fbpx
ปรัชญาภาษี : จาก ‘ภาษีคือการปล้น’ สู่ ‘เครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ’

ปรัชญาภาษี : จาก ‘ภาษีคือการปล้น’ สู่ ‘เครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ’

คุณเคยได้ยินคำพูดของฝรั่งว่า taxation as theft หรือการเก็บภาษีคือการปล้นบ้างไหมครับ

ในมุมมองของรัฐไทย การจ่ายภาษีไม่ใช่การ ‘ปล้น’ เพราะกฎหมายไทยระบุไว้ว่า การเสียภาษีคือ ‘หน้าที่’ ของประชาชนที่เข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษี ซึ่ง ‘หน้าที่’ ที่ว่า มีตั้งแต่การยื่นแบบฯ ไปจนถึงการชำระภาษี หากไม่ปฏิบัติตามก็จะมี ‘โทษ’ ทั้งทางแพ่งและทางอาญา

ที่น่าสนใจก็คือ คำว่า ‘ภาษี’ นั้น บางแห่งให้ความหมายเอาไว้ว่า ‘เงินที่รัฐ ‘บังคับจัดเก็บ’ จากบุคคลโดยรัฐไม่ผูกพันที่จะจ่ายผลตอบแทนโดยตรงให้แก่ผู้เสียภาษีอากร’

คำว่า ‘บังคับจัดเก็บ’ นี่แหละครับ ที่น่าสนใจ!

ในแง่ของกฎหมาย การเสียภาษีไม่ใช่การ ‘ปล้น’ เพราะรัฐบัญญัติไว้ว่านี่คือ ‘หน้าที่พื้นฐาน’ ที่คนต้องทำ แบบเดียวกับเกิดมาเป็น ‘ชายไทย’ ก็มี ‘หน้าที่’ ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร เมื่อถูกกำหนดให้เป็น ‘หน้าที่’ เสียแล้ว ใครจะกล้ามาบอกว่าเป็นการ ‘ปล้น’ ได้เล่า ไม่ว่าจะปล้นเวลาในชีวิตช่วงที่ดีที่สุด เพื่อเอาไปใช้จ่ายกับการเป็นทหารเกณฑ์ หรือปล้นสมบัติส่วนตัวนำไปใช้จ่ายในฐานะสมบัติของชาติก็ตามที

แต่ในทางปรัชญาการเมือง คำพูดที่ว่า taxation as theft หรือการเก็บภาษีเป็นการปล้น เป็นคำพูดที่เป็นเรื่องปกติและ ‘น่าคิด’ เอามากๆ มีปรัชญาการเมืองสองสามแบบที่มีความเห็นร่วมกันในเรื่องนี้แฝงอยู่ เช่น ปรัชญาการเมืองแบบ voluntaryism (พูดหยาบๆ คือเห็นว่าทุกอย่างในสังคมควรจะเกิดขึ้นโดยการอาสาหรือสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ) หรือกลุ่ม minarchism (คือกลุ่มอนาธิปไตยที่ไม่ถึงขั้นบอกว่าไม่เอารัฐเลย แต่รัฐหรือรัฐบาลที่มีอยู่ควรถูกจำกัดมากๆ คือมีบทบาทแค่จัดหาสาธารณูปโภค เช่น น้ำ ไฟ ฯลฯ ให้ประชาชนเท่านั้น ฟังดูคล้ายๆ กับรัฐบาลเป็นนิติบุคคลของคอนโดฯ ยังไงชอบกลนะครับ) รวมไปถึงกลุ่มอื่นๆ อีกหลายกลุ่ม เช่น anarcho-capitalism คือกลุ่มที่ต่อต้านการมีรัฐ เพราะเห็นว่าธุรกิจควรอยู่ในมือเอกชน ฯลฯ

เวลาพูดว่า taxation as theft หลายคนอาจนึกถึงรัฐบาลเผด็จการที่เลวทราม คอยกดขี่ข่มเหงผู้คน เอาหอกดาบมาทิ่มแทงบังคับเก็บส่วยเก็บภาษี หลายคนคุ้นกับภาพของ ‘คนเก็บภาษี’ แบบในพระคัมภีร์ไบเบิล ที่ชาวยิวยุคโน้นเห็นว่าเป็นคนเลวชั่ว เหยียดคนเก็บภาษีว่าไม่มีอะไรดี จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับโสเภณี

ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะในยุคก่อนโน้นไล่มาจนถึงยุคฟิวดัล ภาษี ส่วย ค่าบำรุง ฯลฯ ที่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ ล้วนแล้วแต่เป็นการเก็บจาก ‘คนจน’ ทั้งนั้น และอยู่ในรูปของการ ‘บังคับจัดเก็บ’ ซึ่งในหลายกรณีก็เป็นการบังคับด้วยกำลัง ดังนั้น ในประวัติศาสตร์ (โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ยุโรป) ภาษีจึงไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากสิ่งที่ ‘รีด’ จากคนจนเพื่อนำมาบำเรอขุนนางหรือกษัตริย์ (ฝรั่งบอกว่า Taxes on the poor supported the nobility.) เพื่อให้เหล่าคนชั้นสูงมีความเป็นอยู่ที่ดี พร้อมคำสัญญาว่าจะช่วย ‘ปกป้องดูแล’ คนที่ถูกอุปโลกน์ให้เป็นไพร่ทาสบริวารเหล่านี้ และบริวารก็ถูกปลูกฝังให้มีสำนึกว่าตัวเองเป็นเพียง ‘ข้าติดที่ดิน’ ที่มีบุญคุณของกษัตริย์และขุนนางคอยค้ำคออยู่ ภาษียุคเก่าจึงเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ ทั้งการแบ่งปันผลผลิต การถูกเกณฑ์แรงงาน การถูกเกณฑ์ไปเป็นไพร่พล ฯลฯ สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องของการใช้อำนาจทางตรงอย่างแท้จริง

แต่ภาษียุคใหม่ไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว ปรัชญาอย่างหนึ่งของภาษียุคใหม่ก็คือ – รัฐมี ‘พันธสัญญา’ ที่จะเก็บภาษีเพื่อนำไปสร้าง ‘ระบบสวัสดิการสังคม’ ในรูปแบบต่างๆ เพื่อช่วยเหลือคนจนและคนด้อยโอกาส รวมถึงการ ‘กระตุ้นการใช้จ่าย’ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศ (ซึ่งก็คือเศรษฐกิจของ ‘คนส่วนใหญ่’) ดำเนินไปได้ด้วยดี ไม่ใช่เก็บไปใช้เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น พูดง่ายๆ ก็คือ มัน ‘กลับข้าง’ กับระบบภาษียุคโบราณเต่าล้านปีนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ต่อให้เป็นปรัชญาภาษีแบบใหม่นี้ นักปรัชญาการเมืองหลายสายก็ยังมองว่ามันคือ taxation as theft อยู่ดี

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?

สมมุติว่าคุณมีเพื่อนคนหนึ่งชื่อ A วันหนึ่งคุณกับ A เดินไปเจอเพื่อนอีกคนหนึ่ง สมมุติว่าชื่อ B ปรากฏว่า B ยากจนมาก ทำอะไรก็ไม่ประสบความสำเร็จสักอย่าง คุณสงสาร B มาก และคิดว่าควรจะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้ B คุณจึงหยิบเงินออกจากกระเป๋าส่งให้ B ไปพันบาท

จากนั้นคุณก็หันไปมองหน้า A ปรากฏว่า A ทำท่าไม่สนใจ เพราะเขาไม่อยากเอาเงินของตัวเองให้ B แม้ว่าตัวเองจะร่ำรวยกว่า แต่เขาไม่คิดว่าการช่วยเหลือ B เป็นหน้าที่ของเขา

คำถามก็คือ – คุณจะทำอย่างไรกับ A ดีครับ?

คุณอาจจะรู้สึกว่า ไอ้เจ้า A นี่ทำไมมันขี้เหนียวอย่างนี้ (วะ) คุณอาจหว่านล้อมแกมบังคับ แต่ A ก็ยังเฉย ในที่สุด คุณก็เลยใช้กำลัง ‘บังคับ’ A เพื่อหยิบเงินออกจากกระเป๋า A มาสู่กระเป๋า B แต่คำถามก็คือ – แม้เป็นความปรารถนาดีอยากช่วย B (หรือคนจนคนด้อยโอกาสโดยทั่วไป) การทำอย่างนี้ถือเป็นการ ‘ปล้น’ A หรือเปล่า

หรือถ้าลองขยายใหญ่ขึ้นมาอีกนิด คราวนี้ให้คุณกับ A เดินมากับเพื่อนรวมแล้วสิบคน พอมาเจอ B คุณอยากช่วย B ก็เลยให้เพื่อนๆ ช่วยกันโหวตว่าคนทั้งกลุ่มควรจะช่วย B หรือเปล่า ปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่โหวตว่าควรช่วย ผลลัพธ์ก็คือทุกคนต้องควักกระเป๋าเอาเงินมาช่วย B รวมถึง A และคนที่ไม่ได้โหวตด้วย เพราะทุกคนในกลุ่มเห็นด้วยกับระบบการโหวต

แต่คำถามก็คือ – แม้ผ่านกระบวนการโหวตที่ ‘เป็นประชาธิปไตย’ แล้ว แต่กระบวนการที่เกิดขึ้นต่างอะไรกับการที่คุณใช้กำลังบังคับ A ตั้งแต่ต้นเล่า เพราะโดยเนื้อหาก็ยังเป็นการ ‘บังคับ’ เหมือนกัน เพียงแต่บังคับด้วยระบอบและวิธีการที่ต่างกันออกไปเท่านั้นเอง อย่างหนึ่งเป็นการบังคับทางตรง อีกอย่างหนึ่งเป็นการบังคับทางอ้อม

โดยนัยนี้ แม้ว่าจะ ‘ยัง’ ไม่ได้มีกระบวนการทุจริตอะไรเลยระหว่างทาง คือเงินที่เก็บจากคุณและเก็บจาก A นั้น ถูกนำไปให้ B เต็มเม็ดเต็มหน่วย (ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในประเทศเจริญแล้วที่มีการคอร์รัปชันน้อยยิ่งกว่าน้อย) แต่นักปรัชญาการเมืองบางสายก็ยังมองว่ามันคือ ‘การปล้น’ อยู่ดีนั่นแหละ

แล้วลองนึกดูสิครับว่าถ้าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในสังคมด้อยพัฒนาที่มีการฉ้อฉลอยู่ตลอดเวลา หรือเกิดในสังคมเผด็จการที่เราตรวจสอบไม่ได้ แล้วมีคนแอบมิดเม้มเงินที่ควรจะเอาไปให้ B เวลาส่งเงินผ่านกันล่ะ – มันจะไม่ใช่การ ‘ปล้นซ้อนปล้น’ หรอกหรือ

ยิ่งถ้าเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยการ ‘ดีล’ ลับหลังประชาชน จนทำให้เกิดประชาธิปไตยปลอมแบบตรวจสอบไม่ได้ แถมยังอื้อฉาวไปด้วยข่าวทุจริตคดโกงเงินเกิดขึ้นเต็มไปหมดในหลายระดับ จะเหลือความหวังอะไรให้กับการเสียภาษีอีกเล่า?

ระบบภาษีสมัยใหม่ (modern taxation systems) ในประเทศที่ ‘เจริญ’ แล้ว และเป็นความเจริญที่ ‘ลึก’ ลงไปถึงระดับวัฒนธรรม เราจะพบว่ารัฐบาลเก็บภาษีไปเพื่อนำเงินไปใช้หลายเป้าหมาย เป้าหมายแรกที่ทุกคนคงเห็นพ้องต้องกันแน่ๆ ก็คือการใช้ภาษีเหล่านี้ไป ‘จ้าง’ คนทำงานในรัฐบาล ซึ่งก็มีทั้งข้าราชการประจำและข้าราชการการเมือง ซึ่งถ้าเราคิดอย่างมืออาชีพ คนเหล่านี้ก็คือ ‘ลูกจ้าง’ ของประชาชน และลูกจ้างก็ไม่ใช่ไพร่ทาสหรือเจ้าขุนมูลนาย จึงไม่ได้มีฐานะต้อยต่ำหรือสูงส่งกว่าประชาชน

เป้าหมายของการเก็บภาษีอีกด้านหนึ่งก็คือการนำเงินภาษีเหล่านั้นไปสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งก็ต้องบอกคุณไว้ตรงนี้ด้วยนะครับ ว่าสาธารณูปโภคต่างๆ นั้น ไม่ได้เป็นไปตามใจของผู้เสียภาษีทุกคนหรอก แต่เป็นไปตามรสนิยม การให้คุณค่า องค์ความรู้ในหัว ฯลฯ ของผู้ที่ทำหน้าที่ ‘ใช้จ่ายภาษี’ ณ ขณะนั้น ซึ่งถ้าเป็นสังคมประชาธิปไตยที่ผ่านการเลือกตั้งมา – ก็อาจสะท้อนถึงความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้

แต่อีกเป้าหมายสำคัญของการจัดเก็บภาษีที่ ‘แหลมคม’ มากขึ้นเรื่อยๆ และหลายคนอาจไม่เคยนึกถึงภาษีในแง่มุมนี้ – ก็คือการใช้ภาษีในฐานะเป็น ‘เครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ’ ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นดีเบตร้อนแรงในสหรัฐอเมริกาในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะมีหลายนโยบายภาษีที่โดยฉากหน้าดูดี แต่พอเจาะลึกลงไปเบื้องหลัง เราจะเห็นได้เลยว่าเอื้อประโยชน์ให้กับคนรวยหรือคนที่อยู่ด้านบนของระบบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับการลดหย่อนต่างๆ

ถ้าไม่หลงยุคติดกับอยู่ในสมัยฟิวดัลจนโงหัวไม่ขึ้น ผู้บริหารบ้านเมืองและข้าราชการทั้งปวงต้องเข้าใจให้ได้ – ว่าภาษีไม่ใช่เงินที่ ‘คนจน’ หรือ ‘คนด้อยอำนาจ’ ต้อง ‘ถูกบังคับจัดเก็บ’ แล้วเอามาให้เจ้าขุนมูลนายในรัฐราชการใช้ได้ตามใจชอบ จนเกิด ‘สำนึกทุจริต’ ฝังเป็นฐานทางวัฒนธรรมยุคแล้วยุคเล่า แต่ควรนำมาใช้เป็น ‘เครื่องมือ’ ในการลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่เอาไปใช้ ‘บำเรอ’ ใครหน้าไหนเพื่อถ่างกว้างความเหลื่อมล้ำให้แตกต่างห่างแหกมากยิ่งขึ้น

แล้วเราควรเก็บภาษีแบบไหนดี?

วิธีแยกแยะภาษีนั้นมีหลายแบบ แบบหนึ่งก็คือการแยกภาษีคร่าวๆ ออกเป็นสามแบบ คือภาษีก้าวหน้า (progressive Tax) ภาษีแบบสัดส่วน (proportional Tax) และภาษีถดถอย (regressive Tax)

ภาษีก้าวหน้านี่ เราน่าจะคุ้นเคยกันดีอยู่ เพราะมันคือภาษีที่เก็บในอัตราก้าวหน้า พูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งมีรายได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งต้องจ่ายภาษีมากเท่านั้น ส่วนภาษีแบบคงที่ (propotional tax) คือการเก็บภาษีเท่ากันหมด ตัวอย่างของภาษีประเภทนี้ก็คือภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ไม่ว่าจะรวยหรือจนก็ต้องจ่าย 7% เท่ากันหมด ยิ่งใช้จ่ายมาก ก็ยิ่งต้องเสียภาษีแบบนี้มาก

ภาษีประเภท proportional tax นี้ ถูกวิจารณ์ว่าเป็นภาษีที่มีแนวคิด ‘เก่า’ เพราะมันไม่ใช่ภาษีที่มีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเลย เนื่องจากคนจนต้องเสียภาษีเท่ากับคนรวย ซึ่งถ้าดูเทียบกับฐานะ คนจนอาจเสียภาษีเป็นสัดส่วนที่มากกว่าเมื่อเทียบกับรายได้ เช่น เวลาซื้อกระดาษทิชชู่หนึ่งม้วน สมมุติว่าเสียภาษีม้วนละ 1 บาท เท่ากัน ถ้าคนคนนั้นมีรายได้ 10 บาท ก็เท่ากับเสีย 10% ของรายได้ แต่ถ้าคนคนนั้นมีรายได้ 100 บาท ก็จะเสียภาษีแค่ 1% ของรายได้เท่านั้น ดังนั้นภาษีแบบนี้จึงไม่ได้มีแนวคิดที่จะช่วย ‘ลดความเหลื่อมล้ำ’ แต่ไปเข้าข่ายเป้าหมายแบบอื่นๆ ซึ่งหลักๆ ก็คือการหารายได้เข้ารัฐ

ภาษีแบบที่สามนั้นน่าสนใจมาก เป็นภาษีที่มีการพูดถึงและถกเถียงกันมานาน แต่ไม่ค่อยมีการใช้กันอย่างเต็มรูปเท่าไหร่ ภาษีนี้เรียกว่า ‘ภาษีถดถอย’ (regressive tax) หรือในบางที่ก็เรียกว่า negative income tax

ถ้าเป็นภาษีก้าวหน้า คนที่มีรายได้มากก็จะต้องเสียมากใช่ไหมครับ แต่ภาษีแบบถดถอยหรือ ‘ภาษีติดลบ’ นี่ ไม่ได้แปลว่ามีรายได้น้อยแล้วจะเสียภาษีน้อยเท่านั้นนะครับ ในบางประเทศ (เช่นของไทยเรา) คนที่มีรายได้ต่ำกว่าระดับที่กำหนด จะไม่ต้องเสียภาษีเลย แต่แนวคิดเรื่องนี้ไปไกลกว่าการไม่เสียภาษีอีกนะครับ เพราะบางคน (เช่นข้อเสนอของนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญอย่าง มิลตัน ฟรีดแมน) เสนอว่าถ้าใครมีรายได้ต่ำลงไปอีก คือต่ำมากๆ ก็ควรจะต้องจ่ายภาษีแบบ ‘ติดลบ’ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ รัฐควรต้องจ่ายเงินให้คนเหล่านี้แทนที่จะไปเก็บจากเขา

ข้อเสนอแบบนี้ถูกโจมตีแน่ๆ จากคนที่บอกว่าถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีใครทำงานเลยสิ เพราะทุกคนก็คงอยากนั่งงอมืองอเท้ารอให้รัฐจ่ายเงินให้ทั้งนั้น แต่มีการคิดโมเดลภาษีแบบนี้เอาไว้อย่างละเอียดลออมากมายหลายแห่งเลยนะครับ เพื่อหาว่าอัตราที่รัฐควรจะจ่ายออกมานั้นเป็นเท่าไหร่ จะได้ไม่ไปกระทบแรงจูงใจในการที่คนจะทำงาน หรือควรจะนำภาษีแบบถดถอยนี้ไปประกอบร่างเข้ากับอัตราภาษีแบบอื่นๆ อย่างไรบ้าง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดออกมา

นอกจากภาษีแบบก้าวหน้าหรือถดถอย ซึ่งจริงๆ เป็นภาษีเงินได้ (income tax) แล้ว ยังมีการใช้ภาษีอีกรูปแบบหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำของคนด้วย นั่นก็คือภาษีที่เรียกว่า ‘ภาษีมรดก’ (inheritance tax) หรือ ‘ภาษีที่ดิน’ (estate tax) ซึ่งไม่บอกก็คงจะรู้นะครับ ว่าการเก็บภาษีแบบนี้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ตั้งแต่ต้นทาง เพราะมันทำให้คนเริ่มต้นชีวิตด้วยต้นทุนที่มีระดับพอๆ กัน ไม่ใช่มีใครได้มรดกมากมายมหาศาลจน ‘ได้เปรียบ’ และ ‘สืบทอดความได้เปรียบ’ ผ่านการสืบสายตระกูลมากเกินไป

ด้วยเหตุนี้ ถ้าเราอยากให้คำพูดที่ว่า taxation as theft หรือ ‘ภาษีคือการปล้น’ ไม่เป็นจริง – ก็ควรคิดถึง ‘ปรัชญาภาษี’ แบบใหม่ ที่จัดการให้ ‘ภาษี’ เป็น ‘เครื่องมือหลัก’ ในการลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่ยังติดค้างถูกขังอยู่ในโลกโบราณ ประเภททุกคนมี ‘หน้าที่’ ต้องเสียภาษีอย่างเคร่งครัด แต่ไม่ได้ออกแบบกลไกภาษีให้เกื้อหนุนคนทุกคน จนอยู่ในสภาพ ‘เก็บเงินคนจนไปอุดหนุนผู้มีอำนาจ’ อย่างที่เคยเป็นในยุคฟิวดัล

เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นมากเข้า สักวันหนึ่งก็คงมีคนลุกขึ้นมาตั้งคำถามว่า – ภาษีมีไว้ทำไม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save