก็ถือเป็นศูนย์กลางสำคัญของเรื่องราวทั้งหมด 

อย่างที่บอกไว้ว่าเกรย์ได้โบ้ยเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าเขาไม่ได้เป็นผู้ประพันธ์นิยายเรื่องนี้ แต่อาศัยเนื้อหามาจากหนังสืออัตชีวประวัติของคุณหมอแม็กแคนด์เลสส์และจากข้อเขียนของผู้ที่เกี่ยวข้อง เกรย์จึงไม่ต้องกังวลเรื่องคุณภาพงานหรือการผูกเรื่องให้สนุกเข้มข้นหรือแยบยลแต่อย่างไร ยิ่งเนื้อหายิ่งสับสนโกลาหลออกทะเลมากเท่าไหร่ หรือข้อมูลจะขัดกันเองอย่างไร ก็ยิ่งทำให้ประเด็นทดลองของเกรย์ชัดยิ่งขึ้น

จากนิยายทั้งเล่ม ส่วนที่ฉันสนใจมากที่สุดคือจดหมายที่เบลลาเขียนกลับมาหาก็อดวิน และจดหมายที่วิกตอเรียเขียนเล่าความจริงถึงทายาท เพราะสองส่วนนี้เป็นประตูเพียงบานเดียวที่จะนำเราไปสู่ความคิดอ่านภายในของเบลลาได้ตรงที่สุด ในขณะที่เนื้อหาส่วนที่เหลือล้วนเล่าจากมุมมองของ ‘ผู้ชาย’ ที่รายล้อมเบลลา แต่คิดดูนะ จดหมายที่เบลลาเขียนถึงก็อดวินซึ่งได้รับการถอดความให้สละสลวยด้วยภาษาปกติจากจดหมายลายมือขยุกขยิกและการสะกดคำอย่างวิบัติแบบเด็กๆ ของเบลลา กลับมีเนื้อหาอย่างผู้ที่ได้รับการศึกษาขั้นสูงมาแล้วใช้จนดูไม่ไปด้วยกัน ซึ่งฉันผิดหวังมากว่าเนื้อความในจดหมาย แทบไม่ได้มีการระบายความรู้สึกภายในของเบลลาออกมาเลย มีแต่การเล่าถึงเหตุการณ์และผู้คนต่างๆ ที่เธอไปพบเจอ เพื่อประโยชน์ในการเล่าเรื่อง จดหมายฉบับนี้จึงเหมือนเป็นแค่เครื่องมือในการบรรยายเล่าสถานการณ์อีกมุมมอง โดยไม่สนใจความต้องการของเบลลา

น่าเสียดายมากที่เกรย์ประกอบสร้างแต่ละส่วนของนิยายเล่มนี้ออกมาไม่เนียน ใครกันจะยกเอาไดอะล็อกของคนอื่นๆ มาเขียนเล่าเสียเป็นบทละครในจดหมายจนเขาต้องออกตัวไว้เสียงดังว่าผมไม่ได้เป็นคนเขียนนะ และเมื่อเบลลาทราบว่าชื่อเดิมของเธอคือวิกตอเรียและเขียนจดหมายฉบับที่สองเพื่อหักล้างข้อมูลต่างๆ ที่คุณหมอแม็กแคนด์เลสส์เขียนไว้ในอัตชีวประวัติ เนื้อหาของมันก็จ้องแต่จะโจมตีด้วยข้อมูลจากอีกฟาก จนแทบจะสัมผัสไม่ได้เลยว่าวิกตอเรียรู้สึกอย่างไรกับชีวิตที่กลายเป็นเบลลาของเธอ ด้วยการเขียนแบบเล่าให้รู้ มิได้บรรยายให้รู้สึก จนฉันอดนึกโมโหไม่ได้ว่าสรุปแล้วเกรย์เขารู้จักและเข้าใจตัวละครเบลลาที่เขาสร้างขึ้นมากับมือจริงหรือไม่ ถึงได้เลี่ยงที่จะลงลึกถึงอารมณ์ภายในของเบลลาในทุกครั้งที่มีโอกาส ในฐานะคนอ่าน ฉันเองอยากรู้จักและอยากเข้าใจความรู้สึกของตัวละครที่อยู่ในภาวะวิปริตผิดปกติอย่างเบลลาจะตาย ว่าสมองของบุตรสาวที่ต้องเติบโตมาในร่างกายโตเต็มวัยของมารดาตัวเองเป็นอย่างไร ส่งผลต่อทัศนะและมุมมองเรื่องเพศสภาพของเธออย่างไรบ้าง หนังสือเล่มนี้แทบไม่ได้แตะต้องหรือสนใจเอาเลย ลองคิดดูนะ ในชั่วขณะที่สำคัญมากที่สุดจุดหนึ่งในนิยาย นั่นคือ ตอนที่ก็อดวินเล่าความจริงทุกอย่างเกี่ยวกับที่มาที่ไปของเบลลาให้เบลลาฟัง ซึ่งเธอก็ไม่ได้แสดงปฏิกิริยาใดๆ นอกเหนือไปจากคำพูดสั้นๆ ว่า “I feared that” และเข้าไปโอบกอดก็อดวินอย่างใกล้ชิด เกรย์ก็ยังกวนบาทาว่าเนื้อหาสำคัญตอนนี้ จะกลายเป็นบทตอนที่สั้นที่สุดในเล่ม โดยตั้งชื่อบทไว้ว่า ‘My Shortest Chapter’ เพราะเขาเล่าเหตุการณ์ได้แค่นี้  เกรย์ไม่ยี่หระเลยว่าความเงียบของเบลลาหลังจากรู้ความจริงจากปากของก็อดวินเองมีความหมายมากมายมหาศาลถึงเพียงไหน ไม่มีแม้น้ำเสียงสงสัยใคร่รู้หรือใส่ใจว่าเบลลากำลังรู้สึกอะไร ฉันจึงไม่เห็นด้วยเลยที่มันจะต้องกลายมาเป็นบทตอนที่ ‘สั้นที่สุด!’

แต่ฉันก็ไม่ปฏิเสธเลยนะว่าไอเดียตั้งต้นทั้งหมดในการเขียนนิยายเล่มนี้ของเกรย์มันดีมากและน่าสนใจเอามากๆ และวิธีการเขียนแบบรื้อสร้างจับวางองค์ประกอบต่างๆ เพื่อร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่ารูปแบบใหม่ จริงๆ แล้วก็อาจไม่ได้เป็นปัญหาอะไร เพียงแต่เกรย์ควรจะใส่ใจกับความรู้สึกของตัวละครทุกตัว และทำให้เนื้อหาทุกส่วนดู ‘เนียน’ ตามรูปแบบของมันสักนิด ถ้าเป็นเช่นนั้นฉันก็อาจไม่รู้สึกติดอะไร เมื่อเห็นว่าผู้กำกับชาวกรีก ยอร์กอส ลันธิมอส (Yorgos Lanthimos) สนใจนำนิยายเรื่องนี้มาทำเป็นหนัง ฉันก็ไม่แปลกใจเพราะเนื้อเรื่องก็ออกจะขายได้ขนาดนั้น แล้วให้มือเขียนบท โทนี แม็กนามารา (Tony McNamara) เป็นคนดัดแปลงเป็นบทหนัง นี่ถ้าฉันตั้งข้อสังเกตว่าทั้งลันธิมอสและแม็กนามาราต่างก็เป็นผู้ชาย จะโดนตำหนิไหม เขาผิดอะไรที่เกิดมาเป็นผู้ชาย เปล่าหรอก ฉันหมายถึงว่าทั้งลันธิมอสและแม็กนามาราต่างก็ดัดแปลงนิยายเรื่อง Poor Things ของนักเขียนชายอย่าง อลาสเดียร์ เกรย์ออกมาด้วยทัศนะและมุมมองในแบบผู้ช๊ายผู้ชาย มองตัวละครเบลลาผ่าน male gaze ในแบบผู้ชาย แม้ว่าสุดท้ายพวกเขาก็ตั้งใจให้เกียรติพลิกเรื่องให้เบลลาเป็นฝ่ายชนะอำนาจ เพื่อประกาศความเป็นเฟมินิสต์เอาใจคนดูที่สมาทานความคิดนี้

ฉันขอเล่าถึงสิ่งที่ฉันชอบก่อนในหนังเรื่อง Poor Things ก่อนก็แล้วกัน จากนั้นก็ค่อยมาขยี้กันทีหลัง สิ่งที่เด่นและสะดุดตามากๆ ในเรื่องนี้ก็คือลีลาการกำกับศิลป์ทั้งหมด การถ่ายภาพ ฉาก อุปกรณ์ประกอบ เครื่องแต่งกาย ทั้งภายในคฤหาสน์อันน่าสยองของคุณหมอก็อดวินและสถานที่ต่างๆ ที่เบลลาเดินทางไป ถึงผู้กำกับลันธิมอสจะใช้แค่เทคนิคง่ายๆ สลับฉากขาว-ดำกับภาพสีสวยฉ่ำ มุมกล้องก้มเงย และการใช้เลนส์ตาปลาสร้างภาพบูดเบี้ยว แต่เขาก็ทำออกมาด้วยจินตนาการที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่ซ้ำรอยคนอื่นๆ หลายๆ ส่วนอาจดูคล้ายๆ ผลงานของ มาร์ก คาโร (Marc Caro -ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส) และ ฌ็อง-ปีแยร์ เฌอเน (Jean-Pierre Jeunet -ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส) อย่าง Delicatessen (1991) กับ The City of Lost Children (1995) อยู่บ้าง แต่เมื่อเทียบกันจริงๆ แล้วก็ยังเป็นคนละแนวกันอยู่ดี ฉันถึงยกนิ้วให้เลยว่าในเรื่ององค์ประกอบศิลป์นี้ หนังเรื่อง Poor Things ถือว่ากินขาด ใครที่สนใจศิลปะภาพยนตร์แขนงเหล่านี้ก็ถือว่าไม่ควรพลาดเลย

แต่หนังมันไม่ได้ดำรงอยู่ได้ด้วยงานภาพอันหวือหวาสะดุดตาอย่างเดียวนี่สิ เพราะในส่วนของการดัดแปลงเนื้อเรื่องใน Poor Things ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่ทำให้ฉันผิดหวัง โดยเฉพาะเมื่อคนดูได้สัมผัสกับตัวละครเบลลาแบบมีเนื้อมีหนังผ่านการแสดงของ เอ็มมา สโตน (Emma Stone) แต่เธอก็ยังหนีการถูกกดจากมุมมองของเพศชายไม่พ้นอยู่ดี เอาจุดที่ตัวหนังแตกต่างไปจากนิยายอย่างชัดเจนเลยคือการเปลี่ยนตัวผู้เล่าให้เป็นเบลลาใน Poor Things ฉบับหนัง ในขณะที่ฉบับนิยายให้ก็อดวินกับแม็กแคนด์เลสส์ ซึ่งในหนังเปลี่ยนชื่อเป็นแม็กซ์ (Max) และดันแคนเป็นผู้เล่ามากกว่าเบลลา เริ่มเรื่องมาเราก็จะได้เห็นฉากคุณแม่ท้องอ่อนเบลลากระโดดสะพานฆ่าตัวตาย ซึ่งผู้กำกับลันธิมอสก็ย้ายเมืองจากกลาสโกว์ในสก็อตแลนด์ มาเป็นสะพานลอนดอนบริดจ์ในมหานครลอนดอนแทน เรื่องนี้ฉันขอเดาว่าฉากหลังของกรุงลอนดอนดูอลังการ และน่าจดจำได้มากกว่า แม้ว่าการย้ายเมืองจะทำให้บริบทการเมืองในสก็อตแลนด์ในนิยายต้นฉบับหายไป แต่นั่นก็อาจไม่ใช่สาระสำคัญของเรื่องอยู่แล้ว

ฉันว่าเป็นเรื่องที่ดีเลยนะ ที่หนังจะหันมาสนใจชะตากรรมของเบลลาอย่างใกล้ชิดทุกฝีก้าวแบบนี้ และสโตน ก็เป็นนักแสดงที่ฉันชื่นชมความสามารถ เธอทำหน้าที่รับบทบาทที่ต้องเก็บรายละเอียดมากมายอย่างเบลลาในเรื่องนี้ได้ดีเลยเชียวล่ะ แต่ยกให้เบลลาเป็นตัวละครเดินเรื่องก็มีความเป็นดาบสองคมอยู่ โดยเฉพาะเมื่อผู้กำกับลันธิมอสกลับสนใจแต่เรื่อง ‘ภายนอก’ ของเบลลาว่าชะตาชีวิตของเธอวิปริตปั่นป่วนเพียงไหน มากกว่าจะใส่ใจภาวะ ‘ภายใน’ อันไม่ปกติของเธอ อย่าหาว่าฉันใจไม้ไส้ระกำหรือเป็นคนช่างตำหนิอะไรเลย ที่จะรู้สึกว่า Poor Things ฉบับหนังเล่าออกมาด้วยสายตาของการทำหนังโป๊ softcore porno เรตอาร์ กระตุ้นตัณหาแฟนตาซีของคนดูเพศชาย ฉันอดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าเบลลาในหนังยังถูกปฏิบัติเหมือนเป็นวัตถุชีวภาพจากห้องทดลอง สนใจเฉพาะการทำงานของ ‘สมอง’ มากกว่าหัวใจ เพราะการสมมุติให้ผู้หญิงคนหนึ่งมีร่างกายเติบโตสมบูรณ์ในวัยเจริญพันธุ์ แต่มันสมองและการเลี้ยงดูยังอยู่ในวัยของการเป็นเด็กน้อยใกล้ถึงเวลาตื่นรู้ทางเพศ ถูกเลี้ยงดูโดยบิดาบุญธรรมที่เป็นผู้ชาย แม้จะมีแม่บ้านหญิงคอยรับใช้แต่ก็ไม่ได้มีบทบาทอะไร ทำให้เบลลาเติบโตมาแบบหญิงที่ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้ชายกระหายกามทั้งหลายชอบนัก ร่างกายเธอเรียกร้องสัมผัสทางเพศขึ้นมาเมื่อไหร่ เธอก็เรียกให้ทุกคนมารุมดู ซึ่งก็เป็นลักษณะเดียวกันกับหนังโป๊ที่ฉันเคยลองหาดู ผู้หญิงที่ไม่รู้จักคำว่า ‘รักนวลสงวนตัว’ ตระหนักในคุณค่าแห่งสรีระของตัวเอง และมองร่างกายเป็นเหมือนอ่างบรรจุความกระหายใคร่รอให้ผู้ชายสักคนใครก็ได้มาบำบัดความร้อนรุ่มภายในตัวฉันให้หน่อยสิ!

ฉันได้ยินว่าหลายๆ คนสรรเสริญเอ็มมา สโตนว่ามีสปิริตยอมเปลืองเนื้อเปลืองตัว เปิดเปลือยร่างกายเพื่อถ่ายทำหนังเรื่องนี้โดยไม่มีอาการขัดเขินเอียงอาย ส่วนฉันนี่ใจหาย เพราะแต่ละฉากที่เธอต้องเปลื้องผ้า โดยเฉพาะฉากประกอบกามกิจกับผู้ชาย สายตาที่กล้องจับจ้องเหมือนกำลังได้เห็น ‘ของดี’ จากผู้มีอภิสิทธิ์ มิได้มีความคิดที่จะยกย่องสรรเสริญความงามสรีระที่สโตนยอมเผยให้เห็นเลย ฉันเห็นด้วยกับผู้กำกับหญิง คาเทอรีเนอ เบรอิญญาต์ (Catherine Breillat -คนทำหนังและนักเขียนชาวฝรั่งเศส) กล่าวไว้ตอนทำหนังเรื่อง Sex Is Comedy (2002) ว่า “Actors are prostitute for art” หรือ “นักแสดงเป็นเช่นโสเภณีสำหรับงานศิลปะ” ผู้กำกับเลือกจ้างนักแสดงมาแล้ว เขาสั่งให้ทำอะไรแบบไหนก็ต้องทำหากสิ่งนั้นนำไปสู่การสร้างสรรค์งานศิลปะตามวิสัยทัศน์ของผู้กำกับจริงๆ เอ็มมา สโตนจึงยอมเป็นโสเภณีทั้งในและนอกซ่องกลางกรุงปารีสในหนังเรื่องนี้ เพราะในฐานะนักแสดงที่ดีแล้ว บทเขียนมาให้อย่างไร และผู้กำกับต้องการอะไรแบบไหน นักแสดงมีหน้าที่เพียงแค่ตีความแล้วทำไปตามนั้น เพราะต้องไม่ลืมว่า นักแสดงมีหน้าที่แค่แสดง ไม่ต้องเปลี่ยนบท หรือสวนทางความคิดผู้กำกับ ปล่อยให้พวกเขารับผิดชอบเครดิตในส่วนนั้นกันเอาเอง เพราะฉะนั้นถ้าผู้กำกับจะทำให้หนังทั้งเรื่องเหมือนเป็นข้ออ้างที่จะสร้างหนังโป๊โชว์เรือนร่างของดาราระดับ A-list มีแม้กระทั่งฉากเลิฟซีนแบบเลสเบี้ยนระหว่างเบลลาและเพื่อนโสเภณีผิวดำที่ผู้ชายชอบมองว่าเป็นสิ่งน่ารักกระตุ้นอารมณ์ (พวกเขาคิดว่าโสเภณีสองคนที่ทำงานด้วยกันจะมีเพศสัมพันธ์กันเองด้วยวิธีนั้นจริงๆ หรือ) และเป็นสิ่งที่แทรกอยู่ในหนังโป๊นักแสดงหญิงชายอยู่เสมอ (ซึ่งก็ตลกดีที่เวลาเจอฉากผู้ชายหันมาสัมผัสลูบไล้กันเอง พวกเขากลับตกใจสะดุ้งหนี!) ก็คงต้องโยนความผิดให้พวกเขาไป  ส่วนเอ็มมา สโตนนั้นได้ทำหน้าที่ของเธออย่างดีที่สุดแล้ว

ฉันรู้ดีว่าสรีระร่างกายของเบลลาสำคัญกับหนังเรื่องนี้ขนาดไหน โดยเฉพาะเมื่อมันเป็นผลลัพธ์จากการสลับไขว้สมองและส่วนอื่นๆ หลังการตั้งครรภ์ ฉันจะให้อภัยทันทีหากจะมีสักฉากที่เบลลาจะได้อยู่กับร่างกายอันเปลือยเปล่าของตัวเองตามลำพังหน้ากระจก สัมผัสสำรวจปฏิกิริยาระหว่างสมองและความคิดกับอวัยวะส่วนอื่นๆ ซึ่งเดิมเคยถูกเชื่อมกันด้วยสายสะดือ ว่ามันจะสื่อถึงความสัมพันธ์ในรูปแบบไหนกันได้บ้าง ฉันผิดหวังมากที่หลังจากติดตามเรื่องราวชีวิตของเบลลาอย่างชิดใกล้ไปจนจบแล้ว เรากลับไม่สามารถสัมผัสรับรู้ความรู้สึกภายในจริงๆ ของหญิงที่มีสถานะบูดเบี้ยวไปไกลกว่าปีศาจของแฟรงค์เกนสไตน์ได้จริงๆ จังๆ  บทหนังในส่วนความรู้สึกภายในของเบลลาดูกลวงโบ๋จนน่าเสียดาย ต่อให้เอ็มมา สโตนจะพยายามทำให้ตัวละครเบลลาดูมีมิติที่น่าเชื่อมากที่สุดอย่างมากแล้วก็ตาม แต่ไหนจะฉากที่เธอเขวี้ยงปาจานชามจนแตกหัก ฉากปักมีดลงบนใบหน้าศพอย่างสะใจ ฉากที่บังคับให้แม็กซ์บีบตัวกบน้อยจนตาย ก็ล้วนต้องการคำอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นกับความคิดของเบลลา ซึ่งฉากเหล่านี้ก็ผ่านเข้ามาแล้วผ่านไป โดยไม่ได้รับการขยายความอะไรให้ฉันได้เข้าใจบ้างเลย

จุดสำคัญอีกอย่างที่หนังต่างจากนิยายต้นฉบับอย่างชัดเจนก็คือตอนจบเรื่อง ซึ่งในนิยายอย่างที่บอกไว้ว่า ใช้จดหมายที่วิกตอเรียหรือเบลลาในวัยชราส่งถึงทายาทของเธอพร้อมหนังสืออัตชีวประวัติของสามี เป็นข้อมูลคู่ขนานหักล้างสิ่งที่ได้เล่ามาทั้งหมดก่อนหน้า แล้วปิดท้ายด้วยหมายเหตุท้ายเล่มเป็นการเก็บรายละเอียดที่ตกหล่นของผู้แต่งเกรย์เอง ในขณะที่ฉบับหนังตัดไว้ที่เหตุการณ์ก่อนหน้า นั่นคือหลังจากที่ก็อดวินเสียชีวิตลงแล้ว เบลลาก็ศึกษาเล่าเรียนเพื่อเดินตามรอยเท้าก็อดวินจนเป็นศัลยแพทย์หญิง โดยใช้คฤหาสน์ของก็อดวินเป็นเรือนทดลอง ซึ่งทั้งคนดัดแปลงบทและผู้กำกับก็เหมือนจะร่วมกันสร้างสรรค์ตอนจบแบบแสนสุขให้เบลลาขยับตำแหน่งเธอกลับมาอยู่เหนือกว่าตัวละครเพศชายรายอื่นๆ ตามเส้นทางชีวิตและการเดินทางสู่เจตจำนงเสรีตลอดทั้งเรื่องของเธอ ซึ่งก็ฟังดูมีความเป็นเฟมินิสต์ดีจังเลยนะ ที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายชนะแบบนี้ ฉันอยากจะขอบคุณแทนฝ่ายสตรีนิยมทุกคน

แต่สำหรับตัวฉัน มันเป็นความเฟมินิสต์ที่มีความเป็นชาย (masculine) ติดกรอบความคิดแบบผู้ชายอยู่มาก การสรุปเรื่องที่บังคับให้ต้องมีสักฝ่ายได้รับชัยชนะแบบนี้ พวกคุณได้ถามเบลลาดูบ้างหรือยังว่าลึกๆ แล้วเธอปรารถนาจะเห็นบทสรุปในชีวิตของเธออย่างไร เมื่อเทียบกับกับความวิปริตแบบลูกก็ไม่ใช่แม่ก็ไม่เชิงตามที่เธอเจอมา ฉันเชื่อเหลือเกินว่าเบลลาคงไม่ได้ต้องการอยู่เหนือกว่าใครๆ ตามที่ตอนจบของหนังแสดงไว้ ไม่เชื่อแม้กระทั่งว่าเธอมีจิตใจอยากล้างแค้นสามีคนเก่าของเธอด้วยการเปลี่ยนถ่ายเอาสมองสัตว์ไปใส่ (เพราะทันทีที่สมองถูกถ่ายเปลี่ยน สัตว์ประหลาดตัวนั้นย่อมมิใช่สามีเธออีกต่อไปแล้ว) และฉันก็ตอบแทนไม่ได้หรอกนะ ว่าเบลลาปรารถนาฉากจบแบบไหน เพราะตลอดทั้งเรื่องที่ได้ดู ฉันไม่อาจสัมผัสความเป็นเบลลาจากการนำเสนอเธอแบบฉาบฉวยได้เลย ทั้งที่ฉันก็อยากรู้ใจจะขาดว่าเธอกำลังพินิจตรึกตรองหรือกำลังต้องมนต์จากสัญชาตญาณภายในอันใด ทำไมคนทำหนังฝั่งผู้ชายถึงไม่ค่อยละเอียดหรือใส่ใจอะไรแบบนี้กันเลยนะ ทั้งที่พวกเขาก็รู้แหละว่ามันสำคัญ ซึ่งฉันก็เห็นมาเยอะแล้วล่ะกับหนังเล่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครหญิงชายที่เล่าจากมุมมองแคบๆ ของผู้กำกับชาย จนพฤติกรรมของตัวละครหญิงดูไม่สมเหตุสมผลสำหรับฉัน พวกเขามาจากดาวคนละดวงสินะ ฉันเชื่อแล้ว เห็นแบบนี้แล้วก็นึกสนุก อยากสมมุติกติกาในการทำหนังขึ้นมาใหม่ว่า ถ้าจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวละครหญิงชายหรือไม่ว่าจะเพศทางเลือกไหนๆ ในเรื่องเดียวกัน ฉันจะไม่อนุญาตให้ผู้กำกับหญิงหรือชายกำกับอยู่แค่คนเดียว ฉันจะบังคับให้ต้องหาผู้กำกับหญิงและผู้กำกับชายมากำกับร่วมกัน จะได้เห็นระบบสุริยะที่ประกอบไปด้วยดาวทั้งสองดวง เหมือนที่ผู้กำกับสามี-ภรรยา ฌ็อง-มารี ชเตราบ์ (Jean-Marie Straub -คนทำหนังชาวฝรั่งเศส) กับ ดานิเอลเล อุยเยต์ (Danièle Huillet -คนทำหนังชาวฝรั่งเศส) ที่จับมือกันกำกับหนังตลอดช่วงชีวิตคู่ ก็น่าจะดี  แม้แต่หนังชิงออสการ์อย่าง Barbie (2023) เอง เกรตา เกอร์วิก (Greta Gerwig) ก็ควรชวนให้ โนอาห์ บอมบาช (Noah Baumbach) สามีได้มีตำแหน่งเป็นผู้กำกับร่วมด้วย ตัวละครเคน ที่ ไรอัน กอสลิง (Ryan Gosling) แสดงจะได้ไม่ดูเด๋อจนเกินเบอร์ไปอย่างที่เห็น

เธอคิดว่ายังไง เป็นความคิดที่เข้าท่าไหม จะได้ลองมาทำแคมเปญรณรงค์กัน จะเล่าให้ฟังว่าเมื่อปี 2004 ฉันมีโอกาสได้สัมภาษณ์ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส เบอนัวต์ ฌาคโกต์ (Benoît Jacquot) ตอนที่เขามีหนังเรื่อง À Tout de Suite (2004) มาฉายในงาน World Film Festival of Bangkok  ฉันถามเขาไปซื่อๆ ตรงๆ เลยว่า คุณเป็นผู้ชาย ทำไมถึงสนใจทำหนังเกี่ยวกับตัวละครหญิงตั้งหลายเรื่อง คำตอบของเขาน่าประทับใจมาก เขาบอกว่า “ผมสนใจทำหนังเกี่ยวกับผู้หญิง เพราะผมไม่เข้าใจผู้หญิงเลย การได้เล่าเรื่องราวของตัวละครหญิงและได้ทำงานกับนักแสดงหญิง ทำให้ผมได้รับคำตอบบางอย่าง หนังของผมจึงมีลักษณะของการตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลาว่าผู้หญิงคิดอะไร มีประสบการณ์กับอะไร ตัดสินใจด้วยเหตุผลหรือความรู้สึกใด หนังผมไม่เคยมีคำตอบให้เลย แต่จะสำรวจผู้หญิงในมุมต่างๆ เพื่อมองหาความกระจ่างเหล่านี้สำหรับตัวผมเอง” ฉันนั่งฟังด้วยความใจฟู เขาเป็นผู้กำกับชายที่มีความคิดที่น่ารักมาก กลับมาที่ Poor Things ฉันจึงรู้สึกว่า เอ็มมา สโตนน่าจะเป็นคนที่ช่วยให้ตัวละครเบลลาในหนังมีความน่าเชื่อมากขึ้น อาจจะไม่ต้องถึงกับเชิญเธอขึ้นมาเป็นผู้กำกับร่วม แต่อาจจะเปิดอิสระให้เธอตีความตัวละครเบลลาโดยไม่ต้องเดินตามตัวบททุกอย่าง โดยที่ทั้งผู้เขียนบทและผู้กำกับพร้อมปรับเปลี่ยนสถานการณ์ไปตามการตัดสินใจของตัวละครในแบบผู้หญิงจริงๆ จากความคิดเห็นของสโตน ฉันว่า Poor Things ก็จะกลายเป็นหนังที่วิเศษมากเลยล่ะ

สุดท้ายนี้ก็คงไม่คิดว่ากัน ฉันก็บ่นของฉันไปตามประสานักวิจาริณีที่อาจจะคาดหวังกับหนังมากไปสักหน่อย เพราะถ้ามองอย่างแฟร์ๆ หนังเรื่อง Poor Things ตามที่เป็นอยู่นี้ ก็เป็นการตีความนวนิยายของเกรย์ในมุมมองของผู้ชายออกมาได้อย่างกระจ่างชัด จนฉันไม่สงสัยอะไรอีกแล้วว่าผู้ชายมองตัวละครเบลลาด้วยสายตาแบบไหน มองจนอาจจะจินตนาการเกินเลยไปว่าเบลลาคงมีความคิด ความปรารถนา แรงผลักดันทางเพศไม่ต่างจากวิถีของผู้ชาย ในมุมมองที่เหมือนไม่เคยรู้กันเลยสินะว่าผู้หญิงเป็นสิ่งที่มีชีวิตที่มีประจำเดือนกันทุกๆ 28 วัน หลังพ้นวัยเจริญพันธุ์ ประจำเดือนที่เหมือนผู้ชายทั้งหลายจะรู้สึกหวาดกลัวไม่อยากจะข้องแวะกับเลือดระดูที่ไหลออกมาจากช่องคลอด ทั้งที่มันคือวิถีที่ติดตัวผู้หญิงมาโดยตลอดไม่ว่าเราจะรู้สึกอย่างไร ฉันไม่แปลกใจเลยที่ทั้งในนิยายและตัวหนังจะไม่มีฉากที่อธิบายให้ได้เห็นว่าตัวละครเบลลาจัดการกับระดูของเธออย่างไรเมื่อมันถึงรอบเวลา โดยเฉพาะเมื่อเธอเป็นเหมือนตุ๊กตามีชีวิตของเหล่าผู้ชายที่รายล้อมและดูแลเธอ เบลลารู้ไหมว่าโลหิตเหล่านั้นมันคืออะไร มาจากไหน และสิ่งที่ระบายออกมาคืออะไร ประจำเดือนที่เป็นเครื่องหมายแสดงความพร้อมในการเป็นมารดาไหลมาจากส่วนที่เธอถือกำเนิด ซึ่งเชื่อเถิดว่าถ้า Poor Things กำกับโดยผู้กำกับเพศหญิง สิ่งเหล่านี้จะไม่มีวันถูกละเลย นี่ฉันไม่ได้พูดด้วยอุดมการณ์เฟมินิสต์เลยนะ ขอยืนยัน เพราะมันก็เป็นไปได้เหมือนกันว่าอาจไม่มีผู้กำกับหญิงรายไหนอยากจะนำเรื่องราวปลอมๆ ของเบลลาในนิยายมาถ่ายทอดเป็นหนังให้เสียเวลา!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save