ปรากฏการณ์ทางการเมืองสำคัญที่เกิดขึ้นอย่างที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง คือฉากประกาศสมานฉันท์กันระหว่างพรรคการเมืองที่อ้างโทนสีแดง กับฝั่งที่เคยเป็นศัตรูคู่อาฆาตเพื่อนำประเทศออกจากวิกฤต ทั้งที่คนอีกกลุ่มหนึ่งที่สมาทานเฉดสีส้มถูกกีดกันออกจากเวทีของอำนาจ สิ่งเหล่านี้เป็นผลพวงมาจากการเลือกตั้งทั่วไปที่พรรคโทนส้มกวาดที่นั่งเข้าป้ายเป็นอันดับ 1 อย่างที่ไม่มีใคร หรือแม้แต่พรรคเองก็อาจจะคาดไม่ถึง แต่การเล่นเกมคณิตศาสตร์ทางการเมือง สร้างพันธมิตรข้ามขั้วสลายขั้วจนจัดตั้งรัฐบาลได้ ไม่เพียงเป็นชัยชนะของนักเลือกตั้งเท่านั้น แต่กลายเป็นว่า พรรคในเสื้อคลุมสีแดงกลับได้รับไมตรีจากฝ่ายตรงข้ามที่เคยเกลียดกันยิ่งกว่าขี้ ทั้งที่พวกเขาเคยเป็น ‘ปีศาจ’ ในสายตาศัตรู แต่ในเวลานี้ ในสายตาพวกเขามองว่าเพราะมีปีศาจที่เลวร้ายกว่าผุดบังเกิดขึ้น การร่วมมือกับปีศาจที่ชั่วร้ายกว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้ว
นิยายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่โดดเด่นไม่มีใครเกิน อาจเป็นเล่มไหนไปไม่ได้นอกจาก สี่แผ่นดิน (2496) คึกฤทธิ์ ปราโมช ขายอุดมคติของฝ่ายขวา เล่าเรื่องแม่พลอยผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ก่อนที่จะรวมเล่มตีพิมพ์ ทำให้แม่พลอยได้ถือกำเนิดขึ้นกลายเป็น ‘เซเล็บ’ แห่งยุคสมัย เป็นที่รู้จักกันตามขนบของนิยายที่ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในยุคนั้นต่อเนื่องกันนับปี หากเทียบกับคนยุค 1980-2000 ก็อาจเทียบได้กับการ์ตูนญี่ปุ่นที่นักอ่านรอการมาถึงในนิตยสารรายสัปดาห์ สี่แผ่นดินจึงยึดครองพื้นที่ทางสังคมผ่าน สยามรัฐ หนังสือพิมพ์ที่เป็นกระบอกเสียงให้กับชาวกรุง ชนชั้นนำ และฝ่ายอนุรักษนิยม ก่อนจะรวมเล่มและขายดิบดีขายดี พิมพ์ซ้ำอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
ปีเดียวกับที่สี่แผ่นดินรวมเล่ม ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ในนามปากกา ‘เสนีย์ เสาวพงศ์’ ได้ประพันธ์เรื่อง ปีศาจ ขึ้นมาและตีพิมพ์ลงใน สยามสมัย อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ประเมินว่าขณะนั้นไม่ได้รับความนิยมมากนัก มิหนำซ้ำหลังจากตีพิมพ์ข้ามปีจนจบก็ไม่มีสำนักพิมพ์ไหนสนใจจะไปจัดพิมพ์เสียอีก[1] เช่นเดียวกับผลงานของฝ่ายซ้ายจำนวนมากในทศวรรษ 2490 พวกเขาจะได้กลับมาผลิบานเมื่อสังคมกระหายความรู้ใหม่ๆ เพื่อใช้เป็นอาวุธต่อกรกับเผด็จการและแนวคิดอนุรักษนิยมในอีกหลายปีต่อมา
ปีศาจ เกิดใหม่อย่างสง่างาม จากการจัดพิมพ์โดยคำสิงห์ ศรีนอก ในช่วงกึ่งพุทธกาล และเมื่อสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำการรัฐประหาร ปีศาจ ก็ถูกกวาดล้างออกจากแผงหนังสือไปอย่างสมศักดิ์ศรีในฐานะหนังสือที่มีข้อเขียนท้าทายทางการเมืองและถูกตีความว่าเป็นภัยความมั่นคง จนกลับมาตีพิมพ์อีกครั้งในปี 2514 ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนและนักศึกษากำลังเติบโตทางความคิดและกระหายความรู้เพื่อออกนอกกะลาของพวกตน
ปีศาจ เป็นหนึ่งในความนิยมนั้น นิยายเล่มนี้เป็นที่นิยมและรู้จักกันอย่างกว้างขวางผ่านการตีพิมพ์ซ้ำในนามสำนักพิมพ์ต่างๆ ทศวรรษ 2510 จะเป็นสำนักพิมพ์ที่เชื่อมกับขบวนการนักศึกษา ทศวรรษ 2520 เริ่มสัมพันธ์กับตลาดหนังสือที่สื่อสิ่งพิมพ์กำลังทวีบทบาทมากขึ้นและฝ่ายซ้ายกำลังจะปิดฉาก เห็นได้จากการตีพิมพ์ของสำนักพิมพ์ดอกหญ้า 4 ครั้ง (2524-2529) ส่วนทศวรรษ 2530 ต่อต้นทศวรรษ ก็ยังได้รับการตีพิมพ์อีก 6 ครั้ง ล่าสุดเป็นสำนักมติชนที่ตีพิมพ์ครั้งที่ 7 ในปี 2564 ที่เริ่มตีพิมพ์ในปี 2544 กระนั้นหากนับจากห้วงรัฐประหาร 2549 อันเป็นหมุดหมายแรกของการลงดาบปราบ ‘ปีศาจ’ นิยายนี้ก็ได้รับการตีพิมพ์มาแล้วถึง 5 ครั้ง[2]
แม่พลอยและครอบครัว เป็นภาพแทนของชนชั้นสูง ผู้ดีมีตระกูลที่รู้ที่ต่ำที่สูง ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ใจกลางหัวใจของประเทศอย่างวังหลวงและบ้านขุนนางชั้นสูงให้กับผู้อ่าน กลางทศวรรษ 2490 โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่จากคดีสวรรคตเมื่อปี 2489 ถูกนำมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับตอนจบของนิยาย สอดคล้องไปกับการปูเรื่องสร้างภาพตัวร้ายให้กับ ‘คณะราษฎร’ ที่นำความเปลี่ยนแปลงอันแสนวุ่นวายให้เกิดกับประเทศและการลดพระราชอำนาจ ไม่เพียงเท่านั้นแม้แต่ในบ้านของพลอยเอง ลูกชายแท้ๆ ของเธออย่าง ‘ตาอั้น’ นักเรียนที่อุตส่าห์ไปเรียนฝรั่งเศสก็ยังเป็นสมาชิกผู้ก่อการและเป็นตัวการหนึ่งที่สร้างความขัดแย้งในบ้าน
การตะโกนกล่าวหาในโรงหนังว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง” และการโจมตีรัฐบาลโดยใช้กรณีสวรรคตเป็นเครื่องมือ ถือว่าเป็นการดิสเครดิตนายกรัฐมนตรีครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ด้วยข้อหาที่หนักอึ้ง การใส่ความเช่นนี้ ปรีดีแทบจะกลายเป็น ‘ปีศาจ’ ในสายตาฝ่ายอนุรักษนิยมที่เชื่อข้อกล่าวหา ความไม่พอใจของกองทัพจากการที่รัฐบาลไม่เอาใจใส่จากการพ่ายแพ้ช่วงสงคราม ผนวกกับข้อหาทุจริตของนักการเมือง ทำให้เป็นชนวนไปสู่การรัฐประหารในปี 2490 อันเป็นต้นแบบของการรัฐประหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญและทำลายระบอบประชาธิปไตย อาจนับเป็นจุดเริ่มต้นของการปราบปีศาจ[3] ปรีดี พนมยงค์พยายามฟื้นอำนาจตนเองกลับมาหลังจากถูกยึดอำนาจไป แต่ก็พ่ายแพ้ และในที่สุดถูกตราหน้าว่าเป็นเพียง ‘กบฏวังหลวง’ ในปี 2492[4]
กระนั้นทศวรรษ 2490 ก็ยังเป็นพื้นที่เปิด ฝ่ายซ้ายมีโอกาสเผยแพร่แนวความคิดผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ มหาชน อันเป็นปากกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อักษรสาส์น วารสารรายเดือนที่เริ่มต้นในปี 2492[5] มีการรวมตัวของนักคิดนักเขียนฝ่ายก้าวหน้า-ฝ่ายซ้ายที่ให้ความสำคัญกับวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่มุ่งเน้นความสำคัญของสามัญชน ชาวบ้าน และชนบท สิ่งเหล่านี้อาจเป็นการสร้างความระคายเคืองไปจนถึงความรู้สึกคุกคามต่อพวกชนชั้นนำและพวกอนุรักษนิยม สำนวนว่า “ผู้ดีเดินตรอก ขี้ครอกเดินถนน” อาจจะช่วยตอกย้ำความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อความเปลี่ยนแปลงนี้
ในระดับนานาชาติ นักเขียนฝ่ายก้าวหน้าไทยได้สร้างสะพานเชื่อมโดยการร่วมรณรงค์สันติภาพเพื่อคัดค้านอาวุธปรมาณู มีการตั้งคณะกรรมการสันติภาพไทยที่เจริญ สืบแสง เป็นประธาน และกุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นรองประธาน เมื่อปี 2493 พวกเขายังขยับไปสู่การคัดค้านสงครามเกาหลีและการส่งทหารไทยไปรบ เช่นเดียวกับงานวรรณกรรมต่อต้านสงครามยุคนั้นอย่าง เพชฌฆาตบนเส้นขนานที่ 17 จาก อิศรา อมันตกุล ความรักของวัลยา ของเสนีย์ เสาวพงศ์ เขาตื่น โดยศรีบูรพา
แต่เหตุการณ์ก็รุนแรงขึ้น เมื่อแปลก พิบูลสงครามรัฐประหารตนเองปลายปี 2494 ซึ่งก็รู้ได้ว่าพื้นที่แห่งเสรีภาพได้หดแคบลงไปด้วย รัฐได้เซนเซอร์หนังสือพิมพ์ จนฝ่ายนักเขียน-นักหนังสือพิมพ์เคลื่อนไหวต่อต้าน ชูคำขวัญ “เสรีภาพของหนังสือพิมพ์คือเสรีภาพของประชาชน” แต่แล้วพวกเขาก็ถูกจับกุมในที่สุด เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2495 เป็นที่รู้จักกันในนาม ‘กบฏสันติภาพ’ ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่นิยาย ปีศาจ จะถือกำเนิดเพียงปีเดียว ปีเดียวกันยังมีกฎหมาย พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 อีกด้วย[6] นั่นได้ทำให้บรรณพิภพของฝ่ายซ้ายได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะจากตัวผู้แต่งหรือแวดวงนักอ่านเอง จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ผลงานปีศาจที่ตีพิมพ์ในสยามสมัยจนจบบริบูรณ์ในปี 2497 จะไม่มีผู้ใดนำไปตีพิมพ์เป็นเล่ม
สาย สีมา กับ พลอย วังหลวง: คุณค่าจากความสามารถ กับ กำพืดของคนมีหัวนอนปลายตีน
ต่างไปจากพลอย ‘สาย สีมา’ เป็นลูกชาวนาที่เกิดแถบชนบทใกล้ป่าชายเลน อาจสอดคล้องกับถิ่นเกิดของผู้เขียนแถบบางบ่อ สมุทรปราการ เที่ยง สีมา ผู้พ่อ ทำการบุกเบิกหักร้างถางพงมาเป็นที่ทำกินของตน เช่นเดียวกับชาวบ้านในละแวกนั้น สาย สีมาได้รับโอกาสจากการติดตามหลวงพี่เข้าไปเรียนในกรุงเทพฯ อันถือเป็นโอกาสพิเศษเพราะนอกจากทำให้เขาได้เรียนในกรุงเทพฯ แล้ว เขายังเรียนจบระดับปริญญาตรีและมีโอกาสว่าความในฐานะทนายเพราะเป็นผู้มีการศึกษานั้นเอง
สาย เติบโตเพราะความสามารถและการศึกษา ต่างกับแม่พลอยที่ได้โอกาสเข้าไปอยู่ในวังหลวงด้วยสายสัมพันธ์ของแม่ผู้เคยเป็น ‘ข้าเก่าเต่าเลี้ยง’ ของเจ้านายฝ่ายใน การอุปถัมภ์กันภายใต้สังกัดเป็นเรื่องปกติ การปฏิบัติให้เชื่องเชื่อฟังกับเจ้านาย ทั้งกาย วาจา ใจ ถือเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต การรู้จักที่ต่ำที่สูงเป็นคุณค่าที่พวกเขายึดถือ สายอยู่บนรอยต่อของความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เมื่อหลวงพี่ได้สึกออกมาแต่งงานกับคุณนายเจ้าที่ดิน สายถูกเชิญไปให้เป็นทนายเพื่อฟ้องร้องยึดที่ชาวนาที่ติดหนี้ เขาลำบากใจที่ต้องปฏิเสธเมื่อเขาพยายามยึดคุณค่าของความถูกต้องและมนุษยธรรม สวนทางกับบุญคุณของหลวงพี่ ความไร้น้ำใจและเนรคุณของสาย ทำให้สายกลายถูกเรียกว่าเป็น “อ้ายปีศาจ” [7]
ไม่เพียงชีวิตของสายที่แย้งให้เห็นว่า คุณค่าของคนอยู่ที่ความสามารถไม่ใช่ว่าเป็น ‘ลูกใคร’ ตามที่พ่อของรัชนี ขุนนางเก่าพยายามถามเพื่อค้นลึกถึงกำพืด กิ่งเทียน เพื่อนสนิทของรัชนี เป็นตัวแทนของสตรีในอุดมคติอีกคนที่จบไปเป็นครูมีทัศนะเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันจากเด็กนักเรียนว่า
“อันที่จริงเด็กทุกคนที่เกิดมา ความสามารถของมันสมองก็ไม่ค่อยจะยิ่งหย่อนกว่ากันเท่าไรนัก แต่มันขึ้นอยู่กับความเพียรพยายามส่วนตัวและโอกาสในชีวิตด้วยที่ทำให้เห็นคนเราเป็นต่อเป็นรองกันมากในชีวิต” [8]
บนเส้นเรื่องของรัชนี ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการยึดถือคุณค่าของคนตามชาติกำเนิด และความเสื่อมโทรมของชีวิตผู้หญิงชั้นสูง พี่สาวทั้งสองของรัชนีที่แต่งงานตามฐานะทางสังคมถูกเปรียบว่าเสมือนย้ายกรงขังจากที่บ้าน ไปสู่กรงขังแห่งใหม่เท่านั้นเอง ผิดกับรัชนีที่สามารถเลือกชีวิตได้เอง ไม่เช่นนั้นรัชนีอาจเดินรอยตามหม่อมราชวงศ์กีรติแห่งข้างหลังภาพก็เป็นได้
ข้อความส่วนหนึ่งของรัชนีจึงสื่อไปถึงผู้หญิงว่า การออกมาทำงานนอกบ้านจะทำให้พวกเธอสามารถพึ่งพาตัวเองได้ รัชนีเป็นตัวละครที่มีพัฒนาการอย่างน่าสนใจ คือเป็นสตรีที่เติบโตมาในครอบครัวคนมียศฐาบรรดาศักดิ์ และมีตระกูลรุนชาติ แม้วัยเด็กเธอจะพยายามใช้ชีวิตของตน แต่ก็ยังอยู่ในกรงขังของครอบครัว เธอค่อยๆ เปลี่ยนความคิดจากที่เชื่อมั่นในความดีของคนแบบไร้ขอบเขต มาค่อยๆ เข้าใจหัวอกคนทุกข์ยาก ข้อจำกัดของชีวิตที่ถูกเอารัดเอาเปรียบทางสังคม และเศรษฐกิจ ผ่านการสนทนากับสาย การแสดงออกของครอบครัวชั้นสูงของเธอที่กระทำกับสาย คนรักของเธอ จนนำรัชนีไปถึงที่สุดก็คือการเป็น ‘กบฏต่อครอบครัว’ [9] ในที่สุด น่าสนใจการเลือกใช้คำว่า ‘กบฏ’ ของผู้เขียน ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ปีศาจ ถูกเขียนขึ้นหลังจากเหตุ ‘กบฏสันติภาพ’ เพียงปีเดียว อาจมีความเชื่อมโยงกันตรงนี้อยู่
ขณะที่กิ่งเทียน ได้โอกาสเรียนสูงถึงมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่ลืมว่าแม่ที่บ้านยังต้องทำงานขายขนมเพื่อยังชีพ เธอตระหนักถึงความยากลำบากของแม่ได้จากการเปรียบเทียบมือที่นุ่มนิ่มของเธอกับมืออันแข็งกร้านของแม่ และเป็นกิ่งเทียนนี้เองที่มีคนรักไปรับราชการที่ภาคอีสานจนทำให้เธอมุ่งมั่นที่จะไปเป็นครูสอนเด็กๆ ในที่กันดารแห่งนั้น และยังเป็นต้นแบบให้กับรัชนีในปลายทางอีกด้วย
การปะทะกันด้วยคารมของสาย สีมา และบิดาของรัชนี อาจชี้ให้เห็นถึงคู่ขัดแย้งระหว่างสามัญชน กับผู้ดีมีตระกูลได้ดี การเรียกสายมาเชือดในงานเลี้ยงเพื่อชี้ให้เห็นว่าเขานั้นต้อยต่ำเพียงใด และไม่คู่ควรกับรัชนีแค่ไหน
“เขาว่าสมัยนี้เป็นสมัยเสรีภาพ สมัยนี้ใครๆ จะทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องอยู่กับร่องกับรอย โดยไม่ต้องด้วยขนบประเพณี คนที่ผุดเกิดมาจากป่าดงไหนก็อาจเป็นใหญ่เป็นโตได้ ฉันเห็นว่า เจ้าความคิดเหล่านี้ทำให้คนเลวลงมากกว่าที่จะดีขึ้น ทำให้คนเราไม่รู้จักเจียมกะลาหัว ไม่รู้จักฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ ไม่ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงา…เห็นเขาดีก็อยากจะได้ดีบ้างโดยไม่ได้สำนึกว่าความเป็นผู้ดีนั้นมาจากสายเลือด กาก็ย่อมเป็นกา และหงส์ก็จะต้องเป็นหงส์อยู่ตลอดไป” [10]
แต่นั่นกลับเปิดช่องให้สายโจมตีกลับ
“ผมมีความภูมิใจสูงสุดในวันนี้เองที่เกิดมาเป็นลูกชาวนา ผมไม่มีเหตุผลประการใดเลยที่จะน้อยอกน้อยใจในโชคชะตาที่มิได้เกิดมาในที่สูง…ผมไม่ได้เป็นผู้รุกรานท่านที่อยู่ในปราสาทงาช้างที่สูงส่ง แต่เมื่อท่านที่อยู่บนปราสาทนั้นถ่มน้ำลายลงมายังพื้นดิน ผมก็จำต้องเช็ดน้ำลายนั้นเสีย เพราะมันเป็นสิ่งปฏิกูล สำหรับท่านที่อยู่ในปราสาทนั้นไม่จำเป็นต้องแตะต้อง เพราะอย่างไรก็จะต้องเสื่อมสลายไปตามเวลา ท่านไม่สามารถจะยับยั้งความเปลี่ยนแปลงแห่งกาลเวลาได้ดอก” [11]
ผลของมันก็คือ ได้ทำให้รัชนีตัดสินใจว่าจะแตกหักกับครอบครัวของเธอ หรือในอีกด้าน คือการดึงแนวร่วมจากคนในอีกชนชั้นหนึ่งให้มาร่วมต่อสู้ไปด้วยกัน
ชนบทและชาวนาอันทุกข์ยาก กับเป้าหมายของฝ่ายซ้าย
นิยายนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่เมือง-ชนบท อย่างน่าสนใจ ด้วยการเล่าจากปากคนที่เคยอยู่ในชนบทผ่านตัวละครที่มีชีวิตช่วงแรกอยู่ในชนบทและย้ายเข้ามาสู่เขตเมืองด้วยกัน ดังนั้น ชนบทจึงถูกเน้นย้ำด้วยความสมจริงของสิ่งที่เป็นอยู่ ชนบทไม่ได้เป็นแค่ภาพถ่ายในโปสการ์ด หรือโปสเตอร์เชิญท่องเที่ยว แต่มีสภาพที่งดงามผสมผสานไปกับความไม่น่าอภิรมย์ เช่น
“…ชุกชุมไปด้วยยุงซึ่งในเวลาชิงพลบมันบินกันมาเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ๆ จนตบไม่ทัน ชาวบ้านซึ่งมีอยู่กระจัดกระจายห่างๆ ต้องใช้วิธีสุมควันเพื่อป้องกัน เขาจำได้ว่า เขาไม่ชอบทั้งยุงและควันไฟเพราะยุงกัดเจ็บ และควันไฟทำให้แสบตาและสำลักหายใจไม่ออก แต่เขาไม่อาจเลือกเอาอย่างอื่นได้” [12]
ยังไม่นับว่าสายต้องเผชิญหน้ากับลิงแสมแถบป่าโกงกางที่เข้ามาขโมยข้าวและกับไปกินระหว่างที่เขาไปตัดฟืน หรือการที่ชีวิตชาวบ้านถูกรุมล้อมด้วยงูหลากชนิด ไม่เพียงเท่านั้น ทุ่งนาอันงดงามก็ไม่ได้มีความหมายเพียงทิวทัศน์ การทำนาและเกี่ยวข้าวยังต้องแลกด้วยเลือด ดังที่เขาบรรยายมือของชาวนาว่า
“แม้มือทั้งหลายจะหยาบกระด้างและหนาเทอะทะด้วยการกรำงานหนักอยู่ชั่วนาตาปีก็ยังไม่วายถูกคมใบข้าวบาดจนเลือดไหล ในฟ่อนข้าวที่มัดไว้ยังมีเลือดแห้งๆ ของผู้เก็บเกี่ยวติดกรังอยู่” [13]
ในชนบทก็ไม่ได้มีเฉพาะชาวนา แต่ยังมีการเข้ามาของพ่อค้าอย่าง ‘เจ๊กเฮง’ ที่สามารถสั่งสมทุนได้จากการเปิดร้านขายของชำ เจ๊กเฮงจึงเป็นผู้นำความสัมพันธ์การผลิตแบบเมืองเข้ามาด้วย เขารับสินค้าจากในเมืองมาขาย จนสามารถยกระดับสถานะของตนเอง ขยายร้านออกไป รับ “ตกข้าว” ชาวนา (การจ่ายเงินหรือรับเชื่อสินค้าไว้แล้วจะหักออกจากข้าวหลังเก็บเกี่ยว) และเปิดกิจการรับซื้อข้าวจากชาวนาไปขายโรงสี[14]
แต่ชนบทก็ไม่สามารถหลีกหนีความเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะการเมืองระดับโลก หมู่บ้านของสายถูกกองทัพญี่ปุ่นเลือกใช้ทุ่งนาบางแห่งเป็นที่ตั้งกองทัพขนาดย่อม ชาวบ้านไม่น้อยถูกยึดที่นาเพื่อใช้ในกิจการทหาร ไม่นับว่ายังมีคนไม่น้อยได้โอกาสจนกลายเป็น ‘เศรษฐีสงคราม’ ความไม่พอใจของสายและผู้เขียน แสดงออกมาอย่างชัดเจนด้วยเรื่องเล่าที่ว่าด้วยการต่อต้านของชาวบ้าน โดยเฉพาะในนาม ‘ปีศาจพวกขโมย’ [15] ที่ลักข้าวของและเสบียงทหารญี่ปุ่นไป นั่นคือครั้งแรกที่เราได้เห็นคำว่า ‘ปีศาจ’ ที่น่าเศร้าแต่ก็ถือเป็นความภาคภูมิใจของหมู่บ้านคือ อ้วน เพื่อนสมัยเด็กของสีมาต้องพลีชีพขณะที่ดำน้ำเพื่อเจาะเรือ สร้างความเสียหายให้กับกองทัพญี่ปุ่น อ้วนถูกยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษประจำหมู่บ้านอย่างน่าภาคภูมิ
ความหมกมุ่นของชนบทเกิดขึ้นในช่วงที่ฝ่ายซ้ายสายหนึ่งยังมีเป้าหมายอยู่ในเขตเมืองและโรงงาน ตามแนวคิดของมาร์กซิสต์สายเลนินนิสต์ ต่างไปจากเป้าหมายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในช่วงหลังที่จะหันไปสมาทานแนวคิดแบบเหมาอิสต์ที่เชื่อเรื่องป่าล้อมเมือง ซึ่งเห็นว่าการขยายแนวร่วมจากชนบทน่าจะเป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จมากกว่าในวิถีการผลิตแบบเอเชีย แบบที่จีนและประธานเหมาเจ๋อตงแสดงให้เห็น ดังนั้น การอิงกับชนบทในฐานะพื้นที่ทางอุดมคติจึงยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย อย่างที่ผู้แต่งได้ทิ้งทางเดินข้างหน้าของรัชนี คนรักของสายที่มองเป้าหมายใหม่ของชีวิตหลังจากออกจากบ้านว่าจะลาออกจากงานที่เดิมอยู่ในธนาคาร เพื่อไปสอนหนังสืออยู่ที่ภาคอีสานอันห่างไกลจากเมืองหลวง
เพราะชนบทเป็นถิ่นฐานของคนไทยที่นับเป็นจำนวนได้มากกว่าคนในเขตเมือง คำตอบของแวว น้องสะใภ้ของสายน่าจะฉายให้เห็นสภาพทั่วไปของชาวนาว่า “ถึงดียังไงมันก็จนอยู่วันยังค่ำ” เช่นเดียวกับการพูดถึง “ความยากจนและความยากลำบากของชีวิต งานหนัก ความไม่เพียงพอและความไข้เจ็บ” [16] และยิ่งประเทศไทยไม่ได้เติบโตเป็นเมืองอุตสาหกรรม การจัดตั้งมวลชนในเขตเมืองก็ยิ่งห่างไกลความจริงที่จะประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะในนามสหภาพแรงงานหรือการสร้างพรรคฝ่ายซ้าย แค่การลงนามเพื่อสันติภาพยังถูกปราบปรามและถูกตั้งข้อหาเป็นกบฏ
สาย ได้พาผู้อ่านไปเป็นประจักษ์พยานของปัญหาที่ดินในชนบท ความขัดแย้งในมโนสำนึกของสายไม่เพียงแต่ครั้งที่ปฏิเสธอาจารย์ที่มีพระคุณในเรื่องฟ้องยึดที่ดินชาวบ้านเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปฏิบัติในนามของธนาคาร นายจ้างของเขา จนสายต้องยื่นลาออกเพื่อทำตามอุดมคติ การให้ความสำคัญกับชนบทยังขยายไปถึงการจัดความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับชาวบ้านด้วย นิคม อีกหนึ่งตัวละครที่เป็นคนรักของกิ่งเทียน ผู้ไปเป็นปลัดอำเภอที่อีสานได้พยายามให้ราษฎรมีความเท่าเทียมกันกับเขา ดังที่เขาบอกชาวบ้านว่า “นั่งข้างบนเถอะลุง เรามีสิทธิและค่าเท่าเทียมกันในการเป็นราษฎร และในฐานะเป็นข้าราชการ ผมเท่ากับเป็นคนใช้ของลุงนั่นเอง” แต่วิธีนี้ นิคมถูกมองว่าจะทำให้ชาวบ้านกระด้างกระเดื่องปกครองยาก “เขาปกครองกันสงบเรียบร้อยมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว” [17] เข้าใจว่าผู้แต่งในช่วงนั้นอาจยังไม่ข้อมูลเกี่ยวกับ ‘กบฏผู้มีบุญอีสาน‘ ที่เกิดขึ้นกลางทศวรรษ 2440 ร่วมกับความไม่สงบต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร มิเช่นนั้นเราอาจได้เห็นเรื่องราวที่น่าสนใจในปีศาจมากกว่านี้
ทศวรรษ 2490 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากสงคราม ในเขตชนบทและต่างจังหวัด นายทุนเริ่มสั่งสมที่ดินจนกลายเป็นเจ้าที่ดินผู้มั่งคั่ง เก็บรายได้จากชาวนา ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบผลผลิตหรือเงินสด ในท้องเรื่อง สายได้กล่าวว่า “คดีที่ขึ้นไปสู่ศาลแพ่งเวลานี้ ห้าสิบเปอร์เซ็นต์เป็นคดีเกี่ยวกับเรื่องฟ้องขับไล่”
ปัญหาความเดือดร้อนของชาวนาเป็นที่รับรู้ดีในหมู่นักการเมือง ในที่สุดนำไปสู่การออกกฎหมายที่ดินที่ชื่อ ‘ประมวลกฎหมายที่ดิน ปี 2497’ อันเป็นตัวบทที่จำกัดการถือครองที่ดินของปัจเจกตามประเภทต่างๆ กฎหมายดังกล่าวอายุสั้นมาก เพราะมาตราจำกัดการถือครองที่ดินถูกเพิกถอนออกไปสมัยเผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เอื้อให้กับเศรษฐกิจเสรีนิยมและนายทุน
แม้บางช่วงบางตอนเนื้อหาจะมีลักษณะสั่งสอนอยู่บ้างก็เพื่อที่จะโต้แย้งกับแนวคิดอนุรักษนิยมที่ฝังรากอยู่บนความเชื่อและศรัทธา แต่กระนั้นผู้เขียนก็ตอกย้ำผ่านคำพูดของสายว่า
“คุณอย่าเชื่อโดยไม่มีเหตุผล อย่าเชื่อเพราะลำเอียงด้วยประการใดๆ เราอยู่ในยุคของเหตุผล เราควรใช้วิจารณญาณใคร่ครวญดูสิ่งต่างๆ อย่าเชื่อเพราะบางคนเขาว่าเช่นนั้นมาแต่โบรมโบราณอย่างบรรดานักค้าของเก่าทั้งหลาย ทั้งๆ ที่การกระทำเช่นนั้นเป็นการง่ายและปลอดภัยกว่า” [18]
บทสรุปของนิยายไม่ใช่การได้กันของเจ้าหญิงและเจ้าชาย หรือตัวนางกับตัวพระตามขนบนิยายพาฝันในยุคใกล้เคียงกันอย่างบ้านทรายทอง, ปริศนา หรือ นิกกับพิม หรือการทิ้งปมโศกนาฏกรรมเพื่อโจมตีศัตรูทางอุดมการณ์แบบสี่แผ่นดิน แต่เป็นการชี้ชวนให้ผู้อ่านจินตนาการถึงสังคมอันเป็นอุดมคติว่าผู้อ่านจะเลือกเป็นใครระหว่างสาย สีมา ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาชนด้วยวิชาชีพทนายที่เขามีอยู่ในเมืองและพื้นที่ใกล้เคียง หรือจะเอาอย่างกิ่งเทียนและรัชนีที่ปักธงว่า คำตอบอยู่ที่ชนบท
ปีศาจในการเมืองไทย
ปรีดีจากไปในปี 2526 หลังจากการล่มสลายของ พคท. ไม่นาน ความตายของเขาพร้อมกับคู่ต่อกรของรัฐที่ยิ่งใหญ่ที่สุดทำให้ความน่ากลัวของปีศาจค่อยๆ จางหายไป ในทางตรงกันข้าม ปรีดีถูกนำมาพูดถึงและยกย่องอีกครั้งโดยประชาคมธรรมศาสตร์[19] สังคมไทยจึงห่างหายจากปีศาจการเมืองไปพักใหญ่
จะด้วยอะไรก็แล้วแต่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ในฐานะตัวบุคคล และกลุ่มการเมืองเฉดสีแดง กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ท้าทายระบอบกษัตริย์โดยกลุ่มอนุรักษนิยมเฉดเหลือง ช่วงปลายทศวรรษ 2540 จนทำให้เกิดขบวนการทางการเมืองที่ใช้ประเด็น ‘ล้มเจ้า’ โจมตี พวกเขาจึงไม่ต่างอะไรกับ ‘ปีศาจ’ ตนใหม่ ทั้งที่ทักษิณนั้นห่างไกลจากคำว่าฝ่ายซ้ายมากมาย การโค่นล้มทักษิณและรัฐบาลไทยรักไทยด้วยม็อบที่ออกบัตรเชิญรัฐประหาร 2549 ถือเป็นปฐมบทความขัดแย้งและกระบวนการสร้างปีศาจให้กับทักษิณ และกลุ่มคนเสื้อแดงในเวลาต่อมา
จนล่าสุดดังที่กล่าวมาข้างต้น การรามือและประนีประนอมหลังเลือกตั้ง ราวกับจะยุติความขัดแย้งในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ และเหมือนกับว่าสถานะ ‘ปีศาจ’ ของทักษิณกำลังจะถูกถอดถอนออกไปเช่นกัน โดยที่มีปีศาจตนใหม่รอจะถูกปราบและกวาดล้างต่อไป และปีศาจสีส้มที่มาแทนปีศาจสีแดงนั้น นับวันจะเป็นหอกข้างแคร่ที่แหลมคมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในบทบาทการเมืองในสภา นอกสภา และการตั้งคำถามที่พยายามทลายเพดานเดิมๆ ที่ท้าทายอำนาจทางวัฒนธรรมลำดับชั้น
คำพูดของขุนนางเก่าอย่างพ่อของรัชนีอาจสะท้อนความในใจของชนชั้นนำได้เป็นอย่างดี ปีศาจเหล่านี้จึงเป็นทั้งมายาภาพที่ฝ่ายอนุรักษนิยมสร้างขึ้น และเป็นทั้งจิตวิญญาณที่ท้าทายความไม่ชอบมาพากลในสังคมไทยที่ดำเนินเรื่อยมาอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น
“ไอ้ปีศาจตัวนี้มันทำให้ฉันนอนไม่หลับ…ฉันนอนไม่หลับ ไอ้ปีศาจตัวนี้มันหลอกหลอนฉันอยู่ทุกคืนวัน” [20]
[1] อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. “ผมเป็นปีศาจที่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา” เมื่อสาย สีมา มีอันต้องไปปราบคอมมิวนิสต์”. The 101.World. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2566 จาก https://www.the101.world/sai-seema-of-peesat/ (4 มิถุนายน 2566)
[2] เสนีย์ เสาวพงศ์, ปีศาจ (พิมพ์ครั้งที่ 7, กรุงเทพฯ : มติชน, 2564), หน้า 363
[3] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามครั้งที่ 2 (พ.ศ.2491-2500) (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2550), หน้า 50-63, 67-80
[4] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 183-190
[5] ธิกานต์ ศรีนารา, การเมืองวัฒนธรรมของซ้ายไทย หนังสือพิมพ์ใต้ดิน, ปัญญาชนก้าวหน้า, วรรณกรรมเพื่อชีวิตและสงครามความทรงจำ (กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2566), หน้า 198-199
[6] เสถียร จันทิมาธร, สายธารวรรณกรรมเพื่อชีวิตของไทย (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2566), หน้า 271-273
[7] เสนีย์ เสาวพงศ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 170
[8] เสนีย์ เสาวพงศ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 195
[9] เสนีย์ เสาวพงศ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 309
[10] เสนีย์ เสาวพงศ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 302
[11] เสนีย์ เสาวพงศ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 305
[12] เสนีย์ เสาวพงศ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 53
[13] เสนีย์ เสาวพงศ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 62
[14] เสนีย์ เสาวพงศ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 63
[15] เสนีย์ เสาวพงศ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 161
[16] เสนีย์ เสาวพงศ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 128
[17] เสนีย์ เสาวพงศ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 175
[18] เสนีย์ เสาวพงศ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 233
[19] วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. ” “คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ” เบื้องหลังการแปรอักษรครั้งประวัติศาสตร์”. สืบค้นเมื่อ 6 กันยายน 2566 จาก https://pridi.or.th/th/content/2021/01/588 (29 มกราคม 2564)
[20] เสนีย์ เสาวพงศ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 257-258