fbpx
พ่อแม่แบบไหนเสียใจที่มีลูก

พ่อแม่แบบไหนเสียใจที่มีลูก

ครั้งหนึ่ง ผมเคยคุยกับคุณลุงแท็กซี่คนหนึ่ง เขาบอกผมว่า ปีหน้าจะเลิกขับแท็กซี่แล้ว เพราะลูกคนเล็กกำลังจะเรียนจบมหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่การเลิกขับแท็กซี่ แต่ประเด็นสำคัญของคุณลุงคือ – ถ้าย้อนกลับไปเลือกได้ จะไม่มีลูก

“ไม่ใช่ว่าลูกไม่ดีนะ” คุณลุงบอก ลูกคุณลุงดีทุกคน ตั้งใจเรียน เรียนจบ ขยันทำงาน แต่คุณลุงบอกว่าตอนที่ตัดสินใจแต่งงานมีลูกนั้น “เรามันเด็กเกินไป โง่เกินไป ไม่รู้เลยว่า ชีวิตที่ไม่มีลูก ไม่มีพันธะนั้นดีกว่ากันมาก”

สำหรับคุณลุง พันธะที่ว่าไม่ได้หมายถึงการต้องใช้เงินเลี้ยงดูลูก แต่หมายรวมถึงทุกสิ่ง

“80% ของชีวิต คือการยกให้ลูก” คุณลุงว่า เขาไม่ได้พูดถึงภรรยา และผมก็ไม่ได้ถาม

“นับตั้งแต่มีลูก ผมก็แทบไม่เคยมีชีวิตเป็นของตัวเองเลย”

คุณลุงพูดถึงการได้ออกเดินทางตระเวนโลก ความใฝ่ฝัน การใช้เวลาอยู่กับตัวเอง แล้วก็รำพึงว่า “แต่ตอนนี้คงเหลือเวลาทำแบบนั้นน้อยแล้ว”

ปีหน้า คุณลุงจะกลับไปอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด เขาฝันถึงการปลูกไม้ผลที่นั่น “ดินที่นั่นดีนะ คนเขาปลูกผลไม้กันหลายอย่าง องุ่นด้วย” พื้นที่เจ็ดไร่ น่าจะทำอะไรได้ไม่น้อย ในขณะที่ลูกๆ ก็คงทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ

คุณลุงบอกด้วยว่า “ไม่เคยคิดอยากให้ลูกส่งเงินมาเลี้ยงดูเลย สิ่งที่อยากได้ ก็คือการได้อยู่กับตัวเองแบบที่ไม่เคยอยู่มาก่อน”

คำบอกเล่าของคุณลุงทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ‘กับดัก’ ของความเป็นพ่อแม่ลูกนั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์แบกเอาไว้บนบ่าอย่างหนักอึ้ง และน่าจะมีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยเลยที่รู้สึก ‘เสียใจ’ กับการมีลูก – เพียงแต่พวกเขาพูดออกมาไม่ได้เท่านั้น

หลายคนอาจตั้งคำถามขึ้นมาว่า – พ่อแม่แบบไหนกันเสียใจที่มีลูก เพราะถ้าเป็น ‘พ่อแม่ดีๆ’ ไม่ควรจะเสียใจที่มีลูกเป็นอันขาด มีสำนวนหรือความเปรียบมากมายแสดงให้เห็นว่าลูกเป็นสิ่งมีค่าของพ่อแม่ เช่น ลูกคือแก้วตาดวงใจ ลูกเป็นโซ่ทองคล้องใจของพ่อแม่ แม้จะมีสำนวนในแง่ลบว่า ‘มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน’ หรือ ‘เอาขี้เถ้ายัดปากลูก’ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าพ่อแม่เหล่านั้นเสียใจที่มีลูก มันเป็นสำนวนที่บอกว่าลูกแค่ ‘ไม่ได้ดั่งใจ’ เท่านั้น ซึ่งก็อาจมีนัยย้อนกลับไปโทษตัวพ่อแม่เองด้วยว่าเลี้ยงดูลูกไม่ค่อยดี จนอาจนำไปสู่คำติฉินจากสังคมได้ว่าลูกเหล่านั้นเป็น ‘ลูกพ่อแม่ไม่สั่งสอน’

แต่ในกรณีของคุณลุงแท็กซี่นั้น ต้องถือว่า ‘ท้าทาย’ ความคิดของเรามากนะครับ เพราะมันคือ ‘ความเสียใจที่มีลูก’ (ฝรั่งเรียกว่า parental regret) แม้ว่าลูกจะดีและได้ดั่งใจทุกประการจนควรจะเป็นแก้วตาดวงใจของพ่อ

ไม่กี่ปีมานี้มีงานวิจัยในโปแลนด์ ชื่อ How many parents regret having children and how it is linked to their personality and health: Two studies with national samples in Poland ศึกษาว่ามีพ่อแม่มากแค่ไหน ‘เสียใจ’ ที่มีลูก เพื่อสำรวจหา ‘ความชุก’ ของกลุ่มคนลักษณะแบบนี้

แม้โลกและสังคมจะมองว่าบทบาทของการเป็นพ่อแม่คือหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่สุดของการเป็นผู้ใหญ่ แต่การศึกษาข้างต้นกลับบอกเราว่า ทุกวันนี้มีพ่อแม่จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ ‘เสียใจ’ กับการมีลูก อย่างในโปแลนด์นั้น พบว่ามีมากถึง 10-14% เลยทีเดียว โปแลนด์มีประชากร 38 ล้านคน ดังนั้นพ่อแม่ที่เสียใจที่มีลูก จึงมีจำนวนหลายล้านคน และถ้าใช้ตัวเลขเดียวกันไปจับกับอเมริกาและสหภาพยุโรป เราจะได้พ่อแม่ที่เสียใจที่มีลูกหลายสิบล้านคนเลย

คำถามก็คือ – อะไรทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นมาได้?

ก่อนจะตอบคำถามนี้ เราอาจต้องย้อนกลับไปดูกันเสียก่อนว่า – ก็แล้วปัจจัยอะไรเล่าที่มา ‘ห้าม’ เราไม่ให้เสียใจที่มีลูก

การพยายามหาคำตอบต่อคำถามนี้พาเราย้อนกลับไปหาสิ่งที่เรียกว่า ‘สถาบันครอบครัว’

แทบทุกสังคมในโลกนี้มักยกย่องสถาบันครอบครัวว่าเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่างในสังคม ขึ้นชื่อว่า ‘ครอบครัว’ แล้ว ก็ต้องมี ‘พ่อแม่ลูก’ เป็นแก่นแกนสำคัญ ดังนั้น สถาบันครอบครัวจึงให้ความสำคัญกับการมีลูก และถือว่ากระบวนการการเป็นพ่อแม่ (parenting) เป็นเรื่องสำคัญมาก ถึงขั้นมองว่านี่เป็น ‘หน้าที่ตามธรรมชาติ’ ของ ‘ทุกคน’ ด้วยซ้ำ กระทั่งคนที่มีเพศวิถีไม่สอดคล้องกับสังคมส่วนใหญ่ (เช่น เป็น LGBTQ+) หลายคนก็ยังอยากทำหน้าที่พ่อแม่ให้ ‘ครบถ้วนสมบูรณ์’

บรรทัดฐานของสถาบันครอบครัวแบบนี้ทำให้การแสดงความรู้สึกด้านลบต่อการมีลูกเป็นเรื่อง ‘ต้องห้าม’ (taboo) แบบหนึ่ง ก่อนจะมีลูกนั้น การพูดว่าไม่อยากมีลูกถือว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ถ้ามีลูกแล้วกลับแสดงความ ‘เสียใจที่มีลูก’ ก็มักจะถูกมองว่าเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดี

ความเชื่อเหล่านี้มีฐานรองรับที่แน่นหนาจากศาสนาด้วย เพราะแทบทุกศาสนาบอกเราว่าการมีลูกเป็นเรื่องดีงาม บางศาสนาสอนด้วยซ้ำว่าการมีลูกเป็นเรื่อง ‘ศักดิ์สิทธิ์’ เช่น ศาสนาคริสต์ที่ถือว่าการมีลูกเป็น ‘พร’ จากพระเจ้า การเลี้ยงดูลูกจึงเป็นภารกิจศักดิ์สิทธิ์แบบหนึ่ง ถ้าใครรู้สึก ‘เสียใจ’ ที่มีลูก (คนละเรื่องกับการไม่อยากมีลูกนะครับ) อาจถูกมองว่าไม่เคารพพระประสงค์ของพระเจ้าก็ได้

ศาสนาทางตะวันออกอย่างพุทธหรือคำสอนของขงจื๊อก็ให้ความสำคัญกับการเป็นพ่อแม่ที่ดี เช่น สอนว่าพ่อแม่คือพระของลูก การแสดงท่าทีด้านลบหรือบอกว่า ‘เสียใจ’ ที่มีลูก จึงเป็นเรื่องเหลือพ้นที่จะคิด

นอกจากศาสนาแล้ว ‘รัฐ’ เองก็สนับสนุนการมีลูก ไม่ว่าจะเป็นนครรัฐแบบเก่า หรือรัฐสมัยใหม่ เพราะการมีลูกเท่ากับการ ‘สร้างชาติ’ หลายประเทศมีนโยบายส่งเสริมให้มีลูกมากๆ โดยเฉพาะช่วงสงคราม ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่ม ‘ทรัพยากรบุคคล’ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานหรือทหารที่จะใช้ในการพัฒนาหรือป้องกันประเทศ การมีลูกไว้สืบต่อสายตระกูล ยังเป็นการรักษาวัฒนธรรมหรือ ‘อัตลักษณ์’ ของชาติให้คงอยู่ต่อไปด้วย เพราะ ‘ลูก’ ย่อมต้องถูกเลี้ยงดูจาก ‘พ่อแม่’ ที่ถูกอุดมการณ์รัฐกล่อมเกลามาแต่เดิมอยู่แล้ว สถาบันครอบครัวจึงสำคัญต่อรัฐมากๆ เพราะเป็นจุดตั้งต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง ยิ่งถ้ามองในทางเศรษฐกิจ การมีประชากรมากขึ้น ก็จะสร้างทั้งแรงงานและผู้บริโภค ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ดีขึ้นด้วย

วิธีคิดทั้งทางศาสนาและการเมืองเหล่านี้จึงทำให้การมีลูกไม่ใช่แค่ ‘เรื่องส่วนตัว’ อีกต่อไป แต่กลายเป็นเรื่อง ‘ส่วนรวม’ เป็นเครื่องมือในการสร้างชาติที่ทุกคนต้องร่วมกันทำ เพราะฉะนั้น การแสดงออกว่าตัวเอง ‘เสียใจ’ ที่มีลูก จึงเป็นเรื่องที่ไม่พึงกระทำ ซึ่งในหนังสืออย่าง Regretting Motherhood: A Study โดย Orna Donath เรียกว่าเป็น unspoken taboo หรือเรื่องต้องห้ามที่พูดออกมาไม่ได้อย่างหนึ่ง

หนังสือเล่มนี้ศึกษาความรู้สึก ‘เสียใจ’ ของผู้หญิงอิสราเอลจำนวน 23 คน ที่มีลูก พบว่ามีผู้หญิงหลายคนเลยครับ ที่มีลูกเพราะ ‘แรงกดดัน’ จากสังคม เช่นว่าแต่งงานไปแล้วก็ ‘ต้อง’ มีลูก คล้ายว่าการมีลูกคือเป้าหมายสูงสุดของการแต่งงาน ทั้งที่หลายคนแค่อยากมีคู่ชีวิตที่จะอยู่ด้วยกันไปจนแก่เฒ่า แต่ไม่ได้อยากมีลูก การมีลูกเพราะแรงกดดันจากสังคมจึงทำให้พวกเธอรู้สึกเสียใจในภายหลัง

ต้องบอกด้วยนะครับ ว่าความเสียใจของผู้หญิงเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าพวกเธอไม่รักลูก ทว่าพวกเธอรู้สึก (คล้ายๆ กับคุณลุงแท็กซี่ข้างต้น) ว่า – ชีวิตของพวกเธออาจจะดีกว่านี้ถ้าไม่มีลูก

ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะผู้หญิงเหล่านี้ต้องยอม ‘เสีย’ ช่วงเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตไปหลายสิบปีเพื่ออุทิศตัวเองเลี้ยงดูลูก จนไม่สามารถ ‘ใช้ชีวิต’ ได้อย่างที่ตัวเองต้องการจริงๆ จึงเท่ากับพวกเธอถูกขังอยู่ในกรง สูญสิ้นอิสรภาพไปโดยสิ้นเชิง บางคนโหยหาชีวิตก่อนมีลูกที่เป็นอิสระมากกว่า แต่ก็ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปได้ มีแต่ต้องก้มหน้าก้มตาหาเงินมาเลี้ยงดูลูกต่อไปจนลูกโต กว่าจะได้กลับมา ‘มีชีวิต’ อย่างที่ตัวเองต้องการ ก็อายุมากจนไม่สามารถทำสิ่งที่ต้องการได้จริงๆ อีกต่อไป

ในบทความเรื่อง The Parents Who Regret Having Children โดย R.O. Kwan ตีพิมพ์ใน time.com ผู้เขียนได้สัมภาษณ์พ่อแม่หลายคนที่ยอมรับว่า ถ้าย้อนเวลาได้ พวกเขาจะเลือกไม่มีลูก แม้ว่าจะรักลูกของตนมากแค่ไหนก็ตาม

บทความนี้บอกว่า แม้สำรวจพบว่าพ่อแม่จำนวนหนึ่งเสียใจที่มีลูก แต่ความเสียใจนี้เป็นความเสียใจที่สังคมไม่ยอมรับ เป็นเรื่องต้องห้าม ทำให้พ่อแม่ที่รู้สึกแบบนี้ไม่กล้าเปิดเผยความรู้สึก จึงโดดเดี่ยวและอับอาย แต่นั่นไม่ได้แปลว่าพ่อแม่เหล่านี้ ‘เกลียด’ ลูกตัวเองนะครับ ความรู้สึก ‘เสียใจ’ ไม่ได้ขัดแย้งกับ ‘ความรัก’ ที่มีต่อลูก มันเป็นคนละเรื่องกัน พ่อแม่อาจ ‘รัก’ ลูก พร้อมกับ ‘เสียใจ’ ที่มีลูกได้

ที่น่าสนใจก็คือ บทความนี้อ้างอิงย้อนกลับไปหาสถิติเก่าๆ เช่น ในปี 1975 คอลัมนิสต์ตอบปัญหาชีวิตชื่อดังอย่าง แอน แลนเดอร์ส (Ann Landers) เคยถามผู้อ่านว่าถ้าย้อนเวลาได้จะมีลูกไหม พบว่าในกลุ่มผู้อ่านนั้นมีถึง 70% ที่ตอบกลับมาว่าจะไม่มีลูก แต่ต้องบอกด้วยนะครับว่าสถิตินี้ไม่ได้ ‘เป็นกลาง’ ขนาดนั้น เพราะคนที่ตอบกลับมาส่วนใหญ่คือคนที่ผิดหวังหรือเจ็บปวดกับการมีลูกอยู่แล้ว

นอกจากนี้ยังมีการสำรวจของ Gallup Poll ในปี 2013 คราวนี้ถามคนอเมริกันอายุ 45 ปีขึ้นไปว่าถ้าย้อนเวลาได้ จะมีลูกกี่คน ปรากฏว่ามี 7% ที่ตอบว่าจะไม่มีลูกเลย 10 ปีต่อมา ตัวเลขนี้พุ่งสูงขึ้น เพราะในปี 2023 มีการประมาณการว่าพ่อแม่อเมริกันที่เสียใจกับการตัดสินใจมีลูกนั้นมีอยู่ราว 5-14% ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขจากการสำรวจในโปแลนด์ที่ว่ามาในตอนต้น แสดงให้เห็นว่า พ่อแม่ในยุคหลังๆ เริ่ม ‘กล้า’ ที่จะบอกว่าตัวเองเสียใจที่มีลูกกันมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้หญิง

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะแนวคิดเรื่องสตรีนิยม (feminism) และความเสมอภาคทางเพศ ทำให้ผู้หญิงเริ่มตระหนักถึง ‘สิทธิในร่างกาย’ และการตัดสินใจของตัวเองมากขึ้น ในสังคมชายเป็นใหญ่แบบดั้งเดิม การมีลูกหรือไม่มีลูกมักไม่ ‘กระทบ’ ชีวิตของผู้ชายมากนัก แต่ผู้หญิงต้องทำหน้าที่เลี้ยงดูลูกเป็นหลัก การมีลูกจึงทำให้ชีวิตของผู้หญิงจำนวนมากเปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทว่าผู้หญิงยุคใหม่เริ่มเห็นว่าการเลี้ยงดูลูกไม่ใช่ ‘หน้าที่’ แต่คือ ‘ทางเลือก’ (choice) ร่วมกัน ดังนั้น การไม่มีลูกจึงเป็นอีก ‘ทางเลือก’ หนึ่งที่ทำได้โดยไม่ใช่เรื่องผิด หรือต้องถูกมองว่าไม่สมค่าความเป็นคนตามขนบแบบเก่า

ที่สำคัญ บทบาทของผู้หญิงในสังคมเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น พึ่งตัวเองได้มากขึ้น มีการศึกษาสูงขึ้น หลายคนอาจเห็นว่าการมีลูกอาจเป็นอุปสรรคต่อเส้นทางอาชีพได้ เพราะการเลี้ยงลูกต้องอุทิศเวลา แรงกาย แรงใจ และเงินทองมหาศาล มีงานวิจัยไม่น้อยที่แสดงให้เห็นว่า พ่อแม่หลายคนรู้สึกว่าการมีลูกทำให้ต้องล้มเลิกความฝันในชีวิตบางอย่าง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือความฝันที่จะทำอาชีพประเภทศิลปิน นักเขียน นักดนตรี นักแสดง เพราะอาชีพเหล่านี้มักไม่มั่นคงและต้องใช้เวลามาก หลายคนที่มีลูกต้อง ‘พับเก็บ’ ความฝันพวกนี้ไป ซึ่งบางคนก็ยอมรับได้เพราะเห็นว่าลูกมีค่ามากกว่าฝันของตัวเอง และพยายามปรับตัวให้สองเรื่องนี้เกลื่อนกลืนเข้าหากันได้ แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่า มีคนอีกไม่น้อยที่เสียใจกับการมีลูก

เรื่องนี้ไม่มีคำตอบถูกผิดตายตัวใดๆ ทั้งสิ้นนะครับ เพราะมันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ความพร้อม และการจัดลำดับความสำคัญในชีวิตของแต่ละคน การเลือกอะไรบางอย่าง ไม่ได้แปลว่าอีกทางเลือกนั้นผิด แต่ในเวลาเดียวกัน สังคมก็ไม่ควรกดดันให้ใคร ‘เลือกมีลูก’ จนต้องสละความฝัน เพราะอาจนำไปสู่ความเสียใจภายหลังได้

การมีลูกเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนจะรับมือได้เหมือนกันหมด การเลือกมีลูกจึงควรมาจากความพร้อมและความต้องการที่แท้จริง ไม่ใช่จากแรงกดดันของค่านิยมสังคม

ที่สำคัญก็คือ ต่อให้พ่อแม่เสียใจที่มีลูก ความเสียใจนั้นก็อาจเป็นคนละเรื่องกับ ‘ความรัก’ ที่พ่อแม่มีให้ลูกได้เช่นเดียวกัน เสียใจที่มีลูกไม่ได้แปลว่าพ่อแม่ไม่รักลูก แต่ช่วยไม่ได้ที่ใครบางคนจะเสียใจกับ ‘ชีวิต’ ที่สูญเสียไปเพื่อเลี้ยงดูลูก ในทางกลับกัน ลูกที่พ่อแม่เสียใจที่มีลูก – ยิ่งควรภาคภูมิใจในตัวพ่อแม่ของตัวเองเข้าไปใหญ่เลยนะครับ เพราะพ่อแม่ของตนยอมสละช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตเพื่อมาเลี้ยงดูลูก

ส่วน ‘คนอื่น’ ประเภท ‘ป้าข้างบ้าน’ หรือสังคมรอบข้าง ก็ควรเปิดใจให้กว้างต่อความรู้สึก ‘หลากหลาย’ ในความเป็นพ่อแม่ด้วย ไม่ใช่จับความเป็นพ่อแม่ยัดเข้าไปใน ‘แบบและเบ้า’ เดียวเท่านั้น เพราะชีวิตครอบครัวนั้น มักเป็นไปคล้ายๆ ประโยคเริ่มต้นของวรรณกรรมเอกของโลกอย่าง ‘อันนา คาเรนินา’ ของ เลโอ ตอลสตอย นั่นแหละครับ

“ครอบครัวที่มีความสุข ล้วนสุขเหมือน ๆ กัน แต่ครอบครัวที่มีทุกข์ ย่อมทุกข์ตามวิถีของตน”

อย่าเอาทุกข์สุขของตัวเองไป ‘ครอบ’ ทุกข์สุขของคนอื่นเลย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save