fbpx

[ความน่าจะอ่าน] ‘แม่ง โคตรโฟนี่เลย’ คำสบถในโลกที่การตอแหลเป็นเรื่องปกติ

ไอดา อรุณวงศ์ เป็นชื่อที่หลายคนที่ติดตามการเมืองคงคุ้นหูดี ในฐานะนายประกันในคดีการเมืองที่เกิดขึ้นมากมาย อีกทั้งคอหนังสือรู้จักเธอดีในฐานะบรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน สำนักพิมพ์ขวัญใจของใครหลายคนในห้วงเวลาที่ผ่านมา บทบาทของเธอมีอยู่อย่างต่อเนื่องและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้กับประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยโดยเฉพาะในภาควรรณกรรม

หนังสือ แม่ง โคตรโฟนี่เลย โดยสำนักพิมพ์ bookscape พาผู้อ่านย้อนกลับไปอ่านข้อเขียนที่ไอดาใช้สำหรับวงเสวนาในแวดวงต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ในวงเสวนา ‘จิตร ภูมิศักดิ์ ในความเห็นของคนรุ่นใหม่’ เรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2565 ในงาน ‘Let Freedom Shine ให้อิสรภาพได้ส่องสกาว’ ระยะเวลาของข้อเขียนในวงเสวนาต่างๆ ล่วงเวลารวมสิบกว่าปี หากเทียบเป็นช่วงเวลาการเติบโตของมนุษย์คนหนึ่งแล้ว แม่ง โคตรโฟนี่เลย คงเปรียบเป็นมนุษย์ที่เติบโตในยุคที่อับแสงสว่างทางเสรีภาพและประชาธิปไตยที่สุดยุคหนึ่งของไทย เฉกเช่นเดียวกันกับเยาวชนมากมายของเราที่เติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลเผด็จการสร้างขึ้น จนกระทั่งมีการเลือกตั้ง (สุดอิหยังวะ) ครั้งที่ผ่านมา

ในบทเสวนาของไอดาต่างมีทิศทางที่พยายามชี้ให้ผู้คนเห็นถึงความผิดปกติของสังคม ความฉาบฉวยทางวัฒนธรรม และความดัดจริตอย่างน่าขันของเหล่าอนุรักษนิยม จะเห็นได้ว่าเธอทุ่มชีวิตไปกับการเปิดโปงสิ่งเหล่านี้ ทั้งในการพูดการเขียนและการกระทำ

ประเด็นของวงเสวนาไม่ว่าจะหนักหรือเบา เธอมักยกตัวอย่างถึงผู้คนมากมาย ผู้คนที่ในช่วงเวลาหนึ่งเขาและเธอเคยเป็นสิ่งแปลกปลอมของยุคสมัย แต่แล้วเวลาก็ได้พิสูจน์ถึงคุณค่าของเขาและเธอเหล่านั้น ไม่ว่าจะบทบาทนักเขียนหญิงของ ร. จันทพิมพะ, จิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนผู้มาก่อนกาล, นักเขียนผู้เชิดชูคุณค่าของมนุษย์อย่างคำสิงห์ ศรีนอก และวัฒน์ วรรลยางกูร

หรือแม้แต่มวลชนไม่ระบุชื่อเสียงเรียงนามที่ไอดากล่าวถึงในวงเสวนา ‘อำนาจ (…) วรรณกรรม’ ปี 2558 ที่ ม.อุบลราชธานี

ไอดารำลึกถึงบทสนทนากับชายผู้หนึ่งในกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ซึ่งเขาระบุว่ามีแรงบันดาลใจทางการเมืองพ้องกับวรรณกรรมที่ชื่นชอบอย่างเรื่องสั้น ‘ไพร่ฟ้า’ ของคำสิงห์ ศรีนอก เขารู้สึกและดำเนินชีวิตเยี่ยง ‘สาย สีมา’ ตัวเอกในนวนิยายเรื่อง ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ เขายกตัวอย่างอีกว่า

“พี่นึกดูนะ ถ้าผมต้องถูกศาลตัดสินขังคุก ผมจะบอกศาลว่า ‘ถ้าท่านแน่ใจว่าท่านพิพากษาอย่างเป็นธรรมเสียแล้วก็ทำไป เพราะมือข้างเดียวกันกับที่เซ็นคำสั่งพิพากษาจำคุกผมนั้น มันก็จะเป็นมือข้างเดียวกันกับที่ท่านใช้ลูบหัวลูกน้อยที่ยังบริสุทธิ์ของท่าน ในยามที่ท่านกลับถึงบ้านนั่นแหละ’ … เป็นไงครับพี่เหมือนนิยายไหม” (หน้า 150)

“ดิฉันยกตัวอย่างพลเมืองกลุ่มนี้ขึ้นมา เพราะนี่เป็นตัวอย่างกรณีล่าสุดของปัจเจกบุคคลที่ต่างคนต่างมาจากต่างภูมิหลัง แต่ทว่าต่างก็มีบางสิ่งร่วมกันในแง่ของแรงบันดาลใจในทางอุดมการณ์ ให้ลุกขึ้นมากระทำการบางอย่างในฤดูกาลของรัฐประหารและศาลทหาร โดยที่แรงบันดาลใจส่วนหนึ่ง ซึ่งแม้คงไม่ใช่ทั้งหมดนั้น ก็มาจากการเสพงานศิลปะและการอ่านวรรณกรรม บางชิ้นก็ซ้ำซ้อนกัน บางชิ้นก็ไม่ แตกต่างกันไปตามรสนิยม และไม่ว่าจะถูกมองว่า romantic หรือ realistic หรือว่าอาจจะเป็น romantically realistic หรือ realistically romantic อย่างไร ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันล้วนอยู่บนฐานของการเป็น idealist ไปแล้ว” ไอดากล่าว (หน้า 151)

อุดมการณ์หรืออุดมคติยังสำคัญกับเราอยู่หรือไม่? หลังการอ่าน แม่ง โคตรโฟนี่เลย จบลง การยอมรับเรื่องตอแหลให้เป็นเรื่องปกติ เป็นดีเอ็นเอของชนชาติของเราหรือเปล่า? แล้วผู้คนล่ะ? ความบริสุทธิ์ทางการเมืองความฝันถึงชีวิตที่ดีกว่าก็เป็นเรื่องไร้เดียงสาอ่อนหัดทางการเมือง อย่างที่นักการเมืองบางพวกเขาว่าจริงหรือ?

แม่ง โคตรโฟนี่เลย ได้บอกเราว่า สิบกว่าปีของข้อเขียนที่ไอดา อรุณวงศ์ใช้ในงานเสวนาต่างๆ นั้นไม่โฟนี่และไม่เคยเปลี่ยน เธอยังยืนยันในการพูดถึงอุดมคติของมนุษย์ในวาระต่างๆ ไม่ว่าจะผ่านชีวิตของนักเขียนอย่างคำสิงห์ ศรีนอก หรือวัฒน์ วรรลยางกูร เมื่อวรรณกรรมได้ทำหน้าที่จนกระทบกับชีวิตส่วนตัวในโลกแห่งความเป็นจริง หรือ ร. จันทพิมพะ นักเขียนหญิงในยุคที่ถูกตีกรอบให้ผู้หญิงเป็นเพียงแม่และเมียที่ดีเท่านั้น การยืนยันถึงบทบาทที่ไม่สนใจเรื่องเพศสภาพในสังคมไทยเมื่อเกือบร้อยปีก่อน เป็นความกล้าหาญที่ไอดาแนะนำให้เราได้รู้จัก ทั้งยังเสียดเย้ยด้วยความสัมพันธ์ผัว-เมีย กับฉากหลังการผลัดแผ่นดินได้อย่างสนุกและคมคายในงานเขียนของเธอ (ขออนุญาตไม่สปอยล์ แนะนำว่าควรไปอ่านเอง)

เมื่อไอดาได้โอกาสกล่าวถึงจิตร ภูมิศักดิ์ ถึงสองวาระทั้งในวงเสวนา ‘จิตร ภูมิศักดิ์ ในความเห็นของคนรุ่นใหม่’ ปี 2553 และ ‘ภาพลักษณ์จิตร ภูมิศักดิ์ ในยุคปัจจุบัน’ ปี 2563 ซึ่งกินเวลาต่างกันถึงสิบปี ไอดาได้กล่าวกับคนรุ่นใหม่ในปี 2553 และคนรุ่นใหม่กว่าในปี 2563 ถึงความสำคัญของจิตร ภูมิศักดิ์ที่สถาบันการศึกษาอย่างจุฬาฯ ได้ละเลยอย่างจงใจ ซ้ำจิตร ภูมิศักดิ์ยังคงหลอกหลอนเหล่าชนชั้นศักดินาผ่านงานของเขาที่ถูกนำมาใช้ซ้ำไม่หยุดหย่อน ดังนั้นเหล่ามนุษย์โคตรโฟนี่ทั้งหลายพึงระลึกไว้ว่า

“… เพราะหาไม่เช่นนั้นแล้ว จิตร ภูมิศักดิ์ ก็จะยังคงเป็น curse and blessing คือเป็นทั้งคำสาปและคำพรของจุฬาลงกรณ์และอักษรฯ จุฬาฯ ต่อไป และขอให้ระวังไว้เถิดว่า มันจะยิ่งทำให้มีภาพลักษณ์ของจิตร ภูมิศักดิ์แบบใหม่ๆ เกิดขึ้นมา ที่จะไม่ยอมถูกโยนบกง่ายๆ อีกต่อไป ดังเช่นจิตร ภูมิศักดิ์ในภาพลักษณ์ปัจจุบันนี้” (หน้า 204)

ความไม่ยอมโฟนี่ของเธอไม่ได้จบเท่านั้น ในปี 2564 วงเสวนา ‘โควิดในเรือนจำ กับชีวิตเสี่ยงของผู้ต้องขัง: คืนสิทธิประกันตัวเดี๋ยวนี้ ก่อนที่จะมีใครตาย’ ในบทบาทต่างออกไปจากแวดวงวรรณกรรม ไอดา อรุณวงศ์รับเป็นนายประกันในคดีการเมืองต่างๆ มากมาย อย่างที่พอทราบกันหลายคดีเป็นคดีมาตรา 112 ซึ่งมีเยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนมากถูกจองจำด้วยคดีว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนี้ ในตอนหนึ่งเธอกล่าวว่า “แต่ก็ในฐานะนายประกันนั่นละค่ะ ที่ทำให้ดิฉันได้เห็นชะตากรรมของผู้ต้องหาและจำเลยทั้งหลาย รวมทั้งครอบครัวของพวกเขา และเข้าใจได้ลำบากเหลือเกินแล้วว่าอะไรหรือที่เหนี่ยวรั้งมโนสำนึกของศาลไว้ไม่ให้เห็นในสิ่งที่ดิฉันและประชาชนทั้งประเทศเห็นอยู่เดี๋ยวนี้ ว่ามีประชาชนกำลังถูกละเมิดสิทธิตามกฎหมายอย่างซ้ำซากและร้ายแรงในนามของกฎหมาย” (หน้า 211)

สิ่งต่างๆ ที่ผมได้เขียนถึง พาผมย้อนกลับไปในตอนต้นของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งคุณไอดาได้พูดถึงหนังสือเรื่อง The Catcher in the Rye ของ J. D. Salinger (ซึ่งผมเองยังไม่เคยได้อ่าน) อันเป็นบทพูดในวงเสวนา ‘อ่านคนละเรื่อง (Read Otherwise)’ ปี 2561 เธอเล่าถึงความประทับใจในตัวละคร ‘โฮลเดน คอลฟิลด์’ ไว้หลายแง่มุม โฮลเดนคือเด็กหนุ่มอายุ 16 เขาถูกไล่ออกจากโรงเรียนเพราะสอบตกและไม่สนใจจะปรับตัว โฮลเดนพบว่าผู้ใหญ่ ไม่ว่าครูหรือพ่อแม่ ล้วนเสแสร้งและโกหกใส่หน้ากากเข้าหากัน ในตอนหนึ่งโฮลเดนคุยกับฟีบีน้องสาวของเขาถึงสิ่งที่เขาชอบว่า เขานั้นชอบแอลลีน้องชายของเขาเอง แต่ฟีบีสวนกลับว่าแอลลีนั้นได้ตายไปแล้ว โฮลเดนจึงตอบกลับว่า

“เธอจะเลิกชอบพอใครเพียงเพราะเขาตายไปแล้วงั้นเหรอ ให้ตายห่าสิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใครคนนั้นดีกว่าคนทั้งหลายแหล่ที่ยังไม่ตายเป็นพันๆ เท่า

โฮลเดนยังบอกกับฟีบีอีกว่า

“พี่ชอบจะนึกเสมอถึงเด็กเล็กๆ ที่กำลังเล่นเกมอะไรกันอยู่ในทุ่งข้าวไรย์กว้างๆ เด็กเล็กๆ เป็นพันๆ คน แล้วก็ไม่มีใครเลย ไม่มีใครอยู่แถวนั้นเลย พี่หมายถึงคนโตๆ นะ ยกเว้นพี่ และพี่ก็ยืนอยู่ที่ขอบหน้าผาบ้าบอแถวนั้น และสิ่งที่พี่จะทำก็คือพี่จะคอยคว้าใครก็ตามที่กำลังจะตกจากหน้าผานั้น พี่หมายความว่าหากพวกเขาวิ่งเล่นกันโดยไม่ดูตาม้าตาเรือว่าเขาวิ่งไปทางไหน พี่ก็จะโผล่ออกมา จากที่ไหนสักแห่งแล้วก็คว้าพวกเขาไว้ นี่แหละคือสิ่งที่พี่จะทำทั้งวันเลย พี่ขอเป็นเพียงคนคว้าเด็กในทุ่งข้าวไรย์”

ความบริสุทธิ์ดังว่าตายลงครั้งแล้วครั้งเล่าคุณว่าไหม เด็กๆ ของเราก็คงเหมือนเด็กๆ ที่วิ่งเล่นในทุ่งข้าวไรย์และหล่นลงที่ขอบผา ในยามบ้านเมืองวิปริตต่อเนื่องยาวนานเช่นนี้ก็เช่นเดียวกัน

คุณไอดาเธอยกวรรณกรรมที่เคยประทับใจในวัยเยาว์มาเล่าให้พวกเราฟัง และถึงแม้เธอจะไม่ซาบซึ้งกับมันเท่ากับในอดีต แต่มันก็ไม่อาจหายไปจากใจของเธอ และหากถอยมองดีๆ แล้วล่ะก็ เธอเองก็มีลักษณะเป็นผู้รับไว้ไม่ให้ร่วงหล่นเฉกเช่นโฮลเดน ตัวเอกของเรื่อง ไม่ว่าในบทบาทของนักเขียนหญิง บรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน หรือบทบาทผู้ก่อตั้งกองทุนราษฎรประสงค์

ถึงจุดนี้แล้ว ท่านผู้อ่านล่ะ หลงลืมความฝัน-อุดมคติ-สังคมที่ดีกว่ากันแล้วหรือยัง ทอดทิ้งตัวตนในวัยเยาว์ไปแล้วหรือยัง แต่ถ้ายังคุณก็ควรอ่าน แม่ง โคตรโฟนี่เลย

*pho-ney [adj] ปลอม [n] คนหลอกลวง

See also: เสแสร้ง, จอมปลอม, ระยำอัปรีย์


“แม่ง โคตรโฟนี่เลย”: การเมือง | วรรณกรรม ในยุคที่สุนัขไม่ใช่หมาเสมอไป แต่ประชาชนยังเป็นควายเหมือนเดิม

ผู้เขียน: ไอดา อรุณวงศ์

สำนักพิมพ์: bookscape

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save