fbpx

อาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) ในฐานะข้อต่อสู้ทางกฎหมายอาญา

อาการก่อนมีประจำเดือนจะสามารถถูกหยิบยกนำมากล่าวอ้างในการต่อสู้คดีอาญาเพื่อยกเว้นโทษหรือลดหย่อนโทษแก่ผู้กระทำความผิดได้หรือไม่

คำถามนี้ถูกตั้งเป็นกระทู้ในโลกอินเทอร์เน็ตที่มีจำนวนผู้เข้าไปอ่านและตอบไม่น้อยเลยทีเดียว ผู้เขียนเองก็อยากทราบเช่นกันว่าในเรื่องนี้มีคำตอบเป็นอย่างไรจึงคลิกเข้าไปอ่านดู แต่ก็ต้องประหลาดใจ เพราะผู้เขียนไม่พบคำตอบหรือการให้ความเห็นใดที่ตอบคำถามเจ้าของกระทู้นี้เลย หากมีแต่เพียงการตอบกลับของผู้คนที่เป็นไปในลักษณะของการด้อยค่าต่อคำถามของผู้ตั้งคำถาม และกล่าวว่าเป็นเรื่องไร้สาระโดยไม่ได้มีการนำข้อมูลหรือหลักฐานทางวิชาการมาแลกเปลี่ยน หักล้าง หรืออ้างอิงแต่อย่างใด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าคำถามของผู้ตั้งกระทู้ในอินเทอร์เน็ตนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก จึงนำคำถามนี้ไปศึกษาค้นคว้าต่อไป และได้พบกับความรู้ใหม่ๆ มากมายทั้งในทางการแพทย์และทางกฎหมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของอาการก่อนมีประจำเดือนและกฎหมายอาญา จนมีโอกาสนำประเด็นปัญหานี้ไปเล่าให้นักศึกษาฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในวิชากฎหมายอาญาที่ผู้เขียนรับผิดชอบ แต่ทั้งนี้ ตัวผู้เขียนที่ไม่มีประจำเดือน พร้อมกับความรู้ด้านวิชาสุขศึกษาตลอดจนด้านวิทยาศาสตร์ติดลบ เคยสอบสมัยเรียนมัธยมศึกษา เต็ม 60 ได้แค่ 16 คะแนน และสอบตกรูดมหาราชอีกหลายครั้ง ก็คงจะไม่สามารถอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างน่าเชื่อถือและละเอียดลออมากนัก

ในเวลาต่อมาผู้เขียนได้รับเกียรติจากสูตินรีแพทย์ จิตแพทย์ และนักกฎหมายสุภาพสตรีท่านอื่นๆ สละเวลามาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กัน ในงานสัมมนาวิชาการที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียนจึงมีโอกาสได้รับความรู้เพิ่มเติมมากยิ่งขึ้นและนำมาสรุปในบทความนี้เล่าให้ท่านผู้อ่านได้นำไปถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันต่อไปว่า อาการก่อนมีประจำเดือนนั้นควรจะถูกนำมาพิจารณาในฐานะข้อต่อสู้ทางอาญาได้หรือไม่ และมากน้อยเพียงใด โดยจะอธิบายเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอาการก่อนมีประจำเดือนและการกระทำความผิดอาญาเสียก่อน แล้วจะหยิบยกคดีกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ตลอดจนข้อคิดเห็นของแต่ละฝ่าย และความเห็นของผู้เขียนมานำเสนอต่อ

ทั้งนี้ หากท่านผู้อ่านต้องการรับฟังสัมมนาวิชาการ สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ สัมมนาวิชาการ เรื่อง “อาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) ในฐานะข้อต่อสู้ทางกฎหมายอาญา !?” จัดโดย ศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความสัมพันธ์ระหว่างอาการก่อนมีประจำเดือนและอาชญากรรม

อาการก่อนมีประจำเดือน (premenstrual syndrome หรือที่เรียกโดยย่อว่า PMS) เป็นกลุ่มอาการที่ส่งผลต่อร่างกาย พฤติกรรม และอารมณ์จิตใจของผู้หญิงในช่วงระยะหลังตกไข่ (luteal phase) ในแต่ละรอบเดือน ซึ่งเกิดจากความผันผวนของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (progesterone) และฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen)[1] ที่ถูกสร้างขึ้นจากรังไข่จากการกระตุ้นของฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากต่อมใต้สมอง อันส่งผลทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้นเพื่อเตรียมรอรับการฝังตัวของตัวอ่อน และถ้าหากช่วงเวลาหลังจากไข่ที่ผลิตออกมานั้นไม่ปรากฏว่ามีการปฏิสนธิแล้ว เยื่อบุโพรงมดลูกที่ร่างกายเตรียมไว้นั้นก็จะหลุดลอกออกมา เป็นเลือดประจำเดือนออกมาทางช่องคลอดของผู้หญิงนั่นเอง[2]

ทั้งนี้ กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน หรือ PMS ได้ถูกนิยามไว้ว่า เป็นกลุ่มอาการที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางจิตใจและกายภาพของผู้หญิงที่เกิดขึ้นก่อนการหลั่งเลือดประจำเดือน และจะหายไปอย่างรวดเร็วหลังจากที่เลือดประจำเดือนได้หลั่งออกมาหมดในรอบหนึ่ง[3] โดยกลุ่มอาการเหล่านี้จะแสดงออกมาผ่านพฤติกรรมของผู้ป่วย โดยสามารถปรากฏออกมาได้ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ใช่เพียงผลกระทบทางร่างกาย เช่น เจ็บหน้าอก ท้องอืด เหนื่อยง่าย และอ่อนเพลีย หากแต่ยังรวมไปถึงผลกระทบทางจิตใจอีกด้วย เช่น ความฉุนเฉียว อาการสับสน อาการซึมเศร้า อาการหลงลืม การสูญเสียความทรงจำระยะสั้น ตลอดจนการสูญเสียความสามารถในควบคุมพฤติกรรมของตนที่นำไปสู่ความรุนแรง[4] โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของ ‘อาการทางจิตใจผิดปกติก่อนมีประจำเดือน’ หรือ premenstrual dysphoric disorder (เรียกโดยย่อว่า PMDD) ซึ่งเป็นรูปแบบฉกรรจ์ของ PMS ที่เป็นอาการก่อนมีประจำเดือนซึ่งมีผลต่อการทำงานของสมองของผู้ป่วยและมีความรุนแรงมากกว่าปกติ โดยผู้ป่วยจะมีอาการเครียดจัด หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล โมโหร้าย หรือซึมเศร้าอย่างมาก[5] จนสามารถกระตุ้นให้เขาก่อความรุนแรงขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการพยายามฆ่าตัวตาย อุบัติเหตุทางรถยนต์ และรวมไปถึงการกระทำที่เป็นความผิดอาญาที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทั้งทางกายและวาจา[6]

เมื่อหลักฐานในทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้อย่างเป็นรูปธรรมในระดับหนึ่งแล้วว่า PMS หรือ PMDD นั้นส่งผลกระทบต่อจิตใจและการทำงานของสมอง ถึงขนาดทำให้ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมของบุคคลถูกบั่นทอนลงไป และอาจนำไปสู่ความรุนแรงที่เข้ากรณีของการกระทำความผิดอาญาแล้ว สิ่งที่น่าหยิบยกมาพูดกันต่อไปก็คือ การลงโทษทางอาญาแก่ผู้กระทำความผิดที่มีสภาวะจิตใจที่ทุกข์ทนอยู่ในสภาวะอาการก่อนมีประจำเดือนในขณะก่อความรุนแรงให้เท่าเทียมกับผู้กระทำความผิดกรณีทั่วไปที่อยู่ในสภาวะจิตใจสมบูรณ์ โดยปราศจากการนำอาการดังกล่าวมาพิจารณาในการดำเนินคดีอาญานั้น เป็นสิ่งที่ยุติธรรมแล้วหรือไม่?

ในทางทฤษฎีกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการลงโทษนั้น ความยุติธรรมสำหรับความรับผิดในทางอาญาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเป็นการลงโทษบุคคลที่ใช้เจตจำนงอันเสรีของตน (free will) ในการเลือกที่จะกระทำความผิด ด้วยเหตุนี้ กฎหมายอาญาจึงกำหนดให้บุคคลจะต้องรับผิดและต้องรับโทษทางอาญาก็เฉพาะแต่กรณีที่บุคคลนั้นยืนยันที่จะ ‘เลือก’ กระทำการอันฝ่าฝืนต่อกฎหมายอาญา ทั้งๆ ที่เข้าใจถึงสารัตถะและความไม่ชอบธรรมในการกระทำของตนเอง และสามารถเลือกหนทางอื่นที่ไม่ต้องฝ่าฝืนกฎหมายเช่นว่านั้น[7] แต่ในทางกลับกัน ถ้าการฝ่าฝืนกฎหมายนั้น ผู้กระทำไม่ได้ใช้เจตจำนงเสรีอย่างแท้จริงในการเลือกที่จะกระทำแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพราะตนอยู่ในสถานการณ์บีบคั้น กดดัน หรือถูกบังคับก็ตาม การฝ่าฝืนกฎหมายนั้นก็ไม่อาจถูกตำหนิได้อย่างสมบูรณ์[8] หากรัฐใช้กฎหมายอาญาลงโทษแก่บุคคลดังกล่าวอย่างเต็มที่โดยไม่มีการลดหย่อนผ่อนลงแล้ว การลงโทษนั้นก็ย่อมเป็นการไม่ยุติธรรม[9]

หากอาการ PMS หรือ PMDD ในขณะกระทำความผิดอาญาสามารถถูกพิสูจน์ในการพิจารณาคดีได้เป็นที่ประจักษ์ชัดโดยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ประกอบกับพยานหลักฐานอื่นๆ อย่างสิ้นสงสัยแล้วว่า อาการดังกล่าวนั้นส่งผลต่อพฤติกรรมของบุคคลและนำไปสู่การก่ออาชญากรรม คำถามคือเหตุใดเราถึงไม่นำ PMS มาพิจารณาลดหย่อนโทษเช่นเดียวกับการเหตุลดหย่อนโทษเกี่ยวกับสภาวะจิตใจรูปแบบอื่นๆ ที่กฎหมายได้ให้การรับรองในปัจจุบัน เช่น ความวิกลจริต บันดาลโทสะ หรือ ความทุกข์ทนทางจิตใจอื่นๆ ซึ่งคำถามนี้อาจตอบได้ไม่ง่ายนัก เพราะอาการ PMS และ PMDD นั้นมีมิติที่แตกต่างจากสภาวะจิตใจอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของประเด็น ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะไปถึงประเด็นนั้น เรามาดูคดีกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในต่างประเทศที่เกิดขึ้นกันก่อน เพื่อให้เห็นว่าในทางปฏิบัตินั้นกฎหมายอาญามอง PMS และ PMDD ในฐานะข้อต่อสู้ทางกฎหมายอาญาอย่างไร

Regina v. Craddock, 1981

คดีประวัติศาสตร์ที่ PMS ถูกหยิบยกมาเป็นข้อต่อสู้ทางกฎหมายอาญาสำเร็จ

จริงๆ แล้วในอดีตเคยมีการหยิบยกปัจจัยทางชีวภาพที่มีผลต่อจิตใจและพฤติกรรมของสตรีขึ้นมากล่าวอ้างในกระบวนพิจารณาคดีอาญามาเป็นเวลาช้านานแล้ว ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 (ช่วง ค.ศ. 1800-1900) แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยทางชีวภาพที่กล่าวอ้างถึงนั้นถูกอธิบายว่าเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้จำเลยอยู่ใน ‘สภาวะวิกลจริต (insanity)’ ดังนั้น ปัจจัยทางชีวภาพของสตรี (ซึ่งรวมถึงอาการก่อนมีประจำเดือน) จึงไม่ได้มีสถานะเป็นข้อต่อสู้ในทางกฎหมายอาญาที่สามารถให้ผลทางกฎหมายในตัวเอง แต่เป็นเพียงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชิ้นหนึ่งจากพยานผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่ถูกนำมาเพื่อใช้ในการวินิจฉัยข้อต่อสู้ทางกฎหมายเรื่องความวิกลจริตของจำเลยเท่านั้น[10]

จนกระทั่งเวลาได้ล่วงเลยเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 (ช่วง ค.ศ. 1900-2000) มีคดีประวัติศาสตร์ที่ PMS ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างเป็นข้อต่อสู้ทางกฎหมายอาญาในฐานะปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาเพื่อส่งผลทางกฎหมายในการบรรเทาโทษแก่จำเลยได้โดยตรง (mitigating factor) เป็นครั้งแรก ในคดี Regina v. Craddock ค.ศ. 1981 ซึ่งเกิดในประเทศอังกฤษ โดยมีข้อเท็จจริงในคดีว่า Sandie Craddock หญิงอายุ 28 ปี ผู้ที่ทำงานในร้านอาหารร้านหนึ่งแทงเพื่อนร่วมงานของเธอขณะที่เดินกลับบ้านด้วยกันจนเสียชีวิตโดยไม่มีสาเหตุโกรธเคือง หรือเหตุผลใดที่ต้องทำเช่นนั้น[11] Craddock ถูกดำเนินคดีในข้อหาความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา (murder by homicide) ที่เป็นข้อหาหนัก ซึ่งจากการสืบสวนสอบสวนพบว่า Craddock นั้นได้มีประวัติอาชญากรรมที่ล้วนแต่เป็นแต่คดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงทั้งสิ้นถึง 45 คดีและถูกวินิจฉัยโดยนักจิตวิทยาว่ามีอาการผิดปกติทางจิตที่มีบุคลิกภาพไม่คงที่ โดยไม่อาจสรุปได้แน่ชัดถึงสาเหตุของอาการดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ทนายความของ Craddock กล่าวอ้างถึงประวัติอาชญากรรมของ Craddock ว่ามีข้อสังเกตประการหนึ่งที่สำคัญเกี่ยวกับช่วงเวลาในการกระทำความผิดของจำเลยในแต่ละครั้งทั้ง 45 ครั้ง กล่าวคือช่วงเวลาที่ Craddock ก่อความรุนแรงในแต่ละครั้งนั้นล้วนแต่มีความใกล้เคียงกันและเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันของแต่ละเดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่ Craddock จะมีประจำเดือนทั้งสิ้น การก่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นจึงไม่อาจกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า Craddock ได้ใช้เจตจำนงเสรีของตนเองกระทำความผิด หากแต่อาจเป็นปัจจัยทางชีวภาพจากอาการก่อนมีประจำเดือนที่กระตุ้นให้ Craddock สูญเสียการควบคุมตนเองและนำไปสู่การกระทำอันเป็นความผิดอาญา ทนายความของ Craddock จึงร้องขอให้ศาลพิจารณาเหตุดังกล่าวเพื่อบรรเทาโทษแก่จำเลย[12]

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ศาลในคดีจึงได้เชิญ Dr.Katharina Dalton แพทย์ผู้ที่ทำการศึกษาเรื่อง PMS มาอย่างยาวนาน ให้มาวินิจฉัยและให้ความเห็นเกี่ยวกับอาการทางจิตของ Craddock ซึ่งคุณหมอ Dalton ก็ได้วินิจฉัยว่า Craddock อยู่ในภาวะขาดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน การเพิ่มฮอร์โมนดังกล่าวจะช่วยลดผลกระทบทางจิตใจของ PMS และเพิ่มความคงที่ของบุคลิกภาพของ Craddock ได้ ทั้งนี้ ศาลรับฟังความเห็นของคุณหมอ Dalton และมีคำสั่งให้เลื่อนการนั่งพิจารณาคดีเพื่อทำคำพิพากษาออกไปอีก 3 เดือน[13]

หลังจากพ้นระยะเวลา 3 เดือนไปแล้วคุณหมอ Dalton ก็ยื่นรายงานผลการรักษา Craddock ด้วยการฉีดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเข้าสู่ร่างกายและส่งผลให้พฤติกรรมความรุนแรงของผู้ป่วยลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ด้วยเหตุนี้ศาลจึงมีคำพิพากษาลดข้อหาความผิดของ Craddock (diminished responsibility) จากฆ่าคนโดยเจตนา เป็นความผิดฐานฆ่าคนโดยไม่เจตนา (manslaughter) พร้อมกับนำ PMS มาเป็นข้อพิจารณาในการลดหย่อนโทษแก่ Craddock โดยการทำทัณฑ์บนแก่ Craddock เป็นระยะเวลา 3 ปีโดยมีเงื่อนไขให้อยู่ภายใต้การดูแลรักษาของคุณหมอ Dalton

ในภายหลัง หลังจากคดี Regina v. Craddock, 1981 แล้ว PMS ก็ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ในทางอาญาในฐานะปัจจัยในการบรรเทาโทษทางอาญาในสหราชอาณาจักรอยู่หลายคราว ซึ่งแต่ละคดีนั้นล้วนแล้วแต่อ้างอิงคดี Regina v. Craddock, 1981 เป็นคำพิพากษาบรรทัดฐานและเชิญคุณหมอ Dalton มาเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในการทำคำวินิจฉัยและพิพากษาให้ PMS เป็นปัจจัยในการบรรเทาโทษแก่จำเลยทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นคดี R v. Smith, 1982, R v. English, 1981 และ R v. Reynolds, 1988 และยิ่งไปกว่านั้นคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์นี้ก็ยังได้ถูกนำไปอ้างอิงในคดีที่ประเทศอื่นอีกด้วย เช่นคดี Kumari Chandra V. State of Rajasthan, 2018 ที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย ซึ่งได้วินิจฉัยว่าจำเลยอยู่ในภาวะทุกข์ทนต่ออาการ PMS ขั้นรุนแรงจนถึงขั้นเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายโดยไม่รู้สำนึกและนอกเหนือไปจากการควบคุมของอำนาจจิตใจ และส่งผลให้ศาลพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมายอินเดียไปเลยทีเดียว[14]

อย่างไรก็ตาม ข้อต่อสู้ PMS ที่มีจุดกำเนิดจากคดี Regina v. Craddock, 1981 นั้นก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้พิจารณาอย่างพร่ำเพรื่อในการบรรเทาโทษแก่จำเลยในทุกคดี หากแต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าจำเลยมีภาระต้องพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่า ในช่วงเวลาที่จำเลยกระทำความผิดนั้น จำเลยอยู่ในภาวะทุกข์ทนจากอาการ PMS และความทุกข์ทนนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้จำเลยไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้อย่างสมบูรณ์จนนำไปสู่การกระทำความผิดอาญา และนอกจากนี้ข้อต่อสู้เรื่อง PMS นั้นก็ต้องถูกจำกัดไว้ปรับใช้เฉพาะกรณีที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันและมิได้มีการไตร่ตรองไว้ก่อนเท่านั้น การที่จำเลยอยู่ในช่วงเวลาที่ตนมีอาการ PMS แล้วไปกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ (คดี R v. Beer, 1985) หรือฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งจำเลยมีเวลาคิดทบทวนตกลงใจ (คดี R v. Morris, 1988) จึงไม่อาจนำ PMS มาเป็นข้อกล่าวอ้างเป็นข้อต่อสู้ทางกฎหมายอาญาได้อย่างสมเหตุสมผล ศาลจึงปฏิเสธข้อต่อสู้เรื่อง PMS ของจำเลยในคดีดังกล่าว และพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีเหล่านี้โดยไม่มีการผ่อนปรนแต่อย่างใด

ข้อสังเกตและข้อคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ

แม้ในทางปฏิบัตินั้นจะมีคดีกรณีศึกษาจากต่างประเทศแสดงให้เห็นว่า PMS สามารถถูกนำมาใช้พิจารณาเป็นข้อต่อสู้ในทางอาญาแล้วก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี การยอมรับให้ PMS เป็นข้อต่อสู้ทางกฎหมายอาญานั้นก็มีข้อสังเกตที่สำคัญหลายประการที่ย้ำเตือนให้เราต้องย้อนกลับมาทบทวนอย่างระมัดระวัง เพราะอาการ PMS มีมิติที่แตกต่างจากข้อต่อสู้ในทางกฎหมายอาญาทั่วไป โดยเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ ข้อต่อสู้ทางกฎหมายอาญาเกี่ยวกับ PMS จึงอาจเป็นดาบสองคม ที่หากไม่พิจารณาให้รอบด้านและละเอียดถี่ถ้วนแล้ว แม้อาจจะทำให้การลงโทษทางอาญานั้นเป็นไปในทางที่เหมาะสมมากขึ้นก็ตาม แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อสังคมและระบบกฎหมายในด้านอื่นๆ อีกหลายประการ

ณ ที่นี้ ผู้เขียนจึงได้รวบรวมความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ทั้งที่ไม่เห็นและเห็นด้วยด้วยกับการให้ PMS เป็นข้อต่อสู้ในทางอาญามาให้ท่านผู้อ่านได้ร่วมพิจารณาไปพร้อมกัน


ข้อสังเกตของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

ข้อคิดเห็นของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ PMS เป็นข้อต่อสู้ทางกฎหมายอาญา มีเหตุผลดังนี้

1) การยอมรับว่า PMS มีผลต่อพฤติกรรมจะเป็นการลดคุณค่าของหญิงให้ต่ำกว่าชายโดยอาศัยปัจจัยทางชีวภาพว่าหญิงมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ที่ด้อยกว่า เพราะเท่ากับว่าเป็นการตีตราถึงความชำรุดบกพร่องของเพศหญิงที่มีมาโดยกำเนิดตามธรรมชาติว่า มีจิตใจที่ผิดปกติในช่วงเวลาก่อนมีประจำเดือน[15] ต่างกับผู้ชายที่ไม่มีประจำเดือนและยังคงมีจิตที่สมบูรณ์ มีความสามารถในการควบคุมตนเองได้เหนือกว่าผู้หญิง ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนี้แล้ว สังคมก็มีแนวโน้มที่จะไม่ให้ผู้หญิงดำรงตำแหน่งอยู่ในระดับสูงขององค์กรหรือกลุ่ม[16] หรือองค์กรต่างๆ ก็มีแนวโน้มที่มีแต่จะรับแต่เพศชายเข้ามาเป็นสมาชิก หรือจ้างงานเฉพาะแต่เพศชาย เพราะไม่มีความบกพร่องด้านการควบคุมอารมณ์ทางชีวภาพจากประจำเดือนให้ต้องเป็นกังวล ซึ่งอาจทำให้ผู้หญิงนั้นสูญเสียโอกาสและความก้าวหน้าในชีวิตที่สำคัญในหลายกรณี[17] ด้วยเหตุนี้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจึงมองว่า ข้อต่อสู้ในทางอาญาดังกล่าวมีแต่จะทำให้สังคมเกิดอคติกับเพศหญิงและทำให้โครงสร้างทางสังคมที่ชายเป็นใหญ่นั้นชอบธรรมที่จะดำรงอยู่ต่อไป

2) ส่งผลให้การเรียกร้องความเท่าเทียมระหว่างเพศของผู้หญิงในระดับมหภาคเป็นไปได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้น เพราะข้อต่อสู้เรื่องอาการ PMS นี้เป็นข้อต่อสู้ทางกฎหมายที่ผู้ชายไม่อาจมีได้ และกลุ่มอาการดังกล่าวที่อยู่ในระดับถึงขนาดสามารถกระตุ้นให้กระทำความผิดอาญานั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้หญิงส่วนมาก แต่เกิดกับผู้หญิงส่วนน้อยเท่านั้น[18] การให้สิทธิแก่ผู้หญิงในการหยิบยก PMS ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคดีอาญาได้นั้น จึงอาจถูกมองว่าเสมือนการให้อภิสิทธิ์หรือสิทธิพิเศษแก่เพศหญิงบางกลุ่มในการปัดความรับผิดชอบตามกฎหมาย และทำให้สังคมมองว่าการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีนั้นเป็นไปเพื่อการแสวงหาสิทธิพิเศษให้แก่เพศสตรีเท่านั้น ไม่ได้เรียกร้องความเท่าเทียมกันระหว่างเพศอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ การให้ PMS เป็นข้อต่อสู้ในทางกฎหมายจะทำให้การเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในด้านอื่นๆ ในภาพกว้างเพื่อคนส่วนมากนั้นเป็นได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้น

3) ผลของการให้ PMS สามารถเป็นข้อต่อสู้ในทางทางกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับจิตใจของผู้กระทำความผิดจะส่งผลกระทบไปถึงกฎหมายอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะเรื่องของกฎหมายครอบครัว เพราะเป็นการอธิบายว่า PMS ก่อให้เกิดความผิดปกติทางจิตใจของผู้หญิง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ฝ่ายชายผู้เป็นสามีอาจฉกฉวยโอกาสนี้นำอาการก่อนมีประจำเดือนของภริยามากล่าวอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่า[19] ว่าภริยาของตนเป็นผู้มีจิตบกพร่องที่ถึงขนาดไม่สามารถร่วมทนอยู่ด้วยได้ ทำให้หญิงภริยาต้องไปขึ้นศาลสู้คดีเสียทั้งเวลา สุขภาพกายและสุขภาพจิต

4) หาก PMS สามารถถูกหยิบยกเป็นข้อต่อสู้ในกฎหมายอาญาได้แล้ว อาจมีกรณีที่ถูกนำไปใช้ในทางที่มิชอบ เช่น ผู้หญิงอาจเลือกไม่รักษาอาการ PMS ของตนเอง และยังปล่อยให้ตนเองเป็นผู้ป่วยอยู่ต่อไป เพื่อที่จะเก็บอาการก่อนมีประจำเดือนไว้เป็นเกราะกำบังให้แก่ตนเองในการนำมาใช้ประโยชน์เป็นข้ออ้างในการปฏิเสธความรับผิดชอบตามกฎหมายได้[20]


ข้อสังเกตของฝ่ายที่เห็นด้วย

ข้อคิดเห็นของฝ่ายที่เห็นด้วยนี้ อันที่จริงผู้เขียนได้กล่าวไปในข้างต้นแล้วเกี่ยวกับเหตุผลเรื่องความได้สัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างความรุนแรงของโทษและระดับความน่าตำหนิของผู้กระทำที่ผูกติดอยู่กับเสรีภาพของจิตใจ กล่าวคือเมื่ออาการ PMS ส่งผลให้ผู้ป่วยที่อยู่ภายใต้ความทุกข์ทนทางจิตใจ จนไม่อาจใช้ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมของตนได้อย่างเสรีจนนำไปสู่การกระทำความผิดแล้ว การลงโทษผู้ป่วยเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดทั่วไปที่มีจิตใจสมบูรณ์ดีโดยไม่มีการคำนึงถึงผลกระทบของ PMS เลยนั้นย่อมไม่อาจก่อให้เกิดความเป็นธรรมได้ เพราะฉะนั้นการนำ PMS มาเป็นข้อพิจารณาในการวินิจฉัยความรับผิดในทางอาญาจึงชอบแล้วด้วยเหตุผล

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการยอมรับเหตุบรรเทาโทษในกฎหมายอาญาเฉพาะสำหรับสุภาพสตรี จากผู้พิพากษาชาวเยอรมัน Ulrich Vultejus[21] ที่กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ในทฤษฎีกฎหมายอาญานั้น เหล่าบุรุษและสตรีทั้งหลายควรได้รับโทษเท่ากันสำหรับการกระทำความผิดอาญารูปแบบเดียวกัน แต่ข้าพเจ้าก็ประสบกับความยากลำบากในการดำเนินคดีอาญาต่อสตรีซ้ำแล้วซ้ำเล่า และจึงถามตัวเองเสมอว่าแท้ที่จริงแล้ว ข้าพเจ้าควรจะลงโทษพวกเขาอย่างไรกันแน่ …เนื่องจากสตรีเพศนั้นอาจต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากของชีวิต (ที่บุรุษไม่เคยต้องเผชิญ ) การลงโทษทางอาญาจึงย่อมส่งผลกระทบที่รุนแรงยิ่งขึ้นกว่าต่อพวกเธอ ดังนั้น การกำหนดมาตรการให้มีการลดหย่อนผ่อนโทษทางอาญาแก่สตรีให้น้อยกว่าบุรุษสำหรับการกระทำความผิดอย่างเดียวกันจึงย่อมมีความชอบธรรม”[22]

นั่นหมายความว่า แม้โดยหลักแล้วทุกคนที่กระทำความผิดอาญาสำหรับการกระทำแบบเดียวกันก็ควรจะได้รับโทษอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันไม่ว่าเพศใดก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว โทษที่ลงแก่ผู้กระทำความผิดในอัตราที่เท่ากันนั้นอาจส่งผลกระทบต่อผู้ต้องโทษอย่างไม่เท่าเทียมกัน โทษจำคุก 3 ปีที่ผู้หญิงได้รับนั้นอาจมีทุกข์ทนมากกว่าโทษจำคุก 3 ปีที่ผู้ชายได้รับ เพราะในระหว่างที่ถูกจำคุกนั้นร่างกายและจิตใจของผู้หญิงต้องรับมือกับปัจจัยทางชีวภาพต่างๆ ที่ธรรมชาติกำหนดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของอาการก่อนมีประจำเดือน ในขณะที่ผู้ชายไม่เคยต้องประสบพบเจอกับอาการเจ็บคัดหน้าอก ตกขาว อ่อนเพลีย หรือมีเลือดไหลออกจากร่างกายเป็นประจำทุกเดือน ความทุกข์ทนจากโทษจำคุกที่ชายและหญิงต้องประสบพบเจอภายในเรือนจำในระยะเวลาที่เท่ากัน จึงอาจไม่ใช่การรับโทษอย่างเท่าเทียมกัน การกำหนดโทษของผู้หญิงให้เท่าเทียมกับผู้ชายสำหรับการกระทำอย่างเดียวกันจึงอาจไม่ใช่การลงโทษอย่างเสมอภาค

เพราะฉะนั้นการยอมรับให้อาการก่อนมีประจำเดือน ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ PMS หรือ PMDD เป็นเหตุลดหย่อนโทษแก่ผู้กระทำความผิดหญิงให้น้อยกว่าผู้กระทำความผิดชาย จึงเป็นการลงโทษทางอาญาที่คำนึงถึงความแตกต่างทางชีวภาพของเพศชายและหญิง ที่จะนำไปสู่ความเสมอภาคอย่างแท้จริง


ความเห็นของผู้เขียน

ในส่วนของผู้เขียนนั้นเห็นว่า อาการก่อนมีประจำเดือนควรถูกหยิบยกนำมาพิจารณาในฐานะข้อต่อสู้ทางกฎหมายอาญารูปแบบหนึ่งในฐานะของเหตุบรรเทาโทษที่มองผู้กระทำความผิดในฐานะผู้ป่วย ทำนองเดียวกับข้อต่อสู้ทางกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียความสามารถในการควบคุมจิตใจของผู้กระทำความผิดกรณีอื่นๆ เช่น ความวิกลจริต หรือการบันดาลโทสะ เนื่องจากในทางวิทยาศาสตร์นั้นได้พิสูจน์แล้วว่า PMS และ PMDD สามารถส่งผลต่อความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมของผู้ป่วยได้ ความน่าตำหนิของเขาจึงย่อมไม่อาจมีเท่าเทียมกับผู้กระทำความผิดอาญาทั่วไปที่สามารถใช้สภาพจิตใจที่สมบูรณ์พร้อมนั้นเลือกที่จะกระทำความผิด

อย่างไรก็ตาม การปรับใช้ข้อต่อสู้นี้ในทางปฏิบัตินั้นก็ควรต้องมีเงื่อนไขที่จำกัดและรัดกุมตามไปด้วยเพื่อไม่ให้อาการก่อนมีประจำเดือนนี้ถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ชอบและกลายเป็นเกราะป้องกันตนเองจากความรับผิดชอบตามกฎหมาย โดยผู้เขียนเห็นว่า

1) การหยิบยก PMS เป็นข้อต่อสู้ในทางกฎหมายอาญาควรถูกจำกัดประเภทของความผิดอาญาไว้เฉพาะแต่เรื่องความผิดที่เกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย การก่ออันตรายที่เกี่ยวกับการวางเพลิง วัตถุระเบิด การทำลายทรัพย์สิน และการด่าทอดูหมิ่นซึ่งหน้า ที่เป็นกรณีของการใช้ความรุนแรงทางกายและวาจา เนื่องจากสภาพของความผิดทั้งหลายเหล่านี้มีความสอดคล้องกับข้อมูลในทางการแพทย์ที่อธิบายถึงการหย่อนความสามารถในการควบคุมตนเองของผู้ป่วยจนนำไปสู่การใช้ความรุนแรง แต่ถ้าหากเป็นความผิดประเภทอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง เช่น ลักทรัพย์ ฉ้อโกง แจ้งความเท็จ ฯลฯ แล้ว อาการก่อนมีประจำเดือนก็ไม่ควรจะถูกหยิบยกมากล่าวอ้างได้ เพราะไม่ได้มีความสัมพันธ์ระหว่างสภาพของความผิดและข้อมูลทางการแพทย์เกี่ยวกับการหย่อนความสามารถในการควบคุมจิตใจตนเองของผู้ป่วยแต่อย่างใด หากแต่เป็นความผิดที่โดยสภาพนั้น ผู้กระทำต้องมีมูลเหตุชักจูงใจในการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนแล้ว

2) การกล่าวอ้าง PMS เพื่อเป็นเหตุลดหย่อนโทษควรถูกจำกัดไว้เฉพาะแต่รูปแบบการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันที่ไม่ได้มีการไตร่ตรองไว้ก่อนเท่านั้น เพราะการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการไตร่ตรองวางแผนนั้น ย่อมสะท้อนถึงว่าผู้กระทำนั้นยังคงสามารถควบคุมความรู้สึกนึกคิดของตนได้อย่างสมบูรณ์ จึงมีกระบวนการคิดทบทวนตกลงใจที่จะก่อความรุนแรงมาก่อนแล้วในระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นจึงไปลงมือในเวลาต่อมา ซึ่งกรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เกิดจากการกระตุ้นของอาการ PMS แต่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของผู้กระทำความผิดอย่างแท้จริง

3) ฝ่ายจำเลยที่กล่าวอ้างข้อต่อสู้เรื่อง PMS ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาที่จำเลยกระทำความผิดนั้น จำเลยอยู่ในภาวะทุกข์ทนจากอาการ PMS และความทุกข์ทนนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้จำเลยไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้อย่างสมบูรณ์จนนำไปสู่การกระทำความผิดอาญา

4) ในส่วนการพิสูจน์ข้อต่อสู้นั้น แพทย์ที่เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นและเบิกความ ควรต้องมีทั้งสูตินรีแพทย์และจิตแพทย์เคียงคู่กัน เพราะเป็นข้อต่อสู้ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางชีวภาพของสตรีที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ การมีแพทย์ทั้งสองสาขามาให้ความเห็นจะทำให้การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างแม่นยำมากขึ้น และนอกจากนี้หากเป็นอาการก่อนมีประจำเดือนขั้นรุนแรงที่ถึงขนาดเป็น PMDD กรณีดังกล่าวจะอยู่นอกเหนือไปจากความเชี่ยวชาญของสูตินรีแพทย์ และเป็นอาการทางจิตเวช จึงควรต้องมีจิตแพทย์เข้าร่วมในการเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญด้วย

นอกจากนี้ ผู้เขียนมีข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อคิดเห็นของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ PMS เป็นข้อต่อสู้ในทางอาญา ดังนี้

1) สำหรับข้อคิดเห็นที่ว่า ข้อต่อสู้เรื่อง PMS จะลดคุณค่าของผู้หญิงและสร้างผลเสียต่อการดำเนินชีวิตของผู้หญิงในสังคมมากกว่าเดิม พร้อมกับการสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบบสังคมที่ชายเป็นใหญ่นั้น ผู้เขียนเห็นว่า ข้อคิดเห็นดังกล่าวน่าจะยิ่งทำให้สังคมปิตาธิปไตยแข็งแกร่งขึ้นมากกว่าเดิมเสียมากกว่า เพราะเท่ากับเป็นการยอมรับศิโรราบให้กับระบบสังคมดังกล่าว โดยการยอมจำนนให้ระบบสังคมที่เป็นอยู่เพิกเฉยต่อการนำข้อเสียเปรียบทางชีวภาพของผู้หญิงที่แตกต่างจากผู้ชายมาพิจารณาเพื่อสร้างความเสมอภาคที่แท้จริงให้แก่ผู้หญิง และเป็นการปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญที่แตกต่างกันให้เหมือนกัน แต่ส่งผลให้เกิดความเสียเปรียบกับฝ่ายหญิงเพียงฝ่ายเดียว อันเป็น ‘การเลือกปฏิบัติ (discrimination)’ ในรูปแบบหนึ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ ปัญหาจึงอาจไม่ได้อยู่ที่การยอมรับให้ PMS เป็นข้อต่อสู้ทางกฎหมาย แต่อยู่ที่ทัศนคติของสังคมที่มองไม่เห็นถึงสาระสำคัญของเพื่อนมนุษย์ที่มีความแตกต่างซึ่งควรจะถูกปฏิบัติให้ต่างกันตามความเหมาะสมของปัจจัยทางชีวภาพที่ไม่เหมือนกัน

2) แม้ระดับอาการก่อนมีประจำเดือนที่ถึงขั้นเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงได้นั้น จะเกิดกับผู้หญิงเพียงส่วนน้อย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า การผลักดันให้ PMS เป็นข้อต่อสู้ทางกฎหมายอาญาจะเป็นการให้สิทธิพิเศษแก่กลุ่มบุคคลบางกลุ่มแต่อย่างใด หากแต่เป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิของสตรีทุกคนในระดับมหภาคอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว เพราะตราบใดที่ผู้หญิงยังคงมีประจำเดือนตามธรรมชาติ โอกาสที่ PMS หรือ PMDD จะส่งผลต่อจิตใจจนนำไปสู่ความรุนแรงก็ย่อมเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน การยอมรับให้ PMS สามารถเป็นข้อต่อสู้ทางกฎหมายอาญาจึงเป็นไปเพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้หญิงทุกคนที่จิตใจอาจตกอยู่ในสภาวะเปราะบางจากอำนาจของธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงหาใช่การให้สิทธิพิเศษแก่ผู้หญิงบางกลุ่มไม่ แต่เป็นหลักประกันสิทธิของสตรีที่จะได้รับการลงโทษอย่างได้สัดส่วนเหมาะสมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

3) ข้อคิดเห็นที่ว่า การให้ PMS มีสถานะทางกฎหมายเป็นข้อต่อสู้ในคดีอาญาจะส่งผลกระทบต่อกฎหมายอื่นด้วย โดยเฉพาะกฎหมายครอบครัวนั้น ผู้เขียนเห็นว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่สถานะทางกฎหมายของ PMS ที่ถูกนำเสนอนี้ แต่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงในทางวิทยาศาสตร์และการวินิจฉัยของแพทย์ที่มีผลกระทบต่อกฎหมายต่างๆ อยู่ก่อนแล้วตามธรรมดา การจะพิจารณาว่าอาการก่อนมีประจำเดือนมีระดับร้ายแรงถึงขั้นเป็นเหตุฟ้องหย่าได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยให้ความเห็นทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในคดี การจะยอมรับให้ PMS เป็นข้อต่อสู้ทางกฎหมายหรือไม่ จึงไม่ได้ส่งผลให้กฎหมายอื่นเกิดความเปลี่ยนแปลง และไม่ได้ทำให้ความแข็งแกร่งของเหตุฟ้องหย่าเกี่ยวกับความบกพร่องทางจิตใจของคู่สมรสมากขึ้นหรือน้อยลงแต่อย่างใด

4) ข้อคิดเห็นที่ว่า ข้อต่อสู้เรื่อง PMS อาจจะถูกนำไปใช้ในทางที่มิชอบด้วยกฎหมายนั้น ผู้เขียนเห็นว่าไม่ใช่เหตุผลที่จะปฏิเสธการยอมรับให้ PMS มีสถานะเป็นข้อต่อสู้ตามกฎหมายอาญา เพราะอันที่จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นข้อต่อสู้ทางกฎหมายรูปแบบใด ข้อต่อสู้ต่างๆ เหล่านั้นก็อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ชอบได้ทั้งสิ้น สิ่งที่ควรทำนั้นไม่ใช่การหนีปัญหาโดยปิดโอกาสการนำ PMS มาเป็นข้อต่อสู้ทางกฎหมาย แต่ควรเป็นการเตรียมกำหนดมาตรการกระบวนการพิสูจน์ที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบความสุจริตและสมเหตุสมผลในการหยิบยก PMS มาเป็นข้อต่อสู้ตามกฎหมายเสียมากกว่า

บทส่งท้าย

จากข้อมูลทางวิชาการและข้อคิดเห็นของผู้เขียนที่ได้นำเสนอในบทความนี้คงไม่อาจสรุปได้อย่างสมบูรณ์ในทันทีว่าอาการก่อนมีประจำเดือนนั้นควรจะสามารถเป็นข้อต่อสู้ในทางกฎหมายอาญาหรือไม่ หากแต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการนำเสนอแนวคิดใหม่ที่ยังไม่ได้มีการศึกษาโดยละเอียดถี่ถ้วน โดยจะต้องทำการค้นคว้าในเชิงลึกและได้รับการพัฒนาองค์ความรู้ต่อไป เพื่อนำมาใช้ประเมินความเป็นไปได้ในการนำมาปรับใช้ในระบบกฎหมายไทย

อย่างไรก็ตาม การปฏิเสธแนวคิดใหม่ตั้งแต่แรกเริ่มโดยที่ยังไม่ได้นำมาพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะนั้นเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งกับโอกาสที่จะได้รับความรู้ใหม่ๆ และรู้จักทำความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ของเราให้มากยิ่งขึ้น การเปิดใจให้กว้างพร้อมกับการพูดคุยกันด้วยเหตุผลบนฐานของข้อมูลที่มีจะช่วยทำให้ระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ในสังคมของเรานั้นอุดมสมบูรณ์มากขึ้น และอาจนำเราไปสู่คำตอบของประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ไม่เคยได้พบมาก่อนอย่างน่าอัศจรรย์

References
1 Äin-red, Prämenstruelles Syndrom (PMS) & Prämenstruelle dysphorische Störung (PMDS): Ursachen
2 โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาการุณย์, “ประจำเดือนมาไม่ปกติ บอกอะไร? (Amenorrhea)”, สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2567
3 Hamish Sutherland and Iain Stewart, A Critical Analysis of the Premenstrual Syndrome, (1965) 1 LANCET 1180, 1182.
4 Robert Mark Carny and Brian D. Williams, “CRIMINAL LAW-PREMENSTRUAL SYNDROME: A CRIMINAL. DEFENSE”, (1983) 59 Notre Dame Law Review 253, 255.
5 Committee for Medicinal Products for Human Use (CHMP) of European Medical Agency, “Guideline on treatment of premenstrual dysphoric disorder (PMDD)” EMA/CHMP/607022/2009 21 July 2011, 3.
6 Katharina Dalton, The Premenstrual Syndrome and Progesterone Therapy (1977), 4, 144-48. Elizabeth R. Gonzalez, “Premenstrual syndrome An ancient woe deserving of modern scrutiny”, (1981) 245 Journal of the American Medical Association 1393, 1393.
7 Russel Dean Convey, ‘Exorcizing Wechsler’s Ghost: The Influence of the Model Penal Code on Death Penalty Sentencing Jurisprudence’ (2004) 31 Hastings Constitutional Law Quarterly 189, 231-232.
8 เพิ่งอ้าง 230-231.
9 Morse, Stephen J., Neuroscience, free will, and criminal responsibility. In W. Glannon (ed), Free Will and the Brain: Neuroscientific, Philosophical, and Legal Perspectives (Cambridge 2015) 257.
10 Caroline Henaghan, The Premenstrual Defendant: Should she be held fully responsible for her criminal actions ?, Ph.D. Thesis of University of Manchester, 2019, 22-23.
11 R v Craddock (1981) 1 CL 49.
12 Nicole R. Grose, “Premenstrual Dysphoric Disorder as a Mitigating Factor in Sentencing: Following the Lead of English Criminal Courts”, 33 Valparaiso University Law Review 201 (1998), 212.
13 Caroline Henaghan (เชิงอรรถที่ 10) 26.
14 Kumari Chandra V. State of Rajasthan D.B. Criminal Appeal No.44/1987; และโปรดดู Indian Penal Code section 84 Nothing is an offence which is done by a person who, at the time of doing it, by reason of unsoundness of mind, is incapable of knowing the nature of the act, or that he is doing what is either wrong or contrary to law.
15 Nicole R. Grose (เชิงอรรถที่ 12) 225.
16 Nadine Brozan, “Premenstrual Syndrome: A Complex Issue”, N.Y. TIMES, 12 July 1982, 5; Martin Kasindorf, “Allowing Hormones to Take the Rap: Does the PMS Defense Help or Hinder Women?”, NEWSDAY, 16 June 1911, 17; Linda L. Castle, “PMS as a Defense in Criminal Cases”, 70 American Bar Association Journal (1984), 211.
17 Linda R. Chait, “Premenstrual Syndrome and Our Sisters in Crime: A Feminist Dilemma”, 9. Women’s Rights Law Reporter 267, 271.
18 Nicole R. Grose (เชิงอรรถที่ 12) 223.
19 Lee Solomon, “Premenstrual Syndrome: The Debate Surrounding Criminal Defense”, 54 Maryland Law Review 571 (1995), 596-597.
20 See Nicole R. Grose (เชิงอรรถที่ 12) 223.
21 Ulrich Vultejus, “Familiendrama: Mutter erstach ihre Kinder. Warum sie dennoch auf freiem Fuß bleibt” In Zeitschrift für Rechtspflege, Ausgabe 3/08 vom 11. April 2008.
22 แปลแบบสรุปความโดยผู้เขียนจากต้นฉบับ: “Theoretisch müssen Männer und Frauen bei gleichen Taten auch gleich bestraft werden. […]. Ich bin in Strafverfahren gegen Frauen immer wieder in Schwierigkeiten geraten und habe mich deshalb jeweils gefragt, welche Strafe würde ich gegen einen Mann bei derselben Anklage verhängen und auf diese Strafe alsdann abzüglich eines ‘Frauenrabatts’ erkannt. […]. Ein Frauenrabatt ist gerechtfertigt, weil es Frauen im Leben schwerer haben und Strafen deshalb bei ihnen härter wirken.”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save