fbpx

[ความน่าจะอ่าน] เล่นแร่แปลภาพ กับการมองประวัติศาสตร์สยามมุมใหม่

มาจะกล่าวบทไป ถึงนักรบ มูลมานัส ผู้มีชื่อเสียงขจรขจายในด้านศิลปินภาพคอลลาจ ที่ตัวข้าพเจ้าเองนั้นก็เป็นแฟนคลับผลงานตัวยง ยิ่งเมื่อรู้จักประวัติของเขาด้วยแล้วก็ยิ่งทึ่ง เนื่องจากเขาจบการศึกษาทางด้านอักษรศาสตร์ เอกภาษาไทย มิได้จบทางด้านศิลปะแต่อย่างใด เหตุไฉนถึงได้มีฝีไม้ลายมือในการทำภาพคอลลาจได้สวยสดงดงามยิ่งนัก ภาพคอลลาจ-ตัดแปะฝีมือนักรบนั้นมีเอกลักษณ์อยู่ประการ คือการเล่นกับพื้นที่ว่าง หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ‘มะ’  โดยปกติแล้วภาพคอลลาจมักจะมีภาพจำว่าจะดูรกๆ โถมประโคมประดุจศิลปะรอคโคโค จริงอยู่ว่างานของนักรบเองก็มีความอลังการมลังเมลือง แต่ก็มี ‘มะ’ อยู่ให้ได้หยุดพักหายใจ ในลูกเล่นตรงนี้ข้าพเจ้าทดคะแนนให้เต็มสิบอยู่ในใจ

ความเป็นแฟนด้อมตัวยงของนักรบของข้าพเจ้านั้น ละม้ายคล้ายกับการที่ติ่งเกาหลีหรือสาววายเปย์ให้เมนของตัวเองยิ่งนัก  หนังสือบางเล่มที่ตัวเองไม่ได้สนใจในเนื้อหาก็ซื้อมาเพราะนักรบออกแบบปก หรือบางเล่มที่มีฉบับพิมพ์เก่าอยู่แล้วครั้นเอามาพิมพ์ใหม่และนักรบออกแบบปกก็ต้องซื้อมาเก็บงำเอาไว้ในคอลเลคชัน หรือกระทั่งสำนักพิมพ์มติชนเคยเอานักรบไปออกแบบบูธและของพรีเมียมในงานหนังสืออยู่คราวหนึ่ง ข้าพเจ้าก็ดั้นด้นไปถ่ายเซลฟี่กับบูธ และทุ่มซื้อหนังสือภายในงานจนได้ของแถมพรีเมียมนั้นมา กระเป๋าสกรีนรูปฝีมือนักรบสีเหลืองอ๋อยก็ยังใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้

แน่นอนว่าเมื่อเมนของข้าพเจ้าออกผลงานในรูปแบบใหม่เป็นงานเขียน ข้าพเจ้าก็ตามไปชูป้ายไฟในผลงานเขียนที่ลงบนเว็บไซต์ The Cloud และพบว่าเมนของข้าพเจ้านั้นมีฝีไม้ลายมือในการเป็น Story telling อย่างยิ่ง หลังจากนั้นก็ได้พบเห็นการเล่าเรื่องของนักรบในช่องยูทูบของคุณฟาโรส  ก็ไม่นึกฝันว่าคนที่หน้าตาเรียบร้อยติดเนิร์ดๆ นี้จะเป็นคนเล่าเรื่องราวได้คมคายสนุกสนานมีสีสันยิ่งนัก 

เมื่อหนังสือรวมเล่มงานเขียนของเขาออกในงานหนังสือเมื่อต้นปี 2022 แน่นอนว่าข้าพเจ้าก็ปรี่ไปซื้อเป็นคนแรกๆ ของบูธ (เนื่องจากข้าพเจ้าไปออกบูธภายในงานนั้นด้วย) และอ่านจบภายในระยะเวลาที่งานหนังสือยังไม่จบ เพราะขายหนังสือไปและอ่านหนังสือเล่มนี้ไป จากนั้นเมื่อมีโอกาสเมื่อไรข้าพเจ้าก็จะสรรเสริญหนังสือเล่มนี้ให้กับผู้คนที่ข้าพเจ้าได้พบเจอ เอาไปโฆษณาตามสื่อต่างๆ รวมถึงการส่งเข้าชิงความน่าจะอ่าน จนมงลงและข้าพเจ้าก็ได้รับโอกาสให้เขียนอวยยศหยังสือเล่มนี้

หลังจากที่ติดตามอ่านอย่างกระท่อนกระแท่นในเว็บไซต์ เพราะคุณนักรบเขียนเอาตามรายสะดวก เมื่อได้อ่านแบบรวดเดียวยาวๆ จากการรวมเล่มเป็นเล่นแร่แปลภาพก็ให้สาแก่ใจอีช้อยยิ่งนัก รวมถึงมีบทข้อเขียนใหม่ๆ ที่น่าสนใจเข้ามาเติมเสริมทัพ 

เมื่ออ่านเป็นเล่มแล้วทำให้ข้าพเจ้านึกถึงหนังสือ…เรียกว่าวิทยานิพนธ์น่าจะดีกว่าอยู่สองเล่มที่เคยอ่านในสมัยร่ำเรียนปริญญาโทอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น นั่นคือ  Splendid Monarchy: Power and Pageantry in Modern Japan ของ T. Fujitani กับ Lords of Things: The Fashioning of the Siamese Monarchy’s Modern Image ของ Maurizio Pelleggi อันเป็นหนังสือที่มีวิธีคิดละม้ายคล้ายกับวิธีการ ‘มอง’ ของนักรบ รวมถึงความรุ่มรวยของจริตบางอย่างในการเขียน การหยิบยกตัวอย่างการศึกษาก็มีลักษณาการเหมือนกัน แต่วิธีการนำเสนอของนักรบนั้นย่อยลงมาให้อ่านง่ายกว่างานวิชาการ มีกลิ่นอายขนบของงานเขียนแบบจุลลดา ภักดีภูมินทร์ หรือศันสนีย์  วีรศิลป์ชัย นักเขียนแนวกอสซิปราชวงศ์เข้ามา จึงทำให้ประเด็นยากๆ ในหนังสือเล่มนี้อ่านได้สบายๆ ไม่ได้ปวดเศียรเวียนเกล้าปีนกระไดอ่าน

เมื่ออ่านไปแล้วก็จับได้ว่าตัวของนักรบนั้นคงจะมีความเนิร์ด ความกี๊กอยู่มากล้น ถึงสามารถจมจ่อมอยู่กับหลักฐานประวัติศาสตร์ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และเดาว่าเขาก็คงจะกำซาบซาบซ่านกับสิ่งที่เขาพบเจอ จนเอามาเป็นเชื้อไฟในการจุดเตาโหมกระพือ กวนกาละแมได้เป็นกะทะใบบัว ความโอตะของเขาในการเลือกภาพถ่ายมาเขียนเป็นเรื่องราวน่าจะเป็นภาพถ่ายซึ่งคนธรรมดาสามัญทั่วไปมองข้าม ดูเหมือนเป็นภาพถ่ายแคนดิด หรือภาพถ่ายที่ถ่ายพลาด แต่นักรบกลับเลือกหยิบสิ่งเหล่านั้นนำเอามา ‘มอง’ ใหม่และวิเคราะห์วิแคะได้อย่างน่าสนใจ

การจับปูดำขยำปูนา จับปูม้าคว้าปูทะเล จนได้ยำใหญ่รสกลมกล่อมภายในหนังสือเล่นแร่แปลภาพ แสดงให้เห็นถึงความเป็นพหูสูตของนักรบในหลายๆ ด้าน ทั้งประวัติศาสตร์ ศิลปะ วรรณคดี จิตวิทยา มานุษยวิทยา สังคมวิทยา วัฒนธรรม ทั้งของไทยและเทศ การหยิบจับเรื่องราวมายำขยำรวมกันของเขาผ่านแง่มุมที่คนอาจไม่เคยนึก ทำให้ต้องตบเข่าฉาดอยู่เป็นระยะๆ ในตอนอ่านแบบ “อุ๊แหม่…แหมแม้…”  ทำให้สมองแตกยอดอ่อนทางความคิดแตกแขนงไปได้เรื่อยๆ จนเกิดต้นไม้แห่งความคิดต้นใหม่ของเราเอง

สิ่งที่นักรบหยอดไว้ให้แก่วงการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยภายในเล่มนั่นก็คือ การไม่มองไทยหรือสยามเพียงเดี่ยวๆ ในโลก  โดยเฉพาะการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยแบบชาตินิยมที่เป็นต้นแบบของการศึกษาประวัติศาสตร์ภายในระบบโรงเรียน เน้นการมองไทยหรือสยามเป็นศูนย์กลางของโลก และเลือกพูดถึงโดยไม่โยงใยความสัมพันธ์เหตุการณ์ไปกับบริบทของสังคมโลก ทำให้การมองภาพของคนไทยหลงวังวนติดอยู่ในกับดักนี้ จริงอยู่ว่ามันอาจสร้างกระแสชาตินิยมได้ในยุคหนึ่ง แต่เมื่อถึงยุคที่เป็นโลกโลกาภิวัฒน์แล้ว การมอง ‘ชาติ’ เช่นนั้นถือเป็นเรื่องตกยุคโดยสิ้นเชิง เราจึงมีคนที่มีความคิดล้าสมัยอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองอย่างทุกวันนี้ โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม 

การโยงประวัติศาสตร์ไทยเข้ากับความรู้ประวัติศาสตร์ศิลป์ของตะวันตกของนักรบ น่าจะเป็นการปักหมุดของสยามในภูมิทัศน์ของโลกว่าอยู่ในตำแหน่งแห่งหนใด เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของสยามมีกระแสธารของโลกเข้าไปพัวพันเรื่องการบริโภค รสนิยม ซึ่งส่งผลกับประวัติศาสตร์สังคม มากกว่าจะอธิบายเพียงแค่อิทธิพลของลัทธิจักรวรรดินิยมของโลกตะวันตกอย่างที่เราเรียนๆ กันมา เราจะเห็นความพยายามใส่วงเล็บ ปี ค.ศ. หลังปี พ.ศ. มากมายภายในเล่ม…แม้จะเสียดายว่าไม่วงเล็บให้มันทุกที่ก็ตาม เพื่อจะบอกให้คนอ่านได้เอาบริบทสังคมสยามหรือไทยในยุคนั้นเข้าไปเทียบเคียงกับบริบทสังคมโลกด้วย

อีกสิ่งที่ชื่นชมในฐานะของนักศึกษาทางด้านวรรณคดี ก็คือการเลือกสรรงานวรรณคดีมาอ้างอิง โดยส่วนตัวแล้วเคยแค่นยิ้มให้กับงานวิจัยทางประวัติศาสตร์ที่ชอบเอางานวรรณคดีมาอ้างอิงแบบผิดฝาผิดตัว แต่สำหรับเล่มนี้ นักรบหยิบการอ้างอิงของงานวรรณคดีมาได้ถูกที่ถูกทาง จนแอบจดจำวิธีการเลือกสรรเพื่อจะนำมาใช้ในงานเขียนของตัวเองบ้าง …ใครได้อ่านงานเขียนของข้าพเจ้าในอนาคตแล้วเห็นวิธีการเช่นนี้ ก็เฉลยและสารภาพกันตรงนี้ว่าลอกเลียนแบบจากเล่นแร่แปลภาพของ นักรบ มูลมานัสมา 

รำอวยพรอ่อนหวานชมสวนจนเลี่ยนก็ขอติหนังสือเล่มนี้บ้าง เดี๋ยวจะหาว่าลำเอียงกะเท่เร่ ถ้าจะติก็ขอบอกว่า อยากให้หยิบยกเอาเรื่องของชาติตะวันออกเข้ามาเทียบเคียงในเรื่องให้มากกว่านี้อีกหน่อย กับอีกประการคือเนื้อหาหนังสือเล่มนี้น้อยไป ยังไม่จุใจ อยากอ่านมากกว่านี้ ควรออกเป็นซีรีส์ให้ยาวเป็นแฮร์รี่ พอตเตอร์เลยจักดียิ่ง… 




ดูรายชื่อหนังสือ Top Highlights ความน่าจะอ่าน 2022 เล่มอื่นๆ ได้ที่นี่

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save